หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

หลักธรรมที่ใช้ในการบริหารงานในองค์กร



หลักธรรมที่ใช้ในการบริหารงานในองค์กร

เขียนโดย
                                                                                                        วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต เพราะช่วงเวลาของการทำงานในชีวิตนั้นมีอยู่มากมาย การทำงานให้สนุกและเป็นสุขขณะทำงานและทำอย่างไรให้คนที่ร่วมงานมีความสุขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารในองค์กรควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง เพราะหากองค์กรใดมีบุคลากรที่มุ่งมั่นทำงานให้องค์กรอย่างมีความสุของค์กรนั้นก็จะเข้มแข็ง และสามารถเติบโตอย่างมั่นคง หลักธรรมกับการบริหารแบ่งได้ ดังนี้
1. หลักธรรมกับการบริหารจัดการ
2. วิธีผสมผสานอย่างสมดุล
3. ความเป็นมาและความสำคัญของการใช้หลักธรรมะกับการบริหารจัดการ
4. เทคนิควิธีการนำไปใช้
5. ประโยชน์ที่ได้รับ
การทำงานทางด้านการบริหารจัดการเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะเป็นการทำงานกับคนส่วนใหญ่ในองค์กร หลักของพุทธศาสนาจึงมีบทบาทในการบริหารจัดการ พุทธศาสนากับคนไทยมีความผูกพันกันมานานไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย และเจริญมั่นคงในประเทศไทยยิ่งกว่าที่ไหนในโลก

ฉะนั้นหลักธรรมของพระพุทธศาสนาจึงเป็นที่มาของขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ทัศนคติในด้านความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของคนไทยจะมีหลักพระพุทธศาสนามาเกี่ยงข้อง ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไทยมากและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ โดยยึดแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า ทางสายกลาง ซึ่งในทางสายกลางของพุทธศาสนาเกี่ยวข้องทั้งกาย วาจา ใจ สมาธิหรือว่าปัญญาสามารถนำประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจได้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนใบไม้ในป่าใหญ่ หยิบใบไม้มากำมือเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต หลักในการพิจารณาเลือกคำสอนพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารจัดการนั้นต้องเลือกมาให้เหมาะกับวิถีชีวิต และองค์กรโดยหลักๆ เกี่ยวกับการปกครอง เกี่ยวกับการบริหารองค์กรต่างๆ จะต้องใช้หลักธรรมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 คือ เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน ประสานใจทุกคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันให้อยู่อย่างมีความสุข สามัคคี ซึ่งประกอบไปด้วย
1. การให้ทาน คือ การอนุเคราะห์หรือสงเคราะห์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามถานานุรูป ในโอกาสต่างๆ เช่น งานบุญกุศลงานอัคคีร้าย หรือหลายๆ อย่าง
2. ปิยวาจา คือ การกล่าวด้วยคำที่เป็นที่รัก มีประโยชน์ ถูกต้องดีงาม และก็จริงใจต่อผู้ร่วมงาน
3. อัตถจริยา คือ ความประพฤติที่เป็นประโยชน์กันคนอื่น เช่นว่าเราช่วยเหลือกิจการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั่วไปแนะนำแก้ไขปัญหาต่างๆ และชักชวนให้คนอื่นสนใจธรรมะ ให้ประพฤติ
4. สมานัตตา คือ ความเป็นผู้มีตนเสมอ วางตนเสมอต้นเสมอปลายปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเสมอภาค วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นอยู่ เข้ากับคนอื่นให้ได้ ไม่เอาเปรียบคน อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดเรียกว่า สังคหวัตถุ 4
หลักเกี่ยวกับการบริหารองค์กร คือ อิทธิบาท 4
อิทธิบาท 4 คือ ธรรมะของความสำเร็จเป็นทางแห่งความก้าวหน้า ซึ่งสามารถมาใช้ในธุรกิจได้ มีหลักอยู่ 4 ประการ ดังนี้
1. ฉันทะ คือ ความพอใจ รักในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม
2. วิริยะ คือ ต้องมีความพยายาม ขยัน หมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
3. จิตตะ คือ เอาใจมุ่งมั่นต่อสิ่งที่ทำ มีสติ ไม่เหม่อลอยฟุ้งซ่าน ต้องมีสมาธิ และตั้งอกตั้งใจ
4. วิมังสา คือ การรู้จักพิจารณาหาเหตุผลใช้ปัญญาในการทำงาน ประกอบไปด้วยการวางแผนงาน วัดผลงาน เมื่อมีข้อบกพร่องต้องรู้จักแก้ไขปรับปรุง
วิธีการผสมผสานระหว่างบริหารจัดการกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในองค์การที่เห็นชัด คือองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะตัวบุคคล ผู้นำองค์กรประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องอยู่ในศีลธรรม พนักงานในองค์กรก็จะถือเป็นแบบอย่างที่ดี ถ้าหากผู้บริหาร และบุคลากรในองค์การมีหลักธรรมเป็นเครื่องชี้นำแนวทาง การทำงานก็จะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน
ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นต่างๆ ความขัดแย้งก็ลดน้อยลง เพราะทุกคนได้เรียนรู้และนำหลักธรรมะทางพุทธศาสนาไปใช้ ดังนั้นการทำงานต่างๆ จะสามารถสนองนโยบายบริษัทได้เป็นอย่างดี และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เห็นคือ บรรยากาศในการทำงานเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ร่าเริงแจ่มใส คนทำงานมีความสามัคคี และมีความสุข สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรของให้ก้าวหน้าไปอย่างราบรื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การ และสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาแก้ปัญหา
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนตัวซึ่งมีผลกระทบถึงเรื่องการทำงาน ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเช่น การยักยอกหรือการไม่ซื่อตรง ในฐานะผู้ปกครองคนต้อง ถือว่าคนเรามีสิทธิ์ที่จะทำผิดพลาดได้ในชีวิต บางครั้งควรให้โอกาสเขาได้แก้ตัว โดยการใช้หลักการให้อภัย
การจะให้อภัยต้องมีหลักเกณฑ์หลายอย่าง เช่น การตักเตือน การอบรม และการให้โอกาสแก้ตัวโดยกำหนดระยะเวลา อาจจะ 3 เดือน ดูความประพฤติหรือการให้แก้ไขตัวเอง หลังจากนี้แล้วก็ให้อภัยและให้กลับมาเป็นเหมือนพนักงานทั่วๆ ไป โดยการให้โอกาสคนในการที่จะแก้ไขตน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในองค์กร
1. ลาภ คือ การได้ทรัพย์สมบัติมาจากประโยชน์ของการขายเข้าเป้านั้นคือลาภ
2. ยศ คือ ได้รับตำแหน่งส่งเสริมทางด้านการทำงาน มีอำนาจ
3. สรรเสริญ คือ ได้รับการชมเชย คำยกย่องชื่นชมจากทุกๆ ฝ่าย
4. สุข คือ การได้รับความสุขกาย สบายใจ เบิกบาน สิ่งนี้คือประโยชน์ทางด้านโลกธรรม เพราะเรายังอยู่ในโลกอยู่ในโลกียวิสัยอยู่ ทุกคนต้องการสิ่งนี้
         ดังนั้นประโยชน์ของการใช้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตทางที่ดีคือ ทางสายกลาง และการรู้จักการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและให้รู้สึกละอายเวลาที่ทำผิดในเรื่องของการทำงาน จะต้องไม่ปุ่มป่ามรีบร้อนทำงานแบบฉุกละหุก โดยปราศจากการไตร่ตรองพิจารณาให้ถี่ถ้วนมิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมา การทำงานต้องมีสมาธิ มีสติ และมีปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น