หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดการพัฒนาชนบท



แนวคิดการพัฒนาชนบท

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2538) ได้ให้คำอธิบายเรื่องการพัฒนาชนบทไว้ดังนี้
การพัฒนา  มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Development แปลว่า การเปลี่ยนแปลงที่ละเล็กละน้อย โดยผ่านลำดับขั้นตอนต่างๆ ไปสู่ระดับที่สามารถขยายตัวขึ้น เติบโตขึ้น มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นและเหมาะสมกว่าเดิมหรืออาจก้าวหน้าไปถึงขั้นที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจ (ปกรณ์ ปรียากร, 2538) ส่วนความหมายจากรูปศัพท์ในภาษาไทยนั้น หมายถึง การทำความเจริญ การเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญขึ้น การคลี่คลายไปในทางที่ดี ถ้าเป็นกริยาใช้คำว่า พัฒนา หมายความว่า ทำให้เจริญ คือ ทำให้เติบโตได้ งอกงาม ทำให้งอกงามและมากขึ้น เช่น เจริญทางไมตรี 

ความหมายของคำว่า การพัฒนา นั้น ที่นักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ดังจะได้นำมากล่าวเป็นตัวอย่างต่อไปคือ
สนธยา พลศรี (2547) การพัฒนา โดยความหมายจากรูปศัพท์จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดความเจริญเติบโตงอกงามและดีขึ้นจนเป็นที่พึงพอใจ ความหมายดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของความหมายในภาษาไทยและเป็นแนวทางในการกำหนดความหมายอื่นๆ
ส่วน วิทยากร เชียงกูล (2527) ได้แสดงความเห็นถึง การพัฒนาว่าการพัฒนาที่แท้จริงควรหมายถึง การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความสุข ความสะดวกสบาย ความอยู่ดีกินดี ความเจริญงอกงามทางศิลปวัฒนธรรมและจิตใจ และความสงบสันติ ซึ่งนอกจากจะขึ้นอยู่กับการได้รับปัจจัยทางวัตถุ เพื่อสนองความต้องการของร่างกายแล้ว ประชาชนยังต้องพัฒนาทางด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อมที่ดี การพักผ่อนหย่อนใจและการพัฒนาทางวัฒนธรรมและจิตใจด้านต่างๆ ด้วยความต้องการทั้งหมดนี้เรียกว่า เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้เห็นว่า การพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเพิ่มปริมาณสินค้า หรือการเพิ่มรายได้เท่านั้น แต่อยู่ที่การเพิ่มความพอใจ และความสุขของประชาชนมากกว่า 

รีดเดอร์ (Reeder อ้างถึงใน โสภณ โสภโณ, 2540) ให้ความหมายของการ การพัฒนาว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ 1) ความแตกต่าง เช่น ปริมาณและคุณภาพของบริการข้อมูลและข่าวสาร ฐานะทางสังคมบทบาทและอาชีพ เป็นต้น 2) การใช้ประโยชน์จากบริการที่มีอยู่และเพิ่มขึ้น 3) มีเทคโนโลยีและความมีประสิทธิภาพกระจายทั่วทุกสังคม 4) มีความเชื่อและความไม่เชื่อ เช่น เป้าประสงค์ ความเชื่อพื้นฐาน ค่านิยม โอกาสและการสนับสนุน 5) ทัศนคติ เช่น ช่วยเหลือตนเอง มีประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรมนุษย์ และมีความคิดริเริ่มมากขึ้น

ดัดเลย์ เซียร์ส (Dudley Seers, อ้างถึงปกรณ์ ปรียากร, 2546) กล่าวว่า การพัฒนา หมายถึง การขจัดความยากจน ความอดอยาก การขจัดความเจ็บไข้ได้ป่วย โดยมุ่งเน้นให้มีรายได้ มีงานทำ มีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีโอกาสในการได้รับบริการสาธารณะต่างๆ หรือ การพัฒนา หมายถึง การสร้างสภาวการณ์ด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงเสริมสร้างคุณภาพชีวิต (Quality of Life) ให้ดีขึ้นและในบทความอันมีชื่อเสียง เรื่อง ความหมายของการพัฒนาของ Dudley Seers อีกประการหนึ่งชี้ให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายเบื้องต้นในการพัฒนาประเทศ คือ การแสวงหาลู่ทางเพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก หรือภาวะทุโภชนาการ แก้ปัญหาความยากจนและแก้ปัญหาด้านการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำลายศักยภาพของปัจเจกบุคคล กับจะนำความยุ่งยากมาสู่สังคมในที่สุด (ปกรณ์ ปรียากร, 2546) 

