หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดการพัฒนา



แนวคิดการพัฒนา

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การพัฒนา เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากความสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสังเกตปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า สังคมและวัฒนธรรมของมนุษยชาติมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยสาเหตุต่างๆ หลายประการดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment)
2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร (Population Change)
3. การอยู่โดดเดี่ยวและการติดต่อกัน (Isolation and Contact)
4. โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Structure)
5. ระดับของความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology)
6. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่น การเล็งเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง หรือนโยบายของผู้นำประเทศ
จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผ่านมา เราจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงจึงต้องทำความเข้าใจทั้งในด้านทิศทางของการเปลี่ยนแปลง (Direction) ขนาดของการเปลี่ยนแปลง (Magnitude) ระยะเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลง (Time) สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (Change & Resistance to Change)

สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้น คือ ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้น กินความครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก้าวหน้าหรือถดถอยก็ได้ แต่ที่เป็นพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญของการพัฒนา ก็คือ ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง (Direction for Change) ในลักษณะที่ก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น
คำว่า พัฒนาเกิดขึ้นและนำมาใช้ครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้นำมาใช้เรียกการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาเป็นพลังงานจากเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ อาชีพของคนในสังคมเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นการประกอบอาชีพทางด้านอุตสาหกรรม วิถีการผลิตเปลี่ยนจากเพื่อการยังชีพเป็นวิถีการผลิตเพื่อการค้า ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนจากชนบทเป็นเมือง สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น หลังจากนั้น คำว่า พัฒนา ก็ได้แพร่กระจายออกไปทั่วโลก
โดยความหมายกว้างๆ ทั่วไปแล้ว หมายถึง การกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามีอยู่สามส่วน คือ ผู้กระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เจตนารมณ์ อุดมการณ์ วิธีการรวมทั้งกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายของกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความเข้าใจชัดเจนในแต่ละองค์ประกอบเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาวิชาการที่ว่าด้วยการพัฒนา
คำถามที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนา ก็คือ การพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของสังคมนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของใคร เกิดขึ้นจากการกระทำของใคร และมีจุดมุ่งหมายรวมทั้งเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไร จึงต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
จากการศึกษาเชิงวาทกรรม (Discourse Studies) พบว่า มีการแอบแฝงซ่อนเร้นความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ แนวคิด ทฤษฎี หลักการ วิธีการ นั่นคือ การพัฒนาที่ผ่านมาในอดีตเป็นเพียงการบิดเบือน ซ่อนเร้นฉันทามติเชิงวิชาการที่แท้จริงของพัฒนศาสตร์ โดยพยายามใช้วาทกรรมครอบงำระบบความคิด รวมไปถึงการชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมเป้าหมายให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้สร้างวาทกรรมต้องการ นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีข้อคิดเห็นทางวิชาการที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ภายใต้เงื่อนไขที่บริสุทธิ์ การพัฒนาที่แท้จริงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงเชิงลบของสังคมซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในทางบวกหรือการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม โดยแก่นแท้แห่งศาสตร์นั้น การพัฒนา (Development) มีความหมายเป็นสองนัย ก็คือ
1. ในความหมายอย่างแคบ การพัฒนา หมายถึง การประดิษฐ์คิดค้นหรือริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาและนำมาใช้เป็นครั้งแรก เช่นการคิดค้นกระแสไฟฟ้า การกระดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์
2. ในความหมายอย่างกว้าง การพัฒนา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของระบบต่างๆ ในสังคมที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมนั้น โดยมีหลักที่ใช้ในการพิจารณาโดยมีจุดเน้นอยู่ที่ลักษณะของการพัฒนา คือ
1) การเปลี่ยนแปลงในด้านปริมาณ คุณภาพ และสิ่งแวดล้อม ทุกด้านให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมกว่าสภาพที่เป็นอยู่เดิม
2) มีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างมีลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกันไป
3) มีลักษณะเป็นพลวัตร ซึ่งหมายความว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
4) มีลักษณะเป็นแผนและโครงการ คือ เกิดขึ้นจากการเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าจะเปลี่ยนแปลงใคร ด้านใด ด้วยวิธีการใด เมื่อใด ใช้งบประมาณและสิ่งสนับสนุนเท่าใด ใครรับผิดชอบ
5) มีลักษณะเป็นวิชาการ ซึ่งหมายถึง การกำหนดขอบเขตและกลวิธีที่นำมาใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชนบท การพัฒนาอุตสาหกรรม
การพัฒนาชุมชน การพัฒนาการศึกษา
6) มีลักษณะที่ให้น้ำหนักต่อการปฏิบัติการจริงที่ทำให้เกิดผลจริง
7) การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ หรืออาจจะเกิดขึ้นเอง
8) มีเกณฑ์หรือเครื่องชี้วัด ซึ่งสามารถจะบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ ปริมาณ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นมากหรือน้อยเดียงใด ในระดับใด

สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2526) ได้ให้ความหมายของการพัฒนา ว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่การกำหนดทิศทาง (Directed Change) หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า (Planned Change)
ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2526) ให้ความหมายว่า การพัฒนา หมายถึง การกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่า
วิทยากร เชียงกูล (2527) เขียนไว้ว่า การพัฒนาที่แท้จริงนั้น หมายถึง การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความสุข ความสะดวกสบาย ความกินดีอยู่ดี ความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและจิตใจอย่างสงบสันติ ซึ่งขึ้นอยู่กับการได้รับปัจจัยทางวัตถุเพื่อสนองความต้องการของร่างกาย ทั้งยังรวมความไปถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของคุณภาพชีวิต อันได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การพักผ่อนหย่อนใจ
วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2532) สรุปว่า การพัฒนา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่มีการกระทำให้เกิดขึ้นหรือมีการวางแผนกำหนดทิศทางไว้ล่วงหน้าและการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีสองส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ
การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งจะต้องมีทิศทางที่ดีขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาเชิงประเมินผลการพัฒนา พบว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงปรารถนาหลายประการ นับตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปีพุทธศักราช 2504 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศวิทยา (Social Ecology) ของสังคมไทย ผลที่คาดหวังสำคัญหลายประการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักคิดจากหลายสำนักความคิดพากันหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงความล้มเหลวเหล่านั้น พร้อมทั้งมีการเสนอแนวทางใหม่ในการพัฒนาประเทศ บางแนวคิดได้รับการยอมรับจากสาธารณชนและกลุ่มผู้บริหารจนนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความเชื่อในเอกลักษณ์ รวมทั้งความเข้มแข็งของวัฒนธรรม บางแนวคิดชูประเด็นการเรียนรู้ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพของคนพร้อมทั้งการให้เหตุผลอย่างเป็นระบบน่าเชื่อถือและปฏิบัติตาม ในขณะที่นักคิดบางสำนักความคิดพยายามใช้ยุทธศาสตร์ทางศาสนา (Religious Strategy) มาชี้นำทางออกให้แก่สังคมไทยบนพื้นฐานแห่งนัยยะสำคัญตลอดจนความโดดเด่นทางวิชาการที่ว่า ความดีต้องอยู่เหนือความชั่วเสมอ โดยละทิ้งเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านมิติของเวลา (Time) พลังทางลบ (Negative Social Force) ที่ทำให้เกิดการต่อต้านเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงปรารถนาในสังคม

ประกายความคิดเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะถักทอและบูรณาการความโดดเด่นจากแนวความคิดหลากกระแสเข้าด้วยกัน นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเชิงนิเวศ (Green Development) เศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศ (Green Economics) เศรษฐศาสตร์กระแสกลาง (Mid-Stream Economy) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีความเชื่อพื้นฐานของการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติแก่ผู้คนรุ่นหลัง แล้วกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแนวใหม่ ด้วยการวิพากษ์อย่างแหลมคมต่อแนวคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) อัตนิยม (Individualism) ที่ยึดเอาความพึงพอใจของมนุษย์ตามหลักการของอรรถประโยชน์นิยมหน่วยสุดท้าย (Marginal Utility) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะและการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของแต่ละแนวคิด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โดยแท้ที่จริงแล้ว นักคิดแต่ละยุคสมัย แต่ละสำนักคิด ต่างมีเจตนารมณ์บางอย่างร่วมกัน คือ สันติสุข ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์ของสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ วิธีคิด สำนักคิด (School of Thought) ของเขตของการคิด (Boundary) ลักษณะการมองปัญหา การให้ความหมายและวิธีการในการทำความเข้าใจ รวมทั้งการวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา (Approach) ของกลุ่มแนวคิดเหล่านั้น
ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาวิชาการทางด้านการพัฒนาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นฐานทางด้านวิชาการรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ความรู้ทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งสถานะของการดำรงอยู่ ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้เหล่านี้
การพัฒนาชุมชนเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่พยายามใช้หลักบูรณาการบนพื้นฐานความเชื่อและความเข้าใจเบื้องต้นหลายประการร่วมกันดังต่อไปนี้

