หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดเกี่ยวกับการคอรัปชั่น



แนวคิดเกี่ยวกับการคอรัปชั่น

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ความหมายของการคอรัปชั่น
การคอรัปชั่น หมายถึง การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเจ้าพนักงานเป็นผู้กระทำ เช่น เรียก รับ หรือยอมสินบน หรือการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยสุจริต หรือเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์ตนหรือผู้อื่น หรือการผิดวินัย ในทางกฎหมายถือว่า คอร์รัปชั่น หมายถึง การทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งได้แก่การกระทำซึ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
การคอร์รัปชั่นรู้จักกันในภาษาไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงการฉ้อราษฎร์ หมายถึง การกระทำของข้าราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะเป็น “ข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งฉกฉวยเอาประโยชน์อันไม่สมควรจากประชาชนเพื่อตนเอง โดยอาจใช้วิธีการโกง เบียดบัง ข่มขู่ รีดไถ ขูดรีดค่าธรรมเนียมเกินจริงจากประชาชน เช่น ระบบจ่ายใต้โต๊ะ เพื่อให้งานเดิน การโบกให้จอดแล้วต้องจ่าย
เป็นต้น การฉ้อราษฎร์จะกระทบประชาชนโดยตรง

การบังหลวง หมายถึง การกระทำ ของข้าราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะเป็น “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งฉกฉวยเอาทรัพย์สมบัติของประเทศชาติมาเป็นของตน โดยใช้อำนาจตำแหน่ง และด้วยวิธีการที่แยบยล เช่น เบียดบังงบประมาณแผ่นดินจากการประมูลงานโครงการใหญ่ต่างๆ โดยที่ประชาชนหรือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถรู้ได้ การบังหลวงเป็นการคอร์รัปชั่นที่ประชาชนไม่ได้รู้สึกถึงความเดือดร้อนมากนัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ได้เงินอันมิชอบไปเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้ว ยังมีพฤติกรรมอีกบางประการที่เข้าข่ายการคอร์รัปชั่น อาทิ การกินสินบาทคาดสินบน การให้สินน้ำใจในบางกรณี เป็นต้น

การคอร์รัปชั่นทั้งในระบบการเมืองและระบบราชการเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นที่มิได้ลดน้อยลง ทั้งนี้สาเหตุบางประการสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นไปได้ยากนั้น สืบเนื่องมากจาก “ค่านิยมของสังคมหลายประการที่เป็นอุปสรรค

มีร์ดาล (อ้างใน พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, 2544) ให้ความหมายไว้ ว่าคอรัปชั่น เป็นคำที่มี ความหมายกว้างขวาง หมายถึง การกระทำทุกอย่างที่เป็นไปโดยมิชอบหรือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยใช้อำนาจและอิทธิพลที่มีอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หรืออาศัยฐานะตำแหน่งพิเศษที่ตนมีอยู่ในกิจการสาธารณะรวมทั้งการกินสินบนด้วย

Encyclopedia Britannica (อ้างใน พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว, 2544) ได้อธิบายไว้ว่า การปฏิบัติมิชอบ” (Corrupt Practices) มีความหมายรวมไปถึงการกินสินบนและใช้อิทธิพลเกิดขอบเขต โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง

ศุภชัย ยาวะประภาษ (2544) ได้จำแนกคอรัปชั่นออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการใช้ตำแหน่งหน้าที่การงาน คอรัปชั่น หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ เป็นเรื่องของการรับเงินหรือสิ่งมีค่าเป็นเงินสำหรับการกระทำบางอย่างซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีหน้าที่จะต้องทำอยู่แล้ว หรือจะต้องงดการกระทำอยู่แล้ว ดังนี้ คอรัปชั่นจึงเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากข้อบัญญัติที่ได้รับมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง ซึ่งได้แก่ การับสินบน การใช้ระบบพวกพ้องและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างผิดกฎหมาย
2. ด้านที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม คอรัปชั่นหมายถึง การกระทำของผู้มีอำนาจที่ถูกชักนำด้วยเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่น ซึ่งไม่พึงจะมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โดยให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ให้สิ่งตอบแทนนั้น ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมได้รับความเสียหาย ซึ่งผลประโยชน์ที่ผู้คอรัปชั่นจะได้รับ ได้แก่ การมีอำนาจหน้าที่ การได้รับการยอมรับนับถือ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น
3. ด้านกฎหมาย คอรัปชั่นตามกฎหมาย หมายถึง คอรัปชั่นของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการไหลเวียนของรายรับของรัฐบาลหรือรายได้ประชาชาติไปในทิศทางที่เป็นการเพิ่มความมั่นคงส่วนบุคคลให้กับสมาชิกของรัฐบาลชุดนั้นๆ ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำซึ่งผิดกฎหมาย แต่ก็มีนักวิชาการบางคนเห็นว่าความหมายตามกฎหมายดังกล่าวไม่มีความคลอบคลุมเพียงพอสำหรับกฎหมายไทย คอรัปชั่นจะมีความหมายตรงกับคำว่า การทุจริตในวงราชการหรือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง
4. ด้านศีลธรรมคอรัปชั่น หมายถึง การกระทำซึ่งละเมิดหลักแห่งศีลธรรมในเรื่องต่างๆ


