หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน



แนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ในส่วนนี้จะกล่าวถึงแนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งได้แก่ 1) ความหมายการเรียนรู้ของชุมชน 2) องค์ประกอบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ได้แก่ 1) รวมคน 2) ร่วมคิด 3) ร่วมทำ 4) ร่วมสรุปบทเรียน 5) ร่วมรับผลการกระทำ

1.  ความหมายของการเรียนรู้ในชุมชน
การเรียนรู้ (Learning) มีขอบข่ายกว้างกว่าการศึกษาหรือการฝึกอบรม ริชาร์ด  เพทติงเกอร์ (Pettinger, 2000) กล่าวว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการในการก่อให้เกิดรูปแบบและพัฒนาความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitude) และพฤติกรรม (Behaviour) ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษา (Education) ฝึกอบรม (Training) การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) และประสบการณ์ (Experience) การเรียนรู้จะก่อให้เกิดการปรับตัว การยอมรับ การมีแนวทาง การปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ดีการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของเวลาและขอบเขต  บางคนเรียนรู้ได้เร็ว  บางคนเรียนรู้ได้ช้า  บางคนเรียนรู้ได้ครบถ้วน  บางคนเรียนรู้ได้เฉพาะส่วน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล  ได้แก่
1)  ความปรารถนาและแรงจูงใจ
2)  คุณภาพ และวิธีการสอนหรือการเรียนรู้
3)  สภาพบังคับที่จะเรียนรู้ทั้งที่เกิดจากตัวเขาเองที่ต้องการศึกษา ต้องการเพิ่มทักษะ หรือคุณภาพงาน หรือเกิดจากการบังคับของผู้อื่นหรือองค์กรที่ต้องการให้เขามีความรู้หรือทักษะหรือคุณภาพงานตามที่ต้องการ
4)  เกิดจากแรงเสริมของตนเองที่ต้องการพัฒนาในการสร้างโอกาสในหน้าที่การงานของตนเอง
5)  ทัศนคติของแต่ละคนที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะของตนเอง

การเรียนรู้นอกจากเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังทำให้มีความคิด  แนวคิดในกรอบที่กว้างและรอบคอบมากขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น ดังนั้นถ้าชุมชนใดมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้คนในชุมชนมีเหตุมีผลในการเลือกแนวทางในการพัฒนาชุมชนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของชุมชน  ชุมชนเองก็จะมีเหตุและผลในการเลือกผู้นำของเขาได้ถูกคน  เลือกคนดีในสายตาของชุมชนที่จะนำพาชุมชนของตนเองพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัวและพัฒนาชุมชน

ชุมชนต้องปรับตัวให้อยู่รอดตลอดเวลา เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมของประเทศและโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน  ชุมชนที่ฉลาดในการปรับตัวเองนั้นต้องเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community) ดังแนวคิดของ Peter M. Senge (1990 อ้างถึงใน Stacey, 2000)  เชื่อว่าองค์กรที่ฉลาดต้องเป็นองค์กรที่มีการมอบหมายให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก (Commitment) และสมาชิกมีความสามารถที่จะเรียนรู้ (Capacity to Learn) โดยมีหลักการของการเรียนรู้อยู่  5 ประการ ได้แก่  การคิดอย่างเป็นระบบ (Systems Thinking) ความสามารถที่จะเรียนรู้หรือเก่งที่จะเรียนรู้  (Peresonal Mastery)  มีความเข้าใจรูปแบบภาพหมายให้เกิดขึ้นในอนาคต (Shared Vision) ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งสมมติฐานหรือสามัญการ (Generalization) การมีรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องการบรรลุ (Mental  Model)  นั่นคือมีเป้าหมายที่ชัดเจน  และเป้าหมายที่เกิดขึ้นต้องมาจากความคิดความเห็นร่วมกันของสมาชิก (Building a Shared Vision)  และหลักการสุดท้ายต้องเรียนรู้ร่วมกัน (Team Learning)

