หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาในชุมชน



แนวคิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาในชุมชน

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ที่มาของแนวคิดกระบวนการมีส่วนร่วม
การครอบงำการมีอิทธิพลทางอำนาจของกลุ่มคนในประเทศที่เรียกว่าประชาธิปไตย ต่อผู้คนใน ประเทศที่กำลังพัฒนาหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 การมีส่วนร่วมได้ถูกริเริ่มและถ่ายทอดในกระบวนการพัฒนาอย่างมีแผนโดยถูกแทรกอยู่ในนโยบายความช่วยเหลือทางการพัฒนาของประเทศตะวันตกและในการวางแผนการพัฒนาของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาในช่วงทศวรรษแห่งการพัฒนา (1950-1960) แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมถูกใช้เป็นการปฏิบัติการในกระบวนการพัฒนาชุมชนโดยเน้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนาเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตัว

การมีส่วนร่วม  ถูกใช้สร้างเป็นแนวคิดและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะ (Skill) และสนับสนุนเชิงกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา รวมทั้งสร้างความรับผิดชอบในการสนับสนุนต่อการร่วมปฏิบัติในงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การพัฒนาชุมชนในระยะปี1960 ยังเป็นการวางฐานองค์กรชุมชนโดยมุ่งเน้นให้องค์กรเป็นผู้สนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กร และมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการบริหารตลอดจนความรู้ความเข้าใจการมีส่วนร่วมและความสามัคคีพร้อมใจในหมู่สมาชิกของชุมชนแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชน คือการที่ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ(Empowerment) ในการพัฒนา โดยแสดงศักยภาพที่ตนมีอยู่ ในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
 
การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Participatory Development) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจ การร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ อันมีผลกระทบถึงตัวของชุมชนเอง การผนึกกำลังเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความร่วมมือว่าการระดมพลังของประชาชน ให้เกิดความร่วมมือร่วมใจระหว่างประชาชนด้วยกัน และรวมทั้งการปฏิบัติการให้ประชาชนเกิดความร่วมมือร่วมใจกับหน่วยงานของรัฐ หรือตัวแทนอย่างเต็มที่
การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เป็นการพัฒนาที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา (Partnership in Development) อันเป็นกระแสแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและอยู่ในแผน ฉบับที่ 8 โดยความคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ ประชาชนในชุมชนควรเป็นผู้ระบุปัญหา ความต้องการ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีผลทำให้มีการเพิ่มบทบาทการมีส่วนของประชาชนในการพัฒนา อีกทั้งเพิ่มความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของท้องถิ่นของตนเอง และการพัฒนาชนบทหากมองในภาพกว้างๆ ภาคการพัฒนาต่างๆ ที่มาประกอบเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชนบทที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง นั้นยังประกอบด้วยภาคต่างๆ  ได้แก่ ภาคราชการ ภาคประชาชนและชุมชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน    ภาคธุรกิจ และภาคอื่นๆ เช่น นักวิชาการ สื่อมวลชน ซึ่งภาคต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน โดยทุกส่วนประกอบจะต้องมีส่วนร่วมกัน เพื่อทำการพัฒนาประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้

อคิน ระพีพัฒน์ และจารุภรณ์  เภาธะทัด (2531) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า หมายถึง การที่ประชาชนเป็นผู้คิดค้นปัญหา เป็นผู้นำทุกอย่าง ไม่ใช่มีการกำหนดเอาไว้แล้ว หรือเพียงแค่ให้ประชาชนเข้ามาร่วมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของประชาชนที่คิดขึ้น
ทวีทอง หงส์วิวัฒน์ (2527) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า หมายถึง การที่ประชาชนหรือชุมชนพัฒนาขีดความสามารถของตนเองในการควบคุมการใช้ และการกระจายทรัพยากร ในปัจจัยที่มีในสังคมเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ ซึ่งแสดงออกในรูปการตัดสินใจในการกำหนดชีวิตของตนเอง
เพียงเดือน ขำสีเมฆ (2542) ได้ให้สาระของ การมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจ การร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆอันมีผลกระทบถึงตัวประชาชนเอง การที่สามารถทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา แก้ไข และนำมาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า มนุษย์นั้นสามารถพัฒนาได้ถ้ามีโอกาสและได้รับคำชี้แนะที่ดี

