หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์



เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

พลวัตการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการค้า, การลงทุนและการผลิตของโลกไปในแนวทางใหม่ที่ ทุน คน เทคโนโลยี สินค้าและบริการ สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนกันได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทสำคัญๆ ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค เราจะเตรียมตัวอย่างไรกับภูมิทัศน์ใหม่ของการแข่งขันในเวทีโลกนี้ (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2549)

โครงสร้างความสัมพันธ์ กรอบความคิดและวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ของการแข่งขัน ก่อให้เกิดโอกาส พร้อมๆ กับความเสี่ยงภัย เราจะรับมือกับประเด็นและความท้าทายเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว พร้อมๆ กับการประเมินความพร้อมและภูมิคุ้มกันของแต่ละภาคส่วนว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด จากอดีตถึงปัจจุบันมีการทะยานขึ้นมาและดับลงของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา แต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้น กรณีศึกษาเชิงลึกของเกาหลีใต้ ประเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นพร้อมกับไทย ในขณะที่เกาหลีก้าวทะยานไปแล้ว ประเทศไทยยังขับเคลื่อนไปในอัตราค่อนข้างเฉื่อย ภายใต้ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในเวทีโลก การสร้างความมั่งคั่งของชาติมีได้หลายมิติ อาทิ มิติของอุตสาหกรรมและธุรกิจ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในมิติของวัฒนธรรมจะใช้วัฒนธรรมเป็นรากในการสร้างความมั่งคั่งของชาติได้อย่างไร หรือในมิติของภูมิศาสตร์จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นเป็นศูนย์กลางของภมิภาคได้อย่างไร ธุรกิจไทยสามารถพัฒนาเพื่อไต่ข้ามบันไดการสร้างมูลค่าจากรูปแบบธุรกิจที่ ทำมากได้น้อยได้หรือไม่
 
ภาคเอกชนสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่สร้างความมั่งคั่งในบริบทของการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไร นโยบายวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างความมั่งคั่งของชาติในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ นโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติของประเทศไทยนั้น มีความชัดเจนเพียงใดในการสร้างความมั่งคั่งของชาติแบบยั่งยืนหรือไม่อย่างไร ขณะนี้หลายภูมิภาคและหลายประเทศกำลังแข่งขันกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเรื่องใด มีจุดเด่นมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันทั้งในภูมิภาคเดียวกันและภูมิภาคอื่นของโลก โลกกำลังปรับเปลี่ยนจากการรังสรรค์นวัตกรรมแบบปิดไปสู่ การรังสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด โดยสร้างพันธมิตรเครือข่ายในกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบของการร่วมสร้างสรรค์ แนวโน้มที่จะแชร์ความลับทางการค้ามีมากกว่าการปกป้องความลับทางการค้า เอกชนไทยมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการรับมือและใช้ประโยชน์จากแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้บทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษที่แล้ว ทำให้เราทราบถึงความไม่รู้จักประมาณตน การไม่รู้จักความพอดี ในขณะเดียวกันบทเรียนของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เพิ่งผ่านมา ทำให้เราได้เห็นรอยปริของความคิดที่แตกต่างของคนในชาติ ทำให้ต้องทบทวนนิยามของ ความมั่งคั่งของชาติ ว่านอกเหนือจากการมีเศรษฐกิจที่ดีแล้วจะต้องมีสังคมที่ดีและมีกระบวนการทางการเมืองที่ชอบธรรมด้วย การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของความสมดุล ในระดับประเทศเราต้องการความมั่งคั่งที่กระจายไม่ใช่กระจุก ในระดับองค์กรเราต้องการองค์กรที่เก่งเท่าทันโลก เกิดควบคู่กับองค์กรที่มีจริยธรรม ในระดับบุคคลนั้น เราต้องการคนที่มีความสามารถควบคู่กับการมีคุณธรรม ในส่วนนี้เราจะประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการกำหนดนิยามใหม่ของการสร้างความมั่งคั่งของชาติอย่างไร กระแสโลกาภิวัตน์ผลักดันให้ทุกประเทศจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์หลักของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเวทีโลก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ ช่องว่างเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ช่องว่างของขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างไร ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และวัฒนธรรมการทำงานจากบริบทภายในประเทศ เป็นบริบทของโลก เอกชนจะสามารถก้าวข้ามจากการเป็นแค่ผู้ส่งออกไปสู่การทำธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างไร เราอยากเห็นไทยแกร่งแข่งทั่วโลกอย่างที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพยายามผลักดันแต่เราต้องเผชิญกับสองพลังสำคัญ คือโลกาภิวัตน์และชุมชนภิวัตน์ ในมิติเชิงนโยบายเราจะเชื่อมโยงชุมชนภิวัตน์กับโลกาภิวัตน์อย่างไร จุดสมดุลเชิงพลวัตระหว่างโลกาภิวัตน์กับชุมชนภิวัตน์ที่จะให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ในมิติเชิงบริหารจัดการเราต้องการให้ชุมชนเป็นอิสระยืนอยู่บนขาของตัวเอง มีการพึ่งพากันเอง มีอัตลักษณ์ มีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อกับชุมชนอื่นๆ หรือเชื่อมต่อกับโลกได้ คำถามเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ท้าทาย กุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งของชาติในบริบทของภูมิทัศน์ การแข่งขันในเวทีโลกดังเช่นในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ 1) การเปิดเสรีในระดับที่เหมาะสม โดยการบริหารจัดการ การเคลื่อนไหลอย่างเสรีของสินค้าและบริการ ทุน คน และเทคโนโลยีอย่างไรที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ 2) การสร้างสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ เราจะสร้างสมดุลระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอย่างไร เราจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทั้ง 3 สาขานี้อย่างไร จึงจะทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละสาขามีขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวในเวทีโลก 3) ความสามารถในการแข่งขัน รัฐจะมีนโยบายเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชนอย่างไร องค์ความรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ จึงหวังว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะจุดประกายทางความคิดและให้แนวทางในการปฏิบัติของทั้งระดับนโยบายและบริหารจัดการทั้งในภาครัฐและเอกชนให้เริ่มตื่นตัว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรีภายใต้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในเวทีโลก วันนี้เศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยยังไม่เกิดเต็มตัว แต่มีเหตุผลที่จะเกิดได้ (เสรี พงศพิศ, 2549) ดังนี้
1.  กระแส ในเมืองไทยและในโลกเอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียง ผู้คนในโลกหันมาแสวงหาธรรมชาติ ซึ่งตัวเองได้ทำลายลงไปจนทำให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศน์
2.  สังคมไทยมี ศักยภาพ อยู่อย่างพอเพียง ยังมีทุนเป็นอันมากเพื่อพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นทุนทรัพยากร ทุนปัญญา และทุนสังคม
3.  สังคมไทยมีศักยภาพที่จะ แข่งขัน ได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ไม่ใช่แข่งขันตามวิถีทุนนิยมที่เป็นอยู่ เพราะปัจจัยที่จะไปแข่งขันกับใครต่อใครมีไม่พอ เหมือนคนตัวเล็กๆ ไปต่อกรกับคนตัวใหญ่ๆ ไปทำแบบเขา ทำตามเขาก็เข้าทางเขาหมด
4.  เรามี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานและทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ทำให้สามารถผนึกกำลังกัน ทำให้ปรัชญาดังกล่าวเกิดเป็นจริงในชีวิตครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมได้

***********************************************

เอกสารอ้างอิง

สุวิทย์  เมษินทรีย์. (2549). จุดเปลี่ยนประเทศไทย: เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์การเงินธนาคาร.
เสรี  พงศพิศ.  (2549).  เศรษฐกิจพอเพียงการพัฒนาที่ยั่งยืน.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์พลังปัญญา.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น