การพัฒนาชุมชนต้องเริ่มด้วยกระบวนเรียนรู้  สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ของชุมชน คือ  วิธีการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นการผสมผสานกันในหลายศาสตร์ ดังที่ Peter M.S. อธิบายไว้ว่า การเรียนรู้เป็นความรู้ที่กว้างกว่าการเรียนรู้ในระดับตนเองและครอบครัว  การเรียนรู้ยังเป็นการเสียสละที่จะทำงานให้กับส่วนรวมเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่จะยกระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนให้ก้าวหน้าโดยการอาสา ร่วมงาน การร่วมคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับชุมชน ความรู้ที่ควรรู้ ได้แก่ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  กระบวนการทางประชาธิปไตย (Democratic Procedures) การทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ (Voluntary Cooperation) การพึ่งตนเอง การช่วยเหลือตนเอง (Self Help)  การนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ กับการพัฒนาชุมชนของตนเอง  ให้สามารถอยู่รอดและ พึ่งตนเองได้  โดยการศึกษานั้น ต้องเป็นการพัฒนาตนเองโดยการพึ่งพาทรัพยากรท้องถิ่น  การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและให้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับสมรรถนะของชุมชน คือการปฏิบัติได้จริง   ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในความหมายนี้ต้องมีการปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมชุมชนต่างๆ ให้ริเริ่มโครงการพัฒนาของตนเองขึ้น ดำเนินโครงการด้วยตนเอง และใช้ทรัพยากรของชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง การสร้างสมรรถนะของชุมชน ให้เข้มแข็งในระยะยาวกระทำอย่างผสมผสานกับมิติทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนประกอบด้วย
1)  รวมคน เริ่มจากการรวบรวมคนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง และสังคม โดยวัตถุประสงค์เพื่อรวมพลังใจเป็นการเสริมใจซึ่งกันและกันทำให้เกิดจิตสำนึกร่วม ในการแก้ปัญหาร่วมกัน
2)  ร่วมคิด เพื่อระดม พลังความคิด โดยผ่านการระดมสมอง เพื่อระดมความคิด สร้างความเข้าใจร่วมกัน ร่วมวิเคราะห์ปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหา กำหนดแนวทาง วิธีการ และแผนงานในการแก้ปัญหา
3)  ร่วมทำ เพื่อรวม พลังการจัดการ ตามแผนงานและบทบาทหน้าที่กำหนด
4)  ร่วมสรุปบทเรียนเพื่อสร้าง พลังปัญญา ทำให้เกิดการเชื่อมต่อและนำไปสู่การพัฒนา
5)  ร่วมรับผลจากการกระทำเพื่อสร้าง โดยการยกย่อง ชื่นชม และให้กำลังใจคนที่เสียสละและทำงานให้ชุมชนและสังคม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน

จากการศึกษาของ วารุณี ชินวินิจกุล (2549)  วิจัยเรื่อง กระบวนการเรียนรู้ของชุนชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาชุมชนไม้เรียง พบว่ากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนไม้เรียงเริ่มจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนที่มีการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) อย่างง่าย เพื่อหาข้อสรุปที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเห็นรวมของชุมชน และพบว่าการขับเคลื่อนใช้ผลของการค้นคว้าวิจัยจากช่วงของการริเริ่มก่อเกิดมาผลักดันให้ไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้ภาวะผู้นำและกระบวนการกลุ่ม ส่วนกระบวนการถ่ายทอดความรู้ของชุมชน เป็นการสร้างโอกาสให้คนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  หรือเป็นการยกระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  ค้นหาและตัดสินใจกำหนดแผนหรือกิจกรรมทางเลือกใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาที่สามารถดำเนินการได้จริงและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง  โดยการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งตนเอง สอดคล้องกับการศึกษาของ พจนา เอื้องไพบูลย์  (2546) วิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อวิเคราะห์กระบวนการและรูปแบบการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่า กระบวนการเรียนรู้ทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการคิดและปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาด้านนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมชุมชนให้ดีขึ้นและมีความสมดุล ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน คือ การทบทวนความยากลำบากในชีวิต การตรวจสอบถึงสาเหตุวิกฤตของกลุ่มแกนนำชุมชน การกระตุ้นคนในชุมชนได้ตระหนักในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของชุมชน  การหาทางออกในการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามทางเลือก การประเมินผลย้อนกลับ  การพัฒนาความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น และการบูรณาการเข้าสู่ชีวิต ผลจากการคิดและปฏิบัติของชุมชนทำให้ระบบนิเวศของชุมชนมีความสมบูรณ์ขึ้น เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นและมีความมั่นคงขึ้น มีการผลิตทางการเกษตรมากชนิดเป็นเกษตรแบบผสมผสานโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เนื้อหาของการเรียนรู้ครอบคลุมถึงกิจกรรมการเรียนรู้หลายลักษณะร่วมกันที่ทำให้ศักยภาพของชุมชนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน การสนทนา พบปะหารือและประชุม การสังเกตผลของกิจกรรม การถ่ายทอดภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน การฝึกอบรมและดูงานในพื้นที่จริง การเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ การเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ของชุมชน  การเรียนรู้ผ่านประเพณีและพิธีกรรม

