หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แนวคิดเกี่ยวกับทุนทางสังคม



แนวคิดเกี่ยวกับทุนทางสังคม

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

                ระบบสังคมและเศรษฐกิจที่ปัจจัยในการผลิตส่วนใหญ่เป็นของเอกชนซึ่งมุ่งแสวงหากำไรโดยใช้การซื้อขาย หรือตลาดเป็นตัวชี้นำเรื่องการลงทุน การผลิต การจำหน่าย พร้อมทั้งการตั้งราคาสินค้าและบริการ บุคคลและนิติบุคคลมีสิทธิ์และอิสระที่จะขายที่ดิน แรงงาน สินค้าและบริการโดยผ่านการใช้เงินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประกอบต่างๆ ของระบบทุนนิยมมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณและเริ่มค่อยๆ ได้รับการรวมหลอมให้เป็นระบบเศรษฐกิจขึ้นในเกาะอังกฤษเมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมา เมื่อระบบศักดินาค่อยๆ เสื่อมลงในสังคมตะวันตก หลังจากนั้นระบบทุนนิยมก็ค่อยๆ แพร่ขยายออกไปในยุโรปและส่วนอื่นของโลก มันเป็นระบบที่สังคมส่วนใหญ่ใช้ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 240 ปีก่อน
ในช่วงเวลาราว 500 ปีที่กล่าวถึงนั้น แนวคิดเรื่องทุนนิยมพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและวิวัฒน์มาเป็นฐานของระบบที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจแบบผสมในปัจจุบัน นั่นคือ สังคมต่างๆ นำส่วนประกอบของระบบเศรษฐกิจหลายระบบมาผสมกันตามที่เห็นว่ามันเหมาะสมกับสังคมของตน โดยเฉพาะการให้รัฐมีบทบาทในการเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสังคมนิยม ฉะนั้น ทุกประเทศจึงมักมีรัฐวิสาหกิจ ส่วนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปรัชญาของแต่ละประเทศ ระบบทุนนิยมวิวัฒน์ไปตามแนวคิดของปราชญ์ในเกาะอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในตอนต้นๆ ได้แก่ อะดัม สมิธ ผู้รวมแนวคิดของเขาไว้ในหนังสือชื่อ The Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2319 แนวคิดของเขาวางอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นในการมีประสิทธิภาพของระบบนายทุนแบบตลาดเสรี ฉะนั้นรัฐควรจะมีบทบาทน้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ระบบทุนนิยมถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและจะนำไปสู่การต่อสู้กันระหว่างคนสองชนชั้น นั่นคือ ชั้นนายทุนและชั้นกรรมกรซึ่งถูกนายทุนเอาเปรียบ จนในที่สุดสังคมจะล่มสลาย ในความเห็นของคาร์ล มาร์กซ์ เพื่อแก้ปัญหานี้ ระบบทุนนิยมจะต้องถูกแทนที่ด้วยระบบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับระบบทุนนิยมเข้าไปแทนที่ระบบศักดินา เขาและฟรีดริค เองเกลส์ รวมแนวคิดนั้นพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Manifesto of the Communist Party เมื่อปี 2391 ในระบบคอมมิวนิสต์ เอกชนไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ สิ่งเหล่านั้นเป็นของรัฐซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งว่าสังคมจะผลิตอะไร อย่างไร มากน้อยแค่ไหนและเพื่อใคร สังคมแรกที่นำระบบนี้มาใช้คือรัสเซียหลังการปฏิวัติล้มระบบกษัตริย์เมื่อปี 2460 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันของโลกที่มีแนวคิด 2 ขั้วหลักที่เรียกกันว่า สงครามเย็น

ต่อมาระบบทุนนิยมตามแนวคิดในขั้วของอดัม สมิธ ถูกกล่าวหาว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้หมดไปได้ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการว่างงานและภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกในช่วงหลังปี 2472 ตามความเห็นของจอห์น เมนาร์ด เคนส์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในระบบทุนนิยม เช่น ลดภาษีและทำงบประมาณขาดดุลในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอย เขารวมแนวคิดของเขาพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest, and Money เมื่อปี 2479
แม้แนวคิดของจอห์น เมนาร์ด เคนส์ จะถูกท้าทายจากปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่เรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็นฐานของการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั่วโลกยกเว้นในกรณีของเกาหลีเหนือและคิวบา เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัส ระบบทุนนิยมจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ การกล่าวหาเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่และเป็นไปในแนวของคาร์ล มาร์กซ์ และพรรคพวกซึ่งเสนอทางแก้ไขไว้แล้วอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ผู้นำระบบนั้นไปใช้อย่างจริงจังรวมทั้งประเทศมหาอำนาจเช่นสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงข้ามมันกลับทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นจนสหภาพโซเวียตแตกสลายไปเมื่อปี 2534 และจีนตัดสินใจใช้ระบบทุนนิยมแบบผสมซึ่งได้ผลจนเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้ว

