แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
การปกครองท้องถิ่นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับแนวคิดการกระจายอำนาจโดยการกระจายอำนาจมีความหมายและหลักการ
ดังนี้
ประทาน
คงฤทธิศึกษากร (2526) และอุทัย หิรัญโต (2523) ให้ความหมายว่า การกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) หมายถึง การที่รัฐบาลยินยอมมอบอำนาจการปกครองและการบริหารในกิจการต่างๆ
ให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นดำเนินการปกครองตนเอง (Local Self Government) โดยประชาชนในท้องถิ่นจะเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าวยังผลให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจทางการเมืองและการบริหาร
สามารถกำหนดนโยบายการบริหารงานให้เป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีฐานะเป็นตัวแทนประชาชน (Representative Bodies) สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการอีกหลายท่าน
เช่น ประหยัด หงษ์ทองคำ (2526) กล่าวว่า
หลักการกระจายอำนาจการปกครองคือ
การที่รัฐได้มอบอำนาจบางอย่างให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ
เพื่อบริการประชาชน
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจอิสระ (Autonomy)
ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ ธเนศวร์
เจริญเมือง (2550) อธิบายว่า
การกระจายอำนาจเป็นคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “รวมศูนย์อำนาจ”
การกระจายอำนาจเป็นระบบการบริหารการปกครองโดยรัฐบาลกลางกระจายอำนาจบางส่วนให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มีอำนาจดำเนินกิจกรรมภายในอาณาเขตของตนโดยปราศจากการแทรกแซง
ชูวงศ์ ฉายะบุตร (2539) กล่าวว่า การกระจายอำนาจ คือ
การที่รัฐมอบอำนาจหน้าที่ในการบริหารหรือกิจการบางอย่างของตนให้องค์การปกครองหรือสถาบันของรัฐหรือประชาชนไปกระทำหรือดำเนินการโดยอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาลกลางตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
และสมคิด เลิศไพฑูรย์ (2550) กล่าวว่า หลักการกระจายอำนาจเป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้องค์การอื่นนอกจากองค์การราชการบริหารส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีความเป็นอิสระตามสมควร
ไม่ต้องขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง เพียงแต่อยู่ในความควบคุมเท่านั้น
การกระจายอำนาจการปกครองมีลักษณะที่สำคัญ
ได้แก่ 1) มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคล 2)
มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมดหรือบางส่วน 3) มีอำนาจอิสระจากส่วนกลางภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย 4)
มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรเป็นของตนเอง 5) มีงบประมาณ
รายได้ และทรัพย์สินเป็นของตนเอง (ประหยัด หงษ์ทองคำ, 2526;
ประทาน คงฤทธิศึกษากร, 2526)
จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า
การกระจายอำนาจมีความสำคัญในเชิงหลักการอย่างน้อย 4 ประการคือ 1) ทำให้การบริหารราชการสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ดี
2) ทำให้การดำเนินกิจการเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น
เพราะมีความเป็นอิสระในการบริหารงานภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย 3)
ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลาง 4)
ทำให้ประชาชนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น
เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากผลการดำเนินกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. ความหมายของการปกครองท้องถิ่น
ตาม Encyclopedia Britannica การปกครองท้องถิ่น
หมายถึง การที่รัฐบาลกลางมอบอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดอย่างชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเขตพื้นที่ปกครองที่กำหนดไว้แน่นอน
ในขณะที่ The New Columbia Encyclopedia
ได้ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น
เป็นการบริหารงานทางการเมืองของหน่วยย่อยที่มีพื้นที่และประชากรของประเทศ
ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด (พรชัย เทพปัญญา
และคณะ, 2527) สอดคล้องกับ วิท (Wit, 1967) ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง
การปกครองที่รัฐบาลกลางให้อำนาจหรือกระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น
เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีอำนาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมดหรือเป็นบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอำนาจการปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่น
รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ขณะที่
ฮอลโลเวย์ (Holloway, 1951) ให้ความหมายว่า
การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มีอำนาจการปกครองตนเอง
มีการบริหารการคลังของตนเอง
และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สอดคล้องกับ