การศึกษาของ สมศรี จินะวงษ์  (2544) วิจัยเรื่อง การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ในชุมชนที่ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า แนวคิดการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงในอดีตและปัจจุบันมีทั้งที่เป็นจุดร่วมและจุดต่าง จุดร่วม คือ การเน้นเรื่องพออยู่พอกิน การพึ่งตนเอง การพึ่งพาซึ่งกันและกัน การมีความสุขตามอัตภาพโดยไม่เบียดเบียนตนเองผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม จุดต่างคือในสภาพปัจจุบันการผลิตเป็นไปเพื่อสนองความต้องการในการบริโภคของครัวเรือนและเพื่อการค้า การบริโภคเป็นไปทั้งเพื่อสนองความต้องการในการดำรงชีวิตและเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การแลกเปลี่ยนเป็นไปทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศและระดับโลก การจัดสรรหรือการแบ่งปันเป็นไปทั้งในระดับชุมชนและระดับรัฐ กระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาศัยปัจจัยการเรียนทั้งปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก และปัจจัยสภาพแวดล้อม โดยมีลักษณะการเรียนรู้ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและการรวมกลุ่มจากแหล่งเรียนรู้ทั้งจากภายในชุมชนและ ภายนอกชุมชน วิธีการเรียนรู้ใช้ศรัทธาที่มีต่อบุคคล และใช้ความศรัทธาในตนและกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องหนุนนำการเรียนรู้ และยังพบอีกว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทำให้มีการกระจายรายได้ของคนในชุมชนดีขึ้นผ่านประเพณีและพิธีกรรม

ลักษณะทางปัญญาของคนไทย (Thai Intellectuality)  การที่ประเทศไทยมีการอึดอัดหรือติดขัด ในความรู้แนวคิดทฤษฏีที่เราเรียนรู้มา จะเป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่าลักษณะทางปัญญาของเราว่าเป็นอย่างไร การศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงสามารถมีความรู้  มีทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม การศึกษาเรื่องนามธรรมกฏเกณฑ์  สามารถย่นระยะเวลาการเรียนรู้โดยไม่ต้องผ่านประสบการณ์ มรดกทางวัฒนธรรมสามารถเข้าใจสังคมได้รวดเร็ว  ฉะนั้นปัญหาทางความคิดนามธรรม ถ้ามากก็แสดงถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยเรา วัฒนธรรมในลักษณะเชื่อฟังมาก ในครอบครัวก็เป็นอุปสรรคและปิดกั้นของการแลกเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างเสรี  จากการที่ประเทศไทยมีลักษณะอนุรักษ์นิยม (Conservative) แปลว่าอยู่กับที่ ไม่คิดอะไร ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร คงไว้เพื่อสภาพเดิมทุกอย่างที่เป็นลักษณะทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งมีแนวโน้มทางอนุรักษ์นิยมสูง เช่นนี้ คนไทยไม่รับการเปลี่ยนแปลง กลัวการเปลี่ยนแปลง เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะของการเสี่ยงภัย เพราะฉะนั้นอยู่กับที่ดีกว่า อีกประการหนึ่งลักษณะความรู้ของคนไทยเรามีลักษณะคับแคบ (Narrow) เป็นการหยิบยืม (Borrow) แปลว่าไม่มีองค์ความรู้เป็นของตนเอง ภูมิปัญญาของเราหยิบยืมจากต่างประเทศมา ซึ่งถ่ายทอดมาในลักษณะไม่แตะต้องข้ามสาขา เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ถือว่าเป็นผู้รู้ เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ  ปัญญาจะจำกัดตัวเอง หรือกรอบตัวเองอยู่ในสาขานั้นๆ จึงทำให้ระบบความยากจนของชาวนาไม่สามารถหมดจากประการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้

