หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวคิดความด้อยพัฒนา



แนวคิดความด้อยพัฒนา

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

แนวความคิดเกี่ยวกับความด้อยพัฒนามีพื้นฐานเริ่มต้นคล้ายคลึงกับแนวความคิดเกี่ยวกับการพึ่งพา นักวิชาการบางคนถือว่า ทั้งสองแนวความคิดมีความหมายเหมือนกัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งถือว่า ทั้งสองแนวความคิดควรแยกการอธิบายออกจากกัน ส่วน โรนัล เอช ชิลโคท กล่าวว่า ทฤษฎีความด้อยพัฒนามีแนวโน้มแตกต่างกันหลายอย่าง เช่น ลาอุล พลีบิช (Raul Prebisch) และนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการทางเศรษฐกิจสำหรับอเมริกาใต้ในองค์การสหประชาชาติ ครั้งหนึ่งได้อธิบายว่า การพัฒนาทุนนิยมของประเทศอาจทำได้โดยการผลิตสินค้าขึ้นมาแทนการสั่งเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีชนชั้นกลาง การค้า และการอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่
อังเดร กุนเดอร์ แฟรงค์ (Andre Gunder Frank) กล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1966 ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจกับประเทศล้าหลังขอบนอกเป็นผลสะท้อนมาจากการแผ่ขยายของลัทธิการค้าและทุนนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และเขาเชื่อว่า ความด้อยพัฒนาเป็นผลกระทบมาจากลัทธิทุนนิยม
ส่วน ที เซสเตส (T. Szentes) กล่าวไว้คล้ายกับ แฟรงค์ ว่า ช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนานั้นเป็นผลมาจากลัทธิอาณานิคมและการแสวงประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย (ค.ศ. 1971)
อาร์กฮิรี เอมมานูเอล (Arghiri Emmanuel) และซาเมอร์ อามิน (Samir Amin) กล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1972 และ 1976 ตามลำดับว่า ปัญหาการแลกเปลี่ยนที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน มีการถ่ายเทของที่มีคุณค่าจากประเทศขอบนอกไปยังประเทศศูนย์กลาง ประเทศขอบนอกมีความรู้จำกัดจึงประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเบาเป็นสินค้าออกเท่านั้น และการที่ต้องเข้าไปร่วมอยู่ในตลาดโลกทุนนิยม จึงไม่สามารถต่อสู้กับการผูกขาดของต่างชาติได้ และไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

แนวความคิดของทฤษฎีพึ่งพาและทฤษฎีความด้อยพัฒนา ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาและอุปสรรคของประเทศโลกที่สามที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแบบทุนนิยมโดยมิได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด คาร์โดโซ ซังเกล และ ซานโตส เสนอแนวทางแก้ปัญหาการพึ่งพาโดยการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปโครงสร้างภายในของประเทศโลกที่สามเสียใหม่ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเผชิญหน้ากับโครงสร้างของความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมแบบพึ่งพาระหว่างประเทศทั้งสอง คาร์โดโซ ยังเสนอต่อไปอย่างมีเหตุผลว่า ควรจะทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงปัจจัยหรือเงื่อนไขภายในประเทศโลกที่สามว่ามีอะไรที่เกื้อกูลให้ประเทศศูนย์กลางเข้าไปครอบงำอันนำไปสู่การพึ่งพาดังกล่าวบ้าง และเขาได้กล่าวต่อไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้อยพัฒนากับระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเสีย (Zero Sum Game) เหมือนอย่างที่เลนินเคยวิเคราะห์ไว้ แต่เป็นการพัฒนาอย่างพึ่งพาควบคู่กับพัฒนาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Associated Dependent Development) กล่าวคือ ประเทศด้อยพัฒนาสามารถพัฒนาตัวเองได้ระดับหนึ่ง คือ ผลิตสินค้าที่ประเทศพัฒนาเลิกผลิตแล้ว เช่น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาลักษณะนี้ เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาทั้งสองปัจจัย
สำหรับปัจจัยภายใน ควรจะศึกษาถึงบทบาทของรัฐและการเคลื่อนไหวทางชนชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจการปกครองครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ จึงต้องศึกษาถึงโครงสร้างทางสังคมอุดมการณ์ของกลุ่มทางสังคมต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์และการปะทะสังสรรค์ระหว่างกลุ่มพลังดังกล่าว เพื่อรักษาหรือเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์และสถานภาพของคนในสังคม ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการพัฒนา
ส่วนปัจจัยภายนอกซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย ก็คือ บทบาทของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ระดับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงมากจึงเลิกผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก โดยโอนการผลิตมาให้ประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางบรรษัทลงทุนข้ามชาติและส่งผลกำไรกลับบริษัทแม่ต่อไป
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกัน เพราะประเทศกำลังพัฒนาต้องการพัฒนาขีดความสามารถของตน ส่วนประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องการโอนการผลิตสินค้าบางอย่างให้ จึงทำให้เกิดการพัฒนาอย่างพึ่งพากันและแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยมโลกได้พัฒนาไปสู่ระดับที่มีการจัดสรรงานแบบใหม่ (New International Division Labor)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น