หน้าแรก

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย



พัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การเมืองการปกครองของไทยในสมัยสุโขทัยและอยุธยาได้วิวัฒนาการมาสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้นๆ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์การเมืองการปกครองของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกเป็นสำคัญ

1. การปกครองของไทยแต่เดิม
การปกครองของไทยแต่เดิม มีลักษณะเช่นเดียวกับการปกครองชาติอื่นๆ คือมีการรวมกลุ่มกันอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่าบางแห่งก็รวมกันเข้าเป็นชุมชนขนาด ใหญ่ มีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองดูแลรับผิดชอบให้ความคุ้มครองป้องกันภยันตรายตามควร แก่ฐานะทำนองหัวหน้าหรือนายกับลูกน้องอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของกลุ่ม ตกอยู่แก่หัวหน้าสิ้นเชิง โดยมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องกำกับยึดเหนี่ยว ต่อมาเมื่อมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้นปัญหาเรื่องการทำมาหากินโดยอาศัยผืน แผ่นดินเป็นหลักและความสำคัญในเรื่องพื้นที่และดินแดนจึงเกิดขึ้น มีการกำหนดของอาณาเขตการปกครองของกลุ่ม และหมู่ชนชาติไทยเป็นกลุ่มชนชาติใหญ่ที่มีระเบียบการปกครองและวัฒนธรรมสูง จีนยกย่องเรียกว่า "ไต๋" "ชาติใหญ่" ประกอบกับชาวไทยมีคุณธรรมประจำชาติ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า ชนชาติไทยมีคุณธรรม 3 ประการ เป็นสำคัญจึงสามารถปกครองประเทศสยาม ได้คือ ความรักอิสระของชาติความปราศจากวิหิงสาและความฉลาดในการประสานประโยชน์ถ้าจะ เรียกเป็นภาษาอังกฤษ คือ Love of National Independence, Toleration and Power of Assimilation สำหรับ การจัดรูปการปกครองของไทยแต่เดิม จากพงศาวดารและหลักฐานอ้างอิง พอสันนิฐานได้ว่าไทยในสมัยน่านเจ้านั้นการปกครองในส่วนกลางแบ่งออกเป็น 9 กระทรวง คือ

1. ฮินสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงมหาดไทย
2. โม่วสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงกลาโหม
3. ม่านสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงการคลัง
4. ยันสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ
5. หว่อสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงพาณิชย์
6. ฝัดสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงยุติธรรม
7. ฮิดสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงโยธาธิการ
8. จุ้งสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงสำมะโนครัว
9. ฉื่อสอง เทียบกับปัจจุบันได้แก่ กระทรวงวังหรือราชประเพณี
การบริหารงานของราชการส่วนกลางมีอภิรัฐมนตรีรัฐมนตรีหรือเสนาบดี ปลัดกระทรวง อธิบดีเจ้ากรมปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบตามลำดับ
ส่วนการปกครองในภูมิภาคแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑลแต่ละมณฑลมีเมืองเอกโทตรีและ จัตวามีหัวหน้าปกครองลดหลั่นกันไปได้แก่ เจ้าหัวเมืองเอก เจ้าหัวเมืองโท เจ้าหัวเมืองตรีและเจ้าหัวเมืองจัตวาแต่ละเมืองแบ่งออกเป็นแขวงมีนายอำเภอ เป็นหัวหน้ารองจากแขวงเป็นแคว้นมีกำนันเป็นหัวหน้า จากแคว้นจึงเป็นหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้ารับผิดชอบซึ่งรูปแบบการ ปกครองดังกล่าวนี้มีลักษณะคล้ายกับการปกครองในแบบปัจจุบันมาก

2. การปกครองสมัยสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆ สมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีอาณาเขตทิศเหนือจรด เมืองลำพูน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดเทือกเขาดงพญาเย็นและภูเขาพนมดงรัก ทิศตะวันตกจรดเมืองหงศาวดี ทางใต้จรดแหลมมลายู มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้น ของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ พ.ศ.1981
ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนในครอบครัว คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อ หรือข้าราชการบริพารเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกัน ไปตามลำดับ ศาสตราจารย์ James N. Mosel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่า มีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น
สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยาม แต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการ ปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมือง รวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ เรียกว่า ลูกขุน 

วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่าปกครองแบบ พ่อปกครองลูก นี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่า พ่อขุน จนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า พระยา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป
การปกครองสมัยสุโขทัยระยะแรก เป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่สุด ทรงปกครองดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิดเหมือนพ่อปกครองลูก โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนก็สามารถเข้าเฝ้าถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพ่อขุนได้โดย ตรง ดังข้อความในจารึกหลักที่ 1 ความว่า

"ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้นั้น
ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง
มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ
มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้
ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้
พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน
เรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ
ไพร่ในเมืองสุโขทัยจึงชม"

รูปแบบของการปกครองในสมัยสุโขทัยตอนปลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิ ไทย) โดยพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในด้านการปกครอง ผู้ปกครองได้นำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรียกว่า ธรรมราชา หรือ ธรรมในการปกครอง
การปกครองราชธานีและหัวเมืองต่างๆ แบ่งออกเป็น
1. เมืองหลวงหรือราชธานี อาณาจักรสุโขทัยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองหลวงหรือราชธานีเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองดูแลเอง
2. หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองลูกหลวง ตั้งอยู่รายรอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ หัวเมืองชั้นในพ่อขุนจะแต่งตั้งพระญาติวงศ์ใกล้ชิดไปปกครอง
3. หัว เมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร ผู้ปกครองเมืองได้แก่ เจ้านายหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่พ่อขุนโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองนั้นๆ
4. เมืองประเทศราช เมืองที่อยู่นอกอาณาจักร ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติ พ่อขุนจะกำหนดให้เจ้านายของเมืองนั้นๆ ปกครองกันเอง แต่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยตามกำหนด
การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดาทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ถ้าได้พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่า ถ้าผู้ปกครองประเทศคือพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็น เป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการ ปกครองดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัย นั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่ กับสภาวการณ์ต่างๆ ในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตร ในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ

3. การปกครองสมัยอยุธยา
กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัยมาก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง ปรากฏว่าหัวเมืองมอญซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นได้ก่อการกบฏ กรุงสุโขทัยนั้นไม่สามารถปราบปรามได้ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นว่ากรุงสุโขทัยอ่อนอำนาจลง จึงประกาศอิสรภาพและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามแบบขอม คือ แบบเทวสมมติ (Divine rights)
ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมติหรือเทวสิทธิ์นี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่ 3 ประการ คือ
1. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ
2. พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองรัฐ
3. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว
ระบบเทวสิทธิ์นี้ ถือคติการปกครองมาจากขอมและฮินดูโดยแบ่งแยกผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง ออกจากกัน พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นสมมุติเทพเช่นพระอิศวรหรือพระนารายณ์ การปกครองแบบเทวสิทธิ์ กระทำให้ชนชั้นปกครองกลายเป็นชนชั้นหนึ่งต่างหาก มีอภิสิทธิ์เสมือนเทพเจ้าตามคติของฮินดู ราษฎรกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้ถูกปกครองอย่างแท้จริง สมบูรณาญาสิทธิราชถือกำเนิดมาจากระบบนี้และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าว หรือทาส และระบบศักดินา" 

ลักษณะการปกครองสมัยโบราณนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏเป็นลักษณะการปกครอง 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นแบบขอมเข้ามาครอบครองถิ่นฐานประเทศอยู่เดิม ขอมมีการปกครองตามคติที่ได้มาจากอินเดีย ส่วนไทยปกครองอย่างแบบไทยเดิม ส่วนทางใต้ปกครองตามแบบขอมเพราะขอมยังมีอำนาจอยู่ในเมืองต่าง ๆ เช่น ละโว้และเมืองอื่น ทางใต้การปกครองของขอมและของไทยมีที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ต่างก็มีพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสองแบบแต่ของขอมนั้นถือลัทธิตามชาว อินเดีย คือสมมุติพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระอิศวรหรือพระนารายณ์แบ่งภาคมาเลี้ยงโลกและอาศัยความเป็นเจ้าตำราการ ปกครองลักษณะการที่ขอมเข้าปกครองราษฎร จึงคล้ายกับนายปกครองบ่าว (Autocratic government) ส่วน การปกครองของไทยนั้น นับถือพระจ้าแผ่นดินเป็นบิดาของประชาชน วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองของสกุลมาเป็นคติ และถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงได้ปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้อำนวยการปกครองเรียกการปกครองแบบนี้ว่า การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นราชธานีและเมืองพระยามหานครตามที่ กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าราชธานีมีวงเขตแคบลงทั้งนี้ก็ด้วยมีความประสงค์ให้ หัวเมืองชั้นในติดต่อกับราชธานีได้โดยสะดวก ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นเมืองพระยามหานครนั้นอยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี เมื่อการคมนาคมยังไม่เจริญ ก็ย่อมติดต่อกับราชธานีได้โดยมากราชการบริหารส่วนกลางไม่สามารถควบคุมดูแล ได้อย่างใกล้ชิด เมืองพระยามหานคร จึงเกือบไม่ขึ้นต่อราชการบริหารส่วนกลางเลย เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และได้รับการมอบ หมายให้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการปกครองและในทางตุลาการ
เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็มีอำนาจที่จะปกครอง เมืองได้อย่างเต็มที่ เกือบไม่ต้องขึ้นหรือคอยรับคำสั่งจากราชธานีด้วยเหตุนี้เมื่อพระมหากษัตริย์ ใดทรงมีอานุภาพก็รักษาเอกภาพแห่งพระราชอาณาจักรไว้ได้อย่างเรียบร้อย แต่ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดหย่อนอานุภาพลง เจ้าเมืองมักจะคิดตั้งตนเป็นอิสระทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ อาณาจักรไม่มั่นคง เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากราชการส่วนกลาง และราชการปกครองส่วนภูมิภาคไม่มีความสัมพันธ์กันเพียงพอ

รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร สำหรับฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทางด้านเวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกิจการเกี่ยวกับทหารและการป้องกันประเทศ เช่น กรมช้าง กรมม้าและกรมทหารราบ มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง ต่ออนาคตของการจัดการปกครองประเทศการปกครองได้เป็นไปในทางเสริมสร้าง สมบูรณาญาสิทธิราชเต็มที่ เพราะได้พวกพราหมณ์และพวกเจ้านาย ท้าวพระยามาจากกรุงกัมพูชา ซึ่งมีความชำนาญทางการปกครองอย่างถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อนไว้
ดังนั้นแนวความคิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันแห่งพระองค์ ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าแต่กาลก่อน คือถือว่าเป็นสมมติเทวราชเต็มรูปแบบสำหรับการปรับปรุงแก้ไขการจัดระเบียบ ราชการบริหารส่วนภูมิภาค อันเป็นผลของการปฏิรูปดังกล่าวนั้นก็คือได้มีการขยายเขตราชธานี และหัวเมืองชั้นในออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รวมอำนาจการปกครองเข้าไว้ในส่วนกลางให้ราชการบริหารส่วนกลาง สามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้นและจัดหัวเมืองชั้นในอยู่ในวงของ ราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ส่วนหัวเมืองชั้นในพระมหากษัตริย์ทรงอำนวยการปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย ฉะนั้นผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในหรือเมืองชั้นจัตวาจึงเรียกว่า "ผู้รั้ง"ไม่ใช่เจ้าเมืองและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชั่วเวลา 3 ปี ส่วนกรมการอันเป็นพนักงานปกครองก็ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในราชธานี 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคปลีก ย่อยออกไปอีก ซึ่งได้แก่การจัดระเบียบการปกครองภายในเมืองหนึ่งๆทั้งหัวเมืองชั้นนอกและ ชั้นใน หรือเรียกว่า ระเบียบการปกครองท้องที่ โดยแบ่งเมืองออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออกเป็นตำบล ตำบล แบ่งออกเป็นบ้าน ซึ่งเป็นที่รวมของหลายๆ ครัวเรือนแต่มิได้กำหนดจำนวนคน หรือจำนวนบ้านไว้การแบ่งเขตการปกครองตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีรูปร่างผิดแปลกไปกับการปกครองสมัยปัจจุบันมาก นักกฎหมายปกครองท้องที่ตราขึ้น ในสมัยหลังได้ร่างขึ้นโดยอาศัยรูปการปกครอง ซึ่งมีอยู่แต่เดิมเป็นหลักใหญ่และได้แก้ไขดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
การปกครองระบบเทวสิทธิ์นี้ ถ้าจะพิจารณาถึงผลสะท้อนที่เกิดกับการบริหารแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่อมีการสถาปนาประเทศเข้าสู่เสถียรภาพ ข้อเสียของระบบเทวสิทธิ์ก็ปรากฏขึ้นเช่นชนฝ่ายปกครองหรือกษัตริย์ถูกแยก ห่างออกจากฝ่ายถูกปกครองคือประชาชนมากเกินไปจนกลายเป็นชนชั้นหนึ่งอีกต่าง หาก ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบบบิดาและบุตรมาก ประกอบกับชนชั้นปกครองระดับรองลงมา อันได้แก่ มูลนายต่าง ๆ ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เกิดการกดขี่ทารุณและคดโกงขึ้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งพึงปรารถนาในทางโลก ผู้ใดยึดครองตำแหน่งย่อมได้มาทั้งอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ดุจเทพเจ้า
ฉะนั้น ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการปกครองใต้ระบบเทวสิทธิ์ ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้เป็นมูลเหตุไปสู่ความอ่อนแอ และต้องสูญเสียเอกราชให้แก่ข้าศึกไปถึงสองครั้งสองครา ซึ่งประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาจะยืนยันข้อความจริงดังกล่าวได้ดี เหตุการณ์เช่นนี้มิได้มีปรากฏในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือการปกครองระบบบิดากับบุตร เพราะตำแหน่งกษัตริย์เป็นเพียงเสมือนตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น เมื่อคนที่ได้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสิ้นไป คนใหม่ที่มีอาวุโสรองลงไปจะเข้ารับหน้าที่แทน มิได้ถือว่าเป็นตำแหน่งพิเศษเปี่ยมด้วยอภิสิทธิ์ดังระบบเทวสิทธิ์

4. การปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
มูลเหตุการณ์ปรับปรุงการปกครอง
นายวรเดช จันทรศร ได้สรุปถึงปัญหาที่สยามประเทศเผชิญอยู่ในขณะนั้นที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่รวม 7 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาความล้าหลังของระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีรูปแบบของการจัดที่ทำให้ เอกภาพของชาติตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคงระบบบริหารล้าสมัยขาดประสิทธิภาพ มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและสับสนการควบคุมและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางไม่ สามารถทำได้ทำให้ความมั่นคงของประเทศอยู่ในอันตรายและยังเปิดโอกาสให้ค่า นิยมของตะวันตกสามารถเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
2. ระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการคลังของสยามประเทศ มิได้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองและเสริมสร้างพระราชอำนาจให้ แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากขาดหน่วยงานกลางที่จะควบคุมดูแลการจัดเก็บ รักษาและใช้เงินรายได้แผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเจ้าพนักงานขุนนางผู้ดูแลการจัดเก็บภาษีรัฐ และเจ้าภาษีนายอากร ให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ได้
3. การควบคุมกำลังคนในระบบไพร่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ไพร่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่มั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ เกิดการขาดเอกภาพในชาติทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล้าหลังไพร่ไม่ สามารถสะสมทางเศรษฐกิจทั้งนี้ เพราะผลเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงของมูลนาย ยังเป็นการทำลายผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และเกิดความเสียหายต่อสยามโดยรวม
4. ปัญหาการมีทาสก่อให้เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมเป็นเครื่องชี้ความป่า เถื่อนล้าหลังของบ้านเมืองที่มีอยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ต่างชาติอาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของลัทธิล่าอาณานิคมที่จะสร้าง ความศิวิไลซ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชาติด้อยพัฒนาในแง่เศรษฐกิจ ระบบทาสของสยามเป็นระบบใช้แรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการเป็นการพัฒนาคุณภาพกำลังคนในชาติ
5. ระบบทหารของสยามประเทศเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ และเกียรติของชาติไว้ได้เป็นระบบที่ยึดถือแรงงานของไพร่เป็นหลักในการ ป้องกันพระราชอาณาจักรทำให้การควบคุมประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และเอกภาพของชาติตั้งอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง ทำให้กองทัพขาดเอกภาพขาดระเบียบวินัยอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมรบไม่อำนวยให้ เกิดการฝึกหัดที่ดีและการเรียกระดมเข้าประจำกองทัพล่าช้าทำให้ไม่ทราบจำนวน ไพร่พลที่แน่นอน
6. ปัญหาข้อบกพร่องของระบบกฎหมาย และการศาลที่ล้าสมัยแตกต่างจากอารยะประเทศไม่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้ กับคนในชาติ และชาวต่างชาติบทลงโทษรุนแรงทารุณการพิจารณา ล่าช้าคดีคั่งค้างไม่สามารถรองรับความเจริญทางการค้าพาณิชย์และสภาพสังคม ได้มีหน่วยงานในการพิจารณาคดีมากเกินไป เกิดความล่าช้าสังกัดของศาลแยกไปอยู่หลายกรมเกิดความล่าช้าและไม่ยุติธรรม ระบบการรับสินบนฝังรากลึกมาแต่ในอดีตปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้สยามถูกกดดันทำให้เกิดความยากลำบากในการปกครองและเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
7. ปัญหาด้านการศึกษาสยามประเทศก่อนปฏิรูปยังไม่มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ไม่มีหน่วย งานที่จะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยตรงการศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะราชวงศ์ขุน นางชั้นสูงเกิดความไม่ยุติธรรม ทำให้โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ลางเลือน ประเทศขาดคนที่มีคุณภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศขาดพลังที่จะช่วยรักษา บ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยอีกทั้งยังทำให้ต่างชาติดูถูกสยามประเทศว่ามี ความป่าเถื่อน ล้าหลัง

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลาง
การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็นกระทรวงต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะ เพื่อให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงการจัดระเบียบ บริหารราชการส่วนกลางซึ่งมีมาแต่เดิมนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัย กรุงศรีอยุธยา คือ มหาดไทย กลาโหม เมือง วัง คลัง นาอันได้ใช้เป็นระเบียบปกครองประเทศไทยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เหตุแห่งการปฏิรูปการปกครอง และระเบียบราชการส่วนกลางในรัชการนี้ ก็เนื่องจากองค์การแห่งการบริการส่วนกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติราชการให้ได้ผลดีและความเจริญของประเทศและจำนวน พลเมืองเพิ่มขึ้นข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่องค์การแห่งราชการบริหารส่วนกลางยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ทรงตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นโดยได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวง แบบใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ขึ้นโดยได้จัดสรรให้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัด ส่วน ดังนี้ คือ
1. กระทรวงมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราช (ในช่วงแรก) แต่ต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดที่มีให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
2. กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช เมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้วกระทรวงกลาโหม จึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต
3. กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ
4. กระทรวงวัง ว่าการในพระราชวัง
5. กระทรวงเมือง (นครบาล) การโปลิศและการบัญชีคน คือ กรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ
6. กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่
7. กระทรวงพระคลัง ดูแลเรื่องเงิน รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน
8. กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งเคยกระจายอยู่ตามกรมต่างๆ นำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
9. กระทรวงยุทธนาธิการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ
10. กระทรวงธรรมการ จัดการเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และอุปถัมภ์คณะสงฆ์
11. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่าง การไปรษณีย์โทรเลขการรถไฟ
12. กระทรวงมุรธาธิการ มีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง

เมื่อได้ประกาศปรับปรุงกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยจึงได้ประกาศตั้งเสนาบดีและให้เลิกอัครเสนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม กับตำแหน่งจตุสดมภ์ให้เสนาบดีทุกตำแหน่งเสมอกันและรวมกันเป็นที่ประชุม เสนาบดีสภา หรือเรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลา ต่อจากนั้นได้ยุบรวมกระทรวง และปรับปรุงใหม่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงต่างๆ ยังคงมีเหลืออยู่ 10 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงการ-ต่างประเทศ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงธรรมการ

การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ด้วยเหตุที่มีการรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองซึ่งเคยแยกกันอยู่ใน 3 กรม คือ มหาดไทยกลาโหมและกรมท่า ให้มารวมกันอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว การปฏิรูปหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคจึงมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (Field) หรือ หน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลางโดยส่วนรวมทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบ เมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิม เพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนแปลงแบบราชอาณาจักรโดยการจัดระเบียบการ ปกครองให้มีลักษณะลดหลั่นตามระดับสายการบังคับบัญชาหน่วยเหนือลงไปจนถึง หน่วยงานชั้นรอง ตามลำดับดังนี้
1. การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล โดยการรวมหัวเมืองต่างๆ เป็นมณฑลตามสภาพภูมิประเทศและความสะดวกแก่การปกครอง มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามรถสูงและเป็นที่วางพระราชหฤทัยแต่ง ตั้งให้ไปบริหารราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
2. การจัดรูปการปกครองเมือง มีการปกครองใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดหน่วยบริหารที่ชื่อว่า "เมือง" ใหม่โดยให้รวมท้องที่หลายอำเภอเป็นหัวเมืองหนึ่งและกำหนดให้มีพนักงานปกครอง เมืองแต่ละเมือง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาเมือง และมีคณะกรรมการเมือง 2 คณะ คือ กรมการในทำเนียบและกรมการนอกทำเนียบเป็นผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงเลือกสรรและโยกย้ายผู้ว่าราชการเมือง
3. การจัดการปกครองอำเภอ อำเภอเป็นหน่วยบริหารราชการระดับถัดจากเมืองเป็นหน่วยปฏิบัติราชการหน่วยสุด ท้ายของรัฐที่จะเป็นผู้บริการราชการในท้องที่ และให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยการรวมท้องที่หลายตำบลเข้าด้วยกัน มีกรมการอำเภอซึ่งประกอบด้วยนายอำเภอปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอร่วมกันรับผิดชอบในราชการของอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นหัวหน้า ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายอำเภอ เป็นอำนาจของข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไปซึ่งได้แก่ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และเสมียน พนักงาน ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหากท้องที่อำเภอใดกว้างขวางยากแก่ การที่กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ทั่วถึงได้และท้องที่นั้นยังมีผู้คนไม่มาก พอที่จะยกฐานะเป็นอำเภอหรือกรณีที่ท้องที่ของอำเภอมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลที่ ว่าการอำเภอก็ให้แบ่งท้องที่ออกเป็น กิ่งอำเภอเพื่อให้มีพนักงานปกครองดูแลได้แต่กิ่งอำเภอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ อำเภอและอยู่ในกำกับดูแลของกรรมการอำเภอ
4. การจัดรูปการปกครองตำบลหมู่บ้าน อำเภอแต่ละอำเภอมีการแบ่งซอยพื้นที่ออกเป็นหลายตำบลและตำบลก็ยังซอยพื้นที่ ออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองสุดท้ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดการปกครองระดับนี้ มุ่งหมายที่จะให้ราษฎรในพื้นที่ เลือกสรรบุคคลขึ้นทำหน้าที่เป็นธุระในการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเป็นทั้ง ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน คือเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลืออำเภอ และเป็นตัวแทนของรัฐสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎร์ ตลอดจนช่วยเก็บภาษีอากรบางอย่างให้รัฐ
 
การปรับปรุงการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นจากต่างประเทศมาดำเนินการโดยริเริ่มทดลองให้มีการจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯและการสุขาภิบาลหัวเมือง รายละเอียดดังนี้
1. การจัดการสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้จัดการบำรุงท้องถิ่น แบบสุขาภิบาล ขึ้นในกรุงเทพ อันเป็นอิทธิพลสืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสไปดู กิจการต่างๆ ในยุโรป และเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) ติเตียนว่ากรุงเทพฯสกปรกที่รักษาราชการทั่วไปของประเทศในขณะนั้นได้กราบทูล กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวต่างประเทศ มักติเตียนว่ากรุงเทพฯ สกปรกไม่มีถนนหนทางสมควรแก่ฐานะเป็นเมืองหลวงพระองค์ จึงโปรดเกล้าให้จัดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นโดยมีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 ออก ใช้บังคับการจัดการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล การบริหารกิจการในท้องที่ของสุขาภิบาลพระราชกำหนดได้กำหนดให้มีการประชุม ปรึกษากันเป็นคราวๆ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้รับหน้าที่ในด้านการอนามัยและการศึกษาขั้นต้นของ ราษฎร ได้ แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ชนิด คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล โดยสุขาภิบาลแต่ละชนิดมีหน้าที่
1. รักษาความสะอาดในท้องที่
2. การป้องกันและรักษาความเจ็บไข้ในท้องที่
3. การบำรุงและรักษาทางไปมาในท้องที่
4. การศึกษาขึ้นต้นของราษฎร

พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้ใช้อยู่จนกระทั่งหมดสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองของประเทศและสุขาภิบาล เริ่มประสบปัญหาต่างๆ จึงทำให้การทำงานของสุขาภิบาลหยุดชะงักและเฉื่อยลงตามลำดับ จวบจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรมุ่งหวังที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย จึงตราพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 เพื่อส่งเสริมให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลอย่างกว้างขวาง

5. การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดย คณะราษฎร ซึ่งนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในการเมืองการปกครองของไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  เป็นหลักในการปกครอง
เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จแล้วก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก  แม้จะเป็นกฎหมายที่ใช้ชั่วคราวก็ตาม และหลักจากนั้นประเทศไทยก็ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักมาโดยตลอด  แม้จะมีการยุบเลิกรัฐธรรมนูญบ้างก็เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว  ในที่สุดก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทดแทนเสมอไป คงกล่าวได้ว่า การปกครองของไทยนั้นพยายามที่จะยึดหลักการปกครองโดยกฎหมาย คือ ให้มีบทบัญญัติ กฎเกณฑ์ กติกาที่แน่นอนเป็นแนวทางในการปกครอง
ประเทศไทยมีการใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครอง จนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 รวมแล้ว14ฉบับทุกฉบับจะประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้น แม้บทบัญญัติของธรรมนูญแต่ละฉบับจะเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ตามหลักสากลเช่นในทุกฉบับจะต้องมีสมาชิกรัฐสภาประเภทแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยร่วมกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ รัฐสภาบางสมัยมีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เป็นต้น ก็เป็นเพราะเหตุผลและความจำเป็นบางประการตามสถานการณ์ในขณะนั้น

การปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่าต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งอาจวิเคราะห์แยกแยะหลักการสำคัญๆ ของการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยได้ดังนี้
1. อำนาจอธิปไตยและการใช้อำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับ  กำหนดอำนาจอธิปไตยซึ่งถือเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง ให้มีการแบ่งแยกการใช้ออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ  หรืออำนาจในการออกกฎหมาย  อำนาจบริหาร หรืออำนาจในการนำกฎหมายไปบังคับใช้ และบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนและอำนาจตุลาการ หรืออำนาจในการตัดสินคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น  องค์กรที่ใช้อำนาจทั้ง 3 ส่วนนี้ คือ รัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และ ศาล เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ โดยใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์การกำหนดให้มีการแยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน และให้มีองค์กร 3 ฝ่าย รับผิดชอบไปองค์กรแต่ละส่วนนี้  เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ที่ไม่ต้องการให้มีการรวมอำนาจแต่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน  เพราะถ้าให้องค์กรใดเป็นผู้ใช้อำนาจมากกว่าหนึ่งส่วนแล้วอาจเป็นช่องทางให้เกิดการใช้อำนาจแบบเผด็จการได้  เช่น ถ้าให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร  คณะรัฐมนตรีก็อาจจะออกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  และนำกฎหมายนั้นไปบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว  การแยกอำนาจนั้นเป็นหลักประกันให้มีการค้านอำนาจซึ่งกันและกัน และป้องกันการใช้อำนาจเผด็จการ

