หน้าแรก

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การประเมินผลนโยบาย



การประเมินผลนโยบาย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

                   การประเมินผลโครงการ (Project Evaluation) เป็นคำที่ประกอบขึ้นจากคำว่าการประเมินผล (Evaluation) กับคำว่าโครงการ (Project) ซึ่งหมายความได้ว่าเป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์บางประการ โดยที่ผู้จัดทำโครงการมุ่งหวังว่าเมื่อทำกิจกรรมนั้นตามหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แล้ว จะบรรลุวัตถุประสงค์ในบางประการหรือหลายประการที่ตั้งไว้ หากมีกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนหรือกระบวนการที่ดำเนินการแตกต่างกันก็อาจได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2541)

                1. ความหมายของการประเมินผลนโยบายสาธารณะ
Thomas R. Dye (1984) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง การเรียนรู้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายสาธารณะ
Bryant & White (1976) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นความพยายามอย่างหนึ่งในการบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และกำหนดว่าทำไมสิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น การประเมินจึงหมายความได้ว่าเป็น ความพยายามที่จะค้นหาว่าแผนหรือโครงการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นไปตามที่คาดหมายไว้หรือไม่เพียงใด
Jones Charles (1977) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง การกระทำที่มีระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงผลนโยบายในลักษณะเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในลักษณะผลกระทบของการดำเนินการตามนโยบายที่มีต่อปัญหาของสังคม ที่นโยบายนั้นมุ่งแก้ไขการกระทำที่เป็นหน้าที่ประจำอย่างหนึ่งของรัฐบาลในทุกระบบการเมือง เป็นเสมือนเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ทบทวน ตรวจตรา และประเมินความก้าวหน้าในการทำงานของตนเอง
Robbin. S. (1980) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นกระบวนการของการดูแลติดตาม เพื่อที่จะดูว่าองค์กรหรือหน่วยงานได้รับและใช้ทรัพยากรเพื่อการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด

William N. (1981) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง ขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์นโยบายที่มุ่งผลิตข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผลของการดำเนินตามนโยบายว่า สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคม สนองคุณค่าของสังคม และแก้ไขปัญหาที่เป็นเป้าหมายของนโยบายได้หรือไม่อย่างไร มุ่งตอบปัญหาที่ว่าหลังจากที่ได้นำนโยบายไปปฏิบัติแล้วเกิดอะไรขึ้น
Rossi & Freeman (1982) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นการประยุกต์ใช้กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์อย่างเป็นระบบ เพื่อประเมินกรอบความคิด รูปแบบการดำเนินงาน และประโยชน์ของแผนงานในการเข้าแทรกแซงทางสังคม กล่าวคือ การวิจัยประเมินผลเกี่ยวข้องกับการใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อวินิจฉัยและปรับปรุงการวางแผน ประสิทธิผล และประสิทธิภาพของแผนงาน
Alkin, M.C. & Hofstetter, C.H. (2002) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นกระบวนการกำหนดขอบเขตการตัดสินใจ การเลือกข้อมูลที่เหมาะสม การเก็บรวมรวมข้อมูล ตลอดจนการเขียนรายงานสรุป เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
Anderson James (2003) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมาณการ การเปรียบเทียบผลของการแปลงนโยบายสู่ภาคปฏิบัติกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในทุกขั้นตอนของกระบวนการนโยบาย ในการประเมินผลนโยบายนั้นผู้ประเมินจะต้องทราบอย่างน้อยที่สุดในประเด็นต่อไปนี้คือ เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของนโยบายคืออะไร การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายกำหนดไว้อย่างไร และผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งหมดเป็นอย่างไร

สมคิด พรมจุ้ย (2542) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสารสนเทศเพื่อช่วยในการบริหาร ซึ่งผู้บริหารสามารถใช้ในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการหรือแผนงาน ตลอดจนการพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของโครงการหรือแผนงานนั้นๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
สมพิศ  สุขแสน (2545) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง กระบวนการที่มุ่งแสวงหาคำตอบว่านโยบาย/แผนงาน/โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ เพียงใด โดยมีมาตรฐานและเครื่องมือในการวัดที่แม่นตรงและเชื่อถือได้ การประเมินผลจึงคล้ายกับการหาใครสักคนหนึ่งเอากระจกมาส่องให้เราเห็นหน้าตาตัวเองว่า สวยงามดีแล้วหรือยัง มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง จะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง
จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ (2551) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง การประเมินทุกกระบวนการของนโยบาย เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวิเคราะห์นโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย และการประเมินผลกระทบหรือผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากนโยบาย

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (อ้างใน จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์, 2551) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง กระบวนการที่มุ่งแสวงหาคำตอบ สำหรับคำถามที่ว่า นโยบาย/แผนงาน/โครงการ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้แต่ต้นหรือไม่และระดับใด
เสน่ห์ จุ้ยโต (2551) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของแผนและโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องของการวัดและการตัดสินใจเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานตามแผนและโครงการ โดยเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และมาตรฐานที่กำหนดไว้
ไตรรัตน์ โภคพลากร (2551) การประเมินผลนโยบายสาธารณะ หมายถึง การตรวจสอบ การวัด และวิเคราะห์ เพื่อกำหนดคุณค่าและความสำเร็จ และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลและนำข้อมูลที่ได้มานั้นเพื่อทำการสรุปผล
กล่าวโดยสรุป การเรียนรู้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายสาธารณะเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวิเคราะห์นโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย และการประเมินผลกระทบหรือผลที่เกิดขึ้น เพื่อแสวงหาคำตอบ สำหรับคำถามที่ว่า นโยบาย/แผนงาน/โครงการ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้แต่ต้นหรือไม่และระดับใด และการวัดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลและนำข้อมูลที่ได้มานั้นเพื่อทำการสรุปผล

                2. ความสำคัญของการประเมินผลนโยบาย
การที่ต้องทำการประเมินนโยบายตั้งแต่มีการดำเนินการตามนโยบาย เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอว่า นโยบายสาธารณะหรือโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของนโยบายสาธารณะนั้น ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงต่ำเพียงไร มีปัญหาอุปสรรคหรือข้อบกพร่องเกิดขึ้นอย่างไรหรือไม่ มีการเบี่ยงเบนไปจากนโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ ถ้ามีการเบี่ยงเบนก็จำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป นอกจากนั้น ในขณะที่มีนโยบายนั้นออกมาอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นได้ นโยบายสาธารณะอาจต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว การประเมินนโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อประชาชนทั้งประเทศ หรือเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ การประเมินผลนโยบายสาธารณะจะทำให้การดำเนินการตามนโยบายสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
เจตน์ ดวงสงค์ (2552) ได้กล่าวสรุปความสำคัญของการกำหนดนโยบาย โดยมีข้อสังเกตไว้ว่า การประเมินนั้น ต้องมีการตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติถูกต้องตามวัตถุประสงค์/การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด/เกิดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติประการใด เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันการและนำผลการประเมินมาปรับปรุงนโยบายหรือกำหนดนโยบายใหม่ รวมทั้งการประเมินความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานของรัฐบาล/ช่วยตัดสินใจในนโยบายเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากร/เป็นข้อมูลด้านงบประมาณ
เสน่ห์ จุ้ยโต (2551) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการประเมินผลนโยบายไว้สำหรับผู้บริหารทั้งหลาย โดยมีประเด็นที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้
1) ช่วยตัดสินสินใจให้มีแผนและโครงการต่อไป หรือจะยุติ ซึ่งการประมนผลความสำเร็จของแผนและโครงการจะทำให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทราบถึงผลผลิตและผลกระทบของแผนและโครงการด้วย
2) ช่วยปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานและแนวทางปฏิบัติให้ก้าวหน้า การประเมินความสำเร็จของแผนและโครงการจะมุ่งไปสู่การประเมินผลของการปฏิบัติของผู้บริหารแผนและโครงการ รวมทั้งทีมงานที่เกี่ยวข้องด้วย
3) ช่วยตัดสินใจในการเพิ่มหรือตัดออกซึ่งกลยุทธ์และเทคนิคของแผนและโครงการบางอย่าง ในกรณีที่แผนและโครงการเกิดปัญหาและข้อขัดข้องอาจจำเป็นที่จะต้องใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อที่จะทำให้การบริหารแผนและโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
4) ช่วยในการพิจารณาขยายแผนและโครงการไปยังหน่วยงานอื่น ซึ่งกาประเมินเกี่ยวกับแผนและโครงการดังกล่าว ทำให้ทราบถึงความสำเร็จของแผนและโครงการนั้น ในกรณีที่แผนและโครงการประสบผลสำเร็จอาจจะนำมาเป็นแนวทางและข้อมูลสำหรับการบริหารงาน
5) ช่วยจัดสรรทรัพยากรระหว่างแผนและโครงการที่เลือกแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ ในกรณีที่มีหลายแผน หลายโครงการ แต่มีทรัพยากรจำกัด  ไม่อาจแบ่งสรรทรัพยากรให้ได้ตามแผนและโครงการ จำเป็นต้องเลือกเฉพาะบางแผนและบางโครงการมาดำเนินการ 

จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ (2551) ได้กล่าวสรุปถึงความสำคัญของการประเมินผลนโยบายไว้ว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานและบุคคลหลายฝ่าย จึงปรากอยู่เสมอว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผลนโยบายสาธารณะเท่าที่ควร มักจะมีการปัดความรับผิดชอบในการประเมินผลนโยบายอยู่เสมอ เพราะการประเมินจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบาย ความสามมรรถในการดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายต่างๆ ด้วย หน่วยงานทั้งหลายอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเสี่ยงกเกินไปที่จะมีการประเมินผลนโยบายอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน เพราะจะพบข้อบกพร่องต่างๆ มากมาย อันอาจเป็นผลเสียต่อหน่วยงาน ความเห็นเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้ามีการประเมินผลนโยบายกันอย่างจริงจัง และนำผลการประเมินมาใช้จะทำให้เกิดประโยชน์หลายประการ ย่อมเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะจะช่วยให้การวิเคราะห์ขั้นตอนต่างๆ ของนโยบาย ตลอดจนการดำเนินการตามนโยบายกระทำได้รัดกุมดีขึ้น หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนที่ได้รับจากนโยบายหนึ่งไปรับปรุงแก้ไขนโยบายต่างๆ ไป การประเมินนโยบายจึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานควรให้ความสนใจ

                3. แนวทางการประเมินผลนโยบายสาธารณะ
William N. Dunn (2004) ได้กล่าวถึงแนวทางในการประเมินนโยบายไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่ง William N. Dunn จะเน้นถึงสภาพข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมทางสังคม มีผลต่อการบุคคล กลุ่มบุคคล และสังคมโดยส่วนรวม โดย แนวทางในการประเมินผลนี้ ได้ถูกแยกออกเป็น 3 แนวทาง คือ
3.1 การประเมินผลแบบเทียม (Pseudo-Evaluation) การประเมินผลแบบเทียมเป็นแนวทาง ซึ่งใช้วิธีการที่มีกฎเกณฑ์ เพื่อให้ทราบถึงผลของนโยบายอย่างเที่ยงตรง และเชื่อถือได้ โดยมิได้มุ่งพิจารณาเรื่องคุณค่าของนโยบายที่มีต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และสังคมส่วนรวมแนวทางนี้ถือว่าการประเมินคุณค่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะทราบกันอยู่แล้ว เรื่องคุณค่าของนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นมาเอง

จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ (2551) ได้กล่าวถึงว่า การออกแบบสัมภาษณ์ การสุ่มตัวอย่าง การออกแบบการทดลอง และเทคนิคทางสถิติอื่นๆ เพื่อจะอธิบายตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของนโยบาย จัดเป็นเทคนิควิธีการในการประเมินผลแบบเทียมทั้งสิ้น การประเมินนโยบายตามแนวทางนี้ที่เห็นได้ทั่วไป เช่น นโยบายด้านการสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการต่างๆ ที่ให้เหมาะสมหรือไม่ แต่จะไม่ประเมินลึกลงไปว่าบริการที่ให้มีคุณภาพอย่างไร หรือมีคุณค่าแก่สังคมส่วนรวมหรือบุคคลที่ได้รับมากน้อยพียงไร และศุภชัย ยาวะประภาษ (2545) ได้นำเสนอรูปแบบการใช้เทคนิคในการประเมินผลนโยบายตามแนวทางนี้ไว้ 4 ประการ คือ
1) การทำบัญชีระบบสังคม เน้นการสร้างดัชนีสังคม (Social Indicator) ขึ้นมาเพื่อแสดงความเปลี่ยนแผลงต่างๆ ในสังคม
2) การทดลองทางสังคม เน้นการทดลองใช้นโยบายหนึ่งๆ ในกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง แล้วประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการดเนินการนโยบายนั้นก่อนที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติในกลุ่มเป้าหมายจริงทั้งหมด การประเมินผลแบบนี้โดยทั่วไปมีขั้นตอนการประเมินคล้ายคลึงกับขั้นตอนการทดลองที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
3) การตรวจสอบทางสังคม แตกต่างจากการประเมินผล 2 รูปแบบแรกในแง่ที่ว่า การประเมินผลสองแบบแรกไม่สนใจพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ของการกำหนดและการดำเนินการตามนโยบายมากนัก ในขณะที่การตรวจสอบทางสังคมจะเน้นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำเข้า กระบวนการในการดเนินการตามนโยบายและผลของนโยบาย
4) การวิจัยสะสมทางสังคม เน้นการรวบรวมสะสมข่าวสารข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินการตามนโยบายที่ผ่านมา แล้วนำมาเปรียบเทียบและประเมินสะสมไว้ใช้ประกอบการประเมินผลนโยบายครั้งต่อๆ ไป โดยทั่วไปข้อมูลที่นำมารวบรวมไว้มักแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรกเป็นข้อมูลที่ได้จากกรณีตัวอย่างของการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบาย ประเภทที่ 2 คือ รายงานการวิจัย ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินการตามนโยบายและผลที่เกิดตามมาหรือผลลัพธ์

3.2 การประเมินผลแบบทางการ (Formal-Evaluation) การประเมินแบบทางการเป็นแนวทางในการประเมินผลนโยบายที่ใช้วิธีการที่มีหลักมีเกณฑ์เช่นเดียวกับแนวทางแรก และประเมินผลนโยบายในลักษณะที่นโยบายนั้นได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบาย การประเมินผลแบบทางการนี้ นักวิเคราะห์นโยบายสามารถใช้วิธีการเช่นเดียวกับการประเมินผลตามแนวทางแรกเพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ในการประเมิน ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ การประเมินแบบทางการต้องอาศัยกฎหมาย เอกสารหลักฐานของนโยบาย หรือโครงการที่จัดทำตามนโยบาย ตลอดจนจะต้องมีการสอบถามสัมภาษณ์ผู้วางนโยบายและผู้บริหารในเรื่องการกำหนดเป้าหมายแลวัตถุประสงค์ การเมินแบบทางการจะมุ่งถึงเกณฑ์ในการประเมินที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การประเมินแบบทางการสามารถกระได้หลายวิธี เช่น การประเมินสรุปผล (Summative Evaluation) คือ ทำการประเมินว่านโยบายนั้นบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยทำการประเมินนโยบายที่กำหนดขึ้นอย่างแน่นอน และมีการดเนินการตามนโยบายแล้ว อีกวิธีหนึ่งคือ การประเมินผลขณะปฏิบัติ (Formative Evaluation) วิธีนี้ต้องการให้มีการประเมินอย่างต่อเนื่อง คือ มีการประเมินผลขณะที่มีการปฏิบัติตามนโยบาย จุดมุ่งหมายก็เช่นเดียวกับวิธีแรก คือ เพื่อดูว่านโยบายนั้นบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์หรือไม่ จะเห็นว่าความแตกต่างของการประเมิน 2 วิธีนี้อยู่ที่ช่วงเวลาในการประเมินเท่านั้น

