หน้าแรก

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการพัฒนาการเมือง



ทฤษฎีการพัฒนาการเมือง

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

แนวความคิดทางการเมืองที่ใช้อ้างกันมากเพื่อการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองในประเทศด้อยพัฒนา คือ แนวความคิดเรื่องการพัฒนาการเมือง (Political Development) หรือนักวิชาการบางท่านก็ใช้คำว่า การทำให้ทันสมัยทางการเมือง (Political Modernization) บางท่านก็ใช้ปนเปกันทั้งสองคำ มูลเหตุสำคัญที่ได้มีการใช้ศัพท์ดังกล่าววิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองนั้น ก็เนื่องจากว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่างๆ ซึ่งเคยเป็นประเทศในอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกได้รับเอกราช ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ก็ประสบปัญหาทางการเมืองต่างๆ มากมาย เกิดจากการรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งอำนาจกันระหว่างเผ่าพันธุ์หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ การล้มลุกคลุกคลานของระบบรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย พร้อมกับการเข้ายึดอำนาจของทหารในรูปของการปฏิวัติรัฐประหาร ปรากฏการณ์ทางการเมืองดังกล่าวนั้น ย่อมมีการวิเคราะห์หาสาเหตุและนักวิชาการแขนงต่างๆ ก็ใช้วิชาที่ตนถนัดเป็นตัวแปรสำคัญในการเสาะหาสาเหตุ
นักเศรษฐศาสตร์ก็มองการไร้เสถียรภาพต่างๆ ในประเทศเหล่านี้ด้วยการเน้นที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจนและการขาดเทคโนโลยีในการผลิต ทำให้สังคมประสบปัญหาต่างๆ ยากที่จะเกิดเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นได้ ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังครอบคลุมไปถึงสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สองด้วยว่าเกิดจากปัญหาหลัก คือ ปัญหาเศรษฐกิจ 
นักการศึกษาก็มองดูการล้มเหลวของการปกครองแบบประชาธิปไตยว่า มีสาเหตุมาจากการขาดการศึกษา ความโง่เขลาเบาปัญญาของประชากร และการขาดความรู้เรื่องการเมืองและสังคมซึ่งทำให้ไม่สามารถจรรโลงระบบการเมืองการปกครองแบบอารยะได้ นักสังคมวิทยาก็มองปัญหาดังกล่าวด้วยแว่นสีของตนว่า เกิดจากโครงสร้างทางสังคม ช่องว่างระหว่างความรวยความจน โครงสร้างอำนาจอันสืบเนื่องมาจากจารีตประเพณี ค่านิยมแบบถืออำนาจและบุคลิกภาพแบบเผด็จการ ฯลฯ 
 
นักรัฐศาสตร์นั้น ถ้าจะมองดูสภาพดังกล่าวมาว่า มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญก็พูดไม่สะดวกใจ เพราะหลายประเทศที่ประสบปัญหาการไร้เสถียรภาพทางการเมือง มีรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องรัดกุมทุกประการมีการสร้างสถาบันทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ การใช้หลักการถ่วงดุลอำนาจ การตรวจสอบซึ่งกันและกันของสถาบันต่างๆ แต่ระบบประชาธิปไตยก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ผลสุดท้ายก็พยายามมองดูว่าปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศด้อยพัฒนาเกิดจากการขาดการพัฒนาการเมือง ซึ่งเข้าใจว่าศัพท์คำว่า การพัฒนาการเมืองนี้คงเลียนแบบมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การใช้ศัพท์ดังกล่าวก็ตามมาด้วยคำถามว่า การพัฒนาการเมืองคืออะไร ซึ่งนักรัฐศาสตร์ในแขนงพฤติกรรมศาสตร์ต่างก็ตอบไปตามความถนัด ความเชื่อและความเข้าใจของตน บางคนก็พยายามแยกระหว่างคำว่า การพัฒนาการเมืองและการทำให้ทันสมัยทางการเมือง จนเกิดคำจำกัดความในแนวความคิดดังกล่าวมากมาย ซึ่งจะกล่าวต่อไป
นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ได้เริ่มพูดถึงการพัฒนาการเมืองหรือทฤษฎีพัฒนาการเมือง ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1960 โดยมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์การเมืองของประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก และเพิ่งจะได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองในประเทศเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นประเทศในโลกที่สาม คือ The Politics of the Developing Areas โดยมี Gabriel A. Almond และ James S. Coleman เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยทฤษฎีหยิบยืมมาจากสำนักโครงสร้างและหน้าที่ (Structural functional Approach) ของมนุษยวิทยา จากนั้นก็มีตัวอย่างการเมืองของภาคต่างๆ ในโลก เช่น เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เอเซียใต้ ลาตินอเมริกัน ฯลฯ โดยใช้กรอบวิเคราะห์ (Analytical Frame Work) อันเดียวกัน เจตนาก็เพื่อจะเปรียบเทียบโดยใช้กรอบวิเคราะห์หรือกรอบทฤษฎีเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดกับรูปแบบ เช่น ประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เสนอทฤษฎีการพัฒนาการเมือง เพียงแต่พยายามวิเคราะห์ศึกษาการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาโดยเลี่ยงการใช้รูปแบบการเมืองในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวการศึกษาที่นิยมทำกัน โดยใช้หลักประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เป็นหลักในการเปรียบเทียบ 

