หน้าแรก

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน



แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การพัฒนายังเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง แนวคิดการพัฒนาอาจจะแบ่งได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มองว่าการพัฒนาเป็นการดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอนจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง โดยต้องสร้างความพร้อมด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ โดยการกระตุ้นหรือชักนำด้วยปัจจัยในการพัฒนา เช่น การสะสมทุน โดยมีความเชื่อว่าความพร้อมเป็นสิ่งที่สร้างได้ความเชื่อนี้มักจะเกิดการพัฒนาแบบ ก้าวกระโดดเพราะประชาชนไม่สามารถสร้างความพร้อมตามแบบของนักพัฒนาขึ้นมา สำหรับปรัชญาของการพัฒนาชุมชนนั้น อยู่บนพื้นฐานความศรัทธาในตัวคนว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุด โดยต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพลังในเรื่องความคิดริเริ่ม และมีความเป็นผู้นำซ่อนอยู่ ถ้าได้รับการพัฒนาพลังเหล่านี้ก็จะเติบโต และเมื่อบุคคลมีโอกาสก็จะสามารถเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้น การพัฒนาพลังและขีดความสามารถของคนในชุมชนทุกด้านเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของคนทุกคนและชุมชนโดยรวม เศรษฐกิจชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจของชาติ ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจของชาติมีความเจริญรุ่งเรือง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจในระดับล่างคือเศรษฐกิจในชนชุนชนบทด้วย เศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ ทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน คือ การมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับประโยชน์ บนรากฐานของความสามารถที่มีอยู่ จากการใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่หรือสามารถจัดหามาได้ตามศักยภาพ

ส่วนการพัฒนาท้องถิ่นหรือการพัฒนาชนบท เป็นการพัฒนาแบบผสมผสานเป็นการพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่างพร้อมกัน เป็นการหายุทธวิธีปรับปรุงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในชนบทหรือท้องถิ่นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงกระจายการพัฒนาไปสู่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดซึ่งอยู่ในชนบท อาจจะเป็นการเร่งเพิ่มความสามารถในการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิต เพิ่มการจ้างงาน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายคือการลดความยากจน ลดช่องว่างของรายได้ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการครองชีพ (The World Bank, 1975) ป้องกันการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษ ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้คนชนบทได้รับโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจ เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้คนส่วนใหญ่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยท้องถิ่นเป็นผู้ จัดการทรัพยากรของตัวเองตลอดจนรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเท่าที่จะทำได้ หมายถึง จะต้องมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการของรัฐไปสู่ท้องถิ่น  (ชัยวุฒิ  ชัยพันธุ์, 2544) เพื่อให้ประเทศเติบโตไปพร้อมกับการกระจายความเจริญที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ประชาชนในชนบทจะต้องมีความตระหนักว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่นชนบทจะต้องเป็นความรับผิดชอบของคนในท้องถิ่นนั้นเองเป็นสำคัญ ซึ่งวิธีการและมาตรการที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ชนบทย่อมมีความแตกต่างกันไปตามศักยภาพทางภูมิศาสตร์ จิตสำนึกทางสังคม ความพร้อมในด้านผู้นำและการพัฒนาจิตใจ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะเป็นผลสำเร็จก็เมื่อประชาชนในพื้นที่มีองค์กรที่จะปฏิบัติงานร่วมกันเป็นพลังความรู้ ความคิด ความสามารถ และพลังใจในการร่วมกันวางแผนการผลิตการตลาด และในเรื่องอื่นๆ อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของชุมชนที่เข้มแข็ง (ชัยวุฒิ  ชัยพันธุ์, 2544) ความเข้มแข็งของชุมชนนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมความสำเร็จของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพราะถ้าเศรษฐกิจชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบลมีความมั่นคงสามารถพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจของเมืองและประเทศก็ย่อมจะดีขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้านและตำบลให้พอมีพอกินก่อน จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การผลิตด้านอื่นๆ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่มีคุณค่าน้อย ให้เป็นผลผลิตที่มีคุณค่ามากขึ้น โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม ทำให้เกิดเป็นหน่วยการผลิตพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจชุมชน เมื่อผลผลิตมีมากเกินที่ชุมชนจะบริโภคหมดก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงระดับเมือง ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมากมายทั่วประเทศ อ่อนแอบ้างเข้มแข็งบ้างแล้วแต่ภาวะปัจจัยในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะเกิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นในชุมชนท้องถิ่นที่คนพอมีพอกินมีใช้และพึ่งตนเองได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกหรือการลงทุนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

