หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน



แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการทำงานนั้นมาจากแนวคิดของคุณภาพชีวิต ซึ่งหมายถึง การพัฒนาให้บุคคลนั้นๆ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี โดยให้พนักงานมีสภาพการทำงานที่ดีอยู่ภายใต้การทำงานที่เหมาะสม มีความปลอดภัยได้รับผลประโยชน์และสิทธิต่างๆ อย่างยุติธรรมและเสมอภาคในสังคมอย่างไรก็ตามคุณภาพชีวิตในการทำงานมีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังนี้

ความหมายคุณภาพชีวิตการทำงาน
คุณภาพชีวิตการทำงานในความหมายที่กว้าง ซึ่งจะนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของคุณภาพชีวิตการทำงานไว้แตกต่างกัน ดังนี้คือ
องค์การอนามัยโลก  (WHO) ได้ให้นิยามคุณภาพชีวิตว่าเป็นการรับรู้ของบุคคลในองค์ประกอบของวัฒนธรรมระบบคุณค่าต่างๆ อันสัมพันธ์กับเป้าหมายของชีวิตความคาดหวังมาตรฐานและสิ่งต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องอยู่ และหมายถึงแนวความคิดที่มีขอบเขตกว้างขวางอันเป็นผลซับซ้อนจากสุขภาพทางกายของบุคคลสภาพจิตใจระดับของความเป็นอิสระความสัมพันธ์ทางสังคม และความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในชีวิตของบุคคลเป็นสำคัญ
กัลยา ดิษฐ์เจริญ (2538) คุณภาพชีวิตการทำงาน หมายถึง สภาพของการทำงานที่ปัจเจกบุคคลมีความพึงพอใจ และความพึงพอใจในการทำงานนี้สามารถวัดหรือประเมินได้ในความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตการทำงานในองค์การ
สมยศ นาวีการ (2537)  ให้ความหมายของคุณภาพชีวิตการทำงาน เป็นคุณภาพของสัมพันธภาพระหว่างพนักงานและสภาพแวดล้อมของงานที่ผสมผสานระหว่างลักษณะทางเทคนิคและลักษณะทางมนุษย์
สุจินดา อ่อนแก้ว (2538) ได้ให้ความหมายของคุณภาพชีวิตการทำงานว่าเป็นความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อการทำงานซึ่งสามารถสนองต่อความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในการทำงาน อันจะก่อให้เกิดผลดีกับตนเองและทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังทำให้การดำเนินชีวิตของบุคคลมีความสุขมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รอบบินส์ (Robbins, 1998 อ้างถึงใน นฤดล มีเพียร, 2541: 16) คุณภาพชีวิตการทำงานหมายถึง กระบวนการที่องค์กรได้ทำการตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานจากการพัฒนากลไกต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานหรือคุณภาพชีวิตการทำงาน เปรียบเสมือนแนวคิดที่ครอบครองปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการทำให้องค์การมีความเป็นมนุษย์ ความเจริญเติบโตและการมีส่วนร่วมนั้นเอง
เชอร์เมอร์ฮอร์น,ฮันต์และออสบอร์น (Schermerhorn, Hunt & Osborn, 1997 อ้างถึงในประเสริฐ กลิ่นหอม, 2543: 12) ได้กล่าวว่า คุณภาพชีวิตในการทำงานคือ ภาพรวมของประสบการณ์การทำงานของบุคคลซึ่งแสดงออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่มีต่องานอาชีพตลอดจนองค์การ ดังนั้นการที่บุคคลมีผลงานที่มีประสิทธิภาพสูงย่อมแสดงว่าบุคคลมีความพอใจในงานสูงด้วยคุณภาพชีวิตการทำงานจึงเป็นผลสะท้อนของกาบริหารงานที่ดีเช่นการให้พนักงานมีส่วนร่วมได้รับผิดชอบงานและตัดสินใจงานร่วมกัน การไว้วางใจให้อิสระในการทำงานของพนักงานมากขึ้นอีกทั้งให้สิ่งตอบแทนที่ยุติธรรมสิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีและองค์การประสบความสำเร็จอย่างสูง       
บลูสโตน (Bluesstone, 1997 อ้างถึงใน สุทิน สายสงวน, 2533: 12) ได้กล่าวถึง ความหมายของคุณภาพชีวิตการทำงานไว้ว่า คุณภาพชีวิตในการทำงานหมายถึง เป็นการสร้างบรรยากาศที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความพึงพอใจในการทำงานสูงขึ้น โดยผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาสำคัญขององค์กร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพวกเขา นั้นคือได้หมายรวมถึงการปรับปรุงการบริหารเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์โดยทำให้มีประชาธิปไตยในสถานที่ทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิผลขององค์กร ทั้งนี้เพราะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้สมาชิกขององค์กรในทุกระดับสติปัญญา ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และความสามารถอื่นๆ มาใช้ในการทำงานในองค์กรย่อมทำให้เกิดความพอใจสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมภายในกลุ่มและองค์กรขึ้น
