ความร่วมมือระหว่างวัดกับโรงเรียนในการพัฒนาสังคม
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
แม้ว่าในปัจจุบันนี้
การศึกษาไทยจะก้าวข้ามวันเวลาพร้อมมีการพัฒนาการด้านต่างๆ มากขึ้น
แต่ถึงกระนั้นบางด้านของการศึกษาไทยก็ยังมีจุดบกพร่องหรือเกิดปัญหามากมาย
จนทำให้การขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศต้องติดๆ ขัดๆ
หรือบางครั้งก็ต้องสะดุดแทบจะล้มเหลว
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงส่งผลกันทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ หลักสูตรที่มีปัญหา
รวมทั้งผลที่ตกถึงบรรดาเด็กๆ จนทำให้อ่อนด้อยในด้านความคิดและวิชาการ (นิรันด์
บุญจันทร์, 2552) ในขณะที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามจะแก้ไขจุดบกพร่องระบบการศึกษา
ด้วยวิธีการหลากหลาย และเกิดผลลัพธ์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวนั้น ทั้งนี้
กระทรวงศึกษาการ จะต้องมีการประสานงานกับทางสถาบันศาสนาอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จาก
หลักการสูตรการเรียนการสอนพุทธศาสนาได้สอดแทรกหลักธรรมต่างๆ
ไว้ในบทเรียนทุกช่วงชั้น
หากนักเรียนได้เรียนไปตามขั้นตอนที่วางไว้ก็จะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
แต่ทั้งนี้ต้องอาศัย กระบวนการถ่ายทอดจากทางโรงเรียน (พระธรรมโกศาจารย์,
2548)
ในการถ่ายทอดคุณค่า
และความสำคัญในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของโรงเรียน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ
และการปฏิบัติตัวตามแนวทางพุทธ การรับรู้คุณค่าของศาสนา
ลักษณะมุ่งอนาคตและการควบคุมตน เพื่อให้ตนเองดำรงชีวิตด้วยความราบรื่น
และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ครอบครัว สถาบัน แต่ทั้งนี้
การจะดำเนินการตามหลักปฏิบัติในแนวชาวพุทธได้ ต้องอาศัยต้นแบบที่ดี เช่น
การมีครูเป็นแบบอย่างที่ดีทางพุทธ และการได้รับประสบการณ์ทางพุทธศาสนา
การได้ฝึกปฏิบัติตามแนวทางพุทธ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างครูอาจารย์ ตลอดถึงนักเรียนในโรงเรียน
ที่จะเอาจริงกับเรื่องการเรียนการสอน การนำเอาหลักธรรมไปปฏิบัติ ที่ถือว่าเป็นคุณค่าทางสังคม
ที่นับวันจะหายากมากขึ้นทุกที หากดำเนินการให้มีความสัมพันธ์กันอย่างดี
ก็จะทำให้โรงเรียน กลายเป็นวิถีประชาสังคมชาวพุทธ หรือเรียกอีกอย่างว่า
เป็นโรงเรียนวิถีพุทธตามหลักปฏิบัติจริงๆ (สุริยะ พันธ์ดี, 2536) เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาไทยมาช้านาน
การปฏิรูปการศึกษาตามหลักพุทธศาสนา
จึงควรนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
และนำหลักสำคัญทางพุทธศาสนานี้มาเป็นรากฐานในการอบรม สั่งสอน ปลูกฝัง
ให้มีมโนกรรมหรือทัศนคติเกิดเป็น “สัมมาทิฐิ” เมื่อสามารถมีสัมมาทิฐิโดยถ้วนรอบแล้ว การคิด การตัดสินใจใดๆ
ย่อมสามารถควบคุมตนไปในทิศทางที่ถูกต้อง (พิทยา สิทธิโชติ, 2540)
แนวคิดของ พระวิสุทธิ์พุทธิศาสตร์
(อ้างใน นิรันด์ บุญจันทร์, 2552) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน
กับวัด โดยสรุปไว้ มีอยู่ 3 ข้อ คือ
1. วัดพึงส่งเสริม สนับสนุน อุปกรณ์ในโรงเรียน
ด้วยความสำนึกว่า โรงเรียนเป็นสมบัติของวัด คนของโรงเรียนเป็นคนของวัด
งานของโรงเรียนเป็นงานของวัด
2. โรงเรียนพึงช่วยเหลือ สนับสนุน และอุปถัมภ์วัด
ด้วยความสำนึกว่า วัดคือต้นสังกัดของโรงเรียน
3. วัดพึงสำนึกว่า
จะอยู่ได้เจริญงอกงามเพราะมีโรงเรียน และโรงเรียนจงสำนึกว่า
จะอยู่ได้สบายเพราะมีวัด เพราะทั้งวัดทั้งโรงเรียนเป็นเหมือนบุคคลคนเดียวกัน
การศึกษากับศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนเป็นไปในลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ในสมัยก่อนนั้นโรงเรียน วัด ชุมชน จะเป็นไปในลักษณะสามประสาน
และในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน จะเป็นไปในลักษณะสามประสาน แต่ไม่มีความเข้มแข็งเท่ากันกับในสมัยก่อน
จะเห็นได้จากการเปลี่ยนจากชื่อโรงเรียนวัดหลายแห่งไปเป็นโรงเรียนที่ไม่มีชื่อวัดนำหน้า
ทำให้มองดูโดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนจะขาดอะไรไปสักอย่าง กล่าวคือ
ขาดการร่วมมือกับวัดไป แต่หากลองไปเปรียบเทียบกับชื่อดั้งเดิมแล้ว
ก็จะดูมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความคุ้นเคย หรือเป็นไปในลักษะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทำให้เวลาที่ขอความร่วมมือ หรือประสานงานกันทำได้ง่ายกว่าเดิม
จากรูปแบบตามที่พระวิสุทธิ์พุทธิศาสตร์ ได้นำเสนอไปนั้น
ได้สะท้อนแง่มุมบางอย่างในลักษณะการร่วมมือกันระหว่างวัดกับโรงเรียนสมัยใหม่ เพราะทางวัดจะต้องมีส่วนในการทำนุบำรุงโรงเรียน
ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า โรงเรียนก็เป็นสมบัติส่วนหนึ่งของวัด
วัดพึงบำรุงโรงเรียนด้วยการให้อุปกรณ์การเรียนการสอน
และคลังสมองทางด้านพุทธธรรมนำจิตใจ
ส่วนโรงเรียนพึงบำรุงวัดด้วยการช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชูวัด เอาใจใส่ดูแลภายในวัด
นำนักเรียนเข้ามาประกอบกิจกรรมกับทางวัด และให้นักเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ระบบการประพฤติปฏิบัติตามแนววิถีพุทธ
เพราะฉะนั้น โรงเรียนจะอยู่ร่มเย็นก็เพราะวัด
วัดจะอยู่ด้วยเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าที่สงเคราะห์ประชาชน ก็คือ โรงเรียน ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งว่า
วัดกับโรงเรียนเป็นบุคคลคนเดียวกัน เพราะการศึกษากับการศาสนาไม่อาจจะแยกจากกันได้
กรมการศาสนา (2550) ได้สรุปถึงระบบการเรียนการสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนไว้ว่า
การนำพระพุทธศาสนากับการพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี
มีคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงปรารถนาในสังคม
จะเป็นการวางรากฐานให้กับเด็กเยาวชนอย่างแท้จริง
ตามความคาดหวังของทุกภาคส่วนของสังคม
และเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
บทบาทขององค์กรในชุมชนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
โดยวัดและโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทย
วัดและโรงเรียนเป็นศูนย์รวมจิตใจ และทางด้านการพัฒนาปัญญาของสังคม
เป็นองค์กรหนึ่งทางพระพุทธศาสนาในชุมชนที่พระสงฆ์ร่วมกันกับทางชุมชนจัดตั้งขึ้นให้เป็นแหล่งปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็ก
เยาวชน และประชาชน มีความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา การมีแหล่งหรือสถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
พระครูอุดมวัฒนคุณ (2549) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนโดยสรุปได้ว่า การดำเนินการดังกล่าว
เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่กรมการศาสนาได้กำหนดไว้
และได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน
โดยได้กำหนดหลักสูตรวิชาบังคับไว้ 3 วิชา ได้แก่ วิชาธรรม
วิชาประวัติพระพุทธศาสนา วิชาศาสนปฏิบัติ
การดำเนินการมีการปรับเปลี่ยนวิชาบังคับให้มีความเหมาะสมกับสภาพและความต้องการ
โดยให้นักเรียนกล้าแสดงออกมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
กล้าพูดแสดงความคิดเห็นในชุมชนอย่างมีเหตุผล เพราะจะเป็นผลดีแก่ตัวเองและพระศาสนาในอนาคต
จากผลการดำเนินการมาทำให้นักเรียนปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี มีความรู้ความเข้าใจหลักธรรม