แนวความคิดต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองซึ่งมีอยู่ 10 แนวความคิด โดยการสังเคราะห์พหุภาพแห่งการพัฒนามีดังนี้คือ
1. การพัฒนาการเมือง คือ รากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ (Political Development as the Political Prerequisite of Economic Development) เมื่อมีการสนใจเกี่ยวกับปัญหาความเจริญทางเศรษฐกิจและมีความจำเป็นที่จะแปรรูปของเศรษฐกิจที่หยุดนิ่ง เพื่อเป็นเศรษฐกิจที่เจริญได้ในระดับสม่ำเสมอ นักเศรษฐศาสตร์ก็กล่าวโดยพลันว่าสภาพทางการเมืองและสังคมจะมีบทบาทอย่างแน่วแน่ในการขัดขวางหรือเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นในรายได้เฉลี่ยต่อหัว และดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่จะคิดว่า การพัฒนาการเมืองคือสภาพของระบบการเมืองซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เมื่อมาใช้ในการวิจัย คำจำกัดความการพัฒนาการเมืองดังกล่าวมีลักษณะในทางลบ เพราะว่าเป็นการง่ายกว่าที่จะพูดอย่างชัดแจ้งว่า ระบบการเมืองได้ขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่เป็นการยากที่จะพูดว่า ระบบการเมืองได้ช่วยให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างไร เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น ความเจริญทางเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นในระบบการเมืองหลายระบบและด้วยนโยบายที่ต่างกัน อันนี้นำไปสู่การคัดค้านต่อคำจำกัดความพัฒนาการเมืองดังกล่าว เนื่องจากว่า คำจำกัดความนั้นไม่ได้มีทฤษฎีร่วมกันเพราะในบางกรณีจะมีความหมายเพียงว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติตามนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ส่วนในสถานการณ์อื่นนั้นอาจจะเกี่ยวพันถึงการพิจารณาองค์การขั้นมูลฐานของรัฐและการปฏิบัติของสังคมทั้งมวล ดังนั้นปัญหาเรื่องการพัฒนาการเมืองจึงแตกต่างกันตามความแตกต่างกันทางปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความลำบากขั้นพื้นฐานอีกประการหนึ่งของคำจำกัดความพัฒนาการเมืองที่กล่าวมาเบื้องต้นจะปรากฏภาพชัดยิ่งขึ้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า ความหวังของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในประเทศด้อยพัฒนามีลักษณะมืดมัว และในหลายประเทศความเจริญทางเศรษฐกิจ (โดยไม่จำต้องพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม) ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในชั่วอายุของเรา ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในทางการเมืองถึงขนาดที่เรียกว่า อาจจะควรถือว่ามีการพัฒนาการเมืองในสังคมเหล่านั้นตามคำจำกัดความอื่นๆ ประการสุดท้าย ยังมีการคัดค้านต่อไปว่า
ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายประชาชนมีความกังวลมากไปกว่าเพียงความก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น กล่าวคือ ประเทศเหล่านี้คำนึงถึงการพัฒนาการเมืองโดยอาจจะไม่คำนึงผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ความพยายามเชื่อมโยงการพัฒนาการเมืองกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจะเป็นการมองข้ามสิ่งสำคัญอย่างอื่นในประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ 

2. การพัฒนาการเมือง คือ การเมืองในสังคมอุตสาหกรรม (Political Development as the Politics Typical of Industrial Societies) คำจำกัดความอันที่สองของการพัฒนาการเมือง  ซึ่งมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นทางเศรษฐกิจเป็นความเห็นที่มีลักษณะเป็นนามธรรมของการเมืองในสังคมที่มีความเจริญอย่างมากในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ข้อสันนิษฐานก็ถือว่า ชีวิตในสังคมอุตสาหกรรมนั้นจะนำไปสู่ชีวิตทางการเมืองแบบหนึ่งตามความหมายนี้ สังคมอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม มีมาตรฐานพฤติกรรมทางการเมืองและการปฏิบัติซึ่งเป็นลักษณะของการพัฒนาการเมืองและเป็นจุดมุ่งหมายบั้นปลายของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ดังนั้น คุณสมบัติเฉพาะของการพัฒนาการเมืองกลายเป็นรูปแบบซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพฤติกรรมของรัฐบาลที่ มีเหตุผลและรับผิดชอบกล่าวคือ มีการหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไร้ความคิดซึ่งคุกคามต่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่สำคัญในสังคม มีข้อจำกัดต่ออธิปไตยทางการเมือง การเทิดทูนคุณค่าของแบบแผนทางการปกครองอย่างมีระเบียบ การยอมรับว่าการเมืองเป็นวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น และไม่ใช่จุดบั้นปลายในตัวของมันเอง การย้ำของโครงการสวัสดิการและประการสุดท้าย คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมในทางการเมืองรูปใดรูปหนึ่ง 

3. การพัฒนาการเมือง คือ ความจำเริญทางการเมือง (Political Development as Political Modernization) ความคิดที่ว่า การพัฒนาการเมืองเป็นลักษณะการเมือง ในอุดมคติในแบบสังคมอุตสาหกรรมมีความหมายเดียวกับความจำเริญทางการเมืองที่มีประเทศอุตสาหกรรมเป็นแบบอย่างของชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคม และคนจำนวนมากคาดหวังว่า ในขอบข่ายชีวิตทางการเมืองก็มีลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ดีการยอมรับความคิดอันนี้โดยง่ายย่อมจะทำให้เกิดความไม่พอใจกับผู้เชื่อถือในความเท่าเทียมกันของวัฒนธรรม และคำถามสำคัญก็คือการที่ถือว่าการปฏิบัติของสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมตะวันตกเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการเมืองทุกระบบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะยอมรับว่า การคัดค้านนี้เป็นสิ่งที่น่ารับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความเชื่อดังกล่าวนั้นเป็นแฟชั่นประจำสมัย อย่างไรก็ตามความจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก คือ ประเพณีและปทัสถานทางสังคม ซึ่งแผ่กระจายไปทั่วโลกและซึ่งคนทั่วๆ ไป รู้สึกว่า ควรที่สังคมที่มีความเคารพตัวเองจะรับประเพณีและปทัสถานนี้มาตรฐานดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมและเกิดจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในปัจจุบันมาตรฐานเหล่านี้ได้คงอยู่ตัวแล้ว ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริง ในทางสังคมวิทยาและชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันก็ถูกถือว่าเป็นสิทธิอันเด็ดขาด ในความเห็นของโลกปัจจุบันนอกจากนี้หลักการอื่นๆ เช่น การเรียกร้องให้มีกฎหมายที่ใช้เป็นหลักสากล การเคารพในความสามารถยิ่งกว่าชาติกำเนิด และความคิดทั่วไปเกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิของประชาชนดูเหมือนว่าจะกลายเป็นสิ่งซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมใดๆ และกลายเป็นมาตรฐานสากลของชีวิตการเมืองยุคใหม่ คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ อะไรคือรูปแบบ และอะไรคือเนื้อหาของคำจำกัดความการพัฒนาการเมือง การทดสอบการพัฒนาอยู่ที่ประเทศสามารถจะมีสิ่งซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างของวัฒนธรรมแบบใหม่ เช่น พรรคการเมือง การปกครองและสภานิติบัญญัติที่มีเหตุผลและเพื่อประชาชน เช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกเหนือกว่าในเชื้อชาติก็จะเป็นสิ่งซึ่งตรงประเด็นในเรื่องนี้ เพราะว่าสถาบันเหล่านี้มีลักษณะเป็นสถาบันของประเทศตะวันตก ถ้าในทางตรงกันข้าม ความสำคัญอยู่ที่การกระทำหน้าที่อันสำคัญของระบบการเมือง ก็จะเกิดอีกอันหนึ่งเพราะระบบการเมืองต่างๆ นั้นในทางประวัติศาสตร์ได้กระทำหน้าที่อันสำคัญที่คล้ายคลึงกับสถาบันใหม่หรือสถาบันตะวันตก (ซึ่งจะเป็นรูปใดก็ตาม) ดังนั้น อะไรจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า อันไหนพัฒนากว่า ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาการเมือง เมื่อให้คำจำกัดความว่า คือ การจำเริญทางการเมืองนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการแยกแยะว่าอะไรเป็นของตะวันตกและอะไรเป็นของสมัยใหม่ ถ้าจะพยายามหาความแตกต่างดังกล่าวก็คงต้องใช้ข้อพิจารณาอื่นๆ มาประกอบ 

