หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

องค์การภาคประชาชน



องค์การภาคประชาชน

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นผู้กำหนดความต้องการของตน  ผู้บริหารประเทศที่จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนต้องกำหนดนโยบายและปฏิบัติไปในแนวทางที่ประชาชนยอมรับได้ สังคมไทยเป็นสังคมพหุนิยม ที่ประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของวัฒนธรรมทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ประชาชนภาคเหนือตอนบนมีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี ทัศนคติ ความคิดความอ่านต่างจากคนไทยในภาคอื่นมากบ้างน้อยบ้าง  การพัฒนาสังคมพลเมืองภาคเหนือตอนบน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมตามแผนการพัฒนาสังคมของรัฐบาล ซึ่งหมายถึง การเข้าไปจัดการคน ระเบียบสังคม และวัตถุสิ่งของ  ซึ่งคนจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง การศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี การพัฒนาย่อมได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับคน ระเบียบสังคม และวัตถุสิ่งของที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคน ระเบียบสังคมและวัตถุสิ่งของของสังคมนั้นๆ 
สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2550) ได้กล่าวว่าการพัฒนานั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม  โดยอธิบายต่อว่าการเปลี่ยนแปลงองค์การทางสังคมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง  ขนาดองค์การทางสังคมใหญ่หรือเล็กลง สอง ประเภทขององค์การทางสังคม จากกลุ่มเพื่อนเป็นครอบครัว หรือชุมชน สาม ลักษณะขององค์การทางสังคม เช่น จากยึดเหนี่ยวหลวมๆ เป็นเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น จากแบ่งแยกมาเป็นสมานสามัคคี  และสี่ สถานภาพและบทบาท จากเคยมีสถานภาพต่ำมาเป็นสถานภาพสูง จากความเป็นเพื่อนมาเป็นสามีภรรยากัน  จากผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นผู้บังคับบัญชา
การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทำให้บทบาทเปลี่ยนไปด้วย  ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

จะเปลี่ยนแปลงใน 3 รูปได้แก่ หนึ่งความคิด เช่น ความเชื่อ ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์  สอง พฤติกรรม เช่น บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น วิถีประชา จารีตประเพณีและกฎหมาย สาม วัตถุ เช่น วัตถุที่เป็นทางวัฒนธรรมคือบ้านเรือน วัดวาอาราม โบสถ์ มัสยิด  เครื่องใช้ เครื่องมือ และเครื่องประดับ เป็นต้น
องค์กรประชาชนในรูปขององค์กรชุมชนจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ องค์กรในรูปของคณะกรรมการ เช่นคณะกรรมการพัฒนาเด็กและสตรี  คณะกรรมการกลุ่มหนุ่มสาว  คณะกรรมการเหมืองฝาย ฯลฯ  องค์กรอีกรูปแบบหนึ่งจะอยู่ในรูปของกลุ่ม เช่นกลุ่มเยาวชน  ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้าน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้อนุรักษ์ป่า เป็นต้น  องค์กรประชาชนที่ชุมชนตั้งขึ้นส่วนใหญ่มีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  องค์กรประชาชนบางองค์กรจะรวมกันเป็นเครือข่ายจากหมู่บ้าน เป็นตำบลหรือระหว่างตำบล เช่นกลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มเหมืองฝาย  กลุ่มอาชีพหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  เป็นต้น
องค์กรประชาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองให้เข้มแข็งโดยมุ่งเน้นการพึ่งตนเอง
ลดการพึ่งพิงจากภายนอก  อย่างไรก็ดีองค์กรประชาชนเป็นองค์กรเปิด ต้องเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยกลไกของภาครัฐ นโยบายของภาครัฐ ระเบียบกฎหมายของรัฐทั้งที่สนับสนุนและเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาชุมชน  เป้าหมายการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองเนื่องจากประชาชนได้เรียนรู้ที่จะปกป้องและป้องกันตนเองมิให้ปัจจัยภายนอกเข้าไปทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา วัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นในบางพื้นที่ประชาชนจึงรวมตัวกันเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ เช่น สหพันธ์ชาวนา  สมาคมผู้ปลูกพืชไร่ เป็นต้น 


