ความร่วมมือระหว่างวัดกับรัฐในการการพัฒนาสังคม
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐ
มีมาช้านานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถ้าจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาโดยสากลธรรมชาติเชื่อว่าเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรก
ตั้งแต่มีรัฐเป็นครั้งแรก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐนั้น
ก็หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อของมนุษย์และพระศาสนา (สุกิจ ชัยมุสิก, 2552) รัฐ และศาสนา จึงไปด้วยกันหรือคู่ขนานกันไป ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะทำให้รัฐเป็นธรรมรัฐ
(Good Governance) ให้ประชากรภายในรัฐมีความสงบสุขร่มเย็น
ทำให้มั่นใจได้ว่า คำสอนของศาสนาเป็นพื้นฐานของความมั่นคงแห่งรัฐ ในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ฯ
อย่างแท้จริง
ตามทัศนะของท่านธรรมปิฏก (2525) ได้กล่าวว่า
รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องพยายามให้ศาสนาบริสุทธิ์
เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไปในสังคมหรือในโลกนี้ การทำสังคยานาก็ดี
การกำจัดชำระล้างศาสนาในบางสมัยก็ดี
เป็นเรื่องที่จัดได้ว่าอยู่ในหน้าที่ข้อนี้
เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการพระศาสนา รัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์คณะสงฆ์ในการทำสังคายานาร้อยกรองพระธรรมวินัย
เพื่อรักษาธรรมที่บริสุทธิ์ไว้
แต่อย่างไรก็ตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ก็ไม่อาจจะกล่าวได้โดยตรง
เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจรัฐ
หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาไว้ตรงเพราะศาสนาของพระองค์เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น
แต่ธรรมะของพระองค์ต่างหาก ที่เป็นการส่งเสริมให้กับการบริหารรัฐ
เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
หรือเป็นการประยุกต์ธรรมะของพระพุทธองค์เข้ากับเรื่องนั้นๆ
ซึ่งก็สามารถบูรณาเข้ากันได้ดี จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ดังที่เสถียรพงษ์
วรรณปก (2550) ได้กล่าวว่า โดยโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา
พระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรงอยู่แล้ว ท่านบวชมาศึกษา ปฏิบัติ
เมื่อปฏิบัติได้ผลมากน้อยตามความสามารถแล้ว ก็เผยแผ่พระธรรม สั่งสอนประชาชน
นั้นคือหน้าที่หลักของพระสงฆ์ ดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า
พระสงฆ์จะต้องศึกษา-ปฏิบัติสัมผัสผล-เผยแผ่-แก้ปัญหา ฝ่ายรัฐ ก็มีหน้าที่ในการ 1)
ปกครองประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข
โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ
(โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม) 2) อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา
รวมถึงช่วยศาสนจักรแก้ปัญหาใหญ่ๆ
ที่เกิดขึ้นอันเกินความสามารถของพระสงฆ์จะจัดการได้
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนา มิได้เหมือนประเทศใดๆ ถ้าจะเรียกว่าเป็น Separation
of Church and State ก็เป็นความสัมพันธ์แบบ Positive
Separation มากกว่า Negative Separation คือไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างพระศาสนากับรัฐ
เนื่องจากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนสอดประสานสัมพันธ์กัน เพื่อความมั่นคงของรัฐ
และความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนา
ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐไม่ว่าจะเป็นสมัยพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดและเป็นประเด็นหลักก็คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างศาสดาหรือองค์แทนพระศาสดากับรัฐ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนธรรมกับรัฐ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนบุคคลกับรัฐ
4) ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนพิธีและศาสนประเพณี 5) ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนวัตถุกับรัฐ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐจึงเป็นการศึกษาครอบคลุมทั้ง