เนื่องจากอะดัม สมิธ เป็นต้นตำรับในการรวมหลอมแนวคิดของเศรษฐกิจทุนนิยม จึงขอย้อนกลับไปดูว่ายังมีอะไรซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้รวมทั้งผู้ที่กล่าวหาว่าทุนนิยมนั้นชั่วช้าถึงขั้นสามานย์ด้วย ผู้ที่ย้อนไปดูแนวคิดและการปฏิบัติตัวของอดัม สมิธ อาจพบ 3 สิ่งคือ (1) 17 ปีก่อนที่เขาจะเขียนหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments หนังสือเล่มนี้เป็นกรอบแนวคิดด้านจริยธรรมซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อข้อเสนอในระบบทุนนิยมของเขา (2) อดัม สมิธ วิตกเรื่องการบูชาเงิน การผูกขาดและการฮั้วกัน เพราะมันจะสร้างความเลวร้ายให้ระบบทุนนิยม และ (3) เขามีความกตัญญูและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ มีความซื่อตรงและดำเนินชีวิตตามหลักของความพอประมาณซึ่งวิวัฒน์ต่อมาเป็นฐานของแนวเศรษฐกิจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งปัจจุบันปัจจัยทางสังคมมีความสำคัญต่อผลทางเศรษฐกิจหลายๆ ประการ ยกตัวอย่างเช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าอัศจรรย์ของประเทศเอเชียตะวันออกถูกอธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีลักษณะพิเศษทางสังคมขององค์กร เช่น ความเชื่อถือได้ของข้าราชการ (Trustworthiness of Bureaucrat) การร่วมมือกัน (Cooperation) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงลักษณะของการเป็นชุมชนที่มีความเชื่อถือไว้วางใจกันทำให้สามารถรวมตัวกันจัดสรรทรัพยากรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำ ป่า ที่สาธารณะ ทะเล เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจเรียกลักษณะความสัมพันธ์เหล่านี้ว่า ทุนทางสังคม

1. ความหมายของทุนทางสังคม
ทุนทางสังคม เกิดจาก การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ บนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจสายใยความผูกพัน และวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยผ่านระบบความสัมพันธ์ในองค์ประกอบหลัก ได้แก่ คน สถาบัน วัฒนธรรม และองค์ความรู้ ซึ่งจะเกิดเป็นพลังในชุมชนและสังคมองค์ประกอบหลักทั้ง 4 ด้านมีบทบาทและยึดโยงให้เกิดทุนทางสังคม ดังนี้
1) คน มีบทบาทหลักในการพัฒนาประเทศ ที่ต้องได้รับการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านสุขภาพ ที่มุ่งให้คนมีร่างกายแข็งแรงสามารถดูแลตนเองได้ ด้านจิตใจ ให้เป็นคนที่มีจิตใจดี มีน้ำใจ เอื้ออาทร เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม มีวินัย ซื่อสัตย์ มีความเสียสละ มีจิตสำนึกสาธารณะ และรักชาติ ฯลฯ และด้านสติปัญญา ให้มีศักยภาพและมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างต่อเนื่องจนมีนิสัยใฝ่รู้ไปตลอดชีวิตและพร้อมปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อมารวมตัวร่วมคิด ร่วมทำในกิจกรรมต่างๆ นำความรู้ที่ตนเองมีอยู่มาแลกเปลี่ยน เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

2) สถาบัน มีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดพลังร่วมของคนในชุมชน/สังคมทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยมีสถาบันหลัก อาทิ สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานในสังคมที่หล่อหลอมคนตั้งแต่แรกเกิด เป็นแหล่งบ่มเพาะ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมค่านิยมที่ดีงาม รวมทั้งจิตสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สถาบันศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม กล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี สถาบันศาสนาที่มีความเข้มแข็งจะสร้างศรัทธาให้แก่คนในสังคมและเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สถาบันการเมืองการปกครอง ทำหน้าที่กำกับ ดูแลให้สังคมอยู่ในระเบียบแบบแผนและให้คนในสังคมปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดร่วมกัน สถาบันการศึกษา เป็นแหล่งสร้างความรู้ทางวิชาการควบคู่กับการพัฒนาให้เกิดคุณธรรม จริยธรรมแก่คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งมีความพร้อมทางด้านการบริหารจัดการ บุคลากร ทรัพยากร และเครือข่าย เมื่อประกอบกับการใช้หลักบรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมแล้วจะเป็นทุนทางสังคมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมหาศาล และสื่อ เป็นสถาบันที่สามารถชี้นำและมีอิทธิพลสูงต่อพฤติกรรม ค่านิยมของคนในสังคมในวงกว้าง

3) วัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมายาวนานและเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นๆ ซึ่งมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ เป็นในรูปของความเชื่อ ความศรัทธา จารีตประเพณีที่ดีงาม ค่านิยมความเป็นไทย นอกจากนี้ ยังมีในรูปของแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ฯลฯ วัฒนธรรมเป็นตัวยึดโยงคนในสังคมให้ตระหนักถึงรากเหง้าของตนเอง เกิดความหวงแหน ภูมิใจที่จะรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศ

4) องค์ความรู้ ประกอบด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศาสตร์และศิลป์ของการดำเนินชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นฐานคิดและหลักเกณฑ์การกำหนดคุณค่าและจริยธรรมที่มีการสั่งสมสืบทอดกันมายาวนานจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความหลากหลายของความรู้ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ และสร้างสมดุลในการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกัน ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ มีความหลากหลาย ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อตอบสนองเป้าหมายหรือความต้องการของชุมชนได้ เช่น ความต้องการของตลาด การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
องค์ประกอบหลักทั้ง 4 ด้านนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของสังคมไทย เมื่อใช้ผสมผสานกันบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและระบบความสัมพันธ์จะก่อให้เกิดเป็นทุนทางสังคม ดังนั้น ทุนทางสังคมจึงเกิดจากการสั่งสม ปรับเปลี่ยน ต่อยอด พัฒนาและสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันทุนทางสังคมสามารถลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปหากการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำสลายลง
ทุนทางสังคม หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมที่เราสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมันได้ ตัวอย่างของทุนทางสังคมที่มักถูกกล่าวถึงคือ ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) เครือข่าย (Network) สถาบัน (Institution) ซึ่งความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมรูปแบบใดที่เป็นทุนทางสังคมนั้น เราอาจพิจารณาง่ายๆ ว่า ท้ายที่สุดแล้วมันสามารถให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเราได้หรือไม่นั่นเอง
ทุนทางสังคมเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน กิจกรรมร่วมมือกัน ยิ่งมีมากเท่าไรก็อาจเป็นผลดีในแง่ที่ว่า เกิดการเรียนรู้ รับรู้ และส่งผ่านข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทำให้เกิดคุณค่าบางอย่างที่สามารถยึดโยงและยอมรับร่วมกัน ซึ่งคุณค่าอันนั้นนั่นเองที่ส่วนหนึ่งเราสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมันได้
ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่งมีกิจกรรมร่วมมือกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวบ้านต่างเรียนรู้และเข้าใจ หรือ "รู้จัก" กันเป็นอย่างดี เป็นผลให้เมื่อชาวบ้านต้องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อระดมเงินออมและปล่อยกู้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนราคาถูกให้คนในชุมชน มันก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเมื่อมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีการโกงกันหรือเชิดเงินหนีไป พูดอีกอย่างก็คือ เป็นเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี่เองที่ทำให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น เป็นเพราะทุนทางสังคมนี่เอง (ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน) ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (แหล่งเงินทุน)
ทุนทางสังคมอาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็นสองประเภท คือ ทุนทางสังคมภายใน (Cognitive Social Capital) และ ทุนทางสังคมภายนอก (Structural Social Capital)
ทุนทางสังคมภายใน มีลักษณะที่มองเห็นและประเมินได้ยาก เพราะมันอยู่ในจิตใจของเรา ทุนทางสังคมแบบนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องของความรู้สึกนึกคิด จิตใจ ความเชื่อ ทัศนคติ เช่น ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) คุณค่าร่วมกัน (Share Values) ความเกื้อกูลกัน (Reciprocity)
ทุนทางสังคมภายนอก มีลักษณะที่มองเห็นและประเมินได้ง่ายกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่าประเภทแรก ด้วยทุนทางสังคมประเภทนี้เกี่ยวพันกับบทบาท พฤติกรรม การกระทำหรือความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเครือญาติ สายสัมพันธ์อุปถัมภ์ หรือจะเป็น เครือข่าย องค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชมรม เป็นต้น รวมถึงสถาบันในรูปของกฎของการเล่นเกม (Rule of the Game) เช่น กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ทุนทางสังคมทั้งสองแบบที่กล่าวมา เอาเข้าจริงแล้วสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก อีกทั้งในหลายๆ ครั้ง ยังส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย เช่น จากตัวอย่างที่แล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (ทุนทางสังคมภายใน) ทำให้สามารถตั้งกลุ่มออมทรัพย์ (กลุ่ม/องค์กรซึ่งเป็นทุนทางสังคมภายนอก) ขึ้นมาได้ ถ้ากลุ่มออมทรัพย์ในฐานะทุนทางสังคมภายนอกนี้ สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นการตอกย้ำว่า การเชื่อถือไว้วางใจระหว่างกันเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย ชาวบ้านก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น กระทั่งว่าเกิดเป็น แบบแผนการเชื่อถือไว้วางใจกัน (Norm of Trust) ยังไม่ต้องนับว่า เมื่อกลุ่มสามารถดำเนินการไปได้เรื่อยๆ แล้ว เงินกองทุนจะยิ่งทบทวีให้ประโยชน์แก่คนในชุมชนได้มากขึ้นไปอีก
ทุนทางสังคมให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่ากล่าวถึง ทุนทางสังคมโดยตัวของมันเองนั้นมิได้เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรง หากแต่เป็นตัวกลางในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือทุนอื่น เช่น ข่าวสารข้อมูล ทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนกายภาพ (Physical Capital) ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) เป็นต้น ในราคาที่ถูกลง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมนั่นเอง

