หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวนา



การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวนา

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

1.  การเปลี่ยนแปลงในปัจจัย 4
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวนา ในด้านการเปลี่ยนแปลงมุมมองและแนวคิดในการบริโภคปัจจัย 4 พื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่เคยอยู่แบบเรียบง่าย และวิถีการผลิตที่เคยอาศัยภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นกระแสของความทันสมัย (Modernization) กระแสข่าวสารข้อมูล(Information) ที่อาศัยสื่อเทคโนโลยี แขนงต่างๆ นำมาโดยปราศจากซึ่งสิ่งขัดขวางปิดกั้นหรือเป็นสภาวะที่ไร้ซึ่งพรมแดนทำให้โลกทั้งโลกเป็นเสมือนบ้านเดียวกัน เหตุการณ์ สถานการณ์ หรือเรื่องราวใดๆ เกิดขึ้นในโลก กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำลายค่านิยมของความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไปสู่วัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างต้องคิดเป็นค่าแรง ค่าจ้าง บูชาเงิน บูชาวัตถุ มองคุณค่าของคนอยู่ที่เงินตรา และที่ฐานะทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ทุกคนจึงพยายามที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุด ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ไม่สนใจเรื่องศีลธรรมคุณธรรม ในสังคมชาวนาสมัยทุกวันนี้มองเพื่อนร่วมอาชีพกลายเป็นคู่แข่ง ต้องชิงไหวชิงพริบ ต้องเอาชนะกันว่าใครจะได้ผลผลิตมากกว่ากัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ แม้จะทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น มีถนน มีน้ำประปา มีไฟฟ้า แต่ผลดีไม่เท่าผลเสีย เพราะชาวนาไทยไร้หลักประกัน เป็นชะตากรรมของชาวนาไทย และมีภัยรอบด้าน จึงมีความรู้สึกว่าอาชีพของตนไม่มีความมั่นคง ไม่แน่นอน ทั้งในเรื่องของน้ำท่วม ฝนแล้ง ราคาผลิต ราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่นที่มีความแน่นอนอย่างเดียวคือราคาแพงเพิ่มขึ้น ชาวนาจึงขาดศรัทธาในอาชีพของตนเองไม่เห็นคุณค่าว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

โลกาภิวัตน์ภายใต้คำว่า การพัฒนา ได้ทำลายวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของชาวนา และทำลายภูมิปัญญาของชาวนาไทยไปโดยสิ้นเชิง อาชีพชาวนานับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่สั่งสมภูมิปัญญาในด้านการทำนาไว้อย่างหลากหลาย ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมถูกนำมาประยุกต์จนเกิดภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ ตัวอย่าง เช่น การกำจัดศัตรูพืชในข้าว เมื่อมาทำลายข้าวมีการแก้ไขโดยการนำพืชบางชนิดแช่น้ำให้เน่าเปื่อยเพื่อไล่แมลง หรือการกำจัดปูนา ที่เป็นศัตรูพืชในนาข้าวไปประกอบอาหารสำหรับรับประทาน หรือการจับปูไปทำน้ำหมักปูเพื่อจำหน่าย หรือภูมิปัญญาในด้านการจัดการน้ำด้วยคันนา เพราะถ้าไม่มีคันนาแบ่งหรือกั้นขอบเขตพอถึงฤดูฝนน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าและไหลไปจนหมด ซึ่งภูมิปัญญาของชาวนาเหล่านี้สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ภูมิปัญญาการทำนาของชาวนาในท้องถิ่น ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อว่าด้วยว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ จึงต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การไหว้แม่โพสพ การทำขวัญข้าว ก่อเกิดความรู้สึกสำนึกถึงบุญคุณที่ให้อาหารเลี้ยงชีวิตคนไทยจึงให้ความเคารพข้าว  จึงนำมาซึ่งความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนที่แสดงออกผ่านประเพณีและความเชื่อที่มีร่วมกัน การสืบทอดวิธีการแบบดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีแบบง่ายๆ การใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ในกระบวนการผลิตข้าว การมียุ้งข้าวเก็บข้าวไว้กินเหลือกินแล้วจึงขาย แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความเป็นอยู่แบบพอเพียงและมีภูมิคุ้มกัน  การแสดงออกด้านประเพณีและความเชื่อส่งผลให้เกิดความรักสามัคคี ตามวิถีชีวิตของคนไทยท้องถิ่น (คำกล่าวของผศ.พระครูสุนทรธรรมโสภณ, 2553

คำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขามูลนิธิชัยพัฒนา ที่กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศเริ่มพัฒนา ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2500 ฉบับแรก จนกระทั่งหลายฉบับที่ตามมา ถูกชี้นำโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า เราได้นำเอาค่านิยมเอาแนวทางหลักความคิดของตะวันตก มาเป็นเครื่องนำทางของเรา วิถีชีวิตอีกซีกโลกนั้นแตกต่างกับของเราอย่างไร ประการแรกสุด ซีกโลกตะวันตกนั้นเขายึดถือวัตถุ แต่ซีกโลกของเราทางด้านเอเซียยึดถือเรื่องคุณธรรมวัฒนธรรม เรื่องจริยธรรมเป็นที่ตั้ง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกตะวันตกเป็นโลกของรูปธรรม ขณะที่โลกตะวันออกเป็นโลกของนามธรรม

ที่ผ่านมาคนไทยครองชีวิตครองตัวอยู่อย่างพอดี อยู่อย่างถ่อมเนื้อถ่อมตน ยึดเส้นทางสายกลาง อยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับเรามาโดยตลอด บ้านเมืองก็คิดว่าเรามีความสุขพอสมควร
แต่นับเนื่องจากวันที่เราจะก้าวไปสู่ยุคปรับเปลี่ยน จากสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเรา เปลี่ยนไปสร้างความร่ำรวยด้วยเงินทองเป็นที่ตั้ง คือสร้างการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ทุกฉบับ โดยคิดว่าเราต้องสร้างความร่ำรวยให้ได้ก็พอแล้ว ทุกอย่างจะดีมาเอง แล้วเราก็เริ่มสร้างจริงๆ ในระยะถัดมานั้นเรารวยจริงๆ ในด้านตัวเลข เราสัมฤทธิผลในส่วนนี้ ทำให้เราภูมิใจเมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้วว่า เราเป็นแชมป์การเจริญเติบโตจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ของเราทำได้ 7 เปอร์เซ็นต์ 8 เปอร์เซ็นต์ บางที 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีประเทศไหนเขาทำได้ เราก็ดีใจว่าบ้านเมืองเจริญ จนกระทั่งหลายคน นักการเมืองก็ดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการ เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางอย่างนั้น ศูนย์กลางอย่างนี้ ศูนย์กลางการเงิน การคลัง ศูนย์กลางขนส่งทางอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ศูนย์กลางสารพัด แต่พอเหลียวกลับมาดูอีกแง่หนึ่งเราได้อะไร และเราเสียอะไรเราได้เงินมา แต่พร้อมกันนั้นเรากลับเสียทุกอย่างและเราเสียสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราเสียคน เพราะพอมาถึงช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่๓ เราก็เพิ่งเติมคำว่าสังคมลงในแผนเดิม เราคิดว่าพัฒนาเศรษฐกิจดี ร่ำรวยดีอย่างอื่นดี พอแล้ว ไม่เคยมองด้านสังคมมาในแผนพัฒนาฯ ประมาณช่วงฉบับที่ 3  ก็คิดกันว่าเราทำการเกษตรไม่รวย ทำอย่างไรก็ไม่รวย รวยช้า เหนื่อย ไปทำอุตสาหกรรมดีกว่า และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เราเริ่มหากรรมใส่ตัวเรื่อยมาและ ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากพื้นฐานการเกษตรที่ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง ใช้ดินของเราเอง ใช้คนของเราเอง เราเป็นเจ้าชีวิตของเราเอง ไป สู่การพัฒนาที่เน้นด้านอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น เราต้องการอะไรในเบื้องต้น เราต้องการเงินถามว่าเรามีเงินไหม ไม่มีไม่เป็นไร ไปกู้เขา กู้เสร็จแล้วเราก็ดีใจ ภูมิใจมาก เราเป็นลูกหนี้ที่ดีที่สุดในโลกเพราะไม่เคยเบี้ยวเลย ธนาคารโลกก็อยากให้เรากู้ ใครก็อยากให้เรากู้ ภูมิใจ ระยะนั้นเราคิดอย่างนั้นจริงๆนอกจากเงินแล้ว เรายังต้องการเทคโนโลยี ถามว่าเทคโนโลยีเรามีของเราเองไหม เราเคยพัฒนาเทคโนโลยีของเราหรือเปล่า เปล่า ไม่เป็นไรอีก เราซื้อเขามาได้  จึงมีการ เคลื่อนย้ายเทคโนโลยี  คือซื้อมาหรือเคลื่อนย้ายมาใช้ในบ้านเรา และสิ่งที่ต้องการอีกก็เรื่องการบริหาร ต้องการคน เราต้องการนักบริหารระดับสูง ถามว่าระบบการศึกษาของเราสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมาหรือเปล่า คำตอบคือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องใครครับ เราต้องการคนญี่ปุ่น คนฝรั่ง ที่เข้ามาเดินเต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อมาบริหารงาน เงินและเทคโนโลยีของเขา ขณะที่คนไทยร่ำรวยจากเงินเดือน แต่คนไทยก็ทำได้แค่เป็นภารโรง คนงาน เสมียนหรือระดับกลางๆ เท่านั้นเอง คนไทยระดับสูงนั้นมีแค่หยิบมือเดียว ก็ถูกแย่งตัวกัน ยิ่งตอนยุคฟองสบู่เงินเดือนของคน ไม่น่าเชื่อ เดือนละเป็นล้าน แพงยิ่งกว่าสิงคโปร์ เราเหมือนพ่อครัว คนหยิบมือเดียวก็แย่งกัน 