ค่านิยมที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมคอร์รัปชั่น
ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่คนๆ หนึ่งยึดถือว่ามีคุณค่าและเป็นกฎเกณฑ์การตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งต่างๆ ค่านิยมเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมคอร์รัปชั่น โดยอาจแบ่งค่านิยมที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของคนในสังคมออกได้เป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ตามลักษณะของสังคมไทย อาทิ
1. ค่านิยมในสังคมอุปถัมภ์ ในความเป็นจริงนั้น ระบบอุปถัมภ์มีสภาพเป็น กลาง ดังนั้นระบบอุปถัมภ์จะส่งผลให้เกิดคุณหรือโทษ จึงขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของคนในสังคม อาจกล่าวได้ว่าในทุกๆ ระบบของสังคมจำเป็นจะต้องมีระบบอุปถัมภ์เป็นตัวเชื่อมประสานอยู่ และในสังคมไทยเช่นกัน หากไม่มีระบบอุปถัมภ์เสียเลย สังคมไทยอาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัว และคนในสังคมขาดการพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ค่านิยมในสังคมอุปถัมภ์ที่ใช้อย่างไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุสำคัญของการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งในวงการการเมืองและในวงการราชการ อาทิ
1.1) ค่านิยมคณะนิยม ค่านิยมในระบบอุปถัมภ์มักนำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกจึงเป็นเหตุให้ข้าราชการยึดถือประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ภายในระบบจะยึดโยงกันเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ตามความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ดังที่คงเคยได้ยินคำกล่าวที่คุ้นเคย เช่น คนของใคร เส้นใครเส้นมัน นายขึ้นก็ขึ้นทั้งสาย เป็นต้น หรือแม้แต่เรื่องการเลื่อนขั้นหรือการให้ความดีความชอบที่พิจารณาว่าบุคคลใดเป็นพวกพ้องมากกว่าการพิจารณาความรู้ความสามารถหรือผลงาน หรือการละเลยการกระทำผิดของคนรู้จัก ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือคนที่ให้ผลประโยชน์แก่ตน คือมิได้มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดต่อชาติบ้านเมือง
1.2) ค่านิยมน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า สังคมไทยมีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่ชัดเจนมากลักษณะของการอุปถัมภ์ที่ชัดเจนมาก ลักษณะของการอุปถัมภ์จะอยู่ในลักษณะ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกัน อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง ข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ ประชาชนกับข้าราชการ ประชาชนกับนักการเมืองต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน และมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนทั้งในด้านวัตถุและจิตใจโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม
1.3) ค่านิยมกตัญญูนิยม ข้อดีประการหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ คือ การส่งเสริมให้เกิดค่านิยมของความกตัญญูรู้คุณคน อันเป็นเหตุให้คนที่เคยได้รับการช่วยเหลือมีความปรารถนาที่จะตอบแทนคนที่ทำความดีให้กับตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามหากกระทำอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามค่านิยมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการคอร์รัปชั่นขึ้นด้วย เช่นการละเมิดกฎเกณฑ์ระเบียบของราชการเพื่อช่วยเหลือผู้มีพระคุณ การจำใจต้องรับเด็กฝากเด็กเส้น การช่วยเหลือผู้กระทำผิด เพราะตนเองเคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้นั้นมาก่อน เป็นต้น