และเห็นค่าของพระพุทธศาสนา
จากบทสรุปของ กรมการศาสนา (2550) และพระครูอุดมวัฒนคุณ (2549) มีลักษณะที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
คือ นโยบายของภาครัฐที่มีนโยบายชัดเจนให้วัดกับโรงเรียนต้องเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาความรู้ให้กับนักเรียน
เพราะวัดกับโรงเรียนจะทำหน้าที่ในการสั่งสอนอบรมบ่มนิสัยให้นักเรียนมีความรู้ควบคู่คุณธรรม
นำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ดังที่กรมการศาสนา ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า
การจัดการศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไม่ว่าจะทำการเรียนการสอนที่วัดหรือโรงเรียน
ต่างก็มีจุดหมายเดียว คือ การให้วัดกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
และให้นักเรียน ตลอดถึงประชาชนได้ใกล้ชิดกันมากที่สุด
เพื่อที่จะได้ซึมซับวิถีชีวิต คำสอนของพุทธศาสนาให้มากที่สุด โดยทำเป็นวิถี
เพราะวัดเป็นทุนทางสังคมและเป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศที่สามารถหล่อหลอมบุคคลให้เกิดการพัฒนาให้เป็นคนดีมีคุณธรรม
มีกระบวนการ วิธีการ และการขับเคลื่อนศีลธรรม ซึ่งจะอำนวยให้นักเรียนมีคุณธรรม
มีความคิด ทัศนคติที่ดี
จากงานวิจัยที่นำเสนอในเบื้องต้น
มีงานวิจัยของนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่มีประเด็นเพิ่มเติม คือ วีระชน นนทะเสน (2550) ได้สรุปรูปแบบการพัฒนาร่วมกันระหว่างวัดกับโรงเรียน โดยพบข้อสรุปว่า
การนำความรู้ด้านการปลูกฝังคุณธรรม ความดี มีจิตอาสา
และการนำความรู้ด้านจิตอาสาไปปรับใช้กับตนเอง สถานศึกษา ชุมชนและเครือข่าย คือ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน โดยใช้พรหมวิหาร 4
การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
การปรับตัวเองโดยระลึกตนเสมอว่าทำเพื่อประโยชน์ของสังคม จะเห็นได้ว่า งานวิจัยของ
วีระชน นนทะเสน ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นที่สนับสนุน กรมการศาสนา
และพระครูอุดมวัฒนคุณ ในประเด็นของการพัฒนานักเรียนด้วยการปลูกฝังคุณธรรม
ด้านพรหมวิหาร 4
ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เหมาะสมกับการสร้างสังคมให้มีความสุขสันติอย่างแท้จริง
นอกจากจะมีการเรียนการสอนธรรมะโดยวัดและโรงเรียนที่ช่วยกันดำเนินการแล้ว
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ยังมีการเรียนการสอนวิชาอื่นด้วย
จุฑารัตน์ ไพศาลโรจนรัตน์ (2543) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนในลักษณะเสริมเนื้อหาให้เห็นภาพกว้างขึ้น
โดยกล่าวไว้ว่า
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีส่วนสำคัญยิ่งในการขัดเกลาทางศีลธรรมแก่เยาวชน
เป็นการให้บริการทางสังคม ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพุทธศาสนา
นอกจากนั้นยังพบว่ามีปัจจัยและแรงจูงใจอื่น เช่น
ความต้องการความรู้เพิ่มเติมในวิชาดนตรีไทย ภาษาต่างประเทศและวิชาอื่นๆ
ที่ทำให้เยาวชนเข้ามาเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นอกจากต้องการความรู้ด้านธรรม
ทวีวัฒน์ วัฒนกุลเจริญ (2543) ได้กล่าวโดยสรุปว่า ครูผู้สอนมีความต้องการสื่อการสอน
โดยเฉพาะสื่อที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่สอนและมีเนื้อหาทางพระพุทธศาสนา ได้แก่
เอกสารตำราและหนังสืออ่านประกอบ ภาพถ่ายรูปภาพ วิดีทัศน์หรือเทปโทรทัศน์
กระดานดำเครื่องบันทึกเสียง ต้องการใช้การฝึกปฏิบัติ การศึกษานอกสถานที่และการสาธิตประกอบการสอน
การนำเสนอรูปแบบพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในรูปแบบของ Self-Learning Center วิธีการและเทคนิคการประชาสัมพันธ์ศูนย์วิทยบริการ วิธีการประสานความร่วมมือ