อย่างที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ คือสร้างบ้านขึ้นมาโดยไม่ได้ฝังเสาเข็ม เศรษฐกิจพอเพียงคือฝังเสาเข็มวางรากฐานก่อน การสร้างความร่ำรวยโดยไม่มีการวางรากฐานรองรับมาก่อน ก็คือไม่ได้สร้างเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อนก็อยู่ไม่ได้ พระองค์ท่านไม่ได้บอกให้ทุกคนกลับไปปลูกถั่วปลูกงากิน ไม่ใช่ แต่ให้ค่อยๆพัฒนาขึ้นไปตามลำดับแต่สิ่งที่กล่าวมาตอนต้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราเสียทรัพยากรและขายทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินนี้ เราขายดิน เราขายป่าไม้จนหมด เราขายแร่ ยุคพวกเรายังหนุ่มหรือยังเด็ก เรามีข้าว ยางพารา ไม้สัก ดีบุก รวยแค่นี้ พอบัดนี้ก็วิ่งขายกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ก็วิ่งขายกัน สินค้าออกไม้สัก เลิกพูดแล้วสมัยนี้ ปรากฏว่าเราขายไปทุกอย่างแล้วเราร่ำรวยขึ้นมา หมายความว่าเราขายเพราะเราอยากได้เงิน และเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ทุกอย่างก็พังครืนแต่ที่เราเสียดายและยากที่จะกลับคืนก็คือ เราเสียคน เสียคนเพราะเราหลุดจากหลักธรรมที่เรายึดมาตลอด คือ เดินเส้นทางสายกลาง แต่เป็นการเดินไปสู่ความโลภ ความหลง การกอบโกยทุกอย่าง เข้าเป็นสมาชิกสังคมบริโภคสุดกู่เวลานี้คนต้องมีบ้านโตๆ ไม่มีก็ต้องไปกู้ยืมเงินเขา เพราะมันเป็นศักดิ์ศรีของสังคม ทุกคนก็ขี่รถใหญ่ๆแพงๆ เพราะว่าเงินมันเยอะใช้กันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยกันจนหมด เสียคนถึงเวลาปรับเปลี่ยนค่านิยม ค่านิยมของคนไปผูกกับวัตถุหมด หลวงปู่ขาวได้เทศน์เอาไว้ว่าคนไทยเป็นคนติดซาก เพราะความโลภ ความอะไรสารพัดไปหมด เมื่อสร้างนิสัยอย่างนี้ ก็เข้าครอบงำหมด ค่านิยมของสังคมก็เปลี่ยนไป พอค่านิยมถูกปรับเปลี่ยน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เงินเดือนในระบบราชการก็ไม่สามารถที่จะเอื้อให้มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้  ก็ต้องประพฤติที่ผิด คือโกง ก็คือคอร์รัปชั่น จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ระบบนี้ครอบงำในทุกส่วนของสังคม ทำให้ชาติบ้านเมืองย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ยอมรับ จะทำอะไรสักอย่างซองต้องไป ซองไม่ไปงานไม่เดิน เราไปสร้างสมสิ่งต่างๆเหล่านี้ มีเรื่องสี มีชนชั้น เพราะสังคมทั้งสังคมมันแหลกเหลว ล้มเหลว ไร้สาระมา ณ วันนี้  เหตุการณ์นั้นยังมีค่อนข้างมาก มีอย่างน่ากลัว โยงไปสู่ยาบ้า ยาเสพติด อะไรต่ออะไรวุ่นวาย แล้วสังคมทั้งสังคมก็เหลวเหลกไป ข้าราชการที่เป็นแกนของสังคมทั้งหมดก็ล้มเหลวตามไปด้วย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนกันเสียที ทีนี้จะเอาต้นแบบมาจากไหน  

แท้จริงสังคมเราก็มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  59 ปี ที่ผ่านมานั้น ได้ทรงแสดงให้ดูหมดทุกอย่าง ได้ทรงทำหมด ทรงคิดหมดทุกอย่าง เพื่อรักษาประเทศนี้ไว้ ไม่ใช่เพียงรักษา ทรงสอนด้วย ทรงนำ ทรงทำให้ดูด้วย แต่พวกเราพสกนิกรเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองพระเจ้าอยู่หัวเลย ชื่นชม แต่ไม่เคยทำตาม ถึงเวลาแล้ว การปรับเปลี่ยน การละจากพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้กลับมาสู่ทำนองคลองธรรมนั้น เราทำได้  เราต้องเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนที่จิตเสียก่อน ใครที่ทำดีอยู่แล้ว ทำต่อไป ในการทำดีนั้นมีอุปสรรค ไม่ใช่ง่าย คนจะหมั่นไส้ คนจะอิจฉาใครจัดสรรซองให้นายก็ได้ดี ลูกน้องคนไหนไม่รับก็จะโดนเขม่น ทำดีก็ถูกเขม่นหมั่นไส้ เพราะมึงไม่โกง กูโกงแล้วมึงต้องโกงด้วย อะไรลักษณะอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม  ด้วยยุคสมัยและสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง กว่าสี่สิบปีมาแล้วที่การเกษตรของประเทศไทยมุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก โดยนำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เข้ามา เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา ยาปราบวัชพืช ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ตอบสนองความต้องการทางด้านการส่งออกและการตลาด ในระยะแรกเทคโนโลยีเหล่านั้นมีส่วนช่วยให้ผลผลิตขยายตัวสูงขึ้นมาก จนมีการขนานนามว่าเป็นการ "ปฏิบัติเขียว" เป็นความหวังที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารโลกแต่กลับส่งผลในระยะยาวกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวนาเอง 

ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ศตวรรษ  อยู่อ่อน (2536) พบว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านการผลิตที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวนาไทย เมื่อศึกษาถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวนาไทยภาคเหนือพร้อมทั้งศึกษาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการผลิตที่มีต่อชาวนาไทย ทางด้านเศรษฐกิจครอบครัว ศาสนาและความเชื่อ โดยมีเงื่อนไขหรือสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยอย่างไร ผลการวิจัยพบว่า เมื่อชาวนาบ้านสันทรายยาวได้เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการผลิตจากเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมมาสู่ เทคโนโลยีแบบแผนใหม่ ได้ส่งผลกระทบให้ครอบครัวชาวนาบ้านสันทรายยาวที่เคยมีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายในอดีตต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจนั้น ชาวนาต้องเพิ่มภาระเงินทุนในการการผลิตแต่ละครั้งอย่างสูงไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยเคมียากำจัดศัตรูพืช ฯลฯ รวมทั้งเกิดความแตกต่างทางชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ผลกระทบทางด้านศาสนานั้น กิจกรรมทางพุทธศาสนามิได้เป็นสิ่งจำเป็นเช่นในอดีต เพราะสมาชิกครอบครัวชาวนาต้องทำงานแข่งขันกับเวลาจนไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรมเช่นในอดีต ส่วนผลกระทบทางด้านครอบครัวนั้นเกิดค่านิยมการบริโภคลอกเลียนแบบตัวเมือง ครอบครัวจะมีขนาดเล็กลงเป็นครอบครัวเดี่ยวเกือบทั้งหมด ชาวนาเกิดการคาดหวังในเงินตราวัตถุการบริโภคอันจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมาก ในด้านเงื่อนไขหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับแรกเป็นต้นมา ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายความเป็นเมือง และการพัฒนาตามโครงการต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการผลิตเทคโนโลยีในสังคมชาวนา

