หน้าแรก

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชุมชนในยุคการรวมกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจและสังคมสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง



ชุมชนในยุคการรวมกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจและสังคมสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง

เขียนโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

1.  บทนำ
ในอดีตที่ผ่านมา การศึกษาชุมชนมักจะมุ่งเน้นเพื่อการเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ลักษณะของชุมชน วัฒนธรรม ความเชื่อและปัญหาของชุมชน เป็นหลัก สิ่งที่มักจะมองข้ามไปก็คือ ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาและพูดถึงความต้องการของชุมชนบ้าง แต่มักจะศึกษาถึงลักษณะความเป็นมาไปได้ในการพัฒนาชุมชน ตามความต้องการของผู้กำหนดนโยบายการพัฒนา ประเทศจากระดับส่วนกลางที่มีอำนาจมากกว่าคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของชุมชนในพื้นที่
ปัจจุบันประชาชนในประเทศไทยมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะมองจากมิติด้านใดก็ตามจะพบรูปแบบความเป็นพลวัตปรากฏในทุกมิติ การศึกษาชุมชนปัจจุบันจะต้องศึกษาอิทธิพลต่างๆ ทั้งจากแรงกดดันภายในชุมชน และแรงกระเพื่อมที่เป็นกระแสผลักดันจากภายนอกชุมชน
ซึ่งมีอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความเป็นพลวัตของชุมชน
อย่างไรก็ตามการศึกษาชุมชนในประเทศไทยมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละจังหวัดได้มุ่งเน้นการศึกษาชุมชนและท้องถิ่นรอบๆ สถาบันของตนเองอย่างให้ความจริงจังข้อนี้ส่งผลให้มีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับมหาภาคของภูมิภาคอย่างลึกซึ่งและกว้างไกล และเพิ่มประโยชน์ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติมากยิ่งขึ้น