2. องค์ประกอบของทุนทางสังคม
กล่าวโดยกว้างๆ แล้ว ทุนทางสังคมให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้โดยผ่านสองช่องทางคือ ลดต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction Cost) และลดต้นทุนการตรวจสอบดูแล (Monitoring Cost) ถ้าเริ่มต้นด้วยการนิยามทุนทางสังคมอย่างง่ายๆว่าหมายถึง ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust) เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า เมื่อคนเรามาทำสัญญา ทำกิจกรรมร่วมมือกัน หรือทำธุรกรรมร่วมกัน มันจะเสียต้นทุนตรงส่วนนี้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น พ่อค้าเพชรสองคนที่มีความเชื่อถือไว้วางใจกัน สามารถทำการแลกเปลี่ยนเพชรเพื่อตรวจสอบก่อนซื้อขายจริง โดยมิต้องมีการทำประกันภัยหรือทำสัญญาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนของธุรกรรมในเรื่องดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการตกลงสัญญาหรือทำกิจกรรมร่วมมือกันแล้ว ต้นทุนในการกำกับดูแลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้แก่กัน ก็จะเสียต้นทุนดังกล่าวน้อยลง โดยเฉพาะการจัดหาคนกลางให้เข้ามาควบคุมดูแล (Third Party) เช่น หากสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้านสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้แล้ว เมื่อกลุ่มให้กู้แก่สมาชิก หลายๆ กรณีไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงมิต้องจ้ำจี้จ้ำไชให้สมาชิกเสียดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนด เพราะคาดหมายได้ว่าสมาชิกจะทำเช่นนั้นอยู่แล้ว

การมีทุนทางสังคมมิใช่ว่าจะให้แต่ผลดีเท่านั้น หากแต่ยังสามารถให้ผลในทางลบแก่ผู้ถือครองหรือสังคมโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับมันด้วย (Negative Social Capital) ซึ่งผลทางด้านลบของทุนทางสังคมอาจแบ่งได้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
ประการที่หนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาการกีดกันคนนอก (Exclusion Problem) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของคนกลุ่มหนึ่งอาจก่อให้เกิดการกีดกันผู้อื่นในการเข้ามาจัดสรรทรัพยากรได้ พูดอีกอย่างก็คือ ก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงให้แก่คนที่อยู่ในกลุ่มความสัมพันธ์เท่านั้น เช่น การที่กลุ่มเชื้อชาติชาวคิวบาได้ครอบงำในหลายภาคธุรกิจของรัฐไมอามี เป็นต้น อันเป็นผลทำให้ธุรกิจดังกล่าวขาดการแข่งขัน ขาดการพัฒนาเทคนิคความรู้ ตลอดจนเสียต้นทุนสังคมและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดนั้น
ประการที่สอง ก่อให้เกิดปัญหาการจำกัดเสรีภาพ หรือจ่ายราคาของการมีพันธะกับทุนทางสังคมนั้นมากจนเกินไป (Heavy Obligation) กล่าวคือ เครือข่ายหรือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแข็งจนเกินไป อาจยอมรับเฉพาะแต่คนที่เชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและไม่ยืดหยุ่นเท่านั้น การพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ที่บางครั้งเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม จะถูกพิพากษาขับออกจากชุมชนความสัมพันธ์ทันที เช่น ชุมชนชาวจีนในซานฟรานซิสโก แม้จะช่วยเหลือสมาชิกของชุมชนให้ก่อตั้งธุรกิจได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็จะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากกลุ่มครอบครัวและบริษัทที่มีอยู่ ผู้ที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะถูกขับออกจากชุมชนทันที
ประการที่สาม ก่อให้เกิดปัญหาการเข้าสู่วังวนของความเลวร้าย (Downward-Leveling Pressure) กล่าวคือ การเข้าไปอยู่ในกลุ่มความสัมพันธ์บางรูปแบบ เช่น แก๊งวัยรุ่น แก๊งมาเฟีย แม้จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างกับคนในแก๊ง แต่การอยู่ในกลุ่มดังกล่าวมีทั้งแรงกดดันและวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่ฉุดดึงให้ลงสู่ห้วงแห่งความเลวร้าย ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเรียกค่าคุ้มครอง คอรัปชั่น เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่ประการใดต่อสังคมโดยรวม
สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอก็คือว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมอันไหนที่เป็นทุนทางสังคมได้ เราต้องสามารถเรียกเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เราต้องการจากมันได้ด้วย นั่นคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เราต้องการจะเป็นตัวจำกัดในเบื้องต้นว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมอันไหนบ้างที่เราสามารถใช้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ทุนทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่นับว่า ทุนทางสังคมของคนบางกลุ่มกลับเป็นผลเสียต่อคนอีกหลายๆกลุ่มหรือสังคมโดยรวมก็ได้
 
