หน้าแรก

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก



จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

ในการศึกษาปรัชญาแนวคิดจริยธรรมตะวันออกนั้น จะกล่าวถึงปรัชญาของจีนซึ่งมีแนวคิดเน้นที่การปฏิบัติ มีลักษณะเป็น Ethical Philosophy ที่เน้นด้านความคิด (Wisdom) การมี มโนธรรม และการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นปรัชญาจีนจะเป็นปรัชญาของการปฏิบัติจริงๆ ในสังคม และในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้กล่าวถึงชีวิตหลังความตาย ซึ่งแตกต่างจากปรัชญาของอินเดียที่ไม่แยกขาดจากศาสนา ปรัชญาอินเดียทุกระบบจะรวมอยู่กับศาสนา เพราะฉะนั้นนอกจากจะเน้นที่ปรัชญา เน้นที่มโนธรรมแล้ว ยังมีเรื่องศรัทธา (Faith) กับความเชื่อ (Believe) ด้วย ซึ่งทำให้มีข้อผูกมัด (Commitment) กับหลักศีลธรรมหรือหลักจริยธรรม จึงออกมาเป็นการปฏิบัติได้พุทธศาสนาเป็นปรัชญาอินเดีย เพราะฉะนั้นจริยธรรมในพุทธศาสนาจึงมีลักษณะของปรัชญาอินเดีย มีศรัทธา ความเชื่อ และการปฏิบัติ เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ แนวคิดพื้นฐานทางด้านปรัชญาตะวันนออกว่าด้วยจริยธรรมของนักการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ ปรัชญาเต๋า ปรัชญาขงจื้อ ปรัชญาโม่จื้อ แนวคิดของเม้งจื๊อ แนวคิดของซุนจื๊อ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ปรัชญาเต๋า ถือเป็นกระบวนความคิดทางธรรมและทางปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ ลัทธิธรรมของขงจื้อ และปรัชญาเต๋าของเหลาจื๊อ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนี้เป็นรากฐานสำคัญที่หล่อหลอมอารายธรรมจีนให้มีลักษณะเด่นชัดและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง 


เหลาจื๊อเห็นว่า กฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งครอบงำสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วสากลจักรวาล คือ เต๋า ซึ่งแปลว่า ทางหรือสัจธรรม และสำหรับสิ่งที่มีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช หรืออื่นๆ จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัว เรียกว่า “เต๋อซึ่งแปลว่าพลังอำนาจ (Power);หรือคุณธรรม (Virtue) หลักจริยธรรมของเหลาจื๊อ จำแนกได้ 4 ประการ คือ การรู้จักตนเอง การชนะตนเอง ความสันโดษ และอุดมคติแห่งเต๋า 

ขณะที่ขงจื๊อเห็นว่า ปรัชญาการเมืองมีรากฐานมาจากคุณธรรม ความกตัญญู ความเมตตา คุณงามความดี ความถูกต้อง ความตรงไปตรงมา การสนับสนุนและความไว้วางใจจากประชาชน โดยสั่งสอนให้คนปลูกฝังตนเองก่อน ดูแลจัดการเรื่องในครอบครัวให้เรียบร้อย จึงจะปกครองประเทศให้มีสันติสุขได้ ดังนั้น คำสอนของขงจื๊อจึงถือว่าคุณธรรมกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน 

ปรัชญาโม่จื้อ ถือว่าคุณธรรมของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากอำนาจรัฐเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนปฏิบัติตามหลัก ความรักสากล (Universal love) ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญของผู้ปกครองของรัฐ คือ การดูแลความประพฤติของประชาชน คอยให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติตามหลัก ความรักสากลและคอยลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม 

แนวคิดของเม่งจื๊อ แนวคิดทางด้านจริยธรรมทางการเมืองของเม่งจื๊อ ได้แก่
การเริ่มต้นจากการมองว่า โดยธรรมชาติมนุษย์ดีมาแต่กำเนิด มีความรู้สึกที่ดี 4 ประการ คือ ความเห็นอกเห็นใจ ความละอายในสิ่งที่ผิดและความภาคภูมิใจในสิ่งที่ถูก ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายในสิ่งที่ผิดและภาคภูมิใจในสิ่งที่ถูกเป็นจุดเริ่มต้นของความชอบธรรม ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นจุดเริ่มต้นของความประพฤติอันเหมาะสม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นจุดเริ่มต้นของสติปัญญา
มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง และมนุษย์จะสามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ เมื่ออาศัยอยู่หรือดำรงอยู่ในรัฐหรือในสังคมเท่านั้น ขณะที่รัฐเป็นสถาบันทางศีลธรรม และผู้ปกครองของรัฐเป็นผู้นำที่ทรงคุณธรรม
สิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล คือ ความถูกต้องชอบธรรมและศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ แนวคิดของซุนจื๊อ ถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์เลวมาแต่กำเนิด ความดีเกิดจากการฝึกฝนอบรม
ความดีหรือคุณธรรมมีมาจากการที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม โดยร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อที่จะเอาชนะสัตว์อื่น การที่มนุษย์สามารถแยกความสัมพันธ์ในสังคม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก สามีกับภรรยา พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง
และสามารถปฏิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม ความดีจึงเกิดขึ้น ในขณะที่สัตว์ไม่สามารถแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น