จากความหมายที่นักวิชาการต่างประเทศให้ไว้ การพัฒนาจึงหมายถึง กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ความก้าวหน้าทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมในสังคม ความเสมอภาคทางการเมืองและการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยวิธีการพัฒนาที่สมดุล ใช้วิธีการบริหารที่เหมาะสม เพื่อให้ประเทศก้าวหน้า และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ภายใต้คำจำกัดความดังกล่าว    
โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (2536) เนื้อหาสาระที่สำคัญของการพัฒนา อยู่ที่ความสามารถของคนส่วนใหญ่ ส่วนกลไกหรือกระบวนการนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงาน นอกจากนั้น การดำเนินงานดังกล่าวควรจะต้องให้ผลได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย กระบวนการพัฒนาจึงจำเป็นจะต้องเป็นกระบวนการระยะยาวและน่าจะส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
ประการแรก การพัฒนา หมายถึง ความก้าวหน้า ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจก็เรียกว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจ ถ้าเป็นด้านสังคมก็เป็นเรื่องของความมีเหตุผลตลอดจนระบบและกลไกซึ่งเอื้ออำนวยให้สามารถใช้เหตุผลเป็นหลักในการตัดสินใจ และลดความขัดแย้งโดยสันติวิธี เรื่องความก้าวหน้านี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความเอาใจใส่กันมากและมีคนส่วนหนึ่งเห็นว่า การพัฒนานั้นหมายถึง เรื่องของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งตามทัศนะของการพัฒนาโดยทั่วไปนั้นควรหมายถึงเรื่องความก้าวหน้าต่างๆ ทางสังคมด้วย ไม่เฉพาะแต่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่านั้น  
ประการที่สอง การพัฒนา หมายถึง ความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ถ้าเป็นไปในทางเศรษฐกิจ เราต้องการให้ระบบเศรษฐกิจของเราเป็นระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงมีเสถียรภาพ กล่าวคือ ไม่มีปัญหาต่างๆ เช่น เงินเฟื้อ เงินฝืด ในทางสังคมก็เช่นกัน เราต้องการเห็นความมั่นคงทางสังคม เป็นสังคมที่สงบสุข เป็นสังคมที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยปราศจากความรุนแรง ความมั่นคงจึงเป็นเรื่องใหญ่ และในการพัฒนาก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วก็ได้มีการคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็มีผู้ที่เป็นห่วงกันมากในเรื่องของปัญหาความมั่นคงในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่อง ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาเรื่องของเงินเฟื้อ ฯลฯ
ประการที่สาม นอกจากคำว่า การพัฒนา หมายถึง ความก้าวหน้าและความมั่นคงแล้ว การพัฒนายังหมายถึง ความเป็นธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะความเป็นธรรมในลักษณะที่ว่าประชาชนทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม และได้รับผลตอบแทนจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามสมควร ซึ่งคำว่าตามสมควรนี้ เป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ต้องช่วยกันพิจารณาว่าอะไรคือ ความพอเหมาะพอควร ถ้าการพัฒนานั้นเป็นการพัฒนาประเภทที่มีผู้เข้ามามีส่วนร่วม มีจำนวนไม่มากนักและผู้ที่ได้รับผลตอบแทนจากการพัฒนามีน้อยราย การพัฒนาดังกล่าวก็เป็นการพัฒนาที่ไม่พึงประสงค์มากนัก 