ดังที่ทราบพลเมืองมีโครงสร้างสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง พลเมืองภาคเหนือตอนบนมีปฏิสัมพันธ์โดยยึดเหนี่ยววัฒนธรรมเดียวกันทำให้เข้าใจกัน พฤติกรรมการแสดงออก  เราจะเห็นว่าโครงสร้างของสังคมล้านนาจะประกอบด้วยองค์กรทางสังคม สถาบันทางสังคม ที่มีความสัมพันธ์  มีหน้าที่และแบบแผนพฤติกรรมของพลเมืองภาคเหนือตอนบน  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจะมีทั้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงไปตามแผนที่วางไว้ การปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2550 การปฏิเสธนักการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับตัวแทนที่ตนเองเลือกและการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งความคิดเดิมของพลเมืองภาคเหนือตอนบนจะคุ้นเคยกับการสั่งการจากส่วนกลาง และยอมรับสยบต่ออำนาจส่วนกลาง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เนื่องจากประชาชนมีเหตุผลมากขึ้น และได้สัมผัสประชาธิปไตยที่เขาสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะมากขึ้น การยอมรับอำนาจใดนั้นเขาจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการของการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความคิดที่เป็นความเชื่อและอุดมการณ์ในการปกครองและการบริหารราชการแบบประชาธิปไตยได้พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งที่พลเมืองจะไม่ยอมรับกระบวนการที่ใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลง  ฝ่ายที่ยึดอำนาจเข้าใจว่าประชาชนจะเชื่อตามผู้นำ ตามความคิดดั้งเดิมที่ว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือดังคำพูดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่ว่า ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวแต่สังคมปัจจุบันความชอบธรรมอยู่ที่ขั้นตอนดำเนินงานและกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ รวมทั้งการยึดความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทฤษฎี ความมีเหตุผล (อมรา พงศาพิชญ์, 2549) ในเมื่อขั้นตอนไม่เป็นประชาธิปไตยประชาชนจึงปฏิเสธอำนาจที่มีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากผลไม่มีความสัมพันธ์กับเหตุของความเป็นประชาธิปไตย
ในเมื่อรัฐบาลที่มิใช่ตัวแทนของประชาชนตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  ประชาชนเลือกตัวแทน ประชาชนจึงหวังไม่ได้ว่าจะปกครองเพื่อเป้าหมายไปยังประชาชนหรือไม่ ดังคำกล่าวของอับราฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  อมรา พงศาพิชญ์ (2549) ได้ให้ความเห็นว่าการใช้วัฒนธรรมเพื่ออุดมการณ์สร้างชาติ โดยวิธีการปกครองมักจะอ้างความเชื่อในบารมีอำนาจ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบริหาร เช่นอ้างความเชื่อใน
สมุติเทพ หรืออ้างบารมีพระมหากษัตริย์ เป็นวัฒนธรรมชาติที่สืบทอดมายาวนานที่มีอิทธิพลครอบงำเหนือวัฒนธรรมของชุมชน ในขณะที่ประชาชน ชุมชน ได้พัฒนาความรู้ของตนเองตามวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ได้รับข้อมูลข่าวสารสามารถเรียนรู้เท่าทันฝ่ายปกครองอมาตยาธิปไตย จึงสามารถวิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ดีกว่าในอดีต ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้ก่อการรัฐประหารและกลุ่มคนบางกลุ่มอ้างบารมีพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวอ้างว่าฝ่ายตรงข้ามคิดจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และทุนทางเศรษฐกิจ  ประชาชนส่วนใหญ่จึงรับไม่ได้ไม่ยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม  แสดงว่าประชาชนมีเหตุผลมากขึ้นกว่าในอดีต
องค์กรประชาชนอาจจัดได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ องค์กรรัฐ  องค์กรประชาชน และองค์กรธุรกิจ  องค์กรรัฐไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นจะเป็นตัวกลางในการนำนโยบายจากส่วนกลางไปปฏิบัติ ซึ่งนโยบายที่กำหนดขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นกระบวนการของระบบราชการที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  นับตั้งแต่ปี พ.. 2540 พรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนเรียกว่าสัญญาประชาคมไปปฏิบัติตามที่ประกาศระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อได้เป็นรัฐบาล ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นการนำแนวคิดการบริหารประเทศของปราชญ์เมธีการเมืองนาม Jean Jacques Rousseau (1712 – 1778) ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจึงทำให้ประชาชนได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ รู้คุณค่าของประชาธิปไตย  มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะและบริการสาธารณะ ประกอบกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้มีบทบาทต่อการปกครอง ในขณะที่ฝ่ายปกครองอมาตยาธิปไตยยังมองว่าแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  ประชาชนปฎิเสธนโยบายแบบสั่งการจากส่วนกลางมากขึ้น และรัฐบาลเผด็จการยังเชื่อในความชอบธรรมว่าเป็นตัวแทนของประชาชน   แม้ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งและเชื่อว่าเมื่อยึดอำนาจรัฐได้สถาปนาเป็นองค์อธิปัตย์เสมอพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสามารถบงการอะไรก็ได้ ในขณะที่ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งรวมตัวกันเป็นชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสร้างพลังและรักษาสิทธิ์ความเป็นพลเมืองของตนเอง แนวโน้มความเป็นชุมชนนิยมจะมีมากขึ้น ดังนั้นองค์อธิปัตย์ดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับความต้องการและทัศนคติของประชาชน ชุมชน จึงถูกต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจจะอยู่ได้ไม่นาน แต่กลุ่มอำนาจนิยมจะจำแลงแฝงตัวไปอยู่ตามองค์กรต่างๆ เช่น กองทัพ วุฒิสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองบางพรรค
ความเป็นชุมชนนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการคงอยู่ร่วมกันในสังคม ความเป็นพลเมืองที่ดี การรู้จักเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น (ทศพร ศิริสัมพันธ์, 2549) การกระทำใดที่กระทบต่อสิทธิของชุมชน ชุมชนจะแสดงออกในการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ เช่น
การชุมนุม การเสนอข้อเรียกร้อง การลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับนโยบายรัฐบาล การลงประชามติปฏิเสธไปในทางตรงกันข้ามกับผู้ที่ละเมิดสิทธิของเขา ดังตัวอย่างของการลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของพลเมืองภาคเหนือตอนบน การลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส
.. หรือ ส.. ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลเผด็จการ เป็นต้น 
การแสดงบทบาทของประชาชนในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลผ่อนคลายอำนาจ รัฐบาลจะมีการพิจารณาทบทวนบทบาทหรือนโยบายการบริหารประเทศ ที่ต้องนำความต้องการของชุมชน องค์กรประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนงาน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

เอกสารอ้างอิง

ทศพร ศิริสัมพันธ์. (2549). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวการบริหารราชการแนวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ.
สัญญา  สัญญาวิวัฒน์. (2550). ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อมรา  พงศาพิชญ์. (2549). ความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น