5 องค์ประกอบเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม
ศาสนาที่ปราศจากการอุปถัมภ์บำรุงเอาใจใส่จากรัฐก็มิอาจนำหลักธรรมเข้าไปสู่กลไกของรัฐได้อย่างสะดวก
รัฐที่ปราศจากหลักธรรมทางศาสนาเป็นคู่มือบริหารก็มิอาจนำรัฐไปสู่เป้าหมายและความสงบสุขแห่งรัฐได้
จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ศาสนจักรและอาณาจักรจะต้องร่วมมือกันเดินไปด้วยกันเพื่อความสงบสุขแห่งรัฐและความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาและสันติภาพโลก
นโยบายของรัฐปัจจุบันที่มีส่วนสัมพันธ์กับวัด
หรือพระพุทธศาสนา จะเป็นไปในลักษณะของการส่งเสริมการปรับปรุงองค์กรและกลไกที่รับผิดชอบด้านศาสนา
เพื่อให้การบริหารจัดการ ส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ
รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา เพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตเพื่อสังคมของเราจะได้เป็นสังคมที่มีแต่ความสงบสุข
ปราศจากความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) นโยบายการส่งเสริมการนำหลักธรรมมาเสริมสร้างความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติ
2) นโยบายการเร่งรัดในการออกกฎหมายในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
3) นโยบายการฟื้นฟูบทบาทของบ้าน วัด โรงเรียน
และราชการให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน 4) นโยบายการส่งเสริมบทบาทและงบประมาณในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเทศนาอบรมธรรมะให้แก่ประชาชน นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล
จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยกลไกของระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อนระบบราชการในที่นี้ คือ
หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา
จัดการศาสนาสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากรทางศาสนา โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคณะสงฆ์
กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) รับสนองงาน ประสานงาน
และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหาร การปกครอง คณะสงฆ์
(3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(4) ส่งเสริม
ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(5) ดูแลรักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง
(6) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(7) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา
เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
วิสัยทัศน์ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
คือ พระพุทธศาสนามีความเจริญมั่นคง พุทธศาสนิกชนเข้มแข็งมีความสุขด้วยหลักพุทธธรรม
ส่งเสริมศีลธรรมคํ้าจุนสังคม และพันธกิจ คือ ให้การอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา
ส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมให้ประชาชน นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้จริง ยุทธศาสตร์ 1) การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
2) การนำหลักธรรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชีวิตและสังคม (สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ,
2553)
จากที่ได้สรุปให้เห็นในรูปของนโยบายที่มีส่วนสัมพันธ์กันกับวัด
ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารจัดการคณะสงฆ์ในอนาคต ก็จะเป็นไปในลักษณะที่กว้างๆ
ไม่ได้เจาะจงลงไป แต่อย่างไรก็ตาม
การจะให้เห็นภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับวัดมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
ก็ต้องดูที่หลักแนวทางปฏิบัติ ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า
หากจะดูตามหลักรัฐศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว
ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
คงจะไม่เพียงพอ ผู้วิจัยก็ได้ฉายภาพให้เห็นแล้วว่า ต้องดูตามหลักทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายโดยตรง (Policy Making)
และจะเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่านี้
