ทฤษฎีความโกลาหลหรือทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory)
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
ทฤษฎีความโกลาหลหรือทฤษฎีความอลวน
(Chaos
Theory) เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบพลวัต (คือ
ระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป)
โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงของระบบที่เรียกว่าเคออสนี้
จะมีลักษณะที่ปั่นป่วนจนดูคล้ายว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ (Random/Stochastic)
แต่จริงๆ แล้ว ระบบเคออสนี้เป็นระบบแบบไม่สุ่ม หรือระบบที่มีระเบียบ
(Deterministic)
ในทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์
คำจำกัดความของระบบเคออส คือ ระบบไม่เชิงเส้น (Nonlinear System) ประเภทหนึ่ง
ที่มีความไวต่อสภาวะเริ่มต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าระบบ 2
ระบบนั้นเริ่มต้นจากสภาวะที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือเกือบจะเหมือนกันทุกประการ
เมื่อระบบได้มีการเปลี่ยนไปสักระยะหนึ่ง
สภาวะของระบบทั้งสองที่เราสังเกตได้เมื่อเวลาผ่านไปจะแตกต่างกันอย่างสังเกตเห็นได้ชัดเรามักจะได้ยินคำพูดที่นิยมพูดกันอย่างกว้างขวางที่ว่า
"เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" หรือ
"ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ" (จาก "Butterfly
Effect") ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตีความคำพูดนี้ในลักษณะของขนาดความรุนแรงของผลลัพธ์เท่านั้น
ระบบเคออสนั้นไม่จำเป็นจะต้องแตกต่างกันในแง่ของ ขนาด ของผลลัพธ์เสมอไป แต่อาจแตกต่างกันในแง่ของ พฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงก็ได้
จากตัวอย่างข้างต้น การเปลี่ยนแปลงของระบบทั้งสองนั้นจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากในขณะเริ่มต้น
เมื่อเวลาผ่านไป
การเปลี่ยนแปลงนั้นแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย
การเปลี่ยนแปลงนั้นแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย
ประโยชน์ของทฤษฎีความโกลาหลมีดังต่อไปนี้
1. ใช้ในการวิเคราะห์ระบบและทำนายอนาคต
โดยแนวคิดของทฤษฎีความโกลาหลแห่งสถาบันวิจัยซานตาเฟ (Santafe Research
Institute) ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการประยุกต์แนวนี้ได้แก่
การทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ในแต่ละวันของบริษัทไฟฟ้า
หรือปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละวัน
(ซึ่งประยุกต์ใช้จริงที่บริษัทเมเดนฉะในญี่ปุ่น) และการพยากรณ์อากาศซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้หนึ่งที่ทำให้เกิดศาสตร์แห่งความโกลาหลเองด้วย
2. ใช้ในการสร้างระบบโกลาหล
มีผู้เชื่อว่า “ในธรรมชาติ
ความโกลาหลเป็นสิ่งสากลมากกว่าและดีกว่าระเบียบแบบง่ายๆ” เช่น
การที่บริษัทมัทสึชิตะยังใช้ทฤษฎีโกลาหลควบคุมหัวฉีดของเครื่องล้างจาน ซึ่งพบว่าสามารถล้างจานได้สะอาดโดยประหยัดน้ำได้กว่าเครื่องล้างจานแบบอื่นๆ
ทั้งนี้เพราะเส้นทาง
การเคลื่อนที่ของหัวฉีดที่ดูเหมือนไร้ระเบียบทำให้ครอบ คลุมพื้นที่ได้ดีกว่าการเคลื่อนที่ตามแบบแผนปกติ
การเคลื่อนที่ของหัวฉีดที่ดูเหมือนไร้ระเบียบทำให้ครอบ คลุมพื้นที่ได้ดีกว่าการเคลื่อนที่ตามแบบแผนปกติ
3. ใช้ในการควบคุม-สร้างความเสถียรให้กับระบบ
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ตามแนวความคิดนี้ได้แก่ การที่องค์การนาสา (NASA)
สามารถควบคุมยานอวกาศ ISEE-3
ให้ลอยไปสู่ดาวหางที่ต้องการสำรวจได้โดยใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย
โดยสรุปของ
ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos
Theory) มีดังต่อไปนี้
ระบบที่แสดงความโกลาหลจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีคุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้น
(Nonlinearly) คุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้นสามารถนิยามได้ว่าตรงกันข้ามกับ
คุณสมบัติแบบเชิงเส้น โดยที่ฟังก์ชัน f จะมีคุณสมบัติเชิงเส้นก็ต่อเมื่อ
f(x + y) = f(x) + f(y) นั่น ก็คือ ในระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้น