พระมหาบรรจง แผ่นทอง (2551) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับบ้าน ในแนวทางการจัดการศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไว้ว่า
เป็นการศึกษาคุณภาพการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนตามหลักไตรสิกขา
มีการกำหนดปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์เป็นลายลักษณ์ในเอกสารชัดเจน
มีอาคารสถานที่เพียงพอ มีบุคลากรที่ทำงานเสียสละ มีหลักสูตร/กฎระเบียบ
มีวัสดุอุปกรณ์/สื่อการสอนและงบประมาณ ด้านกระบวนการ
มีโครงสร้างการบริหารที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย
การวัดผลและประเมินผล กิจกรรมสนับสนุนที่หลากหลาย
มีการพัฒนาผู้เรียนตามหลักไตรสิกขา การนำไปใช้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
จะเห็นได้ว่า ทั้ง ทวีวัฒน์ วัฒนกุลเจริญ และพระมหาบรรจง จ
แผ่นทอง ได้สรุปถึงรูปแบบ เทคนิค วิธีการที่จะทำให้การจัดการเรียน
การสอนของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวัดกับโรงเรียน
ให้มีความสอดคล้องกันในแง่ของการใช้เทคนิค การเรียนการสอน พุทธศาสนา อันเป็นแกนหลักของวิชา
กับวิชาสามัญทั่วไป
ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของการจัดการศึกษาที่จะอบรมบ่มนิสัยให้เยาวชนได้มีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม
แต่ทั้งนี้ต้องมีสื่อ เอกสาร
และเครื่องมือที่จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และเกิดแรงจูงใจในการหันหน้าเข้าหาวัด เพื่อเข้ามาศึกษาพุทธธรรม แต่ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กันกับ นโยบายของผู้บริหารที่จะเน้นในเรื่องใดเป็นสำคัญ
แต่จากการสรุปความของพระมหาบรรจง แผ่นทอง พบว่า มีกิจกรรมสนับสนุนที่หลากหลาย
มีการพัฒนาผู้เรียนตามหลักไตรสิกขา การนำไปใช้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
อรุณวรรณ บุญเทียบทิฆัมพร (2550) ได้เน้นเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยระบบค่ายคุณธรรมที่โรงเรียนกับวัดร่วมมือกัน
โดยมีข้อสรุปว่า การพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชนด้วยพุทธภาวนา
ที่เข้าร่วมค่ายคุณธรรมวัดอุโมงค์จะเน้นการอบรมตามหลักพุทธภาวนา 4 คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา โดยการแบ่งกลุ่มและธรรมบรรยาย
เป็นวิธีที่มีประโยชน์ ทำให้มีความเข้าใจถึงเนื้อหาสาระได้มาก
ความเหมาะสมของการฝึกมากที่สุด คือ มารยาทชาวพุทธ
การเข้าร่วมกิจกรรมในฝึกอบรมพุทธภาวนาครั้งนี้ พบว่า
เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงคุณค่า ความกตัญญู การเคารพบิดา
มารดา ครู อาจารย์
ส่วนหลักปฏิบัติด้านกายภาวนา นักเรียนได้ฝึกฝนตนเอง
การเจริญภาวนาในอิริยาบถต่างๆ ได้มาก ด้านศีลภาวนา
นักเรียนได้ฝึกฝนควบคุมตนเองให้อยู่ในกฎ กติกา ควบคุมสำรวมอินทรีย์ทั้ง 5 ได้มาก ด้านจิตตภาวนา ได้ฝึกฝนตนเองในการทำสมาธิได้มากที่สุด
ด้านปัญญาภาวนา มีความเข้าใจในการฟังธรรมบรรยายได้มาก มองเห็นโทษของอบายมุข
บุญเพ็ง หงษา (2548) ได้สรุปการจัดค่ายพุทธบุตรที่มีความสัมพันธ์ของวัดกับโรงเรียนไว้ว่า
หลักอริยสัจสี่ หลักเบญจศีล หลักกัลยาณมิตรการประยุกต์ใช้ได้ในทุกกิจกรรม
กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำหลักพุทธธรรมเข้ามาปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ
มีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม การมีกัลยาณมิตร การให้ทาน การรักษาศีล
และการเจริญภาวนาว่า เป็นแนวทางในการปฏิบัติ หลักพุทธธรรม ภายใต้กรอบอริยสัจสี่
เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ทุกระดับชั้นของปัญหา
เป็นหลักสากลจักรวาลที่ใช้ได้ทุกแง่มุม
