แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร งามละม่อม
Wachirawachr Ngamlamom
สังคมไทยก็เหมือนกับสังคมมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่หยุดอยู่นิ่งๆ
หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ
ในระดับเดียวกันแล้ว
ก็อาจกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัว
เองไม่ทัน จนเกิดปัญหาทางวัฒนธรรมที่ต้องมีการแก้ไขกันตลอดมา
ทั้งนี้ก็เพราะแต่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมประชาชน ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทที่มีการทำนาและการเพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก
การผลิตแต่เดิมก็เป็นแต่เพียงให้พอมีพอกิน
ไม่ได้ผลิตอย่างใหญ่โตเพื่อส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศ
จึงไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด
แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลิตสิ่งต่างๆ
เพื่อส่งออกไปขายนอกประเทศ การผลิตผลิตผลทางการเกษตร
ซึ่งแต่เดิมผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ แบบดั้งเดิม
ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเป็นจำนวนมากโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย
เข้ามาช่วย มีการลงทุนและการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะการใช้ที่ดินก็มีการขยายเขตการเพาะปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดไปตาม บริเวณต่างๆ
โดยเฉพาะที่ดอนและที่ตามป่าเขา
ก่อให้เกิดการรุกล้ำป่าสงวนและการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวางการผลิตแบบ
ที่เป็นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่มีศักยภาพทั้งใน
ด้านเงินทุน กำลังคน และเทคโนโลยีจะทำได้
จึงเป็นเรื่องของบุคคลร่ำรวยที่เป็นนายทุน
สิ่งที่ควบคู่กันไปกับการเกษตรอุตสาหกรรมคือการขยายตัวทางอุตสาหกรรม
เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่นำทรัพยากรต่างๆ ของประเทศมาผลิตสินค้าประเภทต่างๆ
อย่างมากมาย ทำให้เกิดย่านอุตสาหกรรมและย่านพาณิชยกรรมขึ้นตามเมืองต่างๆ
ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากมาย
เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ
อยู่ตลอดเวลา มีทั้งการย้ายจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง เช่น
ในภาคอีสานไปอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ เป็นต้น กับการย้ายจากท้องถิ่นในชนบทเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำงานเป็น
กรรมกรในเมืองซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานดังกล่าวนี้มีผลกระทบทางสังคมและ
วัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในชนบทและในเมืองเป็นอย่างมาก
ในสังคมชนบทนั้นแต่เดิมอยู่กันอย่างเรียบง่ายในกรอบของประเพณีที่มีจารีตและขนบธรรมเนียมท้องถิ่นคอยควบคุมให้ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข
ปัจจุบันเมื่อคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานที่อื่นโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัว หน้าครอบครัวขาดหายไปเป็นเวลาหลายๆ
เดือน ทำให้สภาพครอบครัวขาดความสมบูรณ์ เด็กไม่มีความอบอุ่น ในขณะ
ที่คนรุ่นใหม่ก็หมดความเชื่อถือในความรู้ความสามารถต่อการเป็นผู้นำของคน
รุ่นก่อนเพราะตนได้เล่าเรียนความรู้ใหม่ๆ
จากในเมืองมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้
พร้อมกันนั้นก็รับเอาความทันสมัยหลายๆ อย่างมาจากภายนอก
จึงทำให้หมดความเลื่อมใสและเชื่อถือในสิ่งที่เป็นจารีตและประเพณีของท้อง
ถิ่นที่เคยมีบทบาทในการสร้างและควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคม
ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีกลุ่มชนกลุ่มใหม่เข้าไปขยายที่ทำกินและตั้งถิ่นฐาน
จนทำให้เกิดลักษณะบ้านแบบใหม่ๆ เช่น บ้านจัดสรร ขึ้นนั้น
เกือบจะทำให้ความเป็นสังคมท้องถิ่นแต่เดิมล่มสลายลงไปก็ว่าได้
ทั้งนี้เพราะคนในท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน
ความเรียบง่ายและการอยู่ร่วมกันที่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของชนชั้นก็หมดไป
สังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นสังคมที่ซับซ้อนแบบมีชนชั้น
และความรู้สึกในเรื่องการเป็นปัจเจกบุคคลก็มีปรากฏทั่วไปในชนบท
ส่วนในสังคมเมืองนั้นภาวะความแออัดเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุม
ความเป็นสังคมเปิดที่ทำให้ติดต่อกับภายนอกได้อย่างสะดวกสบายนั้น
เป็นผลให้คนได้แต่รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกเข้ามา
โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมหรือไม่กับบ้าน เมืองของตน
เข้ากันได้กับสิ่งที่มีมาแต่เดิมเพียงใด
เมื่อไม่มีการกลั่นกรองความขัดแย้งก็เกิดขึ้น
การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยที่หยุดนิ่งอย่างเป็น
อุดมคติก็ดี นโยบายทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีที่เป็นการส่งออกของรัฐบาลก็ดี
