หน้าแรก

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดกลยุทธ์การบริหาร



แนวคิดกลยุทธ์การบริหาร

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ปัญหาการบริหารในภาวะวิกฤต เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การบริหารองค์การในทุกวันนี้ ผู้บริหารต่างก็ต้องประสบกับปัญหายุ่งยากต่างๆ มากกว่าแต่ก่อน วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมได้ส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์การต้องตกต่ำลงไปจากเดิมเป็นอันมาก ปัญหาหนักอกของผู้บริหารทั้งหลายที่กำลังเผชิญอยู่ ก็คือ ปัญหาประสิทธิภาพทางการบริหาร โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับ ผลผลิต (Productivity) ที่ตกต่ำกว่าเดิม กลยุทธ์การบริหารที่ทรงประสิทธิภาพนี้ จะต้องดีพร้อมสมบูรณ์ตามความหมายของการบริหารทั้งสองอย่าง คือ การมีประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สามารถกำหนดเป้าหมายที่ดี และสามารถบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายนั้นๆ ได้ และ การมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สามารถทำสำเร็จในเป้าหมายเหล่านั้น โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดด้วย หรือ ถ้ากล่าวอย่างสรุป กลยุทธ์การบริหารที่ทรงประสิทธิภาพนั้นจะต้องสร้างประสิทธิผล และประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นได้ทุกแง่มุม คือ ทั้งในแง่ของรายบุคคล กลุ่ม (ทีมงาน) และตลอดทั้งองค์การด้วย อย่างไรก็ตามการบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นวิธีการดำเนินงานที่คาดว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งเป็นแผนของผู้บริหารระดับสูง ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับ ภารกิจและเป้าประสงค์ขององค์ หรือ เป็นชุดของทางเลือกระยะยาว เกี่ยวกับเป้าประสงค์เชิงปฏิบัติการ และนโยบาย รวมทั้งแผนปฏิบัติการของแผนงานของรัฐบาล ซึ่งองค์การภาครัฐบาลกำหนด โดยคำนึงถึงวัตถุ ประสงค์ของแผนงานที่รัฐบาลกำหนดไว้ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของแผนงาน ชุดของเป้าหมายและแผนปฏิบัติการ สำหรับแต่ละระดับขององค์การโดยเฉพาะ กลยุทธ์ยังเป็นแนวทางในการเปรียบเทียบจุดแข็งขององค์การกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเพื่อคิดหาวิธี การที่ดีที่สุด ในการตอบสนองความต้องการผู้รับบริการ


ความหมายของกลยุทธ์
กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในระยะยาวขององค์การ
และการเลือกแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ โดยมีความหมายใน
2 มิติ คือ ด้านวัตถุประสงค์และเป้าหมาย (Ends) ขององค์การ และด้านวิธีดำเนินงาน (Means) ให้ประสบผลสำเร็จ (Chandler, J. And Alfred D. 1962) เมื่อนำคำว่า กลยุทธ์ มาผสมกับคำว่า การบริหาร อาจสรุปได้ว่า
กลยุทธ์การบริหาร หมายถึง วิธีดำเนินงานหรือมาตรการอันสำคัญที่จะทำให้การบริหารงานขององค์การประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนการบริหารนั้น มักจะคิดถึงการดำเนินการอย่างไรอย่างหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ กระบวนการบริหารเป็นแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่กล่าวถึงกิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินงาน
มีนักวิชาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ให้คำนิยามและแนวคิดของกระบวนการบริหารไว้หลายท่าน ในที่นี้จะขอเสนอกระบวนการบริหารตามแนวคิดของ
Luther H. Gulick ที่เขียนไว้ในผลงานชื่อ” Papers On The Science of Administration: Notes on The Theory of Organization” ในปี ค.ศ. 1937 ที่อธิบายกระบวนการบริหารว่า หมายถึง Posdcorb ประกอบด้วยบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องรับผิดชอบกิจกรรมการบริหาร 7 ประการ (พิทยา บวรวัฒนา, 2550) ดังนี้ (1) การวางแผน (Planning) หมายถึง การกำหนดเป้าหมายขององค์การเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมที่จะดำเนินการ (2) การจัดองค์การ (Organizing) หมายถึง การจัดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการ (3) การบรรจุ (Staffing) หมายถึง
การดำเนินงานด้านการบริหารงานบุคคล (4) การสั่งการ (
Directing) หมายถึง การตัดสินใจของผู้บริหารที่ออกมาในรูปของคำสั่งและคำแนะนำ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์การ (5) การประสานงาน (Coordinating) หมายถึง การประสานงานของส่วนต่างๆ ในองค์การ (6) การรายงาน (Reporting) หมายถึง การรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ในองค์การให้ทุกฝ่ายทราบ และการงบประมาณ (Budgeting) หมายถึง การวางแผนและควบคุมด้านการเงินและบัญชี