การมีส่วนร่วมของประชาชน มีความหมายสำคัญที่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการทรัพยากร การบริหารจัดการชุมชน คน ทุนของชุมชน จึงต้องมีการแยกแยะเนื้อหาและรูปแบบของการมีส่วนร่วมของประชาชน  ให้เหมาะสมกับแต่ละเรื่องพร้อมกับวิธีการ กระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสม
1.  อุปสรรคในการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาวนา
1)  อุปสรรคด้านการเมือง เกิดจากการไม่ได้กระจายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้แก่ประชาชน โครงสร้างอำนาจทางการเมือง การปกครอง การบริหาร และเศรษฐกิจ ตกอยู่ในกำมือของทหาร นายทุนและข้าราชการ
2)  อุปสรรคด้านเศรษฐกิจ เกิดจากการขาดความสามารถในการพึ่งตนเองอำนาจการต่อรองมีน้อย กระบวนการผลิต และปัจจัยการผลิตอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม
3)  อุปสรรคด้านวัฒนธรรม ชาวนายากจนตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ การแบ่งแยก เชื้อชาติ ภาษา เพศและอายุ การครอบงำของผู้นำและการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน
องค์ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย 1. เริ่มต้นจากจุดที่เขาเป็นอยู่จริง 2. ศึกษาว่าเขาสามารถช่วยตนเองได้ 3. ยอมรับว่าเขาสามารถช่วยตนเองได้ 4. ความต้องการที่แท้จริงของเขา 5. เข้าใจบทบาทของคนช่วยเหลือกับคนที่ถูกช่วยเหลือ 6. ใช้สถาบันที่มีอยู่ในชุมชน

ปรัชญาของการพัฒนางานของชุมชนซึ่งได้แก่ 1. ความหมาย 2. องค์ประกอบของการพัฒนางานของชุมชน
พัฒนางาน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างจิตสำนึก ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน เรียนรู้ และตระหนัก โดยเข้าใจถึงความแตกต่าง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือ มีความทะเยอทะยาน อยากอย่างมีขอบเขต โดยที่จะต้องไม่มีความรู้สึกแปลกแยก ให้สามารถพึ่งตนเองได้ จนถึงจุดสูงสุดคือ การมีจิตสำนึกร่วม เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม การปฏิบัติในพื้นที่ 6 ขั้นตอน (คนไทยทำได้แค่ขั้นที่ 4)
ขั้นที่ 1 ตระหนัก (รับรู้, เห็นความสำคัญ, ไม่วิตกกังวล, หาทางแก้ไข) สะท้อนออกมาในรูปของปัญหาและความต้องการ
ขั้นที่ 2 ความอยากได้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด
ขั้นที่ 3 ไม่ทำให้เกิดความแปลกแยก/การเคารพในศักดิ์ศรี การทำให้เขาเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญ
ขั้นที่ 4 การมีส่วนร่วม (1. แท้จริง: พร้อมให้คนตัดสินใจ 2. ต่อเนื่อง: ยังไม่พร้อมให้คนตัดสินใจ) ของประชาชน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ ได้ความรู้สึกเป็นเจ้าของและไม่โทษผู้อื่น
ขั้นที่ 5 การพึ่งตนเองที่บุคล/กลุ่ม พยามยามที่จะพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง
ขั้นที่ 6 สังคมที่ผู้คนคำนึงถึงส่วนร่วมกัน
การสร้างความพร้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน จะต้องมีความพร้อมในการจัดตั้งหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ได้ดังนี้
1. สร้างจิตสำนึกร่วมกันของประชาชน ในการร่วมบริหารจัดการ โดยประชาชนและเพื่อประชาชนของชุมชน
2. สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทราบนโยบาย  กลไก  แนวทางการบริหาร การจัดการชุมชน
 3. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการ และบริหารจัดการ เริ่มจากร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำวิสัยทัศน์