ล้วนเป็นสิ่งที่ชักจูงคนในสังคมรุ่นใหม่ให้หันไปเห็นความสำคัญทางวัตถุและ
ความเป็นปัจเจกบุคคลตลอดเวลา
ทำให้สังคมมีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นจนยากแก่การควบคุมเกิด
กลุ่มอาชีพกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายจนเป็นชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมาก มาย
โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน
จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีอิทธิพลในเรื่อง
การเมืองการปกครองของประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ดี
หรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าก็ดี มีผลนำไปสู่การละเมิดกฎหมายอยู่เนืองๆ
การเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมทำให้เมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจากภายนอกเข้ามา
โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของพวกชาวนาในชนบทที่เข้ามาเป็นกรรมกรตามโรงงาน อุตสาหกรรม
กรรมกรทำงานก่อสร้าง ตลอดจนคนงานลูกจ้างด้านบริการต่างๆ นั้น
ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมากมาย อย่างเช่น ปัญหาชุมชนแออัด แหล่งเสื่อมโทรม
ปัญหาเรื่องการลักขโมย ปล้นจี้ ซึ่งรวมไปถึงปัญหาทางโสเภณีและการว่างงานด้วย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาของความไม่มั่นคงภายในที่เป็นส่วน รวม
ถ้ามองให้กว้างกว่าเมืองออกไปถึงบริเวณชานเมืองรอบนอกที่แต่เดิมเป็นชนบท ก็จะพบว่าหลายๆ
แห่งทีเดียวที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกร
เพราะผู้ที่เป็นชาวนาแต่ก่อนเคยมีที่ดินทำการเพาะปลูกด้วยตนเองนั้น
มีเป็นจำนวนมากที่ขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
หรือไม่ก็เพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ในลักษณะที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม
จึงต้องเปลี่ยนสภาพและฐานะตนเองเป็นกรรมกรรับจ้าง
ทำงานให้กับกิจการทางอุตสาหกรรมเหล่านั้น
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่แตก
ต่างไปจากเดิม
ซึ่งการปรับตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบใหม่นี้ไม่ใช่ของง่าย
ผู้ที่ประสบความล้มเหลวอาจกลายเป็นคนยากจนที่มีความเสื่อมทางด้านจิตใจและ
ศีลธรรมที่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการได้
เมื่อสรุปเป็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
และวัฒนธรรมในสังคมไทยโดยทั่วไปในขณะนี้
ก็อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ ดี
หรือการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมกรรมกรก็ดี
เป็นไปในลักษณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปรับตัวไม่ทัน
เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการทำตัวเอง
ให้กลมกลืนกับจักรวาล และการสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการทางวัตถุกับทางจิตใจ
ที่มีผลทำให้ผู้คนต้องพึ่งพากันเองและร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสภาพแวด
ล้อมทางธรรมชาติ
มาเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีแต่ความต้องการทางวัตถุและการเป็นปัจเจกบุคคล
แล้วสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เน้นการควบคุมจักรวาลแทน ผลที่เห็นในปัจจุบันก็คือ การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตผลิตผลทางเศรษฐกิจจนเกินความจำ
เป็น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่พอจะเหลือไว้ให้คนในรุ่น
หลังๆ ได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่นนั้นหมดสิ้นไปโดยไม่จำเป็น
1. ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ราชบัณฑิตยสถาน
(2524) อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การที่ระบบสังคม กระบวนการ
แบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบครอบครัว ระบบการปกครอง
ได้เปลี่ยนแปลงไป
ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้อาจจะเป็นไปในทางก้าวหน้าหรือถดถอย
เป็นไปได้อย่างถาวรหรือชั่วคราว โดยวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง
และที่เป็นประโยชน์หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น
พัทยา สายหู (2529) ได้อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ด้วยกัน
อันเป็นผลมาจากระเบียบที่กำหนดการกระทำ และความสัมพันธ์ของคน เช่น สิทธิและหน้าที่ ขนบธรรมเนียมประเพณี
บทบาทและสถานภาพ มีการเปลี่ยนแปลง
สนิท สมัครการ (2538) อธิบายว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงใดๆ
ที่มีผลทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดมีความแตกต่างกันขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแล้ว
การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ว่าจะเล็กน้อย
หรือใหญ่โตเพียงไรก็ตามย่อมถือได้ว่าเป็นเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ทั้งสิ้น
โดยสรุป
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social change) หมายถึง
