หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

กระแสโลกาภิวัตน์กับการเมืองไทย



กระแสโลกาภิวัตน์กับการเมืองไทย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้แนวความคิดว่าด้วยรัฐประชาชาติสิ้นความหมาย ทั้งนี้เนื่องจาก บทบาทและอิทธิพลขององค์กรเหนือรัฐที่เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมของประเทศต่างๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนา ซึ่งก่อเกิดบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม มีส่วนพังทลายกำแพงกีดขวางการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ รวมตลอดจนปัจจัยการผลิตทั้งทุนและแรงงานระหว่างประเทศ ในขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเกื้อกูลให้ตลาดสินค้าและตลาดปัจจัยการผลิตมีความสมบูรณ์มากขึ้น อันเป็นผลจากความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร แนวความคิดว่าด้วยรัฐประชาชาติจึงสิ้นความหมาย ในขณะที่การกำหนดพรมแดนเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐประชาชาติ แต่บัดนี้ประชาชาติกลายเป็นรัฐที่ไร้พรมแดน (สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2538)


รัฐไทยก็ดุจดังนานาประเทศที่กลายเป็นรัฐที่ไร้พรมแดนและกำลังพัฒนาไปเป็นรัฐภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจด้วยสูตรผสมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นฐานสำหรับการวิ่งแข่งในลู่วิ่งทุนนิยมต่อไป กระแสโลกาภิวัตน์จะสร้างแรงกดดันให้ระบอบการเมืองการปกครองของไทยเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก ในอนาคต ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนาซึ่งเสริมฐานความมั่นคงแก่กลุ่มทุน จะทำให้กลุ่มทุนเข้าไปยึดพื้นที่ในโครงสร้างชนชั้นนำทางอำนาจเพิ่มขึ้น กลุ่มทุนไม่เพียงแต่จะมีตัวแทนในคณะรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากยังสามารถขยายฐานในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกด้วย ประการแรก กลุ่มทุนสามารถครอบงำพรรคการเมืองได้มากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ กลุ่มทุนมีบทบาทและอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบายชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง แม้ว่าระบอบการเมืองการปกครองจะมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและชนชั้นปกครองแข็งขืนต่อการกระจายอำนาจ แต่กระแสโลกาภิวัตน์จะกดดันให้การกระจายเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรัฐชายขอบเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมและการรับรู้ของรัฐบาลส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาและความขัดแย้งจะสั่งสมจนสุดวิสัยที่รัฐบาลส่วนกลางจะแก้ไขเยียวยาได้

ระบบอุปถัมถ์ทางการเมืองการปกครองก็แปรเปลี่ยนไปด้วย เนื่องเพราะเงินเข้ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในตลาดการเมืองมากขึ้น ตลาดการเมืองซึ่งแต่เดิมเป็นตลาดแลกเปลี่ยนการอุปถัมภ์กับความภักดีทางการเมืองจะแปรสภาพเป็นตลาดซื้อขายความชอบธรรม ทั้งนี้ไม่เพียงแต่จะมีการซื้อขายเสียงเท่านั้น หากยังมีการซื้อขายตำแหน่งอื่นๆ ดังเช่น ตำแหน่งวุฒิสมาชิกและตำแหน่งราชการอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

สังศิต  พิริยะรังสรรค์; และผาสุก  พงษ์ไพจิตร. (2538). โลกาภิวัตน์กับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น