3. การวัดทุนทางสังค
วิธีการวัดทุนทางสังคมพอจะแบ่งได้ 2 แบบ กล่าวคือ หนึ่งวัดไปที่ต้นกำเนิดของทุนทางสังคม ซึ่งก็คือจำนวนและคุณภาพของการมีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันในหลายๆ รูปแบบ และสองวัดไปที่ตัวทุนทางสังคมนั้นเลย
วิธีแรกค่อนข้างง่ายในการวัดเพราะเข้าใจได้ไม่ยากและไม่ซับซ้อน เช่น การวัดกิจกรรมร่วมกันในหมู่บ้าน อายุของชุมชน จำนวนผู้เข้าร่วมการทำกิจกรรม ความหลากหลายทางลักษณะของผู้คนในเครือข่ายความสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ปัญหามีอยู่ว่า จำนวนและคุณภาพของกิจกรรมร่วมกันที่มากกว่าอาจมิได้หมายถึงการมีทุนทางสังคมที่มากกว่าก็ได้ โดยเฉพาะการทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องการ
วิธีการแบบหลังเป็นวิธีการที่ดีกว่าในแง่ที่มุ่งวัดทุนทางสังคมโดยตรงเลยว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน เช่น ระดับของความเชื่อถือไว้วางใจกัน ปริมาณและคุณภาพของกลุ่ม/องค์กร เครือข่ายและสถาบันต่างๆ ที่ปัจเจกชนหรือชุมชนมี แต่ก็อีกเช่นกัน การสร้างตัวชี้วัดหรือแม้แต่การขีดวงจำกัดว่าอะไรคือความเชื่อถือไว้วางใจ เครือข่าย สถาบัน เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยังไม่ต้องนับว่า วิธีการวัดทุนทางสังคมที่ใช้นั้นมีความเที่ยงตรงและชัดเจนมากน้อยเพียงไร

4. ความสำคัญของทุนทางสังคมในทางเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ก็ได้พยายามนำแนวความคิดเรื่องทุนทางสังคมมาศึกษาว่าทุนทางสังคมมีผลทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง และทุนทางสังคมรูปแบบใดที่มีความสำคัญ โดยผ่านการตีความอย่างแตกต่างและหลากหลาย รวมถึงขอบเขตการศึกษาก็แตกต่างกันด้วย อาทิเช่น
เจมส์ โคลแมน (James Coleman, 1988) ได้ทำการศึกษาพบว่า ทุนทางสังคมในครอบครัวมีผลอย่างสำคัญในการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย โดยทุนทางสังคมในครอบครัววัดจากการมีอยู่ของพ่อและแม่ในครอบครัว จำนวนพี่น้อง ความคาดหวังในตัวลูกของแม่เรื่องการศึกษา เด็กที่มีทั้งพ่อและแม่ในครอบครัว จำนวนพี่น้องที่น้อยกว่า และแม่คาดหวังในเรื่องการศึกษา มีแนวโน้มที่จะสำเร็จการศึกษามากกว่า
โรเบิร์ต พุทนัม (Robert Putnam, 1993) ชี้ว่า ระดับความจำเริญทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสถาบันในภาคเหนือของอิตาลีที่มีมากกว่าภาคใต้ เป็นผลมาจากการมีระดับความเชื่อถือไว้วางใจและการเกื้อกูลกัน (Norm of Trust and Reciprocity) และเครือข่ายชุมชน (Civic Engagement) ที่มากกว่า ซึ่งนายพุทนัมนิยามมันว่าคือทุนทางสังคม
แนค และคีเฟอร์ (Knack & Keefer, 1997) ได้สร้างตัวชี้วัดทุนทางสังคมขึ้นมาสองตัวคือ ระดับของความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) และแบบแผนพฤติกรรมร่วมกัน (Civic norms) แล้วนำไปศึกษาในประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบตลาด 29 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีระดับของตัวชี้วัดดังกล่าวมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีระดับประสิทธิผลทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีกว่า
นารายัน และพริทเชทท์ (Narayan & Pritchett, 1997) แสดงให้เห็นว่า ทุนทางสังคมเป็น "ทุน" เพราะสามารถเพิ่มระดับรายได้ของครัวเรือน โดยพวกเขาวัดทุนทางสังคมจากจำนวนกลุ่ม/องค์กรที่สมาชิกในครัวเรือนเป็นสมาชิก ระดับการร่วมมือกันในกลุ่มนั้น และความหลากหลายทางลักษณะของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ ครัวเรือนที่มีระดับตัวชี้วัดดังกล่าวมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากกว่า
ในประเทศไทยเอง มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ทุนทางสังคมโดยเฉพาะการรวมกลุ่มหรือรวมตัวกันจัดสรรทรัพยากรกันเองของคนในชุมชนที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สามารถทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุน การรวมตัวเพื่อจัดสรรทรัพยากรน้ำ ป่า ที่ดินสาธารณะของชุมชน กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกต่างๆ เป็นต้น ยิ่งกลุ่มหรือเครือข่ายเหล่านี้สามารถเชื่อมกับกลุ่มอื่นๆ นอกชุมชนอย่างหลากหลายแล้ว ทุนทางสังคมก็จะยิ่งขยายวงมากขึ้นเท่านั้น แต่มีข้อพึงระวังเช่นกันว่า มิใช่ทุกกรณีของการมีกิจกรรมร่วมกันของคนหรือชุมชนจะให้แต่ผลดีหรือให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่า เพราะหากมิได้พิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างดีแล้ว การมาทำอะไรร่วมกันของกลุ่มคนที่หลากหลายอาจทำให้สูญเสียเวลาและทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ หนำซ้ำในบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งจนบานปลายได้