จะต้องไปดูที่การนำไปสู่การปฏิบัติ (Implementation) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคราชการกับทางคณะสงฆ์ในการร่วมกันทำกิจกรรมโครงการต่างๆ
ให้บรรลุผลสำเร็จตามกรอบนโยบายใหญ่ที่รัฐบาลได้กำหนดมา ภาครัฐต้องอาศัยคณะสงฆ์เป็นกลไกหลักในการเผยแผ่
ขยายองค์ความรู้ไปสู่ประชาชนตามหมู่บ้าน ส่วนคณะสงฆ์ต้องอาศัยภาครัฐ หรือภาคราชการ
ในเรื่องของการอุปถัมภ์เรื่องงบประมาณ
และระเบียบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามระบบราชการ ดังนั้น ต่อจากนี้
จะได้อรรถาธิบายถึงหลักในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับทางคณะสงฆ์ในการทำกิจกรรม
โครงการของรัฐบาล โดยจะสะท้อนจากงานวิจัยจากนักวิชาการต่างๆ เป็นไปตามลำดับ
วิชัย บูรณะฤทธิ์ทวี (2533) ได้ศึกษา พฤติกรรมผู้นำในการพัฒนาชุมชน: ศึกษากรณีโครงการบวร ได้สรุปว่า
ลักษณะของผู้นำสงฆ์ที่เด่นชัด คือ สามารถทำงานร่วมกันกับทางราชการได้เป็นอย่างดี
และมีความสามารถในการแปลงนโยบายของรัฐไปสู่การปฏิบัติ
โดยใช้ภาวะผู้นำสงฆ์ในการพัฒนาสังคมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ เช่น
นโยบายการสังคมสงเคราะห์ นโยบายการปลูกฝังคุณค่าทางจริยธรรม
และนโยบายการพัฒนาหมู่บ้าน โดยร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ คณะสงฆ์
ประชาชน และข้าราชการ โดยผู้นำสงฆ์ เป็นแต่เพียงหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะ
หลักการที่ถูกต้อง
สอดคล้องกับบทสรุปของ อนันต์
ดอนนอก (2539) ได้กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน ตามโครงการอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) โดยพบว่า พระสงฆ์เข้ามามี
บทบาทในด้านการเป็นผู้สนับสนุนให้คำปรึกษาและประสานงานกับ
หน่วยงานของทางราชการและองค์กรเอกชนต่างๆ พระสงฆ์มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง พระสงฆ์มีแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่เกิดจากการศึกษาหลักพุทธธรรมและพระสงฆ์มีความคุ้นเคยกับ
ประชาชนในชุมชนมานาน ประการที่สอง การได้รับแรงกระตุ้น (Motivation) ที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอก
หรือได้รับผลตอบแทนทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม กิจกรรม
แต่อย่างไรก็ตาม
ความร่วมมือในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐกับคณะสงฆ์จะสำเร็จได้
ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการ โดยเน้นถึงการแบบมีส่วนทุกภาคส่วน
อาศัยพระสงฆ์เป็นแกนนำ ดังเช่น งานวิจัยของ สมนึก อนันตวรวงศ์ (2539) ได้กล่าวสรุปไว้ว่า
ในทางนโยบายรัฐบาลและองค์กรคณะสงฆ์ต้องร่วมมือกันในการปรับปรุง
องค์กรการทำงานต่างๆ ในคณะสงฆ์ ต้องเน้นในส่วนของการ ศึกษา การปฏิบัติ การเผยแผ่
ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการทำงาน สังคมสงเคราะห์ หรือการถ่ายทอดในรูปอื่นๆ การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
กระตุ้นให้ สถาบันครอบครัว
บิดามารดาปลูกฝังให้บุตรของตนมีความผูกพันกับความดีกับศาสนามากขึ้น
ในส่วนของสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกับวัดโดยให้
พระสงฆ์ได้มีโอกาสในการเข้าไปให้ความรู้กับเยาวชน อย่างเต็มที่ ทั้งในระดับประถม
มัธยมและอุดมศึกษา
แนวคิดของ สุภารัตน์ รักษ์มณี (2547) ได้กล่าวถึง บทบาทพระสงฆ์ในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง พบว่า
พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนเข็มแข็งได้สำเร็จ
และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน อำนาจของพระสงฆ์มาจาก สถานะของความเป็นพระ อีกทั้งเป็นผู้
มีการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมค่อนข้างสูง มีประสบการณ์
อุดมการณ์และเป้าหมายชัดเจน มีความเมตตา อดทน เสียสละ เป็นต้น จากที่กล่าวมาทำให้เห็นได้ว่า
บทบาทของพระสงฆ์มีส่วนสัมพันธ์กับทางภาครัฐทั้งในแง่ของนโยบาย
และการนำไปสู่การปฏิบัติ โดยสะท้อนเป็นบทสรุปจากพระมหารัตนพล ก้านเพชร (2547) ได้สรุปบทบาทพระสงฆ์ต่อการสร้างชุมชนเข้มแข็ง
ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐ โดยสรุปว่า บทบาทการพัฒนาของพระสงฆ์ เป็นไปในมิติ 4 ด้าน คือ 1) มิติทางด้านเศรษฐกิจ 2) มิติทางด้านสังคม 3) มิติทางด้านวัฒนธรรม 4) มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กล่าวโดยสรุปความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับทางราชการหากจะมองในลักษณะตามแนวทางรัฐศาสตร์
ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะของการให้ความอุปถัมภ์ของผู้ปกครองประเทศ ส่วนสถาบันศาสนา
(วัด) จะคอยเป็นผู้ให้คำปรึกษา
ให้แนวทางการบริหารบ้านเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
หากมองย้อนไปถึงรูปแบบการปกครองที่มีอยู่ในพระไตรปิฏก
ก็จะเป็นไปในลักษณะของการเทียบเคียงมากกว่าที่จะเป็นการเขียนไว้โดยตรง เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนมาก
จะเป็นการบูรณาการได้กับทุกศาสตร์ หากจะเป็นการกล่าวถึงเรื่องนั้นตรงๆ
คงจะไม่ค่อยมีมาก และหากมองในแง่ของความสัมพันธ์ในเชิงรัฐประศาสนศาสตร์ระหว่างวัดกับรัฐ จะเห็นภาพชัดเจนได้ว่า
รัฐมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในลักษณะที่กว้างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับทางวัด
ซึ่งนโยบายที่ทางรัฐกำหนดนั้น จะแสดงออกมาในรูปของมติคณะรัฐมนตรี ในรูปของกฎหมาย
ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถาบันศาสนา (วัด) ไม่ว่านโยบายทางด้านศาสนานั้น
จะมีผลในเชิงบวก หรือเชิงลบก็ตาม
หากแต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยเหลือสถาบันทางศาสนา (วัด) ในรูปของนโยบาย
ส่วนนโยบายจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
หรือสามารถแก้ไขปัญหาให้กับวัดได้ตรงตามความต้องการหรือไม่ อยู่ที่หน่วยงานราชการ
จะแปลงไปสู่การปฏิบัติ โดยร่วมมือกับทางคณะสงฆ์ในการปฏิบัติตามนโยบายของทางรัฐ
ดังนั้น หากจะถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ก็คงจะตอบเป็นไปในเชิงนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ กล่าวคือ
นโยบายเป็นไปในลักษณะที่ให้ความคุ้มครอง การให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ
และการนำนโยบายไปปฏิบัติ คือ
การร่วมมือกันระหว่างข้าราชการกับทางพระสงฆ์ในการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์สุขมาสู่ประชาชน
เช่น โครงการลานบุญ ลานวัด ของกรมการศาสนา และโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ฯลฯ
ซึ่งเป็นโครงการที่พยายามจะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน
และรัฐเข้ามาทำงานร่วมกันดำเนินการเพื่อความผาสุกของสังคม ประเทศชาติและเป้าหมายของพระศาสนา
คือ ทำให้ประชาชนมีความเห็นถูกต้อง และเป็นประชากรที่มีคุณภาพ
ตามแนวทางสังคมวิทยาเชิงพุทธแบบบูรณาการกับประชาธิปไตยแบบสากล
***********************************************************
บรรณานุกรม
พระธรรมปิฏก
(ป.อ.ปยุตฺโต). (2525). รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง.
กรุงเทพฯ:
จุฬาบรรณาคาร.
พระมหารัตนพล
ก้านเพชร. (2547). บทบาทพระสงฆ์ต่อการสร้างชุมชนเข้มแข็งศึกษาเฉพาะกรณีพระสงฆ์กลุ่มสหธรรมเพื่อการพัฒนาในจังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
วิชัย บูรณะฤทธิ์ทวี. (2533). พฤติกรรมผู้นำในการพัฒนาชุมชน:
ศึกษากรณีโครงการบวร.
งานวิจัยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย อ. เมือง จ. เชียงราย.
งานวิจัยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงราย อ. เมือง จ. เชียงราย.
สมนึก
อนันตวรวงศ์. (2539). สถาบันสงฆ์กับการพัฒนาสังคมไทยในอนาคตตามทรรศนะ
ของพระผู้นำทางด้านวิชาการ. งานวิจัยทางด้านสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ของพระผู้นำทางด้านวิชาการ. งานวิจัยทางด้านสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุภารัตน์
รักษ์มณี. (2547). บทบาทพระสงฆ์ในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง:
ศึกษากรณีชุมชนบ้านขุน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
สุกิจ
ชัยมุสิก. (2552). ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับรัฐ. บทความวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2550). ประโยชน์ที่พึงได้จากการเขียนพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ.
หนังสือพิมพ์มติชน: คอลัมน์ศาสนา วันที่ 6 พฤษภาคม 2550.
หนังสือพิมพ์มติชน: คอลัมน์ศาสนา วันที่ 6 พฤษภาคม 2550.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น