นอกจากช่วงเวลาในการประเมินแล้ว การประเมินแบบทางการยังสามารถแบ่งตามลักษณะของการควบคุมปัจจัยนำเข้าต่างๆ และการควบคุมกระบวนการกำหนนโยบาย โดยแบ่งเป็นการควบคุมโดยตรง (Direct Control) และการควบคุมโดยอ้อม (Indirect Control) การควบคุมโดยตรงคือการที่สามารถทราบได้แน่ชัดถึงกลุ่มเป้าหมายของนโยบายจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไป สำหรับการควบคุมทางอ้อมซึ่งไม่สามารถทราบสิ่งเหล่านี้ได้โดยแน่ชัด ต้องอาศัยการวิเคราะห์เมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว
3.2.1 เป็นการประเมินกิจกรรมที่ปฏิบัติจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน การประเมินนี้ให้ประโยชน์ในการกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานที่เริ่มอ่อนแรงหรือเริ่มทำงานล้มเหลว อันจะเสียต่อนโยบายการประเมินนี้จะช่วยให้นโยบายดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากอาศัยการประเมินขณะปฏิบัติและอาศัยการควบคุมโดยตรงจึงสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที วิธีการประเมินนโยบายแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ทั้งในภาครัฐกิจและธุรกิจ ในธุรกิจเอกชนนิยมใช้ในการประเมินนโยบาย การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการทดสอบความนิยมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับในภาครัฐกิจสามารถนำไปใช้กับนโยบายการเรียนการสอนแบบใหม่ เป็นต้น เนื่องจาการประเมินแบบพัฒนาเป็นการประเมินขณะปฏิบัติ และเป็นการควบคุมโดยตรง จึงสามารถใช้ประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ต่อการประเมิน โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับปัจจัยนำเข้าและกระบวนการในการวิเคราะห์นโยบาย
3.2.2 การประเมินผลย้อนหลังของกระบวนการ (Retrospective Process Evaluation) เป็นการประเมินนโยบายหลังจากได้มีการปฏิบัติตามนโยบายไปแล้วระยะหนึ่ง คือ ยังอยู่ในระหว่างที่มีการปฏิบัติ การประเมินแบบนี้เน้นที่ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามนโยบายซึ่งไม่สามารถใช้การควบคุมโดยตรงได้ เช่น ในการให้บริการสาธารณะ ไม่สามารถเรียกค่าบริการได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น คือ ไม่สามารถควบคุมปัจจัยนำเข้าหรือปัจจัยการผลิตได้โดยตรง ต้องหาวิธีอื่นในการเก็บค่าตอบแทนจากากรให้บริการ เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น การประเมินแบบนี้จะทำได้เมื่อสามารถทราบถึงผลย้อยหลังของนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่การประเมินแบบนี้จะทำได้เมื่อสามารถทราบถึงผลย้อนหลังของนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่การประเมินผลย้อนหลังของกระบวนการจะกระทำได้ผลเมื่อมีระบบการรายงานภายในหน่วยงานดี สามารถทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นอยู่เสมอ ระบบสารสนเทLเพื่อการจัดการ (Management Information System) ในองค์การที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้ทำการประเมินแบบนี้ได้โดยเฉพาะถ้ามีการให้ข่าวสารเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงาน และผลของการปฏิบัติงาน ปัญหาที่สำคัญของการประเมินแบบนี้ คือ ความถูกต้อง เที่ยงตรง และเชื่อถือได้ของข่าวสาร ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะมีการจัดระบบข่าวสารในลักษณะดังกล่าวนี้
3.2.3 การประเมินผลย้อนหลังของผลตามมา (Retrospective Outcome Evaluation) วิธีการประเมินแบบนี้จะมุ่งที่ผลตามมา (Outcome) ของนโยบาย ลักษณะการประเมินที่สำคัญ คือ ไม่มีการควบคุมโดยตรงต่อปัจจัยนำเข้าและกระบวนการ การประเมินวิธีนี้ใช้วิธีการเชิงปริมาณ คือ ประเมินโดยอาศัยข้อมูลสถิติต่างๆ การประเมินแบบนี้ต้องการแก้ไขสิ่งเบี่ยงเบนไปจากการประเมินผลย้อนหลังของกระบวนการใน 2 เรื่อง คือ การศึกษาทุกส่วน (Cross Sectional Studies) และการศึกษาเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง (Longitudinal Studies) การศึกษาทุกส่วนจะทำการศึกษาครั้งเดียวเพื่อดูว่าผลเป็นอย่างไร คือ เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น นโยบายคุมกำเนิดต้อการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเกิดหรือการยอมรับวิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ สามารถทำการศึกษาโดยเปรียบเทียบหลายระยะเวลาการศึกษาเพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร
3.2.4 การประเมินแบบทดลอง (Experimental Evaluation) การทดลองในลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องจัดทำสิ่งต่อไปนี้ 1) มีการกำหนดการปฏิบัติการทดลอง (Experiment) อย่างแน่ชัดในรูปของนิยามปฏิบัติการ 2) วิธีการประเมินจะต้องมีความเที่ยงตรงภายนอก (External Validity) 3) การประเมินต้อมีความเที่ยงตรงภายใน (Internal Validity) 4) มีการทดสอบข้อมูลและข้อกำหนดล่วงหน้าต่างๆ โดยปกติการประเมินแบบทดสอบโดยเฉพาะการออกแบบทดลองแท้จริงจะกระทำได้ยาก แม้แต่การออกแบบกึ่งทดลองก็ทำได้ยากเช่นกัน เพราะข้อกำหนดต่างๆ มีมาก ไม่สามารถจัดทำหรือสร้างสถานการณ์ให้ทำการประเมินในลักษณะนี้ได้

3.3 การประเมินผลเชิงตัดสินใจ (Decision-Theoretic Evaluation) การประเมินนโยบายตามแนวทางนี้ต่างจาก 2 แนวทางแรก ค การประเมินแนวทางนี้ต้องอาศัยความเห็นของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเรื่องคุณค่าของนโยบาย ใน 2 แนวทางที่ได้พิจารณามาแล้วจะพบว่า การประเมินแบบเทียมไม่คำนึงถึงเรื่องคุณค่า เพราะถือว่าคุณค่าจะปรากฏขึ้นมาเองไม่จำเป็นต้องประเมิน สำหรับการประเมินแบบแท้ คุณค่าของนโยบายขึ้นอยู่กับผู้วางนโยบายหรือผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ประเมิน การประเมินแบบแท้นี้อาศัยข้อมูลจากที่มาเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น การประเมินเชิงตัดสินใจเป็นแนวทางที่ของการประเมินใน 2 แนวทางแรก เพราะถือว่าทุกฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบาย ข้อบกพร่องของการประเมินนโยบาย 2 แนวทางแรกอาจสรุปได้ดังนี้
1) การไม่ใช้ข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงานหรือใช้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากการประเมินแบบเทียมและการประเมินแบบแท้ไม่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย จึงไม่มีหรือไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบครัน โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการกำหนดนโยบาย
2) เป้าหมายการปฏิบัติงานไม่แน่ชัด นโยบายสาธารณะบางนโยบายมีเป้าหมายไม่แน่ชัดคือ กำหนดไว้เป็นการทั่วๆ ไป เช่นส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงาน ปรับปรุงอนามัยของประชาชน การกำหนดไว้ในลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดปัญหาความไม่แน่ชัด บางครั้งความไม่แน่ชัด ทำให้เกิดนโยบาย ขัดกันหรือไม่สอดคล้องกันได้ จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของการประเมินเชิงตัดสินใจ คือ ต้องการลดความไม่แน่ชัดของเป้าหมายนโยบาย
3) วัตถุประสงค์ขัดแย้งกัน เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะนั้นมิได้กำหนดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติมักปรากฏว่านโยบายจะให้ประโยชน์หรือตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม จึงเกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ การประเมินเชิงตัดสินใจต้องการพิจารณาถึงกลุ่มทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องการทราบเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทุกฝ่าย
ความมุ่งหมายสำคัญของการประเมินเชิงตัดสินใจก็คือ ต้องการแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างผลของนโยบายกับคุณค่าที่กลุ่มทุกกลุ่มได้รับ สมมติฐานของการประเมินแนวทางนี้ก็คือ การประเมินนโยบายที่แท้จริง คือการพิจารณานโยบายที่ประกาศออกมาเป็นทางการกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การประเมินเชิงตัดสินใจแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การประเมินคุณสมบัติที่ประเมินได้ (Availability Assessment) และการวิเคราะห์อรรถประโยชน์หลายคุณสมบัติ (Multi-Attribute Utility Analysis)