ผลลัพธ์จากการรวมกันของส่วนย่อยจะไม่เท่ากับผลรวมของทั้งหมดนั่นเอง
และการที่ระบบโกลาหลจำเป็นต้องเป็นระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นก็ไม่ได้หมายถึง
ระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นทุกๆ ระบบจะเป็นระบบโกลาหลด้วยเสมอไป
2. ไม่ใช่เกิดแบบสุ่ม
(คือเป็น Deterministic ไม่ใช่ Probabilistic) หรือเรียกได้ว่าในระบบโกลาหล
เหตุการณ์ทั้งหลายมักเกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว
โดยเพื่อป้องกันความสับสนระหว่าง“ความโกลาหล” และ “การสุ่ม” จึงมีการเรียก Chaos
ว่า Deterministic Chaos
3. ไวต่อสภาวะเริ่มต้น
(Sensitivity to Initial Conditions) คือการเริ่มต้นที่ต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลให้บั้นปลายต่างกันมาก
จึงนิยมยกตัวอย่างของ “ผลกระทบผีเสื้อ” (Butterfly
Effect) ซึ่ง หมายถึงการที่ผีเสื้อกระพือปีกในที่แห่งหนึ่ง
แล้วส่งผลทำให้ฝนตกในที่ที่ห่างไกลออกไป ในสัปดาห์ต่อมา
ตัวอย่างที่ชัดเจนของการไวต่อสภาวะเริ่มต้นคือ การขยายผลลัพธ์ให้ความแตกต่างรวดเร็วขึ้นของเลขยกกำลัง
(Exponential) นั่นเอง
4. ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าในระยะยาวได้
(Long-Term Prediction is Impossible) การศึกษาทฤษฎีความโกลาหลมีความสำคัญก็เพราะเชื่อว่า
ระบบในธรรมชาติ โดยมากมีลักษณะโกลาหล ทั้งๆ ในความเป็นจริงยังไม่มีวิธีการที่แน่นอนชัดเจน
ในการตัดสินว่าระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบโกลาหลหรือไม่ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม
ระบบโกลาหลได้สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่แก่วงการวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการหักล้าง
ความเชื่อของ Laplace
ที่กล่าวไว้ว่า “การรู้สภาพตั้งต้นที่ดีมากพอ
จะทำให้สามารถทำนายอนาคตของเอกภพทั้งเอกภพได้”
ทฤษฎีความโกลาหลในสังคมไทยเป็นการประยุกต์ที่แตกต่างกับวงการวิชาการของโลกโดยสิ้นเชิง
เนื่องจากไม่พบการประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เลย
พบเพียงการอธิบายในด้านสังคม โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเป็นไปอย่างหละหลวม คือเป็นการหยิบเอาเฉพาะแนวความคิดบางอย่างในทฤษฎีไปจับกับสิ่งที่ต้องการ
ศึกษา เช่นระบบการเมือง ที่ใช้เพียงภาษาของทฤษฎีที่ใช้สื่อในสิ่งที่ต้องการจะสื่อ
ออกมาในรูปแบบใหม่โดยที่ผู้ฟังฟังแล้วอาจแค่รู้สึกแปลกใหม่
หรือทำให้ฉงนสงสัยเท่านั้น มีเฉพาะแนวคิดที่น่าสนใจเรื่องเรื่อง “จุดคานงัดของสังคม”ซึ่งทฤษฎีความโกลาหลช่วยชี้ให้เห็นว่า ในระบบที่ไวต่อสภาวะตั้งต้นนั้น
การกระทำเพียงเล็กน้อยอาจเกิดสะเทือนมากได้ เหมือนกับผลกระทบผีเสื้อ
หรือเหมือนกับการงัดเบาๆ คานก็อาจเคลื่อนไหวได้ หากเราสามารถรู้ว่า “จุดคานงัด” ดังกล่าวนั้นอยู่ที่ไหน
แนวความคิดนี้จึงเป็นการประกาศถึงศักยภาพของปัจเจกชน
ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผลการกระทำของปัจเจกชนคนเดียว
แม้เป็นเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็กๆ ก็ยังมีโอกาสทำให้ฝนตกได้
แต่กระนั้นจะเห็นได้ว่าแนวคิด
Chaos
Theory กับสถานการสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเพียงการสื่อในลักษณะใช้ภาษาทั่วๆ
ไปโดยไม่มีการอ้างอิงหลักทฤษฎีโกลาหลแต่อย่างใด
เนื่องจากทฤษฎีความโกลาหลมีประเด็นที่ชัดเจนคือ “ธรรมชาติมีความซับซ้อนเกินกว่าการคิดแบบเชิงเส้นจะสามารถทำความเข้าใจได้”
ขณะ ที่ทฤษฎีความโกลาหลไม่ได้ให้อ้างอิงหรือระบุ
ถึงวิธีการจัดการกับสังคมที่เป็นรูปธรรม
มีแค่การกล่าวถึงความสำคัญของการมองแบบไม่เป็นเชิงเส้น ไม่เป็นกลไก
หรือเรียกว่ามองแบบองค์รวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป Chaos Theory สามารถอธิบายภาวะเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ที่กฎเกณฑ์เดิมได้ถูกทำลายลง
ดังนั้นหากต้องการชัยชนะจะต้องมองเห็นช่องว่างระหว่างกฎเกณฑ์เดิมกับการ
เปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ ภายใต้ภาวะใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น
เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องและแม่นยำที่สุดนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น