2. ค่านิยมในสังคมธนานิยม สังคมไทยอยู่ภายใต้ระบบธนาธิปไตย คือ อธิปไตยที่เกิดจากเงิน
หากใครมีเงินจะสามารถเป็นใหญ่ได้ สังคมปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่
เห็นเงินเป็นใหญ่ สังคมวัดฐานะกันที่เงินโดยไม่สนใจว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม ค่านิยมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบราชการอย่าง ใหญ่หลวง เพราะข้าราชการได้รับเงินเดือนน้อย การปรับเงินเดือนข้าราชการยังไม่ขานรับกับดัชนีค่าครองชีพ เมื่อบวกกับค่านิยมยกย่องคุณค่าเงินตราของคนในสังคม ยิ่งทำให้ข้าราชการเกิดความปรารถนาอยากได้เงินทอง วัตถุประสงค์ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตจนเท่าเทียมผู้อื่นในสังคม ในขณะที่ช่องทางที่เอื้ออำนวยและง่ายต่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินคือการคอร์รัปชั่นนั่นเอง ค่านิยมในสังคมธนานิยมอันเป็นเหตุให้เกิดการคอร์รัปชั่น อาทิ
2.1) ค่านิยมยกย่องเงินมากกว่าความดีและความถูกต้อง ปัจจุบันเรียกได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ เงินเป็นใหญ่กว่ากฎเพราะเงินสามารถแลกกับความถูกต้องได้ ค่านิยมสังคมยกย่องสรรเสริญคนรวยมากกว่าคนที่กระทำความดี โดยไม่สนใจว่าจะได้เงินนั้นโดยวิธีใด ส่งผลให้คนในสังคมมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งให้กับตนเองอย่างไม่จำกัดวิธี เพื่อให้ได้เงินเร็วที่สุดและง่ายที่สุด โดยขาดความตระหนักในจริยธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะคิดว่าคนที่ซื่อสัตย์มักจะไม่มีเกียรติและยากจน จึงต้องกลายเป็นผู้ที่คนในสังคมดูถูกดูแคลน
2.2) ค่านิยมยกย่องวัตถุ ชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดประวัติศาสตร์ สังคมไทยมีการแบ่งชนชั้นวรรณะอย่างชัดเจนในภาคปฏิบัติ คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมจำนนต่อเกียรติที่ได้มาจากชาติตระกูลและความมั่งคั่ง เมื่อบวกกับกระแสวัตถุนิยมและเสรีนิยม คนไทยส่วนใหญ่จึงแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองเพื่อยกระดับฐานะของตนให้เท่าเทียมกับคนที่มั่งคั่งในสังคม จนกลายเป็นความละโมบและความเห็นแก่ตัวที่สร้างความเสียหายแก่ส่วนร่วม โดยสังคมพยายามให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมีค่านิยมที่เห็นว่า ถ้าใครสามารถโกงผู้อื่นได้มากโดยผู้อื่นไม่สามารถทำอะไรเขาได้ คนผู้นั้นเป็นคนที่ฉลาดและสังคมที่มีคนที่ทำเช่นนั้นมากจะเป็นสังคมที่ฉลาดด้วย
2.3) ค่านิยมปฏิบัตินิยมมากกว่าหลักการนิยม สังคมไทยยึดค่าปฏิบัตินิยมมากกว่าหลักการนิยม
โดยมีความเห็นว่าสิ่งใดที่ทำแล้วตนเองได้รับประโยชน์มากกกว่าจะเลือกทำสิ่งนั้นส่งผลให้การคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ หากทำแล้วตนเองได้ประโยชน์ แม้จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือทำด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง หรือทำไม่ถูกกฎระเบียบก็ตาม ค่านิยมเช่นนี้ทำให้เกิดการละเลยที่จะตระหนักถึงผลเสียของการคอร์รัปชั่นที่ในที่สุดจะตกแก่ระบบราชการ ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม

3. ค่านิยมในสังคมรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี สาเหตุของความล้มเหลวในการปราบปรามคอร์รัปชั่นประการหนึ่งคือ การที่คนในสังคมยึดค่านิยม รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีหรือการรู้จักเอาตัวรอดจากสถานการณ์ร้ายต่างๆ โดยใช้ทุกวิถีทางไม่ขึ้นกับว่าทางนั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ขอเพียงทำให้ชีวิตตนเองพ้นภัยหรือได้รับผลประโยชน์อื่นๆ ถือว่าเป็นทางเลือกที่ฉลาดแล้ว เห็นค่านิยมนี้ถูกถ่ายทอดผ่านทางวรรณกรรมที่ยึดว่าเป็นภูมิปัญญาไทย เช่น ผ่านทางตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ศรีธนญชัยซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีมานับตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันและปรากฏในระบบการศึกษาที่ทำให้คนในสังคมไทยได้ซึมซับรับเอาและยกย่อง ศรีธนญชัยว่าเป็นคนที่ฉลาด กะล่อน เจ้าเล่ห์ และสามารถทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตนเองค่านิยมในสังคมรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ
3.1) ค่านิยมเข้าเมืองตาหลิ่งต้องหลิ่วตาตาม โดยปกติแล้วการว่ายทวนน้ำย่อมยากลำบากและอาจไปไม่ถึงฝั่ง แต่การว่ายตามน้ำง่ายสบายและถึงฝั่งอย่างปลอดภัยกว่า เช่นเดียวกับระบบการคอร์รัปชั่นที่ฝั่งลึกในระบบราชการและระบบการเมือง มักจะเป็นเหตุให้ข้าราชการใหม่ซึ่งกำลังเป็นคนไฟแรง มีอุดมการณ์
มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงาน ต้องถูกถ่วงดึงด้วยอิทธิพลของระบบกินตามน้ำ คนที่ว่ายทวนกระแสไม่ไหวจะกลายเป็น
แกะดำที่คนอื่นไม่คบค้าด้วย จนในที่สุดต้องหลุดออกจากระบบไป ในขณะเดียวกัน คนอีกจำนวนไม่น้อยตัดสินใจยอมทำตามระบบ เพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีใครต่อต้านหรือกวาดล้างการคอร์รัปชั่นในระบบให้หมดไปได้ ตราบเท่าที่ค่านิยม เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตามตามยังคงมีอิทธิพลต่อข้าราชการรุ่นใหม่ๆ อยู่
3.2) ค่านิยมอย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน การที่คอร์รัปชั่นยังเป็นมะเร็งร้ายเรื้อรังในระบบราชการและระบบการเมือง สาเหตุประการหนึ่งเนื่องจาก ไม่มีใครกล้าเป็นพยานโจทก์ มีการวิเคราะห์ไว้ว่าการนำตัวพยานบุคคลมาขึ้นศาลนั้นเป็นการยาก เนื่องจากธรรมเนียมประเพณีของคนไทยนั้นมีคำพังเพยอยู่ว่า กินขี้หมาดีกว่าขึ้นศาล” “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยนและ บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว ใครกินใครโกงก็ช่างหัวมันหรือหากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยผิดจริง อาจถูกฟ้องกลับในฐานะหมิ่นประมาทได้ ทางการจึงไม่จับคนผิดมาลงโทษได้ แม้จะมีตัวบทกฎหมายที่เข้มงวดเพียงใดก็ตาม
3.3) ค่านิยมประนีประนอม สังคมไทยมีลักษณะปฏิบัติการนิยมมากกว่าอุดมการณ์นิยม ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจน เช่น การที่โดยทั่วๆ ไปคนไทยไม่ชอบการตัดสินปัญหาในลักษณะโผงผางแตกหัก แต่จะนิยมการผ่อนปรนรอมชอมเข้าหากันเมื่อมีกรณีขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในระดับประเทศชาติก็ตาม การประนีประนอมเป็นลักษณะที่อาจเกิดมาจากประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของชาติในหลายยุคหลายสมัย เพราะหากดูจาดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ต่างๆ หลายเหตุการณ์ คนไทยแก้ปัญหาข้อขัดแย้งโดยไม่นิยมการโต้แย้งด้วยการนำเอาเหตุผลข้อเท็จจริงมาอภิปรายหักล้างกัน แต่จะนิยมความราบรื่นในการเจรจา เพื่อมุ่งรักษาหน้ารักษาศักดิ์ศรีของกันและกัน หลายครั้งการประนีประนอมเป็นเหตุให้เสียเปรียบ เพราะไม่กล้าตัดสินใจแตกหักในเรื่องสำคัญๆ และทำให้เกิดผลเสียหายตามมา