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ทั้งระดับจุลภาคและระดับมหภาค ซึ่งอาจเป็นผลดีหรือผลเสียก็ได้
1) สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
นักสังคมวิทยาและนักมนุษยวิทยา
ต่างมีความเห็นพร้องกันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่ามี 5 สาเหตุดังนี้
(1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและประชากร
(The Physical Environment and
Population) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ความแห้งแล้ง
เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดการเสียระเบียบของสังคม (Disorganization) และความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่มีต่อกันถูกเปลี่ยนไป
เช่น สมาชิกในครอบครัวต้องแยกจากกัน เพราะการเสียชีวิต และการพลัดพรากจากกัน
เป็นต้น
(2) เทคโนโลยี (Technology)
เมื่อมีสิ่งใหม่ที่ทันสมัยเกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นได้เองหรือการรับเอามาใช้
สังคมย่อมได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งอาจเป็นระดับกลุ่มหรือระดับโครงสร้างสังคมขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นมากหรือน้อย
เพราะเทคโนโลยีทำให้มนุษย์ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการกระทำต่อกิจกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้
บางสิ่งต้องสร้างระเบียบในการทำงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของเทคโนโลยี
แต่เทคโนโลยีบางอย่างอาจทำให้มนุษย์ต้องทำงานมากขึ้นและเร็วขึ้นจนต้องทำให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อครอบครัวและคนอื่นๆ
ในชีวิตประจำวันมีการเปลี่ยนแปลงไป
แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้อาจทำให้เกิดความล้าทางวัฒนธรรม (Cultural
Lag) ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่
ที่ปรับตัวในอัตราที่ไม่เท่ากันจนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างกันและเป็นปัญหาสังคมตามมา
(2.1) วัฒนธรรมอวัตถุ
(Nonmaterial culture) นักสังคมวิทยามองว่า
วัฒนธรรมที่เป็นอวัตถุเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุตามมา
สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทั้งหลายเกิดมาจากคตินิยม (Ideology)
ที่ถ่ายทอดออกมาสู่วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ หากความคิดเห็น ความเชื่อ
และวิธีการคิดของคนในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความอยู่รอด
การเปลี่ยนแปลงภายในสังคมก็จะเกิดขึ้นตามมา
(2.2) กระบวนการทางวัฒนธรรม (Cultural Processes) เมื่อเกิดการค้นพบ
(Discovery) และมีการประดิษฐ์ (Invention) จนเกิดเป็นนวัฒกรรม (Innovation) ขึ้นในสังคม
การเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ทำให้เกิดการแพร่กระจายของวัฒนธรรม
(Cultural diffusion) จากคนกลุ่มหนึ่งหรือสังคมหนึ่ง
ไปสู่คนกลุ่มอื่นหรือสังคมอื่น สังคมที่รับเอานวัฒกรรมไว้ใช้ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้น
(2.3)
การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Economic Development) ทำให้เกิดความทันสมัย
(Modernization) เพราะมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตตามแบบดั้งเดิมในยุคสังคมเกษตรกรรม
(Preindustrial Society) ไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมและแบบเมือง
ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ความเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization)
ที่เปลี่ยนระบบการผลิตจากการใช้แรงงานมนุษย์ไปสู่การใช้แรงงานจากเครื่องจักรกล
ใช้ระบบการทำงานแบบอุตสาหกรรม บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม
เกิดความเป็นเมือง (Urbanization) เพราะมีการอพยพแรงงานจากชนบทเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม
การทำงานในกิจกรรมต่างๆ เปลี่ยนรูปแบบไปสู่ความเป็นระบบราชการ (Bureaucratization) เกิดเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการจัดการที่เป็นทางการ
2) รูปแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติประการหนึ่ง
กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมนุษย์เป็นผู้กระทำอีกประการหนึ่ง
แต่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงสามารถทำให้เกิดรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง 2 แบบ
ดังนี้
(1) การเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรง เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กล่าวว่า
ทุกสังคมจะมีวิวัฒนาการแบบเดียวกันตลอด
โดยเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมขั้นต่ำไปสู่สังคมที่มีความเจริญของอารยธรรมระดับสูงขั้นต่อไป
นักวิชาการที่เสนอรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบเส้นตรงได้แก่ ออกุสต์ กองต์
เลวิส เฮนรี่ มอร์แกน และคาร์ล มาร์คซ์ เป็นต้น
(2) การเปลี่ยนแปลงแบบวัฎจักร