2. รูปของรัฐประเทศไทยจัดว่าเป็นรัฐเดี่ยว  รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับกำหนดไว้ว่า ประเทศไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  ศูนย์อำนาจทางการเมืองและการปกครองมาจากแหล่งเดียวกับประชาชนทั้งหมดอยู่ภายใต้เอกรัฐซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอำนาจหนึ่งอำนาจเดียว  พร้อมทั้งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเดียวกันการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศการปกครองภายในประเทศแม้จะมีการแบ่งอำนาจการปกครองไปตามเขตการปกครอง  เช่น จังหวัด  อำเภอ ก็เป็นเพียงการแบ่งอำนาจตามลักษณะการปกครองส่วนภูมิภาค เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในส่วนกลางและความสะดวกของประชาชนในการรับบริการจากรัฐ  อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ที่รัฐบาลในส่วนกลาง  หน่วยงานในภูมิภาคเป็นเพียงผู้รับเอาไปปฏิบัติเท่านั้น ไม่สามารถที่จะกำหนดการดำเนินการในความรับผิดชอบของตนโดยอิสระ
การปกครองระดับท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล รวมทั้งการปกครองรูปกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยานั้น  แม้จะมีอิสระพอสมควรในการดำเนินการ และมีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง มีลักษณะในการกระจายอำนาจ การปกครองแต่ก็ยังไม่เป็นอิสระหรือการปกครองตนเองอย่างแท้จริง  รัฐบาลในส่วนกลางยังมีส่วนเข้าไปควบคุมหรือร่วมในการดำเนินการอยู่ด้วย  อย่างไรก็ตามการปกครองระดับท้องถิ่นนี้มีส่วนในการฝึกประชาชนให้รู้จักการปกครองตนเองตามหลักการประชาธิปไตย

3. ประมุขแห่งรัฐ  รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับกำหนดรูปแบบการปกครองไว้ว่าเป็น แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด  ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยปกติรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล การกำหนดเช่นนี้ หมายความว่าอำนาจต่างๆ จะใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ซึ่งในความเป็นจริงอำนาจเหล่านี้มีองค์กรเป็นผู้ใช้ ฉะนั้นการที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการผ่านทางองค์กรต่างๆ นั้นจึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติ  แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่องค์กร ที่เป็นผู้พิจารณานำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ จะได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือการเมือง และกำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการปฏิบัติการทางการปกครองทุกอย่าง แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระราชอำนาจบางประการที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและเป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัยจริงๆ ได้แก่ การตั้งคณะองคมนตรี  การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น
พระราชอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง คือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว  และนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้  ก็อาจใช้พระราชอำนาจยับยั้งเสียก็ได้ ซึ่งรัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งนั้นไปพิจารณาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนี้

4. สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชน  รัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้อย่างกว้างขวาง สิทธิ  และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นี้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย คือ มีการระบุสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ครบครัน เช่น เสรีภาพในการแสดงออกในการชุมนุมโดยสงบ  และปราศจากอาวุธในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม เป็นต้น รวมทั้งมีหลักประกัน ในเรื่องสิทธิต่างๆ คือ การละเมิดสิทธิจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ คือ จะต้องไม่ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ  เป็นต้น ส่วนหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
 (1) บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้
(2) บุคคลมีหน้าที่ที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยสุจริต
(3) บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ
(4) บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
(6) บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
(7) บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
(8) บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายบัญญัติ
(9) บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์และป้องกันศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
(10) บุคคลมีหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ

5. การปกครองแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูฐกำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา คือ ให้มีรัฐสภาเป็นหลักในการปกครอง ซึ่งนอกจากทำหน้าที่พิจารณาบัญญัติกฎหมาย และเป็นตัวแทนแสดงเจตนารมณ์แทนประชาชน แล้ว ยังเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี และควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล
5.1 องค์ประกอบของรัฐสภา รัฐสภาไทยเคยมีใช้ทั้งระบบสภาเดียวและระบบ 2 สภา แต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่รวมทั้งฉบับปัจจุบันมักใช้ระบบ 2 สภา คือ มีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยมีลักษณะและหน้าที่ดังต่อไปนี้
5.1.1. วุฒิสภา  สมาชิกประกอบด้วยบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีซึ่งเท่ากับให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกสรร วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ คอยกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาและตัดสินปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เช่น การสถาปนาพระมหากษัตริย์ การประกาศสงคราม เป็นต้น จำนวนของวุฒิสมาชิกขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญกำหนดแต่ส่วนใหญ่มักกำหนดเป็นสัดส่วน และน้อยกว่าจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 กำหนดให้มี 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วาระในการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิก คือ 4 ปีอย่างไรก็ตามที่มาของวุฒิสมาชิกอาจได้มาโดยวิธีการอื่นใดนอกเหนือจากนี้ก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ
5.1.2. สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เว้นแต่จะมีการยุบสภาก่อนครบวาระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ
วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แม้ว่าฝ่ายแรกจะมาจากการแต่งตั้ง  และฝ่ายหลังมาจากการเลือกตั้ง แต่การใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรมีมากกว่า เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติแต่วุฒิสมาชิกไม่มี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล  แต่วุฒิสมาชิกไม่มี ส่วนอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วของวุฒิสภาก็ไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด เพราะถ้าสภาผู้แทนราษฎร โดยที่มีเสียงเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดยังยืนยันตามเดิม ก็ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภานั้น รัฐธรรมนูญบางฉบับก็กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นบางฉบับก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในตอนแรกกำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา แต่ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ทั้งนี้ให้บังคับใช้หลังมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา

5.2 หน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภาเป็นสถาบันตัวแทนแสดงเจตนารมณ์แทนประชาชน มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ
5.2.1. การบัญญัติกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา คือ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่การเสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะทำได้ง่ายกว่า ดังตัวอย่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 กำหนดว่า ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากพรรคการเมืองที่ผู้เสนอสังกัดอยู่ และมี ส.ส. พรรคเดียวกันลงชื่อร่วมสนับสนุน อีกอย่างน้อย 20 คน การพิจารณาจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาก่อน หากเห็นชอบให้เสนอต่อวุฒิสภาให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบด้วย ถือว่าผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยก็จะใช้สิทธิยับยั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาใหม่ หากยืนยันความเห็นเดิมโดยมติที่มีเสียงเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกก็ถือว่า พระราชบัญญัตินั้นผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะฉะนั้นร่างพระราชบัญญัติใดหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถที่จะเป็นกฎหมายขึ้นมาได้
5.2. 2. ควบคุมฝ่ายบริหาร รัฐสภามีหน้าที่ควบคุมการบริหารของคณะรัฐมนตรีทำได้หลายวิธี คือ
ก. การพิจารณานโยบายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะดำเนินการบริหารประเทศอย่างไร ปกติรัฐสภาจะพิจารณาและลงมติว่า สมควรให้ความเห็นชอบไว้วางใจหรือไม่ หากไม่ให้ความไว้วางใจ รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐสภาเพียงแต่รับฟังและอภิปรายแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่มีการลงมติ
ข. การตั้งกระทู้ถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาล หรือรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือเรื่องที่อยู่ในหน้าที่  แต่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบ ถ้าเห็นว่าเรื่องที่ตั้งกระทู้นั้นเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดินที่ยังไม่ควรเปิดเผยการตอบกระทู้ถามในแต่ละสภาอาจตอบในหนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ถาม
ค. การยื่นญัติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะในกรณีที่เห็นว่าดำเนินการบริหารเป็นผลเสียต่อส่วนรวม ปกติการอภิปรายและลงมตินั้นกระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นมติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ

การควบคุมฝ่ายบริหารโดยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปนี้ถือว่าเป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุด  และจุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้เปิดได้ไม่ยากนัก เพื่อให้ ส.ส. มีโอกาสตรวจสอบการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี จะเห็นได้จากการกำหนดจำนวน ส.ส. ที่จะยื่นญัตติไว้เพียง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแม้ว่าในการเปิดอภิปรายแต่ละครั้ง เมื่อลงมติกันแล้ว คะแนนไม่ไว้วางใจมักจะไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เพราะการลงคะแนนจะเป็นไปตามระบบพรรค ฝ่ายรัฐบาลจะมี ส.ส. เกินครึ่งอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีผลที่จะทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งด้วยมติ แต่เนื้อหาถ้อยความในการอภิปรายนั้นจะได้รับการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบทำให้ผู้ถูกอภิปรายอาจเสียคะแนนนิยมได้  ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในการตอบโต้ข้อบกพร่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย  อย่างไรก็ตาม ส.ส. แต่ละคน จะมีสิทธิลงชื่อในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายนี้เพียงสมัยประชุมละครั้งเดียว

6. คณะรัฐมนตรี รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิที่จะควบคุมการบริหารของคณะรัฐมนตรี เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันตัวแทนแสดงเจตจำนงของประชาชน ถ้าเห็นว่า คณะรัฐมนตรีดำเนินการบริหารบกพร่องหรือไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็อาจเปิดอภิปรายทั่วไป  เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะมีผลให้รัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไป
เมื่อรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาควบคุมรัฐบาล ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลมีสิทธิควบคุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย เป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเกินไปเครื่องมือควบคุมสภาผู้แทนราษฎรคือ การยุบสภา นายกรัฐมนตรีมีสิทธิทูลเกล้าฯ เสนอเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้ การยุบสภา คือ การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน เพราะฉะนั้นใน กรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องระมัดระวังบทบาทพอสมควรเช่นกัน เพราะแทนที่รัฐบาลจะเลือกเอาการลาออกหรือยอมให้เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลอาจเลือกเอาการยุบสภามาใช้ก็ได้  โดยปกติตามหลักการประชาธิปไตย เมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น รัฐบาลตราพระราชกำหนดออกมาบังคับใช้ แต่สภาสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เป็นต้น เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ปกติรัฐบาลจะลาออกเมื่อเห็นว่าในข้อขัดแย้งนั้นประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลจะยุบสภาในกรณีที่เห็นว่าประชาชนสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ารัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลต่อไป  เรื่องยุบสภานี้เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาแต่อย่างใด
6.1 องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีร่วมคณะ อีกจำนวนไม่เกินที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ให้มีรัฐมนตรีไม่เกิน 48 คน นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี ปกตินายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีนั่นเอง และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะซึ่งการคัดเลือกมักจะต้องคำนึงถึงเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก เพราะรัฐบาลต้องได้รับเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และในการแต่งตั้งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
6.2 อำนาจและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี  อำนาจและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมีหลายประการ ได้แก่ อำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภา การตราพระราชกำหนด การตราพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้รับการกำหนดให้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับบทกฎหมาย  พระราชหัตถเลขา พระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ในฐานะเป็นรัฐบาล  คณะรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวง  ทบวง กรมต่างๆ วางระเบียบข้อบังคับให้กระทรวง ทบวง กรม ถือปฏิบัติและพิจารณาลงมติเรื่องต่างๆ ที่กระทรวง ทบวง กรมเสนอมาและยังมีอำนาจหน้าที่อีกหลายประการที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ

7. ตุลาการ  อำนาจตุลาการหรืออำนาจในการตัดสินคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย อำนาจนี้เป็นของศาลยุติธรรมทั้งหลาย เป็นอำนาจที่สำคัญที่สุดอำนาจหนึ่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ฝ่ายตุลาการจึงต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับการปกครองไทย  หลักประกันสำหรับตุลาการที่จะมีอิสระในการวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอิทธิพลจากฝ่ายอื่นที่บีบบังคับเปลี่ยนคำพิพากษา  คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวงการตุลาการทั้งสิ้น  ทั้งจากการเลือกตั้งโดยตุลาการด้วยกัน  และโดยตำแหน่ง มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการโดยตำแหน่ง
คณะกรรมการตุลาการเป็นองค์กรอิสระในการดำเนินการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ย้าย ถอดถอนเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา  หมายความว่า การให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายบริหารหรือรัฐมนตรีจะดำเนินการตามใจชอบไม่ได้การกำหนดเช่นนี้ทำให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินคดีของผู้พิพากษาได้และทำให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระสามารถที่จะถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารได้ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย      
   
8. ตุลาการรัฐธรรมนูญ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในการปกครองของไทยจะเห็นได้จากการจัดตั้งให้มี  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาว่า การกระทำหรือกฎหมาย ที่ยกร่างขึ้นนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดหรือแย้งก็กระทำไม่ได้หรือเป็นโมฆะ  เพราะรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสูงสุด  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธาน  ประธานวุฒิสภา  ประธานศาลฎีกา  อัยการสูงสุด  เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง  มีผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์อีก 6 คน ที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งมาสภาละ 3 คน (ซึ่งจะต้องไม่ได้เป็นสมาชิกสภาทั้งระดับรัฐและท้องถิ่น  ข้าราชการประจำพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานท้องถิ่น) ร่วมเป็นกรรมการด้วย  ผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาการกระทำใดๆ หรือร่างพระราชบัญญัติ และกฎหมายที่ใช้บังคับคดีว่าขัดแย้งต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่  คือ นายกรัฐมนตรี  สมาชิกสภา (ตามจำนวนและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด) และศาล

