หน้าแรก

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

หลักธรรมสำหรับนักบริหารในการปฏิบัติงาน



หลักธรรมสำหรับนักบริหารในการปฏิบัติงาน

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

สำหรับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จหมายถึงการบริหารงานจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้นจะต้องมีคุณธรรมประจำตัวด้วยแยกความสำคัญและรายละเอียดเป็น 4 ข้อดังนี้
1. นักบริหารต้องมีความรอบรู้รอบรู้ถึงงานในหน้าที่ตลอดถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องนักบริหารต้องเริ่มต้นบริหารตนเองบริหารคนและบริหารงานให้เป็นต้องเป็นคนอ่านมากฟังมากเกาะติดกับสถานการณ์รอบด้านเมื่อได้ข้อมูลสิ่งใดมาต้องรู้จักวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ได้ยินได้รู้มานั้นมีความถูกต้องแค่ไหนต้องมีใจที่หนักแน่นไม่เอนเอียงไม่มีอคติคือตัวเองต้องเป็นคนที่มีความยุติธรรมประจำใจนั่นเองการมีปัญญารอบรู้ดังกล่าวยังไม่พอเพียงถ้าไม่รู้จักนำความคิดนำความรู้มาปฏิบัติให้เกิดความชำนาญเมื่อมีปัญหาใดๆประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้สามารถแก้ไขได้ในทันที
2. ความขยันหมั่นเพียรและกำลังใจเป็นสิ่งที่ควบคู่กันคนมีปัญญาแต่ขาดกำลังใจในการทำงานงานก็จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะความที่ไม่กล้าตัดสินใจผู้บริหารควรกล้าคิดและกล้าทำงานใดที่ยากมีอุปสรรคมากเพียงใดก็ไม่ท้อถอยเมื่อลงมือทำสิ่งใดแล้วเกิดมีอุปสรรคย่อยๆใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาใช้กำลังใจความมุ่งมั่นเพียรพยายามสิ่งใดที่คิดว่ายากลำบากจะเบาบางลงที่คิดว่าต้องใช้เวลานานสิ่งเหล่านี้จะหมดไปในที่สุดผลที่ตามมาคือความเชี่ยวชาญและผลสำเร็จได้ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นกำลังใจให้ทำความดีต่อไป
3. การจะเป็นนักบริหารที่สังคมยอมรับไม่ควรจะมีจุดด่างพร้อยในชีวิตไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามนักบริหารหลายคนหมดอนาคตในความเป็นผู้นำเพราะถูกจับได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือบางคนควรได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูงแต่เพราะได้มีการทำผิดพลาดเพียงเล็กน้อยแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ทำให้ต้องเสียตำแหน่งให้ผู้อื่นที่มีคุณสมบัติในการทำงานด้อยกว่าแต่ประวัติส่วนตัวไม่ด่างพร้อย เป็นต้น
4. นักบริหารต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อพร้อมที่จะให้การสงเคราะห์กับเพื่อนร่วมงานผู้ใต้บังคับบัญชาการให้จะผูกใจคนอื่นไว้ได้การให้ในที่นี้รวมไปถึงการให้คำแนะนำถ่ายทอดวิชาความรู้หรือเคล็ดลับในการทำงานต่างๆอย่างไม่ปิดบังให้อภัยเมื่อมีการผิดพลาดในการทำงานหรือมีการกระทบกระทั่งล่วงเกินกันจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามเมื่อมีการให้อภัยก็ย่อมได้รับมิตรภาพคืนมายิ่งถ้าเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนพูดแต่สิ่งดีงามไพเราะอ่อนหวานมีความจริงใจและเป็นคนเสมอต้นเสมอปลายก็สามารถมัดใจได้ดีเช่นกันหรือการทำตัวให้เป็นประโยชน์ในทางหนึ่งทางใดเช่นให้การช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอหรือการสงเคราะห์ด้วยความเมตตาการกระทำเหล่านี้ควรทำอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์
 ยอดเยี่ยม