จากคำบอกเล่าของชาวนา นายประมูล อินยิบ นักเรียนชาวนา ต.บ้านโพธิ์ จ.สุพรรณบุรี วัย 39 ปี เล่าชีวิตการทำนาว่า การทำนาเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของตนแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทำนาเป็นอาชีพมาตั้งแต่รุ่นพ่อไปจนถึงรุ่นทวด ปู่เคยทำอย่างไร พ่อก็ทำมาอย่างนั้น แล้วทำต่อๆกัน ยิ่งทำหนี้สินยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการทำนาใช้สารเคมีมา 30 ปี ทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีอยู่ตลอด จนกระทั่งร่างกายทนรับการสะสมของสารเคมีไม่ไหว เกิดอาการหมดสติสมองไม่ทำงาน ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 ปี ในขณะที่เพื่อนเกษตรแทบทุกคนต้องประสบปัญหาสุขภาพตลอดเวลา และอีกความคิดหนึ่ง: นายบุญมา ศรีแก้ว วัย 53 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน ต.บ้านโพธิ์ แกนนำนักเรียนชาวนาเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีครอบครัวทำนาตามธรรมชาติใช้ควายไถนา ปีหนึ่งทำนาได้เพียงครั้งเดียว ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวก็พออยู่ได้ จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อน ภาครัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำนามาใช้สารเคมี และใช้รถไถนาแทนแรงงานควาย ผลปรากฏว่าผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นทันตาเห็น จากแต่เดิมเคยทำนาได้ปีละครั้งกลับทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่เมื่อปลูกติดต่อกันเป็นเวลานานผลผลิตกลับตกต่ำลง โดยไม่เชื่อว่าการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีจะได้ผลดี เพราะขนาดทำนาใช้สารเคมี ผลผลิตยังตกต่ำ และการทำนาแบบใช้สารเคมีช่วยสร้างความสะดวกสบาย ไม่ต้องเหนื่อยแรง ถ้าเกิดมีแมลงมากัดกินต้นข้าวก็ฉีดยาฆ่าแมลง ถ้าข้าวเจริญเติบโตไม่งอกงาม ก็ฉีดสารเร่งข้าวให้งามไม่นานก็เห็นผลทันตา แถมยังซื้อหาได้ง่าย หยิบใช้สะดวกอีกด้วย

นับกว่า 30 ปีแล้วที่เกษตรกรไทยทำนาแบบพึ่งพิงสารเคมีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การจะปรับเปลี่ยนทัศนคติวิธีการทำนาของชาวนา จึงเป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุด สิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนความคิดของชาวนาที่เคยชินกับการทำนาใช้สารเคมีนั้น จำเป็นต้องให้ชาวนาเรียนรู้ถึงพิษภัยของสารเคมี ชี้ให้เห็นตัวอย่างผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี ตลอดจนการพึ่งพิง เทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องจักร สารเคมีต่างๆ และวิถีชีวิตต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทำให้ชาวนามีปัญหานานัปการ ตั้งแต่ ปัญหาหนี้สิน ผลผลิต การตลาด จนทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ปัญหาอาชญากร ยาเสพติด ว่างงาน หย่าร้าง ตลอดจนความรุนแรงทางสังคม และเนื่องจากสังคมชาวนาเป็นสังคมระดับฐานรากจึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ในการแก้ไขปัญหาของชาวนาเป็นการใช้เงินจำนวนมาก (มูลนิธิขวัญข้าว)

2.  การให้ความสำคัญของภาครัฐ
ชาวนาคือ ผู้ปลูกข้าว อันเป็นอาหารหลักประจำชาติซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล ถือเป็นวัฒนธรรม หรือ เอกลักษณ์ของประเทศไทย เพราะคนไทยทุกคนต้องกินข้าว เจอหน้ากันก็ทักทายกันว่า “กินข้าวหรือยัง” ความสำคัญของข้าว จึงถือเป็นพืชที่มีความสำคัญมากที่สุดทั้งทางเศรษฐกิจและการบริโภคของประชากรทั้งในประเทศโลก กล่าว คือ

1)  มีความสำคัญต่อการบริโภคของประชากร
เนื่องจากประชากรของโลกนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การผลิตอาหารสำหรับการบริโภคนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของประชากรทั้งโลกที่กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และกว่า 60 % ของประชากรในแถบเอเชียที่มีความต้องการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทุกวัน โดยเฉพาะประเทศไทยแล้วนิยมบริโภคข้าวมากกว่าประเทศอื่นๆในโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า ประชากรของโลกบริโภคข้าวเฉลี่ย 118 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ส่วนคนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ย 335 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ต่อไปประชากรของโลกจะมีข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค เพราะการเพิ่มของประชากรปีหนึ่งๆมีมากกว่าการเพิ่มผลผลิตของข้าวในแต่ละปี ซึ่งไม่สมดุลกับการเพิ่มขึ้นของประชากรที่จำเป็นต้องบริโภคข้าวเป็นอาหารในแต่ละวัน ทั้งนี้เนื่องมาจากพื้นที่การผลิตมีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการผลิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้สูงขึ้น

                2)  ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ
เนื่องมาจากความต้องการบริโภคข้าวของประชากรโลกมีสูงขึ้นทุกปี แต่พื้นที่ในการผลิตข้าวกลับมีจำนวนจำกัด ทำให้ข้าวกลายเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและของโลกด้วย กล่าวคือ ถ้าประเทศไทยผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมากก็จะทำให้มีข้าวเหลือเพื่อการส่งออกจำหน่ายทำรายได้เข้าประเทศเป็นอย่างมาก เพราะคนต้องบริโภคข้าวทุกวัน และจำนวนผู้บริโภคข้าวก็เพิ่มจำนวนอยู่เรื่อยๆ สำหรับประเทศกสิกรรมที่ส่งข้าวออกจำหน่ายต่างประเทศนั้น จะสามารถส่งออกข้าวได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณข้าวเหลือพอจากการบริโภคภายในประเทศเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขาดแคลนภายในประเทศ (อาคม กาญจนประโชติ)
 
3.  ปัญหาของชาวนาไทย
ปัญหาของชาวนาไทยมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ตามแนวคิดของ ผศ.พระครูสุนทรธรรมโสภณ (2553) พบว่า กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนา กระแสของความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งมากับคำว่า การพัฒนา (Development) พร้อมกับ ถนน สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ข่าวสารข้อมูล(Information) และสื่อแขนงต่างๆของยุคข่าวสารข้อมูลที่ไร้พรมแดนแล้วส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนปลูกข้าวหรือชาวนา กระแสของความเป็นโลกาภิวัตน์เป็นการสื่อนำเอาความเห็นแก่ตัว ความเอาเปรียบ เป็นกระแสของความอยุติธรรมที่เอาเปรียบกลุ่มเกษตรกรชาวนามากที่สุด โดยเริ่มเห็นที่ชัดเจนมากที่สุด เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2504-2509 ที่เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมาจนถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2550-2554 ที่เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 แม้จะยังไม่สิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ก็ตาม  ยังไม่มีตัวบ่งชี้ใดที่จะส่อแสดงให้เห็นทิศทางที่จะยกฐานะของชาวนาไทยได้ นโยบายที่เน้นการปลูกข้าวเพื่อขาย ข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเดิมมีพื้นที่การปลูกข้าวมากถึงร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ  แต่ปัจจุบันไม่สามารถดำรงตนในอาชีพได้ ยังเหลือทำนาปลูกข้าวเพียงร้อยละ 40 ของประเทศ และที่ซ้ำร้ายที่สุดจำนวนของชาวนาที่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์เป็นของตนเองเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น  เพราะยิ่งทำ ยิ่งยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากขึ้น เกิดจากกระแสโลกภิวัตน์ การพัฒนา (Development) ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิต และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวนา

ปัญหาของชาวนาจึงเป็นปัญหาที่ท้าทายความรู้ความสามารถ ในการเข้ามาจัดการแก้ไข ความทุกข์หรือปัญหาของชาวนา เป็นปัญหาหลักของชาติ  เพราะชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติที่ทำให้ประเทศแข็งแรงมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หากวิถีชีวิตของชาวนาทรุดก็พลอยทำให้ เศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ทรุดตามไปด้วย และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข ปรับหรือขยับให้ดีขึ้น  การที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาก็ยาก เพราะเมื่อฐานไม่ขยับส่วนบนส่วนยอด ก็ไม่มีทางที่ขับเคลื่อนได้  ฉะนั้นชะตากรรมของชาวนา คือ ชะตากรรมของการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน์ ความทันสมัยทุกคนจะสามารถรับรู้ได้โดยพร้อมกันไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับรู้ได้  แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถที่จะเลือกเรียนรู้ได้  แม้การรับรู้จะเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของการเรียนรู้  ประเด็นนี้เองที่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของมนุษย์  ให้มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจหรือเป็นภูมิคุ้มกันทางสติปัญญา  ให้มีความพร้อมในการรับรู้และการเรียนรู้ในยุคโลกาภิวัตน์นี้(คำกล่าวของ ผศ. พระครูสุนทรธรรมโสภณ, 2553) สอดคล้องกับความเห็นต่อการพัฒนา  ของ ปราโมทย์ วานิชานนท์ (เครือข่ายพัฒนาข้าวและชาวนาไทย) กล่าวถึงการพัฒนาชาวนาไทย ให้เป็นคนมีคุณภาพที่รู้ทันคน รู้ทันตลาด และรู้ทันชีวิตด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นั่นหมายถึง การมียุทธศาสตร์การพัฒนา มีงบประมาณเพียงพอ มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาชาวนาจากความเป็นรากหญ้า ไปสู่ความเป็นรากแก้วของประเทศ ทั้งนี้ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาว่า ชาวนาที่มีคุณภาพจะเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ และชาวนาที่มีคุณภาพจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ได้นักการเมืองและรัฐบาลที่มีคุณภาพมาบริหารราชการแผ่นดินให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย
 
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในอดีตการทำนาจะขายได้ราคาแพงกว่าทองคำ เช่นข้าวราคาตันละ 400 บาท ทองคำน้ำหนัก 1 บาท ราคา 350 บาท ข้าวราคาตันละ 600 บาท ทองคำจะบาทละ 400 บาท เป็นต้น จะเห็นได้การทำนาในอดีตพออยู่ได้เมื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่คนและควาย ประกอบกับการเมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยนิ่ง การบริหารนโยบายพรรคการเมืองไม่เคยต่อเนื่อง ไม่เคยเชื่อมโยงกัน เป็นวิกฤตความล้มเหลวของชาวนาในยุคปัจจุบัน พราะรัฐบาลให้ความสำคัญไม่เต็มที่ ชาวนา 3.7 ล้านครอบครัว กว่า 19-20 ล้านคนเป็นการชี้ทิศทางของประเทศไทย เพราะถ้าเกษตรกรเป็นหนี้ประเทศคงพัฒนาได้ยากลำบาก ทางรอดชาวนาไทยนายประสิทธิ์กล่าวสรุปว่าอาชีพเกษตรกรรมไม่ถูกล้มละลายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า ทางรอดมีแต่ต้องดำเนินการให้ถูกวิธี การเมืองมีส่วนสำคัญ นโยบายราชการ และชาวนาต้องร่วมมือ การเมืองทุกวันนี้ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โครงการรับจำนำรัฐขาดทุนปีละ 30,000 ล้านบาท แต่ชาวนาขายข้าวได้ปีละ 200,000 ล้านบาท แต่ไม่เคยถูกพุดถึง การประกันราคาถ้าไม่มีการจัดระบบที่ถูกต้องการประกันจะไม่ได้ผล ต่อไปรัฐบาลที่จะบริหาร ต้องมีการจัดโซนนิ่ง ระบบพันธุ์ข้าวต้องทำมาเลี้ยงชีพ ทำระบบชลประทาน รัฐบาลต้องรีบดำเนินการ เรื่องที่ดินที่เหมาะสม ชาวนาเราไม่มีที่นาของตนเอง ปัจจุบันเป็นนาเช่าสัดส่วน 30 % แต่ต่อไปที่นาของชาวนาจะจะหดหายกลายเป็นนาเช่าเพิ่มขึ้น 70 -75 % ดังนั้นควรจัดโซนนิ่ง ให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่นา 200-300 ไร่ มาจัดระบบให้ถูกต้องถ้าที่ดินน้อย ไม่มีการรวมกลุ่ม ที่ดินจะหายหมด และที่สำคัญการตลาดต้องขายให้ได้ราคา ขอให้รัฐบาลกำหนดแผนนโยบายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการจำนำข้าวและการประกันราคา รัฐบาลควรมองปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง ขณะที่ตัวชาวนาอย่าหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวควรพัฒนาตัวเองให้ทันตลาดด้วย และคำกล่าวของ นายประสิทธิ์ บุญเฉย (นายกสมาคมชาวนาไทย) อยากให้ชาวนาอยู่ดีกินดีในแบบยั่งยืน  และชาวนารักท้องถิ่น  รัฐฯต้องจัดงบประมาณในการพัฒนาชาวนาอย่างเป็นระบบ  ตั้งแต่เรื่องพันธุ์ข้าว เช่น การควบคุมคุณภาพพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ปัญหาข้าวดีดหรือข้าววัชพืช การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ให้มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช และการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่มากที่สุด  ในเรื่องการตลาด ควรใส่ใจดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อให้ความเป็นธรรม เช่นในกระบวนการรับซื้อข้าวของพ่อค้ารับซื้อข้าว หรือโรงสี โดยเฉพาะการตรวจวัดความชื้น และมาตรฐานของตาชั่ง เรื่องการชลประทาน เช่น การขยายคลองชลประทานให้ทั่วถึง การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  เรื่องสวัสดิการชาวนา เช่น มีกองทุนชาวนา มีเงินส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวนารุ่นใหม่ที่จบปริญญาตรี มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นแบบอย่าง เรื่องประกันภัยความเสี่ยง เช่นการประกันรายได้ และการจัดโซนนิ่ง การทำนาให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน เช่นการจัดพื้นที่ในการทำนา และปรับพื้นที่นาเพื่อง่ายต่อการควบคุมน้ำ  ทุกอย่างทำให้ครบระบบ องค์กร  ตั้งงบประมาณให้เพียงพอ  เช่น ปีหนึ่งประมาณ 15,000 ล้านบาท  แล้วพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากดูจากโครงการรับจำนำที่ทำทีหนึ่งก็เกิดการขาดทุนปีหนึ่ง 28,000 ล้านบาท โครงการรับจำนำที่ทำมาหลายๆปี ขาดทุนเป็นแสนๆ  ล้าน แต่การพัฒนาปีละ 15,000 ล้านบาท 5 ปีที่ต้องเสียเงินไปแต่ในอนาคตเราไม่ต้องมีโครงการรับจำนำแล้ว ชาวนาก็พัฒนาขึ้น มีชีวิตดีขึ้น ระบบการตลาดก็ดีขึ้น คุณภาพของข้าวก็ดีขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่ชาวนาอยากเห็น นอกจากนี้ระบบการเมืองที่มีความอ่อนแอ รัฐบาลที่เข้ามาไม่มีความต่อเนื่องที่จะมีการพัฒนาระบบอย่างจริงจัง พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นปัญหาในการพัฒนาเรื่องข้าง

จากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10  ซึ่งยังคงยึดกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมในการดำเนินการในทุกขั้นตอนของแผน ตั้งแต่ร่วมคิดร่วมวางแผน และร่วมดำเนินการพัฒนาตามบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วน อันเป็นการระดมทรัพยากรทั้งจากภาครัฐและนอกภาครัฐและผนึกพลังสังคมจากทุกภาคส่วนให้เป็นเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น สิ่งที่ชาวนารอคอยมานาน และมีความหวังว่าชาวนาจะได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ อยากให้มีสภาเกษตรกร เหมือนภาคอื่นเช่นสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2553

สภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ สภาที่มีสมาชิก และประธานสภาเป็นตัวแทนของเกษตรกรจากทุกจังหวัดในประเทศไทย มีการบริหารและจัดการโดยเกษตรกร ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีดังนี้
1. กำหนดให้จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิก ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดเสนอชื่อสมาชิกจังหวัดละหนึ่งคน และสมาชิก ซึ่งเลือกจากตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมงและด้านเกษตรอื่นๆ รวม 16 คน กระจายสัดส่วนตามกลุ่มอาชีพและสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคัดเลือกจากผู้มีความ รู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม รวม 7 คน ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืชด้านสัตว์ และด้านประมง อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตร ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร จัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสนับสนุนวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น เป็นต้น
3. กำหนดให้มีสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่าสกช.” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
4. กำหนดให้มีสภาเกษตรกรจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์ ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนด จำนวน 16 คน และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม จำนวน 5 คน โดยอย่างน้อยต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืชด้านสัตว์และด้านประมงอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด ให้พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในระดับ จังหวัด ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และยุวเกษตรกรในจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ และรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับราคาและผลผลิตทางเกษตรกรรมกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขึ้น เรียกโดยย่อว่า สกจ.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรกำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดย มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อจัดทำแผนแม่บทแล้วให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาโดยไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดัง กล่าว ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนแม่บท กำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรกให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดไปพลางก่อนให้คณะกรรมการดำเนินการ สรรหาสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการเสนอชื่อสมาชิก
6. สภาเกษตรกรฯ คือตัวแทนของเกษตรกรที่สามารถเสนอนโยบายและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ภาคเกษตรต้องการให้กับภาครัฐทราบได้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นความมุ่งหวังของเกษตรกรไทยที่จะเห็นสถาบันทางการเกษตรพัฒนา ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

