หน้าแรก

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการเมืองการปกครองไทย



ทฤษฎีการเมืองการปกครองไทย

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การแบ่งยุคของรัฐศาสตร์มีการแบ่งคร่าวๆ เป็น 2 ยุคใหญ่ๆ คือ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ยุคปัจจุบัน) โดยยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จะมองการเมืองว่าแบบไหนที่ดีที่สุด แบบไหนประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะมองการเมืองว่าทำไมจึงใช้แบบนั้น ทำไมจึงเป็นแบบนี้ต้องทำความเข้าใจกับมัน เช่น เมื่อมีการเลือกตั้งมีคนซื้อเสียงเราก็จะไปกล่าวว่าคนขายเสียงโง่ยอมขายเสียงทำไม แต่เราจะดูว่าทำไมเขาจึงขายเสียงเพราะอาจมีรายได้แค่ 500 บาท แล้วอยู่ๆมีคนเขาเอาเงินมาให้เขาอีก 500 บาท มีหรือที่เขาจะไม่เอานี่คือเหตุผลบางส่วน

ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ถูกเขียนขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยทฤษฎีหลักๆ มีอยู่ 5 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีระบบ คิดขึ้นโดย เดวิด อีสตัน ต่อมาก็มีคนพัฒนา คือ เกเบรียล อัลมอนด์ ปัจจุบันทฤษฎีระบบก็ยังอยู่ในสังคมไทย เพราะสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งผ่านไปไม่นาน และสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นเจ้าโลกมหาอำนาจแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศส เพราะพื้นที่การสู้รบอยู่ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และผู้ที่ทำให้สงครามเกิดขึ้น คือ เยอรมนีทำให้สหรัฐอเมริกาได้รับอานิสงค์อย่างมาก เหตุผลที่หนึ่งคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ในพื้นที่การรบไม่ได้รับผลกระทบจากการรบ และสอง คือ เวลาที่เขาจะรบกันก็ไม่มีเวลาทำมาหากิน สหรัฐอเมริกาจึงส่งของเข้าไปขายที่ยุโรปนับวันจึงรวยขึ้น แถมนักวิทยาศาสตร์เก่งๆที่พัฒนาความรู้อยู่ในยุโรปก็หนีเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา แล้วก็ทำให้สหรัฐอเมริกามีอาวุธนิวเคลียร์และการเป็นเจ้ามหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้มีอำนาจทางการทหารอย่างเดียว ได้เป็นผู้คิดวางทฤษฎีต่างๆให้กับโลก เป็นผู้นำทางวิชาการ และประเทศใดที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาก็จะถูกให้ทุน เช่น ทุนร็อกกีเฟเลอร์ ทุนฟูลไบท์ ให้กับนักวิชาการเข้ามาเรียนในสหรัฐอเมริกาเมื่อเรียนที่สหรัฐอเมริกาเสร็จ ก็จะกลายเป็นเหมือนผู้หยิบยกแนวคิดของสหรัฐอเมริกาไปใช้ และสหรัฐอเมริกาก็ผลิตแนวคิดใหม่ๆที่อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และหลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดปรากฏการณ์ คือ หลายประเทศประกาศอิสรภาพ เพราะก่อนหน้านี้หลายประเทศเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่หลายประเทศก็เกิดปัญหา เช่น แอฟริกา อินเดีย มาเลเซีย
อินโดนีเชีย ฯลฯ เพราะเมื่อตัวเองเป็นอิสระแล้วก็ต้องมีการเมืองการปกครองเป็นของตัวเอง หลายประเทศอยากเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ก็ล้มเหลว หลายประเทศทหารขึ้นมาปกครอง ตัวอย่างเช่นประเทศไทยที่ไม่ใช่อาณานิคมแต่อยากเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก สุดท้ายทหารก็ขึ้นมาปกครองเป็นแบบนี้ในหลายๆประเทศทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมประชาธิปไตยจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นทฤษฎีระบบจึงเกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายทุกระบบการเมือง