หน้าแรก

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทฤษฎีระบบราชการ (Bureaucracy System Theory) ของ Max Weber



ทฤษฎีระบบราชการ (Bureaucracy System Theory) ของ Max Weber

เรียบเรียงโดย
วชิรวัชร  งามละม่อม
Wachirawachr  Ngamlamom

เมื่อประเทศไทยปฏิรูประบบราชการเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นก็ได้นำทฤษฎีที่โด่งดังของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) มาใช้ในการบริหารจัดการงานราชการแผ่นดิน ในยุคนั้นคนไทยจึงติดปากเรียกรูปแบบระบบอย่างนี้ว่าระบบราชการตั้งแต่สมัยนั้นมายันสมัยนี้ ทั้งๆที่ฝรั่งเจ้าตำรับเค้าเรียกว่า Bureaucracy System Theory ระบบนี้อาจจะเหมาะสมกับราชการในยุคนั้น เพราะขนาดของราชการยังไม่ใหญ่โตมโหฬารอย่างในยุคนี้ ที่มีบุคลากรราชการถึงสามล้านกว่าคน ระบบนี้ใช้การตัดสินใจเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ปัจจุบันงานราชการจึงล่าช้าเป็นใส้เดือนเพราะช้ากว่าเต่า รัฐบาลช่วงหลังๆก็คิดว่าควรจะต้องปฏิรูปกันอีกสักครั้ง แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นท่าเพราะติดที่เรื่องของผลประโยชน์ ที่ถูกวางและจัดสรรกันอย่างลงตัวมาเกือบร้อยปี รัฐบาลยุคผู้นำดิจิตอลก็ฟันธงว่า ทฤษฎีที่จะเอามาปฏิรูปครั้งใหม่นี้ คือ E-Government หากมีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟัง ตอนนี้ขอคุยเรื่อง Bureaucracy ก่อน ซึ่งมีรายละเอียดของทฤษฎีดังนี้ครับ

คัดและพัฒนาคน
ระบบนี้จะใช้วิธีสรรหาและคัดเลือกบุคลากรด้วยระบบคุณธรรม (Merit System) คือวัดกันที่ความรู้ความสามารถเพรียวๆ มีการสอบ บรรจุแต่งตั้งกันอย่างเป็นระบบ คนเก่งได้ทำงาน คนห่วยต้องกลับไปนอนบ้าน เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว จะมีแผนในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ ว่าช่วงนี้ต้องรู้เรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไปทำงานสูงขึ้นก็ควรจะต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อต้องรู้เรื่องนั้นอย่างนี้เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นสายทหาร จะเป็นทหารได้นั้นต้องผ่านการสรรหา สมัคร สอบคัดเลือก บรรจุแต่งตั้ง เมื่อทำงานจนก้าวหน้าไปถึงจุดหนึ่งก็จะต้องได้รับการฝึกอบรมเรื่องนั้น เมื่อทำงานมีอายุงานสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก็ต้องไปอบรมหลักสูตรที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น


สายบังคบบัญชาชัดเจน
ระบบนี้จะออกแบบสายการบังคับบัญชาอย่างชัดเจน ว่างานนี้มีกี่ฝ่าย ฝ่ายนี้มีกี่แผนก แผนกนี้มีกี่หมวด ซอยให้เล็กลงไปเรื่อยๆ แล้วในทุกส่วนของงานก็จะถูกวางบุคลากรเพื่อเข้าไปทำงาน เพื่อผลักดันงานในส่วนนั้นๆ ให้สำเร็จ เมื่อเฟืองตัวเล็กๆ ทำงาน เฟืองที่ใหญ่ขึ้นก็จะหมุนไปตามระดับชั้นของการบังคับบัญชา

กฎระเบียบเคร่งครัด
ในงานแต่ละอย่างนั้น ระบบนี้จะมีกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ว่างานนี้คุณต้องทำอย่างไร? เมื่อเสร็จแล้วคุณต้องเอางานไปให้ใคร? ในเวลาไม่เกินเท่าไร? หากผิดพลาดจะมีบทลงโทษกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน พักงาน ให้ออก ไล่ออก อะไรทำนองนี้ กฎอย่างนี้พอเอามาใช้กับลูกหลานไทยที่ทำงานข้าราชการ พี่แกก็เลยพยายามไม่ทำอะไรที่เกินหน้าที่ หรือที่คลุมเครือๆ ว่าเป็นงานของใครก็จะไม่ทำ เพราะถือคติที่ว่า ทำมากย่อมมีโอกาสผิดมากแล้วจะซวยมาก ราชการไทยจึงได้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่คุณกับผมได้เห็นอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ

ทำงานตามความชำนาญ
ง่ายๆ ใครรู้เรื่องอะไรก็ไปทำงานอย่างนั้น ดังนั้นเวลาจัดสอบบรรจุเค้าจึงเอาวุฒิการศึกษามาเป็นตัวกำหนด โดยตั้งสมมุติฐานว่า คุณจบด้านนี้คุณน่าจะทำงานด้านนี้ได้ เช่น คุณจบกฎหมายหรือรัฐศาสตร์คุณน่าจะทำงานปกครองได้ คุณจบครูคุณน่าจะสอนในโรงเรียนเป็น แต่ก็นั่นแหละครับพอมาเจอพี่ไทย กลับเลือกงานตามผลประโยชน์ งานไหนพอจะได้กินตามน้ำบ้าง งานนั้นข้าจะทำ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ถนัดงานตรงนั้นสักเท่าไร คุณจึงได้เห็นคนซื่อบื้อเต็มอำเภอและศาลากลาง

เน้นงาน
รูปแบบองค์การแบบ Bureaucracy จริงๆ นั้นจะต้องออกแบบโดยเอางานเป็นตัวตั้งแล้วจึงหาคนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ มารับผิดชอบงานกำหนดโดยไม่เน้นพวกพ้อง แต่ระบบนี้ปัจจุบันเอามาบริหารจัดการกับประเทศไทยแล้วไม่เวริ์ค ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราชการไทยในปัจจุบันไม่ค่อยมีคุณธรรมแต่จะเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ซะมากกว่างาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น