หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

กระแสโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจไทย



กระแสโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจไทย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

แม้ว่าโลกาภิวัตน์ มิได้หมายถึง กระบวนการปรับเปลี่ยนตามกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลก แต่ด้วยเหตุที่โลกาภิวัตน์เกิดจากแรงผลักดันของพลังทุนนิยมโลก ซึ่งเข้มแข็งและรุนแรงจนท้ายที่สุดแล้ว โลกาภิวัตน์ก็กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่จะถูกผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมโลก และปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกเท่านั้น หากทว่าสังคมเศรษฐกิจไทยยังกระโดดเข้าสู่ลู่ทางเศรษฐกิจเพื่อไล่กวดหรือวิ่งหนีนานาประเทศ (Catching Up) (สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2538)

ในลู่ทางเศรษฐกิจในสังคมขณะนี้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย (Asian NICs) กำลังวิ่งไล่กวดประเทศกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเก่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่รุ่นที่สอง (Second Generation NICs: SGN’s) พยายามวิ่งไล่กวดรุ่นที่หนึ่ง ภายในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่รุ่นที่สอง ไทยพยายามวิ่งไล่กวดมาเลเซีย โดยที่ในขณะเดียวกันก็วิ่งหนีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ พร้อมๆ กับที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนามพยายยามวิ่งไล่กวดประเทศอุตสาหกรรมกลุ่มที่สอง ภายในทศวรรษหน้าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ใครเป็นผู้นำ และใครเป็นผู้รั้งท้ายในกระบานการวิ่งไล่กวดทางเศรษฐกิจดังกล่าว แต่การวิ่งไล่กวดในลู่ทุนนิยมโลก ย่อมหนีไม่พ้นที่นานาประเทศจะต้องเลือกยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนา อันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่แสวงหาประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ โดยที่กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ค่อยๆ ทำให้ยุทธศาสตร์การผลิตอันเป็นทางเลือกอื่นตีบตันลงตามลำดับ สังคมเศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ บรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน ชนชั้นนำทางอำนาจ และขุนนางนักวิชาการ ล้วนแล้วแต่สนับสนุนยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนาทั้งสิ้น แรงผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจไทยเลือกเส้นทางโลกภิวัตน์พัฒนามิได้มาจากภายในประเทศเท่านั้น หากยังมาจากต่างประเทศด้วย (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, 2538)

กระบวนการกำหนดนโยบาย กระบวนการโลกภิวัตน์มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมของกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทยไปในทางที่มีปัจจัยภายนอกประเทศมีบทบาทและอิทธิพลเพิ่มขึ้น ในปัจจุบัน ดุลยภาพในตลาด นโยบายเศรษฐกิจเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจและกลุ่มขุนนางนักวิชาการฝ่ายหนึ่งกับกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนอีกฝ่ายหนึ่ง กระบวนการโลกาภิวัตน์ทำให้องค์กรเหนือรัฐมีบทบาทและอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทยมากขึ้น องค์เหนือรัฐเหล่านี้มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ องค์เหนือรัฐที่ทำหน้าที่เป็นโลกบาลดังเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (IBRD) และองค์การการค้าโลก (WTO) อีกประเภทหนึ่งได้แก่ บรรษัทระหว่างประเทศ (MNCs) การเติบโตของกลุ่มทุนภายในประเทศ 
ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ทรงอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบาย ยิ่งกลุ่มทุนภายในประเทศผสานประโยชน์กับบรรษัทระหว่างประเทศด้วยแล้วบทบาทและอิทธิพลยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ บทบาทและอิทธิพลขององค์กรเหนือรัฐและกลุ่มทุนภายในประเทศ ยังผลให้กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่ขาดความเป็นกลาง และเสริมความโน้มเอียงในการดำเนินนโยบายบางประเภท ความโน้มเอียงในการเลือกยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนามากกว่ายุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ความโน้มเอียงในการพัฒนาภาคตัวเมืองมากกว่าภาคชนบท และความโน้มเอียงในการเลือกเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าเป้าหมายความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และการแก้ปัญหาความยากจน (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์,
2538)โครงสร้างการผลิต กระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของระบบเศรษฐกิจไทย ความสำคัญของภาคเอกชนจะลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้น รูปแบบการผลิตปรับเปลี่ยนจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น และอาจก้าวไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้เข้มข้นในที่สุดลักษณะของปัจจัยการผลิต กระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนช่วยเพิ่มลักษณะของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนและแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับทุน ทุนย่อมหลั่งไหลจากที่ซึ่งให้ผลตอบแทนอัตราต่ำไปสู่ที่ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนา

ซึ่งผลักดันให้มีการเปิดประเทศอย่างกว้างขวาง ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยเสริมความสมบูรณ์ของตลาดเงินและตลาดทุนในด้านสารสนเทศ ซึ่งช่วยเสริมความสมบูรณ์ของตลาดเงินและตลาดทุน ในด้านสารสนเทศเกื้อกูลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปด้วยความคล่องตัวยิ่ง ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีเครือข่ายเชื่อมโยงในขอบเขตทั่วโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดการเงินประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดขึ้นตลอดเวลา นายทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนแสวงหากำไรในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศด้วย กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้นายทุนไทยเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ไร้สัญชาติ ผู้ซึ่งพร้อมที่จะหอบหิ้วทุนเข้าไปลงทุน ณ ที่ใดก็ได้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด ทุนจึงกลายเป็นปัจจัยการผลิต แรงงานก็มีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน นักวิชาชีพที่ทำงานกับองค์การระหว่างประเทศและบรรษัทระหว่างประเทศ ย่อมเคลื่อนย้ายแรงงานตามคำสั่งขององค์กรเหนือรัฐเหล่านี้ ในขณะที่แรงงานก่อสร้างต้องเคลื่อนย้ายตามบริษัทก่อสร้างระหว่างประเทศ ยิ่งนายทุนไทยออกไปแสวงโชคด้วยการลงทุนในต่างประเทศด้วยแล้ว แรงงานไทยก็ต้องเคลื่อนย้ายตามกระแสการเคลื่อนไหวของทุนไทย (สังสิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2538)

ปัจจัยการผลิตจะสร้างปัญหาแก่เศรษฐกิจไทยในอนาคต ประการแรก ลักษณะของทุนไทยจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ขณะนี้อีสานไม่เพียงแต่ต้องแย่งชิงทุนไทยกับกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น หากทว่าอีสานยังต้องแย่งชิงทุนไทยกับอินโดนีเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย ประการที่สอง แรงงานไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาชีพ ช่างฝีมือ อีกด้านหนึ่ง กระบวนการโลกาภิวัตน์เกื้อกูลให้แรงงานต่างชาติ ลอดรัฐ เข้าสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่า บังคลาเทศ จีนฮ่อ ลาว กัมพูชา แรงงานต่างชาติเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ในขณะที่ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนาขับดันแรงงานชนบทเข้าสู่เมือง แรงงานไร้ฝีมือจากชนบทต้องแย่งชิงงานอาชีพกับแรงงานต่างชาติที่ ลอดรัฐ เข้ามา การเติบโตของกลุ่มทุน กลุ่มทุนขนาดใหญ่กำลังเติบโตที่เป็นบรรษัทระหว่างประเทศของโลกที่สาม (Third World Multinational: TWM) ลักษณะของทุนไทยกำลังแปรโฉมหน้าของทุนไทยให้เป็นทุนสากล กระบวนการสากลโลกาภิวัตน์ของทุนไทย (Internationalization of Capital) ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทำให้ทุนไทยกลายเป็นทุนที่ไร้สัญชาติ ทุนไทยจะไม่มีความผูกพันกับแผ่นดินแม่อีกต่อไป พัฒนาการของทุนไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าทุนไทยมิได้มีพัฒนาการเฉพาะแต่ทุนพาณิชย์ (Commercial Capital) ทุนการเงิน (Finance Capital) และทุนอุตสาหกรรม (Industrial Capital) เท่านั้น หากแต่มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ทุนวัฒนธรรม (Culture Capital) อีกด้วย ระบบทุนนิยมในอนาคตจะเป็นระบบทุนวัฒนธรรม (Culture Capitalism) เพราะบัดนี้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ (สรัญญา พาณิชย์กุล, 2538)