4.  เศรษฐกิจของชาวนา
ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจนั้น ชาวนาต้องเพิ่มภาระเงินทุนในการการผลิตแต่ละครั้งอย่างสูงไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยเคมียากำจัดศัตรูพืชเมื่อการพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นปลูกข้าวเพื่อการค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชาวนาเร่งปลูกข้าวให้ได้มากขึ้น มีการเครื่องมือเครื่องจักรสมัยใหม่ ต้องใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี ทำให้ต้นทุนสูง ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็นำไปจำหน่ายทั้งหมด ชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง ซึ่งแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ชาวนาทำนาแล้วขาดทุน มีหนี้สินและยากจนสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวซึ่งเป็นปัจจัยในการดำรงชีพของคนไทยเป็นประจำทุกวันที่ต้องบริโภคอาหารอย่างน้อยโดยเฉลี่ยวันละ 3  มื้อ และในอาหารนั้นจะต้องมีข้าวอยู่ด้วยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารอะไรก็ตาม  รวมไปถึงประชากรโลกส่วนใหญ่ มีการบริโภคอาหารที่มีข้าวผสมอยู่ด้วยทั้งสิ้น  เมื่อชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของประชากรไทย  ที่ทำนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศอยู่ทุกวันได้รับผลกระทบ ในเชิงลบฝนแล้งก็กระทบชาวนา น้ำท่วมก็กระทบกับชาวนา ปีใดหากฝนดีผลิตผลออกมาดี  กลับมีกระทบในด้านราคา  ชาวนาต้องโดนกลุ่มนายทุนเอาเปรียบด้านราคาอีก เพราะบรรดานายทุนส่วนใหญ่ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านเมือง  ชาวนาจึงไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาผลผลิตของตนเอง  ผลิตออกมาเองแต่การกำหนดราคากลับให้คนซื้อเป็นผู้กำหนด โดยระบบต้องเสียเปรียบกลุ่มนายทุนผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันพอชาวนาไปซื้อสินค้าอย่างอื่นมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันบ้าง  ล้วนแต่เขาได้ตั้งราคาไว้เรียบร้อย ชาวนาจึงเป็นกลุ่มผู้ซึ่งเสียเปรียบมาโดยตลอด ชาวนาจึงไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  จึงหลีกไม่พ้นที่จะกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เพราะไปกระทบต่อการเกิด การตายและการย้ายถิ่นของคนส่วนใหญ่ในประเทศ คือกลุ่มชาวนาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายทุนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชาวนา เมื่อชาวนาดำรงตนอยู่ต่อไปไม่ไหว เพราะยิ่งทำนายิ่งยากจน ยิ่งมีหนี้สินมากขึ้น จนต้องจำยอมขายที่นา ไปเสี่ยงดวงในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ  เมื่อคนอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้น ในที่สุดก็เกิดมีชุมชนใหม่ที่เคยเรียกว่า สลัม  หรือใช้คำใหม่เป็นชุมชนแออัด ชุมชนหนาแน่น  แต่ความเป็นจริงก็คือสลัมนั้นเอง เมื่อมีสลัมจะมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ปัญหาแรงงาน ปัญหาด้านยาเสพติด ลักขโมย ปล้นจี้ อาชญากรรม คนเร่ร่อน นอนตามใต้สะพานที่เห็นกันดาษดื่นทั่วกรุงเทพฯอยู่ทุกวันนี้  สาเหตุหลักมาจากกลุ่มชาวนาโดนเอาเปรียบมาชั่วกาลนาน (ผศ. พระครูสุนทรธรรมโสภณ. 2553)

ตัวอย่างงานวิจัยต่างประเทศกับเศรษฐกิจชาวนา วิเคราะห์จากประสบการณ์การพัฒนา ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ได้เห็นความยุ่งยากในการนำโครงการพัฒนาชุมชนเชื่อมเข้ากับแผนงานของชาติที่ยังไม่ชัดเจน กลับกระจายไปคนละทิศคนละทาง โครงการพัฒนาพัฒนาของรัฐบาลจำนวนมากล้มเหลวและมีปัญหา มีหลักฐานแสดงแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีการพัฒนาที่ต่างฝ่ายต่างอวดอ้างว่าดี เมื่อได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานกลับกลายเป็นความกังวลใจเสียอีก ทำให้รู้ว่าทุกวันนี้ชาวนารายย่อยตกอยู่ในสภาพเลวร้ายกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ
จึงเห็นได้ว่า ทฤษฎีก็ดี แนวคิดก็ดี และนโยบายที่สร้างจากกรอบคิดใดๆ ที่นำไปสู่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรมแก่ประชากรเป้าหมายนั้นหายากเต็มที ในทางตรงข้ามเรามักพบกับทฤษฎีและนโยบายที่สร้างความผิดหวังให้แก่ประชาชนอย่างดาษดื่น แม้ว่าทฤษฎีและแนวความคิดการพัฒนาดังกล่าวจะมีข้อบกพร่องก็ตาม หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามประดิษฐ์คิดค้นและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการเน้นความร่ำรวยแก่ประชาชาติ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนก็อุบัติเหตุขึ้น สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก เพื่อไปทำงานในแหล่งที่มีงานทำ (Polanyi, 1944) รวมถึงสถานการณ์ปัญหาที่ไม่น่าเกิดขึ้น กล่าวคือความร่ำรวยของประชาชาติกับความยากจนของประชาชนเกิดขึ้นในสังคมในเวลาเดียวกัน จึงได้มีการเรียกร้องให้นำทฤษฎีเศรษฐศาตร์การเมืองในสมัยนั้นมาพิจารณาว่า เหตุการณ์อันผกผันเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ปัญหากันอย่างไรเชื่อว่า สถานการณ์การพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบัน กำลังผลักดันตัวเองสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่แล้วกลับต้องเผชิญปัญหาความยากจนของชาวนาอย่างไม่น่าเป็นไปได้ จึงมีความเห็นว่าการปรับปรุงแนวความคิดเศรษฐศาตร์การเมืองของประเทศที่มีชาวนาเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศในขณะนั้นจะดีกว่าการที่จะหยิบฉวยแนวคิดของประเทศอื่นมาใช้ จะช่วยให้เข้าใจจังหวะก้าวเดินของประเทศ ซึ่งตามด้วยมาตรการที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศที่ได้กำหนดไว้

การด้อยพัฒนานั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม นักวิชาการมองว่า สังคมชาวนามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็เพราะยังคงให้ความสำคัญกับการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมชนิดที่ย่ำอยู่กับที่ กล่าวคือไม่ใช่วัฒนธรรมที่มุ่งสัมฤทธิผลในหน้าที่การงานและการพัฒนา ชาวนาขาดความกระตือรือร้นไม่ยอมรับข้อแนะนำหรือนวัตกรรมทางการเกษตร ก็เพราะเขาเองมองไม่เห็นว่า เมื่อรับไปแล้วจะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจขึ้นมา หรือไม่ก็อาจถูกเพื่อนบ้านปรักปรำในทางที่ไม่ดี ที่ผลีผลามที่ไปรับเอาอะไรมาโดยไม่ปรึกษากันก่อนทำนองนั้น ดังนั้นความแตกต่างระหว่างสังคมด้อยพัฒนากับสังคมพัฒนาแล้วอยู่ที่มิติทางวัฒนธรรม โดยฝ่ายแรกยึดถือวัฒนธรรมประเพณีนิยมส่วนฝ่ายหลังยึดถือแบบสมัยใหม่

แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เน้นหนักที่การถอนรากถอนโคนขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมที่ฝังรากลึก อาจใช้วิธีการทำลายอำนาจในชุมชนที่เป็นตัวขัดขวาง คอยแทรกแซงชาวบ้าน ไม่ให้ชาวบ้านยอมรับสิ่งแปลกๆ ใหม่หรือให้การศึกษาแก่พวกเขา  เพื่อให้เขาเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้นวัตกรรมด้วยตัวของเขาเอง รวมทั้งวิธีการแผนใหม่ในการทำมาหากินมาหลายชั่วอายุคนแล้วหรือโดยการกระตุ้นให้พวกเขาเห็นคุณค่า “ความต้องการสัมฤทธิผล” ทีละน้อย

