ความร่วมมือระหว่างวัดกับบ้านในการพัฒนาสังคม
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
สังคมไทยเคารพศรัทธาต่อพระภิกษุมาก
เพราะเชื่อว่า พระภิกษุเป็นผู้มีความรู้มากกว่าฆราวาสเป็นผู้ทรงศีล ย่อมพูดแต่ความจริง และเป็นครูบาอาจารย์
ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่มีต่อวัดจึงผูกพันแนบแน่นกับวิถีชีวิตของทุกคน
นับแต่เกิดจนตาย คำสั่งสอนจึงได้รับความเชื่อถืออย่างไร้ความคลางแคลงใจ ดังนั้น พระสงฆ์จึงกลายเป็นที่พึ่งของสังคมในทุกๆ
เรื่อง ไม่ว่าในทางที่เป็นมงคลและอัปมงคล ส่วน วัด
นั้นเป็นสถานที่รับใช้บริการงานประเพณีการทำบุญต่างๆเพื่อให้เกิดกุศลบุญแก่ ฆราวาส
เนื่องในวันสำคัญทางศาสนาซึ่งมีอยู่แทบตลอดทั้งปี
รวมทั้งเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ชุมชน นับแต่การบวชเณรจนถึงบวชเป็นพระภิกษุ
สถานที่ให้ความสงบเยือกเย็นทางใจ เช่น การแสดงพระธรรมเทศนา การฝึกปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ
เป็นสถานที่ชุมนุมของสังคมทุกกาลวาระ เช่น การประชุมกรรมการหมู่บ้าน
งานเทศกาลรื่นเริงที่มีการออกร้าน มีมหรสพต่างๆ เป็นต้น
เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเนื่องในการตาย เช่น การตั้งศพสวดพระอภิธรรม การเผาศพ
เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในเรื่องของบทบาท
จำนง อดิวัฒนสิทธิ์ (2548) ได้สรุปถึงบทบาทของวัดที่มีต่อบ้าน คือ 1)
การพัฒนาทางด้านกายภาพ 2) การพัฒนาทางด้านสังคม
3) การพัฒนาทางด้านจิตใจ 4) การพัฒนาทางด้านสติปัญญา
ปัจจัยทั้ง 4 ประการ เสมือนหนึ่งเป็นการสร้างบทบาท มิติการพัฒนาให้กับพระสงฆ์ในการสงเคราะห์
มวลมนุษย์ชาติ สมดัง พุทธภาษิตที่ว่า
“จรถ ภิกฺขเว
จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ
ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ
ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ” (วิ.ม./32/39) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
ศิราพร ฐิตะฐาน (2543) แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนดังกล่าวจึงทำให้ต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
โดยมีรายละเอียดคือ 1) ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา พระสงฆ์กับคฤหัสถ์ได้ใช้วัดเป็นศูนย์การศึกษาชุมชน
2) ความสัมพันธ์ด้านสังคม ประชาชนได้ใช้วัดเป็นที่พบปะพูดคุย
เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริง เป็นสถานที่ปรับทุกข์เรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ กับพระสงฆ์
เป็นคลังเก็บวัสดุสำหรับใช้ในชุมชน เป็นที่พักคนเดินทาง
เป็นที่สงเคราะห์คนเจ็บไข้ด้วยการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่สร้างผู้นำในการพัฒนาชุมชน
เช่น การก่อสร้างโรงเรียน การขุดบ่อ ทำถนนหนทาง สร้างสะพาน ฯลฯ 3) ความสัมพันธ์ด้านการผลิตศิลปกรรมและศิลปวัตถุ
ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านต่างช่วยกันสร้างสรรค์งานศิลปกรรม ช่างแกะสลัก ช่างปูน
ช่างไม้ต่าง ๆ และเกิดศิลปวัตถุ เช่น กุฏิ วิหาร โบสถ์ ศาลาการเปรียญ หอไตร
พิสิฏฐ์ บุญไชย (2540) ได้กล่าวถึง บทบาทของพระสงฆ์ที่มีส่วนในการสงเคราะห์ประชาชนมีหลายลักษณะ
ได้แก่ 1) บทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 2) บทบาทต่อสังคม สังคมชนบท 3) บทบาทต่อการศึกษา 4)
