หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์



แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

กิลฟอร์ด (Guilford, อ้างใน ประยูร รัตนทิพย์, 2548: 102) กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดแบบเอกนัย (Divergent Thinking) คือคิดหลายทาง หลายแง่มุม คิดกว้างไกล ลักษณะการคิดเช่นนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ รวมทั้งการแก้ปัญหาได้สำเร็จ การคิดแบบเอกนัยนี้ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม (Originality) ความคล่องในการคิด (Fluency) ความยืดหยุ่นในการคิด (Flexibility) และความละเอียดลออ (Elaboration)                                                                                       
กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์ (2543: 8-9) กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการทางสมองที่รวมการนำประสบการณ์เดิมของแต่ละคนมาจัดให้อยู่ในรูปใหม่ การจัดรูปใหม่ของความคิดนี้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ระดับโลกก็ได้                                   
วอลลาซ และโคแกน (Wallach and Kogan, อ้างใน กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์ 2543: 9) ให้นิยามความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงการคิดโยงความสัมพันธ์ (Association) เป็นลูกโซ่ได้คือ เมื่อเห็นสิ่งหนึ่งความคิดสามารถโยงไปหาอีกสิ่งต่อเนื่องได้ ยิ่งคิดได้มากเท่าไรยิ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการด้านการคิดสร้างสรรค์ของเขาได้มากเท่านั้น แมดนิค (Mednik, อ้างใน กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์ 2543: 9) ชี้ว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการคิดแบบโยงความสัมพันธ์  เหมือนที่วอลลาซ และโคแกน กล่าวว่า (S ßà  R) โยงสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (S) กับการตอบสนอง (R) ที่แปลกใหม่ได้มากกว่าผู้ที่คิดในทิศทางเดียว จึงเป็นผู้ค้นพบขั้นตอน คือความสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่างสิ่งต่างๆ มีความสามารถในการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ และยังเป็นผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วย   
                                                    
เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546: 45) ให้คำนิยามว่าควรประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ ประการแรกคือ สิ่งใหม่ เป็นการคิดแหวกวงล้อมความคิดเดิม ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ไม่ได้ลอกเลียนแบบใครแม้ความคิดเดิมๆ ของตนเอง ประการที่สอง คือใช้การได้ สามารถพัฒนาให้เป็นจริง และใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของการคิดได้เป็นอย่างดี ประการณ์ที่สาม คือมีความเหมาะสม เป็นการคิดที่สะท้อนความมีเหตุผลเหมาะสม มีคุณค่า ภายใต้มาตรฐานที่คนทั่วไป จากการศึกษาวิจัยพบว่า แนวคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง กว้าง ช่วยให้คิดงานที่มีคุณภาพ เพราะพื้นฐานความรู้ช่วยให้เกิดความคิดต่อยอดได้ดี
ทอร์แรนซ์ (Torrance, อ้างใน กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์ 2543: 10) ผู้นำความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เสนอแนะวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดแก่เด็กโดยที่ครูต้องยอมรับคำถาม และพฤติกรรมความคิดแปลกๆ ของนักเรียนและต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าความคิดประหลาดๆ ของเขามีคุณค่า ให้โอกาส และเชื่อมั่นในความคิด สิ่งประดิษฐ์โดยไม่ยึดติดกับกรอบการคิดเดิมๆ
นอกจากนี้ คาร์เกลล์ ได้เสนอแนวคิดสร้างสรรค์เป็นสามมิติ ดังนี้                                                           
1. มิติด้านรูปแบบการคิด (Dimension Types of Thought) ประกอบการคิดย้อนกลับ (Reflective Thought) การคิดรับรู้ (Sensory Thought) การคิดหยั่งรู้ (Intuitive Thought) การคิดเปรียบเทียบ (Metaphorical Thought) การคิดเอกนัย และอเนกนัย (Convergent And Divergent) ความคิดในมิตินี้จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องกับความคิดอีกสองมิติในส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
2. มิติด้านเจตคติทางสมอง (Dimension of Mental Attitudes) ประกอบด้วย จินตนาการ (Imagination) ความยืดหยุ่น (Flexibility) ความใจกว้าง (Tolerance) ความกล้าเสี่ยง (Risk Taking) ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)                                                                                                                                               
3. มิติด้านลำดับความคิด (Dimension of Stages) มิตินี้จะช่วยให้เกิดความคิดเป็นนามธรรม 5 ลำดับคือ                                                                                                                                                           
1. ขั้นจำแนก (Identification) เป็นขั้นการจัดจำแนกและกำหนดปัญหาจากสิ่งเร้า                                                                
2. ขั้นความคิดปรากฏ (Revelation) ขั้นความคิดใหม่ปรากฏเมื่อเกิดปัญหาพื้นๆ
3. ขั้นสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นขั้นประมวลความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากขั้นที่สองและนำมาสังเคราะห์ให้เกิดวิธีการแก้ปัญหาขึ้น                                                                                                        
4. ขั้นประเมิน (Evaluation) ความคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่สังเคราะห์ได้จากขั้นที่สามจะนำมาประเมินในขั้นนี้                                                                                                                                                
5. ขั้นพิสูจน์ทบทวน (Verification) วิธีการที่ได้จากการประเมินในขั้นที่สี่ เมื่อนำมาพิจารณาทบทวนการประเมิน                                                                                                                                
โดยการเชื่อมโยงความคิดด้านรูปธรรมและนามธรรม ผนวกกับความคิดความสามารถ ที่ผิดแปลกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ  จึงปรากฏความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็เป็นทิศทางมาจากกระบวนการคิดวิจารณ์เป็นเบื้องต้น แต่การคิดสร้างสรรค์เป็นการตัดสินใจลงมือปฏิบัติและแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดชิ้นงานหรือสื่อที่เป็นรูปภาพในสิ่งที่คิด และเป็นสิ่งที่ไม่ซ้ำซากจำเจในความคิดเดิมๆ                                    
ในการศึกษาวิจัยผู้วิจัยเลือกแนวคิดองค์ประกอบการคิดสร้างสรรค์ของ กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์ (2543: 14) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ดังนี้                         
1. ความคิดริเริ่ม (Originality) หมายถึง ความคิดแปลกใหม่ไม่ซ้ำกันกับความคิดของคนอื่นและแตกต่างจากการคิดธรรมดา ความคิดริเริ่มอาจเกิดจากการคิดของเดิมที่มีอยู่แล้วให้แปลกแตกต่างจากที่เคยเห็น หรือสามารถพลิกแพลงให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาด คิดความคิดริเริ่มมีหลายระดับ ซึ่งอาจเป็นความคิดครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครสอน แม้ความคิดนั้นจะมีผู้อื่นคิดไว้ก่อนแล้วก็ตาม 
2. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) หมายถึง ปริมาณความคิดที่ไม่ซ้ำกันในเรื่องเดียวกันแบ่งเป็น 4 ประเภท
2.1 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านถ้อยคำ (Word Fluency) เป็นความสามารถในการใช้ถ้อยคำ
2.2 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านการโยงความสัมพันธ์ (Associational Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิดหาถ้อยคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในเวลาที่กำหนด
2.3 ความคิดคล่องแคล่วทางการแสดงออก (Expressional Fluency) เป็นความสามารถในการใช้วลีหรือประโยค และนำมาเรียงกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ
2.4  ความคล่องแคล่วในการคิด (Idea Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิดในสิ่งที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด เช่น ให้คิดประโยชน์ของหนังสือพิมพ์ให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนดให้
3. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ประเภทหรือแบบของการคิดโดยแบ่งออกเป็น
3.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นได้ในทันที (Spontaneous Flexibility) เป็นความ สามารถที่พยายามคิดหลายทางอย่างอิสระ ตัวอย่างของผู้ที่มีความยืดหยุ่นนี้ อาจได้แก่ คิดถึงประโยชน์ของโทรทัศน์ว่ามีอะไรบ้าง ความคิดของผู้ที่มีความคิดยืดหยุ่นสามารถจัดกลุ่มได้หลายทิศทางหรือหลายด้าน เช่น เพื่อรู้ข่าวสาร เพื่อโฆษณาสินค้า เพื่อธุรกิจ เพื่อการพักผ่อน ฯลฯ ในขณะที่คนซึ่งไม่มีความคิดยืดหยุ่นจะคิดได้เพียงทิศทางเดียว คือ การพักผ่อน
3.2 ความคิดยืดหยุ่นทางการดัดแปลง (Adaptation Flexibility) หมายถึงความสามารถในการดัดแปลงความรู้ หรือประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์หลายๆ ด้านซึ่งมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา ผู้ที่มีความคิดยืดหยุ่นจะคิดดัดแปลงได้ไม่ซ้ำกัน
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) หมายถึงความคิดในรายละเอียดเป็นขั้นตอนสามารถอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน หรือเป็นแผนงานที่สมบูรณ์ขึ้น ความคิดละเอียดลออจัดเป็นรายละเอียดที่นำมาตกแต่ง ขยายความคิดครั้งแรกให้สมบูรณ์
 
เอกสารอ้างอิง

กานดา ทิววัฒน์ปกรณ์.  (2543). การปกครองส่วนท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: เดือนตุลาคม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น