หน้าแรก

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทฤษฎีชนชั้นนำ



ทฤษฎีชนชั้นนำ

เรียบเรียงโดย
                                                                        

วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom



วิลเฟร โด พาเรโต และเกตาโน มอสกา (Vilfredo Pareto & Gaetano Mosca) กล่าวว่าหลักการพื้นฐานของชนชั้นนำคือ ความเหนือกว่าของบุคคลผู้ซึ่งจะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ โดยพาเรโต เชื่อว่า คนที่เป็นชนชั้นนำจะต้องมีความฉลาดที่เหนือกว่า คุณลักษณะเชิงจิตวิทยา คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของชนชั้นนำปกครอง พาเรโตเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นนำคนหนึ่งขึ้นมาแทนที่ชนชั้นนำคนเดิม คือกระบวนการหมุนเวียนของชนชั้นนำ (Circulation of Elites) คือชนชั้นนำทุกคนจะต้องค่อยๆ เสื่อมลง สูญเสียความเข้มแข็งของตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ ผู้นำที่ปกครองด้วยกำลังจะสูญเสียจินตนาการและความหลักแหลมในการดำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการและการปกครองตนเอง สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างพาเรโตและมอสกาคือ พาเรโตชื่อว่าคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับชนชั้นปกครองเหมือนกันในทุกๆ เวลา แต่มอสกาเชื่อว่า คุณลักษณะดังกล่าว เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสังคมเช่น ในบางสังคมความกล้าหาญและความเป็นนักรบในการต่อสู้อาจเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเป็นชนชั้นนำ ในขณะที่บางสังคม ทักษะ และความสามารถที่จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณามากกว่า 

ซี ไรท์ มิลลส์ (Mills, 1956)  ได้เสนอทฤษฎีชนชั้นนำ โดยเชื่อว่า ชนชั้นนำปกครอง (Elite Ruler) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการว่า ชนชั้นปกครองอยู่บนฐานของการหาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะแท้ที่จริงแล้วผลประโยชน์ของชนชั้นนำและคนส่วนใหญ่แตกต่างกัน และสิ่งนี้ได้สร้างศักยภาพที่เป็นความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ที่ยอดสุดของลำดับขั้นที่ทำการผูกขาดอำนาจ โดย 3 สถาบันหลัก คือ บริษัทขนาดใหญ่ การทหาร และรัฐบาลสหพันธ์รัฐ  ผลประโยชน์และกิจกรรมของชนชั้นนำจากสถาบันหลักเหล่านี้ มีความเหมือนกันและเกี่ยวพันกัน สร้างชนชั้นนำอำนาจ (Power Elite) ชนชั้นนำอำนาจมีความเกี่ยวข้องกับความสอดคล้องกันของอำนาจทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ  มิลล์เรียกผู้นำทางการเมืองว่า นายทหารของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ” Lieutenants of the Economic Elite) จากลักษณะชนชั้นนำ 3 สถาบัน และลักษณะชนชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา มิลลส์ เห็นว่านำไปศึกษาในสภาพสังคมของสหราชอาณาจักรได้ โดยงานวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งชนชั้นนำของประเทศ เป็นประชากรที่มีภูมิหลังที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมสูง เช่น นักการเมือง ผู้พิพากษา ข้าราชการระดับสูง ข้าราชการทหารระดับสูง และกรรมการบริหารทั้งในบริษัทขนาดใหญ่ และธนาคารสำคัญๆ นอกจากนี้ยังมีระดับการคัดสรรตนเองของชนชั้นนำขึ้นคือบุตรของสมาชิกที่เป็นชนชั้นนำถูกคัดโดยตนเองเพื่อไปสู่ตำแหน่งชนชั้นนำ สิ่งที่พบคือ ความเหมือนกันของเบื้องหลังทางการศึกษา อ้างใน (รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, ชนชั้นนำในการเมืองไทยปัจจุบัน, 2550)