2.  วิวัฒนาการชุมชนในประเทศไทย
การพิจารณาตามกระบวนการวิวัฒนาการทางวิชาการอันเกี่ยวกับชุมชน ซึ่งเริ่มขึ้นประมาณเกือบ 100 ปี มีการศึกษาชุมชนที่สามารถแบ่งได้เป็น 4 ยุค ดังนี้
2.1  ยุคการมองชุมชนแบบภาพนิ่ง
ยุคนี้เป็นยุคที่มีการตื่นตัวเพื่อเข้าใจสภาพความเป็นชุมชนแต่ละแบบ และประวัติศาสตร์ของชุมชนแต่ละแบบ ยุคนี้เริ่มต้นแห่งการศึกษาชุมชนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำนักวิชาการแห่งเมืองชิคาโก ซึ่งมีการริเริ่มศึกษาโดยนักวิชาการดังๆ เช่น Robert E.PAPK เป็นต้น โดยได้ศึกษาชุมชนเมืองและชุมชนชนบท มีการเน้นข้อแตกต่างทางกายภาพ และทางนามธรรมหลายประการ ระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบทว่าเป็นอย่างไร อิทธิพลแห่งสำนักนี้ได้มีการแพร่ขยายมายังประเทศไทยด้วย นักวิชาการไทยที่ได้รับการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแห่งนักคิดสำนักชิคาโก ได้กลับมาศึกษาวิจัยสังคมไทยและชุมชนไทยอย่างแข็งขัน พร้อมกับก็ได้ตั้งศูนย์ศึกษาชุมชนในรูปแบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขณะเดียวกันนักวิชาการต่างประเทศจำนวนมากทีมีความเจริญทางการศึกษาและอุตสาหกรรม ก็ได้เดินทางมาทำการศึกษาชุมชนในประเทศไทยไม่ขาดสาย วิธีการศึกษาชุมชนในยุคนี้มักจะเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ อันเป็นรูปแบบการวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาประยุกต์
2.2  ยุคการมองชุมชนแบบมีปัญหา
ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย รัฐบาลในยุคนี้ซึ่งน่าจะอยู่ช่วงทศวรรษแรกๆ แห่งการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ได้พิจารณาเห็นว่าวิถีชีวิตของชาวชนบทไม่มีความเจริญแบบ Civilized โดยมีลักษณะ Uncivilized ไม่ทันสมัย (Unmodern) ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติตามแบบอย่างของชุมชนตามความคิดของผู้นำประเทศในยุคนี้ เช่น ความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษในหมู่บ้านความเชื่อผีเจ้าป่า เจ้าภูเขา รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมของชาวพุทธ เช่น การบูชา กราบไหว้ รูปเคารพ และศาสนสถาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา ล้วนไร้สาระเป็นเชื่อแบบงมงาย ล้าสมัย ไม่ได้ช่วยพัฒนาวัตถุให้ผู้คนได้เสพได้บริโภค ตามความเชื่อของผู้นำประเทศ (รวมทั้งผู้นำทางเศรษฐกิจ และนักวิชาการชั้นนำ) จำเป็นต้องกำจัดประเพณีปฏิบัติและความเชื่อดังกล่าวทั้งหมด เพราะประเพณีปฏิบัติและความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล พิสูจน์ผลไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าสมัยใหม่
ยุคนี้จะเป็นยุคการทำลายล้างคุณค่าของชุมชนอย่างขนานใหญ่ สิ่งที่เรียกในยุคต่อมาว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ปรัชญาชาวบ้าน ได้ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการส่งเสริมและถูกมองว่าเป็น ภูมิปัญญาของคนเถื่อน เป็นปัญหาหรือเป็นสิ่งที่ไม่พึ่งปรารถนา (ของผู้นำประเทศ) ในยุคนี้
การยอมรับวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นวัฒนธรรมนำหน้า ได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและส่งเสริมการบริโภคผลผลิตอย่างขนานใหม่ สิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือการทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ที่ดิน ทะเล และแม่น้ำลำคลอง ทั้งนี้เพื่อแสวงหาวัตถุดิบไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิถีชีวิตในชุมชนชนบทเริ่มขาดความมั่นคง ภาวการณ์ล้มสลายของวัฒนธรรมชุมชนได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสิ่ง ซึ่งเรียกกันอย่างเคารพยกย่องว่า สิ่งจำเป็นแห่งโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจขึ้นเป็นพื้นฐาน อันได้แก่ ถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ชุมชนต่างๆ กลายชุมชน เปลือกแข็งกลวงในกล่าวคือ ลักษณะทางกายภาพยังคงเป็นชุมชนดั้งเดิม มีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางเรื่อง เช่น ที่อยู่อาศัยและการแต่งกาย แต่จิตวิญญาณของความเป็นชุมชนดังเดิม ได้เลือนหายไปเกือบหมด
การศึกษาในยุคนี้เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมการยกระดับค่าครองชีพให้สูงขึ้นสำหรับประชาชนในชุมชน และมักจะวิจัยโดยพยายามที่จะสร้างดัชนีชี้วัดมาตรฐานการครองชีพ เช่นตัวชี้วัดความยากจนเป็นตัวอย่าง และตีความหมายว่าความยากจนเป็นดุจปีศาจร้าย เป็นเหมือนบาปกรรมจำเป็นต้องกำจัดทั้งหมด การมองความยากจนว่าเป็นดุจปีศาจร้าย เป็นที่มาของความรังเกรียดความจน โดยเฉพาะคนจนในชนบทและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ทำให้คนจนถูกปฏิบัติจากผู้ที่มีอำนาจในสังคมในระดับที่ต่ำกว่าคนที่ร่ำรวย ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกันคนรวยเป็นคนไร้ซึ้งศักดิ์ศรี เพราะฉะนั้นคำว่า สองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐานในการปฏิบัติทางสังคมปฐมเหตุที่น่าจะมาจาการรังเกรียดความยากจน อันเกี่ยวโยงไปถึงความรังเกียจคนจนด้วยอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้
2.3  ยุคการมองชุมชนแบบมีคุณค่า
ยุคนี้เริ่มปรากฏมีขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา อันเป็นยุคที่สังคมไทยได้รับผลกระทบจากยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ในยุคที่ผ่านมาได้มีกระบวนการทางสังคมหลายรูปแบบเกิดขึ้น เช่น กระบวนการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
เป็นต้น นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ศึกษาถึงคุณค่าของชุมชนแบบยึดถือประเพณีดั้งเดิม หลายประการและได้รณรงค์ให้มีการศึกษาเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีงามในชุมชนขึ้น สิ่งที่ค้นพบในเรื่องคุณค่าของชุมชนมีชื่อเรียกเป็นแนวคิด (
Convenes) ทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางหลายประการ เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน” “ปรัชญาชาวบ้าน” “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” “ทุนทางสังคมในชุมชน” “ภูมิปัญญาไทยดังที่กล่าวมาเป็นต้น
ในยุคนี้ปรากฏแบบแผนการศึกษาชุมชนแบบใหม่ และการมองชุมชนในแง่ของคุณค่านี้ทำให้เกิดกระบวนการศึกษาอัตลักษณ์ของชุมชน (Community Identity) ความสำคัญของอัตลักษณ์ชุมชนในแง่ที่สัมพันธ์กับการรวมกลุ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับของสมาชิกชุมชน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการยัดเยียด
อัตลักษณ์ของชุมชนให้กลายเป็นสินค้าของชุมชน ซึ่งเป็นการตีค่าอัตลักษณ์ในเชิงพานิชย์ การกระทำดังกล่าวจะทำให้อัตลักษณ์ของชุมชนขาดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ชุมชน ดังปรากฏในพื้นที่หลายแห่งในประเทศ
คุณค่าของสังคมที่สำคัญก็คือชุมชนนั้นเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศชาติ จำเป็นต้องรักษาคุณค่าทางประเพณี วัฒนธรรมอันดีงานของชุมชน ความอ่อนโยน ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ซึ่งเป็นคุณลักษณะทางสังคมและทางจิตใจที่ดีงามของชุมชนให้คงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน
2.4  ยุคมองชุมชนเชิงเครือข่าย
ยุคนี้เป็นยุคต่อเนื่องจากยุคมองชุมชนที่มีคุณค่า การมองชุมชนเชิงเครือข่ายเป็นการมองชุมชนในความหมายที่กว้างไกลและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นิยามชุมชนแบบใหม่ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายนั้นได้รับการยอมรับในวงการวิชาการและวงการบริหารทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่รวมถึงต่างประเทศด้วย ตัวอย่างการมองชุมชนเชิงเครือข่ายที่กำลังเป็นที่จับตามองก็คือ การร่วมกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นประชาคมหรือชุมชนทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY) ซึ่งกำหนดจะเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 แต่สภาพความเป็นชุมชนเชิงเครือข่ายในประเทศไทยนั้นปรากฏว่ามีมานานและแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่เป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่กระจายออกไป ตัวอย่างเช่น ชุมชนเครือข่ายรักษ์ป่าต้นน้ำของภาคเหนือ ชุมชนเครือข่ายเกษตรกรรมแบบวนเกษตร ชุมชนเครือข่ายอินแปงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนเครือข่ายสัจจะออมทรัพย์เพื่อชีวิตประเสริฐทางภาคตะวันออก ภาคใต้ และชุมชนเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
สื่อมวลชนประเภทต่างๆ เป็นกลไกสำคัญในการรวมกลุ่มชุมชนเชิงเครือข่าย เช่นปัจจุบันสื่อวิทยุ โทรทัศน์เป็นสื่อรวมกลุ่มชุมชนทางอากาศให้มีโอกาสได้พบกัน และทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน สื่ออินเตอร์สร้างเครือข่ายของชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันได้รวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ และทำกิจกรรมนั้นๆ ตามความสนใจของสมาชิกชุมชน ชุมชนแฟนคลับ เป็นตัวอย่างของชุมชนเครือข่าย ชุมชนเครือข่ายไม่มีพื้นที่เป็นชุมชนทางกายภาพอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับชุมชนทั่วไปที่นิยมเรียกกัน