4. การพัฒนาการเมือง คือ ระบบการเกิดรัฐชาติ (Political Development as the Operation of a Nation – State) ความคิดอันนี้เกิดจากความเห็นที่ว่า การพัฒนาการเมืองนั้นเกิดจากการจัดตั้งของชีวิตทางการเมืองและการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองที่คล้องจองกับมาตรฐานของรัฐบาลในยุคใหม่ ในความเห็นนี้มีข้อสันนิษฐานว่า จากประวัติศาสตร์มีระบบการเมืองหลายระบบและทุกสั่งคมมีระบบการเมืองของตน แต่เมื่อเกิดรัฐชาติยุคใหม่ คุณลักษณะบางประการทางการเมืองของระบบรัฐชาติก็ตามมา ดังนั้น สังคมใดที่ต้องการเป็นรัฐยุคใหม่ สถาบันทางการเมืองของสังคมนั้นจะต้องปรับตัวเข้ากับคุณลักษณะเหล่านี้ การเมืองของจักรวรรดิของสังคมชนเผ่าและเชื้อชาติหรือของอาณานิคมจะต้องสลายตัวไปเพื่อกลายเป็นระบบการเมืองในรัฐชาติ ซึ่งจะดำเนินไปอย่างสัมฤทธิ์ผลร่วมกับรัฐชาติอื่นๆ การพัฒนาการเมืองจึงกลายเป็นวิถีทางซึ่งสังคมที่เป็นรัฐชาติในรูปแบบและโดยความเอื้อเฟื้อของนานาชาติ ได้กลายเป็นรัฐชาติที่แท้จริง กล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปคือความสามารถที่จะดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมในระดับหนึ่ง ความสามารถที่จะใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และความสามารถที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ดังนั้น การทดสอบการพัฒนาการเมืองก็กลายเป็น 1) การสร้างสถาบันทางสังคมซึ่งเป็นโครงสร้างที่จำเป็นของรัฐชาติ 2) การแสดงออกที่อยู่ในขอบข่ายของชีวิตของการเมือง ในรูปแบบชาตินิยม กล่าวคือ การพัฒนาการเมือง คือ การเมืองชองชาตินิยมในขอบข่ายของสถาบันแห่งรัฐ มีข้อสำคัญที่จะต้องเน้นว่า จากความคิดดังกล่าว ความรู้สึกชาตินิยมเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอต่อการพัฒนาการเมือง การพัฒนานั้นคลุมไปถึงการถึงความรู้สึกเรื่องชาตินิยมซึ่งกระจัดกระจายไปสู่สปีริตความเป็นประชากรของชาติ และสำคัญเท่าๆ กัน คือ การสร้างสถาบันแห่งรัฐที่สามารถจะแปรรูปความรู้สึกชาตินิยมและความรู้สึกเรื่องการเป็นประชาชนนอกเป็นรูปนโยบายและโครงการ กล่าวโดยย่อ การพัฒนาการเมืองคือการสร้างชาติ 

5. การพัฒนาการเมือง คือ การพัฒนาการบริหารและกฎหมาย (Political Development as Administrative and Legal Development) ถ้าเราแยกการสร้างชาติออกเป็นการสร้างสถาบันและการพัฒนาความเป็นพลเมือง เราก็จะมีความคิดทางการพัฒนาการเมืองสองแนว ความจริงแล้ว ความคิดที่ว่าการพัฒนาการเมืองคือการสร้างองค์การมีประวัติมาช้านานซึ่งเป็นพื้นฐานที่ชาญฉลาดของระบบอาณานิคม เพราะว่าเราได้สังเกตเห็นแล้วในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอารยธรรมตะวันตกที่มีต่อโลก คือ ความเชื่อที่ว่าในการสร้างสังคมทางการเมืองนั้นก่อนอื่นจำเป็นต้องมีความเป็นระเบียบทางกฎหมายและจากนั้นความเป็นระเบียบทางการบริหาร ประเพณีดังกล่าวได้สนับสนุนทฤษฎีปัจจุบันที่ว่า การสร้างระบบองค์การธิปไตย (Bureaucracy) อย่างสัมฤทธิผลเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ในความเห็นนี้ การพัฒนาการบริหารมีความเกี่ยวพันกับการมีเหตุผล การเสริมสร้างความคิดทางโลกธรรมและทางกฎหมาย และการมุ่งเข็มความรู้ความชำนาญทางเทคนิคไปสู่สังคมมนุษย์ แน่ล่ะ ไม่มีรัฐใดจะอ้างว่า พัฒนาถ้าขาดความสามารถที่จะจัดการเรื่องสาธารณะอย่างได้ผล และเมื่อใดที่รัฐใหม่มีการบริหารที่ได้ผล ปัญหาต่างๆ ก็มักจะอยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ ในทางตรงกันข้าม การบริหารแต่อย่างเดียวไม่เพียงพอ และความจริงแล้ว ถ้าหากมีการบริหารมากเกินไป อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลในสังคมซึ่งอาจขัดต่อการพัฒนาทางการเมือง ความจริงเรื่องการพัฒนาการเมืองที่มุ่งที่เรื่องการบริหารนั้น มองข้ามปัญหากรฝึกฝนพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งทั้งสองสิ่งนั้นเป็นแง่สำคัญของการพัฒนาการเมือง 