ชนชั้นนำ หรือ Elite  นิยามในกรณีสังคมไทย คือสถาบันตามประเพณี ซึ่งก็เปลี่ยนแปลง หมายความว่า สมัยหนึ่งอาจจะดำรงฐานะเป็นชนชั้นนำแต่ว่าในเวลาต่อมาก็อาจจะเปลี่ยน เช่น เป็นต้นว่า สถาบันสงฆ์ สมัยหนึ่งอยู่ในสถานะชนชั้นนำในทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ปัจจุบัน อิทธิพลหรือบทบาทในฐานะชนชั้นนำของสถาบันสงฆ์ก็ค่อนข้างน้อย สถาบันพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ ก็เป็นชนชั้นนำแน่นอน ก็ยังดำรงสถานะชนชั้นนำอยู่ แต่ธรรมชาติในการนำอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังเป็นหนึ่งที่สำคัญในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย เพราะฉะนั้นมีการขยายตัวของสถาบัน และที่สำคัญไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น รวมทั้งถึงสิ่งที่อาศัยบารมีในสถาบันฯ เช่น พนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ 

แต่ความรู้สึกของคน ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ ไปด้วย ในการที่จะต้องปฏิบัติต่อสำนักงานนี้ องคมนตรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง องคมนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอน แต่จริงๆ แล้วในทางกฎหมายก็ไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย แล้วก็ไม่มีบทบาทในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ รวมทั้งเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการทั้งหลาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นภาพที่ขยายตัวกว้างขึ้นในฐานะที่เป็นชนชั้นนำ อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะพูดถึง คือ ทุนขนาดใหญ่ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำแน่ๆ ซึ่งเข้ามาเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ด้วย เข้ามาเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจในทางการเมืองด้วย 

กลุ่มหนึ่งต่อมาคือกลุ่มข้าราชการระดับสูง ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบที่เขาเรียกว่า “รัฐราชการแล้วก็ตาม แต่ว่าสัดส่วนในการบริหาร ไม่ใช่การวางนโยบาย ของกลุ่มข้าราชการระดับสูงมีค่อนข้างมาก เพราะข้าราชการคือผู้วางโครงการหรือวางแนวให้กับนักการเมืองอีกทีหนึ่ง กล่าวคือ นักการเมืองเข้ามาปกครองประเทศไม่ว่าจะมาจากพรรคใด มักจะมามือเปล่าๆ มากกว่าจะมีนโยบาย แล้วก็มาดูว่าราชการที่ตัวเองเข้าไปเป็นรัฐมนตรี มีโครงการอะไรบ้าง ก็เลือกหยิบโครงการเหล่านั้นมาผลักดัน หรือมาดำเนินการโดยให้งบประมาณ เพราะฉะนั้นคนที่คิดนโยบายตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะสร้างเขื่อน หรือสร้างถนน หรืออะไรก็แล้วแต่ คำตอบคือข้าราชการระดับสูงเป็นคนทำ แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ข้าราชการระดับสูงปัจจุบันนี้ในระบบราชการถูกนักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ควบคุม หรือสั่งการ หรือ Overrule อะไรที่อยู่เหนือความต้องการของระบบอบราชการได้โดยเฉพาะสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกฯจะเห็นได้ชัดเจนมาก ทำให้ข้าราชการต้องโอนอ่อนต่ออำนาจในทางการเมืองมากขึ้น กลุ่มข้าราชการระดับสูง ยึดระบบราชการทั้งหมด ถามว่ามีผลประโยชน์ของตนเองไหม ผมว่ามี ด้วยเหตุดังนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองในระบบการ เมืองด้วย  