4. ค่านิยมในสังคมอำนาจนิยม ในสมัยอยุธยา อาชีพที่ถือว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีมากที่สุด คืออาชีพ รับราชการบุคคลที่เป็นข้าราชการจะอยู่ในฐานะผู้ปกครอง ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจ เกียรติยศ ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียง ข้าทาสบริวาร และมีเสถียรภาพในการดำเนินชีวิตข้าราชการในอดีตถืออยู่ในฐานะเป็น นายของประชาชน เนื่องจากมีฐานะทางสังคมสูงกว่าประชาชนตามการกำหนดโดยระบบศักดินา ประชาชนซึ่งเป็นชนชั้นผู้ถูกปกครองต่างให้ความเคารพยำเกรงข้าราชการ เพราะเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจในการให้คุณและโทษได้แม้ในปัจจุบันข้าราชการจะมีสถานะและสถานะและสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงมีลักษณะความคิดและการปฏิบัติเช่นสมัยเดิมหลงเหลือไว้ให้เห็นอยู่บ้าง ค่านิยมในสังคมอำนาจนิยมที่ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น อาทิ
4.1) ค่านิยมใช้อำนาจเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่านิยมของสังคมไทยที่ปลูกฝันกันมาว่า โตขึ้นขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ข้าราชการในอดีตไม่มีสำนึกว่า การเข้ารับราชการคือการเข้าไปรับใช้ประชาชน แต่กลับมีความคิดของตนมีอำนาจเหนือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นชนบท เนื่องจากในระบบราชการเป็นแหล่งรวมของบุคคลที่มีความรู้มากกว่าประชาชนชาวชนบท ค่านิยมที่ต้องการเป็นเจ้าคนนายคนของข้าราชการ อาจแสดงออกโดยการทำตัวเป็นผู้รู้ดีกว่าประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับและยกย่องว่าเป็นชนชั้นปกครอง
4.2) ค่านิยมยกย่องผู้มีอำนาจ สังคมไทยยกย่องและเกรงกลัวผู้มีอำนาจ จะเห็นได้ในระบบศักดินาหรือระบบราชการ อำนาจจะขึ้นอยู่กับชั้นหรือตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี ยศทหาร ยศตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดอำเภอ นายอำเภอ เป็นต้น ยิ่งมีตำแหน่งสูงยิ่งมีอำนาจมาก และจะยิ่งได้รับการยอมรับยกย่องมากขึ้น จนสามารถกล่าวได้ว่าอำนาจสามารถดลบันดาลให้มีทรัพย์สินเงินทอง บริวาร ตำแหน่ง ฯลฯ ค่านิยมยกย่องผู้มีอำนาจอาจนำไปสู่ค่านิยมในการประจบสอพลอ เกิดการทำงานแบบผักชีโรยหน้า เพื่อให้เจ้านายเกิดความพึงพอใจและเพื่อตนเองจะได้รับความดีความชอบ โดยไม่สนใจว่าสมเหตุสมผลและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนหรือไม่ ข้าราชการชั้นผู้น้อยตะหนักดีว่า ระเบียบกฎเกณฑ์นั้นมาทีหลังความปรารถนาของเจ้านายค่านิยมที่ให้คุณค่าในสิ่งที่ผิดเหล่านี้ ส่งผลกระทบให้คนในสังคมต้องเดินอยู่บนเส้นทางที่ลำบากยิ่ง เพราะเขาไม่สามารถเดินอยู่บนเส้นทางแห่งความถูกต้องได้อย่างมั่นคง เพราะเส้นทางนั้นคนในสังคมไม่ยอมรับ เช่น เขาไม่สามารถได้รับการยกย่องให้เกียรติหากเขาเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์แต่ยากจน เขาจะไม่สามารถทำธุรกิจใดๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จหากไม่เรียนรู้ที่จะจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาบ้าง และเขาอาจะอยู่ตำแหน่งเดิมตลอดชีวิตเพียงเพราะเขาไม่ได้เล่นพรรคเล่นพวกกับหัวหน้างาน ฯลฯ ค่านิยมสังคมเช่นนี้ ส่งผลให้ไม่มีผู้ใดกล้าหาญเพียงพอที่จะยืนหยัดอยู่ในความถูกต้องชอบธรรมได้ เพราะในที่สุดจำต้องไหลไปกับระบบ กลายเป็นคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายไป เพียงเพื่อที่จะอยู่รอดและได้รับการยอมรับจากคนในสังคมค่านิยมต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้การคอรัปชั่นกลายเป็นเนื้อร้ายในสังคมที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยปล่อยให้เกิดขึ้น และไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างรุนแรงที่จะตัดมันทิ้งไป สังคมที่ให้คุณค่าผิดๆ เช่นนี้ จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากในการที่ใครสักคนจะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม อย่างไรก็ตาม ควรพยายามและไม่ย่อท้อในการยึดมั่น คุณค่าที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะสิ่งที่ถูกต้องและดีงามจะนำพาชีวิตของประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

