หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการแผ่กระจาย (Diffusion Theory)



ทฤษฎีการแผ่กระจาย (Diffusion Theory)

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

แนวความคิดการแผ่กระจายนี้ โฮสท์ บุชเชอร์ (Horst Buscher) ได้อธิบายไว้โดยกำหนดเป็นข้อสันนิษฐานว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปได้โดยการถ่ายเทปัจจัยการผลิตที่หายาก เช่น ทุนการริเริ่มเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคใหม่ และความรู้ในการทำงาน (Know-How) เป็นต้น จากประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนาและความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในภาคทันสมัยจะแผ่กระจายไปทั่วประเทศ กล่าวคือ มีสินค้าอุปโภคบริโภค เทคนิค และแนวนิยมทางพฤติกรรมและสถาบันอย่างทั่วถึง
โรนัลด์ เอช ชิลโคท (Ronald H. Chilcote) กล่าวว่า การบรรลุผลสำเร็จของลัทธิทุนนิยมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นผลของทฤษฎีการแผ่กระจายความพัฒนาทั้งสิ้น

แฮรี จี จอห์นสัน (Harry G. Johnson) ได้กล่าวเกี่ยวกับทฤษฎีการแผ่กระจายการพัฒนาไว้ว่า กระบวนการพัฒนาการอุตสาหกรรมมีลักษณะสำคัญประการแรก คือ เมื่อมีการอุตสาหกรรมเกิดขึ้น
ณ ประเทศใดหรือพื้นที่แห่งไหนย่อมมีแนวโน้มที่จะทำให้การอุตสาหกรรมมีมากยิ่งขึ้น มีรายได้สูงขึ้น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการแบ่งงานกันทำ และมีระบบเศรษฐกิจที่แสวงประโยชน์อันนำไปสู่การดึงเงินทุนและแรงงานเข้าไปยังตลาด ทำให้เกิดปัจจัยการผลิตและวงจรความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นลักษณะสำคัญของระบบการอุตสาหกรรมและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ระหว่างพื้นที่ๆ พัฒนาหรือเรียกว่า ศูนย์กลาง (
Center) กับพื้นที่ห่างไกลออกไปหรือเรียกว่า พื้นที่ขอบนอก (Periphery) สำคัญกว่าความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว ก็คือ วงจรของความเป็นเหตุเป็นผล (Cumulative Circle of Causation) ที่เสริมสร้างแรงดันทางเศรษฐกิจหลายๆ ประการ และทำให้กระบวนการพัฒนาแผ่กระจายไปสู่พื้นที่ขอบนอก โดยระบบเศรษฐกิจของศูนย์กลางต้องการทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรที่หายาก อาหาร และราคาของสิ่งต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงต้องแสวงหาของราคาถูกกว่าในพื้นที่ขอบนอก นอกจากนี้ยังมีความต้องการทุนและแรงงานที่มีลักษณะเพื่อจะทำให้พื้นที่ขอบนอกเป็นแหล่งผลิตต่อไป คนที่อยู่ในพื้นที่ขอบนอกจึงคุ้นเคยกับความรู้เฉพาะด้าน การแบ่งงานกันทำ มีรายได้สูงขึ้น มีการสั่งสินค้ามากขึ้น และการมีรายได้สูงขึ้นทำให้สามารถผลิตสินค้าได้และส่งออกขายกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ขอบนอกด้วยกันและส่งขายให้ประเทศศูนย์กลางด้วย

กลไกอีกอย่างหนึ่งของการแผ่กระจายการพัฒนา ได้แก่ การเคลื่อนไหวของแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคนิคทั่วๆ ไป เพื่อเพิ่มค่าจ้างแรงงานความก้าวหน้าทางเทคนิคในประเทศศูนย์กลางจะค่อยๆ เพิ่มค่าจ้างที่นั่นเมื่อเทียบกับประเทศขอบนอกปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้มีการผลิตเกิดขึ้นในประเทศขอบนอกโดยใช้ทุนและเทคโนโลยีจากประเทศศูนย์กลางและใช้แรงงานราคาต่ำกว่าในประเทศขอบนอก การผลิตก็มักจะทำเพื่อขายในประเทศขอบนอกเองซึ่งก่อนหน้านั้นซื้อจากประเทศศูนย์กลาง และต่อมาถ้าค่าขนส่งไม่แพงเกินไปอาจส่งสินค้านั้นไปขายในประเทศศูนย์กลางด้วยกลไกสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ ค่าจ้างแรงงานและการฝึกอบรมแรงงาน ส่วนประเทศศูนย์กลางจะมุ่งผลิตสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ใช้ความรู้เฉพาะด้านและคนที่มีความรู้สูง