ร็อบสัน (Robson, 1953) ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองที่รัฐจัดตั้งขึ้น โดยให้มีอำนาจอิสระในการปกครองตนเอง มีสิทธิทางกฎหมาย และมีองค์กรตามความจำเป็น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ โดยอำนาจอิสระดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจสูงสุดของรัฐ และฮิลล์ (Hill, 1974) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการจัดการท้องถิ่นภายในรัฐๆ หนึ่งเป็นท้องที่อันมีขอบเขตชัดเจนมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีโครงสร้างด้านอำนาจและหน้าที่ที่บัญญัติโดยกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะ และมีความเป็นอิสระทางการบริหารทั้งด้านการคลังและด้านอื่นๆ
สำหรับนักวิชาการของไทยได้ให้ความหมายของการปกครองท้องถิ่นไว้หลายท่าน
อาทิ อุทัย หิรัญโต (2523) ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น
คือ
การปกครองที่รัฐบาลมอบอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นได้จัดการปกครองและดำเนินการบางอย่างเอง
เพื่อบำบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ
มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน
โดยมีความเป็นอิสระในการบริหารงานแต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่างๆ
ตามความเหมาะสม
จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทำให้เกิดขึ้น
สอดคล้องกับ ประทาน คงฤทธิศึกษากร (2526) ที่ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่นหมายถึง
ระบบการปกครองที่เป็นผลมาจากการกระจายอำนาจการปกครองของรัฐทำให้เกิดมีองค์การทำหน้าที่ปกครองท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้นๆ
องค์การนี้ถูกจัดตั้งและควบคุมโดยรัฐบาล
แต่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและควบคุมให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายของตนเองได้ สอดคล้องกับวุฒิสาร ตันไชย (2547)
ที่ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่นคือ
การปกครองที่รัฐบาลกลางหรือส่วนกลางได้กระจายอำนาจไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสิทธิตามกฎหมาย
มีพื้นที่และประชากรเป็นของตนเอง ต้องมีอำนาจอิสระในการดำเนินงาน
แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล สอดคล้องกับ สนิท จรอนันต์ (2549)
ที่สรุปว่า
การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ
มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแยกอิสระออกจากการบริหารราชการส่วนกลาง
มีสิทธิและอำนาจในการบริหาร เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น
โดยมีเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ
และรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง
และสอดคล้องกับ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2547) ที่ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง
การปกครองซึ่งราชการส่วนกลางได้มอบอำนาจในการปกครองและการบริหารกิจการงานให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขอบเขตอำนาจหน้าที่และพื้นที่ของตนตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
โดยมีความเป็นอิสระตามสมควรไม่ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของราชการส่วนกลาง เพียงแต่จะถูกกำกับดูแลให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ขณะที่ จรูญ
สุภาพ (2531) ให้ความหมายว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินกิจการอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับท้องถิ่นนั้นโดยเฉพาะ
มักมีวัตถุประสงค์ไปในทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนปกครองตนเอง
สามารถมีองค์การในทางปกครองที่จะช่วยสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น
ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนในเขตการปกครองนั้น
มักจะเป็นนิติบุคคล สอดคล้องกับโกวิทย์ พวงงาม
(2550) ที่สรุปว่า
การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การที่องค์กรหนึ่งมีพื้นที่อาณาเขตของตนเอง มีประชากร
และมีรายได้ตามที่หลักเกณฑ์กำหนด โดยมีอำนาจและมีอิสระในการปกครองตนเอง มีการบริหารการคลังของตนเอง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ
แก่ประชาชน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะมีส่วนร่วมในการบริหารและปกครองตนเอง
จากนิยามดังกล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า
การปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่เกิดจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล
ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปกครองการบริหาร
เพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการในแต่ละท้องถิ่น โดยมีบุคลากร งบประมาณ
และทรัพย์สินเป็นของตนเอง รวมทั้งมีอำนาจอิสระในการบริหารงานตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบภายใต้การกำกับดูแล ส่งเสริม
และสนับสนุนของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาล
2. ลักษณะของการปกครองท้องถิ่น
จากความหมายและแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นดังกล่าวมา
สามารถสรุปลักษณะสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของการปกครองท้องถิ่น (Local
Government) ได้ดังนี้ (ประทาน
คงฤทธิศึกษากร, 2526;