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่มีความสม่ำเสมอ สังคมจะมีจุดเริ่มต้น
จากนั้นจะค่อยๆ เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุดก็จะเสื่อมสลายไป
คล้ายกับความเจริญของมนุษย์ที่เริ่มจากเด็กทารก เติบโตเป็นวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่
วัยชรา และในที่สุดก็ตายจากไป
หรือหากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาในวันหนึ่งๆ คือ เริ่มจากเช้ามืด สว่าง
และมืด แล้วค่อยๆ กลับมาเช้าใหม่
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เมื่อสังคมมีความเจริญถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะค่อยๆ เสื่อมสลายลง
โดยไม่ได้สูญหายไปแต่จะมีการปรับปรุงและเจริญขึ้นมาใหม่ เช่น สังคมของกรีก อียิปต์
จีน อินเดีย เป็นต้น
3) สังคมในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ทุกสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ยุคปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
แต่บางประเทศกำลังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมยุคใหม่ที่เรียกว่า
สังคมภายหลังยุคสังคมอุตสาหกรรม (Postindustrial
Society) ซึ่งจะมีความแตกต่างจากสังคมอุตสาหกรรม ดังนี้ (Daniel
Bell อ้างใน Popenoe, 1993)
(1) ระบบเศรษฐกิจ
เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการบริการ (Service) มากกว่าสินค้า (Goods)
(2) แรงงานในการผลิตใช้ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer) ควบคุมการทำงานแทนการใช้เครื่องจักกล (Machine)
(3) สถานภาพของแรงงานระดับผู้ใช้แรงงาน หรือแรงงานชั้นต่ำ
(Blue – Collar มีจำนวนลดลง
แต่แรงงานระดับบริหารงาน หรือแรงงานชั้นกลาง (White-Collar) จะมีมากขึ้น
(4)
การแก้ไขปัญหาสังคมของสังคมสังคมภายหลังยุคสังคมอุตสาหกรรมต้องใช้เทคนิคระดับสูง
เพราะคนในสังคมมีความรู้และความสามารถมากขึ้น
(5) รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการบริหารและการจัดการในกิจการต่างๆ
แทนเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่เป็นของสาธารณะจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ประชาชนส่วนใหญ่จะทำงานให้กับภาครัฐบาลในทุกๆ กิจกรรม
อย่างไรก็ตามแนวความคิดของลักษณะของสังคมภายหลังยุคสังคมอุตสาหกรรมยังไม่สามารถที่จะสรุปได้
เพราะการเปลี่ยนแปลงในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
สาเหตุของการเปลี่ยนทางสังคมบางอย่างมนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น แผ่นดินไหว
และวาตภัยต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทั้งแบบรวดเร็วหรือแบบค่อยเป็นค่อยไปมีผลกระทบต่อมนุษย์เสมอ
แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น
มนุษย์จะต้องเข้าไปทำการแก้ไขเสมอ เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆ
ที่มนุษย์พึงพอใจอย่างสมบูรณ์แบบ
2. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สามารถจำแนกและแบ่งกลุ่มได้ดังนี้
1. ทฤษฎีวิวัฒนาการ
(Evolutionary theory) เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีวภาพของชาร์ลส์
ดาร์วิน (Charles Darwin) โดยนักสังคมวิทยาในกลุ่มทฤษฎีวิวัฒนาการเสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับ
โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งในลักษณะที่มีการพัฒนาและก้าวหน้ากว่าขั้นที่ผ่านมา
มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีรูปแบบเรียบง่ายไปสู่รูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
และมีความเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสังคมที่มีความสมบูรณ์
ตัวอย่างของนักสังคมวิทยาที่สร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยใช้แนวความคิดวิวัฒนาการ
มีดังนี้
ออกุสต์ กองต์ (Auguste Comte) เสนอว่า
สังคมมนุษย์มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge) ผ่าน 3 ขั้นตอน ตามลำดับ คือ จากขั้นเทววิทยา (Theological
stage) ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา (Metaphysical stage) และไปสู่ขั้นวิทยาศาสตร์ (Positivistic stage)
ลิวอิส เฮนรี่
มอร์แกน (Lewis Henry Morgan) เสนอว่า
สังคมจะมีขั้นของการพัฒนา 3 ขั้นคือ จากสังคมคนป่า (Savage)
ไปสู่สังคมอนาอารยชน (Barbarian) และไปสู่สังคมอารยธรรม
(Civilized)
เฮอร์เบิร์ต
สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) เสนอว่า
วิวัฒนาการของสังคมนุษย์เป็นแบบสายเดียว (Unilinear) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลมีจุดกำเหนิดมาจากแหล่งเดียวกันด้วยและมารวมตัวกันด้วยกระบวนการสังเคราะห์
(Synthesis) ทำให้เกิดพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
การพัฒนาของสังคมจะมีวิวัฒนาการเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กล่าวคือ
มนุษย์ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ
ได้เป็นอย่างดีจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป และนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไป
เฟอร์ดินาน
