หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการปกครอง



ทฤษฎีการปกครอง

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ประหยัด หงส์ทองคำ (2529) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่นว่ามี 6 ประการ คือ 1) มีพื้นที่เขตการปกครองที่แน่นอนชัดเจน 2) มีองค์กรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล 3) มีสภาฝ่ายนิติบัญญัติ และมีผู้บริหารซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรง 4) มีอำนาจอิสระในการปกครองหรือการบริหาร 5) มีทรัพย์สิน งบประมาณ และรายได้ของตนเอง 6) มีเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นแต่ละแห่งปฏิบัติงานเป็นของตนเอง และประหยัด หงส์ทองคำ (2529) ยังได้สรุปหลักการปกครองท้องถิ่นว่าเป็นการปกครองของชุมชนซึ่งชุมชนเหล่านั้นอาจมีลักษณะแตกต่างกันในด้านต่างๆ ต้องมีอำนาจอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมและมีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการปกครองตนเอง ซึ่งแบ่งได้ 3 ประการ คือ 1) องค์กรปกครองท้องถิ่นมีสิทธิที่จะตรากฎหมาย 2) องค์กรปกครองท้องถิ่น มีสิทธิในการกำหนดงบประมาณของตนเอง 3) มีองค์กรที่จำเป็นในการปกครองตนเอง และประชาชนในท้องถิ่นยังต้องมีส่วนร่วม ในการปกครองตนเอง โดยการเลือกตั้งโดยทางตรงและอ้อม 

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2550) ได้กล่าวว่าลักษณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีลักษณะแตกต่างจากองค์กรมหาชน 3 ประการ คือ 1) มีอิสระภายใต้กรอบของกฎหมาย และนโยบายของชาติ 2) เป็นระบบการให้บริการที่สมบูรณ์ในตนเอง 3) มีอำนาจจัดเก็บภาษีอากร

ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539) ได้จำแนกวัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ คือ 1) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล 2) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง 3) เพื่อความประหยัดโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเก็บภาษีอากรนำไปใช้ในการบริหารกิจการของท้องถิ่น ทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐบาล 4) เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบัน      ให้การศึกษาระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน ด้านระบบการปกครองท้องถิ่น 

อุทัย หิรัญโต (2534) ได้แยกองค์ประกอบได้ 8 ประการ คือ 1) มีสถานะตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2) พื้นที่และระดับปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่น 3) การกระจายอำนาจหน้าที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล 5) มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหาร 6) มีอิสระในการปกครองท้องถิ่น 7) งบประมาณของตนเองมีอำนาจในการจัดเก็บรายได้
8) อยู่ในการควบคุมดูแล
ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของรัฐ ความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม และจากการรวบรวมความเห็นทางวิชาการ 

อุดม ทุมโฆสิต (2550) พบว่า การปกครองท้องถิ่นมีข้อดีต่อการปกครองประเทศหลายประการ ดังนี้ 1) ช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ 2) ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย 3) ช่วยทำให้เกิดความมั่นคงของชาติ 4) ช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักมนุษยชน 5) ทำให้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ได้ดี แต่ทั้งนี้การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไป ยังประสบปัญหาต่างๆ

ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539) สรุปได้ดังนี้ คือ 1) ปัญหาการคลัง องค์กรปกครองท้องถิ่นมีรายได้น้อยจำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากส่วนกลางมากทำให้ขาดอิสระในการบริหารงาน 2) ปัญหาการกำหนดวัตถุประสงค์ 3) ปัญหาประสิทธิภาพของการบริหาร 4) ปัญหาการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน 

