หน้าแรก

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

บทบาทภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์



บทบาทภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ทุกภาคีล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังร่วมที่จะก่อให้เกิดสัมฤทธิผลของการพัฒนา และล้วนเป็นผู้ร่วมรับผลกระทบหรือผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้ผลของการพัฒนาตามยุทธศาสตร์นี้ มุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน การมีส่วนร่วมของทุกภาคีตลอดกระบวนการพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก ความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้องค์ความรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับคนไทยทุกคน และการสร้างกลไกให้เอื้อต่อการเข้ามีส่วนร่วมฯ มีสิทธิในการเข้าถึง ใช้และรับประโยชน์อย่างเป็นธรรมและสมดุลกับข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของตน จึงเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จ ซึ่งภาคีต่างๆ ควรมีบทบาท ดังนี้
 
1. ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะต้องปรับบทบาทจากผู้ควบคุมและสั่งการ มาเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งกระจายอำนาจการเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการไปยังภาคีร่วมพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชน คือ
(1) การรักษาฐานทรัพยากรและสมดุลของระบบนิเวศ ภาครัฐส่วนกลางต้องสนับสนุนสิทธิการดูแลทรัพยากรและพัฒนาองค์ความรู้แก่ชุมชน รวมทั้งกติกาสร้างความยุติธรรมในการใช้ประโยชน์ของภาคการผลิตและชุมชน โดยปรับปรุงกฎ ระเบียบ กฎหมาย และใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสร้าง เชื่อมโยง และส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ภาคีร่วมพัฒนา และใช้กลไกและการเข้าถึงฐานข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขยายบทบาทการจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้นโดยพัฒนาทั้งองค์ความรู้ ขีดความสามารถในการบริหารจัดการและแนวทางกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรมให้แก่ชุมชน
(2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืนภาครัฐส่วนกลางต้องปรับปรุงนโยบายสาธารณะให้สนับสนุนการประหยัดการใช้ทรัพยากรและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจูงใจให้เกิดการประหยัดทรัพยากร พลังงานและลดมลพิษ ทั้งด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาขีดความสามารถและองค์ความรู้ รวมทั้งความรับผิดชอบให้พร้อมรับกับการกระจายอำนาจ และจัดสรรทรัพยากรของท้องถิ่นเพื่อดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(3) การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างระบบฐานข้อมูลระดับชาติ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชน กำหนดจุดยืนในประเด็นที่อาจมีข้อขัดแย้งในอนาคต เช่น เรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) เป็นต้น กำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและสิทธิภูมิปัญญาท้องถิ่นจากการคุกคามภายนอก วางระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างพันธมิตรกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
2. ภาคเอกชน ต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างและสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม ซึ่งรวมทั้งแก่ชุมชนที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีจริยธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยผลิตสินค้าและบริการด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่สะอาด ส่งเสริมการสร้างคุณค่าจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพด้วยนวัตกรรมและเทคนิคทางการตลาด มีความยุติธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างเจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับการผลิตและสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
3. ภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และประชาชน
มีบทบาทสำคัญ ดังนี้
(1) การรักษาฐานทรัพยากรและสมดุลของระบบนิเวศ จะต้องสร้างประชาคมและเครือข่ายการอนุรักษ์ การจัดการ และการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ถ่ายทอดยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรร่วมกับความรู้สมัยใหม่ ร่วมกันกำหนดกติกา หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนร่วมกัน เช่น ป่าชุมชน ลุ่มน้ำ และทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น กำหนดมาตรการควบคุมกิจกรรมที่คุกคามหรือทำลายระบบนิเวศ เช่น การท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในเขตพื้นที่อนุรักษ์ การค้าสัตว์ป่าและการเลี้ยงสัตว์หายาก เป็นต้น
(2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืนควรต้องปลูกฝังค่านิยม รณรงค์ และเผยแพร่ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนแก่สาธารณชน ทำแผนบริหารจัดการภายในชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์และเฝ้าระวังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
(3) การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น จำเป็นต้องส่งเสริมการเรียนรู้ทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง โดยเฉพาะด้านอาหารและสุขภาพ และต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชน การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นให้ยั่งยืน การเชื่อมโยงชุมชนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเฝ้าระวังการเข้าถึงพันธุกรรมท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนภาครัฐในการเจรจาต่อรองกับต่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
4. สถาบันอื่นๆ ได้แก่ สถาบันวิชาการและสื่อมวลชน เป็นต้น โดยสถาบันวิชาการควรมีบทบาทโดยให้การศึกษาแก่สาธารณชน รวมทั้งวิจัยและพัฒนาร่วมกับนักพัฒนาและชุมชนในการติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลรวมทั้งสนับสนุนชุมชนและนักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ในการรวบรวมข้อมูลทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับระบบฐานข้อมูลระดับชาติ ให้การศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการยกระดับและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และดึงศักยภาพของชุมชนออกมา ผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน
สำหรับสื่อมวลชน ต้องเผยแพร่ตัวอย่างการอนุรักษ์และจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งข่าวสาร ข้อมูล และองค์ความรู้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นเวทีในการร่วมคิด ร่วมดำเนินการ
เพื่อสร้างฉันทามติและความสมานฉันท์ ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันของสังคม ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้สนใจภูมิปัญญาไทยให้มากขึ้นสร้างความตื่นตัวแก่สาธารณชน โดยเผยแพร่กรณีศึกษาและบทเรียนที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาการจดสิทธิบัตร รูปแบบและเงื่อนไขที่นำไปสู่การแย่งชิงผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น