ทอยนีย์ (Ferdinand Tonnies) เสนอว่า
สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมแบบ Gemeinschaft ไปสู่สังคมแบบ
Gesellschaft
โรเบิร์ต เรดฟิวด์
(Robert Redfield) เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเริ่มจากสภาพของสังคมชาวบ้าน (Folk) เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบเมือง (Urban)
ต่อมาแนวความคิดในการสร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบสายเดียว
(Unilinear) ที่เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเปลี่ยนผ่านแต่ละขั้นที่กำหนดไว้ ได้รับการโต้แย้งว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม น่าจะมีวิวัฒนาการแบบหลายสาย (Multilinear) เพราะแต่ละสังคมมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน มีรูปแบบของสังคมที่แตกต่างกัน
หรือแม้ว่าสังคมที่มีรูปแบบที่เหมือนกันแต่อาจจะมีสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันก็เป็นได้
2. ทฤษฎีความขัดแย้ง
(Conflict Theory) เป็นแนวความคิดที่มีข้อสมมุติฐานที่ว่า
พฤติกรรมของสังคมสามารถเข้าใจได้จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ และบุคคลต่างๆ
เพราะการแข่งขันกันในการเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีค่าและหายาก
มีนักสังคมวิทยาหลายท่านที่ใช้ทฤษฎีความขัดแย้งอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่ในที่นี้จะเสนอแนวความคิดของนักทฤษฎีความขัดแย้งที่สำคัญ 3 ท่าน ดังนี้
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) มีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของทุกๆ สังคม
จะมีขั้นตอนของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้น
โดยแต่ละขั้นจะมีวิธีการผลิต (Mode of Production) ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของ
อำนาจของการผลิต (Forces of Production) ซึ่งได้แก่
การจัดการด้านแรงงาน ที่ดิน ทุน และเทคโนโลยี กับ ความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต
(Social Relation of Production) ซึ่งได้แก่
เจ้าของปัจจัยการผลิต และคนงานที่ทำหน้าที่ผลิต
แต่ในระบบการผลิตแต่ละระบบจะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับผู้ใช้แรงงานในการผลิต
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างของสังคม (Substructure)
และเมื่อโครงสร้างส่วนล่างมีการเปลี่ยนแปลงจะมีผลทำให้เกิดการผันแปรและเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างส่วนบนของสังคม
(Superstructure) ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคม เช่น รัฐบาล
ครอบครัว การศึกษา ศาสนา และรวมถึงค่านิยม ทัศนคติ และบรรทัดฐานของสังคม
ลำดับขั้นของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์ มีดังนี้
- ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม (Primitive
Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของเผ่า (Tribal
Ownership) ต่อมาเผ่าต่างๆ ได้รวมตัวกันเป็นเมืองและรัฐ
ทำให้กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเปลี่ยนไปเป็นของรัฐแทน
- ขั้นสังคมแบบโบราณ (Ancient Communal) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐ (State Ownership) สมาชิกในสังคมได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ซึ่งได้แก่ เครื่องใช้ส่วนตัว และทาส ดังนั้นทาส (Slavery) จึงเป็นกำลังสำคัญในการระบบการผลิตทั้งหมด
และต่อมาระบบการผลิตได้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของทาสและทาส
- ขั้นสังคมแบบศักดินา (Feudalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของขุนนาง คือ ที่ดิน
โดยมีทาสเป็นแรงงานในการผลิต
- ขั้นสังคมแบบทุนนิยม (Capitalism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุน คือ ที่ดิน ทุน แรงงาน
และเครื่องจักร โดยมีผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ผลิต
- ขั้นสังคมแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของทุกคน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
ไม่มีใครเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ตามแนวความคิดของมาร์กซ์
ลำดับขั้นของการนำไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นล่างของสังคมเกิดจาก
กระบวนการดังต่อไปนี้
- มีความต้องการในการผลิต
- เกิดการแบ่งแยกแรงงาน
- มีการสะสมและพัฒนาทรัพย์สินส่วนบุคคล
- ความไม่เท่าเทียมทางสังคมมีมากขึ้น
- เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นในสังคม
-
เกิดตัวแทนทางการเมืองเพื่อทำการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละชนชั้น
- เกิดการปฏิวัติ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามแนวความคิดของมาร์กซ์
เป็นการต่อสู่ระหว่างระหว่างชนชั้นในสังคม โดยใช้แนวความคิดวิภาษวิธี (Dialectical) ที่เริ่มจาก การกระทำ (Thesis) ซึ่งเป็นสาเหตุของ การเปลี่ยนแปลงการกระทำ (Antithesis) และเกิดการกระทำแบบใหม่ (Synthesis) ตามมา
ลิวอิส เอ.