ดังนั้น การพัฒนาจึงควรเป็นการพัฒนาในรูปแบบที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมด้วย เมื่อพิจารณาคำจำกัดความและวัตถุประสงค์ 3 ประการดังกล่าว การพัฒนาจึงเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนและจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในกระบวนการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งเป็นเพียงซีกเดียวของการพัฒนาเท่านั้นเช่น ผลสำเร็จของอัตราความเจริญเติบโตที่สูงนั้นอาจเลือกได้ว่า ระบบเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ความก้าวหน้าดังกล่าว อาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงและความไม่เป็นธรรมที่รุนแรงขึ้นโดยมีตัวอย่างให้เห็นปรากฏอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งเคยมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูง แต่ปรากฏว่าความก้าวหน้านั้นไม่มีผลต่อเนื่องที่ยั่งยืนเนื่องจากขาดความมั่นคงและความเป็นธรรม เป็นต้น 

ความหมายของการพัฒนาจึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะหากเข้าใจความหมายของการพัฒนาแตกต่างกันแล้ว แนวทางการทำงานตลอดจนแนวความคิดต่างๆ ก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเสนอแนะแนวความคิดต่างๆ ก็จะแตกต่างกันไป การเสนอแนะแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงต้องอาศัยรากฐานมาจากความเข้าใจความหมายของการพัฒนาที่ตรงกันเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วแนวความคิดที่ปราศจากรากฐานร่วมกันก็จะมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และยากต่อการทำความเข้าใจกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย

ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2534) การพัฒนา ที่เข้าใจโดยทั่วไป มีความหมายใกล้เคียงกับความหมายจากรูปศัพท์ คือ หมายถึง การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ หรือการทำให้ดีขึ้นกว่าสภาพเดิมที่เป็นอยู่อย่างเป็นระบบ  
ปกรณ์  ปรียากร (2538) กล่าวว่า เป็นการเปรียบเทียบทางด้านคุณภาพ ระหว่างสภาพการณ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงเวลาที่ต่างกัน กล่าวคือ ถ้าในปัจจุบันสภาพการณ์ของสิ่งนั้นดีกว่า สมบูรณ์กว่าก็แสดงว่าเป็นการพัฒนา)
พินิจ ลาภธนานนท์ (2529) ให้ความหมายการพัฒนาชนบทว่า หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างต่างๆในสังคมชนบท ในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อให้ประชาชนได้พัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  มีองค์ประกอบคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสังคมในชุมชน ทางด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อให้ประชาชนในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต  พึ่งพาตนเอง  การตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของชาวชนบท ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการต่างๆที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินสอดคล้องกับ ธวัช  มกรพงศ์ (2531) กล่าวถึง การพัฒนาชุมชนว่า หมายถึง ยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของสังคมยากจนในชนบท ทั้งทางเศรษฐกิจ และกระจายผลประโยชน์ไปสู่สังคมที่ยากจนที่สุดในชนบทนักพัฒนาชุมชนได้ให้ความหมายของการพัฒนา  ไว้ว่า หมายถึง การที่คนในชุมชนและสังคมโดยส่วนรวมได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเอง  และร่วมกันเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองชุมชนสังคมให้ดีขึ้น (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2525) การพัฒนาเป็นเสมือนกลวิธีหรือมรรควิธี (Mean) ที่ทำให้เกิดผล (Ends) ที่ต้องการ คือ คุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมดีขึ้น (ยุวัฒน์ วุฒิเมธี, 2534)
ทางด้านนักพัฒนาชุมชนได้ให้ความหมายของ การพัฒนา  ไว้ใกล้เคียงกับนักสังคมวิทยา คือ เป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงมนุษย์และสังคมมนุษย์ให้ดีขึ้น แต่นักพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นที่มนุษย์ในชุมชนต้องร่วมกันดำเนินงานและได้รับผลจากการพัฒนาร่วมกัน

