หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดและทฤษฎีระบบ



แนวคิดและทฤษฎีระบบ

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ระบบ หรือ System ว่าเป็นของสิ่งหนึ่งหรือการกระทำหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันและมีปฏิสัมพันธ์กัน มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของระบบ คือ ระบบสังคมในทัศนะของ Talcott  Parsons ซึ่ง Malcolm Waters (1994) สรุปว่าระบบ คือ ชุดขององค์ประกอบจำนวนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้  1)  องค์ประกอบทั้งหมดล้วนขึ้นต่อกันและกัน (Interdependent) ในลักษณะที่ว่าเมื่อมีการผันแปรขึ้นในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งก็จะส่งผลกระทบ (Consequence) ไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย 2)  องค์ประกอบทั้งหลายมันมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะรักษาไว้ซึ่งสภาวะดุลยภาพ ซึ่งในตัวของมันเองก็มีลักษณะพลวัต (Dynamic Equilibrium)  และ Waters (1994) กล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบ (A – G – I – L) คือ 1) Adaptation คือ  ความสามารถที่ระบบจะระดมทรัพยากรจากสภาพแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดการคงอยู่ของระบบ (System Survival) ความสามารถดังกล่าวนี้ถึงเป็นเครื่องมือ (Instrumental) ที่ระบบใช้ระดมทรัพยากรจากภายนอกระบบ (External) เพราะฉะนั้นจึงเขียนรวมๆ ในส่วนนี้ว่า Adaptation (Instrumental/External) 2) Goal-Attainment คือ  ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของระบบ ถ้ามีเป้าหมายหลายอย่างระบบจะต้องกำหนดระดับความสำคัญของเป้าหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับทิศทางของสภาพแวดล้อม และเหมาะสมกับทรัพยากรที่ได้จาก Adaptation ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายนี้ถึงเป็นเครื่องมือ (instrumental) ที่ระบบใช้จัดการกับปัญหาภายในของระบบเอง (Internal) ดังนั้นจึงเขียนรวมในส่วนนี้ว่า Goal-Attainment (Instrumental/Internal) 3) Integration คือ  ความสามารถของระบบในการบูรณาการระบบย่อยหรือองค์ประกอบต่างๆ ของระบบให้สมัครสมาน กลมเกลียว และปราศจากความขัดแย้งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4) Latent Pattern-Maintenance and Tension-Management  คือ  ความสามารถของระบบในการผดุงรักษาอุดมคติของระบบ ซึ่งมักจะแฝงเร้นอยู่ในจิตใจหรือความทรงจำร่วมกันของสมาชิกในระบบ เช่นเดียวกับ  Waters  (1994)  สรุปว่า “Societal Community” ซึ่งโดยสาระสำคัญ คือ  การสร้างบรรทัดฐานที่เกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulative Norms) ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ได้แก่ A คือ การระดมทรัพยากรจากสภาพแวดล้อมของประเทศโดยสถาบันที่ว่าด้วยสำนึกของความเป็นพลเมือง (Citizenship) และสิทธิพลเมือง (Civil Rights)  G คือ การกำหนดฐานะของบุคคล ด้วยระบบการแบ่งสรรทรัพยากร เช่น ระบบกรรมสิทธิ์ I คือ การบูรณาการบุคคลในสังคมเข้าด้วยกันโดยผ่านสัญญา (Contract) ตลาด (Market) และเงินตรา (Money) L คือ ความไว้วางใจร่วมกันโดยผ่านการบังคับใช้ (Implementation) ของกฎหมาย (Legal Institutions) และกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอหน้า
  
นอกจากนี้ ระบบการเมือง การจัดองค์กรแบบ Bureaucracy ในความเห็นของ Max Weber  คือ 
การใช้อำนาจปกครองประเทศตามหลักเหตุผล
กฎหมาย (Rational - Legal Authority) ซึ่งทำให้องค์กรมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) กิจกรรมทุกประการจะต้องดำเนินไปตามกฎระเบียบ (Rules) ที่ตั้งขึ้น 2) กิจกรรมจะต้องแสดงถึงความสามารถเฉพาะด้านที่เจาะจงเสมอ (Specific Sphere of Competence)3) การจัดโครงสร้างขององค์กรจะต้องลดหลั่นกันจากสูงไปต่ำ (Organized Hierarchically) 4) บุคลากรจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นการเฉพาะเจาะจง 5) บุคลากรจะต้องไม่เป็นเจ้าของปัจจัยในการประกอบอาชีพ 6) บุคลากรมิใช่เจ้าของงานที่ตนเองทำ ฉะนั้นเขาจึงถูกปลดออกได้ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าขาดความเหมาะสม 7) กิจกรรมทั้งปวงจะต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐาน   เช่นเดียวกับ ทฤษฎีระบบสังคมในทัศนะของ Niklas Luhmann (1927-1998) กล่าวถึงระบบใหญ่ของสังคม (Societal System) และระบบย่อยของสังคม (Societal Subsystems)  ซึ่งระบบจึงหมายถึงเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างสิ่งที่มีความหมายกับสิ่งที่ไม่มีความหมาย (Meaning หรือที่ภาษาเยอรมนีเรียกว่า Sinn) กระบวนการก่อตัวของระบบเราเรียกว่า กระบวนการลดความสลับซับซ้อน (Reduction of Complexity) ที่มีอยู่ในโลกภายนอก โลกภายนอกที่ว่าซับซ้อนนั้นเป็นความซับซ้อนของข้อมูลหรือสารสนเทศ (Information) จำนวนไม่จำกัด ระบบการเมืองในฐานะเป็นระบบย่อยในระบบสังคม ระบบการเมืองในทัศนะของ Luhmann ปรากฏดังรูปภาพต่อไปนี้ 



ภาพ:  ระบบการเมืองในทัศนะของ Luhmann
กล่าวโดยสรุป  ระบบ คือความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบหลายองค์ประกอบนั้น ความหมายที่ติดตามมาก็คือองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กันย่อมต้องขึ้นต่อกันและกันด้วย นั่นหมายความว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์ประกอบหนึ่งๆ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยไม่มากก็น้อยเสมอ

เอกสารอ้างอิง

Weber, M. (1978). Economy and Society. London: University of California.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น