เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
วิธีการทางทฤษฎีที่จะกล่าวต่อไปนี้
สรุปมาจากส่วนหนึ่งของแนวความคิดเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการสอนของพวกนิยมมาร์กส์และทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ
โรซา ลักเซมเบอร์ก (Rosa
Luxemburg) และวลาดิมแมร์ ไอ เลนิน (Wladimir I. Lenin) โดยมีสาระสำคัญในเชิงข้อเสนอว่า
ระบบทุนนิยมสามารถผ่อนผันการพังทลายมาจนถึงขณะนี้ได้ก็โดยการทำให้ประเทศที่มิได้เป็นอุตสาหกรรมทั้งหลายขึ้นต่อระบบทุนนิยมได้
โดยอาศัยกระบวนการของการทำให้ประเทศอื่นเป็นอาณานิคมของตนหรือการใช้อำนาจรูปแบบอื่นๆ
และบังคับให้ประเทศเหล่านั้นเปิดตลาดสำหรับขาดสินค้าและทำการลงทุนหาผลประโยชน์
การตกต่ำลงของระบบนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการแผ่ขยายของระบบทุนนิยมเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม
ที่มีแนวโน้มไปสู่ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติขึ้นและลัทธิทุนนิยมก็จะสูญเสียอาณาจักรสำคัญยิ่งไปในที่สุด
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ทฤษฎีจักรวรรดินิยมดังกล่าวได้ขยายตัวออกมาเป็นทฤษฎีการพัฒนา
โดยมีกลยุทธ์ทางความคิดที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงมีวิธีการวิเคราะห์เหมือนเดิม
สาระสำคัญของทฤษฎีพัฒนาแนวใหม่นี้จะเห็นได้จากข้อเสนอที่ว่าความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเกิดจากการแสวงประโยชน์ของประเทศอุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีระบบการขึ้นต่อกันระดับโลกขึ้น
ซึ่งมีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยประเทศโลกที่สามเป็นบริวารทางการเมืองเป็นตลาดสินค้า
และกลายเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อการผลิตตามรูปแบบของทุนนิยมที่มีพลวัตต่อไป
เนื่องจากมีขบวนการและความเคลื่อนไหวในประเทศอาณานิคมต่างๆ
เพื่อให้ได้อิสรเสรี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ มักจะได้รับการสนับสนุนโดยผู้ที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและทุนนิยม
จึงเป็นเหตุให้ระบบทุนนิยมต้องปรับเปลี่ยนกลวิธีโดยยกเลิกระบบการปกครองแบบอาณานิคมไปใช้ในการควบคุมที่นุ่มนวลกว่า
ส่วนวัตถุประสงค์ของการเป็นจักรวรรดินิยมคงยังมีอยู่เหมือนเดิม
เพราะพวกศักดินาและคนชั้นสูงของประเทศด้อยพัฒนายังคงมีพฤติกรรมที่สนับสนุนระบบดังกล่าวอยู่
ดังนั้น ระบบนี้จึงไม่มีทางที่จะล้มเลิกไปโดยสมัครใจ
จึงพอสรุปสาระสำคัญของทฤษฎีจักรวรรดินิยมได้อีกตอนหนึ่งว่าตราบใดที่สภาพการดำรงอยู่ของประเทศโลกที่สามเป็นเช่นนี้จะไม่มีความเป็นไปได้ในการจะเอาชนะความด้อยพัฒนา
นอกเสียจากจะมีการปฏิวัติแห่งชาติเพื่อล้มล้างโครงสร้างทางสังคมเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีอยู่เสียและกำจัดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาของประเทศกำลังพัฒนากับประเทศทุนนิยมเสียด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามแนวทางของทฤษฎีจักรวรรดินิยมต่อไป
ซึ่งมีอยู่ 2 ยุทธศาสตร์ คือ
1. ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาตามลัทธิมาร์กส์ของสหภาพโซเวียต
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม การพัฒนาที่ไม่ใช่ทุนนิยมตามกระบวนการพัฒนาดังกล่าวนี้
ถือว่าโครงสร้างต่างๆ ของประเทศด้อยพัฒนายังไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสังคมนิยมได้
จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงพลังการผลิตเสียก่อน นั่นก็คือ จะต้องพัฒนาแรงงาน
ทรัพยากรธรรมชาติและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นส่วนประกอบของพลังการผลิตดังกล่าว
เมื่อเปลี่ยนแปลงพลังการผลิตได้แล้ว จึงทำให้การปฏิวัติแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยให้พ้นจากลัทธิทุนนิยม
ทั้งนี้
การกระทำดังกล่าวมาจะต้องได้รับคำแนะนำช่วยเหลือทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดจากประเทศสังคมนิยม
จึงจะทำให้การพัฒนาเป็นไปได้
การพัฒนาแบบนี้มุ่งสู่ลัทธิสังคมนิยมโดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบ
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ไม่เป็นไปตามเจ้าลัทธินี้เป็นผลงานของ
พอล เอ. บารัน (Pual A. Baran)และพอล เอม. สวีซี (Pual
M. Sweezy) ซึ่งปฏิเสธต้นแบบของสหภาพโซเวียต
เพราะไม่มีความเหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
การที่จะนำเอาต้นแบบที่เน้นเรื่องการเมืองมากเกินไป ในขณะเดียวกัน
ก็ละเลยการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและสังคมไปอย่างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น