หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการกระจายอำนาจการปกครอง



ทฤษฎีการกระจายอำนาจการปกครอง

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจกับการปกครองท้องถิ่นนั้น เกิดจากการจัดโครงสร้างในการบริหารงานของรัฐสมัยใหม่ที่รัฐให้บริการสาธารณะเพียงลำพังย่อม ไม่เป็นการเพียงพอ (เอกดนัย บุญนำ, 2546) ดังนั้น แนวคิดการกระจายอำนาจจึงถูกคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นได้ ทั้งเป็นการสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย ตามสภาพภายในของแต่ละประเทศ และเป็นการปรับเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างคนชนบท กับผู้บริหารที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย

ชำนาญ  ยุวบูรณ์ (2503) อธิบายว่าการกระจายอำนาจ แบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทฤษฎีดั้งเดิม และแนวทฤษฎีใหม่ ได้แก่
1) ทฤษฎีดั้งเดิม ได้ให้ความหมาย 2 ลักษณะ ได้แก่ การกระจายอำนาจตามอาณาเขต และการกระจายอำนาจตามกิจการ
2) ทฤษฎีสมัยใหม่ การกระจายอำนาจ แนวทฤษฎีนี้ ไม่เห็นด้วยที่จะแยกความหมายของการกระจายอำนาจ ออกเป็นการกระจายอำนาจตามอาณาเขต และการกระจายอำนาจตามกิจการ


แนวคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจได้มีนักวิชาการ เช่น ประยูร กาญจนดุล (2523) กล่าวว่าการกระจายอำนาจ หมายถึง การกระจายอำนาจปกครองประเทศจากส่วนกลางบางอย่าง โอนไปให้ประชาชนในท้องถิ่นฝึกหัดจัดทำ ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นของตนเอง ส่วนสถาบันภาษาศาสตร์ (อ้างถึงใน ดำรงศักดิ์ บุญลา, 2540) กล่าวว่า ความหมายของการกระจายอำนาจมีอยู่  2 นัย คือ 1) มอบอำนาจการปกครอง ถือว่าการกระจายอำนาจเป็นหลักการปกครองที่รัฐบาลกลางได้มอบอำนาจทางการปกครองบางอย่าง ซึ่งพิจารณาเห็นว่าไม่ทำลายความมั่นคงของชาติ และท้องถิ่นควรรับไปดำเนินการ 2) มอบอำนาจการบริหาร คือ การกระจายอำนาจในทางราชการ ได้มอบอำนาจการตัดสินใจสั่งการจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นมีความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติงาน ขณะที่ โกวิท กระจ่าง (2540) กล่าวถึงการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจโดยทั่วไป หมายถึง  การถ่ายโยงอำนาจในการวางแผน การตัดสินใจ หรือหน้าที่ในการจัดการ จากรัฐบาลส่วนกลางไปสู่หน่วยงานย่อยๆ ในท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือองค์การระดับรองลงไป หรือองค์การเอกชน และพวงทอง วัฒนาพิมล (2541) ให้ความหมายว่า การกระจายอำนาจ คือ การกระจายอำนาจการปกครองและการบริหารจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างตามสมควรและเป็นการให้ประชาชนได้ฝึกการเรียนรู้การมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่วน วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ (2537) ได้ให้ความหมายของการกระจายอำนาจไว้ 2 รูปแบบ คือ
1) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจตามอาณาเขต คือ การโอนกิจการบริการสาธารณะบางเนื่อง ซึ่งมีผลต่อราษฎรในท้องถิ่นหนึ่ง โดยเฉพาะจากรัฐหรือองค์การปกครองส่วนกลางไปให้ราษฎรในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ คือ 1) ความต้องการส่วนรวมของราษฎร 2) กฎหมายจัดตั้งชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ มอบให้องค์การที่จัด ตั้งขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล 3) “องค์กร” หรือ “ผู้แทน” ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใช้สิทธิ และปฏิบัติหน้าที่แทนนิติบุคคล โดยจะต้องสามารถทำหน้าที่จัดการจัดการได้อย่างเป็นอิสระจากองค์การปกครองส่วนกลาง 4) บุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ “องค์การ” หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคล 5) ต้องอิสระจากการคลัง คือ มีแหล่งรายได้และอำนาจจัดสรรรายได้เพื่อใช้จ่ายในการจัดทำกิจการอันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของตนเองได้ และการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นมีขนาดพื้นที่ และจำนวนประชากรที่พอควร 
2) การกระจายอำนาจตามบริการ คือ กิจการบริการสาธารณะที่โอน จากองค์การปกครองส่วนกลางไปให้หน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบจัดทำแยกต่างหากและเป็นอิสระจากองค์การปกครองส่วนกลาง