ประการแรก การพัฒนาและการพัฒนาชุมชนมีความแตกต่างกันหลายประการ ทั้งในด้านแนวความคิดที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ หลักการ รวมทั้งวิธีการต่างๆ การพัฒนาชุมชนอย่างเป็นทางการนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ซึ่งมีพัฒนาการทางวิชาการอย่างเป็นระบบไม่เกินหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การขาดทฤษฎีตลอดจนองค์ความรู้เชิงลึกที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ทำให้การพัฒนาชุมชนมีลักษณะทางวิชาการที่เรียกว่า การพึ่งพาทางทฤษฎี (Theoretical Dependency) ซึ่งหมายถึง การเอาแนวคิด ทฤษฎี กระบวนการ วิธีการจากศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น สังคมวิทยา (Sociology) มานุษยวิทยา (Anthropology) การศึกษา (Education) รัฐศาสตร์ (Political Science) เศรษฐศาสตร์ (Economics) จิตวิทยา (Psychology) และอื่นๆ มาบูรณาการแนวคิดขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ที่สนใจทางด้านการพัฒนาชุมชนจำเป็นที่จะต้องมีฐานความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ รอบด้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ศาสตร์แห่งการพัฒนา ก็คือ บูรณาการหรือนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งมุ่งหวังจะสร้างองค์รวมแห่งความรู้ให้แก่ผู้ที่มุ่งมั่นที่จะศึกษา อย่างไรก็ตาม ลักษณะการพึ่งพาทางพฤษฎีของวิชาการทางด้านการพัฒนานี่เองที่ทำให้การกำหนดแนวทางในการปฏิบัติมีจุดเน้นหนักแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความรู้ ความเชื่อ แนวคิด ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารงานและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านการพัฒนา แต่อย่างน้อยที่สุด ในปัจจุบันนี้ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า รากฐานของการพัฒนาประเทศที่แท้จริงนั้น ควรจะยึดคนรวมทั้งสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา

ประการที่สอง สังคมไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ตลอดจนความเป็นมาอันยาวนาน ความเชื่อ บรรทัดฐาน วัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตตลอดจนรูปแบบของพฤติกรรมทางสังคมถูกถ่ายทอดโดยขบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) จากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นหลัง และยังปรากฏร่องรอยให้เห็นได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแห่งการยอมตาม (Passive Culture) ความสัมพันธ์แบบข้า-บ่าว ผู้อุปถัมภ์-ผู้รับอุปถัมภ์ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤกษ์ยาม ผีสาง เทวดา ซึ่งเห็นได้อย่างดาษดื่น