เมื่อเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง อำนาจการซื้อจะมีมากขึ้นในกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่พอมีพอกิน จะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมระดับชาติที่มีความมั่นคงเข้มแข็งสู้ต่างประเทศได้ การมีระบบเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้ก่อให้เกิดอำนาจซื้ออย่างมหาศาลจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในระดับบุคคลควรเปลี่ยนทัศนคติของการดำรงชีวิตจากการฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเป็นพอมีพอกิน จากทำมาหากินเป็นทำอยู่ทำกิน จากเพื่อลาภยศเงินทอง เป็นเพื่อสุขภาพและชีวิต จากทุนนิยมเป็นบุญนิยม และจากการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจฟองสบู่มาเป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง (ประกอบ วิโรจนกูฏ, 2547)

ปัจจัยที่นำไปสู่ความเข้มแข็งของชนบท จากผลการวิจัยพบว่า ในอดีตมีปัจจัยหลายประการที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ได้แก่ 1) ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชาวบ้าน และความศรัทธาในทางศาสนา 2) การศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ตามสถานที่อันพึงมีทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน 3) พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนที่ใช้สำหรับการสัญจรและขนส่งสินค้า 4) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อันได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ ยังดำรงอยู่มาก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันปัจจัยด้านเศรษฐกิจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่สามารถผลักดันให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง

การพัฒนาทางเศรษฐกิจยังได้รับการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์กับการมีองค์การบริหารส่วนตำบลตามนโยบายการกระจายอำนาจที่เชื่อมโยงกับความหมายของคุณภาพชีวิต โดยภาพรวม (สถาบันบัณฑิต
พัฒนบริหารศาสตร์
, สำนักงานวิจัย, 2543) ซึ่งได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข เงินออม ความเพียงพอของรายได้ ทัศนคติของประชาชน สุขภาพจิต อาชีพ การมีหนี้สิน การมีเงินให้กู้ เป็นต้น โดยใช้แนวคิดที่ว่า สังคมมีวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน งานวิจัยชิ้นนี้ได้พยายามให้คำจำกัดความของความอยู่ดีมีสุข และได้ปรับปรุงพัฒนาเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเมืองโดยเชื่อมโยงกับแนวคิดจากการศึกษาเดิม

ขณะเดียวกันแนวคิดการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ซึ่งเน้นให้ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาโดยยึดหลักว่า คนเป็นทั้งเหตุ ปัจจัย และผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของการปกครองและพัฒนาประเทศจึงมุ่งเน้นให้ทุกคนมีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและมีโอกาสในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศในทุกด้าน และได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อ การทำความเข้าใจกับทุกคนทุกกลุ่มคน ทั้งประชาชน ชุมชน เอกชน นักการเมือง และบุคคลในวงการศึกษา เพื่อให้มีมโนทัศน์ทางการศึกษาตรงกันคือ มีความเห็นพ้องต้องกันว่าจุดศูนย์กลางของการพัฒนาอยู่ที่คน   ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นผลของการพัฒนา การพัฒนาคนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้ จึงเป็นเป้าประสงค์สูงสุดของการพัฒนา

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ซึ่งยังคงเน้นการพัฒนาคนเป็นหลัก ได้กำหนดทิศทางโดยเน้นการพึ่งตนเองของประชาชน นำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง พอมี พอกิน พอใช้ ตามแนว ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทาง โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เป็นกลไกหลักในการปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดแผนพัฒนาตำบลเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลจึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในการดำเนินการตามนโยบายการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2548)          
  