สรุป นับเนื่องจากการที่สถาบันที่เป็นทางการอย่างรัฐบาล กฎหมาย รัฐธรรมนูญ องค์กรของรัฐต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากในการให้คุณให้โทษแก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าทำอย่างไรเราจึงจะทำให้สถาบันดังกล่าวนั้นเป็นทุนสังคมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม หากย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดของทุนทางสังคมซึ่งก็คือการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันหรือมี กิจกรรมร่วมมือกัน ฉะนั้นหากเรามุ่งหมายที่จะให้สถาบันที่เป็นทางการเป็นทุนสังคมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมจริงๆ ก็จำเป็นต้องยอมรับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนที่หลากหลายในการออกแบบสถาบัน การให้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจในทุกระดับเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งต้องให้น้ำหนักหรืออำนาจพอสมควรกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนนั้น  เราจะมีสถาบันที่เป็นทางการที่เป็นธรรมได้อย่างไร หากมันมิได้เกิดจากการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ตัดสินใจหรือหาทางออกร่วมกันของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ประชาธิปไตยที่มิใช่แค่การเลือกตั้งจึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการมีสถาบันหลายๆสถาบันเป็นทุนทางสังคมในระดับชาติ
หากเห็นความสำคัญของทุนทางสังคมจริง ฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐเองก็สมควรปรับท่าทีการมองเรื่องที่ประชาชนรวมตัวกันเพื่อขอมีส่วนในการจัดสรรทรัพยากร เช่น กรณีเขื่อนปากมูน กรณีท่อก๊าซจะนะ การกล่าวหากล่าวโทษหรือดูถูกดูแคลน รังแต่จะทำให้ความเชื่อถือไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนลดลง อันยิ่งจะเป็นการบั่นทอนการสร้างทุนทางสังคมในระดับองค์รวม
 