การพัฒนาชนบทอาจมีความหมายว่า การพัฒนาชนบทคือการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ตามชนบท และการทำให้กระบวนการพัฒนานั้นเป็นกระบวนการที่สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตนเอง (Self - Sustaining) (Lele, 1976) กระบวนการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ในระยะยาวเพื่อสวัสดิการ (Welfare) และเพื่อการผลิต โดยการให้ประชาชนชาวนชนบทเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเพื่อให้เกิดมีทักษะและความสามารถในการดำเนินการพัฒนา มีสถาบันระดับท้องถิ่น (Local) ระดับภาค (Regional) และระดับชาติ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นกระบวนการที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยตนเอง การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาชนบท จะต้องมีการกำหนดนโยบายระดับชาติระบบการบริหาร (Administrative System) และการดำเนินการของสถาบันต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาชนบทต่างๆ มักจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานอุดมการณ์และความเชื่อของผู้เสนอทฤษฎี ซึ่งมีแนวคิดมาเสนอเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา และแก้ปัญหาการพัฒนาชนบทต่อไป
1)  การพัฒนาชนบทด้วยการพัฒนาการเกษตร (Rural Development as Agricultural Development)
แนวคิดการพัฒนาชนบทก็คือ การพัฒนาการเกษตร เป็นแนวคิดหลักของการพัฒนาชนบทโดยทั่วไป และเป็นความคิดที่สัมพันธ์สืบเนื่องมาจากทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สาระสำคัญแนวคิดการพัฒนาประเทศในโลกที่สามนั้นเศรษฐกิจชนบทคือเศรษฐกิจการเกษตรเป็นสาขาใหญ่และล้าหลัง ประชากรไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของประเทศอยู่ในสาขานี้และมีรายได้ต่ำ ฉะนั้นการพัฒนาชนบทจึงควรพัฒนาการเกษตร เพราะเมื่อมีการพัฒนาการเกษตรย่อมทำให้ประชาชนในชนบทมีรายได้และมาตรฐานการเป็นอยู่ดีขึ้น

เนื่องจากการเกษตรกรรมในประเทศโลกที่สามมีลักษณะล้าหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ทางโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ จากการมีสาขาการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเป็นสาขาหลักสู่การมีสาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาต่อไป (Fei & Rains, 1964 อ้างถึงใน Jorgenson & South Worth, 1963) ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้น สาขาการเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนามีส่วนร่วมสัมพันธ์กับสาขาที่มิใช่เกษตรกรรมหลายประการ ที่สำคัญคือ 1) เป็นแหล่งที่จะให้อุทานทางด้านแรงงาน อาหาร และวัตถุดิบ 2) เป็นแหล่งอุปทานของทุนจากเงินออม 3) เป็นตลาดหรืออุปสงค์สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคที่ผลิตขึ้น และ 4) การพัฒนาการเกษตรต้องใช้ปัจจัยการผลิต(Inputs) ต่างๆ จากภาคมิใช่เกษตรกรรมอื่นๆ (Johnston & South worth, 1968)

ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรทัศนะของ Mosher (1966) มีดังนี้ 1) ตลาดสำหรับผลิตผลการเกษตร 2) เทคโนโลยีที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 3) สามารถจัดหาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตได้ในระดับท้องถิ่น 4) มีแรงจูงใจในการผลิตสำหรับเกษตรกร 5) การคมนาคมขนส่งสะดวก ปัจจัยทั้ง 6) ประการนี้ตามทัศนะคติของ Mosher ถือว่าเป็นปัจจัยจำเป็น (Essential) ของการพัฒนาการเกษตร คือ 7) การศึกษาเพื่อการพัฒนา 8) สินเชื่อทางการเกษตร 9) การดำเนินการเป็นกลุ่มร่วมกันของการเกษตร 10) การปรับปรุงและการขยายเนื้อที่เพาะปลูก และ 11) การวางแผนระดับชาติต่อการพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาการเกษตรในฐานะเป็นวิถีทาง (Means) ของการพัฒนาชนบทเท่าที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จาการพัฒนาส่วนใหญ่ ได้แก่ เกษตรรายใหญ่ เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตรส่วนมากเป็นแบบใช้ทุนมาก (Capital Intensive) ประโยชน์จากการพัฒนา เช่น จากการปฏิวัติทางการเกษตร (Green Revolution) จึงไม่ถึงมือเกษตรกรรายย่อย ครัวเรือนยากจนซึ่งไม่มีที่ดินทำกินแต่อาศัยการรับจ้างแรงงานในการเกษตร เช่นการส่งเสริมการเกษตร สินเชื่อ การประกันราคาการชลประทาน เป็นต้น (Khantbachai, 1981) เมื่อมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในการผลิต โอกาสการจ้างงานของกลุ่มครัวเรือนยากจนดังกล่าวน้อยลง เหล่านี้มีผลทำให้มีความแตกต่างในระดับรายได้ และมาตรฐานความเป็นอยู่มากขึ้น ความยากจนและการว่างงานยังมิได้ลดน้อยลงแต่กลับจะมีมากขึ้น