3.3.1) การประเมินคุณสมบัติที่ประเมินได้ หมายถึงการวิเคราะห์ระบบการตัดสินใจโดยอาศัยข่าวสารการปฏิบัติงาน และการวิเคราะห์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กระจ่างชัดซึ่งสามารถทำการประเมินได้หรือไม่ ปัญหาสำคัญของวิธีการนี้ คือ จะต้องพิจารราว่านโยบายนั้นสามารถประเมินได้หรือไม่ การประเมินตามวิธีนี้จะต้องอาศัยเงื่อนไขอย่างน้อย 3 ประการ คือ นโยบายนั้นต้องประกาศออกมาอย่างชัดแจ้ง นโยบายนั้นระบุเป้าหมายและผลที่คาดว่าจะเกิดตามมาอย่างชัดเจน และนโยบายนั้นมีการเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติตามนโยบายกับเป้าหมายของนโยบายอย่างชัดเจน และนโยบายนั้นมีการเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติตามนโยบายกับเป้าหมายของนโยบายแน่ชัด แนวทางในการประเมินตามวิธีนี้สามารถกระทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) พิจารณารายละเอียดของนโยบายและแผนงาน พิจารณาการกำหนดนโยบายว่า ใครเป็นผู้กำหนด มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างไร
2) รวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและแผนงาน พิจารณาว่า ในการประเมินนั้นต้องการข้อมูลข่าวสารใดบ้าง
3) ตัวแบบของนโยบายและแผนงาน พิจารณาว่าตัวแบบใดเหมาะสมที่สุดสำหรับการประเมิน
4) ทำการประเมิน พิจารณาว่าตัวแบบนั้นให้ประโยชน์ต่อการประเมินหรือไม่ถ้าตัวแบบคลุมเครือต้องพิจารณาว่าจะใช้การประเมินแบบใดจึงจะเกิดผลดี
5) ป้อนกลับผลการประเมินไปยังผู้เกี่ยวข้อง เมื่อส่งผลไปให้ทราบแล้ว ต้องพิจารณาด้วยว่ายังมีงานอะไรต้องทำต่อไปอีกหรือไม่

3.3.2) การวิเคราะห์อรรถประโยชน์หลายคุณสมบัติ วิธีประเมินนโยบายแบบนี้ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับโอกาสที่นโยบายต่างๆ จะสามารถกำหนดออกมาได้ รวมทั้งคุณค่าของนโยบายนั้นๆ ด้วย ความสำคัญของการประเมินวิธีนี้ คือ พยายามใช้ความเห็นของทุกฝ่ายหรือหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละฝ่ายที่อาจขัดแย้งกันได้ นอกจากนั้น วิธีประเมินแบบนี้ยังให้ข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงานซึ่งให้ประโยชน์เป็นอย่ามากอีกด้วย ขั้นตอนในการวิเคราะห์อรรถประโยชน์หลายคุณสมบัติมีดังนี้ คือ
1) การกำหนดผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พิจารณาว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือได้รับผลกระทบจากนโยบาย เนื่องจากทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ซึ่งต้อการให้บรรลุผลสูงสุด
2) การกำหนดประเด็นการตัดสินใจ โดยระบุถึงการปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติในเรื่องที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะรักษาสถานภาพเดิมหรือยอมรับสิ่งใหม่ๆ
3) การระบุถึงผลตามมาของนโยบาย หลังจากมีการปฏิบัติตามนโยบายย่อมเกิดผลตามมาหลายประการ ผลตามมานี้อาจจัดเรียงลำดับได้ และผลตามมาเหล่านี้ยังก่อให้เกิดผลต่อเนื่อง ซึ่งสามารถแจกแจงได้เป็นลำดับเช่นกัน
4) การกำหนดคุณสมบัติของผลตามมา งานในขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้ผลตามมามีคุณค่า ผลแต่ละด้านของนโยบายย่อมให้ประโยชน์และเกิดค่าใช้จ่ายต่างกันสำหรับกลุ่มเป้าหมายและผู้ได้รับประโยชน์ต่างกลุ่มกัน
5) การจัดลำดับความสำคัญของคุณสมบัติ ตัวอย่างเช่น รายได้ของครอบครัวที่เพิ่มขึ้นย่อมมีคุณสมบัติหลายประการ เช่น ทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีโภชนาการดีขึ้น มีการรักษาสุขภาพดีขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ว่าคุณสมบัติใดมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร
6) มาตรวัดคุณสมบัติ ในหัวข้อที่แล้วเป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของผลอันเกิดจากนโยบาย หัวข้อนี้เป็นการเพิ่มเติมจากหัวข้อที่แล้ว คือ การกำหนดหรือจัดลำดับ ว่าผลด้านใดสำคัญกว่านั้น สำคัญกว่าเท่าใด หรือสำคัญกว่ากี่เท่า คือ จะต้องมีการเปรียบเทียบผลของนโยบายที่มีคุณค่าหรือความสำคัญน้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุด
7) การกระทำให้เป็นมาตรฐาน การประเมินนโยบายอาจใช้วิธีให้คะแนนผลด้านต่างๆ หรือปัจจัยต่างๆ ว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ทำอย่างไรการกำหนดดังกล่าวจึงจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะแต่ละคนก็จะให้คะแนนต่างกันอกไป คือ ให้กันตามใจตัวเอง เช่น คนหนึ่งอาจให้ปัจจัย (หรือผลด้านต่างๆ) ก เป็น 60 ให้ ข เป็น 30 ให้ ค เป็น10 ดังนี้เป็นต้นวิธีทำให้เป็นมาตรฐาน คือ ให้บวกคะแนนที่ได้รับทังหมดแล้วเอามาหารจำนวนแล้วคูณด้วย 100
8) การวัดผลสำเร็จมากน้อยของผลแต่ละด้านของนโยบายโดยกำหนดให้โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากที่สุดเท่ากับ 100 และน้อยที่สุดเท่ากับ 0
9) การประเมินผลและนำเสนอ ทำการประเมินดูว่า ผลตามมาของนโยบายใดให้ผลดีที่สุด และเสนอข้อมูลข่าวสารนี้ไปยังผู้ทำการตัดสินใจ

3.4 เทคนิคในการประเมินนโยบาย
เทคนิคในการปะเมินผลนโยบายนั้นมีอยู่มากมาย ผู้ทำการประเมินผลนโยบายจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประเมินอันจะส่งผลถึง ผลที่ได้รับจากการประเมินมีความเที่ยงตรง แม่นยำ และเป็นธรรมกับผู้ถูกประเมิน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำ เที่ยงตรง และครอบคลุมบริบททั้งหมดของการประเมินผล จึงต้องมีการใช้เทคนิควิธีการในการประเมิน และเทคนิคที่เป็นที่นิยม ถือเป็นแบบในการประเมิน มีนักวิชาการชื่อ William N. Dunn (2004) ได้ประมวลเป็นแนวคิดการประเมินผลนโยบายที่จะใช้สำหรับเป็นแนวทาง (Approach) ต่างๆ ในการประเมินผลนโยบาย ดังตาราง
  
ตารางการประเมินผลนโยบาย

แนวทางในการประเมินผลนโยบาย
เทคนิคในการประเมินผลนโยบาย
การประเมินผลแบบเทียม
(Pseudo Evaluation)
การแสดงด้วยกราฟ (Graphic Displays)
การแสดงด้วยตาราง (Tabular Displays)
การใช้เลขดัชนี (Index Numbers)
การวิเคราะห์อนุกรมเวลา(Interrupted Time Series Analysis)
การวิเคราะห์ถดถอยไม่ต่อเนื่อง (Regression – Discontinuity Analysis)
การประเมินผลแบบทางการ
(Formal Evaluation)
การใช้แผนที่วัตถุประสงค์ (Objective Mapping)
การทำคุณค่าให้เด่นชัด (Value Clarification)
การวิจารณ์คุณค่า (Value Critique)
การใช้แผนที่ข้อจำกัด (Constraint Mapping)
การวิเคราะห์ผลกระทบรวม (Cross-Impact Analysis)
การใช้ส่วนลด (Discounting)
การประเมินผลเชิงตัดสินใจ
(Decision-Theoretic Evaluation)
การระดมสมอง (Brainstorming)
การวิเคราะห์สมมติฐาน (Assumption Analysis)
นโยบายเดลฟาย (Policy Delphi)
การวิเคราะห์การสำรวจ ผู้ใช้ (User – Survey Analysis)