ชูศักดิ์ เที่ยงตรง, 2518; อุทัย หิรัญโต, 2523; ชูวงศ์ ฉายะบุตร, 2539; ปธาน สุวรรณมงคล, 2547)
ชูศักดิ์ เที่ยงตรง, 2518; อุทัย หิรัญโต, 2523; ชูวงศ์ ฉายะบุตร, 2539; ปธาน สุวรรณมงคล, 2547)
1. สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) การจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย
หากประเทศใดกำหนดเรื่องการปกครองท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญการปกครองท้องถิ่น ในประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่าการปกครองท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น
เพราะข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงให้เห็นว่า
มีนโยบายที่จะกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
2. พื้นที่และระดับ (Area and Level) หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีพื้นที่การปกครองที่แน่นอนและชัดเจน และควรมีการแบ่งระดับ
เช่น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดพื้นที่และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ
เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์
เชื้อชาติและความสำนึกในการปกครองตนเองของประชาชน
3. การกระจายอำนาจและหน้าที่ (Devolution of Power
and Function) การปกครองท้องถิ่นจะต้องมีการกระจายอำนาจการปกครองไปให้ท้องถิ่น
การที่จะกำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสำคัญ
4. องค์การนิติบุคคล (Artificial Person) หน่วยการปกครองท้องถิ่นต้องมีสภาพเป็นนิติบุคคล
จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลาง มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน
มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับ ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามนโยบายนั้นๆ
5. การเลือกตั้ง (Election)
การปกครองท้องถิ่นจะต้องมีสมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน
(Political Participation)
6. อำนาจอิสระ (Autonomy)
หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจอิสระในการกำหนดนโยบายและการบริหารงาน
กล่าวคือ สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการภายในขอบเขตของกฎหมาย
โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง
7. งบประมาณของตนเอง
หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจในการจัดเก็บรายได้ (Revenue) การจัดเก็บภาษีตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจในการจัดเก็บ
เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะทำนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
8. การกำกับดูแลของรัฐ
หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองระดับรองของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมและความมั่นคงแห่งรัฐ
3. ความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากแนวคิดการปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวมา ยังมีนักวิชาการหลายท่านที่อธิบายถึงความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
ดังนี้ (ชูศักดิ์ เที่ยงตรง, 2518;
อนันต์ อนันตกูล, 2521 และ ชูวงศ์
ฉายะบุตร; 2539)
ฉายะบุตร; 2539)
1. เป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นเสมือนสถาบันฝึกสอนการเมืองการปกครองให้แก่ประชาชน
ปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและรู้จักการปกครองตนเอง
2. เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกระจายอำนาจ
3. สามารถสนองตอบปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและท้องถิ่นได้ดี
4. ทำให้ประชาชนเกิดความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตน
ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความร่วมมือที่ดีจากประชาชน
4. องค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ประกอบด้วย
กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ตามภารกิจภายในขอบเขตอำนาจของตน 3 กลุ่มหลัก
(บูฆอรี ยีหมะ, 2550) ดังนี้
1. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ
กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติและแก้ไขกฎหมายของท้องถิ่น
และยังทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งเสนอโดยฝ่ายบริหาร ตลอดจนควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
2. ฝ่ายบริหาร คือ
บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานของท้องถิ่นในรูปของการกำหนดนโยบาย กำหนดแผนงาน
คิดค้นโครงการ จัดทำงบประมาณ
ตลอดจนควบคุมดูแลฝ่ายปฏิบัติงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหรือข้าราชการท้องถิ่นให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบายแผนงานหรือโครงการของฝ่ายบริหาร
3. ฝ่ายปฏิบัติงาน คือ
กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านต่างๆ ในลักษณะที่เป็นงานประจำแต่ละวัน
มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ
ตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
5. หน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
สรุปได้ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร,
2539 และโกวิทย์ พวงงาม,
2550)
1.
งานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น
(Environmental Service and Convenience or Communical service) เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โบราณสถานของท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การก่อสร้างถนน การก่อสร้างสะพาน การจัดสวนสาธารณะ และการกำจัดขยะมูลฝอย
เป็นต้น
2. งานเกี่ยวกับการป้องกันภัยและรักษาความปลอดภัย
(Protective Service) เช่น งานตำรวจ และดับเพลิง เป็นต้น
3. งานเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม
(Social Welfare Service) เช่น
จัดให้มีหน่วยสาธารณสุข การจัดให้มีศูนย์เยาวชน การจัดให้มีสถานสงเคราะห์เด็ก
คนชรา และคนพิการ การจัดให้มีห้องสมุดสำหรับประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น
4. งานเกี่ยวกับการพาณิชย์ของท้องถิ่น
(The Trading or Commercial Service) เป็นกิจการที่ให้บริการแก่ประชาชนในท้องถิ่น
หากปล่อยให้เอกชนดำเนินการอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่น การจัดตั้งสถานธนานุบาล การจัดตลาด
การจัดบริการเดินรถ และกิจการต่างๆ ที่มีรายได้
**************************************
|
กรมการพัฒนาชุมชน.
(2542). การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤต: ให้ชุมชนตัดสินใจด้วยตนเองเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤต.
โดยคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤติ ในคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ.
กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์.
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. (2546). องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.
โกวิทย์ พวงงาม. (2550).
การปกครองท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ: ส.เอเซียเพรส.
จรูญ สุภาพ. (2531). สารานุกรมรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
ชูวงศ์ ฉายะบุตร. (2539).
การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:
ส่วนท้องถิ่น
กรมการปกครอง.
ชูศักดิ์ เที่ยงตรง. (2518).
การบริหารการปกครองท้องถิ่นของไทย. กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2550). 100 ปีของการปกครองท้องถิ่นไทย
พ.ศ.2440-2540. พิมพ์ครั้งที่ 6.
กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
นครินทร์
เมฆไตรรัตน์. (2547). การปกครองท้องถิ่นไทย: ศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บูฆอรี ยีหมะ. (2550). การปกครองท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประทาน คงฤทธิศึกษากร. (2526).
การปกครองท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ:
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และโอเดียนสโตร์.
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และโอเดียนสโตร์.
ประหยัด หงษ์ทองคำ. (2526). การปกครองท้องถิ่นของไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
พรชัย เทพปัญญา และคนอื่นๆ. (2527).
การปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบ.
กรุงเทพฯ: สัมพันธ์พาณิชย์.
วุฒิสาร
ตันไชย. (2547). การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น:
ความก้าวหน้าหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540.
นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
สนิท จรอนันต์. (2549).
ความเข้าใจเรื่องการปกครองท้องถิ่น (ฉบับปรับปรุง). พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพฯ: สุขุมและบุตร.
สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2550).
กฎหมายการปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ:
ธรรกมลการพิมพ์.
อนันต์ อนันตกูล. (2521). การปกครองท้องถิ่นของไทย. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.
อุทัย หิรัญโต. (2523). การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
Hill, D. M. (1974). Democratic Theory and Local Government.
London: George Allen & Unwin.
Holloway, W. V. (1951). State and Local Government in the United States.
New York:
McGraw-Hill.
Robson, W. A. (1953). Local Government in Encyclopedia of
Social Science. Vol. X.
New York : The Macmilan
Company.
Wit, D. (1967). A
Comparative Survey of Local Government and Administration. Bangkok: Kurusapha.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น