6. การพัฒนาการเมืองคือการระดมพลและการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Development as Mass Mobilization and Participation) การพัฒนาการเมืองอีกแง่หนึ่งเกี่ยวเนื่องกับบทบาทของประชาชนและมาตรฐานใหม่ของความภักดีและการมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นที่เข้าใจได้ว่า ในประเทศอาณานิคมก่อนๆ
มีความคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาการเมืองคือความตื่นตัวทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินกลายเป็นประชาชนผู้มีความกระตือรือร้นและมีความผูกพันต่อการเมือง ในบางประเทศความเชื่ออันนี้มีมากจนกระทั่งถึงขนาดที่ว่า การเมืองแบบประชาชนมีส่วนร่วมนั้นกลายเป็นจุดหมายปลายทางของมันเอง และทั้งผู้นำและประชาชนเชื่อว่าความจำเริญของชาติอยู่ที่ความถี่ของการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในทางตรงกันข้ามประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมีระเบียบได้ผล อาจรู้สึกไม่พอใจ ถ้าเขารู้สึกว่า ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมากนั้นกำลังประสบ
การพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ ตามความคิดเห็นส่วนมาก การพัฒนาการเมืองนั้นจะต้องมีการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แต่มีจุดที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาคือการแยกแยะเงื่อนไขของการขยายนี้ ในทางประวัติศาสตร์ตะวันตก การพัฒนาการเมืองอันนี้ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับสิทธิการลงคะแนนเสียงและการนำเอาชนกลุ่มใหญ่เข้ามาสู่ในวิถีทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นหมายถึงการกระจายในการตัดสินนโยบายและการมีส่วนร่วมนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกและการตัดสิน อย่างไรก็ตามในรัฐใหม่บางรัฐการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ได้เกิดพร้อมกับการมีสิทธิการลงคะแนนเสียง แต่หากเป็นการตอบโต้ของชนกลุ่มใหญ่ที่มีต่อการชักจูงของผู้นำ ควรยอมรับว่า แม้การมีส่วนร่วมในขอบเขตที่แคบดังกล่าวนี้ ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชาติ เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างความภักดีอันใหม่ และความรู้สึกใหม่ในเอกลักษณ์ของชาติ ดังนั้น ถึงแม้การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น เป็นแง่ของการพัฒนาการเมือง แต่ก็เต็มไปด้วยอันตราย เช่น อันตรายที่เกิดจากอารมณ์รุนแรง หรือผู้ก่อกวนทางการเมือง ซึ่งทั้งสองอันนี้อาจจะทำลายล้างความมั่นคงของสังคม แน่ละ ปัญหาก็อยู่ที่การพยายามสร้างดุลยภาพระหว่างความรู้สึกของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาขั้นมูลฐานของระบบประชาธิปไตย 

7. การพัฒนาการเมือง คือ การสร้างประชาธิปไตย (Political Development as the Building of Democracy) ความคิดอันนี้ คือ การพัฒนาการเมืองเหมือนหรือควรเหมือนกับการสร้างสถาบันและการปฏิบัติประชาธิปไตย แนวความคิดนี้มีข้อสันนิษฐานว่ารูปแบบของการพัฒนาการเมืองมีอยู่รูปเดียว คือ การสร้างประชาธิปไตย การมองการพัฒนาการเมืองว่า คือ ระบบประชาธิปไตยก็ได้เกิดการต่อต้านแนวความคิดนี้ โดยเฉพาะในหมู่นักสังคมศาสตร์ ที่พยายามจะทำให้สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์ปราศจากคุณค่านิยมและมุ่งที่จะวิเคราะห์การเมืองอย่างวัตถุวิสัย นอกจากนี้ เพื่อสะดวกในการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ คนอเมริกันยังมีเหตุผล (แม้จะเป็นเหตุผลที่ผิด) ที่จะเชื่อว่า จะเป็นการง่ายกว่าที่จะพูดกับประเทศด้อยพัฒนาในเรื่องการ พัฒนามากกว่าเรื่อง ประชาธิปไตยข้อถกเถียงก็คือ ประชาธิปไตยเป็นคำซึ่งเต็มไปด้วยคุณค่านิยม ส่วนการพัฒนานั้นเป็นกลาง การพยายามใช้ประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาการเมืองจึงอาจจะถูกเข้าใจว่า เป็นการพยายามเอาคุณค่านิยมอเมริกัน หรือตะวันตกมายัดใส่ 

8. การพัฒนาการเมืองคือเสถียรภาพการเมืองและการเปลี่ยนแปลงอย่างมีระเบียบ (Political Development as Stability and Orderly Change) คนจำนวนมากที่รู้สึกว่าประชาธิปไตยไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น มักจะมีแนวความคิดและมองการพัฒนาในแง่ของความเป็นระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้มีความเชื่อทางการเมืองนี้มักเชื่อว่า การพัฒนาการเมืองคือความมีเสถียรภาพทางการเมือง และมีความสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างมีระเบียบ เสถียรภาพซึ่งเป็นเพียงการหยุดนิ่ง และการสนับสนุนสภาพคงที่นั้นไม่ใช่การพัฒนา อย่างไรก็ดี เสถียรภาพก็มีความผูกพันกับการพัฒนาในแง่ที่ว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมมักขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งความไม่แน่นอนได้ถูกลดลงและการวางแผนได้ตั้งอยู่บนรากฐานของการคาดคะเนอย่างเป็นไปได้ ความคิดการพัฒนานี้จะถูกจำกัดอยู่ในขอบข่ายของการเมือง เพราะว่า สังคมซึ่งวิถีทางการเมืองสามารถที่จะควบคุมและอำนวยการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีเหตุผล ไม่เพียงแต่เป็นการตอบโต้ต่อมันก็ย่อมจะพัฒนากว่าสังคม ซึ่งวิถีทางการเมืองตกเป็นเหยื่อของ พลังสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งควบคุมชะตาชีวิตของประชาชน ดังนั้นเช่นเดียวกับที่มีการอ้างว่า ในสังคมใหม่นั้น บังคับธรรมชาติเพื่อจุดประสงค์ของเขา ส่วนสังคมเก่าเพียงปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เราอาจถือว่าจะมีการพัฒนาการเมืองขึ้นอยู่กับสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือถูกควบคุมโดยสังคม และแน่ละจุดเริ่มต้นของกรควบคุมพลังทางสังคม คือ การสามารถรักษาความเป็นระเบียบทางสังคม ปัญหาของความคิดของการพัฒนาอันนี้ ก็คือ ไม่มีคำตอบว่าความเป็นระเบียบจะต้องมีขนาดใดจึงจะพอเพียงหรือเป็นสิ่งที่พึงประสงค์และเพื่อจุดประสงค์อันใด สำหรับการเปลี่ยนแปลงยังมีปัญหาต่อไปว่า การพยายามเอาเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงมารวมกันจะไม่เป็นความฝันของชนชั้นกลางหรือของสังคมซึ่งดีกว่าประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายในปัจจุบันหรอกหรือ ประการสุดท้าย ในเรื่องของลำดับความสำคัญก็มีความรู้สึกว่าการรักษาความเป็นระเบียบถึงแม้ว่าจะเป็นที่ปรารถนาหรือสำคัญประการใดก็ตาม ยังเป็นรองต่อการที่จะทำให้สำเร็จ ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องมองผลของการปฏิบัติ 