ที่มา:  จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์ (2551)

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วในเบื้องต้น จากแนวคิดของ William N. Dunn ได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นเทคนิคในการประเมิน และสะท้อนออกมาในรูปของตารางเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดเทคนิคการประเมินของ William N. D. บางครั้งดูเหมือนว่า เป็นเพียงแค่แนวทาง (Approach) หรือเป็นรูปแบบเท่านั้น (Form) ยังไม่อาจจะทำการประเมินได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้น James E. A. (2003) เป็นนักวิชาการด้านการประเมินนโยบายอีกท่านหนึ่ง ได้สะท้อนแนวคิดว่า การประเมินนโยบายสามารถกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่วิธีประเมินที่ไม่มีหลักเกณฑ์ (Haphazard) ไปจนกระทั่งวิธีประเมินที่เป็นระบบ (Systematic) ในบางกรณี การประเมินนโยบายมีลักษณะเป็นระเบียบแบบแผนเป็นสถาบัน (Institutionalized) ในขณะที่การประเมินนโยบายบางอย่างก็กระทำอย่างไม่เป็นทางการ (Informal) และไม่มีระเบียบแบบแผน หรือจัดโครงสร้างของการประเมิน (Unstructured) เทคนิคการประเมินนโยบายที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จึงได้นำเอาแนวคิดของ James E. A. (2003) มาขยาย เป็นประเด็นสำคัญตามลำดับ
4.1 เทคนิคการประเมินนโยบายที่ไม่มีกฎเกณฑ์/ไม่เป็นทางการ หรือไม่มีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน ได้แก่ การประเมินนโยบายที่ใช้ความประทับใจ (Impression) หรือความเห็นของผู้ประเมินนโยบายเป็นหลัก การประเมินนโยบายตามวิธีผู้ประเมินใช้วิจารณญาณของตน หรือความประทับใจบางอย่างเป็นเครื่องตัดสิน การประเมินในลักษณะนี้ไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือกระบวนการในการเก็บรวบรวมข่าวสาร ผู้ประเมินมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายก็ทำการประเมินนโยบายไปตามความเห็นของตน วิธีการนี้มักมีอยู่ทั่วไปในการประเมินหรือออกความเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของประชาชนทั่วไป บางครั้งการประเมินนโยบายด้วยวิธีนี้ มิได้เกิดจากอคติของผู้ประเมิน แต่เป็นเพราะผู้ประเมินได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับนโยบายมาอย่างจำกัด หรือได้รับมาเฉพาะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้ผู้ประเมินมองเห็นภาพของนโยบายเฉพาะด้านที่ได้รับทราบมาเท่านั้น บางกรณีการใช้ความประทับใจอาจเกิดจากการที่ผู้ประเมินมีความเชื่อถือไว้ใจในตัวผู้กำหนดนโยบาย นักวิเคราะห์นโยบาย และหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ทำให้เกิดความเชื่อว่านโยบาย นักวิเคราะห์นโยบาย และหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ทำให้เกิดความเชื่อว่านโยบายในเรื่องนั้นเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ววิธีการประเมินแบบนี้มีปรากฏอยู่ทั่วไป หลายประเทศมีความเคยชินกับการประเมินนโยบายในลักษณะนี้ ปัญหาสำคัญของวิธีการประเมินนโยบายแบบนี้ ก็คือ การไม่มีเทคนิควิธีที่แน่นอนหรือไม่มีเทคนิควิธีในการประเมินนโยบายเลย การประเมินตามวิธีการนี้ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง เนื่องจากผู้ประเมินแต่ละคนย่อมสร้างปัญหาในการประเมินนโยบาย คือ ผู้ประเมินอาจประเมินนโยบายเดียวกันต่างกันออกไป บางคนอาจมองว่านโยบายประสบความสำเร็จ ขณะที่คนอื่นมองเห็นว่าเป็นความล้มเหลว

เทคนิคการประเมินนโยบายในการประการต่อมา พยายามหาวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการประเมินมากขึ้น ค พิจารณาจาการปฏิบัติตามนโยบาย การประเมินตามวิธีนี้ต้องการทราบว่า มีการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ การดำเนินตามวิธีนี้ต้องการทราบว่า มีการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นไปอย่างซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้น การประเมินนโยบายในลักษณะเช่นนี้ดีกว่าแบบแรกตรงที่ทราบว่าจะประเมินนโยบายนั้นจะต้องกระทำทุกขั้นตอน การประเมินตามวิธีนี้สนใจเฉพาะขั้นตอนการปฏิบัติตามนโยบาย คือ จะทำการประเมินว่ามีการปฏิบัติตามนโยบาย หรือไม่เท่านั้นไม่ทราบผลกระทบที่แท้จริงของนโยบาย และไม่ทราบว่าการปฏิบัติตามนโยบายนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่เพียงไร

3.4.2 เทคนิคการประเมินนโยบายอย่างเป็นระบบ การประเมินตามวิธีนี้จะมุ่งถึงผลกระทบของนโยบาย และจะต้องทำการประเมินนโยบายทุกขั้นตอน คือ ตั้งแต่มีการวางนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย และผลของนโยบาย การประเมินนโยบายตามวิธีนี้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคนิคการวิเคราะห์นโยบายหรือเทคนิคการวิเคราะห์นโยบายและประเมินโครงการ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายได้แก่ การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ (Cost – Effectiveness Analysis) การใช้ตัวแบบระบบ (System Model) และการออกแบบการทดลอง (Experimental Designs) เป็นต้น
การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์นั้น ต้องการเปรียบเทียบดูว่านโยบายหรือโครงการต่างๆ ให้ผลประโยชน์มากน้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย การประเมินในลักษณะนี้จำเป็นต้องอาศัยจำนวนเงินผลประโยชน์และจำนวนเงินทำได้ยาก สำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลมีจุดมุ่งหมายจะประเมินประสิทธิภาพในทางเทคนิค (Technical Efficiency) ของนโยบายหรือโครงการ ในขณะที่การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์มีจุดมุ่งหมายที่ประสิทธิภาพในการประหยัด (Economic Efficiency) ของนโยบายหรือโครงการ

สำหรับการใช้ตัวแบบการบรรลุเป้าหมายนั้น เป็นการประเมินนโยบายหรือโครงการที่มุ่งพิจารณาเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เช่น นโยบายการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่ามีนโยบายเพิ่มผลผลิตมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10% ก็ทำการประเมินดูว่าผลผลิตที่ได้มานั้นเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายหรือไม่ ส่วนการใช้ตัวแบบระบบนั้น เป็นการประเมินนโยบายทุกปัจจัยและทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประเมินปัจจัยนำเข้าของนโยบาย กระบวนในการปฏิบัติและผลลัพธ์ของนโยบาย รวมตลอดทั้งพิจารณาผลกระทบ ผลตามมาของนโยบายอีกด้วย
1) การออกแบบที่มิได้ทดลอง เช่น การทดสอบครั้งเดียว (One-Shot Case Study) เป็นต้น วิธีการประเมินแบบนี้มิได้ใช้กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
2) การออกแบบกึ่งทดลอง เช่น การใช้อนุกรมเวลา (Time Series) หรือการใช้กลุ่มควบคุมที่ต่างกัน (Non-Equivalent Control Group) เป็นต้น วิธีการประเมินแบบนี้เป็นการศึกษาทดสอบหลายครั้ง และในบางลักษณะมีการใช้กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง
3) การออกแบบทดลองที่แท้จริง เช่น การวัดล่วงหน้าและวัดตามหลังโดยมีกลุ่มควบคุม (Pretest-Posttest control Group Design) เป็นต้น วิธีการประเมินแบบนี้ต้องใช้กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง และใช้การสุ่มตัวอย่างดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าเทคนิคในการประเมินนโยบายนั้นมีอยู่มากมาย ผู้ทำการประเมินจำเป็นต้องศึกษาและพิจารณาว่าจะใช้เทคนิคใดจึงจะเหมาะสมและให้ประโยชน์ต่อการประเมินนโยบายมากที่สุด