นักวิชาการในสังคมตะวันตกสมัยนั้น มีความเห็นตรงกันว่าชาวนามีความคิดที่ไม่เหมือนกับคนในประเทศอุตสาหกรรม จากหลักฐาน วรรณกรรมในรูปสิ่งพิมพ์ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา จะพบรายชื่อหนังสือและบทความจำนวนมากสรุปตรงกัน ตัวอย่างหนังสือของ แม็กคลีแลนด์ (McClelland, 1961) โฮสลิซ (Hoselitz, 1960) และแบนฟีลด์ (Banfield, 1958) ถ้าโยงแนวความคิดนี้ไปยังเรดฟิลด์ก็จะพบความจริงที่เหมือนกัน คือการสรุปอย่างง่ายๆ ว่าที่ชาวนาผูกพันกับประเพณีนิยมก็เพราะว่าความคิดของเขาเป็นเช่นนั้น       

ส่วนข้อวิพากษ์ของ แอนเดอร์ กุนเดอร์ แฟรงค์ ในบทความชื่อ “สังคมวิทยาของการพัฒนาและการด้อยพัฒนาของวิชาสังคมวิทยา” (1967) ได้วิพากษ์ทฤษฎีการพัฒนาทั้งหลายที่ให้ความสนใจปัญหาการด้อยพัฒนาเพราะมิติทางวัฒนธรรมเป็นเหตุ ที่ทำให้ชาวนาถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวโบราณและจมปลักอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีนิยม ก็เพราะเขาเป็นผู้ที่ถูกเอาเปรียบเช่นนั้นมาโดยตลอด เพื่อที่จะแก้ปัญหาไม่ให้คนภายนอกมารังควาน เขาจึงต้องร่วมใจกันปิดชุมชน ด้วยการไม่ยอมรับข้อเสนอหรือข้อแนะนำที่แฝงมาในรูปของความหวังดีและเอื้ออาทรต่อพวกเขา และนี่คือ พฤติกรรมอันสมเหตุสมผลของชาวนา
การจะเข้าใจชาวนาได้โดยผ่านการวิจัยที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของชาวนาโดยตรง รวมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชาวนากับชุมชนชาวนาและรัฐ วิธีคิดของปัญญาชนนักวิชาการ 2 คนมาเสนอ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกันในการสร้างทฤษฎี คนแรกเป็นนักเศรษฐศาสตร์เกษตร ชาวรัสเซีย ชื่อว่า ชายานอฟ (A.V. Chayanov) ผลงานของเขาชื่อทฤษฎีเศรษฐกิจของชาวนา (Theory of Peasant Economy) เป็นผลจากการวิจัยและการเขียนในภาษารัสเซีย ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 จนใน ค.ศ. 1966 ภาษาอังกฤษทำให้นักวิชาการในโลกตะวันตก ประทับใจในการสังเคราะห์ข้อมูลภาคสนามจนกลายเป็นรูปเศรษฐศาสตร์การเมือง งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการทำมาหากินของครอบครัวชาวนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อนำประสานกับแนวคิดหลักของชายานอฟ ทำให้เห็นภาพรวมของชาวนา ครอบครัว และชุมชนของชาวนาอย่างชัดเจน งานของชายานอฟจึงกระตุ้นให้ต้องทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องชาวนา

ในการพัฒนากรอบคิดเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์นั้นชายานอฟเสนอว่า สังคมชาวนาเป็นระบบสังคม-เศรษฐกิจลักษณะหนึ่ง ซึ่งต่างจากระบบศักดินา ทุนนิยมและสังคมนิยม อีกทั้งยังเสนอว่าชาวนาเป็นผู้มีเหตุผล โดยเมื่อพิจารณาเป็นระบบแล้วพฤติกรรมของเขามีอยู่ 2 บทบาท คือ บทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัวและบทบาทของผู้ประกอบการ เขาตั้งสมมติฐานหลายข้อและใช้สติของรัฐที่เขารวบรวมมาเป็นเครื่องพิสูจน์สมมติฐาน การทำงานในลักษณะนี้ถือเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องพฤติกรรม เศรษฐกิจชาวนาอย่างเป็นระบบ
เศรษฐกิจชาวนาส่วนใหญ่เร็วต่อการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของท้องถิ่น ดังนั้นความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือกระทั่งระบบนิเวศในพื้นที่ให้เป็นไปตามกำหนดไว้โดยไม่ได้ทำการวิเคราะห์วิธีการทำมาหากินและการปรับตัวของชาวนาให้ถ่องแท้เสียก่อน อาจเป็นอันตรายต่อชาวนาและระบบการทำกินของเขาเอง
การยอมรับความจริงว่า ในพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนไม่น้อยที่ชาวนาพยายามปรับวิธีการทำกิน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการใช้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติต่ำกว่าที่ควรเป็น หรือเป็นการทำให้ระบบนิเวศเสียหายลง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า การปรับตัวของชาวนานั้นไม่ได้ฝืนหรือทำลายวัฏจักรของระบบนิเวศวิทยาท้องถิ่นแต่อย่างใด

คุณค่างานของวูล์ฟและโกดีเลีย เห็นว่าชาวนามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับชุมชนใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งก็คือกับรัฐนั่นเอง การวิเคราะห์ของวูล์ฟ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวนากับรัฐ วูล์ฟชี้ให้เห็นอีกว่า ชาวนาไม่มีทางที่จะหลุดไปจากวงจรความสัมพันธ์กับสังคมใหญ่นี้ไปได้ แม้ว่าสังคมส่วนใหญ่ได้อาหารและแรงงานจากชาวนา เช่น การเกณฑ์แรงงานชาวนาในการสร้างถนน ขุดลอกลำคลอง สร้างอ่างเก็บน้ำและงานโยธาสาธารณะอย่างอื่นๆ ที่รัฐต้องทำโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด รวมถึงการเกณฑ์คนวัยฉกรรจ์ไปเป็นทหาร แต่ชาวนาก็ได้บริการจากรัฐ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ การป้องกันอาณาเขต การทำมาหากินและการรับรองสิทธิอื่นๆ อย่างเป็นทางการ ดังนั้นการศึกษาที่แยกสังคมชาวนาออกจากสังคมอื่นถือว่าขัดกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ทัศนะในการมองความสัมพันธ์เรื่องเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวนี้ ปรากฏในงานของวูล์ฟ, โกดีเลีย,แฟรงค์และบาเรน ตามที่กล่าวมาแล้ว

พฤติกรรมของชาวนามีความสัมพันธ์กับบริบททางนิเวศวิทยา สังคม และการเมืองที่แวดล้อมสังคมชาวนา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อม ย่อมจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของชาวนาไม่มากก็น้อย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร (Boserup, 1965) ด้านนิเวศวิทยา (Slicher von Bath, 1963) ด้านโครงสร้างสังคม (Caro Baroja, 1959 & Franklin, 1969) และในระบบการเมือง (Wylie & Tilly, 1964) ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทการทำกินของชาวนา และสุดท้ายปัจจัยสำคัญนี้ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมใหม่ของเขาและองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ พฤติกรรมของชาวนาเกิดการเปลี่ยนแปลงก็เพราะชาวนาเองต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายนอกที่บีบบังคับเขา

ส่วนวรรณกรรมเชิงพัฒนา ช่วยให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจชาวนาและกระบวนการพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งคงสอดคล้องกับความต้องการของนักทฤษฎีและนักพัฒนา การนำรูปแบบมากล่าวถึงความสามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง ถือเป็นการกล่าวอย่างเจาะจง ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องชาวนา-รัฐจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 อย่าง คือ เข้าใจความสัมพันธ์เชิงระบบทั้งในวงกว้างและเฉพาะกรณี เน้นโครงสร้าง 3 ระดับสนับสนุนประเด็น 3 ประเด็น กล่าวคือ 1.พื้นที่การทำมาหากินของครอบครัวชาวนา 2.ชุมชนท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยชาวนาและไม่ใช่ชาวนา 3.รัฐซึ่งประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในอาณัติการปกครองรัฐ และรัฐเองได้รับคำแนะนำจากปัญญาชนที่อยู่ในส่วนกลางที่มีอำนาจ หน้าที่ สถานะ ความร่ำรวย และการศึกษา (อำนาจทางการเมืองของรัฐ Llichman & Uphoff, 1969