5. การก้าวไปสู่ระบบทุนนิยม
การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตในภาคเกษตรกรรมในช่วงปลายสมัยกลางที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต ระหว่างชนชั้นเจ้าของที่ดินกับไพร่ติดที่ดินในระบบแมนเนอร์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบทุนนิยมมากขึ้นในรูปของ มีการใช้แรงงานรับจ้างเพื่อการผลิตสู่ตลาด การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมืองและการค้า
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงปลายสมัยกลางก่อให้เกิดชุมชนเมือง และเมืองทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าโดยเฉพาะเมืองท่า มีการก่อตัวของชนชั้นกระฎุมพี ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงของสถาบันทางสังคมเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบทุนนิยม
เศรษฐกิจของเมือง มีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับนับแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชนบท ชนชั้นกระฎุมพี การผลิตในระบบโรงงาน ผู้ปกครองและสมาคมช่างฝีมือ
การวิเคราะห์ความวุ่นวายก่อนการเข้าสู่ระบบทุนนิยม คือ การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง การเพิ่มประชากรหยุดชะงัก
1) การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตภาคเกษตรกรรมในช่วงปลายสมัยกลาง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตตลอดจนเป็นการเพิ่มอุปทานของแรงงานซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต การเติบโตของเมืองและการค้า นับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 10 เป็นเหตุให้อุปสงค์ต่อแรงงานรับจ้างขยายตัวตามมา จำนวนแรงงานรับจ้างในเมืองเพิ่มขึ้นหรือจำนวนแรงงานในแมนเนอร์ลดลง
การขยายตัวของแรงงานรับจ้างในเมือง เกิดจากการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองของชาวนา ซึ่งมีแรงดึงดูดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต เช่น การจัดองค์กรการผลิตแบบตลาด การทำหน้าที่ในการโยกย้ายการผลิต เป็นต้น
2)  การเพิ่มประชากรกับโครงสร้างแบบแมนเนอร์ การเพิ่มขึ้นของประชากรมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในแง่ อุปสงค์ และอุปทาน ในแง่อุปสงค์ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเพิ่มแรงกดดันต่อการเพิ่มผลผลิต และก็เพิ่มอุปทานของแรงงานด้วย
3)  การใช้แรงงานรับจ้างกับความสัมพันธ์ในระบบแมนเนอร์ การเจริญเติบโตของเมืองและกาค้านับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 10 มีผลทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานรับจ้างขยายตัวตามมา จำนวนแรงงานรับจ้างในเมืองเพิ่มขึ้นหรือจำนวนแรงงานในแมนเนอร์ลดลง
4)  การขยายตัวของแรงงานรับจ้างในเมือง การเจริญเติบโตของเมืองและการค้านับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 10 มีผลทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานรับจ้างขยายตัวตามมา จำนวนแรงงานรับจ้างในเมืองเพิ่มขึ้นหรือจำนวนแรงงานในแมนเนอร์ลดลง
5)  การก่อตัวทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางสถาบันทางสังคม และชนชั้นกระฎุมพี การขยายตัวของการค้ามีผลให้เกิดเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองต่างๆ และบทบาทของเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและการศาสนากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า
การเจริญเติบโตของชนชั้นกระฎุมพี ซึ่งเป็นเสรีชนเป็นภาพสะท้อนของการเจริญเติบโตในระบบทุนนิยม ในระยะแรกชนชั้นกระฎุมพียังไม่มีความเป็นอิสสระเพราะต้องขึ้นอยู่กับชนชั้นศักดินา
การเติบโตทางการค้าของระบบทุนนิยม มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางสังคม อาทิเช่น การปฏิรูปกฎหมายในระบบศักดินาที่มีลักษณะล้าหลังไปสู่กฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและลงทุน
6)  การฟื้นตัวทางการค้ากับการเกิดเมืองใหม่และอุตสาหกรรม การขยายตัวของการค้ามีผลให้เกิดเมืองใหม่และเมืองท่าที่สำคัญ บทบาทของเมืองได้เปลี่ยนจากการเป็นศูนย์กลางทางการศาสนาและการปกครองกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจ

6. ทุนนิยมกับสังคมไทย
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาส่งผลให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันในเวทีโลก โดยนำแนวคิดการพัฒนาตามกระแสที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ คือ การพัฒนาแบบทุนนิยมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ นำไปสู่ความทันสมัย ขณะที่ยุคโลกาภิวัตน์มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยทุกระดับ เปิดโอกาสการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดน ขณะเดียวกันนำมาซึ่งค่านิยมที่มุ่งวัตถุ มุ่งความสะดวกสบายรวดเร็ว หากสังคมไทยปราศจากภูมิคุ้มกันที่ดีจะก่อให้เกิดความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งเป็นรากฐานของความสุข ความมั่นคงและความเข้มแข็งของชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเผชิญสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน

แนวคิดและความสำคัญของทุนทางสังคมเป็นที่ยอมรับขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ต่างก็ตระหนักในคุณค่าของทุนทางสังคมว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนอันนำไปสู่ความผาสุกของคนในชาติ โดยเฉพาะ OECD พิจารณาว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากทุน 4 ประเภท ได้แก่ ทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ซึ่งจากการประเมินประสิทธิภาพของปัจจัยทั้ง 4 ทุนดังกล่าว พบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นผลมาจากปัจจัยด้านทุนมนุษย์และทุนทางสังคมถึง 4 ส่วน ขณะที่เกิดจากทุนทางกายภาพและทุนทางการเงินเพียง 2 ส่วนเท่านั้น

ในบริบทสังคมไทย ทุนทางสังคมถือเป็นทุนสำคัญที่เสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดีงามของคนในสังคมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองของประเทศมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริการและกระบวนการผลิตในภาคเศรษฐกิจ การบรรเทาความรุนแรงและแก้ปัญหาในยามที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด การแก้ปัญหาและฟื้นฟูให้คนไทยและสังคมไทยกลับมาดำรงสถานะเดิมได้จำเป็นต้องอาศัยทุนทางสังคมช่วยสนับสนุน ยกตัวอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ได้มีนักคิดและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านประเมินว่า การที่สังคมไทยยังคงดำรงอยู่ได้เนื่องจากมีทุนทางสังคมมากมายเป็นตาข่ายรองรับที่มีความเชื่อมโยงแน่นหนาอยู่บนพื้นฐานเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่มีจุดเด่นหลายประการ อาทิ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ มีระบบเครือญาติและชุมชนที่เข้มแข็งบนพื้นฐานวัฒนธรรมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไมตรี ดังนั้น ถ้าประเทศไทยสามารถนำทุนทางสังคมที่มีอยู่มาอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมแล้วจะพัฒนาคนในชาติให้มีความสุข ประเทศชาติมีความสมดุลและเกิดความยั่งยืน