2)  การพัฒนาชนบทด้วยการพัฒนาชุมชน (Rural Development by Community Development)
การพัฒนาด้วยการดำเนินการของการพัฒนาชุมชนนั้น เป็นแนวความคิดของนักทฤษฎีทางสังคมวิทยาของอเมริกัน การพัฒนาแบบนี้เริ่มในปี 1940 พร้อมๆ กับความช่วยเหลือ (Aid) ของสหรัฐอเมริกาในด้านต่างๆ ต่อประเทศโลกที่สาม หลักและวิธีการดำเนินการของการพัฒนาชนบทการพัฒนาชุมชน คือตัวแทนของรัฐบาลที่ทำงานในระดับตำบลและหมู่บ้าน ต้องทำงานในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เขาเหล่านี้จะร่วมมือกับผู้นำในท้องถิ่นเพื่อรวมกลุ่มชาวบ้านชนบทในการกำหนดปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น (Common Needs) มีการกำหนดแนวทางและดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน โดยพยายามให้มีการใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นแบบการช่วยเหลือในเรื่องการเงินสิ่งของเพิ่มเติมหรือทางวิชาการด้วย โดยหลักการ การพัฒนาชุมชนมีความมุ่งหมายที่จะทำการปรับปรุง (Improvement) ในทุกๆ เรื่อง เช่น ความเป็นปึกแผ่นกลมกลืนทางสังคม (Social Harmony) การผลิตทางเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุข สันทนาการ และการปกครอง

ความนิยมของการพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแนวความคิดที่เข้ามาพร้อมกับความช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ความเสื่อมของแนวคิดนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเช่นกัน
ในปี
1964 หน่วย U.S.A ID ยุบหน่วย Community Development ของตนเอง ภาควิชาหลายแห่งที่ทำการเปิดสอนสาขาพัฒนาชุมชน เปลี่ยนแปลงหลักสูตรและใช้ชื่ออย่างอื่น ในอินเดียซึ่งเป็นประเทศริเริ่มรับแนวคิดการพัฒนาชุมชนเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาชนบทในปัจจุบันนี้ รัฐบาลกลับเน้นในเรื่องการพัฒนาการเกษตรการสร้างสถาบันเพื่อพัฒนาชนบท  การสหกรณ์ และการปฏิรูปที่ดิน ข้อบกพร่องของแนวคิดพัฒนาชุมชนที่สำคัญดังนี้ 1) การพัฒนาชุมชนมิได้เป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติทางด้านอาหาร (เช่น ในอินเดีย) หรือด้านส่งเสริมกิจกรรมการผลิตต่างๆ 2) การพัฒนาชุมชนมิได้ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างแท้จริง คนยากจนในชนบทส่วนใหญ่ยังคงยากจนหวาดระแวงและอยู่นอกวงการพัฒนาเช่นเดิม 3) การพัฒนาชุมชนช่วยเหลือเสริมสร้างโครงสร้างอำนาจเดิมของท้องถิ่นให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยการที่พัฒนาการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้นำท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิม (The Established หรือ Natural Leader) ทำให้เป็นผู้ได้ประโยชน์สำคัญจากการพัฒนาและเป็นอุปสรรคต่อความคิดริเริ่มอย่างแท้จริงของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านต่างๆ ไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร การสารธารณสุข และการศึกษา เป็นต้น เพราะเห็นว่าพัฒนาการไม่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพียงพอ

3)  การพัฒนาชนบทแบบมีบูรณภาพ (Integrated Rural Development-IRD)
โดยหลักการพื้นฐานการพัฒนาชนบทแบบมีบูรณภาพ หรือ IRD มีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาชนบทตามแนวคิดวิธีการพัฒนาชุมชน Community Development (CD) อยู่มาก กล่าวคือเป็นกระบวนการเพื่อการปรับปรุงงานในหลายๆ ด้านเช่น การผลิต การสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ IRD นั้น พยายามดำเนินการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ผสานกลมกลืนพร้อมๆ กัน หรือตามตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม (Simultaneous and Comprehensive Action) อย่างมีบูรภาพ (Integrated) และเป็นการดำเนินการภายใต้ขอบข่ายการบริหารอันเดียวกัน (A Single Administrative Framework) ของหน่วยงานเดียวมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินการประสานระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการมีเป้าหมายพื้นที่ของการพัฒนาที่แน่นอน อย่างไรก็ดี ได้มีความเข้าใจสับสนกันอยู่มากเกี่ยวกับความหมายของIRD ในที่นี้จึงเป็นการสมควรที่จะได้พิจารณาหลักการที่แท้จริงของกระบวนการพัฒนาแบบนี้ต่อไป

หลักการสำคัญ IRD มี 4 ประการ คือ 1) IRD ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการให้ชาวนารายย่อยได้เข้าถึงบริการและปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่รัฐจัดขึ้น เพื่อปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงกลไกลทางการบริหารระดับท้องถิ่นให้มีการประสานร่วมมือกันดีขึ้น (Local Level Co-Ordination) 2) ควรวางแผนพหุสาขา (Multi-Sector Planning) ในระดับท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น เกี่ยวกับสาธารณูปโภค และโอกาสการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เป็นต้น และเป็นการวางแผนซึ่งเน้นพื้นที่ (Spatial Planning) จัดให้มีศูนย์ความเจริญเติบโตของชนบท (Rural Growth Centers) ซึ่งทำหน้าที่เพื่อทุ่มการพัฒนาในท้องถิ่น (Area Concentration) และดำเนินการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกด้าน (Comprehensive) ที่เหมาะสม และ 4) การกระจายอำนาจการบริหารและการตัดสินใจไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เพราะถือว่าการพัฒนาชนบทนั้นจำเป็นจะต้องสนองตอบอย่างทันกับความต้องการ ต่ออุปสรรค และต่อโอกาสต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ซึ่งทำได้โดยการให้เจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่น มีอำนาจในการกำหนดแผนงาน ปฏิบัติตามแผนงาน การเงิน และมีบุคลากรบริหารงานมาก เพื่อให้เกิดผลดีต่อการควบคุมและการประสานงานพัฒนาในระดับท้องถิ่น

4)  การพัฒนาชนบทเน้นปัญหาความยากจน (Poverty-Focused Rural Development)
แนวคิดของการพัฒนาชนบทโดยเน้นปัญหายากจนเป็นแนวความคิดที่ปรับปรุงจากแนวคิดพัฒนาชนบทต่างๆ แต่เดิมซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท เพราะแนวทางพัฒนาเดิมเหล่านั้นคนยากจนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา หรือไม่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเท่าที่ควรดังกล่าวแล้ว ตามแนวความคิดใหม่นี้เสมอว่า ในการพัฒนานั้นต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างชัดเจน (Target Group) เพื่อการพัฒนาจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ จะได้มีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินการจะทำการแก้ปัญหาต่างๆ ที่แน่นอน

สิ่งที่จะทำให้เกิดอุปสรรคแก่การพัฒนาชนบทเพื่อขจัดความยากจนประการสำคัญได้แก่ การกำหนดเป้าหมายกลุ่มยากจนขาดแคลนงบประมาณ อุปสรรคประการแรกนั้นสืบเนื่องมาจากปัญหาการกำหนดว่า ในประเทศในโลกที่สามนั้น การขจัดความยากจนสมบูรณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ ควรถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความยากจนสัมพันธ์ (Relative Poverty) กลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาจึงควรได้แก่ กลุ่มบุคคลซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานดังกล่าว        การกำหนดความหมายของความยากจนและแนวทางพัฒนาดังนี้ จะทำให้สามารถกำหนดประชากรเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ทำให้มีขอบข่ายของการดำเนินการพัฒนาที่แคบและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลนงบประมาณได้ส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนั้น หากโครงการพัฒนาต่างๆ เน้นในเรื่องการเพิ่มระดับรายได้ของกลุ่มยากจนเป็นพื้นฐานก็จะทำให้การพัฒนาการเป็นการพัฒนาที่สามารถเลี้ยงตัวได้ (Self-Sustaining Development) ในอนาคต

