หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน (Theory of Satisfaction of Basic Needs)



ทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน (Theory of Satisfaction of Basic Needs)

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

การที่ผู้รู้ได้หันมาใช้วิธีการใหม่ๆ ในการมองปัญหา ประกอบกับแนวคิดในเรื่องทฤษฎีพึ่งพาทำให้กรอบการพิจารณาและการอ้างอิงของทฤษฎีการพัฒนาแบบเดิมถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเกี่ยวกับความเจริญเติบโต แนวความคิดเกี่ยวกับการทำให้ทันสมัยและการพัฒนาแบบเก่าที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 โดยผู้สนใจในเรื่องการพัฒนาได้หันมาให้ความสำคัญกับความพอใจเรื่องความต้องการพื้นฐานตามแนวทางของ จาขอบ ไวเนอร์ (Jacob Viner) เกี่ยวกับวิธีการที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ (Humanitarian Approach) ซึ่งถูกปฏิเสธมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้
แนวความคิดในเรื่องความต้องการพื้นฐานนี้ ถือว่าเป็นกลยุทธ์มากกว่าที่จะเป็นวิธีการวิเคราะห์แนวความคิดนี้จะตีความหมายข้อมูลที่หามาได้ในแนวทางที่แตกต่างไปจากวิธีที่เคยทำมาก่อนและเป็นแนวความคิดที่เกิดวิพากษ์ตัวเอง (Self-Criticism) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศและธนาคารโลก แนวความคิดนี้เป็นรูปร่างขึ้นมาได้โดยความพยายามของผู้รู้กลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชุมกันที่เมืองโคโคยอค (Cocoyoc) ในประเทศเม็กซิโก ในปี ค.ศ. 1974 โดยถือว่าเป็นโครงการหนึ่งของกลยุทธ์ในการพัฒนาแบบดั้งเดิม จากประสบการณ์หลายปีในการทำงานตามโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดความแน่ใจว่ากระบวนการทางเศรษฐกิจที่ใช้อยู่นี้นั้น มิอาจทำให้ประเทศโลกที่สามสามารถพัฒนาให้ทันประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ จากความแน่ใจดังกล่าวขององค์การระหว่างประเทศได้นำไปสู่การยอมรับว่า ไม่มีทางที่จะอุดช่องว่างระหว่างความร่ำรวยกับความยากจนได้ จึงควรลดวัตถุประสงค์ลงมาสู่ระดับที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ที่ยากจนพอมีปัจจัยทางวัตถุที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตก่อน ดังนั้น กลยุทธ์ใหม่จึงมุ่งสู่ความพอใจในความต้องการพื้นฐาน ทั้งนี้ เพราะกลไกการตลาดที่มีอยู่นั้นสนองตอบเฉพาะความต้องการที่ได้มาจากการมีอำนาจซื้อเท่านั้น ไม่ได้สนองตอบความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วๆ ไปว่าประกอบด้วย อาหาร สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การศึกษา สภาพการทำงาน และความมั่นคงทางสังคม
 
กลยุทธ์ของการพัฒนาดังกล่าวช่วยให้มีความสำนึกถึงสิทธิพื้นฐานของมนุษย์อันสอดคล้องกับหลักแห่งความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์และช่วยทำให้มีผลในแง่สร้างสรรค์อีกหลายๆ อย่างที่ถูกมองข้ามไปบ่อยๆ ตามความเห็นของผู้สนับสนุนแล้ว กลยุทธ์นี้ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่การแก้ไขบางส่วนเท่านั้น เช่น ถ้ามาตรการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามุ่งอยู่ที่โครงการช่วยเหลือประชากรส่วนที่ยากจนที่สุด การช่วยเหลือควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของประชากรที่เกี่ยวข้องด้วย โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งถึงความพอใจในความต้องการพื้นฐาน
ผู้รู้ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า กลยุทธ์แห่งความต้องการพื้นฐานนี้จะต้องไม่เป็นที่เข้าใจอย่างอิสระแยกจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบพึ่งพา หากจะมีการนำเอาไปใช้จริงๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ
ถ้าใช้กลยุทธ์ใหม่นี้เป็นทางเลือกเพื่อใช้แทน ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบใหม่ (New International Economic Order) ซึ่งเรียกร้องให้มีโดยประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น หรืออาจเปลี่ยนเป็นศูนย์บริการระหว่างประเทศของผู้ยากจน (International Care Service for The Poor) การกระทำดังกล่าวอาจแก้ปัญหาความยากจนไปได้ แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใดนั้น ยังเป็นปัญหายากที่จะบอกได้ เพราะกลยุทธ์อันนี้มิได้กล่าวถึงปัญหาหรือสาเหตุ ตลอดจนแนวทางแก้ไขในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ยาก การแสวงหาประโยชน์และความแปลกแยก (Alienation) ต่างๆ ทั้งหลายทั้งมวลที่มีอยู่ ดังนั้น กลยุทธ์ความต้องการพื้นฐานจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทั้งหมดที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์ในประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของการแบ่งปันทรัพยากร เทคโนโลยี และผลผลิตทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น