การใช้กลไกทั้งสองประการเพื่อถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาให้กับพื้นที่ขอบนอกโดยศูนย์กลางนั้นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมในพื้นที่ขอบนอกที่เอื้ออำนวยด้วย เช่น
1. นโยบายของรัฐบาลจะเป็นตัวสำคัญต่อการแผ่กระจายการพัฒนาดังกล่าว กลไกประการแรกจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ
2. รายได้จากการส่งออกและอาจล้มเหลว ถ้ามี
3. ประชากรเพิ่มมากเกินไปจนทำให้รายได้ต่อหัวต่ำมาก
4. ในกรณีของการทำอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยี (Capital Intensive) เช่น การทำเหมืองแร่ การจ้างแรงงานและรายได้ในท้องถิ่นอาจน้อยเกินไปที่จะเป็นตลาดที่พอเพียงสำหรับการพัฒนาต่อไปได้ ยิ่งกว่านั้น
5. องค์การทางสังคมดั้งเดิมอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงด้วย

ในทำนองเดียวกัน กลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมประการที่สองนั้น ถ้าการศึกษาและการฝึกอบรมมุ่งทำให้ปัญญาชนมีลักษณะสอดคล้องกับการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของพื้นที่ขอบนอกหรือเพื่อตอบสนองอาชีพทางการเมืองและการบริหารเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงการอุตสาหกรรมแล้ว ปัญหาก็จะมีอยู่เช่นเดียวกัน เพราะลักษณะต่างๆ ของสังคมแบบดั้งเดิมนั้นมิได้ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม จอห์นสัน กล่าวเชิงสรุปว่า ประเทศด้อยพัฒนาควรเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างทางอุตสาหกรรมให้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และมุ่งไปสู่การเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งการส่งออกตามความต้องการของประเทศพัฒนาแล้วด้วย หรือกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับทฤษฎีการแผ่กระจายความเจริญ ก็คือ กระบวนการถ่ายเทปัจจัยหายากของการผลิต เช่น ทุน เทคนิคใหม่ๆ และความรู้ เป็นต้น 

จากประเทศอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศูนย์กลางจะ
แผ่กระจายไปยังพื้นที่ขอบนอกในเรื่องสินค้า เทคนิค พฤติกรรม และสถาบันต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ชิลโคท ได้จำแนกทฤษฎีการแผ่กระจายไว้ 3 แบบด้วยกัน คือ
1. ทฤษฎีการพัฒนาทางด้านการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าทั้งหลาย เช่น ทฤษฎีประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Modern Democracies) จากผลงานของ เจมส์ ไบรซ์ (James Bryce) ในปี ค.ศ. 1921 และระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญของ คาร์ล เจ ฟริดริซ (Carl J. Friedrich) ในปี ค.ศ. 1937 ผลงานดังกล่าวนี้เน้นถึงคุณค่าและการปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเลือกตั้ง มีระบบพรรคการเมือง พลายพรรค และมีการแข่งขันทางการเมือง)

ต่อมา เซมัว มาร์ติน ลิปเซท (Seymour Martin Lipset) ได้รวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญเข้าด้วยกันเมื่อปี ค.ศ. 1959 เป็นข้อกำหนดของประชาธิปไตยตามแนวทางแห่งความชอบธรรมทางการเมืองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 1966 ลูเซียน พาย (Lucian Pye) ได้รวมเอาสาระสำคัญเหล่านี้ไว้ด้วยกันในเรื่องจุดรวมของการเมืองแบบประชาธิปไตย (Focus on Political Democracy) ภายหลังต่อมา พัฒนาการทางการเมืองในประเทศตะวันตกได้เพิ่มความสนใจให้กับการแบ่งงานตามความรู้เฉพาะด้าน ความเสมอภาค และความสามารถของระบบการเมือง ทั้งยังผ่านวิกฤตการณ์ทางเอกลักษณ์ ความชอบธรรม การมีส่วนร่วม การเข้าไปได้อย่างทั่วถึง (Penetration) ของบริการและอำนาจรัฐและการกระจายอำนาจทางการเมือง