ในโครงสร้างที่ 1: พื้นที่ทำกินของครอบครัวชาวนา งานของชายานอฟกับแฟรงคลิน และกรณีศึกษาที่ปรากฏในวรรณกรรมมานุษยวิทยาจำนวนมากเป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาคำตอบในคำถามดังกล่าวว่า ชาวนาแสดงความสนใจ ความพยายาม และทำการเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุอุปกรณ์และบริการอย่างไรพร้อมๆ กันนั้น 

ในโครงสร้างที่ 2: โครงสร้างชุมชนท้องถิ่น โดยทั่วไปชุมชนจะเป็นระบบเปิด คือ เปิดกว้างทุกทิศให้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสติดต่อกันเองภายในชุมชนและติดต่อกับโลกภายนอก ในรูปของการสื่อสาร การค้าขาย การเยี่ยมเยียน การคมนาคม และการขนส่ง เป็นต้น ชุมชนประกอบด้วยกลุ่มพิ้นบ้านหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยชาวนาและผู้มีอาชีพนอกเกษตรกรรม ดังได้กล่าวไปแล้ว (อาจเทียบชุมชนท้องถิ่นกับตำบล-ตำบลประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน หมู่บ้านละหลายกลุ่ม (คุ้ม) พื้นบ้าน-ผู้แปล) ชุมชนมีหน้าที่หลักในการดูแลทุกข์-สุขของลูกบ้าน การประกอบอาชีพ การศึกษา การอนามัย ความสงบเรียบร้อย และอีกประการหนึ่งคือการตอบสนองต่อรัฐตามที่มีกำหนดไว้ ชุมชนไม่ได้มีอำนาจและหน้าที่เต็มรูปแบบทีเดียว หากแต่อยู่ในระดับดีกรี บางชุมชนปกครองกลุ่มพื้นบ้านและตอบสนองอำนาจรัฐได้เต็มที่ แต่บางชุมชนสามารถทำได้เพียงบางส่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความเข้มแข็งของรัฐกับกลุ่มพื้นบ้าน ที่น่าสนใจก็คือตัวแทนของรัฐในชุมชน เรามักพบว่าคนในชุมชนนั้นเองที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์และความต้องการของรัฐ แต่การตอบสนองรัฐมาหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการปกครองของเขา เช่น ผู้นำชุมชน 

ในโครงสร้างที่ 3: รัฐเมื่อรวมโครงสร้างทั้ง 3 ระดับเข้าด้วยกัน จะเห็นภาพของกลุ่มพื้นบ้าน ชุมชนท้องถิ่น และรัฐมีความสัมพันธ์ต่อกัน กลุ่มพื้นบ้านนี้พยายามรักษาอำนาจการดูแลตนเองไว้ ขณะเดียวกันก็ปกป้องผลผลิตของครอบครัวต้องตกเป็นของฝ่ายอื่น ชุมชนท้องถิ่นพยายามเอื้ออำนวยและร่วมมือกับกลุ่มพื้นบ้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนไว้ วัตถุสิ่งของและบริการที่ชุมชนได้จากโลกภายนอกให้แก่กลุ่มพื้นบ้านโดยผ่านกลไกการบริหารท้องถิ่นก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งขององค์กรระดับนี้ เพื่อป้องกันการขัดแย้งกับรัฐ ชุมชนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมภาษีรูปแบบต่างๆและกำลังให้แก่รัฐตามที่ตกลงกัน รัฐ ความพยายามของรัฐก็คือการรวบรวมผลผลิตส่วนเกินที่รัฐพึงเรียกเก็บได้ สงวนอำนาจไว้ในมือให้มากที่สุด พร้อมนั้นจะพยายามจัดส่งวัตถุ สิ่งของ และบริการไปให้ระดับล่าง เพื่อเป็นการตอบแทนกับสิ่งที่ได้มาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความสัมพันธ์ของ 3 ระดับดังกล่าวถือเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ราบรื่นนักก็ตาม ดังนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นและกระทบต่อปรกติสุขของฝ่ายหนึ่ง มีผลทำให้อีก 2 ฝ่ายที่เหลือถูกกระทบตามไปด้วย ลักษณะของการเปลี่ยนแปลง เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดินเสื่อมลง ซึ่งการเกษตรลดลง สงครามระหว่างประเทศ ภายในประเทศ ความแห้งแล้ง การค้าแนวใหม่ และการผลัดเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างกลุ่มต่างในสังคม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เหตุปัจจัยด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ องค์กรสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์อันถือเป็นสถานการณ์ภายนอกเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน และในทางกลับกันตั้งแต่ระดับบนสู่ระดับล่าง

ความหมายในประเด็นการพัฒนาชนบทและการวิจัย ในสังคมชาวนา มักพบความจริงเชิงประจักษ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในอดีตและอนาคตที่พอจะหยั่งรู้ได้ เห็นได้ว่าเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวนา-รัฐนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากแต่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ ทัศนะเช่นนี้มีความหมายต่อทฤษฎีการพัฒนาและแนวทางการปฏิบัติเชิงการพัฒนาเป็นอย่างมาก
การมองปัญหาของชาวนา เห็นได้ว่าชาวนาเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจในการแก้ปัญหา โดยปัญหาที่เขาต้องเผชิญ เช่น ภูมิประเทศของพื้นที่ทำกินว่าพื้นที่นั้นสูงหรือราบลุ่ม ใกล้แหล่งน้ำหรือเป็นโคกดอน สภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร ฯลฯ จากนั้นเขายังต้องเผชิญกับเทคโนโลยีการผลิตที่ครอบครัวใช้อยู่และปัญหาข้อจำกัดของแรงงานพร้อมๆกัน เงื่อนไขที่กล่าวมานี้ ตัวชาวนาเองในฐานะนักยุทธศาสตร์การผลิตต้องคำนึงว่า ในสภาพสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ที่มีอยู่จะทำอย่างไรจึงจะได้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูงสุด และถ้าหากเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงขึ้นมา เช่น สถานการณ์การผลิตอยู่ในสภาพเลวร้าย ทำอย่างไรจึงจะได้ผลผลิตที่ไม่ต่ำกว่าปริมาณที่เพียงพอต่อปากท้องของสมาชิกทั้งหมดของครอบครัวในรอบปี มีเหตุปัจจัยอะไรที่นำไปสู่การปรับตัวได้ไม่ดี จนก่อให้เกิดปัญหา ความเสี่ยง โดยเป็นความเสี่ยงที่มองเห็นหรือรู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือเป็นความเสี่ยงที่นักวิจัยเป็นผู้รู้เอง 

จะเห็นได้ว่าการประกอบการทำมาหากินของชาวนานั้น คงประสบความสำเร็จและมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยาของท้องถิ่น หลักการที่ควรถือก็คือพฤติกรรมของผู้ประกอบการจะเกิดภายหลังจากที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จึงค่อยคิดอ่านเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ระบบนิเวศวิทยาในพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวนา การตัดสินใจโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างน้อยที่สุด ก็คือปัญหาการขาดแคลนอาหารของชาวนา ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนปัญหาระยะยาว เช่น ความแห้งแล้งหรือการพังทลายของดินที่เพาะปลูก อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี  โดยในรอบปีหนึ่งๆ ชาวนามักจะต้องเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงและผลจากการตัดสินใจทำการอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่หลายๆ เรื่อง

ที่กล่าวมานั้นส่วนมากเป็นปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหาระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องระวังไว้ เพราะการศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวในระยะยาวแทบจะไม่ได้ทำ ดังนั้นเจ้าหน้าที่พัฒนาอาจร่วมมือกับนักวิจัยระบบนิเวศวิทยาศึกษาอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นการล่วงหน้า เพื่อรู้แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่ และความสามารถในการปรับตัวของชาวนาในแนวโน้มนั้น การศึกษาควรช่วยให้รู้ว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ชาวนาปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี หรือในทางกลับกันมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ชาวนาต้องเผชิญปัญหาอันยิ่งยวดในอนาคต

ระดับชุมชนท้องถิ่น ในระดับนี้ปัญหาการปรับตัวของชุมชนเข้ากับระบบนิเวศวิทยาแตกต่างจากระดับกลุ่มพื้นบ้าน ในการนี้ถือว่า ชุมชนท้องถิ่นทั้งชุมชนเป็นหน่อยของการปรับตัวด้านนิเวศวิทยา ดังนั้น จะต้องพิจารณากลไกทางสังคมของทั้งชุมชนในการแก้ปัญหาระบบนิเวศที่เกิดขึ้น กล่าวคือชุมชนกระจายปัญหาความเสี่ยงไปสู่กลุ่มพื้นบ้านกลุ่มใดบ้าง หรือระดับชนชั้นสังคมใดบ้าง ทั้งนี้อาจดูที่กลไกการเกาะเกี่ยวระหว่างกลุ่มพื้นบ้านหรือกลุ่มเครือญาติ ตัวอย่างของเรื่องนี้อาจหาอ่านได้จากงานวิจัยของ ทอมัส (Thomas, 1972) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของซาห์ลิน (Sahlin, 1972) ที่เสนอให้เห็นภาพว่า การแบ่งอาหารนั้น กระจายตัวอย่างทั่วถึงในชุมชนอย่างไร          
      