9. การปกครองท้องถิ่น การปกครองของไทยให้ความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่น  และใช้หลักการกระจายอำนาจ จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า รัฐพึงส่งเสริมท้องถิ่นให้มีสิทธิปกครองตนเองได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ  ปัจจุบันมีการจัดหน่วยการปกครองท้องถิ่นหลายแบบและหลายระดับ คือ กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  สุขาภิบาล เป็นต้น แต่ละแบบก็ให้สิทธิประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามลักษณะการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถดำเนินการของตนเองได้  อย่างไรก็ตามในพฤติกรรมความเป็นจริงรัฐบาลในส่วนกลาง หรือฝ่ายบริหารก็มีส่วนร่วมในการบริหารและควบคุมการปกครองท้องถิ่นอยู่มาก  โดยเฉพาะในบางรูป  เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด  สุขาภิบาล และสภาตำบล  และบางรูป คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ในบางสมัยก็ใช้วิธีการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง เป็นต้น

10. พรรคการเมือง โดยปกติในการปกครองแบบประชาธิปไตย  จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเพราะพรรคการเมืองเป็นที่สร้างพลังให้กับอุดมการณ์ เป็นที่ที่อาจค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน และเป็นสถาบันที่ทำให้คนต่างท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันทางการเมืองได้ในไทยพรรคการเมืองก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะแต่ละครั้งที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งจะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเสมอ แม้ในบางสมัยจะไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองก็ตามแต่รัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ จึงมีการรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมือง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมายเป็นทางการก็ตาม อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองของไทยมีบทบาทในวงแคบ คือมีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ เป็นนักการเมือง ประชาชนโดยทั่วไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองไม่มากนัก

11. การเลือกตั้ง เป็นวิธีการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตนเพราะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 แต่การเลือกตั้งไม่ได้มีประจำสม่ำเสมอมีว่างเว้นในระยะที่ใช้รัฐธรรมนูญปกครองชั่วคราวภายหลังการปฏิวัติ  อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเท่าที่เคยมีมาก็มีลักษณะแบบประชาธิปไตย  ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและความสะดวก ตลอดจนหลักประกันในการใช้สิทธิใช้เสียง  ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบโดยตรง  คือ ประชาชนเลือก ส.ส. โดยมีครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คือ ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลไปเลือก ส.ส. อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งที่มีมาเคยใช้ทั้งรวมเขตและแบ่งเขต  ระยะหลังมีแนวโน้มที่ใช้ระบบผสมคือ จังหวัดไหนมี ส.ส. จำนวนมากก็ใช้วิธีแบ่งเขต โดยมีการกำหนดจำนวนสูงสุดที่เขตหนึ่งจะพึงมีเอาไว้  เกินจากนั้นต้องใช้วิธีแบ่งเขต ส่วนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงนั้น  เมื่อก่อนมีผู้ไปลงคะแนนมักจะไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ แต่ในระยะหลังมีแนวโน้มดีขึ้น คือ มีผู้ใช้สิทธิกว่าครึ่งประมาณร้อยละ 60 อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งก็ยังมีจุดอ่อน กล่าวคือมีการซื้อเสียงและใช้เงินในการหาเสียงเกินกว่าที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้  ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ไม่ได้ ผู้ที่เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริงและแนวทางประชาธิปไตยกลายเป็นประโยชน์สำหรับนายทุนและนักธุรกิจแทนที่จะเป็นประชาชน

6. การเมืองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
ประชาชนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองพอสมควร  สามารถที่จะแสดงออกทางการเมืองได้  ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมือง แม้จะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองมารองรับ  เช่น ในกาเลือกตั้งหลายครั้งแม้ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง แต่ในพฤติกรรมความเป็นจริงนั้น  ก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นพลายพรรค  โดยอาศัยเสรีภาพที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทการรวมกลุ่มเป็นสมาคมสหภาพ ก็สามารถทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  การเคลื่อนไหวทางการเมือง  เช่น การเดินขบวน หรือการชุมนุมกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล  ก็มีปรากฏและไม่ได้รับการขัดขวางในการแสดงออก  ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดกฎหมาย  เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และโฆษณา  ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง  จนน่าจะเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยนั้น ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน  ตามหลักประชาธิปไตย  ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศให้กฎอัยการศึก  และมีประกาศหรือคำสั่งและกฎหมายบางฉบับจำกัดเสรีภาพในทางการเมืองบ้าง แต่ในทางปฏิบัติก็มีการผ่อนผันและไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้จนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกทางการเมือง

ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ใช้มาก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาทางการเมืองของไทยต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยมีระบบพรรคการเมือง  ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมาก เป็นต้นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะพ้นจากการเป็น ส.ส.ทันทีที่ลาออกหรือถูกขับไล่ออกจากพรรค  จึงทำให้พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการในสภา  นอกจากนี้  พะราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ยังพยายามวางแนวทางให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นพรรคที่มีฐานสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวาง  กล่าวคือต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องอยู่ในทุกภาค  ภาคละไม่น้อยกว่า 5 จังหวัด จังหวัดหนึ่งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

การเมืองระดับท้องถิ่น  อันได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นระดับ และรูปแบบที่สำคัญนั้นก็ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง  สมาชิกสภาเทศบาล  และสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อต้นปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา  หลังจากที่ได้งดเว้นมานาน  ปัจจุบันนี้ก็ได้ให้มีการดำเนินการ  การปกครองระดับท้องถิ่นในแบบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองระดับท้องถิ่น  อย่างไรก็ตามการเมืองระดับท้องถิ่นนี้ก็ยังไม่สู้ได้รับการสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางนัก  จะเห็นได้จากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก  รูปแบบลักษณะของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ยังค่อนข้างเป็นไปแบบเดิม คือ ไม่สู้อิสระในการดำเนินการมากนัก  ทางการยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมและดำเนินการอยู่และยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการที่จะเห็นรูปการเมืองการปกครองไทยพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ  หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองได้ถูกต้อง  สนใจที่จะใช้สิทธิทางการเมืองลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  และเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าสู่สภา  บทบาท และพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง  และกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้  ทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายขึ้นและเมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่  มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว  ก็เป็นที่แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่คู่กับการปกครองไทยตลอดไป