สำหรับการพัฒนาที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของชาวนา  จะต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน การนำภูมิปัญญาไทย หรือความคิดดั้งเดิมบวกกับนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ไม่ใช่รอให้คนอื่นทำก่อน เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่มักยึดติดกับความคิดดั้งเดิม ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลัวการล้มเหลว เพราะประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ   เมื่อพิจารณาในแง่การพอใจยอมรับความคิดใหม่  หรือ วิธีการใหม่ไปปฏิบัติตาม (Mosher, 1986 อ้างถึงใน บุญธรรม  จิตต์อนันต์, 2536) ได้มีการแบ่งบุคคลเป้าหมาย คือ เกษตรกร ออกเป็น 5  ประเภท คือ 1) พวกรับเร็ว ทันสมัย  หรือ บางทีเรียกว่า พวกหัวก้าวหน้า เพราะว่าเป็นพวกแรกในท้องถิ่นที่พอใจยอมรับแนวคิดความคิดใหม่ไปปฏิบัติตามทันที ยอมเสี่ยงกับความเสียหายที่อาจบังเกิดขึ้น ชอบทำการทดลองเพื่อให้เกิดผลกับคนหมู่มาก 2) พวกไม่รีรอ พวกนี้ยอมรับตามพวกทันสมัยไปอย่างรวดเร็ว ไม่รีรอให้ชักช้าเสียเวลา 3)  พวกขอความให้แน่ใจ พวกนี้จะเฝ้าดูผลจาก 2 พวกแรกที่กล่าวมาก่อน ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่พอแน่ใจแล้วก็ยอมรับไปปฏิบัติโดยไม่ชักช้า 4)  พวกไปทีหลัง เป็นพวกอนุรักษ์นิยม มีความระมัดระวังมาก จะไม่ยอมรับแนวคิดใหม่จนกว่าคนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นจะยอมรับไปก่อนแล้ว 5)  พวกรั้งท้าย เป็นพวกสุดท้ายในท้องถิ่นที่ยอมรับแนวคิดใหม่หลังจากผู้อื่นยอมรับไปหมดแล้ว

ตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิถีการทำนาของชาวนา: เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินงานการพัฒนาพันธุ์ข้าวมากว่า 10 ปี ได้เฝ้าดูปัญหาของเกษตรกรด้วยความห่วงใย การที่ชาวนาไม่ยอมเปลี่ยนวิถีการทำนา จนกระทั่งสภาพปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ทำโรงเรียนชาวนาขึ้นมา นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี
โรงเรียนชาวนาเกิดขึ้นเมื่อต้น พ.ศ. 2547 จากการรวมตัวของชาวนา จ.สุพรรณบุรี ใน 5 พื้นที่ คือ ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง ตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง และ ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ ปัจจุบันมีนักเรียนชาวนาประมาณ 170 คน และมีสมาชิกเครือข่ายจากทั่วประเทศประมาณ 220 คน หลักสูตรการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นให้ชาวนาเรียนรู้วิธีการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี รู้จักพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืช ปรับปรุงบำรุงดิน และพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง พร้อมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี เปลี่ยนวิธีคิด ลด ละ เลิก สารเคมี

