หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

สังคมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม



สังคมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่หยุดอยู่นิ่งๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ในระดับเดียวกันแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ ในสังคมปรับตัวเองไม่ทัน จนเกิดปัญหาทาง วัฒนธรรมที่ต้องมีการแก้ไขกันตลอดมา ทั้งนี้ก็ เพราะแต่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่มีการทำนา และการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก การผลิตแต่ เดิมก็เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน ไม่ได้ผลิตอย่าง ใหญ่โตเพื่อส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี แต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็น สังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ การผลิตผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งแต่เดิมผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ แบบดั้งเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาช่วย มีการลงทุนและ การใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการใช้ ที่ดินก็มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์ นานาชนิดไปตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะที่ดอน และที่ตามป่าเขา ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวน และการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง การผลิตแบบที่เป็นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่มีศักยภาพทั้งใน ด้านเงินทุน กำลังคน และเทคโนโลยีจะทำได้ จึง เป็นเรื่องของบุคคลร่ำรวยที่เป็นนายทุน

สิ่งที่ควบคู่กันไปกับการเกษตรอุตสาหกรรมคือ การขยายตัวทางอุตสาหกรรม เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรต่างๆ ของประเทศมาผลิตสินค้าประเภทต่างๆ อย่างมากมาย ทำให้เกิดย่านอุตสาหกรรม และย่านพาณิชยกรรมขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมากมาย เหล่านี้ล้วนมีผล ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คน ในท้องถิ่นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา มีทั้งการย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง เช่น ในภาคอีสานไปอยู่ ทางภาคกลาง และภาคใต้ เป็นต้น กับการย้าย จากท้องถิ่นในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือทำงานเป็นกรรมกรในเมือง ซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดังกล่าวนี้ มีผลกระทบ ทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในชนบท และในเมืองเป็นอย่างมาก ในสังคมชนบทนั้น แต่เดิมอยู่กันอย่างเรียบง่ายในกรอบของประเพณี ที่มีจารีต และขนบธรรมเนียมท้องถิ่นคอยควบคุม ให้ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวขาดหาย ไปเป็นเวลาหลายๆ เดือน ทำให้สภาพครอบครัวขาดความสมบูรณ์ เด็กไม่มีความอบอุ่น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ ก็หมดความเชื่อถือ ในความรู้ ความสามารถต่อการเป็นผู้นำของคนรุ่นก่อน เพราะตนได้เล่าเรียนความรู้ใหม่ๆ จากในเมือง มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ พร้อมกันนั้นก็รับเอาความทันสมัยหลายๆ อย่างมาจากภายนอก จึงทำให้หมดความเลื่อมใส และเชื่อถือในสิ่งที่เป็นจารีตและประเพณีของ ท้องถิ่นที่เคยมีบทบาทในการสร้างและควบคุม ความสัมพันธ์ทางสังคม ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เรื่อยๆ โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีกลุ่มชนกลุ่ม ใหม่เข้าไปขยายที่ทำกินและตั้งถิ่นฐาน จนทำให้ เกิดลักษณะบ้านแบบใหม่ๆ เช่น บ้านจัดสรร ขึ้น นั้น เกือบจะทำให้ความเป็นสังคมท้องถิ่นแต่ เดิมล่มสลายลงไปก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะคนใน ท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน ความเรียบง่าย และการอยู่ร่วมกัน ที่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นก็หมดไป สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เป็นสังคมที่ซับซ้อนแบบมีชนชั้น และความรู้สึกในเรื่องการเป็นปัจเจกบุคคล ก็มีปรากฏทั่วไปในชนบท
ส่วนในสังคมเมืองนั้น ภาวะความแออัดเพิ่มขึ้น จนยากแก่การควบคุม ความเป็นสังคมเปิด ที่ทำให้ติดต่อกับภายนอกได้อย่างสะดวกสบายนั้น เป็นผลให้คนได้แต่รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้ามา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมหรือไม่ กับบ้านเมืองของตน เข้ากันได้กับสิ่ง ที่มีมาแต่เดิมเพียงใด เมื่อไม่มีการกลั่นกรอง ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะ การปกครองแบบประชาธิปไตยที่หยุดนิ่งอย่าง เป็นอุดมคติก็ดี นโยบายทางเศรษฐกิจทุนนิยม แบบเสรีที่เป็นการส่งออกของรัฐบาลก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ชักจูงคนในสังคมรุ่นใหม่ให้หันไปเห็นความสำคัญทางวัตถุ และความเป็นปัจเจกบุคคล ตลอดเวลา ทำให้สังคมมีความซับซ้อนทาง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุม เกิดกลุ่มอาชีพกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย จนเป็นชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมากมาย โดย เฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน จน กล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ เท่านั้นที่มีอิทธิพลในเรื่องการเมืองการปกครอง ของประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ดี หรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่า ก็ดี มีผลนำไปสู่การละเมิดกฎหมายอยู่เนืองๆ
การเน้นในเรื่องอุตสาหกรรม ทำให้เมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของพวกชาวนาในชนบท ที่เข้ามาเป็นกรรมกรตามโรงงานอุตสาหกรรม กรรมกรทำงานก่อสร้าง ตลอดจนคนงานลูกจ้างด้านบริการต่างๆ นั้น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมาย อย่างเช่น ปัญหาชุมชนแออัด แหล่งเสื่อมโทรม ปัญหา เรื่องการลักขโมย ปล้นจี้ ซึ่งรวมไปถึงปัญหา ทางโสเภณีและการว่างงานด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ นำมาสู่ปัญหาของความไม่มั่นคงภายใน ที่เป็นส่วนรวม ถ้ามองให้กว้างกว่าเมือง ออกไปถึงบริเวณชานเมืองรอบนอก ที่แต่เดิมเป็นชนบท ก็จะพบว่าหลายๆ แห่งทีเดียวที่เปลี่ยนแปลงจาก สังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกร เพราะผู้ที่ เป็นชาวนาแต่ก่อนเคยมีที่ดินทำการเพาะปลูก ด้วยตนเองนั้น มีเป็นจำนวนมาก ที่ขายที่ดินให้กับนายทุน เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ก็เพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ ในลักษณะที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม จึงต้องเปลี่ยนสภาพและ ฐานะตนเองเป็นกรรมกรรับจ้าง ทำงานให้กับ กิจการทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น นับเป็นการ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูป- แบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการปรับตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้ไม่ใช่ ของง่าย ผู้ที่ประสบความล้มเหลวอาจกลาย เป็นคนยากจนที่มีความเสื่อมทางด้านจิตใจและ ศีลธรรม ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการได้
เมื่อสรุปเป็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมในสังคมไทยโดยทั่วไปในขณะนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงจากสังคม ชาวนามาเป็นสังคมกรรมกรก็ดี เป็นไปในลักษณะ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวไม่ทัน เพราะ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีค่านิยมทาง วัฒนธรรมที่เน้นการทำตัวเองให้กลมกลืนกับ จักรวาล และการสร้างดุลยภาพระหว่างความ ต้องการทางวัตถุกับทางจิตใจ ที่มีผลทำให้ผู้คน ต้องพึ่งพากันเอง และร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากร และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ มาเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่มีแต่ความต้องการทางวัตถุและ การเป็นปัจเจกบุคคล แล้วสร้างค่านิยมทาง วัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมจักรวาลแทน ผล ที่เห็นในปัจจุบันก็คือ การใช้เทคโนโลยีทาง วิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจ จนเกินความจำเป็น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พอจะเหลือไว้ ให้คนในรุ่นหลังๆ ได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่นนั้น หมดสิ้นไปโดยไม่จำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น