บทบาทด้านสุขภาพอนามัย เป็นต้นสอดคล้องกับแนวคิดของวิฑูรย์ กสิผล (2541)
ได้ศึกษาเรื่อง บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคมโดยได้สรุปว่า 1) พระสงฆ์มีบทบาทในการพัฒนาสังคม
ด้านส่งเสริมการศึกษา ด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
ด้านส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ด้านส่งเสริมการประกอบสัมมาชีพและด้านส่งเสริมและรักษาสุขภาพอนามัยได้มากยิ่งขึ้น 2) บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคม
จะเน้นด้านการส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ในขณะที่ท่านพระมหาอาคม ปญญาธโร
(บุญยัง) (2548) มีความเห็นต่างเล็กน้อย เพราะบทสรุปของพิสิฏฐ์ บุญไชย และวิฑูรย์
กสิผล จะมองในลักษณะองค์รวมที่กว้างมาก แต่พระมหาอาคม บุญยัง
ได้มองไปในลักษณะเชิงเฉพาะ
เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างละเอียดโดยได้กล่าวถึงการแสดงบทบาทของพระสงฆ์ในฐานะภาวะผู้นำต่อการพัฒนาวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน
สรุปได้ว่า ผู้นำสงฆ์จะเป็นผู้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ
ในการบริหารและการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ด้วยการพัฒนาด้านศาสนวัตถุ /
สถานที่
การจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพและการฝีมือต่างๆ ของชาวชุมชนขึ้นภายในวัด
และการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ขึ้นภายในวัด การพัฒนาด้านศาสนบุคคล /
บุคลากร การจัดนิทรรศการงานวันสำคัญต่างๆ
ทางพระพุทธศาสนา
และการปรับปรุงรูปแบบของการประกอบศาสนพิธีหรือพิธีกรรมทางศาสนาที่เหมาะสมและถูกต้อง
พินิจ ลาภธนานนท์ (2549)
ได้กล่าวถึงศักยภาพและความสามารถของพระสงฆ์ที่จะส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ
มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ทางศาสนาและสังคมระหว่างพระสงฆ์และชาวบ้านในชุมชน
โดยบทสรุปนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า
ถ้าพระสงฆ์ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านและได้รับความศรัทธาน้อยจากชาวบ้าน
พระสงฆ์ก็จะไม่สามารถส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาต่างๆในชุมชนได้
และหลังจากที่ได้ทำงานพัฒนาแล้ว ถ้าพระสงฆ์ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและศรัทธาที่ได้รับจากชาวบ้านไว้ได้
พระสงฆ์ก็จะไม่สามารถสานต่อกิจกรรมการการพัฒนาได้ ดังนั้น หากจะพัฒนาสังคม ประชาชนและชาวบ้าน
จำเป็นต้องเร่งปลูกศรัทธาด้วยการประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย และลงมือทำให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
วิเชียร เจนจบเขต (2547) ได้สรุปว่า บทบาท
ของพระสังฆาธิการที่นำมาใช้ทางด้านการพัฒนาวิถีชีวิตชุมชน
เพื่อยังศรัทธาให้เกิดแล้วจึงพัฒนาในด้านต่างๆ โดยหลักการ
จะเน้นการเผยแผ่พระธรรมคำสอนด้วยกิจกรรมการเทศ การอบรม การประชุม แก่ประชาชน
อุบาสก อุบาสิกา ทำการสงเคราะห์ด้านสาธารณูปการด้วยการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ
และยังให้การสาธารสงเคราะห์เป็นที่พอใจแก่ประชาชน
กล่าวโดยสรุป
วัดมีความสัมพันธ์บ้านในลักษณะของการอุปถัมภ์ค้ำชูกัน กล่าวคือ สถาบันศาสนา (วัด)
จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมี ประชาชนที่มีความศรัทธาเข้ามาอุปถัมภ์ ด้วยปัจจัย 4 รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือพัฒนาวัด ช่วยแบ่งเบาภาระในการพัฒนาวัด