9. การพัฒนาการเมือง คือ การระดมพลและอำนาจ (Political Development as Mobilization and Power) การยอมรับว่า ระบบการเมืองนั้นจะต้องมีความสามารถและประโยชน์ต่อสังคมนำไปสู่ความคิดที่ว่า การพัฒนาการเมืองคือความสามารถของระบบ เมื่อมีการเถียงว่า ประชาธิปไตยอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของระบบลดลง ก็มีข้อสันนิษฐานอยู่ว่า เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้ที่จะวัดความสามารถของระบบและขณะเดียวกันความคิดเรื่องประสิทธิภาพทำให้คิดว่า มีแบบแผนทางทฤษฎีหรืออุดมคติที่สามารถเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริง ความคิดอันนี้นำไปสู่ความเชื่อว่า ระบบการเมืองสามารถจะถูกวัดได้โดยใช้ระดับหรือขอบข่ายของอำนาจสูงสุดซึ่งระบบสามารถจะระดมพลและอำนาจ ระบบบางระบบนั้นซึ่งอาจจะมีเสถียรภาพหรือไม่มีก็ตามดูเหมือนว่าจะดำเนินต่อไปโดยมีอำนาจเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันผู้ตัดสินนโยบายมีอำนาจอย่างมาก ดังนั้น สังคมจึงสัมฤทธิ์ผลในความมุ่งหมายที่มีร่วมกัน รัฐย่อมต่างกันตามพื้นฐานของทรัพยากร แต่การวัดการพัฒนาทำได้โดยดูที่ขอบข่ายที่รัฐเหล่านั้นสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ การตระหนักด้วยว่า การกล่าวเบื้องต้นไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความคิดที่หยาบและมีลักษณะเป็นเผด็จการ การพัฒนา คือ ความสามารถของรัฐที่จะเอาทรัพยากรจากสังคม ความสามารถที่จะระดมทรัพยากรและการแจกแจงทรัพยากรมักจะผูกพันกับการสนับสนุนของประชาชนที่มีระบบการเมืองและด้วยเหตุอันนี้ ระบบประชาธิปไตยจึงมักจะระดมทรัพยากรได้สมฤทธิ์ผลดีกว่าระบบเผด็จการที่กดขี่ ความจริงแล้วในทางปฏิบัติ ปัญหาของการพัฒนาการเมืองในหลายสังคมอาจจะเกี่ยวพันกับการได้รับความสนับสนุนจากประชาชน อันนี้ไม่ใช่เพราะคุณค่าทางประชาธิปไตย แต่เนื่องจากว่า การสนับสนุของประชาชนจะทำให้ระบบการเมืองสามารถระดมอำนาจได้ เมื่อการพัฒนาการเมือง คือ การระดมและการเพิ่มระดับอำนาจสูงสุดในสังคมเราก็สามารถจะแยกแยะจุดประสงค์ของการพัฒนากับคุณลักษณะต่างๆ ที่ผูกพันกับการพัฒนาลักษณะเหล่านี้อาจจะวัดได้ และดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะสร้างดัชนีของการพัฒนา ซึ่งได้แก่ จำนวนและขอบเขตของสื่อมวลชนซึ่งได้แก่จำนวนหนังสือพิมพ์ การกระจายวิทยุ พื้นฐานทางภาษีของสังคม สัดส่วนประชากร ในรัฐบาลและส่วนอื่น การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาการป้องกันประเทศและสวัสดิการของสังคม 

10. การพัฒนาการเมืองเป็นแง่หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Political Development as One aspect of a Multi – Dimensional Process of Social Change) ความจำเป็นที่ต้องมีข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีเพื่อเลือกสรรดัชนีในการวัดการพัฒนานำไปสู่ความคิดที่ว่าการพัฒนาการเมืองนั้นผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับการเปลี่ยนแปงทางสังคมและเศรษฐกิจนี่เป็นความจริงเพราะอะไรก็ตามที่อธิบายถึงศักยภาพของอำนาจของประเทศมักจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคม ข้อถกเถียงนี้อาจจะกล่าวต่อไปอีกว่า เป็นสิ่งไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมที่จะแยกแยะการพัฒนาการเมืองจากการพัฒนาในด้านอื่นๆ ถึงแม้ว่าในขอบเขตที่จำกัดอาณาจักรแห่งการเมืองอาจจะอยู่โดดเดี่ยวจากส่วนของสังคม แต่ถ้าจะมีการพัฒนาการเมืองอย่างสม่ำเสมอจะต้องมีการพัฒนา ในด้านอื่นๆ ของสังคมโดยจะปล่อยส่วนอื่นของสังคมล้าหลังไม่ได้ ตามความเห็นดังนี้ การพัฒนามีการเกี่ยวพันกันทุกด้าน การพัฒนาเหมือนกันอย่างมากกับความเจริญทันสมัย (Modernization) และการพัฒนาเกิดขึ้นในกรอบทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอิทธิพลจากข้างนอกสังคมมีต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในแง่ต่างๆ ในสังคม กล่าวคือ ทางเศรษฐกิจการเมืองและสภาพสังคมอย่างผูกพันซึ่งกันและกัน 

