แนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร
งามละม่อม
Wachirawachr
Ngamlamom
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถือเป็นหลักการสำคัญ (Participation Democracy) แต่ต้องเป็นการมีส่วนร่วมที่เกิดจากความต้องการความนึกคิดของประชาชนเอง มิใช่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากรัฐบาลกลาง (Top
Down) หรือเป็นประชาธิปไตยโดยภาพรวม (National Democracy) แต่ละเลยประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น (Local Democracy) ประเทศไทยไม่ค่อยมีการพูดถึงประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นที่มีผลกระทบถึงประชาธิปไตยระดับชาติ
(ธเนศวร์ เจริญเมือง, 2550) ส่วนใหญ่จะพูดถึงแต่ประชาธิปไตยในระดับชาติ
การเมืองท้องถิ่นเริ่มให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐมากขึ้น
ถึงกับวางหลักข้อมูลข่าวสารกันใหม่ว่า หลักคือเปิดเผย การปกปิดข้อมูลข่าวสารเป็นเพียงข้อยกเว้น
หลักการนี้ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 การที่ประชาชน
ประชาสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการเท่ากับเป็นการลดความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ระดับหนึ่ง
และการที่รัฐวางเจตนารมณ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางการ
ทำให้พรมแดนของระบบราชการซึ่งแต่เดิมงานราชการจะสงวนไว้ใช้เป็นกลไกของผู้ปกครอง ประชาชนยากที่จะตรวจสอบ แนวคิดที่จะให้ประชาชนปกครองดูแลกันเองในชุมชนมีความชัดเจนยิ่งขึ้นภายหลังที่ไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจปี
พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาลได้ยืมมือประชาชนชั้นรากหญ้าช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในฐานะมือที่มองไม่เห็น
(Invisible Hands)
ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่อดัม สมิธ ได้กล่าวถึงการสร้างความมั่งคั่งของชาติ (The Wealth of Nations) อธิบายหลักของตลาดเสรี
การค้าและการแบ่งงานกันทำจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพให้กับชาติ (Adam Smith,
2550) และรัฐบาลภายใต้รัฐบาลทักษิณได้กระจายทุน
กระจายบริการสาธารณะไปยังท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักการเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่าย
โดยการสร้างงาน สร้างอาชีพ
ด้วยวิธีการคู่ขนานคือโครงการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน
แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง
เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงหลักการพัฒนาประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต้องยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองหลายคน
แต่ก็เป็นการอธิบายความมีส่วนร่วมในบริบทการเมือง (Political
Constance) เสียมากกว่า
แต่ละเลยที่จะมองการมีส่วนร่วมในเชิงบูรณาการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
การบริหาร และข้อมูลข่าวสาร ดังที่มีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจหลายท่าน
ดังที่จะกล่าวถัดไป
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (สุจิต บุญบงการ, 2535) หมายถึงกิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล
ความหมายนี้มีลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ คือ
ประการแรก การมีส่วนร่วมทางการเมืองในความหมายนี้เป็นเรื่องของกิจกรรมไม่ใช่ทัศนคติ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของความคิด ความรู้สึก
หรือความเชื่อทางการเมือง แม้ว่า
ทัศนคติทางการเมืองมีผลต่อรูปแบบหรือการแสดงออกของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ไม่ใช่เป็นกิจกรรม
ประการที่สอง การมีส่วนร่วมทางการเมืองใช้สำหรับบุคคลธรรมดา
ส่วนนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมือง
การเกี่ยวข้องกับการเมืองเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของการมีบทบาททางการเมือง
ประการที่สาม การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเรื่องของการแสดงออก
เพื่อให้มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลหรือผู้นำประเทศ
ประการสุดท้าย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองอาจไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการตัดสินใจของผู้นำหรือรัฐบาลแต่อย่างใด
แม้ว่าผู้มีส่วนร่วมมีวัตถุประสงค์กดดันรัฐบาล
การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะมีผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองของผู้มีส่วนร่วม
ซึ่งมักมีอำนาจทางการเมืองไม่มากนักและไม่สามารถผลักดันการตัดสินใจของรัฐบาลได้ตลอดเวลาและทุกๆ
เรื่อง
เอกสารประกอบการประชุม เรื่องแนวทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2540 กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของประชาชน
หมายถึง การกระจายโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
การบริหารเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรของชุมชนและของชาติที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
โดยการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำปรึกษา ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ รวมตลอดจนการควบคุมโดยตรงจากประชาชน
(คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
และคณะวิจัย, 2544) เช่นเดียวกับ กนก วงศ์ตระหง่าน (2532)
ได้แสดงทัศนะไว้ว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง การกระทำของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
โดยมุ่งหวังให้การกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง
หรือต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทิศทางที่ตนต้องการในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมทางการเมืองมีหลายลักษณะ
แต่ต้องดำเนินไปด้วยความสมัครใจของประชาชนในประเทศ เช่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
การเดินขบวนอย่างมีเหตุผลและไม่ใช้ความรุนแรง การแสดงความคิดเห็นต่อโครงการหรือนโยบายของประชาชน
เป็นต้น
กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ประเทศไทยออกแบบโครงสร้างการบริหารอำนาจรัฐที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองสองในสามอำนาจ
ยกเว้นอำนาจตุลาการที่ประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อำนาจที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้แก่
อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ในระดับชาติคือ รัฐสภาและรัฐบาล
ส่วนในระดับท้องถิ่นคือ ราชการส่วนท้องถิ่น มีหน่วยปกครอง
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่อำนาจของตัวแทนหรือที่เรียกว่านักการเมือง มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร การถอดถอน ตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ลักษณะของการมีส่วนร่วมเช่น
การมีส่วนร่วมในฐานะผู้เฝ้าดู (Onlookers)
ประชาชนจะแสดงออกทางการเมือง เช่น การเข้าร่วมชุมนุมในทางการเมือง การเป็นสมาชิกกลุ่มผลประโยชน์
การไปหย่อนบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้ง การพูดคุยสนทนาทางการเมือง
หรือไม่สนใจเกี่ยวกับข่าวสารการเมือง ก็ถือเป็นผู้เฝ้าดู
และการมีส่วนร่วมในฐานะผู้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง (Participants) ประชาชนจะแสดงออกทางการเมืองที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองเช่นการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
การช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับพรรคหรือผู้สมัคร
การเข้าไปร่วมกำหนดโครงการต่างๆ ของชุมชน
การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีความเข้มข้นขึ้นไปอีกในฐานะ
ผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง (Activists)
การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับนี้ เช่น การเป็นผู้นำทางการเมือง
การเป็นผู้บริหารพรรค
การสมัครรับเลือกตั้ง การเป็นผู้เบี่ยงเบนทางการเมือง
การฆาตกรรมผู้นำการเมือง เป็นต้น (Roth & Wilson, 1980)
นักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ทางการเมืองได้หันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
รวมทั้งมีการศึกษาปัจจัยที่กำหนดระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น International Association for Public Participation ได้แบ่งระดับของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็น
5 ระดับ ดังนี้
1. การให้ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่ำที่สุด
แต่เป็นระดับที่สำคัญที่สุด
เพราะเป็นก้าวแรกของการที่ภาคราชการจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ
วิธีการให้ข้อมูลสามารถใช้ช่องทางต่างๆ เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อต่างๆ การจัดนิทรรศการ จดหมายข่าว
การจัดงานแถลงข่าว การติดประกาศ และการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
2. การรับฟังความคิดเห็น
เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีต่างๆ
เช่น การรับฟังความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ
การแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
3. การเกี่ยวข้อง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
หรือร่วมเสนอแนะแนวทางที่นำไปสู่การตัดสินใจ
เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนจะถูกนำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริหารงานของภาครัฐ
เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาประเด็นนโยบายสาธารณะ ประชาพิจารณ์
การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอแนะประเด็นนโยบาย เป็นต้น
4. ความร่วมมือ เป็นการให้กลุ่มประชาชนผู้แทนภาคสาธารณะมีส่วนร่วม
โดยเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ
และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น
คณะกรรมการที่มีฝ่ายประชาชนร่วมเป็นกรรมการ เป็นต้น
5. การเสริมอำนาจแก่ประชาชน เป็นขั้นที่ให้บทบาทประชาชนในระดับสูงที่สุด
โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เช่น การลงประชามติในประเด็นสาธารณะต่างๆ
โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด เป็นต้น
ในขณะที่ Norman
Nie, Jane Junn, และ Kenneth Stehlik-Barry (1996) ได้กล่าวถึงผลกระทบของระดับการศึกษาต่อระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคม พบว่า
ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คนแต่ละคน
จะแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแรก เรียกว่า ผลกระทบสัมบูรณ์