พวกเราจะได้ยินคำว่าระบบการเมือง เพราะต้องการกำหนดขอบเขตของคำ เราจึงไม่ใช้คำว่ารัฐเพราะถ้าใช่คำว่า รัฐ มันมีหลายความหมาย ถ้าเรียนหลักรัฐศาสตร์จะรู้ว่ารัฐประกอบด้วย ประชากร ดินแดน อธิปไตย และรัฐบาล ดังนั้น รัฐ จึงมีความหมายคล้ายกับคำว่า ประเทศ แต่เวลาพูดในทางรัฐศาสตร์ว่าทำไมรัฐไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐไม่ทำอย่างนี้อย่างนั้น มันก็มีความหมายว่าเรากำลังด่าตัวเองอยู่ด้วยเพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสนจึงไม่ใช้คำว่า รัฐ ที่จริงแล้ว รัฐ นั้นก็หมายถึงผู้ที่สามารถใช้อำนาจรัฐ คือ รัฐบาล พรรคการเมือง ส.ส.  ข้าราชการ ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจรัฐและอยู่คนละส่วนกับรัฐพวกนี้ คือ สังคม ซึ่งแนวความคิดที่ว่ารัฐประกอบด้วย ประชากร ดินแดน อธิปไตย และรัฐบาล คือแนวคิดของ เจลีเน็ก เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะรู้สึกว่าคำว่า รัฐ สังคม และระบบการเมือง เป็นคำอธิบายขอบเขตของคำ ว่าเราจะใช้คำพูดอะไรในการสื่อ และเราจะทำอย่างไรที่จะให้รัฐและสังคมอยู่ในคำๆเดียวกันจึงเกิดคำว่า ระบบการเมือง ขึ้นมา
ทฤษฎีรัฐกับสังคม  คือแนวความคิดที่อธิบายเกี่ยวกับประชาสังคม ทฤษฎีรัฐกับสังคมถูกคิดค้นโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช โดยอธิบายว่า ทฤษฎีประชาธิปไตย ของสังคมไทยที่มันไม่เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมซึ่งไม่สมดุลกัน คือภาครัฐมีการพัฒนามากกว่าภาคสังคม ทำให้รัฐแข็งแรงแต่ภาคสังคมอ่อนแอ ตัวอย่างเช่นสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทหารไดรับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้แก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขึ้นสูงสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ระบบสมบูรณาสิทธิราช ซึ่งหมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย ในขณะภาคสังคมได้แก่ ไพร่ที่เข้าเดือนออกเดือน ทาสหรือพวกขุนนางแทบจะไม่มีปรากฏ การแยกตัวของสังคมเกิดขึ้นมาน่าจะไม่เกิน 100 ปีที่แล้ว ซึ่งแล้วแต่เราจะกำหนดว่ามันอยู่ประมาณปีได การที่ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นในประเทศเพราะว่าภาครัฐมีการพัฒนามากกว่าภาคสังคมจึงเกิดความไม่สมดุลกัน ถ้าจะให้สมดุลคือภาคสังคมต้องควบคุมรัฐได้
ทฤษฎีระบบ ก็คือ ทฤษฎีรัฐกับสังคม แต่จะมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่นในระบบการเมืองก็จะมีรัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อมทางการเมืองอยู่ข้างใน ดังแผนผังที่มีลูกสอนชี้(Input)คือความต้องการของสังคม(Demand) เข้าสู้ระบบรัฐบาล และรัฐบาลก็มีนโยบายออกมา(Output) และมีผลกระทบต่อประชาชน ถ้านโยบายไม่ดีประชาชนก็จะเรียกร้องนำไปสู่ Black Box อีกครั้ง แต่ปัญหาของทฤษฎีระบบคือ อธิบายได้เฉพาะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือระบบการเมืองที่มีการจัดแบบระบบตะวันตก เพราะมันเกิดจากฝรั่ง และคนไทยที่ไปเรียนที่นั่นก็นำกลับมาอธิบายการเมืองไทย และนำมาสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ จนกลายเป็นกระแสหลักในการอธิบายทางการเมือง แต่ทฤษฎีระบบก็ไม่ค่อยพูดถึงปัจจัยภายนอก เพราะมองคำอธิบายทางการเมืองเป็นเรื่องของการทำงานภายในระบบ สมมติว่าการเมืองไทยก็คือระบบการเมืองไทย คืออธิบายว่าการเมืองไทยทำงานในระบบอย่างไร ระบบทหารทำงานในระบบอย่างไร ฯลฯ แต่ไม่เคยไปถามว่าโลกาภิวัตน์มันเป็นอย่างไร จีนจะมีผลต่อการเมืองไทยหรือไม่ สหรัฐอเมริกาทำสงครามแล้วจะมีผลต่อโครงสร้างทางการเมืองไทยหรือเปล่า ซึ่งทฤษฎีระบบนี้ไม่เคยอธิบายเลย