จะเห็นได้ว่า คำจำกัดความดังกล่าวมานั้นส่วนใหญ่เป็นการมองการพัฒนาการเมือง โดยจะเน้นในแง่ที่นักวิชาการแต่ละสำนักคิดว่า เป็นตัวแปรสำคัญและบางคำจำกัดความจำเป็นจะต้องกล่าวถึงแนวความคิดดังกล่าว เช่น คำจำกัดความข้อ 1 แทบจะไม่ได้ให้คำจำกัดความเลย บอกเพียงว่าการพัฒนาการเมืองคือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจหรือบางจำกัดความก็มีอคติแฝงไว้อย่างเห็นได้ชัด เช่น คำจำกัดความข้อ 7 ที่ว่า การพัฒนาการเมืองคือการสร้างประชาธิปไตย ถ้าเช่นนี้ก็หมายความว่า สังคมอยุธยาก็ดี จีนโบราณซึ่งมีประวัติศาสตร์มาสี่พันปีก็ดี หรือสหภาพโซเวียตปัจจุบัน หรือสาธารณะประชาชนจีน ไม่มีการพัฒนาการเมือง หรือการสร้างทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในลักษณะวิทยาศาสตร์จะต้องมีความเป็นกลาง มิใช่เอนเอียงไปตามอุดมการณ์ หรือความเชื่อของตน จะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องคำจำกัดความจึงเป็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีการตกลงยอมรับก่อนที่จะมีการสร้างทฤษฎีวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เนื่องจากการมองดูปัญหาแต่ละแง่ตามที่ตนถนัดหรือเข้าใจว่าเป็นตัวแปรสำคัญ จึงมีผู้พยายามจะรวมคำจำกัดความต่างๆ และพยายามหาจุดร่วมซึ่งเป็นแก่นสำคัญของความหมายเรื่องการพัฒนาการเมือง ซึ่งอ้างว่าในแต่ละสำนักความคิดทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีลักษณะร่วมซึ่งสรุปได้สามข้อใช้ชื่อแนวความคิดพัฒนาการเมืองซึ่งประกอบด้วยตัวแปรหลายๆ ตัว หรือแง่พิจารณาหลายๆ แง่ว่า Development Syndrome ซึ่งผู้เขียนขอใช้คำว่า พหุภาพแห่งการพัฒนา ลักษณะร่วมสามข้อ คือ Equality, Capacity และ Differentiation Equality หรือความเสมอภาค คือ การที่สังคมนั้นมีการแปรเปลี่ยนจากสังคมที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาเป็นประชาชนซึ่งมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมทางการเมือง และกฎหมายในสังคมนั้นต้องมีลักษณะสากล คือ ปรับใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน การมีอำนาจและสถานะในระบบการเมืองต้องใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์มิใช่ชาติกำเนิดเป็นหลักตัดสิน Capacity หรือความสามารถของระบบการเมืองที่จะมีการผลิตที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะ นอกจากนั้น ยังต้องมีเหตุผลและการมองนโยบายลักษณะโลกธรรมและในลักษณะที่เป็นระบบแบบแผน Differentiation หรือการแยกเฉพาะด้าน กล่าวคือ การแยกแยะเฉพาะด้านของโครงสร้าง องค์การ และหน่วยงาน มีหน้าที่จำกัดและเฉพาะเจาะจง มีการแบ่งงานตามความชำนาญ 

การมองดูการพัฒนาการเมืองแบบ Development Syndrome ดังกล่าวข้างบนนั้นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการมองรูปแบบในอุดมคติ ซึ่งเป็นจุดหมายบั้นปลายอันพึงประสงค์แต่ถ้าพิจารณาในแง่การสร้างทฤษฎีจะเห็นได้ว่า คำจำกัดความข้างบนนี้มีลักษณะเอนเอียงไปทางระบบตะวันตก คำจำกัดความโดยมี Equality, Capacity และ Differentiation นั้นจะเห็นได้ชัดว่า เป็นรูปแบบของสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กล่าวง่ายๆ คือ เป็นคำจำกัดความที่เกิดจากพื้นฐานของสังคมเหล่านี้ จึงเกิดข้อสงสัยว่า แนวความคิดการพัฒนาการเมืองนี้จะใช้ได้เฉพาะประเทศดังกล่าวมา และถ้าถือเอาตามนี้ ประเทศในฝ่ายคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ไม่มีการพัฒนาการเมืองและสังคมต่างๆ ในอดีต จีนโบราณ จักรวรรดิ์โรมัน สุโขทัย อยุธยา ฯลฯ ไม่มีการพัฒนาการเมืองและไม่เคยมีกล่าวอีกนัยหนึ่ง คำจำกัดความดังกล่าว Extrapolate ในมิติของกาละเทศะไม่ได้เลย จึงเป็นคำจำกัดความในลักษณะที่ไม่ใช่อกาลีโก จึงขาดความเป็นวิทยาศาสตร์ มีนักวิชาการบางท่านเห็นว่า คำจำกัดความดังกล่าวข้างบนนั้น ไม่น่าเชื่อถือเป็นการพัฒนาการเมือง (Political Development) แต่เป็นการทำให้พ้นสมัยทางการเมืองหรือการทำให้ระบบการเมืองทันสมัย (Political Modernization) ซึ่งจะต้องมีลักษณะสามประการดังกล่าวมาแล้วส่วนการพัฒนาการเมืองนั้น คือ ความสามารถของระบบการเมืองที่จะสร้างความสนับสนุนจากมวลชนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางสังคม (The Capacity of The Political System to Generate Support to Meet Societal Demands) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การพัฒนาการเมืองนั้น คือ ความสามารถที่ระบบการเมืองทำให้คนในสังคมสนับสนุนเพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม กล่าวคือ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม จุดเน้นอยู่ที่ระบบการเมืองสามารถระดมทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมในกรณีเช่นนี้ ในบางช่วงเวลาประเทศที่มีความทันสมัยทางการเมืองสูงการมีระดับการพัฒนาทางการเมือง่ำ ในทางกลับกันประเทศที่มีความทันสมัยทางการเองต่ำการมีระดับการพัฒนาทางการเมืองสูง ตัวอย่างเช่น ในสมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกามีการพัฒนาทางการเมืองต่ำ ทั้งๆ ที่ระดับความทันสมัยทางการเมืองสูง ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาการเมืองสูง ทั้งๆ ที่การทันสมัยทางการเมืองต่ำ สหภาพโซเวียตก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน (ดูภาพประกอบ) 