การบริหารที่มีประสิทธิภาพ
แนวคิดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ (Edgar L. Morphet, 1980) ประกอบด้วย การบริหารที่มีผู้บริหารเพียงคนเดียวในองค์การ มีการกำหนดมาตรฐานทำงานที่ชัดเจน (Standardization) มีเอกภาพในการบังคับบัญชา (Unity of Command) มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้แก่ผู้ร่วมงาน (Delegation of Authority and Responsibility มีการแบ่งฝ่ายงานและบุคลากรผู้รับผิดชอบให้แก่ผู้ร่วมงานให้เฉพาะเจาะจงขึ้น (Division of Labor) มีการกำหนดมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน (Span of Control) มีการมอบหมายการควบคุมดูแลที่เหมาะสม (Stability) เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ในองค์การได้ (Flexibility) สามารถทำให้คนในองค์การเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย (Security) มีการยอมรับนโยบายด้านการบริหารงานบุคคลที่มีความสามารถ (Personnel Policy) และมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งส่วนบุคคลและองค์การ (Evaluation)
งานวิจัยของจุฬาภรณ์ โสตะ (2546) ได้ศึกษา กลยุทธ์การบริหารงาน ใช้ตัวแปรการกำหนดนโยบาย และ การนำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่า ทั้งสองตัวแปรมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการบริหารเพื่อแปลงนโยบายซึ่งมีลักษณะเชิงนามธรรมไปสู่การปฏิบัติเชิงรูปธรรม และแต่ละเป้าหมายย่อมมีทางเลือกในการปฏิบัติหลายทางเลือก การบริหารหรือกลยุทธ์การจัดการมีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติ การบริหารที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้จำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์การบริหารที่ดี กลยุทธ์การบริหารที่มีอิทธิพลต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดและมอบหมายภารกิจ การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน การติดตามและประเมินผล และการกำหนดมาตรการจูงใจ และต่อมา เบญจวรรณ  กลางนคร(2547) วิจัยเรื่องการบริหารกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จขององค์การ กรณีศึกษา : บริษัทเอสเอฟซีเนม่าซิตี้ จำกัด โดยใช้ตัวแปรนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติเหมือนกัน แต่ตัวแปรที่ เบญจวรรณเพิ่มเติมเข้ามา คือ ภาวะผู้นำ และการกำหนดวิสัยทัศน์ ซึ่งพบว่า บริษัทมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีลักษณะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ด้วยแนวความคิด สร้างความแตกต่าง ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รูปแบบที่เน้นความหรูหรา ไม่ซ้ำแบบใคร ทำให้บริษัทมีทั้งจุดแข็งในองค์การ และโอกาสที่ดีจากบุคคลภายนอก ทำให้บริษัทเลือกใช้กลยุทธ์แบบรุก นอกจากนี้บริษัทยังมีความโดดเด่นในธุรกิจที่กำลังมีการเติบโต และบริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดในระดับปานกลาง บริษัทจึงเพิ่มการลงทุนขยายสาขาเพิ่มขึ้นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
สรุปจากความหมายของกลยุทธ์การบริหาร แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารและหลักการบริหารที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวมา สามารถกำหนดประเด็นกลยุทธ์หลักเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการศึกษากลยุทธ์การบริหาร ได้แก่ การประชุมชี้แจงซักซ้อมความเข้าใจ การกำหนดภารกิจที่ต้องปฏิบัติ การกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน การมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบงานการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน การฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงาน การจัดงบประมาณสนับสนุน การจัดระบบติดตามประเมินผล การกำหนดมาตรการให้รางวัลและลงโทษ และการประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน และกระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยงานสำคัญ 5 ประการ คือ ขั้นที่ 1 กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ขององค์การ วิสัยทัศน์ หมายถึงข้อความที่บ่งบอกถึงทิศทางที่องค์การมุ่งไปสู่ในอนาคต ผู้นำองค์การจะต้องกำหนดนึกในใจว่าอนาคตขององค์การที่พึงปรารถนา ใฝ่ฝันและมีความเป็นไปได้นั้นจะมีลักษณะเช่นใด ภาพในใจนี้อาจจะชัดเจนหรือไม่ก็ตามแต่จะเป็นภาพที่ชี้ถึงอนาคตที่ต้องการจะเดินไปให้ถึง เป็นสภาพอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร กำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นครัวของโลกพันธกิจ คือเหตุผลของการมีอยู่ขององค์การนั้นๆ พันธกิจเป็นสิ่งสะท้อนถึงคุณค่า ความตั้งใจและความมุ่งมั่นขององค์การที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำหนดเป้าหมายขององค์การและแผนต่างๆ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้บริการทางการเงินครบวงจรโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐประโยชน์ของสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้ในขั้นที่หนึ่งให้เป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ เป้าหมายนี้เป็นการระบุว่าองค์การต้องการอะไรในอนาคต ต้องเป็นเป้าโดยรวมขององค์การไม่ใช่แผนกหรือส่วน ขั้นที่ 3 กำหนดกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ กลยุทธ์คือการปฏิบัติที่จะนำให้องค์การไปสู่จุดที่ต้องการจากจุดที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันภายใต้โอกาส อุปสรรค จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์การ ขั้นที่ 4 นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เป็นขั้นที่นำเอากลยุทธ์ที่กำหนดไว้แล้วมาเปลี่ยนเป็นแผนปฏิบัติการ ในขั้นนี้จำเป็นจะต้องรวมเอาหน้าที่ต่างๆ ทางการบริหารเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดองค์การ การนำและบังคับบัญชา และการควบคุม ขั้นที่ 5 ประเมินผล ขั้นนี้อาจจะเรียกว่าการควบคุมเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินงานตากลยุทธ์และการปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่มีความเบี่ยงเบนไปจากแผนที่วงไว้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความแน่ใจว่าการใช้ทรัพยากร ตลอดจนการปฏิบัติงานของพนักงานของทั้งองค์การจะไปในทิศทางที่กำหนดไว้ การควบคุมและประเมินผลนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่โอกาสและอุปสรรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เอกสารอ้างอิง

จุฬาภรณ์ โสตะ. (2546). การพัฒนาศักยภาพการนำนโยบายในแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา เอดส์แห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
บุญทัน  ดอกไธสง.(3537). การจัดองค์การ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
บุญทัน  ดอกไธสง.(2539). การแข่งขันสู่ความเป็นเลิศ (Competition for Excellence). กรุงเทพฯ:
เสมาธรรม.
พิทยา บวรวัฒนา. (2550). รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฏีและแนวการศึกษา (ค.ศ. 1887-1970). พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Chandler, J. & Alfred, D. (1962). Strategy and Structure. Cambridge Massachusetts: The M.I.T. Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น