โคเซอร์ (Lewis A. Coser) เป็นนักทฤษฎีความขัดแย้ง
ที่มองว่า ความขัดแย้งก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ และอธิบายว่า
ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
ไม่มีกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสมานสามัคคีอย่างสมบูรณ์
เพราะความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ทั้งในความเกลียดและความรักต่างก็มีความขัดแย้งทั้งสิ้น
ความขัดแย้งสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกและทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มได้เพราะในกลุ่มมีทั้งความเป็นมิตรและความเป็นศัตรูอยู่ด้วยกัน
โคเซอร์มีความเห็นว่าความขัดแย้งเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สามารถทำให้สังคมเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่จากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้
เพราะหากสมาชิกในสังคมเกิดความไม่พึงพอใจต่อสังคมที่เขาอยู่
เขาจะพยายามทำการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของเขาได้
นอกจากนี้
โคเซอร์
ยังเสนอว่า ความขัดแย้งยังสามารถทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ลดความเป็นปรปักษ์
พัฒนาความซับซ้อนของโครงสร้างกลุ่มในด้านความขัดแย้งและร่วมมือ
และสร้างความแปลกแยกกับกลุ่มต่างๆ เป็นต้น
ราล์ฟ
ดาห์เรนดอร์ฟ (Ralf Dahrendorf) เป็นนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน
ที่ปฏิเสธแนวความคิดของมาร์กซ์ ที่ว่า ชนชั้นในสังคมเกิดจากปัจจัยการผลิต
และเสนอว่า
ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิอำนาจ (Authority)
กลุ่มที่เกิดขึ้นภายในสังคมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
กลุ่มที่มีสิทธิอำนาจกับกลุ่มที่ไม่มีสิทธิอำนาจ สังคมจึงเกิดกลุ่มแบบไม่สมบูรณ์ (Guasi-groups)
ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างก็มีผลประโยชน์แอบแฝง (Latent
Interest) อยู่เบื้องหลัง ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอาไว้
โดยมีผู้นำทำหน้าที่ในการเจรจาเพื่อปรองดองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ระดับของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากหรือรุนแรงน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการและการประสานผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครอบงำ
และเสนอความคิดว่า
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นผลมาจากความกดดันจากภายนอกโดยสังคมอื่นๆ
และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสามารถควบคุมได้ด้วยการประนีประนอม
ตามแนวความคิดของดาห์เรนดอร์ฟ ความขัดแย้งสามารถทำให้โครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลงได้
ประเภทของการเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง
และขนาดของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง เช่น อำนาจของกลุ่ม
ความกดดันของกลุ่ม
3. ทฤษฎีโครงสร้าง
- หน้าที่ (Structural - Functional Theory) แนวความคิดในการพัฒนาทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่เป็นผลมาจากการนำเอาแนวความคิดทางด้านชีววิทยามาใช้
โดยอุปมาว่า โครงสร้างของสังคมเป็นเสมือนร่างกายที่ประกอบไปด้วยเซลล์ต่างๆ
และมองว่า หน้าที่ของสังคมก็คือ การทำหน้าที่ของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
โดยแต่ละส่วนจะช่วยเหลือและเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อให้ระบบทั้งระบบมีชีวิตดำรงอยู่ได้
โรเบิร์ต เค.