เมอร์ตัน (Merton, 1977: 55 อ้างถึงใน สิทธิชัย อุยตระกูล, 2539: 31) ได้ให้คำนิยามของคุณภาพชีวิตในการทำงานว่าเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุมทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรมของการทำงานและสภาพการทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพการทำงาน ความพอใจและไม่พอใจของคนงาน การจัดการเพื่อประสิทธิภาพของผลผลิตและการได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีส่วนต่อความมั่นคง และเสถียรภาพของสังคม
ซัตเติ้ล (Suttle, 1977: 4 อ้างถึงใน สิทธิชัย อุยตระกูล, 2539: 37) ได้ให้คำจำกัดความคุณภาพชีวิตในการทำงานว่าเป็นระดับซึ่งสมาชิกที่ทำงานในองค์การพึงพอใจและเป็นความต้องการที่สำคัญของบุคคล โดยผ่านประสบการณ์ต่างๆของเขาเองจากการทำงานในองค์การดังนั้นการประเมินคุณภาพชีวิตในการทำงานสามารถจะประเมินได้โดยการวัดความต้องการที่สำคัญและจำเป็นและความต้องการที่สนองตอบต่อความพึงพอใจ
กัสต์ (Guest, 1979 อ้างถึงใน สุทิน สายสงวน, 2533: 11) ให้ความหมายไว้ว่าคุณภาพชีวิตการทำงาน หมายถึง ปฏิกิริยาของปัจเจกบุคคลต่อการทำงานหรือผลที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลอันเนื่องมาจากประสบการณ์ในการทำงาน นั้นคือคุณภาพชีวิตการทำงานอาจหมายถึง ความรู้สึกทั้งหลายของบุคคลเกี่ยวกับทุกมิติของการทำงาน เช่น ผลตอบแทน ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจความมั่นคง สภาพแวดล้อมการทำงาน ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณค่าที่แฝงอยู่ภายในการทำงานในชีวิตของบุคคล
รูบินสไตน์ (Rubinstein อ้างถึงใน สิทธิชัย  อุยตระกูล, 2539: 35)  ให้คำจำกัดความคุณภาพชีวิตการทำงานไว้ว่าเป็นกระบวนการที่องค์การนำมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานได้เพิ่มศักยภาพในการทำงานโดย ให้พวกเขาไดมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพวกเขาเอง โดยคำจำกัดความนี้รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพกระบวนการทำงาน การออกแบบสินค้า การใช้ทรัพยากรไปจนกระทั่งสภาพการณ์และความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน
จากความหมายของคุณภาพชีวิตในการทำงานต่างๆ ที่กล่าวมานั้นจึงสรุปได้ว่า คุณภาพชีวิตในการทำงาน คือ การทำงานของผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานซึ่งมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกชอบในงานที่ทำ สภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน งานที่ท้าทายการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในงานเพื่อนร่วมงานที่ดี ผลตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและสามารถสนองความจำเป็นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติงานถ้าคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขใจในงานที่ทำมีกำลังใจในการทำงาน และมีความพึงพอใจในงานที่ทำ ผลงานที่ออกมาจะส่งเสริมให้ผลผลิตและการบริหารที่ดีทั้งคุณภาพและปริมาณ

ความสำคัญของคุณภาพชีวิตในการทำงาน
เมื่อแต่ละบุคคลได้ใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับสิ่งที่ตนพอใจ ก็จะทำให้สภาพจิตใจและอารมณ์ที่ดีซึ่งมีผลทำให้งานดีตามไปด้วย คุณภาพชีวิตในการทำงานนั้นจะมีผลต่อการทำงานอย่างมากมาย อันได้แก่ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่องาน เพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานทำให้พนักงานสามารถผลิตผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อองค์การ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพจิต ช่วยให้เจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพขององค์การและยังช่วยลดปัญหาการขาดงาน การลาออก ลดอุบัติเหตุ ซึ่งจะส่งผลถึงการลดต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาล รวมถึงต้นทุนค่าประกันด้านสุขภาพ ปริมาณของการเบิกจ่ายลดลง  ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนแต่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานทั้งสิ้น