ชาวนาไม่สนใจที่จะนำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ส่งเสริมการทำนาข้าวโดยเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ มากมาย ที่พร้อมจะให้นำไปใช้ในการทำเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เพราะชาวนาส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิด สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีคิดให้ได้ วิธีการแปลงเปลี่ยนทัศนคติของชาวนาและสร้างแนวคิดใหม่ในการทำนา จะอาศัยวิธีการ 'ย้ำคิดย้ำทำ' เพื่อทลายความเคยชินต่อการใช้สารเคมี การย้ำคิดย้ำทำต้องอาศัยปัจจัยด้านกลุ่มคน จังหวะเวลา สถานที่ และการย้ำคิดย้ำทำในแนวความคิดเรื่องพิษภัยของการใช้สารเคมี
การชักจูงกลุ่มคนให้เข้าร่วมกิจกรรมในเวลาเดิม สถานที่เดิม และแนวคิดเดิมซ้ำๆ เป็นการสร้างความเคยชินแบบใหม่เข้าไปแทนที่ความเคยชินแบบเดิม ชาวนาจะเริ่มลดจำนวนครั้งในการใช้สารเคมีน้อยลง จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิเสธการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง โรงเรียนชาวนาจึงมีตารางเรียนวันเวลาเดิมเป็นประจำสัปดาห์ละ 1 วัน นัดกันเรียนเป็นกลุ่มทั้งภาคทฤษฎีจากการบรรยายของเจ้าหน้าที่มูลนิธิและวิทยากรภายนอก เพื่อให้ชาวนาได้ทบทวนประสบการณ์ของตนเอง ชี้ให้เห็นภัยอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และสังเกตทดลองทำเกษตรแนวธรรมชาติด้วยตนเองทุกครั้ง

2.  กระบวนการเรียนรู้ใหม่: เรียนไป ทำไป
สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เกษตรกรเข้าโรงเรียนคือ ชาวนาเริ่มเข้าใจถึงพิษภัยจากสารเคมีและหันมาให้ความสนใจดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น เมื่อเกษตรกรเกิดความตระหนักว่าการทำนาตามแนวปฏิวัติเขียวไม่ใช่คำตอบของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลุ่มเกษตรกรจึงรวมตัวกันระดมความคิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา พลิกฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูญหายให้กลับคืนมาอีกครั้ง ผลจากการวางแผนร่วมกันชาวนาส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะนำพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ในการกำจัดศัตรูในข้าวทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อให้เกิดผลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

ก่อนเข้าโรงเรียนชาวนาที่รู้สึกสิ้นหวังกับแนวทางทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และมีอคติกับแนวคิดนี้ แต่ความรู้สึกเปลี่ยนไป เมื่อนำความรู้ที่ได้จากในโรงเรียนไปแก้ปัญหาในนาข้าวได้จริง ภูมิปัญญาของต่างชาติทำให้คนไทยขี้เกียจ เพราะเขาคิดแทนให้หมด ชาวนาเพียงแค่นำไปใช้ฉีดพ่นในแปลงนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่คงทนถาวร เพราะวงจรของวัชพืชมีอายุสั้นมาก เกิดขึ้นเร็ว ตายเร็ว การแก้ปัญหาด้วยการซื้อ ก็ต้องซื้อไปเรื่อยๆ เท่ากับเป็นการลงทุนที่ไม่รู้จักจบ
การกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคและแมลงในแปลงนา โดยไม่ใช่สารเคมีซึ่งมีวิธีปฏิบัติหลัก 4 ประการ คือ
1)  ปลูกพืชให้สมบูรณ์แข็งแรง ใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรคแมลง ปรับปรุงดินให้สมบูรณ์อยู่เสมอ
2)  อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด
3)  หมั่นตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ
4)  รู้จักตัดสินใจใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อมีการระบาดของโรคและแมลงก็ใช้สารสมุนไพรจากพืชฉีดพืช

