หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีเคออส (Chaos Theory)



ทฤษฎีเคออส (Chaos Theory)

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า บัตเตอร์ฟาย เอฟเฟ็ค (Butterfly Effect) ถูกนำมาใช้อ้างอิงในภาษาไทยว่าทฤษฎีโกลาหล และแนวคิดผีเสื้อขยับปีก เปรียบเปรยเหตุการณ์บางอย่างเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงได้ เช่น ผีเสื้อขยับปีกที่ประเทศบราซิลเป็นผลให้บรรยากาศโลกเคลื่อนไหวในรูปแบบที่อาจทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ในเทกซัส
แนวคิดผีเสื้อขยับปีกถูกนำมาประยุกต์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วโดยกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ หลายกรณียังถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม
ทฤษฏีนี้อาจจะเอามาอธิบายว่าน้ำท่วมหลายจังหวัดส่งผลกระทบถึงขั้น "สูญเสียเมืองหลวงของประเทศ" ได้อย่างไร และน้ำท่วมที่รังสิต ก็ส่งผลกระทบถึง จ.นครปฐมได้อย่างไร  มันย้อนไปถึงการจัดการที่ผ่านๆ มา ซึ่งเป็นไปในแนวทางรักษาไข่แดงเอาไว้ คนอื่นจะแตกสลายอย่างไรก็ไม่สน  เพราะไข่แดงเป็นกล่องดวงใจ
 
ในสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.  เกิดจากเหตุเล็กๆ ที่สะสมกันมานานแล้ว พอถึงจุดที่เกินสมดุลจึงเป็นวิกฤติที่ใหญ่โตเกินความคาดหมาย
2.  เมื่อเกิดผลแล้ว ก็แก้ไขยาก เพราะไม่รู้ว่าอันไหนเป็นเหตุที่แท้จริง คือไม่รู้ว่าผีเสื้อตัวไหนที่กระพือปีก ทำให้น้ำจะมาถึงบ้านเราในอีกวันสองวันนี้
3.  เมื่อเหตุเกิดไม่เป็นเส้นตรง อย่าไปหวังว่าผลจะมาจากเหตุหรือหนึ่งบวกหนึ่งจะเท่ากับสอง เพราะสถานการณ์จะพลิกผันได้ตลอดเวลา คืออาจจะพลิกเป็นดีก็ได้ หรือเลวร้ายกว่าเก่าก็ได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้เลย ถ้าคุณไม่รู้ระบบทั้งหมด คุณไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ไม่อาจคำนวณได้ด้วยสมการเชิงเส้น ตรรกะพื้นฐานจึงไม่ต้องเอามาคุยกันให้เสียเวลา
สภาวะแห่งความไร้ระเบียบนี้ ไม่ใช่เป็นความอลหม่าน จะซุกซ่อนความเป็นระบบอยู่ในความไร้ระเบียบของตัวมันเอง และส่งผลกระทบถึงกัน ซึ่งระบบที่แสดงความไร้ระเบียบจะมีลักษณะ คือ
1.  มีคุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Nonlinearly) คือผลลัพธ์ทั้งหมดของระบบ ไม่เท่ากับ ผลรวมของผลลัพธ์ที่เกิดจากส่วนย่อยๆ รวมกัน
2.  ไม่ใช่การเกิดแบบสุ่ม เหตุการณ์ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์อันแน่นอน
3. มีความไวต่อสภาวะเริ่มต้น (Sensitive Dependency on Initial Conditions) ที่เรียกว่าปรากฏการณ์แบบ Butterfly Effect: ซึ่งในบางครั้งการขยายความแตกต่างให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะขยายไปถึง เลขยกกำลัง 3 (Exponential) ของเวลา
4.  ไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดล่วงหน้าได้ระยะยาว เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุ (ปัจจัย) ใดที่กระทบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเปรียบดังมีผีเสื้อหลายตัว ไม่รู้ว่าตัวไหนจะกระพือปีก
สรุป "Butterfly Effect" เปรียบเสมือนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทัดทาน คัดค้าน ร้องเรียน
ในทฤษฎีเคออส ถือว่าเป็นตัวป่วนระบบหรือเปล่า ผมว่าไม่นะ เพราะระบบมันป่วนด้วยความไม่สมดุลอยู่แล้ว หากปล่อยไว้ไม่ทำอะไรกับมัน มันจะดำเนินไปตามทางของมันซึ่งก็จะยังไม่สมดุล แต่หากมี "ผีเสื้อ" บินเข้ามาในระบบ ระบบอาจยังปั่นป่วนหรือยิ่งปั่นป่วนในตอนแรก แต่ผลลัพธ์มันมีปัจจัยจากผีเสื้อใส่ไปด้วย ถ้าผีเสื้อชักนำความถูกต้อง ความยุติธรรม ระบบก็จะเสถียรเร็วขึ้น
เหมือนกับน้ำเสีย ต้องเติมอากาศ ต้องกวน จนในที่สุดความสกปรกถูกออกซิไดซ์ ตะกอนแยกตัวออกจากน้ำ ให้เราเห็นและช้อนทิ้งได้ หรือเปรียบกับน้ำที่ขุ่น มีฝุ่นผงแขวนลอยเป็นคอลลอยด์ ตั้งไว้นานถึงจะนอนก้น แต่ก็ไม่ใสมาก เราต้องเอาสารส้มไปแกว่ง คนที่ไม่รู้หลักการก็กล่าวหาว่า ไปกวนน้ำให้ขุ่น ถามว่าถ้าน้ำนั้นใสดีอยู่แล้ว จะกวนอย่างไรมันจะขุ่นได้อย่างไร แต่มันมีตะกอนทั้งเล็กใหญ่ ตะกอนใหญ่สกปรกแต่นอนก้นซ่อนอยู่ ปล่อยให้ตะกอนเล็กล่องลอยแสดงความสกปรกให้คนเห็น น้ำขุ่นๆ บวกตะกอนใหญ่ก็เป็นไปตามทฤษฎีเคออส แต่แล้วมีสารส้มตัวแปรหนึ่งเข้ามาวุ่นวายกับระบบใหญ่ บางคนมองว่าเป็นตัวป่วน บางคนบอกว่าอย่าไปให้ความสนใจอะไรมัน มันทำอะไรเราไม่ได้หรอก ระบบเราออกใหญ่ มีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ซึ่งตัวแปรนั้นเปรียบเสมือนผีเสื้อเล็กๆ ปีกบอบบาง ใครจะคิดว่าผลกระทบอาจสามารถเกิดพายุได้
("
Does the Flap of a Butterfly's Wings in Brazil Set off a Tornado in Texas?") หรือที่กล่าวว่า "เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว"
ถ้าระบบยอมรับว่าผีเสื้อเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ยอมรับการกระพือปีกเตือน และเร่งปรับแก้ไขระบบให้สมดุลยิ่งขึ้น ผีเสื้อก็จะหยุดกระพือปีก แต่ถ้าไม่เราอาจได้เห็น Earthquake ตามมาด้วย Tsunami
อันเนื่องมาจากความสั่นสะเทือนจากปีกผีเสื้อก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น