จริงอยู่ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษสู่คนยุกปัจจุบันบางอย่างจะวิจิตรงดงามเต็มไปด้วยคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ บางรูปแบบจะแฝงการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) เอาไว้อย่างลึกซึ้งน่าภาคภูมิใจ แต่กลับไม่ปรากฏแนวคิดอันแหลมคมเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นมิติด้านลบของวัฒนธรรมไทยที่มีอิทธิพลต่อการคาดคะเนสัมฤทธิ์ผลหรือความล้มเหลวของการพัฒนา การวิพากษ์เชิงกล่าวหาแนวคิดเสรีนิยม วัตถุนิยมหรือสังคมนิยม ตลอดจนการปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดที่มาจากตะวันตกโดยพยายามชี้นำให้เชื่อว่าความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีสาเหตุใหญ่มาจากการนำเอาแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ มาใช้โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบถึงข้อตกลงเบื้องต้น เงื่อนไขรวมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเอาทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ จึงมีลักษณะการมองปัญหาแบบอัตนิยม (Subjectivity) ชาตินิยม (Nationalism) วัฒนธรรมนิยม (Ethnocentrism) ซึ่งมักจะละเลยหรือมองข้ามความไม่รู้ ข้อบกพร่องตลอดจนความอ่อนแอทางปัญญาของตนเอง วิธีมองปัญหาดังกล่าวจะแตกต่างกับการวิเคราะห์ปัญหาในเอกสารชุดนี้ ซึ่งเน้นหลักการมองปัญหาแบบวัตถุประสงค์นิยม (Objectivism) องค์รวมนิยม (Totalism) หลังสมัยใหม่นิยม (Post-Modernism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพิจารณาเชิงพิพากษ์ถึงสาเหตุแห่งความอ่อนแอและการด้อยพัฒนาทุกด้านของหน่วยการวิเคราะห์ อันหมายถึงชุมชนในว่าเกิดจากการครอบงำ (Hegemony) การรุกราน (Penetration) ขบวนการติดต่อและผสมผสานทางวัฒนธรรม (Acculturation & Assimilation) การพึ่งพา การไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยว การแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่อ่อนแอกว่า รวมทั้งการขูดรีด (Exploitation) อันเป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของสังคมมนุษย์ เนื่องจาก การพัฒนาหรือการด้อยพัฒนา ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของสังคมใดๆ ก็ตามนั้น มิได้มีความหมายในตัวเอง หากแต่เป็นความคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Concept) ซึ่งขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมหรือสังคมอื่น โดยใช้กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยกรอบแนวคิดของผู้คิดผ่านกระบวนการถ่ายทอดทางภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนขึ้นเป็นดัชนีชี้วัด อาทิเช่น วัดความเข้มแข็งของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง โดยการพิจารณาจากการเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนในชุมชนหรือวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเฉลี่ย เราไม่สามารถจะเข้าใจความหมายของพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ความยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนจากสิ่งใดได้ ถ้าหากไม่สามารถพิจารณาสัมพันธ์กับสิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ ซึ่งการเปรียบเทียบก็มักจะถูกอิทธิพลของมิติทางด้านวัฒนธรรม การครอบงำทางด้านภาษาซึ่งเป็นสื่อในกระบวนการถ่ายทอดความรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความรู้สึกทางด้านชาติพันธุ์นิยม (Ethnocentrism) ซึ่งเกิดจากการยึดติดว่า วัฒนธรรมของตนเองนั้นดีกว่า สูงกว่าวัฒนธรรมอื่น ที่น่าสังเกต ก็คือ แนวคิดเหล่านี้ไม่สามารถก้าวพ้นไปจากความคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thought) กับศาสตร์สาขาอื่นได้อยู่นั่นเอง กล่าวโดยสรุป ก็คือ วิธีคิดพื้นฐานของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนนั้น มีลักษณะเป็นวิธีคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อย่างน้อย 6 กลุ่มดังต่อไปนี้ คือ
1. แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ (Evolution)
2. แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (Social & Cultural Change)
3. แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง (Economics & Political Economy)
4. แนวคิดแบบการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Action & Social Movement)
5. แนวคิดแบบความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict)
6. แนวคิดแบบการพัฒนาชุมชน (Community Development)

1. แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ (Evolutionary Perspective) เป็นการนำเอาคำว่าการพัฒนามาใช้เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เคลื่อนย้ายจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งที่ดีกว่าหรือสูงกว่าเดิม
2. แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Perspective) แนวคิดนี้จะสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การแบ่งชนชั้นทางสังคม การปฏิรูป หรือการปฏิวัติ
3. แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ (Economic & Political Economy Perspective) แนวคิดนี้จะมุ่งไปสู่การอธิบายโดยพิจารณาที่วิถีการผลิต (Mode of Production) วิถีการบริโภค (Mode of Consumption) หรือวิถีการแจกจ่าย (Mode of Distribution) ของมนุษย์
4. แนวคิดแบบการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement & Social Action Perspective) เป็นแนวคิดที่รัฐพยายามที่จะปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในรูปของการจัดทำแผนโครงการหรือการกำหนดอำนาจหน้าที่หรือการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อต่อสู้เรียกร้อง ต่อรอง
5. แนวคิดแบบความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict Perspective) เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากความเชื่อในหลักการของวัตถุนิยมวิภาษวิธี และมองว่าความขัดแย้งอันเกิดจากการควบคุมวิถีการผลิตจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม
6. แนวคิดแบบการพัฒนาชุมชน (Community Perspective) เป็นแนวคิดที่องค์การสหประชาชาตินำมาใช้โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา

ทั้ง 6 แนวคิดหลักในการพัฒนา จะเห็นได้ว่า การพัฒนาชุมชนเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ รวมทั้งศักยภาพของมนุษย์เป็นหลัก และการพัฒนาที่จะสื่อความหมายให้แก่ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนนั้นจะต้องมีคำนามที่มีขอบเขตของคำนิยามที่ชัดเจนต่อท้ายคำว่า การพัฒนา เสมอ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชน การพัฒนาองค์กร การพัฒนาธุรกิจ
การพัฒนาการศึกษา หรืออื่นๆ
ประการที่สาม ความเชื่อพื้นฐานของการพัฒนาชุมชนที่สำคัญและแตกต่างจากแนวคิดที่ยึดถือปฏิบัติกันในการพัฒนาทั่วไปอย่างน้อยที่สุดตามประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก การพัฒนาและการพัฒนาชุมชนนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นเกี่ยวกับศักยภาพตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่ค้านกับตรรกศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นจริงสากลของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยอมรับในความไม่เท่าเทียมกันด้านศักยภาพของมนุษย์ ทั้งทางด้านกายภาพ สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด การเรียนรู้ การปรับตัว วิสัยทัศน์ การแก้ปัญหา วุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์ และอื่นๆ ความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ ของมนุษย์นี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งอธิบายได้ถึงการประจักษ์ต่อความผิดพลาดและล้มเหลวในภายหลังของการพัฒนาประเทศ หลังจากที่เดินตามร่องรอยความคิดที่ผู้นำทางความคิดแต่ละยุคสมัยกำหนดให้ด้วยวัฒนธรรมแห่งการยอมตาม อันเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคมไทยโดยขาดการพิจารณาและการโต้แย้งวิพากษ์อย่างมีเหตุผล ดังกล่าวมาแล้ว
ประเด็นที่สอง ด้วยเหตุผลรวมทั้งความเชื่อในความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์นี่เองที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างทางด้านสติปัญญา รวมทั้งศักยภาพด้านต่างๆ ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม จึงทำให้ไม่สามารถปฏิเสธความจริงของพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งเคยเป็นมานับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์จนกระทั่งปัจจุบัน คือ ทุกองค์ประกอบของสังคมมนุษย์จะต้องมีผู้นำ (Leader) และผู้ตาม (Follower) เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิด ผู้นำทางการบริหารประเทศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆ ก็ตาม
ความเข้าใจในการไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยว การร่วมมือ การช่วยเหลือ การพึ่งพา ความขัดแย้ง การผสมผสานและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เป็นขบวนการพื้นฐานทางสังคมนี่เองที่ทำให้เกิดการต่อสู้ ช่วงชิงสิทธิอำนาจ ชัยชนะ ความพ่ายแพ้ สงคราม การขูดรูด การแสวงหาผลประโยชน์ การรุกราน (Penetration) ระหว่างคนตั้งแต่ 2 กลุ่ม สองชาติ สองวัฒนธรรมขึ้นไป จนส่งผลไปถึงความเข้าในรวมทั้งการก่อกำเนิดของความคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและกระบวนการพัฒนาชุมชน ซึ่งในความหมายหนึ่งก็คือ กระบวนการที่มีเป้าหมายในอันที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวและไม่อาจปฏิเสธเหตุผลพื้นฐานของการที่จะต้องมีผู้นำในทุกๆ ด้านของกระบวนการพัฒนาหรือกระบวนการพัฒนาชุมชนได้
ประเด็นที่สาม การยอมรับความคิดตามประเด็นทั้งสองข้างต้น ทำให้การพัฒนาชุมชนมีลักษณะที่ให้น้ำหนักต่อการทำความเข้าใจในภาวการณ์ก่อกำเนิด การคงอยู่ พลวัต การเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ อารยธรรม ความเป็นผู้นำ (Leadership) กระบวนการตัดสินใจ (Decision Making Process) การบริหารการจัดการ (Administration and Management) การวิเคราะห์ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (Situational Analysis & Adaptation) และการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (Sensitivity Analysis) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่แตกแขนงมาจากความเข้าใจเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้ว

กล่าวโดยสรุป ก็คือ การพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศรวมทั้งสันติสุขอันยั่งยืนอย่างแท้จริงของสังคมนั้น นอกเหนือไปจากการขึ้นอยู่กับทุกบริบทที่ประกอบขึ้นมาเป็นระบบสังคมแล้วยังควรต้องเน้นการขึ้นอยู่กับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งรอบด้านในองค์ความรู้ที่มีต่อทุกระบบของสังคม รวมทั้งระบบปฏิบัติการ ผู้นำ และศักยภาพของผู้นำ ตลอดจนภาวะความเป็นผู้นำของผู้นำทุกด้านของสังคมนั้นอีกด้วย ความพิการของศาสตร์แห่งการพัฒนา รวมทั้งข้อผิดพลาดมักจะปรากฏให้เห็น เมื่อมักจะปรากฏว่า ผู้ที่สถาปนาตนเองว่าเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการแห่งการพัฒนานั้น แท้ที่จริงแล้ว มีความปกติหรือพิการทางด้านวุฒิภาวะแห่งองค์ความรู้พื้นฐานหลายด้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น