โดยสรุป ทุนทางสังคมมีความเชื่อมโยงกับทุนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติสามารถเอื้อประโยชน์ต่อกัน โดยการพัฒนาคุณภาพคนทางด้านความรู้และจิตใจ การใช้คุณค่าและเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงามจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการผลิต การค้า และบริการและสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรในระยะยาว การใช้วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การรวมกลุ่มของคนในชุมชนโดยตระหนักถึงความสำคัญและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งสถาบันทางสังคมต่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนที่มีส่วนร่วมในการทำ กิจกรรมต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และที่สำคัญทุนทางสังคมที่มีอยู่ในสังคมไทยคุณค่าที่ดี การเปิดกว้างและยอมรับซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยดำรงอยู่ บรรเทาหรือขจัดปัญหา/ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งสังคมไทยจะสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งได้ด้วยพลังของทุนทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ทุนทางสังคมที่สามารถนำมาใช้พัฒนาทุนทางเศรษฐกิจและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเชื่อมโยงและสมดุลเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดมายาวนานโดยนำมาสอดแทรก/ผสมผสานอยู่ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มการส่งออกสูงขึ้นไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งการใช้คุณลักษณะของคนไทยที่เอื้อต่อธุรกิจ การบริการ อาทิ การเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี ส่งผลดีต่อการขยายตัวในสาขานี้ ขณะที่วัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นปัจจัยสำคัญของการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนให้คงอยู่ ดังนั้นวัฒนธรรมไทยจึงเป็นประเด็นหลักที่ใช้เป็นฐานเชื่อมโยงทุนทั้งสามเข้าด้วยกัน ทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีทุนทางสังคมหนุนเสริมให้คนไทยมีความสุข ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

ดังนั้น จึงสรุปประเด็นสำคัญๆ ที่สามารถนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ดังนี้
(1) ประเด็นในเชิงโอกาส การที่กระแสความนิยมวัฒนธรรมตะวันออกเพิ่มขึ้นเป็นโอกาส ที่จะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับคุณลักษณะของคนไทยและวัฒนธรรมไทยที่เป็นจุดแข็งและนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การผลิตและบริการในเวทีโลกเพิ่มขึ้นสามารถกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่เชื่อมโยงระหว่างทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจได้
(2) ประเด็นที่เป็นภัยคุกคาม การลดภัยคุกคามจากโครงสร้างและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปและบรรเทาจุดอ่อนในเรื่องการขาดจิตสำนึกสาธารณะ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านกาย ปัญญา และโดยเฉพาะด้านจิตใจที่จะต้องปรับพฤติกรรม เจตคติของคนในสังคม รวมทั้งพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีจิตใจดี มีคุณธรรมเสริมสร้างทุนทางสังคมของไทยในอนาคต
(3) ประเด็นจุดแข็งที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม การที่วัฒนธรรมไทยมีความหลากหลาย ประกอบกับมีปราชญ์ ผู้รู้หลายด้านกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มีการถ่ายทอดความรู้จากผู้สูงอายุไปสู่คนรุ่นต่อไป รวมทั้งการที่ธุรกิจเอกชนมีบทบาทในการรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นเป็นจุดแข็งที่สามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูวัฒนธรรมเพื่อให้มีการสืบสานไปสู่คนรุ่นใหม่ และเป็นการลดภัยคุกคามที่เกิดจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อพฤติกรรมวัฒนธรรม และศีลธรรมของคนในสังคมไทย รวมทั้งใช้วัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม
(4) ประเด็นจุดอ่อนที่พึงระวังและเตรียมแก้ไข การแก้ไขจุดอ่อนของการที่สถาบันทางสังคมยังไม่เข้มแข็ง การจัดการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนมีน้อย ไม่เป็นระบบ ส่งผลให้วัฒนธรรมบางส่วนเลือนหาย คุณค่าที่ดีงามในสังคมเสื่อมถอยลง โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันทางสังคมให้เข้มแข็ง เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคม สามารถดูแลสมาชิกในสังคมให้อยู่ได้เป็นปกติสุข ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการความรู้ เป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และนำไปใช้ประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการเพิ่มมูลค่าและการส่งออก

เอกสารอ้างอิง

ธนาคารโลก. ทุนทางสังคม: ความหมายและความสำคัญ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: Http://www.worldbank.org/poverty/scapital/ 31 มกราคม 2558.
สินาด  ตรีวรรณไชย. ทุนทางสังคม: ความหมายและความสำคัญ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: http://www.prachatai.com/journal/2005/01/2262/ 14 มกราคม 2545.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น