หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์



ทฤษฎีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

1. ทฤษฎีการปฏิบัติหน้าที่ (Functional Approach Theory)
ทฤษฎีนี้ได้รับอิทธิพลจากนักจิตวิเคราะห์ชื่อ Otto Rank ซึ่งเน้นการทำงานให้บริการของหน่วยงาน (Agency) มากกว่าที่จะกล่าวถึงการบำบัดรักษาผู้รับบริการตามสภาพจิตใจสังคม (Psychosocial Treatment) เหมือนอีกหลายๆ ทฤษฎีที่มีเรื่องเหล่านี้ผสมผสานอยู่
ทฤษฎี Functionl Approach นี้ เป็นแนวคิดของ Ruth Smalley (ค.ศ. 1930) ทฤษฎีนี้เน้นที่กระบวนการช่วยเหลือผู้รับบริการตามสถานการณ์ที่เห็นสมควร (Helping Process) โดยพยายามหาเครื่องมือในการให้บริการช่วยเหลือไว้ให้พร้อม ในขั้นแรกควรจะเป็นเครื่องมือภายในหน่วยงานที่นักสังคมสงเคราะห์ทำงานอยู่ด้วย ดูว่าบริการทางสังคมของหน่วยงานต่อระบบผู้รับบริการสมดุลกันหรือไม่ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการได้อย่างไรหรือเพียงใด นักสังคมสงเคราะห์จะต้องให้โอกาสแก่ผู้รับบริการหรือกลุ่มเป้าหมายได้เกิดความคิดตัดสินใจเลือกใช้บริการที่หน่วยงานในชุมชนนั้นมีให้อยู่แล้ว นักสังคมสงเคราะห์จะให้ความสำคัญกับบทบาทการจัดบริการให้แก่ฝ่ายผู้รับบริการในลักษณะวิธีการต่างๆ ทางสังคมสงเคราะห์ และทำให้ผู้รับบริการรับรู้บทบาทของตนในการแก้ไขป้องกันปัญหา รู้จักใช้ทรัพยากรในหน่วยงานในสถาบันครอบครัว ในชุมชน ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นนักสังคมสงเคราะห์ยังสามารถเชื่อมโยงปัญหากับบริการทางสังคมได้อย่างถูกต้อง สามารถสร้างกระบวนการให้บริการทุกขั้นตอน โดยเน้นความมีสัมพันธภาพของระบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักพึ่งพิงการประสานงานกับบุคลากรต่างวิชาชีพทั้งในหน่วยงานเดียวกันและต่างหน่วยงานให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของหน่วยงานที่นักสังคมสงเคราะห์ผู้นั้นทำงานอยู่ด้วยอย่างมีประสิทธิภาพ

ทฤษฎีนี้เคยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระหว่างปี ค.ศ. 1940-1950 แม้ว่าปัจจุบันนี้จะไม่ใคร่มีชื่อเสียงนัก เพราะทฤษฎีนี้วางเงื่อนไขเกินไป กล่าวคือ คาดหวังให้นักสังคมสงเคราะห์ทำงานอย่างมีแผนการ มีเป้าหมายพัฒนานโยบายที่หน่วยงานกำหนด และรู้จักเวลาและหน้าที่ของหน่วยงานอย่างไรก็ตาม บางทีเงื่อนไขที่ว่าเกินไปนั้นหากรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ในบางส่วนกับงานสังคมสงเคราะห์หรือผสมผสานกับทฤษฎีสังคมสงเคราะห์อื่นอย่างพอเหมาะพอดี ก็สามารถจะเป็นประโยชน์ได้อย่างมากเช่นกัน

2. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผน (Planned Change Theory)
ทฤษฎีนี้มุ่งจะปรับปรุงระบบต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างดี และเป็นทฤษฎีที่มุ่งให้ทุกฝ่ายในระบบสังคมเกิดความสำนึกว่า สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นคนเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดด้วย เพื่อจะทำให้ฝ่ายผู้รับบริการตลอดจนสิ่งแวดล้อม ค่านิยม สถาบันทรัพยากร บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการช่วยเหลือฯลฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในทางที่ต้องการ นักสังคมสงเคราะห์ในฐานะตัวแทนการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องมีขีดความสามารถในการจูงใจระบบผู้รับบริการให้เปลี่ยนแปลงความไม่ร่วมมือร่วมใจ จะโดยเหตุผลใดก็ตาม มาเป็นร่วมมือร่วมใจกันสรรหาทรัพยากรและวิถีทางดำเนินการเพื่อผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงของบุคคล กลุ่ม องค์กร ชุมชน และนักสังคมสงเคราะห์จะต้องพยายามจูงใจ กระตุ้นกระทำการเพื่อให้ทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการช่วยเหลือได้ทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน มีการประสานประโยชน์ ทำให้การจัดบริการเพื่อผู้รับบริการบรรลุผลดี

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนนี้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มาก และเป็นการชักจูงให้นักสังคมสงเคราะห์เกิดความตระหนักว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นความคิด พฤติกรรมของมนุษย์ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงหรือความผันผวนของสังคม รวมทั้งองค์การ องค์กรต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วยดังได้กล่าวแล้ว และแนวคิดของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนนี้ยังเข้าไปผสมผสานกับทฤษฎีทางสังคมสงเคราะห์ต่างๆ อีกด้วย โดยเฉพาะทฤษฎีแห่งระบบ (System Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทฤษฎีแห่งระบบมุ่งวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้รับบริการว่ามีสาเหตุปัญหาหรือพื้นเพความเป็นมาของเหตุการณ์ในวงชีวิตของผู้รับบริการอย่างไร โดยมีระบบผู้ให้บริการเน้นที่นักสังคมสงเคราะห์ ระบบแห่งปัญหาของผู้รับบริการที่มีสาเหตุโยงใยต่อเนื่องกัน ระบบการดำเนินการซึ่งเป็นที่รวมของทรัพยากร บุคลากร หน่วยงาน องค์กร เป็นต้น ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้รับบริการเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบผู้รับบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และไม่ว่าจะเป็นระบบผู้รับบริการก็ดี ระบบผู้ให้บริการก็ดี ระบบแห่งปัญหาก็ดี หรือระบบดำเนินการก็ดีต่างจะต้องอยู่ในระบบสภาวะแวดล้อมเดียวกันหรือใกล้ชิดกัน จึงจะทำให้การดำเนินการช่วยเหลือได้ผลดี ให้ประโยชน์แก่ผู้รับบริการและครอบครัวของเขา

ส่วนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนอาจนำมาช่วยรองรับทฤษฎีแห่งระบบ ทั้งนี้เพราะ ทุกระบบต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนการ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน หากการเปลี่ยนแปลงของแต่ละระบบเป็นในลักษณะต่างฝ่ายต่างไป ปัญหาของการช่วยเหลือหรือการจัดบริการเพื่อลดปัญหาหรือสนองความต้องการที่จำเป็นของผู้รับบริการย่อมเกิดขึ้น และอาจสร้างภาวะวิกฤติให้แก่ผู้รับบริการมากขึ้นก็ได้ถ้าผู้รับบริการคิดว่าเขาไม่มีทางออกอีกแล้ว ฉะนั้นเพื่อให้การปฏิบัติงาน ทุกระบบเป็นไปด้วยดีงานจัดบริการมีประสิทธิภาพ นักสังคมสงเคราะห์จึงต้องเป็นผู้มีความชาญฉลาดในการเชื่อมโยงประยุกต์ทฤษฎีทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้รับบริการ และสอดคล้องกับลักษณะการให้บริการ ตลอดจนเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้รับบริการของแต่ละหน่วยงานด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น