หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



แนวคิดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการทางยุโรปได้ให้ความสนใจทฤษฎีพึ่งพาและทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน ต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการทางทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นในแนวทางที่สอดคล้องกับความคิดของคาล มาร์กซ์ เช่น ซาเมอร์ อิน (Samir Ain) และอาร์กฮิรี เอมานูเอล ผู้ที่ได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนที่ขาดความเสมอภาค นักวิชาการสำคัญยิ่งคนหนึ่ง คือ โจฮาน กัลตุง ได้กล่าวถึง มิติใหม่สำหรับทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการนำเอาทฤษฎีความขัดแย้งกับทฤษฎีการรวมตัวกัน มาพิจารณาหาหลักฐานและเหตุผลเพื่อกำหนดเป็นวิธีการทางโครงสร้างขึ้นมา เรียกว่า ทฤษฎีโครงสร้างทางจักรวรรดินิยม ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ทฤษฎีทั่วๆ ไปเกี่ยวกับอำนาจระหว่างประเทศและความสัมพันธ์แบบพึ่งพา

กัลตุง กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสองประเทศสามารถแสดงให้เห็นได้ในลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน องศาของความพึ่งพานั้นมีมากน้อยต่างๆ กัน โดยอยู่ระหว่างความสมดุลสูงสุดไปจนถึงการพึ่งพาเต็มที่ ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศกำลังพัฒนา ลักษณะการพึ่งพาแบบไม่ได้สัดส่วนนี้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในตำแหน่งหรือฐานะทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีของประเทศทั้งสอง และความพึ่งพานี้อยู่ต่อไปได้โดยอาศัยกลไกโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างอำนาจนี้เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของตำแหน่งหรือฐานะแห่งอำนาจเช่นกัน ตามความเกี่ยวข้องกันดังกล่าวนี้ ศูนย์กลางของประเทศในศูนย์กลาง (Centers of The Central Nation) สามารถอาศัยความสนับสนุนจากศูนย์กลางของประเทศขอบนอก (Centers of The Peripheral Nations) เปรียบเทียบกับขอสะพานที่เชื่อมไว้ด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน ผลที่ตามมาขอความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ที่ไม่เสมอภาค ความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าวมักจะเป็นของประเทศที่อ่อนแอกว่า และทำให้ศักยะในการพัฒนาของฝ่ายนั้นต่ำลง ทั้งยิ่งทำให้ความสัมพันธ์นั้นต้องพึ่งพาอาศัยประเทศศูนย์กลางมากยิ่งขึ้นต่อไป
กัลตุง กล่าวต่อไปอีกว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้กลยุทธ์แห่งการร่วมมือกัน (Integration Strategy) นั้นจะเป็นไปได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่มีความสัมพันธ์พึ่งพาซึ่งกันและกันในลักษณะสมดุลโดยประมาณเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เพื่อที่จะแก้ไขความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่ไม่ได้สัดส่วนนี้ประการหนึ่งที่พอทำได้ก็คือ การเปลี่ยนโครงสร้างแบบพึ่งพาระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ไขหรือกลยุทธ์ของการพัฒนาก็ย่อมทำได้โดยมีขั้นตอน 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะของการไม่คบหาสมาคมระหว่างประเทศคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกัน การไม่เกี่ยวข้องกันนี้จะช่วยลดองศาของความขัดแย้งและยอมให้คู่กรณีได้เสริมสร้างตัวเอง ทั้งในแง่ของชื่อเสียงเกียรติภูมิ ความพอเพียงในการช่วยตัวเอง จนกระทั่งความขัดแย้งนั้นกลับเข้าสู่สภาวะสมดุล กล่าวคือ มีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกัน ระยะที่สอง
ควรเริ่มต้นได้ซึ่งเป็นระยะของการคบหาสมาคม มีการติดต่อ เจรจา ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศดังกล่าว
เดเตอร์ สิงหาด และผู้รู้อื่นๆ อีกหลายคน ถือว่า ขั้นตอนส่วนแรกของวิธีการดังกล่าวนี้ คือ ระยะที่หนึ่งสามารถรวมกันได้กับทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน และเมื่อรวมกันได้แล้วสามารถที่จะขยายออกไปเป็นทฤษฎีการพัฒนาออโตเซนเตรด ซึ่งบางครั้งอาจจะเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาปิดตัวเองโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับตลาดโลก กล่าวคือ ไม่ส่งสินค้าไปขายและไม่ซื้อสินค้าใดๆ จากประเทศอื่นในตลาดระหว่างประเทศเหมือนบางประเทศกำลังทำอยู่ อันเป็นการเผชิญหน้ากับความคิดในการดึงดูดทุกประเทศให้เข้าร่วมในตลาดโลกซึ่งเป็นวิธีการสำคัญอันหนึ่งในทฤษฎีสมัยเก่าและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น