จากการศึกษาของอินทราณี การัตน์ (2546) วิจัยเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชุมชนบริเวณลุ่มน้ำปุ๊ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ พบว่าชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำปุ๊ยังเป็นชนบทที่มีวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นหลักในการดำรงชีวิตประจำวันและสอดรับกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการร่วมมือกันรักษาแหล่งอาหารของชุมชนเป็นอย่างดี การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมร่วมระหว่างชุมชนมี 4 รูปแบบ คือ การประชุมประจำเดือน หรือการประชุมเพื่อจัดกิจกรรมของหมู่บ้าน การประชุมของหน่วยงาน การไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่เพื่อเพิ่มประสบการณ์ของสังคมการเรียนรู้ และการร่วมกิจกรรมในพิธีกรรมต่างๆ ในชุมชน ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด คือ พฤติกรรมของผู้นำและเครือญาติ เป็นการควบคุมภายใน หน่วยงานภายนอกที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนกิจกรรมมีส่วนผลักดันด้วยเช่นกัน เงื่อนไขในการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีทั้งเงื่อนไขภายในที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ  ประเพณี สภาพความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้นำและเครือญาติ  ส่วนเงื่อนไขภายนอกได้แก่การพัฒนาและการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชีวิต คนในชุมชนของภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และพ่อค้าคนกลาง กระบวนการและรูปแบบที่ได้พัฒนาขึ้นคือการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยกันจากการปฏิบัติ และการทำกิจกรรมในกรอบของกระบวนการมีส่วนร่วม 3 ขั้นตอน ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี คือ การมีส่วนร่วม การปฏิบัติ และการให้การศึกษาในรูปแบบ P-A-T (การมีส่วนร่วม; Particpation - การนำไปปฏิบัติ; Action - การโอนความรู้;  Transaction)

กิติศักดิ์ ศิริมังคละ (2546) วิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พบว่า การดำรงตำแหน่ง ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่การเป็นสมาชิกกลุ่มทางสังคม และการได้รับข้อมูลข่าวสารข้อมูลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการกองทุนหมู่บ้านของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านจังหวัดอ่างทอง

โดยสรุปการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ มองถึงอนาคตที่บุคคล กลุ่มคน องค์การ คาดหวังให้เกิด โดยการกำหนดหรือตั้งเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาศัยประสบการณ์และข้อมูลในปัจจุบันและวิสัยทัศน์มีทั้งในระดับมหัพภาคและจุลภาค การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต้องสร้างผู้นำที่มีศักยภาพโดยใช้การศึกษาดูงาน การอบรม และการปฏิบัติจริง การพัฒนากลุ่มองค์กร ชุมชน และพัฒนางาน โดยยึดหลักการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความสามัคคี ความเอื้ออาทรร่วมกัน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จะเห็นได้ว่าชุมชนตัวอย่างที่สามารถสร้างความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้จริงๆ จะต้องพัฒนาที่ตัวผู้นำก่อน ผู้นำจะต้องเสียสละ  เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตสาธารณะที่แท้จริง  ซึ่งสังคมปัจจุบัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ใครทำได้ดีไม่อยากบอกคนอื่น หรือไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตน แข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินโดยไม่สนใจคนอื่น  จุดเริ่มอยู่ที่ตัวผู้นำโดยรัฐมีส่วนสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วม ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึง ประโยชน์  สวัสดิการชุมชนที่จะได้รับ และจะต้องย้ำว่าเป้าหมาย ความสำเร็จ คือ พลังที่ทุกคนมีอยู่ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จะทำให้สิ่งต่างๆ ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