แนวคิดที่น่าสนใจซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนไทยนั้น ชีวิตของคนจำนวนมากในสังคมไทย คือระบบเศรษฐกิจของชาวบ้าน หรือระบบเศรษฐกิจของชาวนาหรือระบบเศรษฐกิจของสหกรณ์ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบชุมชน ซึ่งในระดับสากลแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นมีผู้นำคนสำคัญคือ มหาตมะ คานธี ที่ได้เสนอภาพสำคัญ 2 ข้อ สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้าน คือ สวเทศี (Swadeshi) และสวราช (Swaraj) สวเทศี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เกิดขึ้นภายในประเทศหรือเป็นพื้นเมือง หลักนี้คือให้ใช้ประโยชน์จากท้องถิ่นและสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อน ควรซื้อของที่ผลิตได้ภายในประเทศ ตลาดภายในประเทศมาก่อนตลาดต่างประเทศ ส่วนหลักสวราชเสนอว่าชุมชนหมู่บ้านเป็นสาธารณรัฐ (Republic) ในตัวเองควรมีการปกครองตัวเอง (Autonomy) เป็นแนวคิดที่ได้รับการเสนอ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพรพิไล เลิศวิชา, 2537)

สำหรับในประเทศไทย ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกและเอ็นจีโอทั้งหลายมีแนวคิดแบบเศรษฐกิจชุมชน ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และคุณสด กูรมะโรหิต ก็มีข้อเสนอทำนองเดียวกัน แต่สำหรับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอเป็นสองส่วน คือ เศรษฐกิจรัฐและเศรษฐกิจสหกรณ์ โดยมุ่งเรื่องการประสานกันระหว่างสองส่วนนี้ยังไม่ได้มีการเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อเชื่อมต่อทั้งสองส่วนอย่างละเอียด (กรมการปกครอง, 2540) แต่อย่างใด
แนวคิดนี้มองว่า เศรษฐกิจชุมชนมีลักษณะสำคัญคือ ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต แรงงานของสมาชิกของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ความพอเพียงที่เราพูดถึง การพึ่งตนเองที่เราพูดถึง ขึ้นอยู่อย่างมากกับการใช้แรงงาน เพราะแรงงานเป็นสิ่งที่ครอบครัวมีอยู่โดยธรรมชาติไม่ต้องจ้างเป็นสิ่งที่มีมากับสถาบันครอบครัวโดยทั่วไปครอบครัวคิดถึงการอยู่ให้รอดก่อน แล้วจึงสะสมและค้าขาย พึ่งแรงงานในครอบครัว  พึ่งทรัพยากรท้องถิ่น พึ่งตนเองและพึ่งกันเองในชุมชนก่อนและหากจะขายซึ่งเป็นขั้นตอนที่สูงขึ้นก็ขายในตลาดใกล้ตัว ตลาดภูมิภาค ตลาดภายในประเทศ หลักการอีกข้อหนึ่งของเศรษฐกิจชุมชนคือ เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และวัฒนธรรม เศรษฐกิจฝังตัวอยู่ในสังคมและวัฒนธรรม ผู้ที่เชื่อในเศรษฐกิจชุมชนเชื่อว่าครอบครัวและชุมชน มีพลังและจะสามารถรักษาระบบของตัวเองไว้ได้ เพิ่มผลิตภาพการผลิตได้และพัฒนาได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเอง เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีงานวิจัยที่อิตาลี Anna Bull และ Paui Corner เรื่อง From Peasant to Entrepreneur The Survival of the Family Economy in Ltaly, 1993. (Bull & Corner, 1993) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจแบบครอบครัวในกิจกรรมเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมสามารถเจริญและขยายได้ดีในอิตาลี นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัสเซียก็เคยเสนอมาแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1920 ว่าเศรษฐกิจครอบครัวและชุมชนมีเสถียรภาพ

แนวทางการขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชน คือ การคิดขยายขนาดของเครือข่ายชุมชนให้ใหญ่ขึ้น เป็นฐานของการพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาค และถักทอเศรษฐกิจภูมิภาค ขึ้นเป็นเศรษฐกิจแห่งชาติ สร้างจากข้างล่างขึ้นไป คู่ขนานกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือระบบทุนซึ่งสร้างจากข้างบนลงมา เมื่อนั้นระบบเศรษฐกิจชุมชนจะปรากฏเป็นอีกระบบหนึ่ง ซึ่งผู้คนจำนวนมากมีชีวิตอยู่ และเป็นระบบที่เป็นอยู่ของคนธรรมดาสามัญอย่างแท้จริงแนวคิดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้โดยการพึ่งตนเองจากผลิตภัณฑ์ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ และตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยท้องถิ่นจะต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ท้องถิ่นจะต้องพยายามเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะของท้องถิ่นให้เข้าสู่มาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาการตลาดทั้งในประเทศและขยายขอบเขตไปสู่ตลาดโลก โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่นเอง ต้องการให้แต่ละหมู่บ้านมีผลิตภัณฑ์ (หลัก) 1 ประเภทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบ ทรัพยากรของท้องถิ่น ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดขึ้น เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเกิดการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นับเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่อาศัยหมู่บ้านเป็นหน่วยการพัฒนา (Unit of Development) เบื้องต้น และรวมเป็นเครือข่ายภายใต้ตำบลเป็นแนวทางอันหนึ่งที่จะสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนจะสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีจุดเด่น และจุดขาย และสอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้รู้จักแพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก มีหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ คือ 1) ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global) ผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 2) พึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self - Reliance - Creativity) ทำความฝันให้เป็นจริงด้วยกระบวนการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยสร้างกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของท้องถิ่น และ 3) การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ฟูมฟักประชาชนให้สู้ชีวิตด้วยความท้าทายและจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ไม่เน้นการให้เงินสนับสนุน (Subsidy) แก่ท้องถิ่น เพราะมักจะไปทำลายความสามารถในการพึ่งตนเอง รัฐบาลเพียงให้การสนับสนุนแก่ชุมชนต่างๆ ด้านเทคนิค เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ตลอดจนช่วยเหลือในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการตลาด ท้องถิ่นจะรับความช่วยเหลือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์อย่างเต็มใจ เช่น จากศูนย์วิจัยและแนะแนวทางการเกษตรและประมง (Agricultural and Marine Product Processing Research and Guidance Center)

ในด้านการตลาด เพื่อจะเพิ่มยอดขาย อาจจัดตั้งบริษัทหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Product Corporation) เพื่อให้เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าสู่ตลาดต่างๆ เน้นนโยบายหลัก 3 ประการ   คือ 1) มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับโลก มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับวัฒนธรรมและมีจุดเด่นเฉพาะ เป็นที่ยอมรับของตลาดภายใน ประเทศและตลาดโลก 2) มีเอกลักษณ์เป็นที่ลือชื่อเพียงหนึ่งเดียวระดมความคิดในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยกันทำได้ โดยคำนึงถึงการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นให้สอดคล้องอย่างเหมาะสมไม่ซ้ำแบบกัน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้านหรือตำบลให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป และ 3) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปรับปรุงเทคโนโลยีสร้างบุคคลที่มีความคิดกว้างไกล มีความรู้ความสามารถให้เกิดขึ้นในสังคม มีการวางแผนการตลาด มุ่งเน้นการผลิตและบริการโดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก

กิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ 1) ขยายสินค้าท้องถิ่นไปยังตลาดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นรวมทั้งการพัฒนาคุณภาพเพื่อขยายตลาดออก สู่เครือข่ายท้องถิ่น ภาคเมือง และตลาดโลก 2) ผลิตและคิดค้นขึ้นเองในท้องถิ่นอาศัยความรู้ความสามารถของคนในชุมชน ให้ความร่วมมือกันรับผิดชอบ มีหน่วยงานของจังหวัด กระทรวง กรม กอง เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ และคอยให้การสนับสนุนในด้านของเทคโนโลยี และการคิดค้นอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ
ขั้นตอนการบริหาร หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์คือ ขั้นตอนที่ 1 ชุมชนระดับตำบล องค์กรรับผิดชอบ อบต./ท้องถิ่น มีหน้าที่หลักในกระบวนการจัดเวทีให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ดีเด่นของตำบลให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุดิบในท้องถิ่นและแผนชุมชน ขั้นตอนที่ 2 ชุมชนระดับอำเภอ/กิ่งอำเภอ องค์กรรับผิดชอบอำเภอ/กิ่งอำเภอมีหน้าที่หลักในการจัดลำดับผลิตภัณฑ์ดีเด่นตำบลต่างๆ ของอำเภอ/กิ่งอำเภอ การบูรณาการแผน และงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุน ขั้นตอนที่ 3 ชุมชนระดับจังหวัด องค์กรรับผิดชอบจังหวัด มีหน้าที่หลักในการจัดลำดับผลิตภัณฑ์ดีเด่นอำเภอต่างๆ ของจังหวัด การบูรณาการแผนและงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุน ขั้นตอนที่ 4 และ 5 ชุมชนระดับส่วนกลาง องค์กรรับผิดชอบมีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการดำเนินงาน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์กำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์การคัดเลือกและขึ้นบัญชีผลิตภัณฑ์ดีเด่นของตำบล และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บท