  จากภาพเราพอจะเปรียบเทียบอย่างหยาบๆ ได้ว่า ถ้าพูดถึงแง่ความทันสมัยทางการเมือง สหรัฐอเมริกามีความทันสมัยสูงสุด รองลงมาคือสหภาพโซเวียต และตามมาด้วยสาธารณรัฐปยระชาชนจีน แต่ในทางการพัฒนาการเมือง คือ การที่ระบบทำให้สมาชิกประชาคมการเมืองสนับสนุนเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในอันดับสูงสุด รองลงมาได้แก่สหภาพโซเวียต และต่ำสุด คือ สหรัฐอเมริกา นี่เป็นการพูดถึงช่วงระยะเวลาระหว่างสงครามเวียตนาม ซึ่งสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการต่อต้านสงครามและปัญหาระหว่างผิว การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตกต่ำมาก นักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่แยกระหว่างคำว่า การพัฒนาการเมืองและการทำให้ทันสมัยทางการเมืองคือ Samuel Huntington การทำให้ระบบการเมืองทันสมัย (Political Modernization) นั้น ประกอบด้วยตัวแปรผันสามตัว คือ
1. ความมีเหตุผลของอำนาจ (Rationalization of Authority) ทั้งในแง่ของที่มาแห่งอำนาจและการใช้อำนาจ
2. การจำแนกแยกแยะและทำหน้าที่ตามความชำนาญเฉพาะอย่างของโครงสร้างของระบบการเมือง (Differentiation and Specialization)
3. การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)

ซึ่ง Huntington ได้กล่าวต่อว่า การทำให้ทันสมัยทางการเมืองมีจุดเน้นที่นำมาซึ่งรูปแบบระบบการเมืองทันสมัย ซึ่งเกี่ยวพันกับการเกิดขึ้นของกลุ่มทางสังคมใหม่ ซึ่งมีความสำนึกทางการเมืองและกลุ่มเหล่านี้ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ส่วนการพัฒนาการเมือง (Political Development) นั้น หมายถึง การที่จะสร้างสถาบันทางการเมืองที่มีลักษณะยืดหยุ่น (Adaptability) ซับซ้อน (Complexity) และเป็นอิสระพอสมควร (Automeny) และมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากพอ (Coherence)  ที่จะสามารถควบคุมการขยายตัวของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ตลอดจนสามารถที่จะส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ถ้าจะกล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือความทันสมัยทางการเมืองคือการตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนการพัฒนาการเมืองคือการสร้างสถาบันเพื่อจัดระเบียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งถ้าอัตราการพัฒนาการเมืองเกิดขึ้นไม่ทันอัตราความทันสมัยทางการเมือง ก็จะนำไปสู่ความผุพังทางการเมือง (Political Decay) 

แนวความคิดของ Huntington มีสาระประโยชน์อย่างมากสำหรับการวิเคราะห์การเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การเมืองไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 มีการตื่นตัวทางการเมืองมาก หรือกล่าวได้ว่ามี Political Modernization มาก แต่การพัฒนาการเมือง (Political Development) หรือสร้างสถาบันทางการเมืองที่จะจัดระเบียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเจริญไม่ทัน ผลสุดท้ายก็นำไปสู่ความผุพังทางการเมืองตามที่ทราบกันอยู่ แต่คำจำกัดความดังกล่าวก็แคบเกินไป และยังติดอยู่กับสภาวะการเมืองในยุคใหม่ คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งทำให้ปรับใช้ไม่ได้กับยุคสมัยที่คนไม่ส่วนร่วมทางการเมือง
สำหรับ Huntington เองนั้น ต่อมาก็ได้เปลี่ยนแนวความคิดในเรื่องการพัฒนาการเมือง โดยเขียนบทวิจารณ์ตัวเอง และออกมาด้วยความคิดแนวใหม่ในแง่ “The Change to Change” โดยมองดูการปรับเปลี่ยนของระบบการเมืองที่จะรับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ในแง่นี้จะเห็นว่าเป็นการทางที่การเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองโดยเลี่ยงศัพท์คำว่า การพัฒนาการเมือง 

สำหรับแนวความคิดนี้ อาจจะเหมาะกับการมองดูการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือ ความสามารถในการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความหมายกว้าง เพราะรวมทั้งในแง่โครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรม และค่านิยม ทัศนคติต่างๆ ในแง่หนึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงข้อถกเถียงและจุดอ่อนต่างๆ ของทฤษฎีพัฒนาการเมืองความพยายามของนักวิชาการในโลกกำลังพัฒนาที่จะประยุกต์ทฤษฎีพัฒนาการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนักวิชาการประเทศตะวันตก โดยเฉพาะนักวิชาการอเมริกัน มักจะประสบปัญหาในแง่ที่ว่าปรับได้ลำบาก เพราะทฤษฎีหรือแนวความคิดดังกล่าว สร้างมาจากประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของประเทศตะวันตก เช่น Development Syndrome หรือพหุภาพแห่งการพัฒนาของ Pye แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงโดยพยายามทำให้เป็นทฤษฎีสากลที่ใช้ได้ทุกกาละเทศะ เช่น ของ Huntington เรื่อง Political Modernization (ความตื่นตัวทางการเมือง) และ Political Development (การจัดตั้งสถาบันรองรับการมีส่วนร่วม) มิฉะนั้นจะเกิด Decay ก็ไม่สามารถปรับเข้ากับยุคที่คนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองจึงได้มีการคิดแนวทฤษฎีใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะกล่าวโดยสังเขปข้างล่างนี้ 

แนวความคิดการพัฒนาการเมืองที่ใช้ได้กับระบบการเมืองทุกระบบทุกยุคทุกสมัยนี้จะพิจารณาเฉพาะด้านการเมือง โดยดูที่สถาบันและกระบวนการทางการเมืองและอำนาจทางการเมือง แนวความคิดอันนี้จะมีลักษณะเป็นกลางโดยไม่มีอคติทางอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย แผนพัฒนาการเมืองจะประกอบด้วยตัวแปรสามตัว คือ
1. ความสามารถในการที่ทำให้ระบบการเมืองยอมรับโดยสมาชิกของประชาคมการเมือง (The Capacity to Make The Political System Acceptable by Members of The Political Community)
2. การรับช่วงอำนาจทางการเมืองอย่างสันติ (Peaceful Transfer of Power)
3. ความต่อเนื่องของระบบการเมือง (Continuity of The Political System) ตัวแปรข้อหนึ่งที่ว่า ความสามารถในการที่ทำให้ระบบการเมืองยอมรับโดยสมาชิกของประชาคมการเมืองนั้น หมายความว่า ถ้าระบบการเมืองนั้นสามารถใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อหรือแสดงความสามารถในการแก้ปัญหาสังคม ทำให้เกิดความยอมรับหรือความชอบธรรมขึ้นโดยไม่ใช้กำลัง ทั้ง ๆ ที่ระบบนั้นอาจเป็นระบบที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยุติธรรม แต่ถ้าสมาชิกสังคมยอมรับสภาพดังกล่าวโดยดุษฎี เช่น ยอมรับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าสมาชิกอื่นและยังให้ความสนับสนุนระบบการเมืองนั้นอย่างเต็มใจ ก็ถือว่า ระบบการเมืองนั้นมีความสามารถที่ทำให้เป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรม การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่าเป็นการสนับสนุนระบบที่ขาดความยุติธรรมทางสังคม แต่เป็นการมองจากความเป็นจริงว่า มีสังคมจำนวนมากที่คนมีความแตกต่างและไม่เสมอภาคกัน แต่ก็ยังยอมรับระบบการเมือง ตัวอย่างดังกล่าวมีมากมายไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง 