ในแต่ละปัญหาถึงแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายจะทำให้พบแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหานั้นๆ
เสมอ สังคมไทยเป็นสังคมวัฒนธรรมเชิงพุทธจึง
นำหลักพุทธธรรมมาเป็นบรรทัดฐานเป็นกรอบแนวคิดในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ
ภาครัฐ ควรกำหนดนโยบายในทิศทางที่ให้ประชาชน
ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกปัญหา โดยผ่านกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันโดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน
กำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายหลักและสอดคล้องกับความเป็นจริงของชุมชน
เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง
งานวิจัยของอรุณวรรณ
บุญเทียบทิฆัมพร พบว่า หลังจากที่นักเรียนเข้าค่ายคุณธรรมแล้ว มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น
นักเรียนให้ความเคารพ พ่อแม่ ครูบา อาจารย์มากขึ้น และการฝึกทางด้านกายมีผลต่อการควบคุมอินทรีย์มากขึ้น
มีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งมีปัญญาเข้าใจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้
เป็นการใช้หลักพุทธธรรมในเรื่องของภาวนา 4
ในการอบรมนักเรียน แต่งานวิจัยของบุญเพ็ง หงษาใช้หลักพุทธธรรมที่เป็นคนละหลักกับ
อรุณวรรณ บุญเทียบทิฆัมพร โดยที่บุญเพ็งได้ใช้หลักอริยสัจ 4
และหลักกัลยาณมิตรในการฝึกอบรมนักเรียนในโครงการค่ายพุทธบุตร และปรากฏว่า
ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะเห็นได้ว่า ทั้งสองท่าน
ได้ใช้หลักพุทธธรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการฝึกอบรม บ่มนิสัย นักเรียน แม้ว่า
อาจจะไม่ใช่หลักธรรมเดียวกัน แต่ก็เป็นหลักพุทธธรรมของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นตัวแทนในส่วนของวัด ที่จะนำเข้าไปสอดแทรกในกิจกรรมการอบรมซึ่งเป็นตัวแทนของโรงเรียนได้อย่างกลมกลืน
และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกันแต่ประการใด
พระมหาสัญญา สวัสดิ์ไธสง (2549) ศึกษาเปรียบเทียบนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการค่ายพุทธบุตรกับนักเรียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
พบว่า มีการนับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น
นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการนับถือพระพุทธศาสนา ลักษณะมุ่งอนาคต
ควบคุมตนการรับรู้ความสะดวกในการปฏิบัติทางพุทธ การอบรมเลี้ยงดูแบบพุทธ
ปริมาณกิจกรรมทางพุทธศาสนาในโรงเรียน และการมีสุขภาพจิตดี
หากเป็นโครงการอบรมโดยโรงเรียนเป็นเจ้าภาพ ก็จะต้องอาศัยพระ
ในรูปแบบโครงการค่ายพุทธบุตรหรือค่ายคุณธรรม โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมมายาวนาน
มีจุดเน้นให้ผู้เข้าอบรมเกิดทัศนคติที่ดีต่อพุทธศาสนา มีศรัทธาในพุทธศาสนา และเน้นให้ผู้เข้าอบรมประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมและศาสนพิธี
พระมหาธวัชชัย คุณากโร (2549) ได้สรุปถึงเสียงสะท้อนของนักเรียนที่เข้าข่ายพุทธบุตร
ซึ่งเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับ ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียน พบว่า
นักเรียนมีความคาดหวังว่า ได้ทำหน้าที่ชาวพุทธ ได้เป็นคนดีได้ปฏิบัติธรรม
ได้มีระเบียบวินัย ได้ทำความดี ได้เข้าใจศาสนามากยิ่งขึ้น และได้สัมผัสกับธรรมชาติ
ได้พบกับวิทยากรที่มีความความรู้ ความสามารถ มีการเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี
สามารถถ่ายทอดให้ความรู้ตามเนื้อหาสาระของหลักสูตรได้เป็นอย่างดี มีเทคนิคในการฝึกอบรมทำให้นักเรียนที่เข้ารับการฝึกอบรมไม่เบื่อ
ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี สามารถฝึกอบรมให้นักเรียนมีระเบียบวินัย
เข้าใจในกิจกรรมและเนื้อหาสาระได้เป็นอย่างดี ในส่วนของเนื้อหาสาระที่เป็นวิชาการ
พบว่า มีความเหมาะสมฝึกอบรมให้นักเรียนเป็นบุตรที่ดีของพ่อแม่เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์
เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นสาวกที่ดีของศาสนา เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
ประโยชน์ที่ได้คือ
เนื้อหาและกิจกรรมฝึกอบรมเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความกตัญญูกตเวที
เนื้อหาทางวิชาการและกิจกรรมฝึกอบรมให้มีระเบียบวินัย
และสามารถนำกิจกรรมและเนื้อหาทางวิชาการไปประยุกต์
และสามารถนำกิจกรรมและเนื้อหาทางวิชาการไปประยุกต์
ส่วนการสรุปประเด็นความสัมพันธ์ในการพัฒนารูปแบบของวัดกับโรงเรียนสะท้อนได้จากการวิเคราะห์ของพระมหาสัญญา
สวัสดิ์ไธสง และพระมหาธวัชชัย คุณากโร
ทั้งสองท่านต่างก็ได้นำเสนอไปในลักษณะของการวัดทัศนคติ
หรือผลที่คาดว่าจะได้รับจากการลงมือปฏิบัติในการจัดกิจกรรมเข้าค่ายอบรมพุทธบุตร
ซึ่งวัดกับโรงเรียนได้ร่วมมือกัน ในการที่จะนำเด็กนักเรียนเข้ามาอบรมกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นเยาวชนที่ดี
และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษา ตลอดถึงฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม
ให้เป็นบุคคลที่มีความประพฤติดี ดังนั้น การเข้าค่ายพุทธธรรม
ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียน
จึงเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดสัมมาทิฐิให้แก่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทางศาสนาที่ถูกต้องและพร้อมจะนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลต่อไป
แนวคิดงานวิจัยของ พีระพงษ์
เจริญพันธุวงศ์ (2541) ได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนจากการการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
โดยสรุปได้ว่า การสอดแทรกในการสอนรายวิชาต่างๆ
ครูอาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนได้ปลูกฝัง คุณธรรม โดยในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ
ได้พูดถึงเนื้อหาหรือกิจกรรม ที่ครูมอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมโดยตรง
มีการใช้สื่อการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมมีการอบรมหน้าเสาธงโดยครูเวรและครูที่ปรึกษา
มีการอบรมประจำสัปดาห์ โดยคณะกรรมการงานคุณธรรม และจริยธรรม
เชิญวิทยากรจากภายนอกมาให้การอบรม มีการจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาและ
วันสำคัญอื่นๆ การจัดกิจกรรมค่ายพุทธบุตร
การบูรณาการกับวิถีชีวิตทั้งในและนอกโรงเรียน
แนวคิดงานวิจัยของวรวุฒิ หุนมาตรา (2549) ได้สรุปผลการจัดอบรมการสร้างเสริมคุณธรรม
จริยธรรมของนักเรียนการศึกษานอกโรงเรียน พบว่า การดำเนินการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
โดยกำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบบูรณาการ การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
ของนักศึกษาในลักษณะโครงการเพื่อพัฒนาผู้เรียน ด้านคุณธรรม จริยธรรมใน 7 ด้าน คือความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที ความขยัน ความรับผิดชอบ
ความเป็นระเบียบวินัย ความเสียสละและความสามัคคี นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน ตระหนักถึงประโยชน์ของการมีคุณธรรม จริยธรรม นักศึกษามีจิตใจสงบ มีสมาธิ
มีความคิดที่ดี
เกิดการเรียนรู้ได้ดี
และมีผลการเรียนดีขึ้น
นักศึกษาปฏิบัติตนมีระเบียบวินัย
ตามระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษามากขึ้น