ซึ่งก็คือรูปแบบการศึกษาที่สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
และส่งเสริมให้ผู้คนต่างเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของตนขึ้น และรูปแบบที่สอง เรียกว่า ผลกระทบสัมพัทธ์ คือ ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นผลกระทบของระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของผู้คนรอบข้างต่อการตัดสินใจเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คน ผลกระทบที่สองนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ
และส่งเสริมให้ผู้คนต่างเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของตนขึ้น และรูปแบบที่สอง เรียกว่า ผลกระทบสัมพัทธ์ คือ ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นผลกระทบของระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของผู้คนรอบข้างต่อการตัดสินใจเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คน ผลกระทบที่สองนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ
ในทางที่เป็นประโยชน์
การศึกษาจะสร้างเสริมการพูดคุยถ่ายทอดข่าวสารทางการเมืองการปกครอง
จะกระตุ้นบรรยากาศของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง
ในขณะที่ผลกระทบในทางลบจะเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างคาดหวังกับการกระทำของบุคคลอื่น
และลดทอนความคาดหวังในผลกระทบของบทบาทของตนเองลง
โดยผู้คนที่ถูกแวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่มีการศึกษาสูงอาจตัดสินใจไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
โดยหวังว่าเพื่อนบ้านของตนที่มีการศึกษาสูงจะเข้าไปใช้สิทธิ์
และการตัดสินใจของเพื่อนบ้านคนดังกล่าวอาจจะดีกว่าการตัดสินใจของตนเอง
นอกจากนั้นการใช้สิทธิ์โดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นก็ลดทอนอำนาจในการตัดสินผลการเลือกตั้งของผู้คนๆ
หนึ่งด้วย
ดังนั้นประโยชน์ที่บุคคลคนหนึ่งจะได้รับจากการใช้สิทธิ์จึงลดลงจนอาจจะต่ำกว่าต้นทุนที่ตนเองจะได้รับ ความสัมพันธ์ในลักษณะไม่ใช่เส้นตรงระหว่างการศึกษา
และระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามผลกระทบจากระดับการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลต่อระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คนในสังคม
พบว่า
การทุจริตคอรัปชั่นในระดับที่สูงขึ้นย่อมส่งผลให้ผู้คนในสังคมเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเมือง
และลดทอนระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนลง
ในอีกทางหนึ่งระดับการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลก็ได้รับผลกระทบจากระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คนในสังคมเช่นเดียวกัน
โดยถ้าหากผู้คนมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำรัฐบาลก็มีช่องทางในการทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและระดับการทุจริตของรัฐบาลจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน ฉะนั้น
หากมีการเสริมสร้างให้ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอยู่ในระดับที่พึงปรารถนามากขึ้น
ปัจจัยอีกด้านหนึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และส่งผลกระทบที่สนับสนุนกันต่อไปในอนาคต
กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
ชุมชนตั้งอยู่ตามแหล่งความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เรียกว่า บ้าน หรือหมู่บ้าน
ถ้าสืบย้อนกลับไปยังบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนจะเห็นว่าบ้านเหล่านั้นได้มาตั้งรกรากโดยกลุ่มคณาญาติพี่น้องหรือคนรู้จักชิดเชื้อกัน มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน
จึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีลูกหลาน ลูกหลานมีการแต่งงานระหว่างคนในบ้านเดียวกัน (หมายถึงชุมชน)
หรือต่างบ้านจึงมีจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นหน่วยปกครองขนาดเล็กที่สุดของไทย
ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย
หลายหมู่บ้านเป็นตำบล หลายตำบลเป็นอำเภอ และหลายอำเภอเป็นจังหวัดตามลำดับ
ซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่ต้องอยู่ภายใต้การสั่งการจากส่วนกลาง การที่ชาวบ้านตั้งรกรากในเริ่มต้นเขาจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น ช่วยกันสร้างบ้าน ลงแขกดำนา หรืองานพิธีกรรมต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่
งานแต่งงาน งานบวช งานศพ เป็นต้น
ดังนั้นการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนจึงเป็นวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนอยู่แล้ว
เมื่อสังคมเจริญทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีมีการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชุมชนและสังคมในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับโลกที่ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชนซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลสูงต่อความเป็นอยู่ของชุมชน
การพัฒนาชุมชนจึงถูกครอบงำด้วยอิทธิพลดังกล่าวในขณะเดียวกันชุมชนต้องพัฒนาตนเองให้อยู่รอด