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นเป็นผู้นำเอาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1) ระบบราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 2) บริษัท 3) ความมีอยู่ของผู้นำ 4) การรวมกลุ่มของประชาชน เป็นกลุ่มพลังต่างๆ มาสร้างพลังร่วม เช่น สหกรณ์ ชมรม หอการค้า ดังนั้น แทนที่จะเป็นการชี้นำโดยภาครัฐฯ ขบวนการนี้เป็นการคิดและทำจากล่างสู่บน โดยประชาชนมีส่วนร่วม ราชการเป็นเพียงผู้คอยติดตามการขับเคลื่อนเพื่อสรุปเป็นรายงาน แต่ละจังหวัด เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ต่างก็มีวิธีการแตกต่างกันไป
ในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนา ระบบราชการคือตัวจังหวัดเอง เป็นฐานของระบบการปกครอง ไม่ได้มีการสร้างระบบช่วยเหลือต่างๆ ไว้รองรับโดยตรง อาจมีเพียงหน่วยงานเล็กๆ คอยรับเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนติดตามการฟื้นฟูท้องถิ่นว่ามีความก้าวหน้าไปเพียงใด สำนักงานเล็กๆ ของจังหวัดนี้ จะทำการออกสำรวจเพื่อประเมินผลรวบรวมข้อมูลข่าวสารเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในระดับตำบล และหมู่บ้าน ตลอดจนการบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ จะมีการรวมกลุ่มของประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ เหล่านี้ ของจังหวัด เป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาให้ผ่านขั้นตอนต่างของกระบวนทัศน์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์มีศูนย์ที่คอยช่วยเหลือเพื่อสอนเทคนิคการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ นี้ จะใช้งบประมาณของหน่วยราชการซึ่งในระดับล่าง หรือตำบล หมู่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านต่างๆ ของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือ

กระบวนการการบริหารจัดการเครือข่ายการเรียนรู้และประสานงานวิจัยท่องเที่ยวโดยชุมชนกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้แบ่งเป็น 3 ช่วงที่สำคัญอันประกอบด้วยกระบวนการประสานงานต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยมุ่งหวังว่างานวิจัยจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด กล่าวคือกระบวนการประสานงานวิจัยต้นทาง เป็นกระบวนการเริ่มต้นของการทำให้เกิดโครงการวิจัยจากชุมชน ซึ่งมีที่มาหลากหลายเส้นทางเช่น การประกาศโจทย์วิจัย การแนะนำชักชวนชาวบ้านร่วมกันทำ การมีผู้สนใจอยากเรียนรู้ร่วมกันทำ รวมทั้งการการส่งต่อจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทั่วประเทศ
หลังจากได้รับข้อเสนอการวิจัยแล้วจะเป็นการวิเคราะห์โครงการเบื้องต้นเพื่อพัฒนาให้เป็นโครงการโดยสมบูรณ์เพื่อดำเนินการลงนามทั้งสองฝ่ายให้ดำเนินงานวิจัยต่อไป
ส่วนกระบวนการประสานงานวิจัยกลางทาง ช่วงนี้เป็นกระบวนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะบทบาทของพี่เลี้ยงที่เข้ามาร่วมและช่วยกันดำเนินงานตามแผนงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีหนุนเสริมแนวคิด เครื่องมือวิจัย และกระบวนการวิจัยเพื่อให้งานวิจัยได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และตามเจตนารมณ์ของชุมชนที่ประสงค์จะให้งานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของผู้คนในชุมชน สำหรับกระบวนการประสานงานวิจัยปลายทาง นั้นมีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกับงานวิจัยได้ใช้ประโยชน์ที่เกิดจากงานวิจัย ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมิติการท่องเที่ยวโดยชุมชน นั้นเป็นการใช้ประโยชน์ในตัวของเนื้องานเองอยู่แล้วด้วยเหตุที่เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ แต่การมาเน้นกระบวนการปลายให้เข้มข้นขึ้นอีกนั้นเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยเพื่อการต่อยอดกับองค์กรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น