ตัวแปรตัวที่สองซึ่งได้แก่ การรับช่วงอำนาจทางการเมืองอย่างสันติ หมายถึงการเปลี่ยนตัวผู้นำต้องไม่เกิดจากการใช้อำนาจอาวุธหรืออำนาจทหาร หรือวิธีการอันรุนแรง ช่วงชิงอำนาจนั้น จะเป็นด้วยการสร้างประเพณีการสืบต่อ หรือการเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน หรือการต่อรองในพรรคว่าใครควรจะสืบต่อ หรือผ่านการทดลองความสามารถเพื่อเป็นผู้นำโดยไปต่อสู้กับชีวิตคนเดียวบนเกาะที่มีภยันตรายต่างๆ ถ้ารอดชีวิตก็จะได้เป็นผู้นำซึ่งเป็นวิธีปฏิวัติของคนบางเผ่าในสมัยโบราณ ข้อสำคัญคือต้องไม่ใช้กำลังช่วงเชิง รัฐประหารยึดอำนาจ อะไรทำนองนี้ แต่เป็นปลายวิธีกันสันติ
ตัวแปรข้อที่สาม คือ ความต่อเนื่องของระบบการเมือง หมายความว่า ระบบการเมืองนั้นต้องมีความต่อเนื่องพอสมควร ที่เห็นได้ชัดว่าระบบมีความต่อเนื่องก็คือระบบประชาธิปไตยอังกฤษ (ประมาณเจ็ดร้อยกว่าปี) อเมริกา (สองร้อยกว่าปี) สหภาพโซเวียต (60 ปี) แต่ปัญหาคือ เราจะเอาหลักเกณฑ์อะไรวัดความต่อเนื่อง ก็คงต้องอาศัยหลักเกณฑ์สองประการ คือ ถ้าระบบนั้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองชั่วอายุคนและมีการสืบช่วงอำนาจให้เห็นด้วย เช่นระบบการปกครองของสุโขทัย แม้จะแตกสลายก็ถือได้ว่ามีความต่อเนื่องแต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งขึ้นมาเป็นเพียงตัวอย่างระดับการให้คำจำกัดความเป็นระดับ Onceptualization ส่วนการพิสูจน์การต่อเนื่องจริงๆ เป็นระดับ Operationalization ซึ่งย่อมมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไปแล้วแต่จะตั้งขึ้นและย่อมขึ้นอยู่กับการถกเถียงต่อไป 

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น พอจะเห็นได้ว่า สามารถปรับวิเคราะห์ระบบการเมืองได้ทุกระบบ ทุกกาลสมัยว่ามีการพัฒนาการเมืองหรือไม่ ระบบการเมืองสุโขทัยถือว่ามีการพัฒนาการเมืองเพราะระบบเป็นที่ยอมรับผู้นำรับช่วงอำนาจโดยมีสันติมีความต่อเนื่อง แต่ระบบการปกรองสมัยอยุธยากลับมีระดับการพัฒนาการเมืองต่ำกว่าระบบการปกครองสมัยสุโขทัยในแง่การรับช่วงอำนาจโดยสันติ การช่วงชิงอำนาจโดยใช้กำลังนั้นมีอยู่บ่อยครั้งในสมัยอยุธยา
ถ้าพิจารณาระหว่างสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเห็นว่าสหภาพโซเวียตมีระดับการพัฒนาสูงกว่า เนื่องจากการรับช่วงอำนาจเป็นไปโดยสันติกว่า ตอนครุซซอฟตกจากอำนาจก็กระทำกันภายในกลไกของพรรค แต่ในกรณีสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องมีการจับ แก๊งทั้งสี่แต่ก็จัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสงบ ขอให้สังเกตว่าในกรณีสองประเทศนี้มีความแตกต่างกันในระดับ (Degree) ของการพัฒนาการเมือง แต่ไม่ถึงกับว่าประเทศหนึ่งมีการพัฒนาการเมือง แต่อีกประเทศหนึ่งไม่มี ในกรณีสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจมีการเถียงได้ว่าความต่อเนื่องยังมีระยะเวลาสั้นมาก ประมาณ 30 ปี แต่เราพอจะอนุมานได้ว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือในเนื้อหาใหญ่ของระบบการเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนคงไม่เกิดขึ้น และระบบปัจจุบันควรดำเนินต่อไป 

ถ้าใช้เกณฑ์อันเดียวกันนี้มาพิจารณาประเทศไทยก็ต้องสรุปได้ว่า ยังไม่มีการพัฒนาการเมืองเพราะระบบการเมืองแบบทหารอาจมีการยอมรับโดยสมาชิกประชาคมส่วนหนึ่งแต่ก็ยังขาดความแน่นอนเรื่องและข้อสำคัญการสืบช่วงอำนาจนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสันติ
คำถามที่ตามมาคือ ระบบการเมืองไทยสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจมาจนถึงการรับช่วงอำนาจต่อโดย จอมพลถนอม กิตติขจร และหลังมีการเลือกตั้งและจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อนั้น จะถือว่ามีการพัฒนาการเมืองหรือไม่ คำตอบก็คือความต่อเนื่องสั้นเกินไปไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน จอมพลถนอมก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจอีกทั้งๆ ที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ โดยการสนับสนุนพรรคสหประชาไทย ดังนั้นกล่าวได้ว่า ไม่มีการพัฒนาการเมือง

เอกสารอ้างอิง

ลิขิต  ธีรเวคิน. (2527). ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น