หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก



จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

วิวัฒนาการด้านจริยธรรมของตะวันตกมีพื้นฐานความเป็นมา และกระบวนการต่อเนื่อง คำว่า จริยธรรมมิได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีจุดกำเนิดจากปรัชญาพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งการทำความเข้าใจในวิวัฒนาการด้านจริยธรรมตะวันตกจะทำให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของจริยธรรม ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมืองที่สำคัญของตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในช่วงต่อมา ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 

โสเกรตีส ได้สร้างหลักการสำคัญเกี่ยวกับคุณธรรม หรือจริยธรรม คือ ความรู้ คุณธรรม เป็นสิ่งที่อาจแสวงหาค้นพบได้ และคุณธรรมเป็นสิ่งที่อาจสอนและเรียนรู้ได้ คุณธรรมทางสังคมที่สูงสุด คือ ความยุติธรรม ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมือง คือ คุณธรรม และรัฐที่ดีที่สุด คือ รัฐที่มีการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือรัฐผสม (Mixed Regime) โสเกรตีส เชื่อว่า เมื่อราชากลายเป็นปรัชญาเมธี หรือเมื่อปรัชญาเมธีกลายเป็นราชาเท่านั้น รัฐที่ดีที่สุดจึงจะเกิดขึ้นได้ 

เพลโต มีแนวความคิดหลักด้านจริธรรมว่า ผู้ปกครองหมายถึงนักปราชญ์ (Philosopher King) หรือผู้ทรงคุณธรรมควรเป็นผู้ปกครอง และเมื่อความรู้ คือคุณธรรม จึงจำเป็นต้องแสวงหาและฝึกฝนอบรมคนที่รู้ได้ดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างผู้ปกครองที่เป็นธรรม เพลโตแบ่งประเภทของคุณธรรมออกเป็น 4 ประเภท คือ ปรีชาญาณ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม 

อริสโตเติล ปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลมุ่งที่จริยธรรมเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อวางมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติและข้อวัตรทางศีลธรรมจรรยา อันหมายถึง กฎหมาย ซึ่งแจกแจงออกเป็นแบบแผนทางสังคม และระบอบการปกครอง รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่ราษฎรจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งหมดเรียกว่า “รัฐธรรมนูญคุณธรรมหลักตามแนวคิดของอริสโตเติล มี 4 ประการ คือ
ความรอบคอบ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม

จากแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดจริยธรรมตะวันตกในช่วงต่อมาอย่างมาก โดยสามารถจำแนกวิวัฒนาการของแนวคิดทางปรัชญาทางด้านจริยธรรมตะวันตกได้เป็น 4 ยุค คือ 

Ancient Greek Philosophy: ปรัชญากรีกโบราณ
กรีกสมัยโบราณอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล (ใกล้เคียงพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเกิดก่อนศักราชประมาณ 543 ปี) ลักษณะแนวคิดของกรีกโบราณในช่วงเริ่มแรกมีลักษณะเป็นอภิปรัชญา ซึ่งเป็นการคิดแบบปรัชญา-วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ นักคิดที่มีอิทธิพลในช่วงแรกๆ คือ Thales โดยการตั้งคำถามว่า อะไร คือ ปฐมธาตุของจักรวาล (What is the First Element?) จักรวาล (Universe) เกิดจากอะไร โดยเชื่อว่าธรรมชาติจะต้องมีกฎเกณฑ์แน่นอน นักคิดในช่วงแรกๆ เกิดความสงสัยในธรรมชาติ พยายามหาหลักเกณฑ์เพื่อนำมาอธิบายกฎของธรรมชาติ โดยการใช้วิธีการโต้แย้ง เพื่อช่วยกันค้นหาความจริง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาอภิปรัชญา ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มนักปราชญ์ที่เรียกตัวเองว่า "โซฟิสต์" ซึ่งไม่สนใจปัญหาของ Thales ที่ว่า "โลกเกิดจากอะไร หรือสรรพสิ่งเกิดจากอะไร" แต่กลุ่มโซฟิสต์กลับตั้งปัญหาขึ้นว่า "ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร?" (What is Good Life) "เราควรดำรงอยู่อย่างไรจึงจะมีความสุข" (How should Man Live) จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มแรกที่เริ่มตั้งปัญหาทางจริยศาสตร์ คือ กลุ่มโซฟิสต์ พร้อมทั้งประกาศแนวความคิดของกลุ่มตัวเองอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกิดนักคิดอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพวกโซฟิสต์ คือ 