สมิธ (Smith, 1967 อ้างถึงใน ประทาน คงฤทธิ์ศึกษากร, 2535) ได้แบ่ง การกระจายอำนาจการปกครอง ออกเป็น 2 กรณี คือ 
1) การแบ่งอำนาจการปกครองที่เรียกว่า Deconcentration ลักษณะของการแบ่งอำนาจทางการปกครองนี้ มีลักษณะสำคัญ คือ 1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งไปจากส่วนกลาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
2) ใช้งบประมาณ ซึ่งส่วนกลางเป็นอนุมัติ   3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง 4) เป็นการบริหารงานโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งไปจากส่วนกลาง
2) การมอบอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง (Devolution) โดยทฤษฎีอาจมีกรรมวิธีในการกระจายอำนาจได้ 2 กรณี คือ 1) การกระจายอำนาจไปให้หน่วยงานการปกครอง ตามเขตพื้นที่ (Territory) เช่น
การกระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล
2) การกระจายอำนาจไปให้หน่วยงานการปกครองทำตามลักษณะเฉพาะ กิจกรรมหรือแต่ละหน้าที่ เช่น การกระจายอำนาจไปให้การประปา การไฟฟ้า การโทรศัพท์ และการเดินรถ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำว่า Devolution หรือการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเองนี้ หลักการสำคัญจะต้องเป็นการมอบอำนาจให้ทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจในการบริหาร ส่วน มีทซ์ และควิททิ (Meatz & Quieti, 1987 อ้างถึงใน สุขสันต์ ชาตะพล, 2550) ได้เสนอว่า สิ่งที่จำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้นก่อนมีการกระจายอำนาจ คือ 1) การผูกพันและอุทิศตนต่อการกระจายอำนาจ 2) ความเป็นอิสระของหน่วยงาน 3) มีการกำหนด ความรับผิดชอบในการวางแผนอย่างชัดเจน 4) มีการสนับสนุนทางการเมืองในระดับท้องถิ่น

วัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจมีหลายประการโดย โรนดิเนลลี, เนลลิส และชีมา (Rondinelli, Nellis & Cheema, 1983 อ้างถึงใน โกวิท กระจ่าง, 2540) ได้กล่าวว่าการพยายามจะลดภาระงาน ลดขั้นตอนในการบริหาร จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดต่อ สื่อสารระหว่างหน่วยงาน และการหวังว่าจะทำให้งานล่าช้าน้อยลง ก็เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันต่อเหตุการณ์และความเร่งด่วนของประชาชนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน มีทซ์ และควิททิ (Meatz & Quieti, 1978 อ้างถึงใน สุขสันต์ ชาตะพล, 2550) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจของประเทศต่างๆ ไว้หลายประการด้วยกัน คือ เพื่อส่งเสริมความสมดุลในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อสามารถจัดทำโครงการพัฒนาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งให้แก่สถาบันทางการเมืองระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการระดมทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาท้องถิ่น

การกระจายอำนาจสามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 รูปแบบ ตามระดับ ของอำนาจ และหน้าที่ และขอบข่ายของหน้าที่ ซึ่ง โรนดิเนลลี (Rondinelli, 1983 อ้างถึงใน สุขสันต์ ชาตะพล, 2550) ได้อธิบายว่า การแบ่งอำนาจ ซึ่งหมายถึง การถ่ายโอนบทบาทหน้าที่ของส่วนกลางให้กับส่วนท้องถิ่นตามลำดับขั้นของการบังคับบัญชาจากระดับกระทรวงสู่ส่วนท้องถิ่น 2) การให้อำนาจอิสระ หมายถึง การถ่ายโอนความรับผิดชอบในหน้าที่ให้กับหน่วยงานในระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น 3) การมอบอำนาจให้แก่ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ได้แก่ การถ่ายโอนความรับผิดชอบในหน้าที่ หรืออำนาจในการตัดสินใจให้หน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นภายใต้ขอบข่ายที่กฎหมาย 4) การให้ภาคเอกชน หรือองค์การเอกชนดำเนินการ คือ การให้ภาคเอกชน หรือองค์การเอกชนรับผิดชอบกิจกรรมที่รัฐบาลเคยทำให้แก่ภาคเอกชน หรือองค์การเอกชน หรือองค์กรประชาชนไปดำเนินการ 

ขณะที่ สุโท สาระจันทร์ (2542) ได้จำแนกการกระจายอำนาจออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ดังนี้ 1) การเมืองการปกครอง หมายถึง การกระจายอำนาจภายในขอบเขตพื้นที่ โดยการจัดตั้งสถาบัน องค์การหรือหน่วยงานที่มีอิสระในทางการเมืองการปกครองในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบทางการเมืองการปกครองของประเทศ 2) การกระจายอำนาจทางการบริหาร หมายถึง การมอบอำนาจและการแบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบจากหน่วยงานราชการในส่วนกลางไปยังหน่วยงานท้องถิ่น  ส่วนการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น พวงทอง วัฒนพิมล (2541) ได้ให้แนวคิดว่ามีลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1) มีการจัดตั้งองค์การขึ้น เป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากส่วนกลาง 2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น 3) มีอำนาจอิสระในการปกครองตนเอง 4) มีงบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่น 5) มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เป็นของท้องถิ่นของตนเอง 