จุดอ่อนของระบบราชการไทยคือมีแต่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่สำนึกกลุ่มมีน้อย คือ ข้าราชการไม่ได้สำนึกว่าตัวเป็นกลุ่มเดียวกับข้าราชการ ความสำนึกร่วมของความเป็นข้าราชการมีน้อย แต่ว่ามีผลประโยชน์ของตนเองที่ค่อนข้างเด่นชัด ในที่นี้คนที่อยู่ในราชการคงทราบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล ฯลฯ มันเป็นผลประโยชน์ที่กลุ่มข้าราชการสำนึกได้ว่ามีอยู่ในระบบราชการ แต่ว่าสำนึกร่วมในความเป็นข้าราชการด้วยกันไม่สูงมากนัก ทั้งหมดเหล่านี้ กลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่มีเสียงดังที่สุดในสังคม เพราะฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มที่กุมการนำของสังคมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำในทางการเมือง การนำในทางเศรษฐกิจ การนำในทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ และก็หวงแหนการนำนี้ค่อนข้างมาก เพราะว่ามันมีผลประโยชน์หลากหลายชนิด ผูกพันอยู่กับการนำมากทีเดียว (นิธิ  เอียวศรีวงศ์, 2554)

กล่าวโดยสรุป ลักษณะของชนชั้นนำ Elite จะมีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ (Mass) คือ 1) ชนชั้นนำเป็นคนกลุ่มจำนวนน้อย แต่มีอำนาจต่อคนส่วนใหญ่ และเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม 2) คนจำนวนน้อยแต่ไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนที่แท้จริง แต่ถูกคัดมาจากชนชั้นในระดับสูง 3) ค่านิยมของชนชั้นนำ กลายเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคมที่คนส่วนใหญ่ตั้งเป็นเป้าหมาย อยากจะได้และอยากจะเป็น ชนชั้นนำจะปกป้องค่านิยมนี้ 4) ชนชั้นนำจะมีความเข้มแข็ง ไม่ค่อยได้รับอิทธิจากคนส่วนใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากชนชั้นนำ 5) นโยบายของรัฐบาลไม่ได้สะท้อนความต้องการคนส่วนใหญ่ แต่จะสะท้อนความต้องการของคนชั้นนำมากกว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะค่อยเป็นค่อยไป 6) การเคลื่อนย้ายสังคมส่วนใหญ่สู่สังคมชนชั้นนำ จะเป็นไปอย่างช้างๆ แต่ต่อเนื่อง โดยคนส่วนใหญ่จะเข้าไปในชนชั้นนำได้นั้น ก็ต่อเมื่อยอมรับกฎ กติกา มาตรฐานของกลุ่มชนชั้นนำ โดยชนชั้นนำจะไม่ปรับตัวเข้าหากลุ่มคนส่วนใหญ่

สำหรับสังคมไทย ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย วางหลักการไว้ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครอง มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าชายหรือหญิง แต่ในความเป็นจริงโดยธรรมชาติ จะมีคนบางคนที่มีศักยภาพเหนือกว่าคนทั่วไป ที่เป็นคนจำนวนน้อยในสังคมที่มีการแสดงออกในการเป็นผู้นำทำให้บุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไป ที่เราเรียกว่าชนชั้นนำ แม้ทุกวันนี้เราเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่การแบ่งชนชั้นยังเกิดขึ้น โดยโลกแห่งทุนนิยมมีเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดและแบ่งชนชั้นทางสังคม โดยแบ่งคนออกเป็น ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง โดยที่ประชาชนแต่ละคนจะถูกจัดอยู่ในชั้นไหน นั้นวัดได้จากความมั่งคั่งร่ำรวย เงินเดือน รายได้ การศึกษา ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงานและชาติตระกูล ชนชั้นสูง เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นสูง หรือขุนนางเก่า ชนชั้นกลาง พนักงาน ข้าราชการทั่วไป ชนชั้นล่าง เช่น คนหาเช้ากินค่ำ กรรมกร เกษตรกร ชาวนา ที่มีฐานะยากจน มีการศึกษาน้อยเป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นเป็นได้โดยมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ถ้าบุคคลนั้นมีฐานะที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่สูงขึ้นจนได้รับการยอมรับจากสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น