3.  รูปแบบชุมชนยุคใหม่
การศึกษาชุมชนเท่าที่นิยมทำกันมาปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบการสำรวจ การศึกษาแบบเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เป็นต้น อย่างไรก็ตามรูปแบบการศึกษาชุมชนยุคใหม่ควรเป็นรูปแบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสร่วมมือกันพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพหรือมีความรู้วิธีการเรียนรู้ตามรูปแบบของการเรียนรู้ปัญหาของตนเอง เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และเรียนรู้กลไกในการพัฒนาตนเองในทุกมิติ

4.  การขยายเครือข่ายสัมพันธภาพของชุมชนในกลุ่มเศรษฐกิจและสังคม
เป็นที่ยอมรับกันว่าความเป็นชุมชนเชิงเครือข่ายจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำนองเดียวกันเครือข่ายสัมพันธภาพการศึกษาก็ขยายตัวมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางวิชาการจะปรับตัวเองให้เป็นสมาชิกองค์การวิชาการทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ข้อนี้จะส่งผลให้เกิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างประเทศกว้างขวางอีกด้วย รูปแบบเครือข่ายสัมพันธภาพการศึกษาชุมชนจะเห็นได้ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศกับสถาบันการศึกษาในระดับเดียวกันในต่างประเทศ ความร่วมมือกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ และส่งเสริมการศึกษาระหว่างสถาบัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากข้อตกลงความร่วมมือกัน
ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยของเอกชนหลายแห่งได้ทำข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร และนิสิตนักศึกษาระหว่างกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยเหล่านี้กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทั่วไปในระดับประเทศเพื่อนบ้าน และระดับประเทศที่ห่างไกลออกไปการขยายเครือข่ายความสัมพันธ์การศึกษาระหว่างประเทศ ควรมีการดำเนินการไปอย่างเป็นอิสระ โดยเป็นอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง และทางศาสนา การศึกษาชุมชนที่มีลักษณะเป็นพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้อาจจะต้องใช้ทฤษฎีวิธีศึกษาแบบร่วมมือหรือทฤษฎีหลายทฤษฎี ไม่ควรใช้รูปแบบศึกษาเพียงแบบเดียวหรือวิธีเดียว

5.  สรุป
การศึกษาชุมชนที่ดีควรมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและคำนึงถึงสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในชุมชนเป็นหลัก การให้โอกาสแก่ประชาชนในชุมชนได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาที่ตนเอง ประสบปัญหาของคนรอบด้านพร้อมกับส่งเสริมวิธีการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องและเป็นระบบ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เป็นยุทธวิธีการวิจัยที่พึงประสงค์มากที่สุดในยุคนี้
ในยุคที่มีการเปิดประเทศเพื่อรวมเป็นเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจและสังคมนี้ การศึกษาจะต้องดำเนินไปในลักษณะรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชนภายในประเทศ และชุมชนรอบๆ ประเทศ การรู้จักตนเอง จนกระทั่งพัฒนาขึ้นมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ตนเองได้นั้น สามารถประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจ
และรู้จักชุมชนเพื่อนบ้านรอบๆ ตัวเราได้เช่นเดียวกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น