คีลเลอร์ และเพอร์รี (Keller & Perry, 1991 อ้างถึงใน Norton, 1994) ได้แบ่งรูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่น ดังนี้
1) รูปแบบที่ประชุมเมืองขนาดเล็ก
2) รูปแบบคณะกรรมการเป็นการบริหารงาน ท้องถิ่นในรูปแบบของคณะกรรมการจำนวน 3-7 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเลือกประธานคณะกรรมการในกลุ่มนั้น เพื่อทำหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารตลอดจนดูแล การทำงานของแผนกต่างๆ
3) รูปแบบสภา-นายกเทศมนตรี รูปแบบนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาโดยตรงเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนนายกเทศมนตรีมาจากเสียงข้างมากของสมาชิกสภา
4) รูปแบบนายกเทศมนตรีอ่อนแอ ให้ประชาชนใช้สิทธ์เลือกตั้งโดยตรงทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร รวมถึงหัวหน้าฝ่ายต่างๆ แต่รูปแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานเพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถบัญชาการฝ่ายต่างๆ ได้
5) รูปแบบนายกเทศมนตรีเข้มแข็ง ให้อำนาจนายกเทศมนตรีในการแต่งตั้งและถอดถอนหัวหน้าฝ่ายต่างๆ มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เสนองบประมาณและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในด้านการออกกฎ ข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนการดูแลการทำงานของฝ่ายต่างๆ ในการบริหารงาน
6) รูปแบบสภา-ผู้จัดการ โดยประชาชนจะเลือกตั้งสมาชิกสภาจำนวน 5-9 คน และเลือกให้สมาชิกสภาคนใดคนหนึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร เพราะสภาจะจ้างนักบริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์ ในการบริหารงานจากภาคธุรกิจมาเป็นผู้จัดการเมือง ผู้จัดการเมืองต้องปฏิบัติงานภายใต้ความพึงพอใจของสภา เพราะมีโอกาสที่จะถูกปลดพ้นจากตำแหน่งได้

ลีท และสทีวาร์ท (Leach & Stewart, 1992 อ้างถึงใน Wilson & Game, 1998 อ้างถึงใน สมคิด
เลิศไพฑูรณ์, 25
44) ได้สรุปภารกิจหลักที่สำคัญ 4 ด้าน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ 1) การให้บริการสาธารณะ 2) การออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ 3) การวางแผนเชิงกลยุทธ์ 4) การส่งเสริมและสนับสนุน
ในปัจจุบันการปกครองถิ่นนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเมืองการปกครองในระดับชาติ ดังนี้  สมิธ (Smith, 1985 อ้างถึงใน Wilson & Game, 1998) 1) การให้การศึกษาและฝึกฝนทางการเมือง  2) การส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม 3) ความเท่าเทียมทางการเมือง 4) เสถียรภาพทางการเมือง 5) ความรับผิดชอบ 6) การสนองตอบ ส่วนมูทาลิม และเคน (Muttalib & Khan, 1982 อ้างถึงใน David & Chris, 1998)  ได้เขียนว่า การปกครองท้องถิ่นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการพัฒนาท้องถิ่น ดังนี้ 1) การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนและความผูกพันของคนในชุมชน 2) การให้ความสำคัญหรือเน้นย้ำถึงความหลากหลาย 3) ส่งเสริมนวัตกรรม และการเรียนรู้ 4) การสนองตอบต่อปัญหาอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและร่วมมือ 5) การกระจายอำนาจ 6) การมีส่วนร่วมของประชาชน 7) การกระตุ้นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 8) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม 9) การกระจายผลลัพธ์ของการพัฒนาอย่างเป็นธรรม

บรรณานุกรม

ชูวงศ์   ฉายะบุตร. (2539). การปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: ส่วนท้องถิ่นกรมการปกครอง.
ดิเรก  ปัทมสิริวัฒน์. (2550). การคลังท้องถิ่น รวมบทความวิจัยเพื่อเพิ่มพลังให้ท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง.
ประหยัด  หงส์ทองคำ. (2529). การปกครองท้องถิ่นไทย: เฉพาะรูปแบบเทศบาลในการเมืองการปกครอง. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แห่งประเทศไทย.
สมคิด  เลิศไพฑูรย์. (2543). การปกครองท้องถิ่น ประเทศฝรั่งเศษ. กรุงเทพฯ: อักษรการพิมพ์.
อุดม  ทุมโฆสิต. (2550). การปกครองท้องถิ่นสมัยใหม่: บทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้ว.                 กรุงเทพฯ: แซท โฟร์ พริ้นติ้ง.
อุทัย  หิรัญโต. (2523). การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
Norton, D. C. (1991). Institution, Institutional Change and Economic Performance. Cambridge: Cambridge University Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น