หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

กระแสโลกาภิวัตน์กับสังคมไทย



กระแสโลกาภิวัตน์กับสังคมไทย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ในกระแสยุคโลกาภิวัตน์ สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ การดำเนินนโยบายการพัฒนาในลักษณะของการพึ่งพา ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้ คือ
1. เศรษฐกิจรอบนอกอยู่ภายในสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศรอบนอกถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม โลกภายนอกนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ ถ้าไม่อ้างอิงถึงแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศพัฒนา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสะสมทุนในประเทศทุนนิยมรอบนอก และต่อการดึงเอาระบบเศรษฐกิจดั้งเดิม (ที่ยังไม่ได้เป็นระบบทุนนิยม) เข้ามารวมอยู่ในระบบทุนนิยมโลก
2. การเชื่อมโยงระหว่างชนชั้นนำในประเทศกับระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงทางโครงสร้างระหว่างชนชั้นนำภายในประเทศกับภายนอกประเทศนี้ ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบภายนอกของการกอบโกยผลประโยชน์และบีบบังคับเท่านั้น แต่มีรากฐานอยู่ที่การมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างชนชั้นนำภายในกับภายนอกประเทศอีกด้วย ชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองในประเทศรอบนอกจะเป็นพันธมิตรและรับเอาแบบอย่างการดำรงชีวิตของประเทศศูนย์กลางมาเป็นของตนเอง
3. ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ผลต่อเนื่องในระยะยาวของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศ ชนชั้น ภาค และกลุ่มชนจะเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่เดิมให้มากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่ช่องว่างที่กว้างไกลขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน ความขัดแย้งทางชนชั้นและความแตกแยกกันภายในสังคมภายใต้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมนี้เป็นการไม่ชอบด้วยเหตุผลที่จะหวังว่า การสะสมทุนและความเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศรอบนอกจะช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้

โลกาภิวัตน์เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน ไม่สามารถบอกได้ว่า ศัตรูที่มองไม่เห็น นั่นคือ ผู้ร้ายมิอาจแก้ไขสถานการณ์ได้ หากจะอาศัยเพียงการกล่าวโทษภายนอกเท่านั้น แต่ต้องใช้การมองมากกว่าสายตาปกติจะเห็นถึงความซับซ้อนที่มีอยู่และหลายส่วนเป็นความซับซ้อนที่ไม่สามารถมองจากมุมเดียวได้
สำหรับสังคมไทย ได้เล็งผลเลิศจากโลกาภิวัตน์จนเกินไป โดยหวังเป็นศูนย์กลางเอเชียอาคเนย์เป็นศูนย์กลางของการเงินในอนุทวีปเอเชีย เป็นศูนย์กลางหลายๆ อย่างของภูมิภาค ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์กลับทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางอีกหลายๆ อย่างที่คาดไม่ถึงและไม่อยากเป็น เช่น ศูนย์กลางการค้าโลกีย์ การค้ายาเสพติด ศูนย์กลางการค้ามนุษย์ ท่ามกลางความประมาทนั้นไทยจึงประสบปัญหาวิกฤติที่ยังหาทางออกที่ชัดเจนไม่ได้ในปัจจุบัน
ขณะนี้สังคมเริ่มได้สติว่า โลกาภิวัตน์ไมใช่สิ่งที่สมควรโผเข้าหาอย่างสุดตัว และต้องตั้งหลักคิดว่า จะตัดสินอย่างไร คำตอบไม่น่าจะอยู่ที่การสนับสนุนให้โบกมือลาโลกาภิวัตน์ เพราะอย่าลืมว่า เศรษฐกิจของเกือบทุกภาคการผลิตและกว่าครึ่งหนึ่งของโลกาภิวัตน์ กลับเป็นการเพิ่มพูนความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยมากเกินไป ทางออกที่น่าจะเหมาะสมในโลกที่เปลี่ยนแปลงคือ ต้องปรับปรุงความรู้ทำความรู้จักตนเองและรู้จักโลกควบคู่กันไปขณะเดียวกันก็ต้องปรับระบบสังคมเพื่อจัดการกับสิ่งที่ซับซ้อนนี้อย่างรู้เท่าทันสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ มีข้อดี ข้อเสีย ดังนี้