หลักสูตรของโรงเรียนชาวนาจะฝึกสอนให้ชาวนาเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้นำไปใช้เอง การที่จะผลิตอะไรจึงต้องย้อนกลับไปดูว่าในแต่ละขั้นตอนของการผลิตข้าวเป็นอย่างไร การเรียนรู้ในระยะแรกจึงต้องทำการทบทวนปัญหาและความต้องการแก้ไขปัญหา ผสานกับการมองดูว่าในชุมชนมีอะไรที่เป็นตัวแก้ไขให้ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ
กระบวนการเรียนรู้นักเรียนชาวนาจะถูกฝึกให้เป็นนักทดลอง ต้องคิดต้องทำด้วยตนเอง เป็นการพิสูจน์ให้นักเรียนชาวนาได้ประจักษ์ด้วยตนเอง กิจกรรมที่เกิดในโรงเรียนจึงมีความหลากหลายเน้นนักเรียนชาวนาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนกลับไปใช้ในที่นาของตัวเอง
การเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ชาวนาจะได้รับเพิ่มเติมความรู้ภาคทฤษฎีจากวิทยากร และได้ลงมือปฏิบัติจริงในแปลงนาของตนเองนา ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าวในแต่ละช่วงอายุ ตรวจดูโรคที่จะเกิดกับข้าว และสำรวจแมลงในแปลงนาว่า มีแมลงชนิดใดบ้างและมีมากน้อยแค่ไหน ต้องจับแมลงมาศึกษาวาดภาพแล้วเก็บข้อมูล โดยต้องสำรวจทุก 15 วัน เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม ทำให้เกิดความรู้ใหม่มากมาย จากการศึกษาเรื่องแมลงทำให้พบความรู้ใหม่ว่า แท้จริงแล้วแมลงนั้นมีมากกว่า 2,000 ชนิด แต่ที่มีโทษต่อข้าวในแปลงนามีเพียงไม่กี่ชนิดที่เหลือส่วนใหญ่เป็นประโยชน์กับชาวนา โดยจะเข้าไปทำลายศัตรูพืชในนาข้าว ขณะที่ลงมือปฏิบัติชาวนาจะต้องบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงในนาของตน แล้วนำมาข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในแต่ละสัปดาห์ เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้เรื่องแมลง

การที่เกษตรกรได้มาเรียนร่วมกันแบบลงมือทำกันจริง ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งที่ความรู้นี้อยู่รอบตัว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดปัญหาหอยเชอร์รี่ในนาข้าว เมื่อการซื้อสารเคมีมากำจัดหอยเชอร์รี่ ซึ่งมีราคาแพงมาก โรงเรียนจะให้รู้จักการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและคิดหาวิธีการแก้ปัญหา จนพบว่าการแก้ปัญหาหอยเชอร์รี่น่าจะใช้หลักธรรมชาติที่ว่าพวกเดียวกันเมื่อตายแล้วจะไม่ชอบกัน จึงทำการทดลองนำหอยเชอร์รี่ที่ตายแล้วมาตากแดดให้แห้งพอให้มีกลิ่นเหม็นๆ แล้วนำมาบดละเอียดผสมกับน้ำปล่อยเข้านาข้าว ผลปรากฏว่าหอยเชอร์รี่จะไม่มาขึ้นในนาข้าวอีก
หลังจากทำนาได้ระยะหนึ่งต้นข้าวจะเจริญเติบโต ระยะนี้จะมีแมลงที่เป็นศัตรูพืชมารบกวน ชาวนาจึงได้เรียนรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการผลิตน้ำยากำจัดแมลงศัตรูพืชเอง แทนการใช้สารเคมีฉีดพ่น โดยนำเอาเศษใบไม้ ผลไม้ ซากพืช ซากสัตว์ และสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำไพร ข่า ยาสูบ สะเดา กากน้ำตาล คูณ และเปลือกมะกรูด นำมาหมักรวมกัน 3 เดือน นำมาฉีดพ่นในนาข้าว 7-10 วันต่อครั้ง หรือปล่อยไปกับน้ำเข้าในนาเพื่อป้องกันหนอน