นักบริหารต้องมีพรหมวิหารธรรมคือธรรมสำหรับผู้ใหญ่4 ประการคือเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาและสิ่งที่จะเพิ่มคุณภาพของผู้บริหารที่ดีอีกประการหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือการมีบุคลิกภาพที่ดีซึ่งการมีบุคลิกดีนั้นเกิดได้ภายในคือจากใจเป็นบุคลิกส่วนตัวทางหนึ่งและภายนอกคือการแต่งกายที่ถูกกาลเทศะการระมัดระวังกิริยามารยาทเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้ผู้บริหารได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและคุณภาพอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐข้าราชการจะต้องมีวิสัยทัศน์และร่วมกันดำรงความมั่นคงรุ่งเรืองของบ้านเมืองโดยมีวิจารณญาณมีคุณธรรมมีความเสียสละและมุ่งมั่นปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถตามแนวทางที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงตรัสไว้ว่าข้าราชการมิใช่อภิสิทธิ์ชนหากแต่จะต้องบำเพ็ญตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมให้เป็นอนุสติเตือนใจถึงคุณค่าแห่งความเป็นข้าราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเป็นหลักเกียรติศักดิ์ที่ยังยืนแก่สถาบันข้าราชการสืบไป
อย่างไรก็ตามในมาตรการสร้างคุณธรรมนั้นองค์กรจะต้องพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีจิตสำนึกมีคุณธรรมจริยธรรมซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกสรรบุคลที่พร้อมจะรับการพัฒนาในขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาระดับสติปัญญาลักษณะบุคลิกภาพลักษณะนิสัยและระดับจิตสำนึกพื้นฐานที่ได้รับการปลูกฝังมานอกจากนี้ยังจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมที่จะยอมรับข้อบกพร่องของตัวเองมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการยอมให้ความร่วมมือให้ผู้อื่นพัฒนาให้ด้วยทั้งนี้เพื่อให้ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมแก่ผู้บริหารให้เกิดความมั่นคงขึ้นในสังคมไทยต่อไป
การที่ผู้บริหารมีคุณธรรมจะเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ร่วมงานทำให้ผู้ร่วมงานเกิดขวัญและกำลังใจรู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานในองค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพปัจจุบันคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปจึงควรให้มีการปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดกับบุคคลทุกๆ คนซึ่งในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับคุณธรรมที่เราคนไทยทุกคนควรศึกษาและนำมาปฏิบัติรวม 4 ประการคือ
1. การรักษาความสัจความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
2. การรู้จักข่มใจตนเองฝึกใจตนเองให้ประพฤติอยู่ในความสัจความดีนั้น
3. การอดทนอดกลั้นและอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
4. การรู้จักละวางความชั่วความทุจริตและรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
สำหรับคุณธรรมสำหรับผู้บริหารไม่ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องยึดถือคุณธรรมหรือต้องมีคุณธรรมใดบ้าง แต่ลักษณะซึ่งแสดงคุณธรรมที่ผู้บริหารควรยึดและปฏิบัติจะปรากฏอยู่ในหลักของศาสนาทุกศาสนาระเบียบกฎหมายคำสั่งจรรยาและวินัย ซึ่งโดยสรุปแล้วผู้บริหารควรมีคุณธรรมในเรื่องต่อไปนี้เป็นพื้นฐานคือ
1. มีเมตตากรุณาต่อผู้ร่วมงานและผู้อื่น
2. มีความเสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน
3. ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ร่วมงาน
4. มีความยุติธรรมมีเหตุผลและวางตัวเป็นกลางอย่างสม่ำเสมอ
5. มีความรักและห่วงใยผู้ร่วมงาน
6. ซื่อสัตย์ต่อตนเองต่อหน่วยงานและผู้อื่น
7. มองโลกในแง่ดี
8. ยึดระบบคุณธรรมในการบริหารงาน
คุณธรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องมี่ยอมรับจากสังคมและเป็นความคาดหวังทั้งของทางราชการและสังคมที่จะได้เห็นข้าราชการไทยประพฤติปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารด้วยแล้วก็ยิ่งคาดหวังสูงกว่าในตำแหน่งอื่นๆ เพราะการดำรงอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้บังคับบัญชาจึงจำเป็นต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติทั้งในด้านคุณธรรมและหน้าที่การงานแก่ผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องเพื่อ ครองงานได้แต่ผู้บริหารจะไม่สามารถ ครองตนและครองคนได้เลยถ้าหากผู้บริหารขาดคุณธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น