5)  การพัฒนาชนบทแบบจีนแผ่นดินใหญ่ (The Chinese Model of Rural Development)
ในประเทศยากจน ปัญหาความขาดแคลน (Scarcity) ความไม่เท่าเทียมกัน (Disparity) และความไม่พึงพอใจ (Dissatisfaction) ในเรื่องต่างๆ คือปัญหาร่วมกัน แม้ประเทศเหล่านี้จะมีความแตกต่าง กันทางอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในการพัฒนาชนบทของประเทศจีน (แผ่นดินใหญ่) เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ผู้นำจีนมีแนวทางแตกต่างในอุดมการณ์ที่ยึดถือ ข้อแตกต่างส่วนสำคัญพื้นฐานนั้นคือ การพัฒนาของจีนจ้องจัดการแบบแผนการพึ่งพาแบบอาณานิคมทั้งภายนอกภายในประเทศโดยสิ้นเชิง และการพิจารณาเห็นว่า โครงสร้างชนชั้นในชนบท และการเป็นเจ้าของที่ดินและทุน แบบเดิมเป็นสาเหตุสำคัญของความยากจนและเป็นอุปสรรคต่อการทำการผลิต การพัฒนาชนบท ( Rural Reconstruction) ของจีนแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) การปฏิวัติของชาวนาและการจัดการกระจายที่ดิน(Peasant Revolts and Redistribution of Land) ผลของการดำเนินการใช้ขั้นนี้ทำให้ปัญหาเรื่องราชาที่ดิน (Land Lord) หมดไป แต่ยังมีการยินยอมให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดิน ชาวนารายย่อยมีการรวมกลุ่มกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Mutual Aid Teams) 2) การจัดรูปแบบสหกรณ์และการผลิตทางการเกษตรแบบกึ่งสังคมนิยม (Semi Socialist Agriculture) โดยที่กลุ่มชาวนารายย่อยซึ่งมีการรวมกันเป็นกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันดังกล่าว มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์จากกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มใหญ่ ที่ดินและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ใช้ร่วมกันและ 3) การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่แบบแผนทางการเกษตรแบบสังคมนิยม (Socialist Agriculture) ในขั้นนี้ปัจจัยการผลิตต่างๆ (Means of Production) ทั้งหมดเป็นของส่วนรวม มีการจัดตั้งชุมชน (Communes)  หน่วย (Brigades) และทีม (Teams) ทำงานในระดับต่างๆ ในขั้นที่สามนี้ถือว่าเป็นขั้นชาวชนบทพร้อมสำหรับการก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ

แนวทางการพัฒนาของประเทศจีนมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การพัฒนาการเกษตรกรรมนั้น ได้รับการจัดอันดับสูงสุดเท่าเทียมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 2) การสร้างสถาบันชนบทต่างๆ (Autonomous) ในระดับที่สมควร และ 3) การมีระบบการทำงานร่วมกัน (Communes, Teams) และบุคคลที่เป็นสมาชิก
จากแนวคิดและทฤษฎีของการพัฒนาชนบทที่เสนอเพื่อพิจารณามาตามลำดับแล้วนั้นกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิดและทฤษฎีหลัก กลยุทธ์หรือนโยบายการพัฒนาชนบทของประเทศต่างๆ แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างก็เป็นความแตกต่างรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ก็จะไม่หนีไปจากหลักการดังกล่าวแล้ว เช่น การพัฒนาชนบทแบบกีบบุทช (Kibbutz) ของอิสราเอล Canal Colonies ในรัฐบันจาบ Gazer Scheme ในยูนาน เป็นโครงการประเภท Settlement Scheme มีการพัฒนาด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค และการเกษตรเป็นสำคัญ โครงการทดลอง (Pilot Projects) เช่น Comilla Projects ในบังคลาเทศ Pueblo ในเม็กซิโก และ CADA Project ในเอธิโอเปีย เป็นโครงการพัฒนาชนบทที่พยายามหารูปแบบของการพัฒนาชนบทที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นรูปแบบในการพัฒนาต่อไป โดยโครงการ Camilla เน้นการปกครองท้องถิ่น สหกรณ์ของชาวนารายย่อย การสร้างงานในชนบท และการฝึกอบรมของกลุ่ม

แนวคิดของการพัฒนาชนบทอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แนวคิดการกระตุ้นให้เกิดความสำนึก (Conscientisation) ของ Faule Freire เป็นแนวความคิดที่ใช้กระบวนการสนทนา (Dialogue) และการใช้สัญลักษณ์ (Code) เพื่อให้ชาวนาได้เป็นผู้ตระหนักถึงปัญหาของตนเอง คิดหาทางแก้ไขปัญหาและดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเอง วิธีการของ Paulo Farie นอกจากจะใช้เป็นวิธีการดำเนินการในการพัฒนาชนบทแล้ว ก็ยังเหมาะที่จะใช้เป็นวิธีการในการให้การศึกษาแก่ชาวนาชนบทแทนการศึกษาอย่างเป็นทางการ (Informal Education) สำหรับผู้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนได้ด้วย

สรุป ได้ว่า การด้อยพัฒนาของหลายประเทศในโลก มีสาเหตุหลายประการ ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอก ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมของประเทศ และโลก ปัญหาปัจจัยภายในอาจมีปัจจัยด้าน งาน เงิน ทุน แรงงาน วัตถุดิบ เทคโนโลยี ด้านการเมือง นโยบายของภาครัฐ การได้รับสัมปทานในด้านต่างๆ  ประเทศไทยตั้งแต่สมัย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การดำเนินการทางการบริหารจัดการมีกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มในประเทศ และยังเพิ่มมาอีกในสมัยประชาธิปไตย เติบโต คือกลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจทางการบริหาร
ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเชื่อมโยงถึงกลุ่มทุนเดิม ปัจจัยภายนอกก็เกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ เช่นการเปิดการค้าเสรีในด้านต่างๆ ทำให้เสียเปรียบกับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศทุนนิยมทำให้ ประชาชนก็ยากจนเหมือนเดิม การพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนานั้นเป็นสภาวะของการเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่ว่าควรจะยึดแนวทางบางประการในการพัฒนาประเทศจะต้อง ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา โครงสร้างทางการปกครอง วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎีที่จะนำมาปรับใช้  และจากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีการแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละประเทศในโลกจะเห็นว่าเป็นไปในแนวทางทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ประชนก็ยังยากจนเหมือนเดิม สำหรับ ประเทศไทยมีแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทำมากว่า 60 ปี สามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกมิติของชีวิต ให้ประชาชนมีความเพียงพอ ให้เข้าใจ เข้าถึง ก็สามารถพัฒนาได้ทั้ง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม องค์กร และบุคคลทั่วไป การนำหลักปรัชญาของพระองค์ท่านมาปรับใช้ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ผู้บริหาร หรือ ประชาชนต้องเข้าใจทฤษฎีการจัดการแบ่งปันโภคทรัพย์ให้กับประชาชนทั้งประเทศและโลกอย่างเป็นธรรม หรือพอเพียง นั่นคือหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ ดังพระสุรเสียงที่ว่า “ข้าจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม” ซึ่งเป็นที่รับรู้และบันทึกอ้างถึงไว้มากมาย

*********************************************
เอกสารอ้างอิง

ยุวัฒน์  วุฒิเมธี. (2534). การพัฒนาชุมชนจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: บางกอกบล็อก.
สนธยา  พลศรี(2547)ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชนพิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2525). สังคมไทยแนวทางการวิจัยและพัฒนา. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น