หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

องค์การภาคประชาชน



องค์การภาคประชาชน

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นผู้กำหนดความต้องการของตน  ผู้บริหารประเทศที่จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนต้องกำหนดนโยบายและปฏิบัติไปในแนวทางที่ประชาชนยอมรับได้ สังคมไทยเป็นสังคมพหุนิยม ที่ประกอบด้วยกลุ่มประชาชนที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของวัฒนธรรมทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ประชาชนภาคเหนือตอนบนมีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี ทัศนคติ ความคิดความอ่านต่างจากคนไทยในภาคอื่นมากบ้างน้อยบ้าง  การพัฒนาสังคมพลเมืองภาคเหนือตอนบน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมตามแผนการพัฒนาสังคมของรัฐบาล ซึ่งหมายถึง การเข้าไปจัดการคน ระเบียบสังคม และวัตถุสิ่งของ  ซึ่งคนจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง การศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี การพัฒนาย่อมได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นสอดคล้องกับคน ระเบียบสังคม และวัตถุสิ่งของที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคน ระเบียบสังคมและวัตถุสิ่งของของสังคมนั้นๆ 
สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2550) ได้กล่าวว่าการพัฒนานั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม  โดยอธิบายต่อว่าการเปลี่ยนแปลงองค์การทางสังคมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง  ขนาดองค์การทางสังคมใหญ่หรือเล็กลง สอง ประเภทขององค์การทางสังคม จากกลุ่มเพื่อนเป็นครอบครัว หรือชุมชน สาม ลักษณะขององค์การทางสังคม เช่น จากยึดเหนี่ยวหลวมๆ เป็นเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น จากแบ่งแยกมาเป็นสมานสามัคคี  และสี่ สถานภาพและบทบาท จากเคยมีสถานภาพต่ำมาเป็นสถานภาพสูง จากความเป็นเพื่อนมาเป็นสามีภรรยากัน  จากผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นผู้บังคับบัญชา
การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทำให้บทบาทเปลี่ยนไปด้วย  ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

จะเปลี่ยนแปลงใน 3 รูปได้แก่ หนึ่งความคิด เช่น ความเชื่อ ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์  สอง พฤติกรรม เช่น บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น วิถีประชา จารีตประเพณีและกฎหมาย สาม วัตถุ เช่น วัตถุที่เป็นทางวัฒนธรรมคือบ้านเรือน วัดวาอาราม โบสถ์ มัสยิด  เครื่องใช้ เครื่องมือ และเครื่องประดับ เป็นต้น
องค์กรประชาชนในรูปขององค์กรชุมชนจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ องค์กรในรูปของคณะกรรมการ เช่นคณะกรรมการพัฒนาเด็กและสตรี  คณะกรรมการกลุ่มหนุ่มสาว  คณะกรรมการเหมืองฝาย ฯลฯ  องค์กรอีกรูปแบบหนึ่งจะอยู่ในรูปของกลุ่ม เช่นกลุ่มเยาวชน  ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้าน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้อนุรักษ์ป่า เป็นต้น  องค์กรประชาชนที่ชุมชนตั้งขึ้นส่วนใหญ่มีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  องค์กรประชาชนบางองค์กรจะรวมกันเป็นเครือข่ายจากหมู่บ้าน เป็นตำบลหรือระหว่างตำบล เช่นกลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มเหมืองฝาย  กลุ่มอาชีพหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  เป็นต้น
องค์กรประชาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองให้เข้มแข็งโดยมุ่งเน้นการพึ่งตนเอง
ลดการพึ่งพิงจากภายนอก  อย่างไรก็ดีองค์กรประชาชนเป็นองค์กรเปิด ต้องเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยกลไกของภาครัฐ นโยบายของภาครัฐ ระเบียบกฎหมายของรัฐทั้งที่สนับสนุนและเป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาชุมชน  เป้าหมายการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองเนื่องจากประชาชนได้เรียนรู้ที่จะปกป้องและป้องกันตนเองมิให้ปัจจัยภายนอกเข้าไปทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา วัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นในบางพื้นที่ประชาชนจึงรวมตัวกันเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ เช่น สหพันธ์ชาวนา  สมาคมผู้ปลูกพืชไร่ เป็นต้น