โสเครติส เพลโต้ และอริสโตเติล โดยได้ประกาศคำโต้แย้งกับกลุ่มโซฟิสต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาโต้แย้งทางจริยศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยตรงเป็นครั้งแรกและเป็นประเด็นสำคัญของกรีกโบราณ โดยการโต้แย้งว่า ควรมีการแสวงหาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรคือความสุขที่แท้จริงของชีวิต? ความยุติธรรมคืออะไร เราจะแสวงหาความสุขในชีวิตได้อย่างไร? แนวคิดดังกล่าวเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์ที่ถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวได้ลดความสำคัญลงเมื่ออริสโตเติลตายและอาณาจักรกรีกล่มสลาย ทำให้กรีกตกอยู่ใต้อิทธิพลของโรมัน ซึ่งแม้โรมันจะเปิดโอกาสให้ตั้งสำนักปรัชญาอย่างมากมาย แต่ทุกสำนักทุกศาสนาต้องมีความเคารพนับถือจักรพรรดิ์โรมันเสมือนเคารพต่อเทพเจ้า เพราะฉะนั้นทุกศาสนาจึงแบ่งแยกชาวกรีกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดต่างกันออกไป จึงเป็นเหตุให้เกิดสำนักจริยศาสตร์มากมายในภายหลังจากที่อริสโตเติลตายไปแล้ว ซึ่งสำนักที่มีชื่อเสียง คือ Epicureanism และ Stoicism ซึ่งเป็นสำนักที่มีคำสอนทางปรัชญาคล้ายพระพุทธศาสนามาก

Medieval Philosophy: ปรัชญาสมัยกลาง หรือยุคบุพกาล (1-15 A.D./ระหว่างคริสตศตวรรษที่ 1-15)
แม้ว่ายุคปรัชญาสมัยกลางถือว่าเป็นยุคทองของศาสนาคริสต์ แต่หลักปรัชญาคำสอนของนักปรัชญาชาวกรีกยังคงมีอิทธิอยู่มาก ดังนั้น นักปรัชญาชาวคริสเตียนจึงพยายามรวบรวมและพิสูจน์คำสอนให้ประชาชนเห็นว่า คำสอนหรือความเชื่อของศาสนาคริสต์กับปรัชญากรีกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยการบูรณาการปรัชญากรีกเข้ากับคำสอนของศาสนาคริสต์ในประเด็นที่เกี่ยวกับ
จริยศาสตร์ คือ การอธิบายจริยศาสตร์กรีกให้เข้ากับจริยศาสตร์ของศาสนาคริสต์

Modern Philosophy: ปรัชญาสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 16-18)
ยุคปรัชญาสมัยใหม่เป็นยุคที่ศาสนาคริสต์เริ่มหมดอิทธิพล ประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดของศาสนาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และถือเป็นยุคเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นช่วงที่ปรัชญาทางการเมืองมีความเด่นชัดมาก ถือเป็นยุคกำเนิดและเฟื่องฟูของกฎหมาย รวมถึงขบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นักปรัชญา และสำนักปรัชญาที่สำคัญ คือ Immanual Kant หรือ Kant's Ethics (Kantism Ethics) และสำนัก Utilitarianism (ประโยชน์นิยม) ซึ่งมีนักคิดที่สำคัญคือ John Stuart Mill 

ในยุคนี้นักปรัชญาจะโต้แย้งกันเรื่อง "อภิจริยศาสตร์" (Meta-Ethics) เป็นการใช้คุณค่าทางจริยธรรม คือการโต้แย้งถึงคุณค่าการกระทำว่าเป็นอย่างไร โดยศึกษาเกี่ยวกับ good/bad, right/wrong, ought/ought not, should/should not โดยมีแนวคิดหลักที่สำคัญคือ เกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรม หรือการตัดสินการกระทำ (Moral Judgement) การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ (Moral Reasoning) 

Contemporary Philosophy: ปรัชญาร่วมสมัย หรือปรัชญาสมัยปัจจุบัน (ศตวรรษที่ 19-20)
ปรัชญาด้านจริยธรรมร่วมสมัยที่สำคัญได้แก่ สำนักปฏิฐานนิยมตรรกะวิทยา Logical Positivism
ซึ่งเน้นหลักเหตุผล คำว่า
Logical Positivist เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อตัวนักปรัชญาสำนักนั้นๆ ซึ่งนักปรัชญาในสำนักนี้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด จะไม่เห็นด้วยกับปรัชญาเก่าๆ และเห็นว่า "ความรู้ที่ถูกต้องคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น" และสำนักอัตถภาวนิยม Existential นักคิดในแนวนี้เป็นปรัชญาแห่งเสรีภาพ เน้นภาวะการมีอยู่ของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น