นักศึกษามีสัมมาคารวะ มีกิริยา มารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน นักศึกษาตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้น นักศึกษาปฏิบัติตนตรงต่อเวลามากขึ้น
ข้อสรุปจากพีระพงษ์
เจริญพันธุวงศ์
มีลักษณะของการพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนในลักษณะของการเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพุทธศาสนาเข้าไปในหลักสูตร
คือ เพิ่มระบบการเรียนการสอนอย่างเอาจริงเอาจัง
กับการสอนพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
อีกทั้งยังจะต้องใช้รูปแบบการบริหารงานแบบสังคมวิทยาเชิงพุทธ กล่าวคือ
การอบรมนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน
อบรมหน้าเสาธงด้วยหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา รวมไปถึงการให้ครูอาจารย์
และนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
สามารถลดช่องว่างระหว่างครูกับลูกศิษย์ และรับทราบปัญหาจากลูกศิษย์ได้มากขึ้น
ตลอดถึงการได้เชิญพระภิกษุซึ่งเป็นวิทยากรมาให้การอบรม
แสดงให้เห็นถึงความพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันให้มากขึ้น สอดคล้องกับ
วรวุฒิ หุนมาตราในประเด็นที่ว่าคือ
การให้นักศึกษาได้เรียนรู้หลักธรรมในทุกกิจกรรมของโรงเรียนสอดแทรกเนื้อหาสาระของพุทธศาสนาเข้าไปด้วย
ปรากฏว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนมีสัมมาคารวะ มีความประพฤติดีขึ้น เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า นี่คือ
การร่วมกันสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนให้มีความมั่นคงมากขึ้นอย่างน้อย
ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ทิ้งธรรมะที่เป็นสากล
เพียงแต่วัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเผยแผ่พัฒนาให้เป็นองค์ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนสืบไป
กล่าวโดยสรุปความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับโรงเรียนเป็นไปในลักษณะของการพึงพาอาศัยกัน
เพราะทางวัดจำเป็นต้องสานต่อเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า คือ
การนำพระสัทธรรมคำสั่งสอนไปประกาศให้กับพหูชนทั้งหลายได้เข้าใจและปฏิบัติตนตามกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงาม
การจะทำให้บุคคลดีงามแนวทางพระพุทธศาสนานั้น จะต้องเริ่มจากการฝึกฝนอบรม ขัดเกลา
ตั้งแต่ยังเด็กเล็ก เพราะจะได้เรียนรู้แนวทางวิถีชีวิต
ของความเป็นชาวพุทธอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องประสานกับทางวัด
และวัดจะต้องมีความพร้อมในด้านบุคลากร สถานที่
และแนวทางปฏิบัติที่สามารถบูรณาการให้เกิดเป็นองค์ความรู้ และเป็นที่น่าสนใจแก่เด็กนักเรียน
ตามที่ได้เห็นกันว่า ถ้าหากเนื้อหา รูปแบบ การอบรมไม่ได้เป็นไปอย่างมีเทคนิค
ขั้นตอนสมัยใหม่ การประกาศพระสัทธรรม
รวมทั้งความปรารถนาของทางโรงเรียนที่จะให้นักเรียนเป็นคนดี
ก็จะไม่สำเร็จตามเจตนาที่ได้ตั้งเอาไว้ ดังนั้น เจ้าอาวาส กับผู้บริหารสถานศึกษานั้นเองจะต้องร่วมมือกัน
โดยการดำเนินการอย่างเอาจริงกับโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัด
ส่วนโครงการค่ายคุณธรรม หรือค่ายพุทธบุตร อาจจะจัดตั้งอยู่ในโรงเรียนหรือวัด
ก็จะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะเป็นโครงการที่จะเป็นการเชื่อมรูปแบบวัดกับโรงเรียนให้มีความแนบแน่นมากกว่าเดิม
***************************************************************
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา
กระทรวงวัฒนธรรม. (2550). ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์. กรุงเทพฯ:
มิสเตอร์ก๊อปปี้.