ขณะที่ สมเกียรติ พึงรำพรรณ (2548) ได้กล่าวว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นถูกคาดหวังว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดความเจริญขึ้นในท้องถิ่น ซึ่ง  สมคิด เลิศไพฑูรย์ (2544) ได้กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งก่อให้เกิดการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน รวมถึงการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย รัฐธรรมนูญมีบัญญัติหมวดการปกครองท้องถิ่น ซึ่งสามารถ อธิบายถึงสาเหตุที่บัญญัติ คือ รัฐธรรมนูญต้องการให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการปกครองโดยประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ต้องการให้มีการปรับปรุงองค์การบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องการให้ประชาชนมี ส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น มุ่งเน้นให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระ แต่ความอิสระนั้นต้องไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายหรือผลประโยชน์ของประเทศ และเน้นให้องค์การปกครองท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดย สมหมาย ลูกอินทร์ (2550) ได้แบ่งออกเป็น 2 แผน คือ 1) สาระสำคัญของแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออาจเรียกว่าแผนใหญ่ มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ที่รัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบางกรณีกฎหมายกำหนดให้มีการถ่ายโอนภายใน 4 ปี บางกรณีกำหนดให้มีการถ่ายโอนภายใน 10 ปี กรณีที่ท้องถิ่นยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบได้ภายใน 4 ปี และการปรับปรุงสัดส่วนรายได้ขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้ของรัฐ 2) สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ แผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจหรือที่เรียกว่า แผนเล็ก นั้นมีเนื้อหาที่สำคัญ 4 ประการ คือ 2.1) กำหนดรายละเอียดของอำนาจหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะที่องค์ประกอบส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบจะต้องกระทำโดยในกรณีใดเป็นอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของรัฐ หรือระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน ให้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติเพื่อประสานการดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม 2.2) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการในการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรให้เพียงพอแก่การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งโดยต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐในการให้บริการสาธารณะโดยรวมด้วย 2.3) รายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอให้แก้ไข หรือจัดให้มีกฎหมายที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 2.4) การจัดระบบบริหารงานบุคคลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดนโยบายการกระจายบุคคลจากราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคไปสู่ท้องถิ่น โดยสร้างระบบถ่ายเทกำลังคนสู่ท้องถิ่นและสร้างระบบความก้าวหน้าสายอาชีพที่เหมาะสม ทั้งนี้แผนปฏิบัติการดังกล่าวต้องกำหนดรายละเอียด วิธีปฏิบัติ และกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจนด้วย ซึ่งท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ คนในท้องถิ่นมีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประเทศไทย ได้มีนักวิชาการและผู้ที่ศึกษาไว้ ดังนี้ โกวิทย์ พวงงาม (2551) เห็นว่า ความยากจนในประเทศไทยต้องแก้ด้วยแผนของชุมชนเอง คนในชุมชนต้องเรียนรู้ปัญหาของตนเอง และคิดแก้ด้วยตนเอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชนหรือทุกปัญหาในชุมชน ต้องถูกแก้ด้วยฐานของท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องสร้างกระบวนการให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจน การเรียนรู้ มีส่วนร่วม และกระบวนการคิด เพื่อให้ท้องถิ่นร่วมกับชุมชนสร้างแผนพัฒนายุทธศาสตร์ ที่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดจากกระบวนการคิดของชุมชน ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา และแก้ปัญหาในชุมชน เพราะเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากสุด ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง และดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2550) ได้อธิบายว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีอยู่ 2 ระดับ คือ 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด กับกรุงเทพมหานคร 2) องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้ ถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยทั้งสิ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นองค์กรปกครองตนเองมีกฎหมายรับรอง ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากร และให้บริการภายในท้องถิ่น มีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ใต้กรอบกฎหมาย และนโยบายของชาติ รายได้และรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของการคลังภาครัฐ มีระบบการตรวจสอบภายนอก โดยสำนักงานตรวจเงินแห่งชาติ และมีระบบการตรวจสอบภายใน เพราะรายได้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น มาจากภาษีของประชาชน และโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย มีการบริหารภายในประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและพนักงาน ส่วนเหตุผลที่สนับสนุนในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2550) ได้อธิบายว่ามี 3 ประการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในระดับรากฐานให้เข้มแข็ง และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นทำให้เกิดความก้าวหน้าของมาตรการกระจายอำนาจซึ่ง ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2550) แบ่งออกเป็น 6 มิติ ได้แก่ 1) การคลังท้องถิ่น มีการพัฒนาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 2) ความตื่นตัวของประชาชน และความเข้าใจบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การผลักดันการถ่ายโอนอำนาจในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน และยังมีหน่วยงาน หรือสถาบันวิชาการให้ความสนใจโดยเริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่นมากขึ้น 4) มีการให้รางวัลและแรงจูงใจแก่หน่วยงานท้องถิ่นที่ทำดี 5) ความตื่นตัวของภาคประชาชนในการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและการตรวจสอบ การทำงานของท้องถิ่นเพื่อให้มีระบบบริหารที่สุจริต 6) การเลือกตั้งผู้นำโดยตรงมีข้อดีที่เป็นการประกาศให้ทราบว่าใครเป็นหัวหน้าทีม และเป็นการประกาศนโยบายทำงานที่ชัดเจน และความมีเสถียรภาพของฝ่ายบริหารท้องถิ่น ขณะที่ ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2550) ได้แยกสิ่งที่ต้องแก้ไขเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นไทย ได้ดังนี้ 1) องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เข้มแข็งพอมีขนาดเล็กไม่สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพได้ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่งมีขนาดเล็ก ประชากร บ้านเรือน และสถานประกอบการน้อย ซึ่งปัญหานี้แก้โดยการควบรวมทำให้องค์กรใหญ่ขึ้น แต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับทางการเมือง 2) ความไม่พร้อมของหน่วยราชการส่วนกลางในการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) อุปสรรคการถ่ายโอนบุคคลให้ท้องถิ่น 4) ปัญหาเกี่ยวกับตัวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลบางที่กลัวการถูกยุบรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นๆ และการพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล่าช้า