รูปแบบการคอรัปชั่น
จากการศึกษา ค้นคว้าจากหนังสือวิชาการภายในประเทศ พบว่า มีนักวิชาการไทยหลายท่านได้กล่าวถึงรูปแบบการคอรัปชั่นในประเทศไทย ไว้ดังต่อไปนี้
ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2546) ได้กล่าวว่า คอรัปชั่นมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญๆ มีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทแรก คือ ภาษีคอรัปชั่น ซึ่งนักการเมืองและข้าราชการเก็บจากพ่อค้า นักธุรกิจและประชาชน ในรูปของค่าคอมมิชชั่น และส่วยต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการรั่วไหลของเงินงบประมาณแบบอื่นๆ ภาษีคอรัปชั่นเหล่านี้ทุกคนรู้จักกันดี
ประเภทที่สอง มีความซับซ้อนมากกว่าประเภทแรก เพราะว่าเป็นการคอรัปชั่นที่เกิดจากการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Conflict of Interest ที่เห็นกันเสมอๆ คือรายได้ซึ่งนักการเมืองและพรรคพวกเพื่อนพ้อง ได้รับจากการตั้งราคาสินค้าหรือบริการซึ่งพวกเขาทำการผลิตอยู่ในราคาสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. ได้สัมปทานจากรัฐทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และรัฐให้สัมปทานบริษัทไม่กี่แห่งให้ทำธุรกิจนี้ ดังนั้น บริษัท ก. จึงสามารถคิดค่าบริการเป็นรายเดือน (Retaining Fees) นอกเหนือจากค่าโทรศัพท์จริงๆ ในอัตราสูงกว่าที่เก็บกันในประเทศอื่นๆ นี่หมายความว่า บริษัท ก. สามารถทำกำไรได้มากจนเจ้าของบริษัทเขยิบฐานะเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านได้ในเวลาประมาณ 5 ปี อีกตัวอย่างหนึ่งที่พบเสมอๆ คือ การได้ชนะประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากภาครัฐ เพราะผู้ชนะประมูลมีพรรคพวกเป็นนักการเมือง หรือบริษัทที่ชนะประมูลมีนักการเมืองร่วมหุ้นอยู่เป็นหุ้นลม การชนะประมูลดังกล่าวด้วยอิทธิพลทางการเมืองจะส่งผลให้บริษัทผู้ชนะประมูลสามารถหากำไรเกินควรได้ การคอรัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ ได้กลายเป็นแหล่งหารายได้จากการคอรัปชั่นที่สำคัญของนักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวโยงสำหรับมาตรการป้องกันการคอรัปชั่นที่เกิดจากการทับซ้อนของผลประโยชน์ จากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน รัฐธรรมนูญ 2540 มีข้อกำหนดให้รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทอีกต่อไป โดยมีกฎหมายลูกกำกับ และทาง ป.ป.ช. ยังกำหนดข้อห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ซึ่งพ้นตำแหน่งจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้ว ยังไม่ถึงสองปีเข้าทำงาน หรือมีหุ้นส่วน หรือเป็นการปรึกษาตัวแทนในบริษัทที่ได้รับสัมปทาน หรือเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่กำกับหน่วยงานของรัฐ แต่ข้อห้ามที่มีอยู่ยังมีจุดอ่อน คือยังเปิดช่องให้รัฐมนตรีย้ายโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคล ซึ่งอาจมีบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการ และข้อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีเข้าทำงานในบริษัทที่มีผลประโยชน์กับภาครัฐนั้น เป็นข้อห้ามเฉพาะสองตำแหน่งเท่านั้นคือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ป.ป.ช. ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น ตำแหน่งอธิบดีของหลายกรม ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวโยงกับการอนุมัติหรือการประมูลโครงการต่างๆ ภาครัฐสำหรับการคอรัปชั่นในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ การศึกษาที่มีอยู่ชี้ว่า ได้กลายเป็นแหล่งรายได้จากการคอรัปชั่นที่สำคัญของบรรดานักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉลปัญหาการคอรัปชั่นดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐมีมูลค่าสูงเกินความจำเป็น เป็นการรั่วไหลของงบประมาณแล้ว โครงการจำนวนมากเมื่อเสร็จสิ้นก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือมีกรณีที่เปิดดำเนินการแล้วส่งผลลบต้องจัดหางบประมาณมาแก้ไขเพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น โครงการเขื่อนบางปะกง เมื่อเปิดดำเนินการจะส่งผลลบต่อชาวบ้านจนต้องจัดหางบประมาณมาแก้ไข ส่งผลให้เกิดความสิ้นเปลืองอีกตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ ซึ่งมีเป้าหมายที่ดี คือการจัดการกับปัญหาน้ำเสีย แต่ สตง. พบว่า โครงการบำบัดน้ำเสียใน 39 พื้นที่เทศบาล ใช้งบมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่ทุกแห่งไม่สามารถเดินระบบบำบัดน้ำเสียได้สำเร็จตามจุดประสงค์อีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีอื้อฉาว
ซึ่งชาวบ้านที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบทางลบกำลังร้องเรียนอยู่ คือโครงการจัดการน้ำเสียรวมที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มีปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดจ้างแทบทุกขั้นตอน มีปัญหาการทุจริตและการทำผิดระเบียบและยังพบว่า เมื่อสร้างเสร็จก็อาจใช้งานได้ร้อยละ
25 เท่านั้น ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งก็เพราะโครงการมีความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นในพื้นที่เดียวกัน กรณีเหล่านี้ชี้เห็นถึงการสูญเปล่าของงบประมาณที่ลงไป นอกเหนือจากปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณอันเกิดจากการคอรัปชั่น

ในกรณีโครงการขนาดใหญ่ ที่กล่าวมาข้างต้น ต้นเหตุของการคอรัปชั่น นอกจากจะมีเรื่องของการทับซ้อนของผลประโยชน์แล้ว ยังมีปัญหาความหละหลวมในทุกขั้นตอนของการจัดทำโครงการ ตั้งแต่การทำการศึกษาความเป็นไปได้ ฯลฯ ไปจนถึงทุกๆ ขั้นตอนของการประมูลงานสำหรับแนวทางแก้ไขนั้น กฎเกณฑ์การป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ จะต้องได้รับพิจารณาให้รัดกุมและจริงจังกล่าวที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกัน การปฏิรูประบบการประมูลงานจะต้องมีการปรับให้ได้มาตรฐานสากล เช่น การจัดให้มีองค์กรกลาง เพื่อดูแลการประมูล จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยรวม เป็นการควบคุมการประมูลงานระดับหน่วยงานย่อยอีกชั้นหนึ่ง และการจัดการให้มีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมเพื่อป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ในบรรดาผู้ประมูลงานด้วยกัน และระหว่างผู้ประมูลกับนักการเมืองและข้าราชการ

การวิเคราะห์ทางทฤษฏีในตอนต้นชี้ให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีรัฐบาลที่มีนักการเมืองฉ้อฉล
ความพยายามที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นที่เกิดจากการทับซ้อนของผลประโยชน์จะบรรลุผลได้ยาก การปฏิรูปการเมืองยังจะต้องมีบทบาทสำคัญเพื่อร่อนนักการเมืองฉ้อฉลออกไป แต่การปฏิรูปการเมืองจากภายในระบบเองจะมีอุปสรรคมาก ดังนั้นนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่เสนอข้างต้นนี้ ขบวนการผลักดันการปฏิรูป และขบวนการต่อต้านคอรัปชั่นที่ต้องมาจากฝ่ายประชาชนและสื่อจะยังคงต้องมีบทบาทสำคัญในการลดทอนปัญหาการคอรัปชั่นอยู่นั่นเอง