วิสัยทัศน์ คือ ความสามารถของบุคคลในการมองที่มีความแตกต่างระหว่างปัจจุบันกับอนาคตในทางสร้างสรรค์ และสามารถที่จะปฏิบัติกิจกรรมเพื่อพัฒนาสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันไปสู่อนาคตที่ต้องการได้
การุณ เลี่ยวศรีสุข (2538) วิสัยทัศน์ คือ สภาพการณ์ที่บุคคลมุ่งมั่นในการให้เกิดการรับรู้ เป้าประสงค์ที่ต้องการ หรืออาจจะเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พึงจะมีขึ้นในอนาคต หรือเป็นมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในอนาคตที่พึงประสงค์เป็นอันที่รับรู้ได้ทุกคนในองค์นั้นๆ
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2539) วิสัยทัศน์ คือ จินตนาการ การกำหนดเป้าหมาย การริเริ่ม การวางแผน การลงมือกระทำ ตลอดการฝ่าฟันอุปสรรคโดยยึดมั่นในเป้าหมายความสำคัญของวิสัยทัศน์ ในสภาวะปัจจุบันของสังคม การดำเนินการทางธุรกิจ ระบบการบริหาร และการแข่งขันกันพัฒนาองค์กรหรือชุมชนและการดำเนินงานด้านต่างๆ สิ่งจำเป็นคือการที่ผู้นำขององค์กรหรือชุมชนจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล หากดำเนินการในกิจการใดๆ ล้มเหลว จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาชุมชนเพื่อให้สามารถที่จะอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้นำชุมชนซึ่งเป็นผู้นำขององค์กรนั้นๆ บุคคลในชุมชนจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และมีแนวทางในการปฏิบัติได้จริง ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวิสัยทัศน์กับผู้นำชุมชนด้วย อันเป็นการระดมความคิดเห็นและปัญหาขององค์กร การแก้ไขและเสริมสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับชุมชน  ถือได้ว่าเป็นการสร้างวิสัยทัศน์

ควิกเลย์ (Quigley, 1993) อธิบายว่า วิสัยทัศน์ของบุคคล ประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการที่สำคัญคือ ค่านิยมร่วมในองค์กร ภารกิจและเป้าหมาย โดยแต่ละองค์ประกอบมีความหมายในตัวเอง องค์ประกอบด้านค่านิยมร่วมองค์การถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ก่อเกิดวิสัยทัศน์ ส่วน ภารกิจ และเป้าหมายเป็นองค์ประกอบที่ทำให้วิสัยทัศน์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

แมนเนสส์ (Mannasse, 1986) ได้กล่าววิสัยทัศน์ ว่าประกอบด้วย 4 ประการ คือ 1) วิสัยทัศน์ขององค์กร (Organization Vision) ได้กล่าวว่าเกี่ยวกับภาพที่กว้างและสมบูรณ์ของระบบองค์กรในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นการมองในภาพรวมทั้งองค์กรและสภาพแวดล้อม 2) วิสัยทัศน์อนาคต (Future Vision) คือการสร้างภาพของระบบองค์กรภายใต้สภาพแวดล้อม ณ จุดหนึ่งหรือเวลาหนึ่งในอนาคตซึ่งจะชี้ว่าองค์กรในอนาคตจะเป็นอย่างไร 3) วิสัยทัศน์ส่วนบุคคล (Personal vision) จะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาองค์กร การกำหนดตำแหน่งของบุคคลและการพัฒนาบุคคล เป็นการเชื่อมระหว่างผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร อันเป็นความสามารถที่จะประสาน ชี้บ่งการเคลื่อนย้าย และทรัพยากรต่างๆ 4) วิสัยทัศน์กลยุทธ์ (Strategic Vision) เป็นวิสัยทัศน์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นอยู่กับความจริงในปัจจุบันกับอนาคต เป็นวิถีทางเฉพาะเหมาะสมกับ องค์กรและผู้นำหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือยุทธศาสตร์การบริหารการเปลี่ยนแปลง

จะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การเข้าใจ เข้าถึง ร่วมพัฒนาคนและท้องถิ่นให้สู่เป้าหมายของการพัฒนา  จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาชุมชนเพื่อให้สามารถที่จะอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ ผู้นำชุมชน และองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และมีแนวทางในการปฏิบัติได้จริง องค์ประกอบของวิสัยทัศน์   ในการกำหนดหรือการสร้างวิสัยทัศน์ในชุมชน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำคัญก็คือ การกำหนดวิธีการ ถ้าชุมชนไม่กำหนดวิธีการขึ้นก็ไม่สามารถมีแนวทางการปฏิบัติไปสู่วิสัยทัศน์ของการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้นๆ การมีเพียงข้อคิดเห็นหรือมุมมองในอนาคตอย่างเดียว แต่ขาดแนวทางปฏิบัติจริง ย่อมไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่ดี วิสัยทัศน์ที่ดีควรจะต้องประกอบด้วยลักษณะบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของการวิสัยทัศน์ให้สมบูรณ์ (สุทิติ ขัตติยะ, 2547)

สอางค์ วงศ์วรรธนะโชติ  (2550) วิจัยเรื่อง บทบาทของนักพัฒนาชุมชนในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงาน กรณีศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง พบว่า บทบาทของนักพัฒนาชุมชนในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลางและปัจจัยที่มีผลต่อการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงานของนักพัฒนาชุมชน ได้แก่ การรับรู้ปัญหาของชุมชน การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนและความคิดเห็นเกี่ยวกับเงื่อนไขพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ไพศาล เนาวะวาทอง (2551)  วิจัยเรื่อง การจัดการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษา: หมู่บ้านคำปลาหลาย ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  พบว่า การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของคนในชุมชนบ้านคำปลาหลาย ซึ่งจากในอดีตชุมชนได้รับผลกระทบและประสบปัญหาความยากจน รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศก็ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขา ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกและทำการเกษตรเป็นดินภูเขา ชาวบ้านจึงทำไร่ ทำนา และทำการเกษตรแบบดั้งเดิม คือ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้ครั้งเดียวใน 1 ปี จากการทำนาและปลูกมันสำปะหลังป้อนเป็นวัตถุดิบสู่โรงงาน ทำให้ได้ผลผลิตน้อยและราคาตกต่ำ ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน เป็นหนี้สิน และเกิดผลเสียต่อดิน จากผลดังกล่าวทำให้ผู้นำชุมชนเกิดความคิดในการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ เพื่อให้คนในชุมชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเริ่มมีการพัฒนาเป็นลำดับขั้นมาเรื่อยๆ โดยยึดตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลจากการดำเนินตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านคำปลาหลายกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ชัยยศ อิ่มสุวรรณ (2543) วิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน เป็นปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ชุมชนในฐานะระบบเสียดุลยภาพ โครงการการศึกษาชุมชนได้ถูกนำมาใช้เป็นวิถีทางในการแก้ปัญหา ในการสร้างเสริมบูรณาการในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการเป้าหมายของชุมชนคือการแก้ปัญหาชุมชนโดยมีจุดมุ่งหมายให้สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการ ส่วนรูปแบบการศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มี 2 รูปแบบคือรูปแบบอิงชุมชนเป็นผู้ริเริ่มและรูปแบบอิงสถาบันซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ริเริ่ม และพบว่ารูปแบบที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่มเหมาะสมสำหรับชุมชน เนื่องจากเน้นแนวคิดการพึ่งพาตนเอง การมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากร ตลอดจนภูมิปัญญาภายในชุมชนส่วนรูปแบบที่หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ริเริ่ม เหมาะสำหรับชุมชนที่ประสบปัญหาเกินขอบเขตความสามารถของชุมชน การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ หรือโครงการพระราชดำริ ทั้งสองรูปแบบมีเป้าหมายที่จะสร้างการมีส่วนร่วม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้และศักยภาพในการแก้ปัญหาของชุมชน