3.5 กระบวนการประเมินผลนโยบาย
ขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติเมื่อมีการใช้เทคนิคในการประเมินสำหรับกระบวนการประเมินนโยบาย เรียกว่า กระบวนการประเมินนโยบาย เมื่อมีการประกาศเป็นนโยบาย และนำนโยบายนั้นๆ ไปสู่การปฏิบัติ การจะทราบว่า นโยบายนั้น บรรลุผลมากน้อยเพียงใด ต้องมีการประเมินกันอย่างต่อเนื่อง แต่การประเมินนั้น หากประเมินไปโดยไร้กฎเกณฑ์ ระเบียบ วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ การประเมินผลนโยบายนั้น ก็จะไม่ได้รับการเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือ เที่ยงตรง และเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องทำให้เป็นกระบวน หมายถึง การทำให้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน สามารถอธิบายได้ ตอบคำถามได้ และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ในกรณีที่นโยบายนั้นไม่บรรลุผล ดังนั้น กระบวนการประเมินผลนโยบายนี้ จึงมีนักวิชาการหลายท่านด้วยกัน ที่สร้างเป็นกรอบแนวคิดเพื่อใช้ในการประเมินผล และการอธิบายให้เกิดความชัดเจน กระชับ เช่น 

Charleso Jones (1977) ได้นำเสนอแนวคิดกระบวนการประเมินผลนโยบายไว้ อย่างละเอียด และเป็นขั้นตอนที่น่าศึกษายิ่ง โดยที่แนวคิดการประเมินของ Charleso Jones ได้นำเสนอให้เห็นเป็นรูปธรรม เน้นถึงความละเอียดทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนแรกเริ่ม ขั้นการวัดผลที่เน้นย้ำกันตลอด และขั้นการวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องมีความแม่นยำทางเนื้อหา และทางความเป็นจริง ประกอบเข้ากัน ในกรอบแนวคิดกระบวนการประเมินผลนโยบายของ Charleso Jones จึงแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก คือ การกำหนดรายละเอียด (Specification) ว่าจะประเมินอะไร เหตุที่ต้องมีการกำหนดรายละเอียดเพราะเป้าหมายของนโยบายบางนโยบายก็มีความแน่ชัด เช่น นโยบายเพิ่มที่อยู่อาศัย สามารถทราบได้แน่ชัดว่าจะเพิ่มปีละเท่าไร เป็นต้น บางนโยบายที่จะทำการประเมินช่วยให้ทราบเป้าหมายไม่แน่ชัด เช่น นโยบายเศรษฐกิจ เป็นต้น การกำหนดรายละเอียด ของนโยบายที่จะทำการประเมินช่วยให้ทราบเป้าหมายในการประเมินนโยบายแน่ชัด และทราบประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินนโยบาย อย่างไรก็ตาม มักจะพบอยู่เสมอว่าการประเมินนโยบายบางครั้งไม่มีการกำหนดรายละเอียดของสิ่งที่จะทำการประเมินทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเหตุที่การกำหนดรายละเอียดถูกละเลยก็เพราะว่าการประเมินนโยบายนั้นส่วนใหญ่กระทำกันเพราะมีกำหมายหรือข้อบังคับกำหนดให้ทำการประเมิน ผู้ทำการประเมินนโยบายต้องกระทำไปตามข้อกำหนด จึงไม่ค่อยได้พิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะพยายามหลีกเลี่ยงการเพิ่มงานโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและความถูกต้องของการประเมินเท่าใดนัก
ขั้นตอนที่สอง คือ การวัดผล (Measurement) เมื่อสามารถกำหนดรายละเอียดได้แล้วขั้นตอนต่อมาคือจะต้องมีการวัดผล การวัดผลจะกระทำๆ ได้ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำการประเมิน ขั้นตอนนี้ก็เช่นเดียวกับขั้นตอนแรก คือ มีความแตกต่างและมีการเบี่ยงเบนไปได้มากตั้งแต่การเก็บข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์มากเพียงไรย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องเที่ยงตรง และเชื่อถือได้มากขึ้น
ขั้นตอนที่สาม คือ การวิเคราะห์ (Analysis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาหรือที่วัดผลออกมาแล้ว วิธีการวิเคราะห์ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับสองขันตอนแรก คือ มีความแตกต่างกันในรูปแบบและวิธีการวิเคราะห์ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เชิงปริมาณที่มีความแน่นอนสูง เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ ไปจนกระทั่งการใช้ความประทับใจหรือใช้ประสบการณ์จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์ก็คือ เพื่อให้สามารถจัดทำข้อสรุปได้ว่า ประสิทธิผลของนโยบายเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ตัดสินใจคุณซึ่งเป็นจุดหมายของการประเมินค่าของนโยบายซึ่งเป็นจุดหมายของการประเมินนโยบาย

อย่างไรก็ตาม Charleso Jones ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากมีความแตกต่างกันมากในกระบวนการประเมินนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรายละเอียด การวัดผล และการวิเคราะห์ ดังนั้น จึงไม่ควรยึดถือวิธีการใดวิธีการเดียวว่าดีที่สุดหรือเป็นวิธีการที่ควรนำมาปฏิบัติตลอดไป การประเมินนโยบายพิจารณาโดยสรุปก็คือ กิจกรรมที่จะตัดสินว่านโยบายนั้นมีความดีหรือมีคุณค่าเพียงไร การอาศัยการวิเคราะห์ในหลายรูปแบบอาจช่วยให้การประเมินนโยบายมีคุณภาพมากที่สุด
ในขณะที่นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง คือ  Samuel P. H. (1988) ได้กำหนดขั้นตอนในการประเมินไว้ 4 ขั้นตอนคือ
1. พิจารณารายละเอียดและวัตถุประสงค์ในการประเมิน
2. พิจารณาข้อมูลที่จะต้องใช้เพื่อวัดวัตถุประสงค์และวัดผลกระทบต่างๆของนโยบาย
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
4. วิเคราะห์และแปลความหมายของข้อมูลที่รวบรวมได้

จะเห็นว่า ขั้นตอนในการประเมินนโยบายของ Charleso J. & Samuel P. H.  มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพียงแต่ต่างกันในการเน้นรายละเอียดมากกว่ากันเท่านั้น เมื่อพิจารณาโดยสรุปจะพบว่า ขั้นตอนหรือกระบวนการในการประเมินนโยบายนั้นเริ่มจากการศึกษารายละเอียดของนโยบายต่างๆ ที่จะทำการประเมิน นอกจากนั้น จำเป็นต้อทราบหรือมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการประเมินด้วย ขั้นต่อมาก็ทำการพิจารณาว่าจำเป็นต้องจัดเก็บหรือจัดหาข้อมูลอย่างใดบ้าง จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมินนโยบาย คือ สามารถวัดได้ว่านโยบายนั้นมีคุณค่าเพียงไร มีผลอย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อมาก็ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่เก็บได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อจะได้ทราบผล คือสามารถประเมินนโยบายนั้นได้ต่อไป

อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมจากนักวิชาการทั้งสองท่าน คือ James E. A. (2003) ได้เสนอว่า สำหรับกระบวนการประเมินผลนโยบายสาธารณะนั้น เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย หลายสถาบันการประเมินนโยบายสาธารณะก็อาจกระทำได้ทั้งภายในหน่วยงานของรับบาลและหน่วยงานที่มิใช่หน่วยงานของรัฐบาล James E. A. เสนอว่า กระบวนการประเมินนโยบายถ้าพิจารณาในระดับมหภาค (Macro Level) ควรประกอบด้วย การพิจารณาตรวจสอบโดยรัฐสภา(Congressional Oversight) เนื่องจากองค์กรนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมายซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการวางนโยบาย นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ควบคุมฝ่ายบริหาร จึงจำเป็นต้องมีการประเมินนโยบายสาธารณะต่างๆ ว่าตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือไม่นอกจากรัฐสภาแล้ว หน่วยงานที่ควรทำหน้าที่ในการประเมินนโยบาย คือ หน่วยงานบัญชีกลาง (General Accounting Office) ซึ่งเทียบได้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ซึ่งสามารถใช้เทคนิคต่างๆ ในการวิเคราะห์และประเมินนโยบายได้ เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ เป็นต้น นอกจากหน่วยงานดังกล่าวในหน่วยงานของรัฐบาลเองแล้ว ฝ่ายบริหารสามารถจัดตั้งคณะกรรมการประเมินนโยบายเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินนโยบายต่างๆ แล้วเสนอให้รัฐบาลทราบ ในกรณีที่ไม่มีการจัดตั้งคระกรรมการประเมินนโยบาย หน่วยงานทั้งหลายก็สามารถทำการประเมินนโยบายได้และควรถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
สำหรับนักวิชาการไทย ที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการนโยบายศาสตร์ โดยเฉพาะการสร้างตัวแบบการนำนโยบายปฏิบัติ ที่มีการนำไปอ้างอิงทางวิชาการเป็นส่วนมาก นอกจากจะได้รับความนิยมในนำไปอ้างอิงในประเด็นทางด้านการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแล้ว ยังมีการนำเสนอแนวคิดการประเมินผลนโยบายแบบเปิด ถือได้ว่า เป็นมิติใหม่ในเรื่องของการประเมินผล ที่ตรงกับสภาพความจริงในบริบททางสังคมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะแวดวงราชการ ซึ่งจะต้องถูกประเมินด้วยวิธีการที่ชัดเจน แหลมคมพอที่จะทำให้การประเมินเกิดความเป็นธรรม เช่น ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2529) ได้กำหนดตัวแบบการประเมินไว้ได้อย่างน่าศึกษา กล่าวคือ ขั้นตอนการประเมิน ประกอบไปด้วย 1) การกำหนดปัญหาเป้าประสงค์ และวัตถุประสงค์ขอบนโยบาย/แผนงาน/โครงการ 2) การวางแผนการวิจัยการประเมินและเลือกรูปแบบวิจัยการประเมินผล 3) การเก็บรวบรวมข้อมูลก่อน และระหว่าง และหรือหลังโครงการเสร็จ 4) การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสถิติเชิงตรรกะ 5) การเปรียบเทียบสรุปผลและเสนอแนะ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาสาระตามกรอบแนวคิด ของ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สามารถเขียนเป็นภาพดังภาพ

ภาพ:  กระบวนการวิจัยประเมินผล
ที่มา: ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2529)

ส่วน กวี รักษ์ชน (2541) ได้นำเสนอในมุมของการประเมิน ซึ่งพัฒนามาจากกระบวนของนักวิชาการขั้นต้น ด้วยการผสมกับกระบวนการวิจัยในทางสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย ขั้นตอนหรือกระบวนการประเมินผล 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การกำหนดหรือวิเคราะห์ปัญหา เป้าประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย แผนงานและโครงการ ขั้นที่ 2 การวางแผนการประเมินผล และการเลือกแนวทาง และเทคนิคการประเมินผล ขั้นที่ 3 การเก็บรวมรวบข้อมูล ก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินตามนโยบายและหรือแผนและหรือโครงการ ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณลักษณะ (คุณภาพ) และในเชิงปริมาณ ขั้นที่ 5 การแปรความหมายและการเสนอผลการประเมินผล

ต่อมามีนักวิชาการไทยอีก 2 ท่านที่ถือว่า มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบาย เช่น วรเดช จันทร์ศร และไพโรจน์ ภัทรนรากุล (2543) ได้สร้าง คิดค้นตัวแบบการประเมินแบบใหม่ ที่ชื่อว่า การประเมินแบบระบบเปิด โดยได้มีการกำหนดขั้นตอนการประเมินผลตามแนวทางวิธีการนี้ แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน
ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนการประเมิน การประเมินผลเริ่มจากการกำหนดหน่วยที่จะทำการวิเคราะห์หรือประเมิน (Unit of Analysis or Evaluation) ซึ่งอาจะเป็นองค์กรหน่วยงาน เจ้าหน้าที่หรือโครงการพัฒนา โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายและประชากรกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนรวมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์และขอบเขตของการประเมินว่าจะต้องการประเมินอะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และกำหนดผลลัพธ์สุดท้ายของการประเมินด้านใดบ้าง ขั้นตอนนี้จึงเป็นการวางแผนการประเมินในภาพรวมและออกแบบการประเมิน การกำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดการประเมินผล สำหรับขอบเขตของการประเมินขึ้นอยู่กับ วัตถุประสงค์ ผลลัพธ์สุดท้ายที่มุ่งหวังตลอดจนทรัพยากรและงบประมาณจากหน่วยงานสนับสนุนการประเมินผล
ขั้นตอนที่ 2 การจัดเตรียมองค์กร เป็นการจัดเตรียมองค์กรกลางการประเมินผลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง องค์กรกลางประเมินผลประกอบด้วย ตัวแทนจากชุมชนและองค์กรสาธารณะประโยชน์ สถาบันวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยกำหนดระบบการประสานงาน และการดำเนินงานในระบบทีมงานประเมินผล
ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดชุดข้อมูลสำหรับการประเมินผล และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะเปิดกว้างและที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้รับบริการ ตลอดจนชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) มาให้ข้อมูลหรือร่วมในการประเมินผลโดยตรง โดยอาจเปิดเวทีรับฟังข้อมูลความคิดเห็น หรือเปิดรับข้อมูลทางช่องทางหลากหลาย เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การระดมความคิด การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายโดยตรง หรือการเปิดรับข้อมูลทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร Internet E-mail หรือทางสื่อสารมวลชนรูปแบบอื่น
ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์และประเมินผล ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม จะนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับเกณฑ์และตัวชี้วัดการประเมินที่ได้กำหนดไว้ ในขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินผล จะเปิดโอกาสให้สาธารณะชนที่สนใจมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานประเมินผล โดยกำหนดให้มีเวทีสาธารณะ (Public Forum) รวมทั้งเปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และรับฟังผลสะท้อนกลับ (Feedback) ก่อนที่จะจัดทำสรุปผลขั้นสุดท้าย เพ่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนความคิดและข้อเสนอแนะที่เป็นฉันทานุมุติ (Consensus)
ขั้นตอนที่ 5 การนำเสนอต่อสาธารณชน เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยเป็นการนำเสนอผลการประเมินให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ กล่าวคือ ประชากรกลุ่มเป้าหมาย ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานนำนโยบายไปปฏิบัติในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงาน หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนสาธารณะชนผู้สนใจได้รับทราบผลการประเมิน รวมถึงการนำเสนอการตัดสินใจเชิงนโยบายให้สาธารณชนได้รับทราบว่าผู้ตัดสินใจนโยบาย (Policy Makers) หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจจะกระทำหรือไม่กระทำอะไร อย่างไรต่อไป โดยอาศัยพื้นฐานข้อเท็จจริงจากผลการประเมินที่ได้รับ เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขหรือการขยายผลการดำเนินงานและเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนเป้าหมายจะได้รับบริการที่ดี ทั่วถึงและเป็นธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากบริการของรัฐ การประเมินผลการดำเนินงานในระบบเปิด ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้นตอน ดังภาพ


ภาพ:  กระบวนการประเมินผลในระบบเปิด
ที่มา: วรเดช จันทรศร และไพโรจน์ ภัทรนรากุล (2543)