ข้อดี ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเสาะแสวงหาข้อมูล ขจัดความลับในโลกนี้ เพราะข้อมูลข่าวสารจะกระจายทั่วถึงกันหมดไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด หรืออยู่ในมุมใดของโลก และข้อเสีย สังคมยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ได้แก่
1. สมาชิกในสังคมเกิดความเครียดมากขึ้น ความเครียดในยุคโลกาภิวัตน์ มาจากสภาพแวดล้อมที่เร่งรัดและมีการแข่งขันกันสูง
2. ระบบครอบครัวอ่อนแอลง ในสภาพการแข่งขันกันมากคนจะใช้เวลาทำงานมากขึ้น มีเวลาอยู่ด้วยกันในครอบครัวน้อยลง การสื่อสารภายในครอบครัวลดลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูก เด็กในยุคโลกาภิวัตน์มีเวลาอยู่กับพ่อแม่น้อยลงความผูกพันและความสัมพันธ์ทางใจลดลง เด็กจะเรียนรู้บทบาทพ่อแม่ได้น้อยลง และเมื่อโตขึ้นเป็นพ่อแม่เองก็จะเป็นพ่อแม่เหมือนอย่างที่เคยประสบมา ระบบครอบครัวจะอ่อนแอและลงเอยด้วยการแตกสลายหย่าร้างแยกทางกันมากขึ้น เมื่อพื้นฐานความสำคัญในครอบครัวไม่ดีพัฒนาการทางจิตใจของเด็กก็แปรปรวนไปด้วย
3. มนุษย์จะห่างธรรมชาติมากขึ้น ทำให้มนุษย์ขาดธรรมชาติ ชีวิตจะอยู่กับตึก อาคาร คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่เห็นต้นไม้ น้ำตก นกร้อง ฯลฯ ซึ่งช่วยคลายจิตใจได้ สังเกตได้ว่าในที่ทำงานจะนำธรรมชาติเข้ามาเสริมตกแต่ง ทำให้รู้สึกสดชื่นสบายน่าทำงานอย่างมาก คนไทยมักจะมองข้ามความสำคัญของธรรมชาติมากกว่าชาติอื่นๆ
4. ความคิดของคนในยุคโลกาภิวัตน์อาจจำกัดอยู่ในเรื่องของตนเอง ขาดการคิดเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อส่วนรวม เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดความรุนแรงต่อกัน เพื่อแย่งชิงเอาทรัพยกร ธรรมชาติ คนที่ได้เปรียบคือ คนที่มีข้อมูลข่าวสารมากและสามารถเอาเปรียบผู้อื่นได้เก่งกว่า
5. มนุษย์จะเคลื่อนไหวน้อยลงในยุคที่มนุษย์สามารถได้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและมีเครื่องอำนวยความสะดวก การเคลื่อนไหวของคนจะลดลง ไม่ต้องเดินทางไกลๆ เพื่อการเรียนหรือเพื่อธุรกิจ ความเจริญทางเทคโนโลยีทำให้ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากมายเหมือนสมัยก่อน เมื่อมนุษย์เคลื่อนไหวน้อยลงจะส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายทั่วๆ ไปลดลงด้วย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความทนทานของระบบหายใจและหัวใจจะน้อยลง ทำให้มนุษย์อ่อนแอและความต้านทานโรคต่ำลง
6. มีการสูญสิ้นของวัฒนธรรม ในอดีตมีการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต สัตว์บางประเภทไม่สามารถอยู่ได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถปรับตัวทัน สิ่งมีชีวิตบางประเภทสูญพันธุ์เนื่องจากความไม่รู้ของมนุษย์ มีการทำลายระบบนิเวศน์ วัฒนธรรมของมนุษยชาติก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทำนองเดียวกัน ด้วยกลไกของสังคมยุควัตถุนิยม จะเหนี่ยวนำให้วัฒนธรรมบางชาติแพร่หลายแทรกซึมเข้าไปแทนที่วัฒนธรรมของชาติที่อ่อนด้อยกว่า เมืองไทยมีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่นุ่มนวลอ่อนโยนและสงบ อิทธิพลของพระพุทธศาสนาช่วยจิตใจคนให้มีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาความเป็นวัตถุนิยม แต่ยุคโลกาภิวัตน์วัฒนธรรมมักจะถูกกลืนได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น