เมอร์ตัน (Robert K. Merton) ได้จำแนกหน้าที่ทางสังคมเป็น
2 ประเภทคือ หน้าที่หลัก (Manifest) หน้าที่รอง
(Latent) หน้าที่ที่ไม่พึงปรารถนา (Dysfunctional) หน้าที่ของบางโครงสร้างของสังคมอาจมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่
แต่ขณะเดียวกันคนบางส่วนอาจได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดหรืออาจไม่ได้รับประโยชน์เลย
ซึ่งรวมไปถึงอาจจะมีคนบางกลุ่มหรือบางส่วนของสังคมได้รับผลเสียจากทำงานของโครงสร้างของสังคมนั้นก็ได้
อีมีล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) มีแนวความคิดว่า หน้าที่ของสังคมคือ
ส่วนที่สนับสนุนให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ เอ.อาร์ แรดคลิฟฟ์
บราวน์ (A.R. Radcliffe - Brown) กับ โบรนิสลอว์
มาลิโนว์สกี้ (Bronislaw Malinowski) ที่มองว่า
หน้าที่ทางสังคม เป็นส่วนสนับสนุนให้โครงสร้างสังคมคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
เพราะสังคมมีกระบวนการทางสังคมที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น
บรรทัดฐาน ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี เป็นต้น
ทาลคอทท์ พาร์สัน
(Talcott Parsons) มีแนวความคิดว่า
สังคมเป็นระบบหนึ่งที่มีส่วนต่างๆ (Part) มีความสัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ที่คงที่ของแต่ละส่วนจะเป็นปัจจัยทำให้ระบบสังคมเกิดความสมดุลย์ (Equilibrium)
ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พาร์สันเสนอว่า
เกิดจากความสมดุลย์ถูกทำลายลง เพราะองค์ประกอบของสังคมคือ บุคลิกภาพ (Personality)
อินทรีย์ (Organism) และวัฒนธรรม (Culture)
เกิดความแตกร้าว โดยมีสาเหตุมาจากทั้งสาเหตุภายนอกระบบสังคม เช่น
การเกิดสงคราม การแพร่กระจายของวัฒนธรรม เป็นต้น และสาเหตุจากภายในระบบสังคม
ที่เกิดจากความตึงเครียด (Strain) เพราะความสัมพันธ์ของโครงสร้างบางหน่วย
(Unit) หรือหลายๆ หน่วย ทำงานไม่ประสานกัน เช่น
การเปลี่ยนแปลงทางประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นสาเหตุทำให้ส่วนอื่นๆ
มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดหนึ่งหนึ่งหรืออาจเกิดขึ้นทั้งระบบก็ได้
พาร์สันเน้นความสำคัญของวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึง ความเชื่อ บรรทัดฐาน
และค่านิยมของสังคม คือ
ตัวยึดเหนี่ยวให้สังคมมีการรวมตัวเข้าด้วยกันและเป็นตัวต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม
โดยสรุปแล้ว
แนวความคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง - หน้าที่ มีลักษณะดังนี้
- ในการศึกษาและการวิเคราะห์สังคมต้องมองว่า
สังคมทั้งหมดเป็นระบบหนึ่งที่แต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
-
ความสัมพันธ์คือสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
- ระบบสังคมเป็นการเคลื่อนไหวเข้าสู่ความสมดุล
การปรับความสมดุลของระบบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระบบตามไปด้วยความต่อเนื่องของกระบวนการของข่าวสารจากภายในและภายนอก
นอกจากนี้ทฤษฎีระบบยังมองว่า ความขัดแย้ง
ความตึงเครียดและความไม่สงบสุขภายในสังคมก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีระบบก็มีข้อจำกัดในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เนื่องจากในการวิเคราะห์ตามทฤษฎีระบบเป็นการศึกษาเฉพาะเรื่อง
จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาความสัมพันธ์กับระบบอื่นได้อย่างลึกซึ้ง
4. ทฤษฎีจิตวิทยา - สังคม (Social -
Psychological Theory) จากแนวความคิดด้านจิตวิทยา-สังคม เสนอว่า
การพัฒนาทางสังคมเกิดจากการทำงานของปัจจัยทางด้านจิตวิทยาที่เป็นแรงขับให้ประชาชนมีการกระทำ
มีความกระตือรือร้น มีการประดิษฐ์ มีการค้นพบ มีการสร้างสรรค์ มีการแย่งชิง
มีการก่อสร้าง และพัฒนาสิ่งต่างภายในสังคม
นักสังคมวิทยาที่ใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีดังนี้
แมค เวเบอร์ (Max Weber) เป็นนักสังคมวิทยาคนแรกที่ใช้หลักจิตวิทยามาใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
และในผลงานที่ชื่อว่า The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism เสนอว่า การพัฒนาของในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามลัทธิทุนนิยม
มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่เกิดขึ้นหลังสมัยศตวรรษที่ 16 เมื่อในยุโรปตะวันตกมีการแพร่กระจายคำสอนของศาสนาคริสต์ ลัทธิโปรแตสแตน (Protestant