ทั้งนี้ แนวคิดว่าการกระจายอำนาจ หมายถึง การที่รัฐบาลในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้นำอำนาจไปให้แก่องค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นหรือชุมชน เพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น หรือชุมชนนั้น ซึ่งองค์กรท้องถิ่นจะมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างเต็มที่ ในการคัดเลือกผู้นำองค์การจะมีการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่น หรือชุมชนโดยตรง ซึ่งต้องไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลส่วนกลาง

บรรณานุกรม

โกวิท  กระจ่าง. (2540). การวางแผน. กรุงเทพฯ: องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น.
ชำนาญ  ยุวบูรณ์. (2503). การรวมและการกระจายอำนาจการปกครองของกฎหมายไทย. พระนคร:
วิบูลย์กิจ.
ดิเรก  ปัทมสิริวัฒน์. (2550). การคลังท้องถิ่น รวมบทความวิจัยเพื่อเพิ่มพลังให้ท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง.
ดำรงศักดิ์  บุญลา. (2540). การกระจายอำนาจการปกครอง. กรุงเทพฯ: เอสพรินท์.
ประทาน  คงฤทธิ์ศึกษากร. (2537). การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นในปัจจุบัน. กรุงเทพฯ:
โอเดียนสโตร์.
ประยูร  กาญจนดุล. (2523). คำบรรยายกฎหมายปกครอง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พวงทอง  วัฒนพิมล. (2541). การวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการปกครองท้องถิ่นศึกษาเฉพาะกรณีการปกครองและบริหารงานเทศบาลตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วรพจน์  วิศรุตพิชญ์. (2537). หลักการรวมอำนาจ หลักการแบ่งอำนาจและหลักการกระจายอำนาจ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมเกียรติ  พึงรำพรรณ. (2548). ทัศนะต่อประสิทธิผลของการบริหารงานเทศบาล ตำบลอรุณรุ่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สมคิด  เลิศไพฑูรย์. (2543). การปกครองท้องถิ่น ประเทศฝรั่งเศษ. กรุงเทพฯ: อักษรการพิมพ์.
สมหมาย  ลูกอินทร์. (2550). ความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของเทศบาลในการพัฒนาท้องถิ่น : ศึกษากรณีเทศบาลตำบลคอกช้าง ตำบลแม่หวาด  อำเภอธารโต จังหวัดยะลา. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม 
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุโท  สาระจันทร์. (2542). ความรู้ความเข้าใจของสมาชิกสภาเทศบาลและเทศมนตรีเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลตำบล ศึกษาเฉพาะกรณี จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุขสันต์  ชาตะพล. (2550). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น: กรณีศึกษาเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
เอกดนัย  บุญนำ. (2546). มาตรการทางกฎหมายในการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการปกครองท้องถิ่น ศึกษากรณีเทศบาล. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชานิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น