ปัจจุบันนี้จากการพิจารณาบรรยากาศการเมืองไทย  อาจกล่าวได้ว่า  มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก  ประชาชนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากขึ้น  จะเห็นได้จากสถิติผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระยะหลังมีจำนวนเกินครึ่งทุกครั้ง  (การเลือกตั้งเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2526 มีผู้ไปลงคะแนนจำนวนร้อยละ 50.76 การเลือกตั้งเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ร้อยละ 61.43 การเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ร้อยละ 63.56  และการเลือกตั้งเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ร้อยละ 61.59) มีการเผยแพร่ข่าวสารการเมืองอย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนทุกประเภททั้งหนังสือพิมพ์  วิทยุ และโทรทัศน์ทำให้ประชาชนสนใจและเข้าใจการเมืองมากขึ้น  แม้ว่าจะยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่บ้าง  เช่น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินที่เข้ามามีบทบาทสูงในการเลือกตั้ง  หรือการที่นักการเมืองบางคน  มีบทบาทเป็นนักธุรกิจการเมืองแต่ในการเมืองระบบเปิด  และในยุคที่ข่าวสารที่แพร่หลายได้กว้างขวางเช่นทุกวันนี้  ก็คงพอที่จะให้ความเชื่อมั่นได้ว่า  ประชาชนจะมีส่วนช่วยควบคุมให้การเมืองพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับประชาชนโดยส่วนรวมมากขึ้น  เพราะการกระทำที่ไม้ชอบมาพากลของนักการเมืองจะถูกเปิดเผยให้ทราบต่อสาธารณะทำให้ผู้ที่เป็นนักการเมืองต้องระมัดระวัง พฤติกรรมของตนตามสมควร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่าในระบอบประชาธิปไตย  นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในระดับชาติ  หรือกลุ่มการเมืองในระดับท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ แล้วยังต้องการให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์  เช่น กลุ่มอาชีพ  กลุ่มอุดมการณ์  กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ไม่ต้องการเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง  แต่ทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาหรือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้น  แสงดความต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบ ทำให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องของกลุ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ซึ่งปัจจุบันนี้ในการเมืองไทยก็มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่จัดตั้งเป็นทางการ  เช่น สหภาพ  สมาคม หรือจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ  เช่น  กลุ่ม  ชมรมต่างๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ  หรือเฉพาะกาลเป็นครั้งคราว เข้ามามีบทบาทในทางการเาองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายตามที่กลุ่มชนต้องการ   เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักศึกษา  กรรมกร  ชาวไร่  ชาวนา  ก็มีการชุมนุมหรือเดินขบวนเพื่อให้ทางการได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหรือกับส่วนรวมอยู่เสมอ  เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องตื่นตัวอยู่เสมอในอันที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน  การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาเช่นนี้  ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย  ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย  เพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการพยายามสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่จะขาดเสียมิได้  คือ ประชาชนทุกคนต้องมี ขันติธรรม  กล่าวคือ สมาชิกในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้มีความอดกลั้น  อดทนอย่างยิ่ง  ต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับความเห็นของตนได้  ต้องรอฟังความเห็นส่วนใหญ่จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการ  หรือแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งต้องทนต่อสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้  กระบวนการของประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องอาศัยเวลา  ต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง  สมาชิกของสังคมนี้จึงต้องได้รับการปลูกฝังคุณสมบัติดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัยและพัฒนาขึ้นตามลำดับ  ดังนั้น  การปฏิวัติ (การหมุนกลับ  การเปลี่ยนแปลงระบบ) หรือการรัฐประหาร (มีการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน) จึงเป็นวิธีการซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการปกครองระบอบนี้อย่างแน่นอน  เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องมีการล้มเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ  คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ทุกครั้งไป  เป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและของประชาชนต้องชะงักงันไป

7. สาระน่ารุ้ประชาธิปไตยไทย
ประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่มติปวงชน หรือเสียงข้างมาก เกิดจากการแสดงออกของผู้แทนปวงชน ผู้แทนปวงชนหรือผู้แทนราษฎร
ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ หมายถึง แค่ประชาธิปไตยทางการเมือง (ประชาชน มีสิทธิเสรีภาพ เลือกตั้ง คัดค้าน ถอดถอน ผู้แทนได้) เท่านั้น หากต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (มีการกระจายทรัพย์สิน รายได้และงานที่เหมาะสม อย่างเป็นธรรม มีการแข่งขันด้านการผลิตและการค้าที่เป็นธรรม) และประชาธิปไตยทางสังคม (ประชาชนมีการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิเสรีภาพ และโอกาสการเข้าถึง ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม อย่างเสมอภาคกัน) ด้วย ประชาธิปไตย 2 อย่าง หลังนี้ ประเทศไทยยังมีน้อย รวมทั้ง ไม่มีการให้การศึกษาให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารประชาชนในเรื่องประชาธิปไตยทาง เศรษฐกิจและสังคมมากพอเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยทางการเมืองของไทยยังพัฒนาไปได้ช้ามาก
ระบบการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย หากประชาชนต้องการจะตรวจสอบว่าสภาพการเมืองในตอนไหน เป็นประชาธิปไตยที่แท้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าสภาพการเมืองในขณะนั้น ประกอบไปด้วยสภาวะความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อย 6 ข้อ ดังต่อไปนี้หรือไม่ มากน้อยเพียงไร
1. การเลือกตั้งผู้แทนจะต้องเป็นอิสระและยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อโกงการเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง และการที่กลุ่มอภิสิทธิชนใช้อำนาจอิทธิพลระบอบอุปถัมภ์ ให้คนต้องเลือกเฉพาะพวกเขาบางคน
2. จะต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ดี เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรประชาชนสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ และต่างฝ่ายต่างตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมทั้งภาคประชาชนสามารถถอดถอนผู้แทนที่มีพฤติกรรมไม่ชอบธรรมได้
3. การบริหารบ้านเมืองจะต้องโปร่งใส มีเหตุผลอธิบายได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีการคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคพวก หาประโยชน์ส่วนตัว
4. มีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ขนบธรรมเนียม ที่มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่ อย่างมี เหตุผล มีความคงเส้นคงวา คนส่วนใหญ่ยอมรับ และรัฐธรรมนูญ กฎหมาย เหล่านั้นมีผลบังคับใช้ด้วย
5. สื่อมวลชนและองค์กรประชาชนมิสิทธิเสรีภาพ, เป็นอิสระ, มีศักดิ์ศรี และเข้มแข็ง ประชาชนมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็น การสมาคม การชุมนุม การทำประชาพิจารณ์ (เปิดอภิปรายความคิดเห็นประชาชนเรื่องกฎหมายและโครงการต่างๆ) และการลงประชามติว่า ประชาชนจะรับหรือไม่ในเรื่องสำคัญๆ
6. มีการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สู่ประชาชน ทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง สม่ำเสมอ
ดังนั้นถ้าเรานำหลักการตรวจสอบประชาธิปไตย 6 ข้อนี้มาตรวจสอบสภาพการเมืองในช่วงปี 25442549 ซึ่งมีการเลือกตั้งและผู้สมัคร สส. จากพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก เราจะพบว่าพวกเขาเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจผูกขาด แทรกแซงองค์กรอิสระ ปิดปากสื่อมวลชนและประชาชน คอรัปชั่นหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ฯลฯ ทำให้ระบอบการปกครองแบบทักษิณเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียงเปลือกนอก ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ประชาธิปไตยของแท้จะต้องมีสภาวะทั้ง 6 ข้อ อยู่พร้อมหน้ากัน ถ้ามีเพียงบางส่วนก็อาจจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยบางส่วน ซึ่งอย่างน้อยถ้าเรารู้จักปัญหา เราก็จะเห็นหนทางที่จะช่วยกัน พัฒนาการเมืองและสังคมของเราให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นต่อไปได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น