Ethic) ที่สอนให้ศาสนิกชนเกิดจิตวิญญาณแบบทุนนิยม (Spirit of
Capitalism) เป็นนักแสวงหาสิ่งใหม่
มุ่งสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดการยอมรับ ทำงานหนักเพื่อสะสมความร่ำรวย
เก็บออมเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน สร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง เวเบอร์ยังเสนอว่า
การพัฒนาของจิตวิญญาณแบบทุนนิยมทำให้เกิดลัทธิความมีเหตุผล (Rationalism) ซึ่งภายใต้สังคมที่ใช้ความมีเหตุผลจะทำให้บุคคลมีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ สุจริต
ยอมรับสิ่งใหม่และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ๆ เวเบอร์เชื่อว่า
อิทธิพลของความคิด ความเชื่อและบุคลิกภาพของคนในสังคมภายใต้สภาวะดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา
อีวีเรทท์ อี
เฮเกน (Everett E. Hagen) มีแนวความคิดสอดคล้องกับเวเบอร์ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีการเริ่มต้นมาจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
และเสนอว่า การเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิม(Traditional) ไปสู่สังคมสมัยใหม่
(Modern) จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของบุคคล
(Personality) โดยเสนอว่า บุคลิกภาพของคนในสังคมดั้งเดิมมีลักษณะตายตัวที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มสังคม
เป็นบุคลิกของคนที่ต้องมีการสั่งการด้วยบังคับบัญชา ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
และไม่มีการประดิษฐ์คิดค้น
เพราะคนเหล่านั้นมองโลกยถากรรมมากกว่าที่จะมองโลกแบบวิเคราะห์
และต้องการควบคุมให้เป็นไปตามที่คิด
ซึ่งเป็นผลทำให้สังคมแบบดั้งเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ส่วนในสังคมสมัยใหม่เฮเกนเสนอว่า บุคลิกภาพของคนที่มีความสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็น
และเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ มองโลกที่อยู่รอบตัวเขาอย่างมีเหตุมีผล
บุคลิกภาพของคนในสังคมสมัยใหม่จึงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่อย่างไรก็ตามเฮเกน ได้เสนอว่า
บุคลิกของคนในสังคมดั้งเดิมสามารถที่จะเปลี่ยนไปสู่บุคลิกของในสังคมสมัยใหม่ได้โดยใช้วิธีการถอดถอนสถานภาพ
(Status Withdrawal) ด้วยการนำเอาปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม
และเศรษฐกิจจากสังคมสมัยใหม่เข้าไปแทรกหรือแทนที่ในสังคมดั้งเดิม และยังได้เสนอว่า
การเปลี่ยนแปลงของสังคมอาจทำได้จากเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนในสังคม
โดยเริ่มจากการพัฒนาบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก
เดวิด ซี
แม็กคลีล์แลนด์ (David C. McClelland) มีแนวความคิดเหมือนกับเฮเกนที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
แต่แนวความคิดของ แม็ก-คลีลแลนด์เน้นศึกษาที่ตัวแปรด้านแรงจูงใจในความสำเร็จ (Achievement
motivation) ซึ่งหมายถึง ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล
และเสนอแนวความคิดว่า ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสังคมในอดีตและปัจจุบันเป็นผลมาจากแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล
หากคนในสังคมมีแรงจูงใจในความสำเร็จมาก
การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะมีความเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย
และเสนอวิธีการสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จด้วยการเรียนรู้ (Learning) โดยสร้างแรงกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นในการจัดการศึกษาและการเลี้ยงดูเด็ก
สังคมควรมีการปูพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในความสำเร็จของบุคคล
ด้วยการใช้ปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- แบบอย่างของความสำเร็จจากผู้ปกครอง
- การสร้างความอบอุ่น
- การให้กำลังใจและแรงเสริม
- หลีกเลี่ยงการครอบงำและใช้อำนาจของบิดา
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยบูรพา.
ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. [ออนไลน์]
เข้าถึงได้จาก: http://www.huso.buu.ac.th/cai/Sociology/225101/Lesson13/
20 มกราคม 2555.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น