องค์ประกอบคุณภาพชีวิตการทำงาน
ดาเนียล (อ้างถึงใน ประเสริฐ กลิ่นหอม, 2542: 16) กล่าวว่าคุณภาพชีวิตในการทำงานมีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการดังนี้คือ
Development คือ การพัฒนาในด้านวิธีการ หรือการดำเนินการต่างๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และแนวคิดประชาธิปไตยที่เคารพในศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล
Dignity คือ การเคารพและการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การได้รับการตอบสนองความพึงพอใจ และได้รับการยกย่องเป็นที่ยอมรับในความสามารถหรือการเป็นผู้มีความสำคัญต่อองค์กรก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพอันเป็นการทำให้องค์การได้รับผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
Daily Practice คือ โดยที่บุคคลทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง กับการทำงานใน    แต่ละวัน ย่อมมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้น่วมงานในที่ทำงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลรวมทั้งการปรับปรุงการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีของบุคคลจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าหากปรากฏว่าองค์กรนั้นๆ ไม่มีระเบียบวิธีการปฏิบัติในการทำงานที่เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้นการประสานงานที่ดีเพื่อผลงานในแต่ละวันซึ่งต่อเนื่องไปยังผลงานในระยะยาวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่แต่ละองค์การควรให้ความสำคัญมากด้วยเช่นกัน
เฮอริค และแมคคาบี (Herrick & Maccaby, 1975 อ้างถึงในสุทธิลักษณ์ สุนทโรดม, 2537: 29-30)
ได้อธิบายถึงหลักการสำคัญในการทำงานให้คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยการปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานภายใต้หลักการเบื้องต้น 4 ประการ คือ หลักความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน หลักความเป็นธรรมหรือความเสมอภาค หลักปัจเจกบุคคลและหลักประชาธิปไตยในการทำงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. หลักความมั่นคงและปลอดภัยในการทำงาน (The Principle of Security)
หลักความมั่นคงและปลอดภัยในการทำงาน เป็นการตอบสนองความต้องการของคนงานที่ต้องการความปลอดภัยในการทำงาน รายได้ ตลอดจนความก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งนี้เพราะคนงานจะไม่สามารถเอาใจใส่ต่องานที่ทำได้เต็มที่ ถ้าหากต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงและปลอดภัยทั้งต่อภาวะทางด้านร่างกายและเศรษฐกิจ หรือความวิตกกังวลใดๆ อันเนื่องมาจากการทำงาน นอกจากนี้ยังวิตกกังวลต่อรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ความมั่นคงในการทำงานระยะยาว กล่าวคือ ต้องการคุ้มครองในเรื่องอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำ ตลอดจนมีความก้าวหน้าในการทำงาน
                2. หลักความเป็นธรรมหรือความเสมอภาค (The Principle of Equity)
หลักความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคเป็นการคุ้มครองให้คนงานได้รับผลตอบแทนจากการทำงานอย่างเป็นสัดเป็นส่วนที่เหมาะสมกับผลงานที่เขาสมารถทำได้ ไม่ว่าในแง่การบริการ หรือการผลิตซึ่งจะแตกต่างกันไปในแง่ของรายได้ระหว่างฝ่ายบริหารและคนงาน และการปันผลกำไรให้แก่นายทุนอย่างเป็นธรรม
                3. หลักปัจเจกบุคคล (The Principle of Individuation)