2. ทฤษฎีการแผ่กระจายที่เกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมซึ่งเป็นแนวความคิดทางยุโรปที่ให้ความสนใจกับสัญลักษณ์ของชาติ เช่น เพลงชาติ ธงชาติ ความเป็นปึกแผ่นทางสถาบัน อธิปไตยของชาติ ข้อความที่เกี่ยวกับความจงรักภักดีและความรู้สึกร่วมกันของคนในชาติหรือเจตจำนงที่มีอยู่ในสำนึกของคนทั้งชาติ เป็นต้น ลัทธิชาตินิยมทำให้เกิดพลังทางอุดมการณ์และแรงจูงใจเพื่อการพัฒนา โดยปกติแล้วลัทธิชาตินิยมจะเน้นไปสู่การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยม เช่น ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เยอรมันนี และอิตาลี ระหว่างเวลาในศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อไม่นานมานี้ในประเทศใหม่ๆ ในทวีปอาฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา

3. ทฤษฎีการแผ่กระจายอีกแบหนึ่งมีลักษณะเป็นเส้นตรงไปสู่สภาวะทันสมัย โดยมีความเชื่อว่าประเทศในโลกด้านตะวันตกจะแผ่กระจายค่านิยม เงินลงทุน และเทคโนโลยีไปสู่ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลายให้มีอารยธรรมมากขึ้นตามแนวทางประเทศพัฒนาแล้วทางตะวันตก การพัฒนาตามแนวทางนี้มีกระบวนการขั้นตอนซึงกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
การพัฒนาทางเศรษฐกิจของ วอลท์ ดับเบิลยู โรสโตว์ (Walt W. Rostow) ซึ่งถือว่ากระบวนการพัฒนามีขั้นตอนต่อเนื่องไปสู่ความสำเร็จและเป็นแบบแผนทางอุดมคติ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลพอสมควรในช่วง 1960 โดยมีขั้นตอนดังนี้

3.1 สังคมโบราณ (Traditional Society) เป็นสังคมที่มีโครงสร้างที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาอย่างมากและอาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการผลิตที่จำกัดมาก ทรัพยากรที่ใช้เพื่อการเกษตรมีอัตราส่วนสูงมาก ในโครงสร้างทางสังคม มีการใช้อำนาจตามระดับของการบังคับบัญชาการเปลี่ยนแปลงฐานะของคนในสังคมโดยอาศัยคุณวุฒิและความสามารถแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ครอบครัวและเชื้อสายต้นตระกูลของคนมีบทบาทสำคัญมาก และมีการถ่ายทอดความเชื่อถือต่างๆ สืบกันไปชั่วลูกชั่วหลาน สังคมแบบนี้จึงมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมและยึดมั่นอยู่กับค่านิยมและความเชื่อเก่าๆ ที่ถ่ายทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

3.2 สมัยหลังสังคมโบราณ (Post-Traditional Society) หรือขั้นเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทาง (Pre-Conditions for Take-Off) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง (Transitional Society) ก็ได้เพราะเป็นช่วงของสังคมโบราณเปลี่ยนแปลงเพื่อแสวงประโยชน์จากความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นระยะของการเตรียมตัวของสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าสังคมใดมีลักษณะโบราณมากและมีความมั่นคงเช่นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปและประเทศเกือบทั้งหมดในทวีปเอเชีย อาฟริกา และตะวันออกกลาง เมื่อมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของสังคม ระบบการเมือง และเทคนิคการผลิต ย่อมจะเปลี่ยนแปลงได้ยากและต้องใช้เวลาอันยาวนานไม่เหมือนกัน บางประเทศที่มีลักษณะอันเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ บางประเทศ เพราะไม่สู้จะมีสิ่งที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมมากนัก ประกอบกับมีทรัพยากรและลักษณะบางประการที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง จึงสามารถเตรียมตัวนำสังคมเปลี่ยนเข้าไปสู่ขั้นที่สามได้โดยใช้เวลาไม่ยาวนานนัก

ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในขั้นของการเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางของการพัฒนาได้แก่การเปลี่ยนจากสังคมโบราณที่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 75 เป็นเกษตรกรเข้าไปสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรม มีการคมนาคมและการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าขึ้น มีการค้าขายสินค้าและจัดบริการต่างๆ การจัดการทางด้านการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม ไม่ควรจำกัดขอบเขตอยู่ในอาณาเขตแคบๆ เฉพาะท้องถิ่นหรือภูมิภาคหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ควรจะมองให้กว้างไกลขึ้นไปถึงระดับชาติและระหว่างประเทศ
ทัศนคติของการมีลูกควรเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้อัตราการเกิดของประชากรลดลง ประชากรจะได้ไม่มากเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของความเจริญก้าวหน้า เจ้าของที่ดินรายใหญ่เป็นกลุ่มชนที่มีรายได้เหลือใช้ ควรจะหาทางนำเงินส่วนนี้มาช่วยประเทศในการสร้างถนน โรงเรียน และสวัสดิการต่างๆ แทนที่จะปล่อยให้แต่ละคนมีเงินเหลือและใช้จ่ายตามความพอใจ เช่น ทัศนาจรต่างประเทศ สร้างโบสถ์ สร้างวัด สร้างบ้านพักตากอากาศชายทะเล และซื้อเครื่องประดับส่วนตัว เป็นต้น
ความรู้สึกที่ว่าค่าของคนและฐานะของคนอยู่ที่การเกิดหรือตระกูลที่ให้กำเนิดเปลี่ยนไปเป็นการให้ความสำคัญกับคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ หรือความรู้ความชำนาญในการทำงานเฉพาะด้าน และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความเชื่อที่ว่าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติและโดยพระผู้เป็นเจ้า ควรจะเปลี่ยนไปสู่ความมีเหตุมีผล เพื่อให้คนมีความคิด มีเหตุผลและสามารถทำการผลิตได้มากขึ้น และก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า

3.3 ขั้นที่สามของการพัฒนาคือการออกเดินทาง (Take-Off) เป็นช่วงของการเอาชนะการต่อต้านขัดขวางและอุปสรรคต่างๆ ของสังคมโบราณได้แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นปัญหาของความเจริญเติบโต ในขณะเดียวกัน พลังต่างๆ ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้แผ่ขยายไปอย่างทั่วถึงในสังคมและสามารถทำให้มีความเจริญเติบโตได้อย่างปกติต่อไป ในช่วงของขั้นการออกเดินทางนี้ อัตราการลงทุนและการออมทรัพย์อาจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5-10 ของรายได้แห่งชาติหรือมากกว่าก็ได้ มีการลงทุนทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว ผลประโยชน์ที่ได้จากการผลิตส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการขยายการลงทุนต่อไปอีก การอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยให้คนมีงานทำ ในขณะเดียวกันจะมีความต้องการบริการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการอุตสาหกรรมเหล่านี้ อันส่งผลทำให้คนมีรายได้สูงขึ้น มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น มีผู้ลงทุนในภาคเอกชนมีการปรับปรุงวิธีการผลิตให้ทันสมัย และมีการใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น

3.4 ขั้นขับเคลื่อนไปสู่ความโตเต็มที่ (Drive to Maturity) เมื่อผ่านขั้นออกเดินทางมาแล้วประมาณ 40 ปี จะเป็นช่วงของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง มีการใช้ทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของรายได้ประชาชาติเพื่อการลงทุน ที่สำคัญคือ สามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างมาก มีการเร่งการลงทุนทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้รวดเร็วขึ้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผลิตให้ก้าวหน้า มีความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ สามารถผลิตสินค้าที่เคยสั่งซื้อจากต่างประเทศมาก่อนได้เองภายในประเทศและมีสินค้าส่งออกใหม่ๆ ให้สอดคล้องกัน การปรับปรุงค่านิยมหรือสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีลักษณะที่สนับสนุนส่งเสริมความเจริญเติบโตหรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อความเจริญดังกล่าว กระบวนการทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอาจมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากสมัยของการอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และอุตสาหกรรมหนักทางด้านรถไฟ ไปสู่สมัยของเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องเคมี และเครื่องไฟฟ้า เหมือนอย่างประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันนีเมื่อปลายศตวรรษที่ 19

3.5 ขั้นของการบริโภคขนาดใหญ่ (The Age of High Mass-Consumption) ในขั้นนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่ทำให้เกิดความเจริญเติบโตเข้าไปสู่การผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคและการบริการต่างๆ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงจากอุปทานหรือการผลิตไปสู่อุปสงค์หรือความต้องการ และจากปัญหาของการผลิตไปสู่ปัญหาของการบริโภคและสวัสดิการว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้มีอาหารและบริการที่อำนวยความสะดวกสบายและความพอใจให้กับประชาชนได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสุขโดยทั่วกัน ในขณะเดียวกัน ก็คงยังมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีการเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมอยู่ต่อไป พร้อมกับการสร้างความมั่นคงของอิทธิพลออกไปนอกอาณาเขต มีการใช้ทรัพยากรไปในทางทหารและนโยบายต่างประเทศมากขึ้น อันเป็นการสร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่เชื่อถือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น