สรุปได้ว่าการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ มองถึงอนาคตที่บุคคล กลุ่มคน องค์การ คาดหวังให้เกิด โดยการกำหนดหรือตั้งเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาศัยประสบการณ์และข้อมูลในปัจจุบันและวิสัยทัศน์มีทั้งในระดับมหัพภาคและจุลภาค การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต้องสร้างผู้นำที่มีศักยภาพโดยใช้การศึกษาดูงาน การอบรม และการปฏิบัติจริง การพัฒนากลุ่มองค์กร ชุมชน และพัฒนางาน โดยยึดหลักการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความสามัคคี ความเอื้ออาทรร่วมกัน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จะเห็นได้ว่าชุมชนตัวอย่างที่สามารถสร้างความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้จริงๆ จะต้องพัฒนาที่ตัวผู้นำก่อน ผู้นำจะต้องเสียสละ  เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตสาธารณะที่แท้จริง  ซึ่งสังคมปัจจุบัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ใครทำได้ดีไม่อยากบอกคนอื่น หรือไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตน แข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินโดยไม่สนใจคนอื่น  จุดเริ่มอยู่ที่ตัวผู้นำโดยรัฐมีส่วนสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วม ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงประโยชน์  สวัสดิการชุมชนที่จะได้รับ และจะต้องย้ำว่าเป้าหมาย ความสำเร็จ คือ พลังที่ทุกคนมีอยู่ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จะทำให้สิ่งต่างๆ ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ดังกรณีตัวอย่างของชุมชนไม้เรียง

สรุปในส่วนของผู้วิจัย การมีส่วนร่วมหมายถึง การเน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของตนเองในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ในการแก้ปัญหา การพัฒนา โดยฝึกคนให้คิดและสร้างจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยการให้ความร่วมมือทุกครั้ง ถือเป็นหน้าที่ไม่ต้องให้ใครไปเกณฑ์มาเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งนำไปสู่วิถีพอเพียงและการพึ่งตนเองเป็นหลัก  แนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชาวนาไทย การรวมกลุ่มชาวนา  เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ คนที่ทำได้ดีก็ไม่อยากบอกคนอื่นเพราะเห็นเป็นคู่แข่งในการทำนา จึงปกปิด ไม่ยอมบอกความจริงซึ่งกันและกัน การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมให้เข้าถึงการปฏิบัติที่ได้ผลจริง ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา สร้างคุณภาพชาวนาให้เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภาคภูมิใจ มีขวัญและกำลังใจในการประกอบอาชีพทำนา และมีศักยภาพในการแข่งขันกับระบบการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน

************************************************

บรรณานุกรม

กิติศักดิ์  ศิริมังคละ. (2546). การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดอ่างทอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ. (2543). การวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทวีทอง  หงส์วิวัฒน์. (2527). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา.กรุงเทพฯ:
ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล.
พัฒน์  บุญรัตนพันธ์. (2517). การสร้างพลังชุมชนโดยขบวนการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
เพียงเดือน ขำสีเมฆ.(2542). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการอ่างเก็นน้ำแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไพศาลเนาวะวาทอง. (2551). การวิจัยเรื่อง การจัดการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกรณีศึกษา หมู่บ้านคำปลาหลาย ตำบลบ้านดงอำเภออุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สอางค์  วงศ์วรรธนะโชติ. (2550). บทบาทของนักพัฒนาชุมชนในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงาน กรณีศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม สถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุทิติ ขัตติยะ. (2547). การยอมรับของประชาชนต่อนโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน. กรุงเทพฯ: ไวท์เฮาท์.
อคิน  ระพีพัฒน์ และจารุภรณ์  เภาธะทัด. (2531). ปัญหาการพัฒนาชนบท บทเรียนกรณียกกระบัตร: โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง. ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น.
อินทราณี  การัตน์. (2546). การวิจัยเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชุมชนบริเวณลุ่มน้ำปุ๊ อำเภอสอง จังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการวางแผนและพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยแม่โจ้.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น