3.  การร่วมกันจัดการความรู้
แต่เดิมหากจะมีเกษตรกรคนใดลุกขึ้นมาทำเกษตรแนวธรรมชาตินี้จะถูกหาว่าเป็น "บ้า" ไม่มีใครคบด้วย มูลนิธิฯ จึงจับจุดนี้มาแก้ไขปัญหาและเห็นว่าการเรียนรู้เป็นกลุ่มจะมีพลังมากกว่าเมื่อประกอบกับสภาพปัญหาที่เกษตรแต่ละคนประสบนั้นร้ายแรง ทำให้ทุกคนต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิต เมื่อมีการชักชวนมาเข้าโรงเรียนชาวนา จึงมาเรียนอย่างล้นหลาม ทำให้นักเรียนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ใช่พวกแปลกแยกจากกลุ่ม ชาวนาจะมาแก้ปัญหาร่วมกัน การไปโรงเรียนจึงมีประโยชน์และมีผลต่อการใช้ในชีวิต อีกทั้งยังช่วยสร้างความสามัคคีให้เกิดในชุนชนอีกด้วย
กระบวนการสำคัญในการการจัดการความรู้สู่นักเรียนชาวนาจะอาศัยกระบวนการกลุ่มให้นักเรียนชาวนาได้คิดร่วมกัน ฝึกร่วมกัน และคอยช่วยเหลือกัน กิจกรรมกลุ่มจะช่วยเสริมสร้างทักษะในการเรียน กระบวนการกลุ่มจะมีบทบาทหลอมความคิด สมาชิกกลุ่มจะร่วมกันระดมสมอง เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ 3 เวที คือ เวทีชาวบ้าน เวทีวิชาการ (เชิงปฏิบัติการ) เวทีอื่นๆ

เวทีชาวบ้าน จะช่วยให้เกิดการอภิปราย การวิเคราะห์ประเด็นและปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด มุมมองจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคลจะช่วยแสดงความคิดความอ่าน หากมีใครที่มีความคิดอย่างเข้าใจผิดและคิดคลาดเคลื่อนไป กระบวนกลุ่มจะช่วยดึงกันให้เข้ามาสู่สิ่งที่พึงปรารถนา กลุ่มจะช่วยตรวจสอบกันเอง อันเป็นผลดีต่อการก้าวเดินของทุกคนร่วมกันในกลุ่ม
เวทีวิชาการ (เชิงปฏิบัติการ) เจ้าหน้าที่โครงการจะทำหน้าที่ เป็นผู้ประสานและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงความรู้จากตำรา จากภายนอกมาสู่นักเรียน โดยเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สอนเทคนิควิธีการ เพื่อจะให้นักเรียนชาวนานำไปปฏิบัติ แทบทุกครั้งเจ้าหน้าที่โครงการจะมีการบ้านให้นักเรียนชาวนากลับไปทำ จากโจทย์ที่พบในการดำเนินชีวิตประจำวันของการทำนาแล้วให้นำมาส่งในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ยังมีเวทีอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา ได้แก่ การไปศึกษาดูงานที่แหล่งการเรียนรู้ต่างๆ นอกชุมชน การเข้าร่วมการประชุมและสัมมนาในเวทีต่างๆ ทั่วไป ที่จะจัดโดยองค์กรและหน่วยงานทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากแหล่งการเรียนรู้อันหลากหลาย นักเรียนชาวนาคือศูนย์กลางของการเรียนรู้ ข้อมูลหลายอย่างจากหลายแหล่งจะไหลเข้ามาสู่นักเรียนชาวนา ในขณะที่นักเรียนชาวนาเองก็พร้อมและสมัครใจรับข้อมูล ไม่เฉพาะเพียงแต่การรับรู้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปใช้และพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองไป จนสามารถสร้างความรู้ขึ้นมาใช้ในการแก้ปัญหาได้เอง หลังจากกลุ่มเกษตรเลิกทำนาใช้สารพิษมาได้ระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเลือดให้แก่ชาวนา พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวนามีสุขภาพดีขึ้น

เมื่อชาวนาเกิดการร่วมกลุ่มทบทวนวิถีชีวิตการทำนา ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ การฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กับประเพณีวัฒนธรรมในการทำนากลับมามีชีวิตอีกครั้ง เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว การทำขวัญข้าว หรือการไหว้พระแม่โพสพ เป็นต้น
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะของนักเรียนโรงเรียนชาวนาระหว่างที่อยู่ในห้องเรียน เป็นบรรยากาศที่แตกต่างไปจากห้องเรียนอื่นๆ ที่ต้องนั่งเคร่งเครียดอยู่กับการเรียน แต่สิ่งสำคัญที่สุดของโรงเรียนแห่งนี้คือ การที่เกษตรกรส่งผ่านความรู้ภูมิปัญญาและวิธีคิดการทำการเกษตรพอเพียง ที่เหมาะสมกับสภาพของชุมชน ครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น สามารถเชื่อมโยงความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้ใหม่อันจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป
 
4.  หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนชาวนา
หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนชาวนาประกอบด้วย 3 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาทั้งสิ้น 18 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เนื้อหาของหลักสูตรมีดังนี้
1)  ระดับประถมศึกษา - หลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี หลักสูตรนี้จะเรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช และระบบนิเวศในแปลงนา
2)  ระดับมัธยมศึกษา -หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช่สารเคมี นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้โครงสร้างของดิน และวิธีการปรับปรุงดินโดยวิธีธรรมชาติ
3)  ระดับอุดมศึกษา-หลักสูตรการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมีจะไม่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวเหล่านั้น แต่เหมาะกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น พันธุ์หอมมะลิ นางมล สังข์หยด ฯลฯ ดังนั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วารุณี ชินวินิจกุล (2549) วิจัยเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของชุนชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาชุมชนไม้เรียง พบว่ากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนไม้เรียงเริ่มจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนที่มีการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) อย่างง่าย เพื่อหาข้อสรุปที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเห็นรวมของชุมชน และพบว่าการขับเคลื่อนใช้ผลของการค้นคว้าวิจัยจากช่วงของการริเริ่มก่อเกิดมาผลักดันให้ไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้ภาวะผู้นำและกระบวนการกลุ่ม ส่วนกระบวนการถ่ายทอดความรู้ของชุมชน เป็นการสร้างโอกาสให้คนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  หรือเป็นการยกระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ค้นหาและตัดสินใจกำหนดแผนหรือกิจกรรมทางเลือกใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาที่สามารถดำเนินการได้จริงและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง  โดยการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งตนเอง

ในส่วนของผู้วิจัยสรุปว่ากระบวนการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาศักยภาพของชาวนาในการคิดการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาซึ่งสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้หลายวิธี ได้แก่ การสนทนา  พบปะหารือ และประชุม  การให้ทดลองปฏิบัติจริง  การถ่ายทอดภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน  การฝึกอบรมและดูงานในพื้นที่จริง  การเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ  การเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ของชุมชน  การเรียนรู้จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการเรียนรู้ผ่านประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ให้เป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ชาวนามีความรู้จริง สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การผลิตมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเป็นชาวนามืออาชีพ เป็นคนเก่งสามารถพึ่งตนเอง  มีภูมิคุ้มกันตนเอง และมีความสุขในวิถีสังคมพอเพียง

***************************************************

เอกสารอ้างอิง

พจนา เอื้องไพบูลย์. (2546). การวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: การศึกษาแบบพหุกรณี. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต 
สาขาบริหารการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วารุณี  ชินวินิจกุล. (2549). การวิจัยเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของชุนชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สมศรี  จินะวงษ์. (2544). การวิจัยเรื่องการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ในชุมชนที่ใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง.
วิทยานิพนธ์
ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น