3.6 ลักษณะของการประเมินผลนโยบายสาธารณะ
Joseph D. C. (1996) ได้อธิบายลักษณะของการประเมินผลนโยบายในอุดมคติว่า ควรประกอบด้วยลักษณะสำคัญต่อไปนี้
1) เป็นสหวิชา นั่นคือ ดึงเอาความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้าใจลักษณะ และคุณค่าของผลการดำเนินการตามนโยบายอย่างถ่องแท้ชัดเจน
2) เป็นที่ยอมรับทั้งผู้ประเมินเองและผู้มีอำนาจตัดสินใจ นั้นคือผู้ประเมินและผู้รับผิดชอบนโยบายเห็นพ้องต้องกันในลักษณะและวิธีการประเมิน
3) นำยุทธวิถีต่างๆ มาผสมผสานกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้เข้าใจผลของนโยบายอย่างชัดเจนขึ้น
4) กระทำอย่างเป็นกลางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
5) ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ต้องเน้นการติดต่อกับบุคคลภายนอกหน่วยงาน
6) วิธีการที่ใช้ต้องยืดหยุ่น และเปิดกว้างเพียงพอที่จะยอมรับระเบียบวิธีการศึกษาวิจัยทั้งเชิงปริมาณ ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการทางสถิติ และเชิงคุณภาพซึ่งเน้นการใช้เหตุผลและประสบการณ์
ในขณะที่ Robert F. C. (1978) ได้นำเสนอว่า โดยทั่วไปแล้วลักษณะร่วมที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการว่าเป็นลักษณะของการประเมินผลนโยบายที่ดีมี 3 ลักษณะ คือ
1) การใช้วิธีการของการวิจัยเชิงทดลองในการประเมินผล (Experimental Design Research) กล่าวคือ การใช้วิธีการการทดลองนี้ จะต้องอิงแนวทางของมีการกำหนดกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ใช้วิธีการสุ่มเพื่อกำหนดว่าผู้ใดจะต้องอยู่ในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุม ไม่ใช้วิธีที่ถามความสมัคร หรือกำหนดตามอำเภอใจ การเลือกกลุ่มผู้ถูกศึกษามาจากมวลประชากรต้องใช้วิธีการสุ่มเช่นเดียวกัน และผู้ทำการประเมินต้องสามารถควบคุมตัวแปรต้นและตัวแปรตามในการประเมินผลได้การประเมินผลโดยการทดลองนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด
2) การเปิดโอกาสให้ผู้รับผิดชอบในนโยบายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเริ่มวางแผนการประเมิน การกำหนดยุทธวิธี การออกแบบวิธีการประเมินไปจนถึงการลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และตีความข้อมูล อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติปัญหาที่มักเกิดขึ้น คือการเปิดโอกาสดังกล่าวมักเป็นไปได้ลำบากและมักนำมาซึ่งความล่าช้าในการประเมินผล เนื่องจากการเข้ามามีส่วนในทุกขั้นตอนของผู้รับผิดชอบนโยบายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและนำมาซึ่งความยุ่งยากในการดำเนินการต่างๆ
3) ผลที่ได้จากการประเมิน มีผลกระทบต่อนโยบายหรือโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติยอมรับผลการประเมินผล และนำผลที่ได้ไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขนโยบายหรือโครงการที่ตนรับผิดชอบอยู่  ซึ่งการประเมินผลมักไม่มีผลกระทบในทางปฏิบัติต่อนโยบายหรือโครงการใดๆ

William N. D. (2003) อธิบายลักษณะของนโยบาย โดยให้มองดูเป้าหมายสำคัญของนโยบายเป็นประการสำคัญ เป็นเครื่องประกอบ คือ ให้พิจารณาดูที่คุณค่าของผลการนำนโยบายไปปฏิบัติ และชี้ว่าการประเมินผลไม่ได้มุ่งแสวงหาข่าวารที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งคุณค่าของผลการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติของ William N. D. มี 4 ประการใหญ่ๆ คือ
1) การเน้นคุณค่า (Value-Focus) การประเมินผลเน้นการตัดสินตกลงใจว่านโยบายที่ดำเนินการไปนั้นมีคุณค่าน่าสนับสนุนต่อไปหรือไม่เพียงไร การประเมินผลไม่ใช่เป็นเพียงการพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้น และผลที่ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการให้คุณค่าแก่ผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีค่าต่อสังคมหรือไม่เพียงไร
2) ความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงและคุณค่า (Fact-Value Interdependence) การสรุปผลการประเมินต้องอาศัยข้อเท็จจริงและคุณค่า การที่จะสรุปว่านโยบายหนึ่งๆ ประสพความสำเร็จมากหรือน้อยนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่านโยบายนั้นก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งจริงหรือไม่ จากนั้นต้องกำหนดคุณค่าลงไปว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่มากน้อยเพียงไร
3) ความเกี่ยวเนื่องทั้งปัจจุบันและอดีต (Present and Orientation) การประเมินผลนโยบายไม่ได้มุ่งเน้นการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันกับอนาคต ดังเช่นการเสนอนโยบายหรือการกำหนดนโยบาย แต่มุ่งเน้นการหาความเกี่ยวพันระหว่างปัจจุบันกับอดีต และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่การนำนโยบายไปปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว จากผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากการนำนโยบายไปปฏิบัติ การประเมินผลจะมองย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่คาดหวังซึ่งกำหนดไว้ในรูปวัตถุประสงค์ของนโยบายและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
4) ความมีคุณค่าซ้อน (Value-Duality) คุณค่าที่เป็นพื้นฐานของการสรุปผลการประเมินต่างๆ มักเป็นวิธีการและเป้าหมายในตัวของตัวเอง ตัวอย่างเช่น ความมั่นคงของชาติเป็นคุณค่าที่สำคัญของนโยบายสาธารณะมากมายหลายนโยบาย นั่นคือ เป็นเป้าหมายที่สำคัญโดยตัวเองอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่คุณค่าอื่นที่สำคัญ เช่น การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน การเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว เป็นต้น ความมั่นคงของชาติจึงเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวเอง นั่นคือ มีลักษณะเป็นคุณค่าซ้อน

บรรณานุกรม

กวี รักษ์ชน. (2541). การเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยทางรัฐศาสฅร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:
ศูนย์เอกสารทางวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
จินดาลักษณ์ วัฒนสินธุ์. (2551). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชานโยบายสาธารณะและ
การวางแผน หน่วยที่
6 เรื่อง การประเมินผลนโยบาย. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เจตน์ ดวงสงค์. (2552). เอกสารประกอบการสอนวิชา นโยบายสาธารณะสาขาวิชาบริหารรัฐกิจเบื้องต้น. เชียงใหม่: วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
ไตรรัตน์ โภคพลากร. (2551). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน หน่วยที่ 6 เรื่อง การวางแผนเชิงกลยุทธ์. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. (2551). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน หน่วยที่ 6 เรื่อง การประเมินผลโครงการ. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สมคิด พรมจุ้ย. (2542). เทคนิคการประเมินโครงการ. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.
สมพิศ สุขแสน. (2545). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง เทคนิคการวางแผนและการประเมินผล" แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่. กรุงเทพฯ:
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่
.
เสน่ห์ จุ้ยโต. (2551). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชา องค์การและการจัดการและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ หน่วยที่ 3 การวางแผน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Alkin, M.C., & Hofstetter, C.H., (2002). Evaluation. Boston: Way Lanham.
Anderson, J. (1970). Politics and economic policy-making: selected readings. New York: Addison-Wesley Pub. Co.
Bryant, C. & White,L.G. (1976). The Inefficiency of Interest-Bearing National Debt. Journal of Political Economy. April: 19-76.
Charleso, J. (1977). An introduction to the study of public policy. New York: Houghton Miffin College.
Dye, T. R. (1970). Political research, organization and design. New Jersey: Prentice-Hall.
Jones, C. (1966). Policy and bureaucracy New perspectives in Political Science.
New York: McGraw-Hill.
           . (1977). R&D-Based Models of Economic Growth. Journal of Political  Economy . 10 (5): 759-84.
Jose, V. A. (1996). Administrative Culture and Behavior and Middle Civil Servants in the Philippines. North Carolina: Duke University Press.
Robbins, S.P. (1980). The administrative process. New York: Prentice-Hall.
Robert, F.C. (1978). Handbook of organization American Library Association. New York: Prentice- Hall.
Rossi, F. (1982). Evaluation A Systematic Approach. 7 rd ed. New York: Sage Publication, Inc.
William, E. (1976). Electoral Participation in a Low Stimulus Election. Rural Development. 4(1): 111–124.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น