นวลน้อย ตรีรัตน์ (2546: 2-24 - 2-25) ได้แบ่งรูปแบบการทุจริตคอรัปชั่นออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การทุจริตของข้าราชการประจำในกระบวนการปกครองโดยการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน
2. การทุจริตในแวดวงการเมืองจากการที่นักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อหาผลประโยชน์ทางด้านการเงินหรือทางด้านการเมือง และโดยรูปธรรมแล้วการทุจริตคอรัปชั่นอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
2.1) การใช้อำนาจในการอนุญาตให้ละเว้นจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจ กรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากเรื่องที่มีระดับความรุนแรงต่ำ เช่น การจ่ายสินบนให้ตำรวจเมื่อทำผิดกฎจราจร ไปจนถึงเรื่องที่มีระดับความรุนแรงสูง เช่น การจ่ายสินบน เพื่อให้มีการคุ้มครองธุรกิจที่ผิดกฎหมายต่างๆ
2.2) การใช้อำนาจในการจัดสรรผลประโยชน์ในรูปของสิ่งของ และบริการหรือสิทธิให้แก่เอกชน เช่น การออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ การให้สัมปทาน และการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
2.3) การใช้อำนาจในการสร้างอุปสรรคในการให้บริการแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากเงินเดือนและผลตอบแทนในระบบราชการต่ำเกินไปจนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เช่น การสร้างความล่าช้าในการให้บริการเพื่อให้มีการจ่ายเงินค่าน้ำร้อนน้ำชา โดยที่รูปแบบการคอรัปชั่นประเภทที่ 1 และ 3 สามารถพบเห็นได้ง่าย กระบวนการและวิธีการไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด แต่การคอรัปชั่นในรูปแบบที่ 2 มักมีการดำเนินการอย่างสลับซับซ้อนเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อสร้างอำนาจในการผูกขาดให้กับกลุ่มธุรกิจ โดยอำนาจในการผูกขาดจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนเกินหรือกำไรที่มากผิดปกติ และกระบวนการในการแสวงหาค่าเช่า (Rent-Seeking) หรือกระจายผลประโยชน์มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันไปด้วย โดยกระบวนการเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

จากการศึกษาปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของนวลน้อย ตรีรัตน์ ข้างต้นนั้นถือว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมสมัยที่สุดชิ้นหนึ่ง ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับ อบต. เป็นหลัก อันเป็นการเน้นการศึกษาไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจากการศึกษาจะค้นพบถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างราชการส่วนภูมิภาคและการทุจริตในราชการส่วนท้องถิ่น แต่การวิจัยนี้ก็ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างถึงความเกี่ยวโยงดังกล่าวว่ามีลักษณะอย่างไร และไม่ได้ให้ความกระจ่างว่าการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวโยงดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร
และการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแท้จริงแล้วท้องถิ่นทุจริตกันเองแต่โดยลำพังหรือว่าราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลางมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งอาจจะโดยไม่รู้ตัวหรือโดยเจตนาก็ตาม และในกระบวนการทุจริตคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลางได้มีส่วนในการกระทำการทุจริตหรือไม่ หรือกระทำทุจริตเองหรือไม่ หรือมีการทุจริตต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ในการศึกษาของนวลน้อย ตรีรัตน์และคณะยังไม่ได้ทำการศึกษาในประเด็นเหล่านี้หรือมีการศึกษาบ้างแต่ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง
และนอกจากนี้การศึกษาของนวลน้อย ตรีรัตน์ และคณะยังเป็นการศึกษาในลักษณะของการศึกษาการทุจริตคอรัปชั่นในเชิงอำนาจและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างตัวแสดง ต่างๆ ในกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งยังขาดการศึกษาการทุจริตคอรัปชั่นในเชิงโครงสร้างที่มีส่วนในการทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการศึกษาในเชิงโครงสร้างนี้น่าจะทำให้ทราบลึกซึ้งมากขึ้นถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นว่าการทุจริตใน อบต. นั้นเป็นแต่เพียงภาพสะท้อนในปลายทางของการทุจริตที่สังคมมองเห็นหรือไม่
ซึ่งอาจจะมีการทุจริตที่สำคัญที่เกี่ยวโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้นการศึกษาการทุจริตคอรัปชั่นในราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงตัวแสดงที่สำคัญอื่นๆ อีก ซึ่งโครงการวิจัยนี้พยายามที่จะทำการศึกษาถึงราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคที่มีการทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการของการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเน้นการศึกษากรณีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นหลักอันจะทำให้เห็นภาพของการทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการของการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างครอบคลุมรอบด้านและลึกซึ้งมากขึ้น

ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2537) ได้แบ่งรูปแบบการคอรัปชั่นหลัก ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ระบบส่งส่วย (Syndicate Corruption) มีวิธีการโดย ข้าราชการชั้นผู้น้อยเก็บส่วยหรือภาษีไม่เป็นทางการแล้วรวบรวมที่กองกลาง หลังจากนั้นแจกจ่ายรายได้ส่วยไปยังข้าราชการทั้งระดับสูงและล่างใน
กรม กอง
2. กินตามน้ำ การจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Kickbacks) มีวิธีการโดยให้สินบนการจัดซื้อจัดจ้าง
3. การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจการบางประเภทที่ต้องได้ สัมปทานจากรัฐบาล และเพื่อคงสภาพการผูกขาดนั้นไว้ โดยการจ่ายสินบนเป็นการจ่ายประจำให้ข้าราชการหลายระดับ ในบางกรณีจ่ายทั้งกรม
4. การคอรัปชั่นการประมูลโครงการ มีวิธีการหลายวิธีการ แต่โจ่งแจ้งที่สุดคือ การฮั้วกันระหว่างกลุ่ม ผู้เสนอประมูล เพื่อควบคุมการประมูลแล้วมีข้อตกลงเวียนกันเป็นผู้ชนะประมูลเป็นคราวๆ ไป