มิสเตอร์ก๊อปปี้.
จุฑารัตน์ ไพศาลโรจนรัตน์. (2543). บทบาทของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในการขัดเกลา
ทางศีลธรรม ศึกษากรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร.
วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทางศีลธรรม ศึกษากรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร.
วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทวีวัฒน์ วัฒนกุลเจริญ. (2543). การนำเสนอรูปแบบศูนย์วิทยบริการสำหรับศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิรันศักดิ์
บุญจันทร์. (2552, กรกฎาคม 15). ที่นี่...โรงเรียนวัด. กรุงเทพธุรกิจ.
หน้า 14
บุญเพ็ง
หงษา. (2548). การประยุกต์พุทธธรรมในหลักสูตรค่ายผู้นำเยาวชนต่อต้านยาเสพติด
ของกองทัพอากาศ. งานวิจัยพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
ของกองทัพอากาศ. งานวิจัยพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
พระครูอุดมวัฒนคุณ
อุตระ. (2549). การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2548). พุทธวิธีบริหาร.
กรุงเทพฯ: จุฬาบรรณาคาร.
พระธรรมโกศาจารย์
(ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2549). เปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาสกับซาตร์. กรุงเทพฯ:
สุขภาพใจ.
สุขภาพใจ.
พระธรรมโกศาจารย์.
(2552). โรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อสังคมไทย.
สืบค้นจากhttp://watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=275&groupid=43
พระมหาธวัชชัย
คุณากโร. (2549). ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเข้าร่วมโครงการ
การอบรมคุณธรรมค่ายพุทธบุตรของวัดปัญญานันทาราม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
การอบรมคุณธรรมค่ายพุทธบุตรของวัดปัญญานันทาราม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระมหาบรรจง แผ่นทอง. (2551). คุณภาพการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนตามหลักไตรสิกขา:
กรณีศึกษาศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดสวนดอก. เชียงใหม่:
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
พระมหาสัญญา
สวัสดิ์ไธสง. (2549). ปัจจัยเชิงเหตุแบบบูรณาการของบ้าน
วัด โรงเรียน
และจิตลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการนับถือพระพุทธศาสนาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
ที่เข้าร่วมโครงการค่ายพุทธบุตร. กรุงเทพฯ: คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
พิทยา สิทธิโชติ. (2550). การปฏิรูปการศึกษาตามหลักพุทธศาสนา. งานวิจัยภาควิชาพุทธศาสนศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พีระพงษ์ เจริญพันธุวงศ์. (2541). การจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา
สังกัดกรมสามัญศึกษา: ศึกษาเฉพาะกรณี โรงเรียนกระสังพิทยาคม อำเภอกระสัง
จังหวัดบุรีรัมย์. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
วีระชน
นนทะเสน. (2550).
การพัฒนารูปแบบการสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน
ในการเสริมสร้างและเฝ้าระวังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านภูเหล็ก. งานวิจัยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดขอนแก่น เขต 2 จังหวัดขอนแก่น.
ในการเสริมสร้างและเฝ้าระวังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน โรงเรียนบ้านภูเหล็ก. งานวิจัยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดขอนแก่น เขต 2 จังหวัดขอนแก่น.
สุริยะ
พันธ์ดี. (2536). ความสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายทอดทางพุทธศาสนาในโรงเรียนกับจิตลักษณะและพฤติกรรมก้าวร้าวในนักเรียนระดับมัธยมศึกษา. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์
สถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
อรุณวรรณ
บุญเทียบทิฆัมพร. (2550). การพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชนด้วยพุทธภาวนา:
กรณีศึกษาค่ายคุณธรรมวัดอุโมงค์. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น