หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดความเจริญเติบโตอย่างสมดุล



แนวคิดความเจริญเติบโตอย่างสมดุล

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างสมดุล (Balanced Growth Theory) หมายถึง การลงทุนพร้อมๆ กันหลายๆ ด้านให้มีความสอดคล้องสนับสนุนกัน ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าประเภททุน สินค้าเข้าและสินค้าออก อุปสงค์และอุปทานของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้วย
ผู้มีแนวคิดทางด้านนี้ ได้แก่ แรกนา เนอร์คเซ (Ragnar) กล่าวว่า การลงทุนจะต้องกระทำขึ้นในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อขจัดปัญหาตลาดที่มีขนาดเล็ก
แรกนา เนอร์คเซ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาแบบสมดุล ทั้งนี้ เพราะว่าประเทศด้อยพัฒนาที่จะทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยความต้องการจากภายนอกประเทศในการซื้อสินค้าพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การส่งสินค้าออกไปขายในตลาดระหว่างประเทศจึงไม่สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ แต่ต้องไม่หมายถึงประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมด บางประเทศอาจอยู่ในข่ายยกเว้น เช่น คูเวต และอิรัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานสำคัญที่ต้องทำ ก็คือ การเพิ่มผลผลิตเพื่อขายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดที่อื่นๆ ด้วย เพราะตลาดภายในแคบและคนไม่มีอำนาจการซื้อ ทั้งยังไม่เป็นระบบตลาดที่สมบูรณ์เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ ต้องทำการลงทุนแบบสมดุล คือ มีการอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน คนก็จะได้งานทำมากขึ้น สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น มีเงินลงทุนมากขึ้น ปรับปรุงเทคนิคให้ก้าวหน้าได้ อำนาจการซื้อของคนสูงขึ้น โดยวิธีการดังกล่าว การผลิตและการซื้อสินค้าต่างๆ กันจะสนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกันอันเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น การพัฒนาอุตสาหกรรมก็เป็นไปได้และทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

โรเซนสเตน โรดัน นอกจากสนับสนุนการพัฒนาแบบผลักดันแล้ว ยังเห็นว่า การลงทุนหลายๆ ด้านอย่างพร้อมเพรียงกันนี้จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แผ่กระจายไปทุกสาขาในระบบเศรษฐกิจ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีความต้องการในสินค้าต่างๆ ด้วย
โรเซนสเตน โรดัน ได้เสนอทฤษฎีแรงผลักดันสำหรับการพัฒนา โดยอธิบายเหตุผลว่าประเทศด้อยพัฒนานั้นมีปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนามากมายหลายอย่าง กล่าวคือ การขาดแคลนนักลงทุนที่มีความสามารถ ขาดแคลนทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการลงทุน รวมทั้งขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า และโทรทัศน์ ที่สำคัญยิ่งคือ ความสามารถในการออมทรัพย์ของประชากร ดังนั้น การที่จะมีโครงการพัฒนาและดำเนินการให้โครงการเป็นไปได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ทุนอย่างมากมายในตอนต้นเพื่อผลักดันเข้าสู่กระบวนการพัฒนา เปรียบเทียบกับการแล่นขึ้นจากพื้นดินของเครื่องบินที่ต้องใช้ความเร็วและพลังงานอย่างมาก และจะต้องทำเป็นแผนงานการลงทุนที่มีความครอบคลุม (Comprehensive Investment Program) โดยจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานให้ครบถ้วนพอเพียงไว้รองรับการลงทุนดังกล่าวด้วย และทุนที่ใช้คงต้องได้มาจากต่างประเทศ ส่วนแรงงานนั้นได้จากภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การนำเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาอาจมีปัญหาบางประการที่สำคัญ คือ ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรไม่พอเพียงที่จะใช้ในการพัฒนาหลายๆ ด้านหรือทุกด้านดังกล่าว ทางออกที่หลายๆ ประเทศทำกัน ก็คือ การแสวงหาทรัพยากรเพื่อใช้ในการพัฒนาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และส่วนมากจะเป็นการกู้เงิน เมื่อกู้มามาก ความสามารถในการใช้หนี้มีน้อยก็อาจทำให้เป็นปัญหาระยะยาวได้ ในด้านของการจัดการเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในกาที่จะพัฒนาให้ทุกด้านไปด้วยกันได้อย่างสอดคล้องต้องกัน ทั้งนี้ จะต้องทำให้ส่วนประกอบทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปให้ถูกต้องสอดคล้องทั้งด้านสถานที่ เวลา ปริมาณ และคุณภาพ มีการจัดการและการควบคุมที่ดีมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการลงทุน และการดำเนินการต่างๆ ในเรื่องการลงทุนตามแบบสมดุลนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น