มูลเหตุของเกิดการคอรัปชั่น
สุธี อากาศฤกษ์ (2545) ได้แบ่งมูลเหตุของการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการไว้ 8 ประการ ได้แก่
1. ความเห็นในหลักการเกี่ยวกับสรีระอันเป็นองค์ประกอบของความผิด (Anatomy of Corruption) ได้แก่ โอกาส สิ่งจูงใจ ความเสี่ยงภัย และความประพฤติของตน ผู้จะกระทำความผิดมักจะต้องไตร่ตรองก่อนว่ามีช่องทางหรือโอกาส ตลอดจนมีสิ่งจูงใจคือประโยชน์ กับไม่ต้องเสี่ยงภัยหรือมีการเสี่ยงภัยน้อย แล้วจึงถึงขั้นการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องของความประพฤติ หากปราศจากความซื่อสัตย์สุจริตก็ย่อมจะกระทำการทุจริต
2. เศรษฐกิจและการครองชีพ หากรายได้ เงินเดือน หรือค่าจ้างไม่เพียงพอ ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐอาจกระทำการทุจริตเพื่อการครองชีพของตนเองและครอบครัวได้
3. ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเหตุให้เกิดช่องว่างในการบริหารงานของรัฐบาล ขาดการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ต่อเนื่อง ขาดการติดตามผล เกิดความหละหลวมในการปกครองบังคับบัญชา ส่งผลกระทบต่อเหตุแวดล้อมกรณีอื่นๆ จนเป็นช่องทางหรือโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายขึ้นได้โดยง่าย
4. กรณีแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแสดงออกในทางฟุ่มเฟือย รับเลี้ยงดู และการเอาแบบอย่างกันในเรื่องของการบริการของรัฐที่ต้องมีค่าตอบแทนเป็นส่วนตัว เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจวางตัวเป็นกลาง และให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะความสำนึกในเรื่องของบุญคุณที่รับประโยชน์หรือรับการเลี้ยงดู
5. การบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ เกิดช่องว่างในการปกครองบังคับบัญชา หรือเกิดความหละหลวมในการปกครองบังคับบัญชา เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดระเบียบวินัย เป็นหนทางนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ
6. กฎหมายหรือระเบียบมีช่องว่างหรือมีข้อบกพร่องเปิดโอกาสให้ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้
7. การมีตำแหน่งหน้าที่เอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิด เพราะมีอำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษ อนุมัติ อนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือออกคำสั่งใดๆ อาจเรียกหรือรับประโยชน์เป็นการตอบแทนได้
8. การตกอยู่ในภาวะแวดล้อมและอิทธิพลของผู้ทุจริตหรือมูลเหตุจูงใจอื่นๆ ทำให้ต้องทุจริต เพราะความเกรงกลัวหรือถูกบังคับ

อุทัย หิรัญโต (2519) ได้ระบุถึงสาเหตุที่ข้าราชการกระทำการคอรัปชั่นไว้ดังนี้
1. ความจำเป็นในทางเศรษฐกิจ รายรับจากการรับราชการไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย
2. ความบกพร่องของระบบบริหารราชการ เกิดจากการที่ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจแก่ข้าราชการมากเกินไป ตลอดจนการให้อำนาจกึ่งตุลาการ (Quasi Judicial Power) แก่ฝ่ายปกครองมากเกินควร ขั้นตอนราชการมีมากเกินไป กฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับต่างๆ ไม่รัดกุมหรือไม่มีการรักษาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน และข้อบังคับกันอย่างจริงจัง ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของบริการต่างๆ และบริการนั้นประชาชนไม่พึงพอใจ ถ้าหากหน่วยงานของรัฐจัดบริการให้ไม่เพียงพอหรือมีวิธีปฏิบัติที่ล่าช้าไม่ทันกาล ประชาชนก็มักจะพร้อมหยิบยื่นของกำนัลให้แก่ผู้ปฏิบัตินั้นเสียด้วยเพื่อซื้อความสะดวก
3. ความต้องการที่จะได้รับการยกย่องในสังคมด้วยการแสดงออกในความมีฐานะทางเศรษฐกิจ และค่านิยมทางสังคม (Social Value) ของคนไทย
4. การมีอภิสิทธิ์ของนักการเมืองและความอ่อนแอของระบบการเมือง
5. อิทธิพลของภริยาของข้าราชการ
6. ความจำเป็นบีบบังคับให้เอาอย่าง
7. ผู้บังคับบัญชาไม่กวดขันหรือบกพร่องต่อหน้าที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น