หน้าแรก

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

วิวัฒนาการการปกครองไทย



วิวัฒนาการการปกครองไทย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ในอดีตประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทรงมีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์แต่เพียงประองค์เดียว ทรงใช้อำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และทรงแต่งตั้งข้าราชการ ขุนนางไปปกครองหัวเมืองต่างๆ
ในที่นี้อาจกล่าวได้ว่า
พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดๆ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรากฎหมาย ทรงตัดสินและพิจารณาอรรถคดี ทรงบริหารประเทศ
ดังนั้นประชาชนจึงต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ ใครฝ่าผืนไม่ได้ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดและประชาชนต้องปฏิบัติตามและที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใน 4 สมัยดังนี้คือ
1. สมัยอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921)
2. สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310)
3. สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี และ สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2310 - 2325)
4. สมัยการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475


1. สมัยอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921)
ในสมัยนี้มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองและทรงใช้อำนาจนี้ในการออกกฎหมายเรียกว่าอำนาจนิติบัญญัติ ทรงบริหารกิจการบ้านเมืองเรียกอำนาจนี้ว่าอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และทรงพิจารณาอรรถคดีทรงพิพากษาและตัดสินคดีความต่างๆ ทุกวันธรรมะ
ส่วนด้วยพระองค์เอง เรียกอำนาจนี้ว่าอำนาจตุลาการ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้เพียงพระองค์เดียว และทรงใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักธรรมประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะการปกครองโดยใช้คตินิยมในการปกครองแบบครอบครัวหรือ พ่อปกครองลูกมาเป็นหลักในการบริหารประเทศ โดยในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกับประชาชนมาก ประชาชนต่างก็เรียกพระมหากษัตริย์ว่า พ่อขุนซึ่งมีลักษณะเด่นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- พ่อขุนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยปกครองประชาชนบนพื้นฐานของความรัก ความเมตตาประดุจบิดาพึงมีต่อบุตร บางตำราอธิบายว่าเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือแบบ ปิตุราชาประชาธิปไตย
- พ่อขุนอยู่ในฐานะผู้ปกครองและประมุขของประเทศที่มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว
- ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตพอสมควร ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกอธิบายว่า
“......ใครใคร่ค้า ค้า เอาม้ามาค้าเอาข้าวมาขาย....อาจกล่าวได้ว่าผู้ปกครองและผู้อยู่ภายใต้การปกครองมีฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน
- รูปแบบการปกครองเป็นไปแบบเรียบง่ายไม่มีพิธีอะไรมากมายนัก ไม่มีสถาบันการเมืองการปกครองที่สลับซับซ้อนมาก
- มีการพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันความยุติธรรม เช่น เมื่อพลเมืองผิดใจเป็นความกันจะมีการสอบสวนจนแน่ชัดจึงตัดสินโดยยุติธรรม ในศิลาจารึกเขียนไว้ว่า ลูกเจ้าลูกขุนแลผิดแผกแสกกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ข้าด้วย ซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน....
นอกจากจะทรงวางรากฐานทางการปกครองแล้วในสมัยสุโขทัยยังทรงประดิษฐ์อักษรไทยเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ภาษา รู้ธรรมและกษัตริย์บางพระองค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์แบบธรรมราชา การปกครองจึงมีรูปแบบธรรมราชาด้วย ซึ่งมีหลักการ คือ ความเชื่อที่ว่าพระราชอำนาจของกษัตริย์จะต้องถูกกำกับด้วยหลักธรรมะ ประชาชนจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะได้ไปสู่สวรรค์จึงเรียกว่า สวรรคตหลักธรรมสำคัญที่กำกับพระราชจริยวัตร คือ ทศพิธราชธรรม
และจักรวรรดิวัตร 12 ประการ

2. สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310)
พระเจ้าอู่ทองทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงของการก่อร่างสร้างเมืองทำให้ต้องมีผู้นำในการปกครองเพื่อรวมรวมอาณาจักรให้แผ่ขยาย มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการค้าและศาสนา และในช่วงเวลานั้นมีการเผยแพร่ของลัทธิฮินดูและขอมเข้ามามีบทบาทในอาณาจักร ดังนั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงได้รับวัฒนธรรมการปกครองแบบขอมและฮินดูเข้ามาใช้ เรียกการปกครองแบบนี้ว่า การปกครองแบบเทวสิทธิ์หรือ สมมติเทพโดยมีหลักการสำคัญ คือ
- กษัตริย์เปรียบเสมือนเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุด ทรงเป็นเจ้าชีวิต คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตของบุคคลที่อยู่ในสังคมทุกคน และทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือ ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานให้ใครก็ได้ตามอัธยาศัย
- การที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นสมมุติเทพ ตามคตินิยมของพราหมณ์ จึงต้องมีระเบียบพิธีการต่าง ๆ มากมายแม้แต่ภาษาที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ก็ได้บัญญัติขึ้นใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เราเรียกว่า ราชาศัพท์
- กษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องเข้าพิธีปราบดาภิเษก ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นสู่ราชบัลลังก์โดยชอบธรรม ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีกลุ่มหรือคณะบุคคลสนับสนุน และให้ประโยชน์ตอบแทนอันเป็นยศถาบรรดาศักดิ์หรือศักดินาแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว
- เกิดระบบทาสขึ้น หมายถึง บุคคลที่ใช้แรงงาน โดยทาสในสมัยกรุงศรีอยุธยาอนุญาตให้เสนาบดี ข้าราชบริพารและประชาชนที่ร่ำรวยมีทาสได้ และผู้ที่ใช้แรงงานเมื่อตกเป็นทาสก็ถือว่านายเงินเป็นเจ้าของ เจ้าของอาจซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือยกทาสให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงนำมาสู่การเกิดชนชั้นทางสังคม อาจกล่าวได้ว่าประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองมีฐานะไม่เท่ากัน
จากการที่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้รับแนวคิดทางการเมืองการปกครองจากเขมรมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการปกครองและในด้านสังคมไม่ว่าจะเป็น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชหรือเทวดาโดยสมมุติ, การเกิดระบบศักดินาขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย, การเกิดการปกครองแบบนายกับบ่าว, มีการแบ่งชั้นทางสังคมชัดเจน
นอกจากนี้ในสมัยอยุธยายังต้องทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง
มีการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อป้องกันประเทศ จึงเกิดระบบไพร่และมูลนายด้วยเช่นกัน

3. สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรีและสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2310-2325)
3.1) ลักษณะการปกครองสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี
เนื่องจากสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี เป็นช่วงที่ไทยได้เสียกรุงให้กับพม่า ครั้งที่ 2ในปี พ.ศ. 2310 เกิดความแตกแยกกันเป็นกก เป็นเหล่ายังรวมกันไม่ติด และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่า
กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำนุบำรุงให้คงสภาพเดิมได้ อีกทั้งข้าศึกศัตรูก็รู้ลู่ทางดีและเมื่อถึงคราวน้ำหลาก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมามาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่กรุงธนบุรี และตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงทำศึกสงครามเพื่อรวบรวมประเทศไทยให้เป็นฝึกแผ่น ทำการกอบกู้เอกราชมาโดยตลอด ดังนั้น ตลอดระยะเวลา
15 ปีพระองค์จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างไร ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรีอาจกล่าวได้ว่ายังคงใช้รูปแบบการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่
3.2) ลักษณะการปกครองสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ประเทศไทยใช้รูปแบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแนวของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงก่อร่างสร้างเมืองปราบปรามข้าศึกศัตรูโดยเฉพาะพม่า ทำให้ในเรื่องการปกครองไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 3 มีการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมประกอบกับประเทศไทยมีลักษณะเป็นรัฐกันชนทำให้เป็นที่สนใจของมหาอำนาจ ดังนั้นจึงส่งผลให้มีการปฏิรูปทั้งในด้านการเมืองการปกครองรวมทั้งทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏผลอย่างชัดเจนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
4) สมัยการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ผลจาการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมและปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการปกครอง และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้ทำการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินในวันที่ 1 เมษายน 2435 หรือ ร.ศ.111 ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ คือ
- ทรงปฏิรูปการปกครองโดยการกำหนดให้มีการปกครองส่วนกลาง มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวงกรมและนำเอาระบบบริหาราชการแบบแบ่งแยกโครงสร้างอำนาจหน้าที่ (Structural Functionalism) มาใช้ในการบริหารประเทศ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีการปกครองส่วนภูมิภาค โดยทรงรวบรวมหัวเมืองให้เป็นหน่วยการปกครองใหม่เรียกว่า มณฑลและแบ่งส่วนความรับผิดชอบโดยแบ่งเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมือง อำเภอตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้น และเริ่มทดลองการกระจายอำนาจเป็นครั้งแรก ให้กับหน่วยการปกครองสุขาภิบาล
- ทรงทำการปฏิรูปในด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน เช่น การยกเลิกระบบไพร่ ทาส, การปรับปรุงด้านการศึกษา, การนำเอาวิทยาการต่าง ๆ มาปรับใช้ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ รถไฟและการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายการเข้าเฝ้า ซึ่งโดยรวมเรียกว่าเป็นกระบวนการพัฒนาให้เกิดความทันสมัยในด้านต่าง ๆ (Modernization) เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นอารายะประเทศหนึ่งในกระบวนการพัฒนาให้เกิดความทันสมัยที่สำคัญ ได้แก่ การที่พระราชวงศ์และขุนนางชั้นสูงได้เดินทางไปรับการศึกษายังต่างประเทศ ซึ่งเมื่อได้เดินทางกลับมาก็ได้นำเอาแนวคิดและอารยธรรมทางตะวันตก รวมทั้งแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครองเข้ามาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันรวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก้ปัญหาโดยทำการปลดข้าราชการให้มีจำนวนน้อยลงเพื่อการประหยัด ทำให้ข้าราชการโดยเฉพาะทหารไม่พอใจ
ต่อมาภายหลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลดข้าราชการออกมากขึ้นรวมทั้งบรรดานายทหารชั้นนำก็ถูกลดขั้นเงินเดือน ซึ่งแนวคิดและปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎรส่งผลให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เอกสารอ้างอิง

ลิขิต ธีรเวคิน. (2541). การเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลิขิต ธีรเวคิน. (2544). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นคร พจนวรพงษ์และอุกฤษ พจนวรพงษ์. (2543).  เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญๆ พ.ศ. 2475ปัจจุบันการเลือกตั้งทุกครั้งและการจัดตั้งรัฐบาลทุกสมัย. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจำกัด
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น