คนงานควรได้รับการกระตุ้นให้มีพัฒนาการทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ฝีมือ หรือความชำนาญ ตลอดจนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับงานที่ทำนั้นด้วยตนเองได้ต่อไป หลักการนี้เป็นการส่งเสริมให้คนงานรู้จักพัฒนาตนเอง และเรียนรู้เกี่ยวกับองค์การทั้งหมดมากที่สุดเท่าที่เขาต้องการโดยให้คนงานมีโอกาสได้ใช้อำนาจการตัดสินใจด้วยตนเอง เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ได้มากที่สุดตามขอบเขต กล่าวคือ สามารถวางแผนการดำเนินการตามหน้าที่การงานของตนเองได้ ซึ่งความสามารถในการตัดสินใจหรือการกำหนดรูปแบบการทำงานด้วยตนเองนี้ จะมีผลต่อทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของคนงานทั้งในแง่จิตใจและแง่วัตถุซึ่งมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายและใจของคนงาน อันเป็นการสร้างเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และสุขภาพส่วนบุคคลรวมทั้งด้านสังคมในทางอ้อมด้วย เหตุนี้จึงควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถส่วนบุคคลในการทำงานด้วย
                4. หลักประชาธิปไตย (The Principle of Democracy)
หลักประชาธิปไตยในการทำงาน เป็นการคำนึงถึงตัวบุคคล ซึ่งเป็นผู้ใช้เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ ในการทำงานมากกว่าที่จะให้ความสนใจแต่เฉพาะตัวงานเท่านั้น แนวคิดของหลักการนี้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเรื่อง สิทธิในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในการทำงานจะทำให้ได้เปิดโอกาสให้คนงานมีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนการทำงานเพื่อรับผิดชอบต่องานของตนอย่างเต็มที่
ชาญชัย อาจินสมาจาร (2535) เสนอแนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตการทำงานไว้ดังนี้
1. ความมั่นคง
2. ความเสมอภาคในเรื่องค่าจ้างและรางวัล
3. ความยุติธรรมในสถานที่ทำงาน
4. ปลอดภัยจากระบบราชการและความเข็มงวดในการควบคุม
5. งานมีความหมายและน่าสนใจ
6. กิจกรรมและงานหลากหลาย
7. งานมีลักษณะท้าทาย
8. ควบคุมตัวเอง งาน และสถานที่ทำงาน
9. มีขอบเขตการตัดสินใจของตัวเอง
10. โอกาสการเรียนรู้และความเจริญก้าวหน้า
11. ผลสะท้อนกลับ ความรู้เกี่ยวกับผลลัพธ์
12. อำนาจหน้าที่ในงาน
13. ได้รับการยอมรับจากการทำงาน
14. ได้รับการสนับสนุนทางสังคม
15. มีอนาคต
16. สามารถสัมพันธ์งานกับสิ่งแวดล้อมภายนอก
17. มีโอกาสเลือก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจ และความคาดหวัง
นพรัตน์  รุ่งอุทัย (2533) ได้เสนอองค์ประกอบคุณภาพชีวิตการทำงานไว้ดังนี้
1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน
2. จิตวิทยาและมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน
3. ปัญหาส่วนตัว
4. การจัดองค์กรและการบริหารงาน
5. ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง
6. ปัญหาสุขภาพ
7. ระบบงานในสำนักงาน
8. ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ
9. การสื่อสารและการประสานงาน

บรรณานุกรม

กัลยา  ดิษเจริญ. (2538). คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานระดับกลางในเขตอุตสาหกรรม. ภาคนิพนธ์พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ชาญชัย  อาจิณสมาจาร. (2535). การบริหารทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพฯ: เค แอนด์ พี บุคส์.
นพรัตน์  รุ่งอุทัย. (2533). ทฤษฎีองค์การสาธารณะ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.
นฤดล  มีเพียร. (2541). คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัทการบินไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ประเสริฐ  กลิ่นหอม. (2542). การบริหารงานบุคคลภาครัฐไทย: กระแสใหม่และสิ่งท้าทาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: จุดทอง.
สมยศ  นาวีการ. (2541). การบริหารทรัพยากรมนุษย์/งานบุคคล. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:
ประสิทธิภัณฑ์แอนด์พริ้นติ้ง.
สิทธิชัย  อุยตระกูล. (2539). คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานระดับล่างในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรี. ภาคนิพนธ์พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุทธิลักษณ์  สุนทโรดม. (2537). กลยุทธการพัฒนาคน สิ่งท้าทายความสำเร็จ. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุทิน  สายสงวน. (2533). คุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอภาคใต้. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น