ชุมชนต้องมีความเข้มแข็งและรู้เท่าทันจึงจะสามารถยืนหยัดและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้นต้องมีการพัฒนาให้มีสภาวะที่ไม่เป็นฝ่ายรับเอาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่สร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์เข้ามาสู่ชุมชน
ชุมชนที่เข้มแข็งต้องมีความสามารถเพียงพอที่จะรับเอาเฉพาะสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเท่านั้น
เป้าหมายที่ชุมชนควรพัฒนาชุมชนให้สู่ภาวะที่เรียกว่าเข้มแข็งคือ
ต้องทำให้คนในชุมชนมีความสุข มีคุณภาพ มีคุณธรรม และใส่ใจในสิ่งแวดล้อม (สัญญา
สัญญาวิวัฒน์, 2550)
การที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งนั้นมิใช่เกิดจากคนใดคนหนึ่งหากแต่เป็นทุกคนในชุมชนที่ต้องร่วมมือร่วมใจ
การที่คนในชุมชนจะร่วมมือร่วมใจต้องให้เขาเห็นปัญหาว่าจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา
ให้เขารู้ว่าเมื่อให้ความร่วมมือแล้วจะก่อประโยชน์ต่อพวกเขา
การพัฒนาชุมชนจะไม่มีการบังคับแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
(Inform) รับฟังความคิดเห็น เข้าไปเกี่ยวข้อง (Involve) ให้ความร่วมมือลงมือปฏิบัติในกิจกรรมของชุมชน
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน (Human Right)
และเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถพัฒนาตนเอง
ครอบครัวและชุมชนด้วยคนของชุมชน
การบังคับให้พัฒนาชุมชนโดยเขาไม่เต็มใจหรือการจูงใจด้วยค่าจ้าง เช่น
โครงการเงินผัน หรือโครงการสร้างงานในชนบท โครงการมิยาซาวา
เป็นโครงการที่มิได้เกิดจากความต้องการของประชาชน
แต่เป็นความต้องการของรัฐบาลด้วยวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาชุมชน
กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจึงเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลและเป็นหลักการหนึ่งของธรรมาภิบาล
(Good Governance) คือมีส่วนร่วมในการรับรู้
ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอาจจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน
แต่ก็มีกระบวนการที่เป็นลักษณะร่วมที่เหมือนกันดังที่ J. Norman Reid เจ้าหน้าที่ของ Usda
Rural Development สำนักงานพัฒนาชุมชนของสหรัฐอเมริกา
กล่าวว่าการมีส่วนร่วมจะประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญได้แก่ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงาน
กิจกรรมมีส่วนในการพัฒนา (Many People)
ไม่ควรผูกขาดแบ่งกลุ่มหรือให้น้ำหนักกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Many
Centers)
เปิดกว้างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร(Open And Advised)
ให้ความสำคัญกับทุกความคิดจะไม่มีความคิดที่ไม่ดี (Open To All Ideas) ไม่แยกเขาแยกเราโดยเอาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อายุ การศึกษา ภาษา ฯลฯ
มาเป็นกำแพงกีดกันความร่วมมือร่วมใจ (Inclusive and Diverse)
และเปิดใจกว้างไม่มีการควบคุมบังคับกะเกณฑ์กัน (Open Mind, Open Process) กล่าวโดยสรุป การมีส่วนร่วมของชุมชนเริ่มตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น
การตัดสินใจ การดำเนินงานในทุกกิจกรรมของกระบวนการพัฒนาชุมชนและรับผลประโยชน์ร่วมกัน
รัฐบาลและสังคมเห็นแล้วว่าการพัฒนาชุมชนโดยการออกแบบจากส่วนกลางนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ
การที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดความต้องการให้กับชุมชนต่างๆ ที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนซึ่งมีหลากหลายในลักษณะที่แตกต่างกันทั้งในระดับลึกและกว้างในเรื่องของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
หรือแม้กระทั่งชุมชนในภาคเหนือตอนบนแต่ละชุมชนจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน
ดังนั้นการจะพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จต้องให้ชุมชนพัฒนากันเองโดยรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนทรัพยากรที่ชุมชนขาดแคลนเท่านั้น
บรรณานุกรม
กนก วงศ์ตระหง่าน. (2532). วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เอกสารการสอน
ชุดวิชาวิวัฒนาการการเมืองไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ชุดวิชาวิวัฒนาการการเมืองไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
คนึงนิจ
ศรีบัวเอี่ยม และคณะวิจัย. (2540). เอกสารประกอบการประชุม เรื่อง แนวทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540: ปัญหา อุปสรรค ทางออก. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2550). การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น.
กรุงเทพฯ:
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2550). ทฤษฎีและกลยุทธ์การพัฒนาสังคม.
กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุจิต บุญบงการ. (2535). การพัฒนาทางการเมืองของไทย:
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันการเมือง
และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ:
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Norman,
H. N. et al.(1996). Education and Democratic Citizenship in America.
Chicago:
University of Chicago Press.
University of Chicago Press.
Roth,
D. F., & Wilson, F. L. (1980).
The Comparative Study of Politics.
2nd ed. New York:
Prentice – Hall.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น