ทฤษฎีถัดมาคือทฤษฎีมาร์กซิสต์ เข้ามาในสังคมไทยประมาณปี 1970 ช่วงที่นำมาเป็นช่วงที่ทหารมีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยคือยุค สฤษดิ์- ถนอม นั่นเอง ในตอนนั้นสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เกิดชนชั้นทางการศึกษา เกิดชนชั้นนายทุน นายชวนหลีกภัยและอาจารย์อเนกซึ่งคนเหล่านี้คือ คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ได้รับการศึกษาพวกเขาได้เห็นว่าทหารเป็นอภิสิทธิชนทำให้สังคมไม่เปิด และมองว่าประชาธิปไตยจะทำให้สังคมเปิดได้ ทำให้เกิดการเรียกร้องชุมนุมทางการเมือง ซึ่งทฤษฎีมาร์กซิสต์มองว่ารัฐคือเครื่องมือของอภิสิทธิชน ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงตีความว่ารัฐคือสิ่งที่ชั่วร้ายคือสิ่งที่ไม่ดี และเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่อธิบายวันที่ 14-16 ตุลาคม 2516 ว่าเพราะเขาต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐ และต้องการประชาธิปไตย นี่คือทฤษฎีมาร์กซิสต์อธิบาย ในอดีตมีหลายคนที่สนับสนุนมาร์กซิสต์ แต่ไม่กล้าแสดงออกอย่างตรงๆ เพระดูไม่ดีจึงทำให้เกิดการพัฒนา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง ขึ้นมา
ทฤษฎีมาร์กซิสต์  มองว่ารัฐคือเครื่องมือของชนชั้น ก็คือ ชนชั้นนายทุน แต่สังคมไทยไม่เหมือนสังคมตะวันตก เพราะชนชั้นของไทยเป็นชนชั้นเจ้า ชนชั้นไพร่ คือผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่ชนชั้นของตะวันตกจะเป็นชนชั้นของนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ คือ คนรวยกับคนจน เขามองว่าจริงๆ แล้วรัฐคือเครื่องมือของคนรวย พูดกันง่ายๆ ก็คือ ทฤษฎีมาร์กซิสต์มีเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐ-ศาสตร์การเมือง คือ ทฤษฎีที่อธิบายสมมติฐานเรื่องของทุนกับอำนาจ ดังภาพในปัจจุบันนักการเมืองที่เข้ามานั่งในสภา เขาเป็นคนรวย ซึ่งตรงกับทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่ว่ารัฐเป็นเครื่องมือของคนรวย คือรัฐก็ทำเพื่อคนที่นั่งอยู่ในรัฐสภา จะถามว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์ตกไปหรือยัง คำตอบคือมันก็ยังพออธิบายได้อยู่แต่มันดูรุนแรงเหมือนนิสัยไม่ดี แต่เมื่อรัฐออกนโยบายอะไรก็ตาม ก็จะเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวย มีไหมที่เก็บภาษีคนรวยแพงๆแล้วนำไปแจกคนจนคำตอบคือไม่มี ไม่เคย  เคยคิดที่จะตรวจสอบการทำงานของกรมสรรพากรหรือไม่  ก็ไม่เคยอีก เพราะรู้กำลังโกงภาษีอากรของประเทศไทยอยู่ อย่างเช่นคุณไปนอนโรงแรม 10 คืนเขาจ่ายรัฐแค่ 2 คืน อีก 8 คืนคือโกง และเมื่อนักการเมืองเข้าไปในสภาก็ไม่เคยที่จะเสนอการตรวจสอบการทำงานของกรมสรรพากรเพราะเขาอยู่ได้ในระบบโกงๆ ซึ่งนักการเมืองที่มีอำนาจก็จะมีความสัมพันธ์กับตำรวจ เช่น เรื่องบ่อนการพนัน การคุมซ่องค้าประเวณี  การตัดไม้ ฯลฯ  คือนักการเมืองจะไม่ว่าพวกนี้ เพราะพวกนี้ทำเงินให้กับเขา ทำให้เขามีเงินซื้อเสียงเข้าไปในสภา ดังนั้นพูดกันง่ายๆ ก็คือ เศรษฐศาสตร์ทางการเมืองก็อธิบายทำนองนี้ สามารถอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ และเรื่องของทุนก็ยังมีนัยเกี่ยวกับรัฐอยู่ ทุนมีทั้งทุนภายในกับทุนภายนอก ทุนนิยมโลกกับทุนนิยมไทยภายในรัฐ ดังนั้นขอบข่าย ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง มันออกไปนอกระบบ เพราะพูดถึงเศรษฐกิจทางการเมืองทีมีนัย ทุนภายนอกกับทุนนิยมโลกสัมพันธ์กับรัฐด้วย ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยของคนไทยไม่ดีเพาระการซื้อเสียง มันไม่ใช่ เพราะทฤษฎีนี้มันอธิบายไปถึงทุนนิยมโลกด้วย ซึ่งตรงนี้ถ้าอาจารย์ทิวากรอธิบายจะลึกไปจะไกลไปหน่อย ยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทหารจำเป็นต้องเข้าข้างสหรัฐอเมริกาเพราะว่าประเทศที่อยู่รอบๆ รากำลังจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาช่วยประเทศไทยไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ และต้องการส่งเสริมระบบทุนนิยม จึงได้อุ้มชูทหารของประเทศไทยคือให้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ ทหารนำเงินไปซื้อปืน และหลายคนมองว่าทหารนำปืนมายิงประชาชน ซึ่งถ้าใช้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองอธิบายก็คือโยนความผิดให้ทหาร ที่ทหารเป็นอย่างนี้เพราะสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้อง และสหรัฐอเมริกาก็เกี่ยวข้องกับทุนนิยมโลก จะเห็นว่ามันจะเชื่อมต่อกันมาเรื่อยๆ แต่ถ้าทฤษฎีรัฐกับสังคมก็จะอธิบายแค่ตัวรัฐกับสังคมเท่านั้น ซึ่งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองจะอธิบายได้ดีกว่า
ทฤษฎี Above state หรือที่อาจารย์ทิวากรเรียกว่า ทฤษฎีปัจจัยภายใน-ภายนอก นับวันความชัดเจนทฤษฎีนี้ก็มีมากขึ้น ดังที่นักวิชาการไทยมุ่งไปที่ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ คือปรากฏการณ์ที่ 20 ปีที่แล้วมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่ เป็นเหมือนกับกระบวนการทางการเมืองบางอย่างที่เป็นรูปธรรม อาทิเช่น การค้าระหว่างประเทศ ทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อรัฐต่อระบบการเมือง ในปัจจุบันเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์จะเห็นได้จากการทำอะไรต่างๆ ที่รวดเร็วอันเกิดจากเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ การโอนเงินที่รวดเร็ว ซึ่งโลกาภิวัตน์มองว่าโลกเรามันแคบลงและมีผลต่อรัฐ คือรัฐควบคุมปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มันมีความซับซ้อน คืออิทธิพลภายนอกมีอิทธิพลต่อการเมือง เช่น อิทธิพลของนานาชาติที่มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของพม่า ในอดีตประชาธิปไตยจะถูกสังคมกำหนด คือถ้าประชาธิปไตยไม่ดีก็คือเราเลือก ส.ส. ไม่ดีเข้าไป นี่คือการอธิบายว่าสังคมเป็นตัวกำหนดทางการเมือง แต่ ณ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นว่ามีปัจจัยภายนอก เช่น การเลือกตั้งของพม่าไม่ได้เกิดจากประชาชนเรียกร้องแต่เกิดจากการกดดันของต่างประเทศ แสดงว่าปัจจัยภายนอกเริ่มเข้ามามีอิทธิพล ในปัจจุบันทำไมคุณทักษิณถึงมีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา เพราะในอดีตนักการเมืองที่ทำผิดและหนีออกนอกประเทศมันก็จบ แต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่เพราะเงื่อนไข มันไม่เหมือนเดิม เพราะเทคโนโลยีนั่นเอง คุณทักษิณอยู่ที่ไหนก็มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ทำไมคุณทักษิณจึงไปสหรัฐอเมริกา ก็เพราะว่าถ้าถูกจับกว่าจะถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนก็อีกหายปี ซึ่งคุณทักษิณใช้สหรัฐอเมริกาเป็นฐานในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองในไทย ดีกว่าที่คุณทักษิณจะอยู่เฉยๆ รอคำตัดสินจากศาลซึ่งศาลในสหรัฐอเมริกาก็ต่างจากศาลไทย คุณทักษิณสามารถอ้างได้ว่าถูกยึดอำนาจทางการเมืองไม่ได้ไปฆ่าใคร ก็ขึ้นอยู่กับศาลสหรัฐอเมริกาจะตัดสิน จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย แสดงว่าทฤษฎีปัจจัยภายใน-ภายนอก สามารถอธิบายกรณีนี้ได้ ทำไมทฤษฎีระบบ ทฤษฎีรัฐกับสังคมจึงอธิบายไม่ได้ เพราะว่าทฤษฎีระบบ ทฤษฎีรัฐกับสังคมไม่ได้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแปรทางสังคม เพราะอยู่นอกรัฐนอกสังคม ซึ่ง 2 ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายได้จึงได้เกิด ทฤษฎี Above state ขึ้นมา ณ ปัจจุบันนี้ ทฤษฎีนี้มีความชัดมากขึ้น กล่าวคือเป็นทฤษฎีที่สามารถอธิบายปัจจุบันได้โดยที่ทฤษฎีเก่าๆ ไม่สามารถอธิบายได้ อย่างเช่นในอดีตที่วิทยาศาสตร์กล่าวว่า สิ่งที่เล็กที่สุดคือ โปรตอน อิเล็กตรอน และนิวตรอน แต่ไนปัจจุบันมันไม่ใช่ มันคือ ควาร์ก ซึ่งหมายความว่า การค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ทำให้ทฤษฎีเก่าๆ ตกไปดังเช่นที่อาจารย์อเนกเขียนไว้ว่าจีนจะขึ้นมาเป็นเจ้ามหาอำนาจโลก คือจีนสามารถกำหนดอะไรที่ถูกที่ผิดได้ สิ่งทีจีนทำคือสิ่งที่ถูก ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก ซึ่งจีนไม่ใช้ ถ้าจีนขึ้นมาแทนที่สหรัฐอเมริกา ไทยก็อาจจะไมใช้ประชาธิปไตยแต่จะหันมาใช้แบบจีนแทน นี่ก็หมายความว่าที่อาจารย์อเนกเขียนขึ้น ก็มีความหมายเป็นนัยๆ ว่าเรื่องการปกครองและเรื่อง IR มันเป็นเรื่องเดียวกันเพราะโลกนี้มันจะไมแบ่งแล้ว ซึ่งถ้าแยกแล้วมันก็จะรู้สึกขัดๆ อยู่
ดังนั้นเราจะเห็นว่าทฤษฎีนี้เกิดจากเราเห็นปัจจัยภายนอกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองมาก จริงๆแล้วทฤษฎีนี้ถูกนำความคิดโดย ฮันท์ คิงตัน ที่เขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Third Wave ในปี 1991 คือคลื่นที่มีผลต่อการพัฒนาทางการเมืองคือ
1) อิทธิพลสหรัฐอเมริกาที่ส่งเสริมให้โลกเป็นประชาธิปไตย
2) อิทธิพลของวาติกันที่อธิบายในไทยไม่ได้แต่อธิบายได้ดีในลาตินอเมริกาเพราะลาตินอเมริกาเป็นคริสต์ศาสนา
3) อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสามปัจจัยคือปัจจัยภายนอกทั้งหมด การยกตัวอย่างในไทยคือสมัย
รัชการที่
5 ที่เปลี่ยนจาก จตุสดมภ์ มาเป็น 12 กระทรวง
ซึ่งถ้าใช้ทฤษฎีรัฐกับสังคมก็จะไม่สามารถอธิบายได้ เพราะไม่เป็นการเรียกร้องทางสังคมที่ทำให้รัฐเกิดการเปลี่ยนแปลง และทฤษฎีระบบก็อธิบายไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะไม่มี Input และOutput เพราะท่านสามารถเปลี่ยนได้เอง ดังนั้นทฤษฎีที่อธิบายได้ดีคือ ทฤษฎี Above state ซึ่งคุณลดา อธิบายว่าเกิดจากการกดดันของระบบทุนนิยมโลกเพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงการเมืองก็จะทำให้เป็นอาณานิคมของตะวันตก สำหรับอาจารย์ทิวากรจะไม่เรียกว่าทุนนิยม แต่จะเรียกว่าจักรวรรดินิยม เพราะถ้าฝรั่งเข้ามาแล้ว แต่เราไม่มีอารยะ เราก็จะกลายเป็นอาณานิคม เราจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเมืองการปกครอง ตามกระแสความกดดันของจักรวรรดินิยม สรุปก็คือทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก ตัวอย่างที่อาจารย์ทิวากรจะยกให้เห็นภาพคือ ถ้าย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เหตุที่เราเป็นบ้านนอกก็เพราะว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง ถ้าเมืองหลวงย้ายมาอยู่ที่พิษณุโลกเราก็จะกลายเป็นคนเมืองทันที  มหาวิทยาลัยนเรศวรก็จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยศูนย์กลางของประเทศไทยโดยทันที หมายความว่าปัจจัยน้ำทะเลทำให้เมืองกรุงเทพฯต้องย้าย เมื่อย้ายแล้วก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ที่ดินที่นี่ก็มีราคาขึ้นอย่างมาก จากที่เคยเป็นชาวเขาชาวดอยก็จะกลายเป็นเศรษฐีได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น