ประเทศชาติมั่งคั่ง ประชาชนยากจน ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์เป็นยุทธศาสตร์ที่เกื้อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย แม้ว่าระบบเศรษฐกิจไทยยังจะธำรงฐานะสัมพัทธ์ในลู่วิ่งทางเศรษฐกิจ แต่คนจำนวนมากในสังคมไทยจะต้องถูกทอดทิ้ง ปัญหาความยากจนจะยังไม่หมดไป ในขณะที่การกระจายรายได้ยังไม่มีทีท่าดีขึ้น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะทรุดโทรมและร่อยหรอลงไปอีก และกระบวนการสร้างบ้านแปลงเมืองยังคงขยายตัวต่อไป การทุ่มเททรัพยากรของรัฐ ในการแก้ปัญหาในภาคตัวเมือง ก่อให้เกิดวงจรในการจัดสรรงบประมาณในแง่ที่ว่า ทรัพยากรของรัฐที่เหลือไว้สำหรับการพัฒนาชนบทและการพัฒนาภูมิภาคจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในสภาพการณ์ดังที่เป็นอยู่นี้ ไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่กล่าวได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะกล่าวว่า ประเทศชาติมั่งคั่ง ประชาชนยากจน

แรงขับเคลื่อนของโลกาภิวัตน์ที่นำพาเงินทุนมูลค่ามหาศาลจากศูนย์กลางการเงินโลกไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) นั้นได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สามารถขยายตัวเติบใหญ่ได้มากและรวดเร็วขึ้น โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่เพียงมีน้ำเลี้ยงดีจากการได้รับเงินทุนจากต่างประเทศเท่านั้นหากแต่สินค้าที่ผลิตได้ก็มีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมารองรับอย่างมั่นคง อย่างไรก็ดี การแคลื่อนย้ายเงินทุนจากศูนย์กลางการเงินโลกอันเป็นแรงขับเคลื่อนของโลกาภิวัตน์นั้น จะสามารถต่อสายเข้าหาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มุ่งผลิตเพื่อส่งออกและหรือทดแทนการเข้าเป็นหลัก ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME’s ดูจะไม่ค่อยได้มีโอกาสส้องเสพย์อานิสงส์ของเงินทุนดังกล่าวนัก ทั้งๆที่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กในไทยจึงเหมือนอยู่กันคนละโลก แสดงให้เห็นถึงความเป็นทวิลักษณะ (Dualism) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทยอย่างชัดเจน กล่าวคือ อุตสาหกรรมก็มีทั้งการบริหารการผลิต (Production Management) การบริหารการตลาด (Marketing Management) แบบเป็นเอกเทศ เช่นเดียวกับที่เหล่าบรรดา SME’s ก็อยู่กับโลกส่วนตัวของตัวเอง ขาดการเชื่อมโยง (Linkages) กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งในรูปแบบของการเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkages) และการเชื่องโยงไปข้างหน้า (Forward Linkages) กล่าวคือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และ SME’s ค่อนข้างตัดขาดจากกันทั้งในด้านการบริหารการผลิตและการตลาด หรือแม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงกันบ้างก็เล็กน้อยมาก ต่างกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งการเชื่อมโยง (Integration) ระหว่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จำนวนมากเป็นบริษัทข้ามชาติกับ SME’s มีอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารการรับช่วงการผลิต (Sub-contracting Management) หรือการทำ “Out-Sourcing” เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันระหว่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และ SME’s กันมากขึ้น แบบอย่างการผลิตข้างต้น ไม่เพียงเพิ่มโอกาสการกระจายผลพวงการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสรายได้ (Income Distribution) ที่เป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังอาจเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย เพราะการบริหารรับช่วงการผลิต โดยการที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทำสัญญาให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ทำการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ วัตถุดิบ ฯลฯ ให้แก่ตนนั้น ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ต้องใช้โมเดลการผลิตแบบเหมารวม โดยทำการผลิตแบบรวมตัวในแนวดิ่ง (Vertical Integration) กล่าวคือ มีบริษัทลูกทำการผลิตชิ้นส่วน วัตถุดิบ ฯลฯ เองเพื่อป้อนให้บริษัทแม่หรือเชื่อมโยงกันเฉพาะกิจการในเครือเดียวกัน ซึ่งอาจผลกระทบต่อการรักษาหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และไม่เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นในช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์ 2540 เป็นต้นมา (สมภพ มานะรังสรรค์, 2547)

เศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขัน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะในโลกไร้พรมแดนยุคโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายของโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง การท้าทายประการแรกคือ การเปิดโลกเสรีซึ่งจะทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถที่จะได้รับการปกป้องจากรัฐทั้งในรูปแบบของการอุดหนุน ทั้งในรูปแบบของภาษีศุลกากรและการผูกขาดธุรกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถของตนเองในการแข่งขันในโลกกว้าง
ประการที่สองที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญก็คือ การขยายจำนวนของประเทศคู่แข่งที่เป็นประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เดิม เช่น กลุ่มประเทศอินโดจีน จีน และยุโรปตะวันออก อีกกลุ่มเป็นประเทศที่แก้ไขปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองเรียบร้อยไปแล้วและกำลังเข้าสู่การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก เช่น ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและคาริเบียนตลาดเกิดใหม่อีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มประเทศที่อยู่ในแถบแอฟริกาตอนบนหรือกลุ่มประเทศที่อยู่ในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน ประกบด้วย มอรอคโค อัลจีเรีย ตูนีเซีย อียิปต์ อิสราเอล และตุรกี ซึ่งกำลังจะเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรป ในกรอบของเขตการค้าเสรีเมดิเตอเรเนียนในอนาคต
การท้าทายอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทยก็คือความจำเป็นในการปรับตัวอันเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงการแข่งขัน (Comparative Advantage) และการท้าทายประการสุดท้ายมาจากแนวโน้มการขยายตัวของการกีดกันทั้งในรูปของการปกป้องสภาพแวดล้อมและในด้านของสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานสินค้า ในการเผชิญกับการท้าทายดังกล่าวนี้ เศรษฐกิจและธุรกิจไทยจะต้องมีการปรับตัวในเชิงโครงสร้างเพื่อให้สามารถรองรับกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง   การปรับโครงสร้างดังกล่าวนั้นในส่วนหนึ่งย่อมหมายถึงการปรับแนวนโยบายมหภาคในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากร มนุษย์ เทคโนโลยี โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน นโยบายการเงินและการคลัง ตลอดจนนโยบายต่างประเทศ ในการปรับโครงสร้างอีกประการหนึ่ง ก็คือการปรับโครงสร้างในเชิงจุลภาคอันหมายถึง การปรับโครงสร้างธุรกิจไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันและที่สำคัญที่สุดความสำเร็จในการปรับโครงสร้างของธุรกิจไทยนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการชี้นำของแนวนโยบายมหภาค นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างการบริหารย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางมหภาคการปรับโครงสร้างองค์กรบริหารย่อมมายถึง การปรับโครงสร้างองค์กรของรัฐในระดับกระทรวงในหลายกระทรวงเพื่อให้เกิดความมีเอกภาพ และความร่วมมือในการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพในการบริหารเพื่อแข่งขันกับโลกภายนอกยังหมายถึงความจำเป็นในการปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือการทำรีเอ็นจิเนียริ่ง ศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้นย่อมผูกพันกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน การพัฒนาภาคการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมในระดับชุมชน จึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ในกรอบของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างดุลยภาพของสังคม การปรับองค์กรบริหารในระดับจุลภาคนั้นหมายถึง การพัฒนาเทคนิคการบริหาร และการผลิตของภาคเอกชนให้ได้มีมาตรฐานสากลและในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรและการพัฒนาเทคโนโลยีจึงถือเป็นองค์ประกอบแห่งการปรับโครงสร้างที่สำคัญยิ่ง ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองไทยในยุคโลกาภิวัตน์จึงขึ้นอยู่กับทิศทางแห่งการปรับโครงสร้างใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ การเมือง และธุรกิจ อย่างไรก็ตามในการปรับโครงสร้างดังกล่าวนั้น จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมดุลยภาพทางสังคมจึงเป็นอีองค์ประกอบหนึ่งแห่งความสำเร็จของการปรับโครงสร้างของประเทศเพื่อเผชิญกับการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ (สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 2547)

***********************************************

บรรณานุกรม

รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์.  (2548).  ข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศ: สินค้าเกษตร. กรุงเทพฯ:
โครงการ
WTO Watch.
สังศิต  พิริยะรังสรรค์;  และผาสุก  พงษ์ไพจิตร. (2538). โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมภพ  มานะรังสรรค์.  (2547).  โลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์.  กรุงเทพฯ: สถาบันวิถีทรรศน์.
สมชาย  ภคภาสน์วิวัฒน์.  (2547).  การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
สรัญญา  พาณิชย์กุล.  (2538).  มองสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์.  กรุงเทพฯ: เบี้ยฟ้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น