ลำพังเพียงแค่พระสงฆ์ คงจะไม่สามารถทำให้วัดเป็นที่รื่นรมย์ หรือเป็นสถานที่รมณียสถานได้
ต้องอาศัยศรัทธาของประชาชนช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามขึ้นมา ส่วนประชาชนก็ต้องอาศัยพระสงฆ์
หรือสถาบันสงฆ์ในการอบรมส่งสอน กล่อมเกลา ให้กับประชาชนได้เข้าใจถึงหลักธรรม
คลายความทุกข์ทางใจเพราะโดยพื้นฐานทางด้านสังคม วัฒนธรรมของชาวพุทธ
ให้ความเคารพนับถือพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นเนื้อนาบุญ
เป็นตัวแทนของศาสนิกที่มีความใกล้ชิดกับคำสอนมากที่สุด
และเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงาม
จึงทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเชื่อถือในวัตรปฏิบัติ และความเชื่อเหล่านี้
จึงกลายเป็นว่า พระสงฆ์ คือ ผู้นำทางด้านวิญญาณ ซึ่งผู้นำประเภทนี้เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไป
เนื่องจากว่า เป็นผู้นำที่นำให้คนเป็นคนดี ดังนั้น สถาบันสงฆ์
จึงเป็นที่พึ่งที่ระลึกเสมอสำหรับประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม
หากมองหลักการการพัฒนาที่จะสื่อให้เห็นได้ว่า
วัดกับชาวบ้านมีส่วนในการพัฒนากันอย่างไร พอสรุปได้ว่า ด้านการศึกษา พระสงฆ์จะทำหน้าที่ในการสั่งสอนประชาชนที่เข้ามาทำบุญในวัด
หากเป็นโรงเรียนก็จะมีโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์
ด้านสังคมวัดจะเป็นสถานที่พบปะพูดคุยกัน โดยถือเอาวัดเป็นศูนย์กลางในการพบปะกัน
ด้านเศรษฐกิจ
พระสงฆ์จะนำชาวบ้านให้ลงมือปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจเชิงพุทธให้รู้จักอดออม
ด้านการเมืองพระสงฆ์จะเป็นผู้บอกกล่าวให้ประชาชนเกิดสัมมาทิฐิ
ในการแสดงออกทางการเมือง รู้จักหลักในการเลือกคนที่จะเป็นตัวแทน
**************************************************************
บรรณานุกรม
จำนง อดิวัฒนสิทธิ์. (2548). สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
พระมหาอาคม
ปญญาธโร (บุญยัง). (2548). ภาวะผู้นำของเจ้าอาวาสและผู้นำชุมชนต่อการพัฒนาวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน:
กรณีศึกษาวัดธรรมยุต ในเขตจังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
พินิจ ลาภธนานนท์. (2549). กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับการปรับเปลี่ยนบทบาท
การพัฒนาของพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสาน. รายงานผลการวิจัย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
การพัฒนาของพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสาน. รายงานผลการวิจัย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2540). ศาสนาพุทธ: สถานภาพ
บทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีสาน.งานวิจัย
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
วิเชียร
เจนจบเขต. (2547). บทบาทของพระสังฆาธิการในการพัฒนาวิถีชีวิตไทย
ในจังหวัดนครปฐม.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
วิฑูรย์
กสิผล. (2541). บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคมภาคตะวันออก.
ศิราพร
ฐิตะฐาน. (2543). เอกสารการสอนชุดวิชาความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย
หน่วยที่ 1-7. นนทบุรี:
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น