ระดับรัฐ หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่รัฐจะละเลยไม่ได้ก็คือ การเก็บและรวบรวมทรัพยากรหลายๆอย่างจากประชากรที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในรัฐ โดยการประกอบอาชีพนั้นอาจเป็นเกษตรกรรมหรือนอกเกษตรกรรม ทั้งที่อยู่ในภาคชนบทและภาคเมือง การทำหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมาย มีอำนาจการปกครองเหนือชุมชนทั้งหลาย ซึ่งแต่ละชุมชนย่อมอยู่ภายใต้ระบบนิเวศวิทยา ทัศนะนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐดำรงสภาวะเป็นระบบนิเวศเหนือระดับชุมชน และเมื่อรวบรวมผลผลิตได้แล้วก็ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายผลผลิตจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ในรูปของการช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดถึง หรือภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นทุกๆปี หรือกระทั่งการขายผลผลิตในราคาต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยการเคลื่อนย้ายนั้นต้องอาศัยกลไกของรัฐที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ

เมอร์รา (Murra) ได้เสนอไว้ในการวิเคราะห์ความเป็นระบบของอาณาจักรอินคาว่า ตัวอาณาจักรเองต้องมีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมพื้นที่เพาะปลูก ทั้งที่อยู่ใกล้และไกลตัวเมือง ทั้งที่อยู่บนพื้นที่สูงและพื้นที่ต่ำ ซึ่งอาจมีระบบนิเวศวิทยาที่ไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นจริงเมื่อรัฐมีอำนาจและหน้าที่ในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และนิเวศวิทยาเหนือชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น ปัญหายากๆ ที่รัฐกำลังเผชิญอยู่ก็มีทางแก้ไขได้ ดังเช่นปัญหาเขตแดนของรัฐ ปัญหาการเกณฑ์แรงงานเพื่อสร้างและซ่อมถนน อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนขนาดเล็ก และปัญหาการกระจายผลผลิต ฯลฯ (Murra, 1960, Thompson & Murra, 1966)

อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมย่อมช่วยให้ชาวนารู้ว่า จะต้องทำอย่างไร เพื่อการผลิตของเขาจะได้บรรลุผล โดยการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศนั้น
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีดำรงอยู่ควบคู่กับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางของรัฐ ปัญหานานาประการที่เกิดขึ้น เช่น วิกฤตการณ์ภายในประเทศ สงครามระหว่างประเทศ การพังทลายของอำนาจศูนย์กลาง และกระทั่งการคืนตัวจากสภาพอำนาจที่ไม่มีเอกภาพสู่สภาพการรวมศูนย์อำนาจ เมื่อพิจารณาความจริงแล้วพบว่าสังคมของรัฐใหญ่เหล่านั้น ดำรงอยู่ได้ก็เพราะฐานการผลิตขอชาวนาไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากความรุนแรง ชาวนาจึงควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากร ถ้าประชากรอดอยากแล้ว ไม่ว่าปัญญาชนหรือกองกำลังของรัฐจะเข้มแข็งเพียงใด รัฐก็คงไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

กล่าวได้ว่าในอดีตนั้น รัฐเหล่านี้สามารถผ่านวิกฤตการณ์อันยุ่งยากนี้มาได้ ก็เพราะรัฐต้องอยู่บนฐานเกษตรกรรมของชาวนา ในช่วงเวลาที่รัฐบริหารแบบรวมศูนย์กลางอำนาจการเมืองที่ส่วนกลาง เศรษฐกิจชาวนานี่แหละที่คอยพยุงสถานภาพของรัฐเอาไว้ และเมื่อศูนย์อำนาจล่มสลาย ชาวนาไม่เคยเดือดร้อน เพราะสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ จนกระทั่งการช่วงชิงอำนาจสู่ศูนย์กลางกลับคืนมาแล้ว ดังนั้น ชาวนาทั้งมวลคือสถาบันที่สมบูรณ์แบบในบทบาทและหน้าที่ ไม่ว่าจะยามปกติหรือยามวิกฤต เขาคงทำงานป้อนผลผลิตส่วนเกินด้านการเกษตรแก่รัฐ เป็นกำลังทหารแก่กองทัพ แต่ได้รับบริการตอบแทนจากรัฐเพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว ถ้าจะเข้าใจการเมืองในยุโรปตะวันตก ช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 19 อย่างถ่องแท้ จะต้องทำความเข้าใจบทบาทเศรษฐกิจของชาวนาก่อนเป็นอันดับแรก

วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของรัฐจากชาวนา-รัฐไปสู่รัฐอุตสาหกรรมในยุโรป โดยหลักการแล้วจะนำมาซึ่งการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ และระดับผลผลิตภาคเกษตรกรรมให้สูงขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวโดยสรุป ในยุโรปสมัยก่อนกลุ่มชาวนาเป็นแหล่งสำคัญที่พยุงความมั่นคงทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจแก่รัฐ อีกทั้งเป็นเหมือนหลักประกันความเสี่ยง เมื่อรัฐส่วนกลางต้องเผชิญกับกบฏและการก่อไม่สงบในประเทศ ทฤษฎีการพัฒนาที่มีการกล่าวอ้างอยู่เนืองๆ เป็นเหตุกล่าวคือ นักพัฒนาชนบทที่ได้ศึกษาทฤษฎีและลงความเห็นว่า เกษตรกรรมแบบชาวนาเป็นตัวปัญหา ก่อให้เกิดปัญหาด้อยพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนา เปลี่ยนรูปการผลิตแบบดั้งเดิมของชาวนาไปสู่แบบเกษตรกรรมเชิงการค้า ที่ต้องอาศัยกลไกการตลาดเพื่อจัดการกระบวนการผลิต จำหน่าย และการบริโภคผลผลิต ในการนี้ นักพัฒนาต้องพยายามกระตุ้นให้ชาวนาใช้เครดิตการผลิตเพื่อนำไปซื้อปัจจัย เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ และเครื่องมือการเกษตรแผนใหม่ พร้อมนั้นต้องส่งเสริมให้พวกเขาผลิตพืชที่ขายได้เงินสด เพื่อนำไปใช้จ่ายทันทีที่ต้องการ เศรษฐกิจที่จะใช้สนับสนุนการผลิตของชาวนาและความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐ ชาวนาที่เข้าร่วมกับรัฐ รัฐจะต้องตระเตรียมงบประมาณเพื่อทำให้ระบบการตลาดทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องออกกฎระเบียบเพื่อเก็บภาษีและรายได้เข้าคลังให้มากขึ้น ต้องรวบรวมอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของประชากรนอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งต้องพัฒนาระบบการกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมด้วย ต้องเตรียมกฎหมายที่จำเป็นเพื่อการนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติ ทั้งต้องส่งเสริมด้านการศึกษา การขนส่ง และบริการของรัฐอีกมาก โครงสร้างการบริหารที่เน้นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างประชากรชนบทในภาคเกษตรกรรม นอกภาคเกษตรกรรม และภาคเมืองส่วนกลางต้องเข้มแข็ง เศรษฐกิจชาวนาจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นแกนสำคัญที่ทำให้ประเทศเข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นตัวถ่วงความเจริญ บ่อเกิดแห่งความมั่นคงทางการเมืองก็เกิดขึ้น ปัญหาผลผลิตตกต่ำ ประชากรเพิ่มขึ้น การจัดรูปองค์การตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนผู้ศึกษา สรุปได้ว่าวิถีชีวิตของชาวนาได้เปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิมแบบเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เรียนรู้ธรรมชาติ ใช้ประสบการณ์วิถีการผลิตที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เมื่อโลกเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน การพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงมีการปฏิวัติเขียวเกิดขึ้น วิถีการผลิตชาวนา ค่านิยมชาวนาเปลี่ยนไป กลายเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องจักร สารเคมีต่างๆ ที่ต้องใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ชีวิตต้องรีบเร่ง ต้องดิ้นรน ทำให้กลายเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ เคยใช้แรงงานช่วยเหลือ กลายเป็นแรงงานค่าจ้าง วิถีชีวิตชาวนาจึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ  และที่ผ่านมายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวนายังไม่ได้ทำให้ปัญหาของชาวนาผ่อนคลายไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น